เมื่อมีอาการท้องเสีย ท้องเดิน ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง ภายหลังรับประทานอาหารไปไม่นาน เรียกลักษณะความผิดปกตินี้ว่า "อาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)"
หลายคนที่เกิดอาการขึ้นมาแล้วไม่รีบรักษา อาจจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ เกิดภาวะช็อก หมดสติ จนถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นเพื่อเป็นการดูแลและป้องกันตัวเองอย่างถูกต้อง ควรทำความรู้จักกับโรคใกล้ตัวชนิดนี้ให้มากขึ้น
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
อาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารปนเปื้อน ส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อซัลโมเนลลา (salmonella) หรือเชื้ออีโคไล (E.coli) รองลงมาคือเกิดจากเชื้อไวรัส เช่น เชื้อโนโรไวรัส (norovirus)
โดยปกติอาการอาหารเป็นพิษมักจะดีขึ้นภายใน 2 – 3 วันโดยไม่จำเป็นต้องพบแพทย์
ลักษณะอาการอาหารเป็นพิษ
อาการของอาหารเป็นพิษจะเกิดขึ้นในช่วง 1–2 วัน หลังจากรับประทานอาหารที่ปนเปื้อน บางรายอาการอาจปรากฏขึ้นภายในเวลา 2-3 ชั่วโมง หรือ 2–3 สัปดาห์ให้หลัง โดยแบ่งลักษณะอาการออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
1. กลไกของสารพิษที่จะส่งผลให้เกิดภาวะท้องเสียอย่างรุนแรง (non-inflammatory type)
เชื้อดังกล่าวจะทำให้เกิดอาการโดยตรงที่เยื่อเมือกบุลำไส้เพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น ไม่ลุกลามไปยังส่วนอื่นของร่างกาย
อาการที่พบเด่นชัด ไก้แก่ ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ อาจมีเลือดปนออกมา อาการปวดท้องไม่รุนแรงนัก แต่จะทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำอย่างหนักได้ ซึ่งเชื้อที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว เช่น อีโคไลบางสายพันธุ์
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
2. กลไกของสารพิษที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง (Inflammatory type)
เมื่อเชื้อเข้าสู่ลำไส้เล็ก จะตรงเข้าทำลายเยื่อเมือกของลำไส้ จากนั้นจะแพร่กระจายตัวผ่านเยื่อเมือกไปยังกระแสเลือดทั่วร่างกาย
อาการที่พบเด่นชัด คือ ท้องเสียในลักษณะเป็นมูก มีเลือดปน ปวดท้องอย่างรุนแรง ไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดตามข้อและตามลำตัว
เชื้อบางชนิดที่มีความรุนแรงมากสามารถตรงเข้าไปทำลายระบบประสาท ตามมาด้วยภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาต ไม่สามารถหายใจเองได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อหายใจไม่ทำงาน จนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด
สาเหตุของอาหารเป็นพิษ
- ปรุงอาหารไม่สุก โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์
- ไม่ได้จัดเก็บอาหารไว้ในตู้เย็น หรือตู้แช่ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศา
- วางอาหารที่ปรุงสุกแล้วทิ้งไว้นานโดยไม่ได้เก็บเข้าตู้เย็น
- รับประทานอาหารที่ถูกสัมผัสแล้วโดยผู้ที่มีอาการป่วย หรือผู้ที่เป็นโรคท้องร่วง
- สัมผัสอาเจียนของผู้ป่วย
- การปนเปื้อนเชื้อโรคของอาหารที่ปรุงสุกแล้วกับอาหารดิบ ผ่านผิวหน้าของอาหาร หรืออุปกรณ์ประกอบอาหาร เรียกว่า การปนเปื้อนข้าม
ตัวอย่างการปนเปื้อนข้ามของอาหารที่ปรุงสุกแล้วกับอาหารดิบ เช่น เมื่อหั่นเนื้อไก่บนเขียง และไม่ได้ล้างก่อนที่จะนำไปใช้กับอาหารอื่นๆ ที่ไม่ได้ปรุงสุก เช่น ผักสลัด ทำให้แบคทีเรียที่มากับไก่สดสามารถแพร่ไปยังผักสลัดได้
นอกจากนี้ อาจเกิดจากเนื้อดิบที่ถูกเก็บไว้ร่วมกับอาหารแปรรูปพร้อมรับประทาน ทำให้น้ำของเนื้อสดหยดลงบนอาหารที่เก็บอยู่ด้านล่าง
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ประเภทของการติดเชื้อ
การปนเปื้อนเชื้อโรคของอาหารส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทว่าบางครั้งการปนเปื้อนอาจเกิดจากเชื้อไวรัสหรือปรสิตได้ โดยเชื้อโรคที่มักทำให้เกิดการปนเปื้อนในอาหาร ดังนี้
เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์เจจูไน (Campylobacter jejuni)
เป็นเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของอาหารเป็นพิษที่พบได้บ่อยที่สุด พบได้ในเนื้อดิบหรือเนื้อที่ไม่ได้ปรุงสุก สัตว์ปีก นมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อแบบพาสเจอร์ไรส์ และน้ำดื่มที่ไม่ได้กรอง หรือผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ ระยะเวลาฟักตัวของเชื้อโรค (เวลาตั้งแต่เริ่มทานอาหารปนเปื้อนไปจนเกิดอาการอาหารเป็นพิษ)
สำหรับอาการอาหารเป็นพิษที่เกิดจากเชื้อแคมปีโลแบคเตอร์มักเกิดขึ้นประมาณ 2–5 วัน และจะมีอาการอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์
เชื้อซัลโมเนลลา (Salmonella)
เป็นเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ที่อยู่ตระกูลเดียวกับเชื้อไทฟอยด์ เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วแบ่งตัวในลำไส้ จะผลิตพิษออกมา ทำให้มีอาการไข้ต่ำๆ ท้องเดินจากอาหารเป็นพิษ บางครั้งก็อาจมีมูกเลือดปนอยู่บ้าง พบได้ในเนื้อดิบหรือเนื้อที่ไม่ได้ปรุงสุก ไข่ดิบ นม และผลิตภัณฑ์จากนมต่างๆ
ระยะเวลาฟักตัวของเชื้อโรคมักเกิดขึ้นประมาณ 12–72 ชม. และจะมีอาการอยู่ประมาณ 4–7 วัน
เชื้อลิสเตอเรีย (Listeria)
เป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ในอาหารแช่แข็ง อาหารแปรรูปพร้อมรับประทาน แซนวิช ปรุงสำเร็จ เนื้อสไลด์และปาเตปรุงสุก และชีสนุ่ม อย่างชีสบรี หรือชีสกามองแบร์
ดังนั้นการบริโภคอาหารเหล่านี้จำเป็นต้องบริโภคก่อนวันหมดอายุเสมอ และต้องเพิ่มความระมัดระวังในการบริโภคสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากการติดเชื้อลิสเตอเรียในหญิงตั้งครรภ์อาจส่งผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ และระหว่างคลอด ซึ่งอาจเสี่ยงต่อภาวะแท้งบุตรได้
ระยะเวลาฟักตัวของเชื้อโรคอาจแตกต่างกันจาก 1 – 2 วัน ไปจนถึง 2 – 3 สัปดาห์ และอาการจะเริ่มดีขึ้นภายใน 3 วัน
เชื้ออีโคไล (Escherichia coli)
เรียกสั้นๆ ว่า E.coli เป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ในระบบทางเดินอาหารของสัตว์หลายชนิดรวมทั้งมนุษย์ด้วย เชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอันตรายแต่อาจทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงได้
ผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากเชื้อ E.coli มีสาเหตุมาจากการรับประทานเนื้อวัวที่ไม่ได้ปรุงสุก โดยเฉพาะเนื้อสับ เบอร์เกอร์ ลูกชิ้น หรือนมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อแบบพาสเจอร์ไรส์
ระยะเวลาฟักตัวของเชื้อโรคมักเกิดขึ้นประมาณ 8 วัน และจะมีอาการอยู่ประมาณ 1–2 วัน
เชื้อบิดชิเกลลา (Shigella)
เชื้อบิดชิเกลลาเป็นเชื้อแบคทีเรียที่สามารถปนเปื้อนกับอาหารผ่านการล้างด้วยน้ำที่มีเชื้อแบคทีเรีย โดยอาการจะเกิดภายใน 7 วันหลังจากได้รับเชื้อ และจะมีอาการอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์จึงจะหายเป็นปกติ
การติดเชื้อจากแบคทีเรียชิเกลลาเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อคือ โรคบิด หรือโรคบิดชิเกลลา
สแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus)
เป็นเชื้อที่ปล่อยพิษออกมาปนเปื้อนในอาหาร และสามารถทนต่อความร้อนได้ดี แม้ว่าจะปรุงอาหารจนสุกแล้วก็ตาม ทำให้มีอาการอาเจียนอย่างรุนแรง และหมดแรง ปวดท้อง ท้องเดิน ความดันโลหิตต่ำลง แต่ไม่มีไข้ร่วมด้วย โดยจะมีระยะการฟักตัวเพียง 1–8 ชั่วโมง และสามารถหายได้เองภายใน 1–2 วัน
พบการปนเปื้อนมากในอาหารประเภทนม ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ เนื้อสัตว์ และขนมปัง
บาซิลลัสซีเรียส (Bacillus cereus)
เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะปล่อยพิษปนเปื้อนไปกับอาหาร เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะแบ่งตัวในลำไส้ โดยผลิตพิษที่แบ่งออกได้อีก 2 ชนิด
- ชนิดที่ทำให้มีอาการท้องเดินเป็นหลัก ซึ่งมีระยะการฟักตัวเพียง 8–16 ชั่วโมง มักพบการปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ ข้าว และผัก
- ชนิดปล่อยพิษที่สามารถทนต่อความร้อนได้ดี ทำให้มีอาการอาเจียนเป็นหลัก ซึ่งมีระยะการฟักตัวเพียง 1–8 ชั่วโมง มักพบการปนเปื้อนในข้าว เช่น กรณีที่นำข้าวผัดเก่ามาอุ่นรับประทานซ้ำ
คลอสตริเดียมเพอร์ฟรินเจนส์ (Clostridium perfringen)
เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะปล่อยพิษปนเปื้อนกับอาหาร และเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะผลิตพิษออกมา หลังจากที่แบ่งตัวภายในลำไส้ จึงทำให้มีอาการถ่ายเป็นน้ำ ปวดท้อง แต่ไม่ค่อยอาเจียน และไม่มีไข้ร่วมด้วย
มีระยะการฟักตัวประมาณ 8–16 ชั่วโมง อาการดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง พบการปนเปื้อนมากในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่
คลอสทริเดียมโบทูลินัม (Clostridium botulinum)
เมื่อเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายแล้ว จะทำให้มีอาการปากคอแห้ง มองเห็นเป็นภาพซ้อน อาเจียน ท้องเดิน เส้นประสาทสมองเป็นอัมพาต ลามลงบริเวณส่วนล่างของร่างกาย และเข้าสู่ภาวะการหายใจล้มเหลว
มีระยะการฟักตัวประมาณ 12–36 ชั่วโมง พบการปนเปื้อนมากในอาหารประเภทเนื้อ ปลารมควัน ผักผลไม้ที่อัดกระป๋องเองในบ้าน การปนเปื้อนสปอร์ในดิน หรือการถนอมอาหารด้วยวิธีอื่นๆ ที่ไม่ถูกสุขอนามัย
วิบริโอพาราฮีโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus)
เป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในตระกูลเดียวกับเชื้ออหิวาต์ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วแบ่งตัวในลำไส้ จะทำให้ผลิตพิษออกมา ส่งผลให้มีอาการอาหารเป็นพิษ ท้องเดิน อาเจียน ปวดท้อง มีไข้ บางรายอาจถ่ายมีมูกเลือดปนในเวลาต่อมา
มีระยะการฟักตัว 8–24 ชั่วโมง หรือนานถึง 96 ชั่วโมง สามารถหายได้เองภายใน 3–5 วัน ซึ่งพบการปนเปื้อนมากในอาหารประเภทอาหารทะเลสดที่ไม่ผ่านการปรุงสุก หรือปรุงสุกไม่ทั่วถึง
เชื้อไวรัส
เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของอาการท้องร่วงและอาเจียนโดยส่วนใหญ่แล้วเกิดจากเชื้อโนโรไวรัส ซึ่งสามารถติดต่อจากคนสู่คนผ่านอาหาร หรือน้ำที่ปนเปื้อน
นอกจากนี้ยังสามารถพบเชื้อได้ในอาหารทะเลเปลือกแข็งดิบหรือหอยนางรมดิบ ระยะเวลาฟักตัวของเชื้อโรคเกิดขึ้นประมาณ 24–48 ชม.และจะมีอาการอยู่ประมาณ 2–3 วัน
เชื้อโนโรไวรัสเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กเกิดอาการท้องร่วงรุนแรง อาหารเป็นพิษ โดยอาการจะเกิดภายใน 7 วันหลังจากได้รับเชื้อ และจะมีอาการอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์จึงจะหายเป็นปกติ
เชื้อปรสิต
อาหารเป็นพิษที่มีสาเหตุมาจากเชื้อปรสิตมักเกิดขึ้นมากในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยการติดเชื้อปรสิตเกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อปรสิตเหล่านี้
- เชื้อไกอาร์เดียซิส (giardiasis) ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากปรสิตไกอาร์เดีย
- คริปโตสปอริดิโอซีส (cryptosporidiosis) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากปรสิตคริปโตสปอริเดียม
- เชื้อบิดมีตัว (ameobiasis) เป็นเชื้อบิดชนิดหนึ่งที่เกิดจากปรสิตเซลล์เดียวที่เรียกว่า แอนตามีบา ฮิสโตลิติกา (Entamoeba histolytica)
โดยอาการของอาหารเป็นพิษที่เกิดจากปรสิตมักจะเกิดขึ้นภายใน 10 วันหลังจากรับประทานอาหารที่ปนเปื้อน และบางครั้งพบว่า อาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์ก่อนที่จะเริ่มรู้สึกไม่สบาย หากติดเชื้อและไม่ได้รับการรักษา
ผู้ติดเชื้อจะมีอาการป่วยอยู่นานกว่าจะหายเป็นปกติ ซึ่งอาจใช้เวลานานถึงหลายสัปดาห์หรือ 1–2 เดือนเลยทีเดียว
ไมโคท็อกซิน (Mycotoxin) จากสารอาหารจำพวกเห็ดพิษ
ทำอย่างไรเมื่อมีอาการอาหารเป็นพิษ
- ผู้ที่มีอาการอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 2-3 วัน โดยไม่จำเป็นต้องพบแพทย์
- เมื่อมีอาการอาหารเป็นพิษ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มากเพื่อชดเชยน้ำที่เสียไป ป้องกันร่างกายขาดน้ำ แม้ว่าจะทำได้เพียงจิบน้ำก็ตาม
- เมื่อเริ่มรู้สึกดีขึ้น ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ ในปริมาณน้อย เช่น ขนมปัง ขนมปังกรอบ กล้วย หรือข้าว จนกว่าจะหายดี
- แนะนำให้ดื่มน้ำโออาร์เอสที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปเมื่อมีอาการ โดยเฉพาะสำหรับผู้ด้อยความสามารถทางร่างกาย เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย เพื่อบรรเทาอาการ
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอลล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน น้ำอัดลม รวมไปถึงอาหารที่มีรสจัด และมีไขมันมาก
- หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ควรรีบไปพบแพทย์
เครื่องดื่มโออาร์เอส (ORS) คืออะไร
- เครื่องดื่มโออาร์เอส เหมาะสำหรับผู้ด้อยความสามารถทางร่างกาย เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ที่กำลังอยู่ในภาวะขาดน้ำ สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยาหรือร้านค้า
- วิธีใช้ ละลายผงโออาร์เอสในน้ำดื่ม ซึ่งจะช่วยชดเชยเกลือ กลูโคส และแร่ธาตุอื่นๆ ที่เสียไป จนทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ
- สำหรับผู้ที่ไตมีปัญหา เครื่องดื่มโออาร์เอสบางตัวอาจไม่เหมาะสม แนะนำให้สอบถามเภสัชกรก่อนซื้อยามาใช้เอง
เมื่อไหร่จึงควรพบแพทย์
- เมื่ออาการอาหารเป็นพิษรุนแรงมากขึ้น เช่น สูญเสียน้ำมากเกินไป เนื่องจากการอาเจียน หรือท้องร่วง
- เมื่ออาการไม่ดีขึ้นภายใน 2–3 วัน
- มีอาการขาดน้ำอย่างรุนแรง ได้แก่ มึนงง หัวใจเต้นเร็ว ตาพร่ามัว หน้ามืด ปัสสาวะน้อย หรือไม่ปัสสาวะเลย
- อาหารเป็นพิษขณะตั้งครรภ์
- มีอายุมากกว่า 60 ปี
- เด็กทารกหรือเด็กเล็กที่คาดว่า มีอาการอาหารเป็นพิษ
- มีโรคประจำตัวเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคลิ้นหัวใจ โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง นอกจากนี้ยังมีบางโรคที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น การใช้ยาบางชนิดหรือการเป็นมะเร็ง
การรักษาโดยแพทย์
- แพทย์จะวินิจฉัยอาการ และหาสาเหตุโดยการตรวจอุจจาระ
- หากผลตรวจพบว่า ผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะกำหนดให้ผู้ป่วยทานยาปฏิชีวนะ
- หากมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น อาเจียน แพทย์จะสั่งยาแก้อาเจียนให้
- ในบางรายที่มีอาการรุนแรงมาก แพทย์จะแนะนำให้พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ 1–2 วัน เพื่อสังเกตอาการ และให้น้ำเกลือ
การป้องกันการแพร่เชื้อ
เมื่อมีอาการอาหารเป็นพิษคุณจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการปรุงอาหารสำหรับผู้อื่น และไม่ควรสัมผัสกลุ่มผู้ด้อยความสามารถทางร่างกาย เช่น ผู้สูงอายุ เด็กทารก หรือเด็กเล็ก
แนะนำให้ลางาน หรือลาโรงเรียนอย่างน้อย 48 ชม. หลังจากอาการท้องร่วงครั้งล่าสุด
นอกจากนี้ หากพบว่าคนในครอบครัวมีอาการอาหารเป็นพิษ ควรปฏิบัติตน ดังนี้
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าทุกคนในครอบครัว (รวมทั้งตัวคุณเองด้วย) ล้างมือด้วยสบู่และน้ำอุ่นเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเข้าห้องน้ำ และก่อน-หลังการเตรียมอาหาร
- ทำความสะอาดฝาปิดชักโครก ฝารองนั่ง ปุ่มกดชักโครก อ่างล้างหน้า และก๊อกน้ำอยู่เป็นประจำ
- ไม่ใช้ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดมือ หรือผ้าเช็ดหน้า ร่วมกับผู้อื่น
- ซักทำความสะอาดเสื้อผ้าผู้ป่วยด้วยการแช่น้ำร้อน และตากแสงแดดจัด
การป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ
วิธีที่ดีที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงอาการอาหารเป็นพิษ คือการปรับพฤติกรรมส่วนตัว การเก็บรักษาอาหารสดต่างๆ รวมไปถึงลักษณะของการปรุงและเตรียมอาหารด้วย
โดยสำนักงานมาตรฐานอาหารของอังกฤษ (Food Standards Agency (FSA)) แนะนำให้คำนึงถึง 4C เพื่อการมีสุขภาพที่สะอาดปลอดภัยห่างไกลโรคอาหารเป็นพิษ ดังนี้
- ความสะอาด (Cleaning)
- การเตรียมและปรุงอาหาร (Cooking)
- การเก็บรักษาและแช่แข็งอาหาร (Chilling)
- หลีกเลี่ยงและป้องกันการปนเปื้อนระหว่างของสด (Cross-contamination)
นอกจากนี้ยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่หมดอายุ และปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากเกี่ยวกับการเก็บรักษาอาหารอย่างเคร่งครัด เพราะเราไม่สามารถพิสูจน์ได้เลยว่าอาหารบูด หรือเสีย จากการดมกลิ่นเพียงอย่างเดียว
อาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส เพียงรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สด ใหม่ และล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารก็จะช่วยให้คุณห่างไกลจากอาหารเป็นพิษ
ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android
อาการท้องเสียกินแล้วถ่าย บางครั้งก็อาเจียนด้วยเป็นเพราะสาเหตุอะไรคะ และต้องรักษายังไง