คำว่า “ปริสิต” หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่เมื่ออยู่ในสิ่งมีชีวิตอื่นแล้วเป็นฝ่ายได้ประโยชน์และทำให้อีกฝ่ายเสียประโยชน์ ฝ่ายที่ถูกปรสิตอาศัยอยู่และเสียประโยชน์ เรียกว่า โฮสต์ ยกตัวอย่างเช่น พยาธิเมื่ออยู่ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตอื่น มันจะดูดอาหารจากสิ่งมีชีวิตที่มันอาศัยอยู่ และอาจทำให้สิ่งมีชีวิตที่มันอาศัยอยู่เกิดโรค เราเรียกพยาธิว่าเป็น “ปรสิต” และเรียกสิ่งมีชีวิตที่มันอาศัยอยู่ว่า “โฮสต์”
ปรสิตมีกี่กลุ่ม?
ปรสิตที่ทำห้เราเกิดโรคมี 3 กลุ่มหลัก คือ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- โปรโตซัว ตัวอย่างโปรโตซัวที่ทำให้เราเกิดโรคได้บ่อย ได้แก่ เชื้อบิด อะมีบา เชื้อมาลาเรีย เชื้อพยาธิช่องคลอดทริโคโมแนส
- พยาธิ
- กลุ่มเชื้อที่เป็นพาหะภายนอก ได้แก่ เห็บ เหา ไร โลน เลือด
ในส่วนนี้จะกล่าวถึงเฉพาะการติดเชื้อพยาธิเท่านั้น
พยาธิเป็นปรสิตที่อาศัยอาหารและสืบพันธุ์ในร่างกายของคนและสัตว์ พยาธิบางชนิดก็เพียงแต่อาศัยอาหารจากคนและสัตว์โดยไม่ก่อความเดือดร้อนต่อคนและสัตว์ที่มันอาศัยอยู่ แต่พยาธิบางชนิดก็ทำให้เกิดโรคกับสิ่งมีชีวิตที่มันอาศัยอยู่
พยาธิสามารถอาศัยอยู่ในตัวคนหรือสัตว์ตามอวัยวะต่างๆ เช่น ตัวแก่ของพยาธิไส้เดือนอาศัยอยู่ในลำไส้เล็ก พยาธิตัวอ่อนหลายชนิดอาจเดินทางไปตามอวัยวะต่างๆ หรือฝังตัวตามกล้ามเนื้อโดยมีถุงหุ้มอยู่ ตัวแก่ของพยาธิเท้าช้างอาศัยอยู่ในระบบน้ำเหลือง พยาธิใบไม้อาศัยอยู่ในหลอดเลือด ในท่อน้ำดี หรือในเนื้อปอด เป็นต้น
พยาธิสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทางดังนี้
- ทางปาก โดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิในระยะติดต่อ
- ทางจมูก โดยการหายใจเอาไข่ของพยาธิในระยะติดต่อเข้าไป เช่น ไข่ของพยาธิเข็มหมุด
- ทางผิวหนัง โดยการไชของพยาธิในระยะติดต่อเข้าทางผิวหนังโดยตรง เช่น พยาธิตัวจี๊ด พยาธิสตรองจิลอยด์
- ผ่านทางแมลง โดยถูกแมลงที่มีตัวอ่อนหรือไข่ของพยาธิระยะติดต่อกัด
ชนิดของพยาธิ
เราสามารถแบ่งพยาธิตามลักษณะรูปร่างเป็น 3 กลุ่ม คือ
- พยาธิตัวกลม ได้แก่ พยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ พยาธิเส้นด้าย (พยาธิเข็มหมุด) พยาธิแซ่ม้า พยาธิตัวจี๊ด พยาธิเท้าช้าง
- พยาธิตัวตืด พยาธิชนิดนี้ลำตัวจะแบนและเป็นปล้อง ได้แก่ พยาธิตืดหมู พยาธิตืดวัว พยาธิตืดแคระ พยาธิตืดหนู
- พยาธิใบไม้ พยาธิชนิดนี้มีลักษณะลำตัวแบนแต่ไม่เป็นปล้อง ได้แก่ พยาธิใบไม้ในเลือด
อาการแสดงของการติดเชื้อพยาธิ
เมื่อพยาธิเข้าสู่ร่างกายของโฮสต์ จะมีผลต่อโฮสต์หลายอย่างดังนี้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- แย่งอาหารจากโฮสต์ ทำให้โฮสต์ได้รับอาหารไม่เพียงพอและเกิดภาวะขาดสารอาหาร
- ทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อของโฮสต์ เช่น กินเนื้อเยื่อของโฮสต์เป็นอาหาร ทำให้เนื้อเยื่อของโฮสต์เกิดอันตราย
- สร้างสารคัดหลั่ง สารพิษหรือสารต่างๆ แล้วปล่อยเข้าสู่โฮสต์ ทำให้โฮสต์เกิดการแพ้และอักเสบ
อาการแสดงต่างๆ จากการได้รับพยาธิแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไปดังนี้
1. พยาธิไส้เดือน
พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่และมีอาการรุนแรงกว่าในผู้ใหญ่ เพราะมักมีพยาธิในลำไส้เป็นจำนวนมาก ถ้ามีพยาธิอยู่จำนวนน้อยอาจไม่มีอาการแสดงอะไร นอกจากอาการปวดท้อง อาเจียน เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง หลังรับประทานอาหารสักครึ่งชั่วโมง
ส่วนกรณีเด็ก ถ้ามีพยาธิจำนวนมาก เด็กอาจมีอาการผอมแห้ง รับประทานข้าวได้แต่ไม่อ้วน หรือกลับผอมลง ถ้าเป็นไปนานๆ จะทำให้เบื่ออาหาร เกิดภาวะซีด
เด็กที่มีอาการปวดท้อง หรืออาเจียนบ่อย หรือเป็นลมพิษเรื้อรัง โดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ควรนึกถึงโรคนี้ไว้ด้วยเสมอ
2. พยาธิเส้นด้าย
พยาธิเส้นด้ายหรือบางคนเรียกพยาธิเข็มหมุด อาการแสดงที่เป็นลักษณะเฉพาะเมื่อได้รับเชื้อพยาธิเส้นด้าย คือ คันก้นมากในเวลากลางคืนเพราะพยาธิตัวเมียที่ถูกผสมแล้วจะเคลื่อนตัวออกมาวางไข่ที่ก้นผู้ป่วย บางครั้งอาจออกมาวางไข่ที่ปากช่องคลอดของเด็กหญิง ทำให้มีอาการคันปากช่องคลอดได้ ผู้ป่วยมักต้องเกาก้น บางคนมีอาการคันมากจนทำให้นอนไม่หลับ
พยาธิชนิดนี้แพร่กระจายได้ง่าย มักพบเป็นกันหลายคนในครอบครัวหรือในโรงเรียน อาจเป็นเรื้อรัง แต่ไม่มีอันตรายร้ายแรง นอกจากทำให้รำคาญหรือนอนไม่เพียงพอ อาการจะค่อยๆ หายได้เองเมื่อโตขึ้นเพราะรู้จักรักษาความสะอาด
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
3. พยาธิแส้ม้า
พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ส่วนมากไม่มีอาการแสดงอะไรนอกจากในรายที่เป็นมากอาจมีอาการปวดท้อง ในเด็กที่เป็นรุนแรง อาจมีอาการทางทวารหนักโดยเห็นเป็นก้อนเนื้อแดงโผล่ออกมาข้างนอกและอาจเห็นพยาธิออกมาด้วย
4. พยาธิตัวจี๊ด
พยาธิชนิดนี้อาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารของแมวและสุนัข โรคนี้พบบ่อยในคนที่มีประวัติชอบรับประทานกุ้ง ปลา หรือเนื้อสัตว์ดิบหรือสุกๆ ดิบๆ
อาการแสดงของพยาธินี้ คือ ผิวหนังมีรอยบวมแดง ตึง อาจคัน หรือปวดจี๊ดตามตำแหน่งที่พยาธิเคลื่อนที่ไป โดยแต่ละแห่งจะเกิดนานประมาณ 3-10 วัน ชาวบ้านบางแห่งเรียกว่า โรคลมเพลมพัด บางครั้งอาจมีไขขึ้น สิ่งที่เป็นอันตรายอย่างมากสำหรับการติดเชื้อพยาธิตัวจี๊ด คือ ถ้าเรารับประทานตัวอ่อนระยะที่ 3 ที่อยู่ในสัตว์น้ำจืด สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ปีก หรือหนู ซึ่งเป็นระยะติดต่อ พยาธิจะไม่อยู่ที่กระเพาะอาหารและในช่องท้อง แต่จะกระจายไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ใต้ผิวหนัง ปอด ตา หู สมอง ไขสันหลัง ทำให้เกิดการอักเสบและเป็นอันตรายตามอวัยวะต่างๆ จนอาจเสียชีวิตได้ เช่น
- ถ้าไชขึ้นสมอง จะทำให้ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน หมดสติและอาจเสียชิวิต
- ถ้าไชเข้าไขสันหลัง จะทำให้ปวดเสียวมากตามแขนขา แขนขาเป็นอัมพาต ปัสสาวะไม่ออก ท้องผูก
- ถ้าไชเข้าตา ตาจะอักเสบ บวมและตาบอดได้
- ถ้าไชเข้าปอด จะทำให้ปอดเกิดการอักเสบ ไอเป็นเลือด
- ถ้าไชเข้าท้อง ผู้ป่วยจะปวดท้องรุนแรง ไม่สบายท้อง จุกเสียด แน่นท้อง
ปัจจุบันยังไม่มียาฆ่าพยาธิตัวจี๊ดที่ไชไปตามอวัยวะต่างๆ การรักษามักเป็นการให้ยาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยาลดอาการบวม ตลอดจนการรักษาด้วยการผ่าเอาตัวพยาธิออกเมื่อขึ้นมาอยู่ที่ผิวหนัง
5. พยาธิปากขอ
พยาธิชนิดนี้อาศัยอยู่ในผนังลำไส้ และดูดอาหารและเลือดจากบริเวณนั้น อาการของโรคจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนพยาธิที่มีอยู่ในลำไส้ พบว่าผู้ที่มีพยาธิปากขอจะมีอาการซีดเมื่อมีพยาธิมากกว่า 100 ตัวขึ้นไปในลำไส้
6. พยาธิตัวตืด
ที่พบบ่อย ได้แก่ พยาธิตืดวัว พยาธิตืดหมู
พยาธิตืดหมู จะอันตรายกว่าพยาธิตืดวัว เพราะกรณีถ้าคนรับประทานไข่ของตืดหมู ตัวอ่อนจะฟักเป็นตัวออกมาแล้วเข้าสู่กระแสเลือดไปอยู่ตามเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย อาจอยู่ในกล้ามเนื้อและสมองเกิดตุ่มเล็กขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียวอยู่ใต้ผิวหนังทั่วร่างกาย หรือถ้าไปอยู่ในสมอง จะทำให้ชัก มีอาการทางจิตประสาท ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนได้ แต่ตัวอ่อนของตืดวัวที่ฟักออกมาจะตายไปไม่เป็นอันตรายเท่าตัวอ่อนของตืดหมู
อาการทั่วไปที่พบกรณีมีพยาธิตัวตืด คือ คลื่นไส้ ปวดท้อง อ่อนเพลีย น้ำหนักลด หิวบ่อย อาการทางผิวหนังที่พบ เช่น ลมพิษ คัน
การถ่ายพยาธิตัวตืดทุกชนิดจะใช้นิโคลซาไมด์ หรือพราซิควันเทล (ดูรายละเอียดในส่วนของยาถ่ายพยาธิ)
7. กลุ่มพยาธิใบไม้
ลักษณะของพยาธิใบไม้คือ ลำตัวแบนเรียบไม่เป็นปล้องมีหลายชนิด เช่น พยาธิใบไม้ในตับ ในลำไส้ ในเลือด และในปอด พยาธิกลุ่มนี้อยู่ในปลาตามหนอง บึง กุ้งดิบ ปูดิบ ในหอยน้ำจืดหลายชนิด กระจับ สายบัว ผักบุ้ง ติดต่อโดยการรับประทานหรือตัวอ่อนไชเข้าผิวหนังโดยตรง
อาการแสดงของกลุ่มพยาธิใบไม้จะมีลักษณะแตกต่างกันดังนี้
อาการแสดงของพยาธิใบไม้ในตับมีอาการ 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 ไม่มีอาการ เป็นระยะแรกที่เพิ่งได้รับพยาธิหรือมีพยาธิน้อย 100-200 ตัว ผู้ป่วยยังไม่แสดงอาการอะไร
- ระยะที่ 2 มีอาการอย่างอ่อน ระยะถัดมาผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการท้องอืดคล้ายอาหารไม่ย่อยเป็นครั้งคราว กรณีที่เป็นพยาธิใบไม้ในตับ จะรู้สึกร้อนบริเวณตับใต้ชายโครงขวาหรือลิ้นปี่ ตับไม่โต กดไม่เจ็บ ระยะนี้ถ้าตรวจอุจจาระผู้ป่วย จะพบไข่ของพยาธิใบไม้ในตับ
- ระยะที่ 3 มีอาการปานกลาง ผู้ป่วยมีอาการอึดอัดท้องอืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย กดเจ็บและรู้สึกร้อน บริเวณตับบ่อยขึ้น อาจมีไข้ต่ำๆ ตับอาจโต กดเจ็บ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ถ้าปล่อยไว้นาน อาการจะรุนแรงขึ้นและเข้าสู่ระยะที่ 4
- ระยะที่ 4 เป็นระยะที่มีอาการรุนแรง พบในผู้ป่วยที่มีพยาธิอยู่เป็นจำนวนมากและเป็นเวลานาน อาการจะเหมือนระยะที่ 3 แต่จะมีอาการท่อน้ำดีอักเสบแทรกซ้อน ผู้ป่วยจะมีไข้ ดีซ่าน ปวดบริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา อาการจะเป็นๆ หายๆ หรือเป็นติดต่อไปเรื่อยๆ
การรักษาพยาธิใบไม้ จะใช้ยาพราซิควันเทล 40 มก. ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ครั้งเดียว
อาการแสดงของพยาธิใบไม้ในลำไส้ ผู้ป่วยมีอาการท้องเดินสลับท้องผูก เสียดท้อง ท้องอืด ลำไส้อุดตัน อาหารไม่ย่อย ถัดมาอุจจาระจะมีสีเขียวหยาบ กลิ่นเหม็น คลื่นไส้ อาเจียน มีน้ำในช่องท้อง บวมทั้งตัวเนื่องจากสารพิษที่พยาธิขับออกมาก
อาการแสดงของพยาธิใบไม้ในปอด ผู้ป่วยจะมีอาการปวด บวม ไอเรื้อรัง เสมหะมีเลือดปน เจ็บหน้าอก หนาวสั่น เหงื่อออกตอนกลางคืน หอบ เหนื่อยง่าย วิงเวียนศีรษะ
อาการแสดงของพยาธิใบไม้ในเลือด อาการแสดงหลัก ได้แก่ มีไข้ ลมพิษ ปวดท้อง อุจจาระมีมูก หรือเลือดปน ตับและม้ามโต ผู้ป่วยบางรายมีภาวะหลอดลมอักเสบร่วมด้วย
การรักษา ใช้ยาอันดับแรกคือพราซิควันเทล ซึ่งสามารถใช้รักษาโรคพยาธิใบไม้ได้แทบทุกชนิด (ดูรายละเอียดส่วนของยารักษาพยาธิ)
ยารักษาพยาธิ
ยารักษาพยาธิที่ใช้กันในร้านยาจะมี 3-4 ชนิด โดยออกฤทธิ์ครอบคลุมการฆ่าพยาธิชนิดต่างๆ ดังนี้
1. นิโคลซาไมด์
ยาตัวนี้ออกฤทธิ์ฆ่าพยาธิตัวตืดเกือบทุกชนิดและยังมีผลทำลายพยาธิเข็มหมุดและพยาธิใบไม้ในลำไส้อีกด้วย
พบว่ามีอาการข้างเคียงต่ำ เนื่องจากยาถูกดูดซึมได้น้อยจากทางเดินอาหาร และตัวยาเองก็ไม่มีฤทธิ์ระคายเคือง อาการที่พบบ้าง ได้แก่ คลื่นไส้ ปวดท้อง มึนงง แต่ไม่รุนแรงและเกิดชั่วคราว
ในกรณีที่ใช้นิโคลซาไมด์ถ่ายพยาธิตัวตืด มีข้อปฏิบัติดังนี้
- ควรให้ยาป้องกันการอาเจียนก่อนให้ยาถ่ายพยาธิ 1-2 ชั่วโมง
- ควรเคี้ยวนิโคลซาไมด์ให้ละเอียดก่อนกลืน ดื่มน้ำตามเล็กน้อยและให้ยาถ่ายตามหลังจากนั้น 2 ชั่วโมง เพื่อขับเอาไข่พยาธิที่ออกจากปล้องแล้วอาจย้อนกลับมาที่ลำไส้เล็กและชอนไชไปตามเนื้อเยื่อต่างๆ เกิดเป็นถุงตัวตืดในผิวหนังออกมาให้หมด
ตัวอย่างชื่อการค้า ได้แก่ โยเมซาน (YomesanÒ)
ขนาดรับประทาน
- ผู้ใหญ่ครั้งละ 2 กรัม (4 เม็ด) ครั้งเดียว โดยเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน
- เด็กน้ำหนักระหว่าง 11 – 34 กิโลกรัม ให้ยา 1 กรัม ครั้งเดียว
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ให้ขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งเดียว โดยบดให้ละเอียดก่อนรับประทาน
2. มีเบนดาโซล
ออกฤทธิ์โดยทำลายอวัยวะที่ใช้เคลื่อนไหวที่อยู่ในเซลล์ผิวหนังและลำไส้ของพยาธิ ทำให้พยาธิเคลื่อนไหวไม่ได้และตายในที่สุด แต่กว่าพยาธิจะถูกขับออกจากลำไส้จนหมดอาจใช้เวลา 3 วันหลังจากได้รับยา
ยาถ่ายพยาธิชนิดนี้มีขอบเขตการทำลายพยาธิได้หลายชนิด โดยเฉพาะได้ผลดีในการกำจัดพยาธิตัวกลมหลายชนิด เช่น พยาธิ ไส้เดือน พยาธิปากขอ พยาธิเข็มหมุด พยาธิแส้ม้า พยาธิแคปิลาเรีย ใช้ได้ผลบ้างกับพยาธิสตรองจิลอยด์ พยาธิใบไม้ในตับและพยาธิตัวตืด ยายังมีผลยับยั้งไม่ให้ไข่ของพยาธิปากขอและพยาธิแส้ม้าเจริญเป็นตัวอ่อน
ตัวอย่างชื่อการค้า ได้แก่ ฟูกาคาร์ (Fugacar®)
ขนาดรับประทาน ผู้ใหญ่และเด็กให้ขนาดยาเท่ากัน ดังนี้
- พยาธิเข็มหมุด รับประทาน 100 มก. ครั้งเดียวและอาจให้ซ้ำอีกครั้งในเวลา 1 – 2 สัปดาห์ถัดไป
- พยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ พยาธิแส้ม้า พยาธิสตรองจิลอยด์ รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ติดต่อกัน 3 วัน หรือรับประทาน 500 มิลลิกรัม ครั้งเดียว
เนื่องจากยาถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้น้อย จึงไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง ที่อาจพบบ้าง คือ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ปวดท้อง
ข้อควรระวังคือ ไม่ควรใช้ในหญิงขณะตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ
3. อัลเบนดาโซล
กลไกการออกฤทธิ์ คือ ทำให้กลูโคสซึ่งเป็นแหล่งพลังงานไม่สามารถเข้าไปในตัวพยาธิได้ พยาธิจึงอ่อนแรงลง เคลื่อนไหวได้น้อยลงและตายในที่สุด
อัลเบนดาโซลเป็นยาถ่ายพยาธิที่ออกฤทธิ์กว้าง เช่นเดียวกับมีเบนดาโซลกำจัดได้ทั้งพยาธิตัวกลมและตัวแบน ออกฤทธิ์ได้กับพยาธิทุกระยะของวงจรชีวิตทั้งในระยะตัวแก่และในระยะตัวอ่อน ตลอดจนไข่พยาธิ
ตัวอย่างชื่อการค้า คือ เซนเทล (Zentel®)
ขนาดรับประทาน สำหรับผู้ใหญ่และเด็กขนาดยาจะเท่ากันคือโดยทั่วไปใช้ 400 มก. ครั้งเดียว ได้ผลดีต่อพยาธิดังต่อไปนี้
- พยาธิไส้เดือน
- พยาธิเข็มหมุด
- พยาธิแส้ม้า
- พยาธิปากขอ
- พยาธิตืดหมู ตืดวัว
กรณีถ่ายพยาธิเส้นด้ายสตรองจิลอยด์และพยาธิใบไม้ใบตับ ให้รับประทานครั้งละ 400 มก. วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน หลังจากให้ยาแล้ว 3 สัปดาห์ หากยังคงมีอาการแสดง อาจให้ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
ในกรณีพยาธิปากขอ อัลเบนดาโซล ให้ผลดีกว่า มีเบนดาโซลมาก ปัจจุบันจึงนิยมให้ อัลเบนดาโซล ถ่ายพยาธิปากขอแทนมีเบนดาโซล
ไม่ค่อยพบอาการข้างเคียงจากการใช้ยา แต่ที่อาจพบได้บ้าง คือ มีอาการแน่นท้อง ท้องเดิน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน
ข้อควรระวัง
ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และหญิงที่เตรียมจะตั้งครรภ์ภายใน 1 เดือนหลังจากใช้ยานี้ สิ่งที่ต้องระวังคือ อาหารประเภทไขมันจะทำให้ยามีการดูดซึมเพิ่มขึ้น 4 – 5 เท่า ดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานพร้อมกับอาหารประเภทไขมัน เพราะอาจทำให้ความเข้มข้นของยาในเลือดสูงมากเกินไปจนเกิดอาการข้างเคียงได้
4. ไพแรนเทล ปาโมเอท
เป็นยาที่เลือกใช้เป็นอันดับแรกในการถ่ายพยาธิไส้เดือน พยาธิเข็มหมุดและพยาธิปากขอ โดยยาทำให้พยาธิเป็นอัมพาตแบบหดเกร็ง ออกฤทธิ์ทำลายพยาธิได้ทั้งในระยะตัวอ่อนและตัวแก่
ข้อดีของยานี้ คือ สามารถใช้ได้กับทุกอายุ
ตัวอย่างชื่อการค้า ได้แก่ คอมแบนทริน (Combantrin®) แบนเทล (Bantel®) เวิร์มไดรท์ (Vermdrite®)
ขนาดรับประทาน รับประทานครั้งเดียวขนาด 10 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม อาจให้ซ้ำได้ใน 1-2 สัปดาห์ถัดไป
เนื่องจากยาดูดซึมเข้าร่างกายน้อยมาก จึงมีอาการข้างเคียงต่ำ และเป็นเพียงระยะเวลานั้นๆ ที่พบคือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเดิน เวียนศีรษะหรือปวดศีรษะ
ข้อควรระวัง
- แม้ว่ายานี้จะสามารถใช้ได้ทุกอายุ แต่ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบและหญิงตั้งครรภ์
- ไม่ควรใช้ร่วมกับพิเพอราซีน เพราะต้านฤทธิ์ซึ่งกันและกัน
5. พราซิควันเทล
เป็นยาอันดับแรกที่ใช้ถ่ายพยาธิใบไม้แทบทุกชนิด นอกจากนั้นยังใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในการถ่ายพยาธิตัวตืดแทบทุกชนิดโดยเฉพาะพยาธิตืดหมู
อาการข้างเคียงจากยาอาจพบได้บ้างแต่ไม่รุนแรง เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ง่วงนอน ดังนั้นขณะรับประทานไม่ควรขับรถหรือทำงานที่ต้องใช้สมาธิสูง
ข้อควรระวัง ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงระยะให้นมบุตร
ตารางเปรียบเทียบยาถ่ายพยาธิแต่ละชนิด
มีเบนดาโซล | อัลเบนดาโซล | พราซิควันเทล | ไพแรนเทลปาโมเอท | นิโคลซาไมด์ | |
กลไกการออกฤทธิ์ | ยับยั้งการดูดซึมกลูโคสของพยาธิ | ทำให้พยาธิหดตัวอย่างรุนแรงตามด้วยการเป็นอัมพาต | ทำให้พยาธิเป็นอัมพาตแบบหดเกร็งเช่นเดียว กับอัลเบนดาโซล | กดการหายใจ และยับยั้งการดูดซึมกลูโคสของพยาธิ | กดการหายใจและยับยั้งการดูดซึมกลูโคสของพยาธิ |
ขอบเขตการออกฤทธิ์ | ออกฤทธิ์ต่อพยาธิทั้งตัวกลมและตัวแบน | ออกฤทธิ์ต่อพยาธิทั้งตัวกลมและตัวแบน | ออกฤทธิ์ต่อพยาธิตัวแบนได้ดีได้ผลน้อยมากต่อพยาธิตัวกลม | ออกฤทธิ์ต่อพยาธิตัวกลม ยกเว้นพยาธิแส้ม้าและสตรองจิลอยด์ | ออกฤทธิ์ต่อพยาธิตัวตืดได้ดี มีผลน้อยมากต่อพยาธิตัวกลม |
ความสามารถในการทำลายไข่และตัวอ่อนของพยาธิ | ทำลายได้ทั้งพยาธิตัวแก่ตัวอ่อนและไข่ของพยาธิ | ทำลายได้ทั้งพยาธิตัวแก่ตัวอ่อนและไข่ของพยาธิ | ออกฤทธิ์ตัวตัวแก่และตัวอ่อนของพยาธิ ไม่มีผลต่อไข่ของพยาธิ | ออกฤทธิ์ต่อตัวแก่และตัวอ่อนของพยาธิไม่มีผลต่อไข่ของพยาธิ | ออกฤทธิ์ต่อตัวแก่ของพยาธิไม่มีผลต่อตัวอ่อนและไข่ของพยาธิ |
การดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย | ดูดซึมน้อย
2 – 10% |
ดูดซึมน้อยกว่า 50% | ดูดซึมได้ 80% | ดูดซึมน้อย | ดูดซึมน้อย |
อาการข้างเคียง | อาจพบอาการปวดท้อง | ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน | ปวดศีรษะ วิงเวียน ง่วงซึม ผิวหนังเป็นผื่น | เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องถิ่น | คลื่นไส้ ผื่นคัน |
ข้อควรระวัง | ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และผู้เคยแพ้ยานี้ | ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์ | ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์และระยะให้นมบุตร ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือขับรถยนต์ เนื่องจากผลของยาทำให้เกิดการมึนงง ง่วงซึม | ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคตับ ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี | ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์ |