พยาธิตัวตืด (Tapeworms) เป็นกลุ่มพยาธิที่มีลำตัวแบน แบ่งเป็นปล้องๆ ไม่มีช่องว่างในลำตัว และมีความยาวตั้งแต่ 2 เมตร จนถึงหลายเมตร ร่างกายของพยาธิตัวตืดจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1) ส่วนหัว (scolex) ซึ่งจะมีอวัยวะสำหรับยึดเกาะ ที่เรียกว่า sucker อยู่ด้วย 2) ส่วนคอ (neck) เป็นส่วนที่จะเจริญกลายเป็นปล้องต่อไป และ 3) ส่วนปล้อง (segment) ซึ่งจะต่อเรียงกันเป็นสายยาว และแต่ละปล้องจะมีอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้และเพศเมียอยู่ พยาธิตัวเต็มวัยจะอาศัยอยู่ในลำไส้ของคนและสัตว์มีกระดูกสันหลัง พยาธิตัวตืดนั้นมีอยู่มากมายหลายชนิด แต่ชนิดที่พบว่าก่อโรคในคนได้บ่อย ได้แก่ พยาธิตืดวัว ตืดหมู และตืดแคระ
พยาธิตืดวัว (Beef tapeworm หรือ Taenia saginata)
มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 5-10 เมตร หรืออาจยาวกว่านี้ พยาธิตัวหนึ่งอาจมีจำนวนปล้องถึง 10,000-20,000 ปล้อง ส่วนหัวของพยาธิตืดวัวจะมีที่เกาะ (sucker) 4 อัน แต่ไม่มีปุ่มหรือขอ ทำให้ไม่ค่อยพบพยาธิไชออกจากผนังลำไส้ไปยังส่วนต่างๆ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
การติดต่อสู่คน เกิดจากการกินถุงพยาธิในเนื้อวัวซึ่งมีตัวอ่อนพยาธิอยู่ภายใน หรือที่เรียกว่า วัวสาคู
วงจรชีวิต พยาธิตืดวัวตัวเต็มวัยจะอาศัยอยู่ในลำไส้ของคน ปล้องสุกและไข่ของพยาธิจะหลุดปนออกมาทางอุจจาระ หรือไชออกมาทางทวารหนัก และแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม วัวจะกินไข่และปล้องพยาธิเข้าไปโดยบังเอิญ ตัวอ่อนพยาธิที่ฟักออกมาจะไชผ่านลำไส้วัวและไปฝังตัวอยู่ตามกล้ามเนื้อโดยมีถุงหุ้ม ซึ่งเรียกว่า วัวสาคู เมื่อคนทานเนื้อวัวดิบที่มีวัวสาคูอยู่ ตัวอ่อนก็จะเจริญเป็นตัวเต็มวัย และใช้ส่วนหัวยึดเกาะกับผนังลำไส้
อาการของโรคพยาธิตืดวัว ผู้ติดเชื้อพยาธิตืดวัวมักไม่มีอาการ แต่บางครั้งก็พบความผิดปกติได้ เช่น อาหารไม่ย่อย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระบ่อย มีไข้ต่ำ ลำไส้อุดตัน และอาจแพ้พยาธิจนมีผื่นคันตามผิวหนังได้
พยาธิตืดหมู (Pork tapeworm หรือ Taenia solium)
ปล้องของพยาธิตืดหมูจะเล็กและสั้นกว่าพยาธิตืดวัว ส่วนหัวจะค่อนข้างกลม มีที่เกาะ 4 อัน มีปุ่ม (rostellum) และขอ (hook) จำนวน 22-36 อัน เรียงอยู่รอบๆ ทำให้พยาธิตืดหมูสามารถไชทะลุผนังลำไส้ไปยังส่วนต่างๆ ได้
การติดต่อสู่คน เกิดจากการทานเนื้อหมูดิบที่มีถุงตัวอ่อนพยาธิ หรือหมูสาคู ทำให้พยาธิตัวอ่อนกระจายเข้าสู่ร่างกาย และไชทะลุผนังลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด นอกจากนี้ การกินไข่หรือปล้องสุกพยาธิที่ปนเปื้อนมากับดิน พืชผัก และน้ำดื่ม ก็พบได้เช่นกัน
วงจรชีวิต พยาธิตืดหมูนั้นมีวงจรชีวิตคล้ายกับพยาธิตืดวัว คือปล้องสุกและไข่พยาธิจะปนออกมากับอุจจาระของคน เมื่อหมูกินเข้าไปโดยบังเอิญ ตัวอ่อนพยาธิจะฝังตัวอยู่ในกล้ามเนื้อหมู ซึ่งเรียกว่า หมูสาคู และคนที่กินเนื้อหมูดิบก็จะได้รับตัวอ่อนพยาธิเข้าสู่ร่างกาย เพียงแต่ตัวอ่อนพยาธิตืดหมูอาจไชไปฝังตัวอยู่ตามอวัยวะต่างๆ นอกลำไส้ได้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
อาการของโรคพยาธิตืดหมู การมีพยาธิตืดหมูอยู่ในลำไส้ จะทำให้เกิดอาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลดได้เช่นกัน แต่อันตรายที่แท้จริงของพยาธิตืดหมู คือทำให้เกิด โรคถุงตัวตืด (Cysticercosis) ซึ่งเกิดจากตัวอ่อนของพยาธิชอนไชไปฝังตัวตามอวัยวะต่างๆ ทำให้พบถุงตัวอ่อนหรือ cyst ซึ่งคล้ายกับหมูสาคูตามเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย หากถุงตัวอ่อนไปฝังตัวตามกล้ามเนื้อ เช่น แขน ขา จะเกิดหินปูนมาเกาะรอบๆ ทำให้มีอาการปวดกล้ามเนื้อรุนแรง แต่หากถุงตัวอ่อนไปฝังตัวที่อวัยวะภายใน ก็จะทำให้อวัยวะนั้นผิดปกติไปด้วย เช่น ถ้าพบ cyst ที่สมอง ก็มักจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง และการมองเห็นแย่ลง เป็นต้น นอกจากนี้ หากถุงตัวอ่อนแตกออก จะทำให้ตัวอ่อนพยาธิกระจายเข้าสู่กระแสเลือด จนอาจเกิดภาวะช็อกได้
พยาธิตืดแคระ (Dwarf tapeworm หรือ Hymenolepis nana)
เป็นพยาธิตัวตืดขนาดเล็ก หัวมีรูปร่างกลม มีที่เกาะ 4 อัน มีปุ่มที่ยืดหดได้ตรงกลาง และมีหนามรายล้อม 20-30 อัน
การติดต่อสู่คน เกิดจากการกินไข่พยาธิที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมเข้าไปโดยบังเอิญ
วงจรชีวิต พยาธิตืดแคระตัวเต็มวัยจะอาศัยอยู่ในลำไส้ของคนและหนู ซึ่งปล้องสุกและไข่พยาธิจะปะปนออกมากับอุจจาระและแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อม เมื่อคนและหนูทานอาหารที่ปนเปื้อนไข่และปล้องสุกพยาธิเข้าไป ตัวอ่อนพยาธิก็จะฟักในร่างกายและเข้าไปฝังตัวจนเจริญเป็นตัวเต็มวัยอยู่ที่ลำไส้
อาการของโรคพยาธิตืดแคระ อาจพบอาการลำไส้อักเสบ ปวดท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ แต่อาการมักไม่รุนแรงนัก
การรักษาโรคพยาธิตัวตืด
สำหรับการติดเชื้อพยาธิตัวตืดในลำไส้ สามารถรักษาได้โดยการทานยาถ่ายพยาธิที่หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยา ได้แก่
- ยา Praziquantel 5-10 มก./กก. ทานครั้งเดียว
- ยา Natazoxanide 2 กรัม ทานครั้งเดียว
แต่หากเป็นโรคถุงตัวตืดจากพยาธิตืดหมู สามารถรักษาได้โดยการฉีดยากำจัดพยาธิเข้าทางหลอดเลือดดำ ซึ่งได้แก่
- ยา Albendazole 5 มก./กก. ฉีดวันละ 3 ครั้ง นาน 28 วัน
- ยา Dexamethasone 8 มก. ฉีดทุก 8 ชั่วโมง จนครบ 6 โดส จากนั้นให้ยา 4 มก. ทุก 8 ชั่วโมง จนครบ 3 โดส
- ยา prednisone 0.4 มก./กก. ต่อวัน แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง
การป้องกันโรคพยาธิตัวตืด
- หลีกเลี่ยงการทานเนื้อหมูและเนื้อวัวสุกๆ ดิบๆ
- หลีกเลี่ยงการทานอาหาร พืชผัก และน้ำดื่มที่สกปรก ผักที่นำมาทานควรล้างให้สะอาดเสมอ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของไข่พยาธิ
- รักษาสุขอนามัยของร่างกายและที่อยู่อาศัยให้สะอาด