โรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศหญิง

เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 8 นาที
โรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศหญิง

มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศหญิง พบได้ในสตรีตั้งแต่วัยสาวถึงวัยชรา และพบมากในช่วงอายุ 30-50 ปี ในแต่ละปีผู้หญิงทั่วโลกป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้นปีละ 466,000 คน เสียชีวิตปีละ 231,000 คน ซึ่งประมาณร้อยละ 80 ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สำหรับประเทศไทย โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยเป็นอันดับหนึ่ง และมะเร็งที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุด คือ มะเร็งปากมดลูก จากรายงานของสำนักงานวิจัยมะเร็งนานาชาติพบว่า ในปี พ.ศ. 2544 ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ปีละ 6,192 ราย เสียชีวิต 3,166 ราย หรือประมาณ 50%

ถ้าคำนวณแล้วจะมีผู้หญิงไทยที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกวันละเกือบ 9 ราย มะเร็งปากมดลูกพบมากที่สุดในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งมะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ และสามารถตรวจคัดกรองหาความผิดปกติได้ก่อน 

พยาธิสรีรภาพ

โรคมะเร็งปากมดลูกจะเริ่มต้นจากมะเร็งชนิดไม่ลุกลาม (Noninvasive) ซึ่งอาจเป็นนานถึง 20 ปีแล้วจึงลุกลาม โดยเซลล์จะมีนิวเคลียสขนาดใหญ่ขึ้น รูปร่างผิดปกติ ติดสีมากขึ้น และมีนิวเคลียสหลายอัน มีการเพิ่มจำนวนเซลล์ที่ผิดปกติและไม่สมบูรณ์ (Dysplasia) โดยแบ่งเป็น 3 เกรด คือ

  • เกรด 1 (Grade 1) เซลล์ผิดปกติเพียงเล็กน้อย (Mild dysplasis)
  • เกรด 2 (Grade 2) เซลล์ผิดปกติปานกลาง (Moderate dysplasis)
  • เกรด 3 (Grade 3) เซลล์ผิดปกติมาก (Severe dysplasis)

หากมีจำนวนเซลล์ผิดปกติมากจนทำให้การเรียงตัวของเซลล์ผิดปกติและเยื่อบุทั้งหมดผิดปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็ง (Carcinoma in situ) หากเซลล์มะเร็งมีความผิดปกติเกินชั้นฐานของเยื่อบุเข้าไปในชั้นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Invasive cervical cancer) เซลล์มะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่เป็นชนิด Epidermoid ซึ่งพัฒนามาจาก Squamous cell ส่วนน้อยเป็น Adenocarcinoma จะใช้เวลานานถึง 10 ปีโดยยังไม่ปรากฏอาการ

เมื่อมีการลุกลามจะเป็นเซลล์ชนิด Adenocarcinoma มักจะลุกลามไปยังผนังช่องคลอดที่อยู่ใกล้เคียง และแพร่กระจายเข้าสู่เลือดไปยังปอด ช่องทรวงอก ตับ และกระดูก หรือผ่านระบบน้ำเหลืองโดยเฉพาะหลอดน้ำเหลืองด้านข้างเข้าสู่เอ็นยึดมดลูก (Parametrium) ไปยังผนังอุ้งเชิงกราน

ส่วนด้านหน้าและด้านหลังจะลุกลามไปยังกระเพาะปัสสาวะ ทวารหนัก และต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน มีผลให้ต่อมน้ำเหลืองโต การไหลเวียนเลือดผิดปกติ ขาบวม ท่อปัสสาวะอุดตัน ไตบวมน้ำ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก

  • สตรีที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย (ต่ำกว่า 18 ปี)
  • มีคู่นอนหลายคน สำส่อนทางเพศ
  • มีประวัติเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
  • มีโรคเรื้อรังหรือโรคที่ทำให้ภูมิต้านทานต่ำ เช่น โรคเอดส์
  • เคยมีความผิดปกติของปากมดลูก จากการตรวจภายในและทำ Pap smear ซึ่งเป็นวิธีค้นหาความผิดปกติที่เซลล์เยื่อบุปากมดลูก

สัญญาณเตือนภัยมะเร็งปากมดลูก

  • ในระยะเริ่มแรกอาจไม่มีอาการเลย หรืออาจมีเลือดออกจากช่องคลอดเวลามีเพศสัมพันธ์
  • ประจำเดือนมาผิดปกติ
  • ตกขาว มีกลิ่น ปริมาณมาก สีผิดปกติ หรืออาจปนเลือด

อาการของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก

อาการจะเป็นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็ง ในระยะแรกอาจตรวจพบจากการคัดกรอง หรือการตรวจด้วยกล้องขยายร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจทางพยาธิวิทยา

อาการที่พบของมะเร็งปากมดลูก คือ มีตกขาวจำนวนมากผิดปกติ ลักษณะเป็นหนอง กลิ่นเหม็น หรือมีลักษณะคล้ายน้ำไหลออกมาจากช่องคลอด เลือดออกกะปริดกะปรอย เลือดออกหลังร่วมเพศ หรือเลือดออกในขณะที่ไม่ใช่รอบเดือน

แต่อาการเหล่านี้ไม่ใช่อาการของโรคมะเร็งปากมดลูกเสมอไป เพราะอาจจะเป็นอาการของโรคทางระบบอวัยวะสืบพันธุ์อื่นๆ ได้ด้วย ซึ่งอย่างไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย

ระยะของมะเร็งปากมดลูก

การกำหนดระยะของมะเร็งต้องประเมินการลุกล้ำของเซลล์มะเร็งเพื่อหาวิธีรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

กระบวนการนี้จะใช้ดูว่า ขนาดก้อนมะเร็งเป็นเท่าไร มะเร็งกระจายทั้งเข้าภายในและรอบๆ ปากมดลูกมากแค่ไหน มะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะอื่นหรือไม่

มะเร็งปากมดลูกแบ่งออกเป็น 4 ระยะหลัก (หลังระยะที่ 0) ซึ่งแต่ละระยะก็สามารถแบ่งย่อย ๆ เพื่อช่วยระบุการกระจายของเซลล์มะเร็ง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

4 ระยะหลักของมะเร็งปากมดลูก

ระยะที่ 0: หรือระยะมะเร็งเบื้องต้น เป็นระยะแรก ๆ ที่เซลล์มะเร็งยังคงอยู่แค่บนผิวปากมดลูก

ระยะที่ 1: มะเร็งกระจายอยู่ภายในปากมดลูกเท่านั้น

ระยะที่ 2: มะเร็งกระจายไปไกลกว่าปากมดลูกและมดลูก แต่ยังไม่กระจายไปยังกระดูกเชิงกรานหรืออวัยวะไกล ๆ

ระยะที่ 3: มะเร็งกระจายไปยังช่องคลอดหรือผนังเชิงกรานส่วนล่าง โดยอาจไปกดท่อไตที่ลำเลียงปัสสาวะจากไตไปสู่กระเพาะปัสสาวะ แต่ไม่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะไกล ๆ

ระยะที่ 4: มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะใกล้เคียงหรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

การวินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูก

มีประวัติเลือดออกหรือสิ่งขับหลั่งผิดปกติทางช่องคลอดหรือตั้งครรภ์บ่อย จากการตรวจทางทวารหนักและตรวจภายในจะพบความผิดปกติ อาจคลำพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบและไหปลาร้าจะโตขึ้น ตรวจเลือดหาปริมาณเม็ดเลือด (CBC) อาจพบ Hct ต่ำ ตรวจปัสสาวะอาจมีเลือดปน ทำ Pap smear พบความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูก ตรวจด้วยกล้อง (Colposcopy) ส่องปากมดลูกและหากพบสิ่งผิดปกติจะตัดชิ้นเนื้อมาตรวจ (Biopsy) ส่องกล้องที่กระเพาะปัสสาวะและทวารหนัก (Cystoscopy และ Rectosigmoidoscopy) เพื่อดูการลุกลาม ถ่ายภาพรังสีปอด (Chest X-ray, Intravenous pyelogram (IVP), Barium enema, Computed tomography (CT)

การทำแปปสเมียร์สำหรับโรคมะเร็งปากมดลูก

American Cancer Society กล่าวว่าวิธีการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกที่ดีที่สุดคือการตรวจอย่างสม่ำเสมอ แป๊ปสเมียร์เป็นการทดสอบอย่างง่าย รวดเร็วและไม่เจ็บที่นรีแพทย์หรือแพทย์ผู้ให้การดูแลเบื้องต้นสามารถทำให้ได้ในห้องตรวจ การทดสอบนี้จะช่วยแยกแยะการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง แพทย์มักแนะนำให้เริ่มทำแป๊ปสเมียร์ตั้งแต่อายุ 21 ปี ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจาก Mayo Clinic แนะนำให้ผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 21 ถึง 65 ปีมารับการทดสอบทุก ๆ 3 ปี ผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไปอาจรับการทดสอบทุก ๆ 5 ปีได้ หากผลแป๊ปสเมียร์และผลจากการทดสอบไวรัส HPV (human papilloma virus) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ทั่วไปที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้

หากคุณมีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้ แพทย์ของคุณอาจแนะนำให้รับการทดสอบบ่อยขึ้น

  • เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก
  • ผลแป๊ปสเมียร์เห็นการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ก่อนกลายเป็นมะเร็ง
  • ได้รับยา dethylstilbestrol (DES) ก่อนกำเนิด
  • มีเชื้อ HIV
  • มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำจากการปลูกถ่ายอวัยวะ การทำเคมีบำบัด หรือการใช้สเตียรอยด์เป็นเวลานาน

ขั้นตอนการทำแป๊ปสเมียร์มีดังนี้

แพทย์จะขอให้คุณถอดเสื้อผ้าและสวมเสื้อคลุมของทางโรงพยาบาลแทน คุณจะต้องนอนบนโต๊ะตรวจโดยชันเข่าขึ้นมา แพทย์จะค่อย ๆ สอดเครื่องมือที่เรียกว่า speculum เข้าไปทางช่องคลอด โดยเครื่องมือนี้จะช่วยขยายช่องคลอดให้เปิดค้างไว้เพื่อให้แพทย์มองเห็นปากมดลูกได้ดี คุณอาจรู้สึกถึงแรงกดดันตอนใส่เครื่องมือนี้ แพทย์จะเก็บตัวอย่างเซลล์ปากมดลูกโดยใช้แปรงนุ่มหรืออุปกรณ์อื่น ขั้นตอนนี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่เจ็บปวด แพทย์จะบรรจุตัวอย่างในภาชนะพิเศษแล้วส่งต่อให้ห้องปฏิบัติการทดสอบ และจะบอกให้คุณมาฟังผลเมื่อไร

ผลแป๊ปสเมียร์เป็นบวก หมายถึง สามารถตรวจพบเซลล์ผิดปกติ ผลบวกที่ออกมาอาจแตกต่างกันได้ และผลที่เป็นบวกก็ไม่จำเป็นว่าคุณจะเป็นมะเร็งปากมดลูก

ผลแป๊ปสเมียร์เป็นบวกและวิธีการต่าง ๆ ที่แพทย์แนะนำมีดังนี้

Atypical squamous cells of undetermined significance (ASCUS): squamous cells ที่ผิวปากมดลูกมีความผิดปกติเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับเป็นรอยโรคก่อนกลายเป็นมะเร็ง แพทย์มักส่งตัวอย่างเซลล์อีกครั้งเพื่อหา HPV ผู้เชี่ยวชาญจาก Mayo Clinic กล่าวว่าหากคุณมี HPV แพทย์ก็จะส่งตรวจเพิ่มเติม แต่หากไม่มีก็ไม่ต้องกังวล

Squamous intraepithelial lesion: อาจตรวจพบเซลล์ผิดปกติก่อนกลายเป็นมะเร็ง ถ้าผลที่ได้เกรดต่ำ หมายถึง เซลล์จะต้องใช้เวลาเป็นปีในการเปลี่ยนเป็นมะเร็ง แพทย์อาจแนะนำให้ทำแป๊ปสเมียร์บ่อยครั้งขึ้น แต่หากผลที่ได้เกรดสูง เป็นสัญญาณของโอกาสการกลายเป็นมะเร็งเร็วขึ้น และอาจต้องส่งตรวจเพิ่มเติม

Squamous cell cancer หรือ adenocarcinoma cells: เซลล์ผิดปกติอาจกลายเป็นมะเร็ง แพทย์ของคุณอาจใช้เครื่องมือพิเศษที่เรียกว่า coloscope เพื่อตรวจสอบปากมดลูกและช่องคลอดได้แม่นยำขึ้น กระบวนการนี้เรียกว่า colposcopy และอาจเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อที่เรียกว่า biopsy มาจากเนื้อเยื่อที่ผิดปกติและส่งต่อไปวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการ

การทดสอบหา DNA ของ HPV

แปปสเมียร์อาจทำควบคู่ไปกับการทดสอบหา DNA ของ HPV ที่จะใช้หาสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกมากที่สุด การทดสอบนี้อาจทำเมื่อผลของแป๊ปสเมียร์ออกมาว่าผิดปกติและแพทย์ตัดสินใจส่งตรวจเพิ่มเติม

การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก

รักษาโดยการผ่าตัดมดลูกออกทั้งหมด (Simple total hysterectomy) ถ้าไม่ต้องการมีบุตร หากต้องการมีบุตรและสามารถรับการตรวจได้เป็นระยะๆ ให้ใช้วิธีตัดให้เหลือแต่เนื้อดี (Cervical conization) และอาจตามด้วย Lazer vaporization หรือ Cryocautery หรือ Extensive thermal cautery

หากผู้ป่วยตั้งครรภ์ตรวจพบเซลล์มะเร็งควรผ่าเอาเด็กออกทางหน้าท้อง หากมีบุตรพอแล้วให้ทำ Cesarean hysterectomy แต่ถ้ายังมีบุตรไม่พอให้รอ 6 เดือนหลังคลอด แล้วทำ Conization ส่วนในระยะลุกลามรักษาด้วยรังสีรักษา ผ่าตัด และเคมีบำบัด

การพยาบาล

ลดความไม่สุขสบาย สังเกต และบันทึกสัญญาณชีพ อาการปวดท้อง อาการปวดขณะปัสสาวะหรือปัสสาวะลำบาก ลักษณะสี กลิ่น จำนวนปัสสาวะ เลือด ตกขาว และสิ่งขับหลั่งที่ออกจากช่องคลอด ให้ยาแก้ปวดหรือยาคลายกล้ามเนื้อตามแผนการรักษา ประคบร้อน จัดให้อยู่ในท่าที่สุขสบาย กล้ามเนื้อหน้าท้องคลายตัว เปลี่ยนท่าบ่อย ๆ แนะนำให้ใช้เทคนิคการผ่อนคลาย พักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลความสะอาดบริเวณฝีเย็บ ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเลือดจางและช็อก ลดความวิตกกังวลและความกลัว ส่งเสริมสัมพันธภาพในครอบครัว ป้องกันการติดเชื้อ และการระคายเคืองของผิวหนังบริเวณฝีเย็บ

ขอบคุณข้อมูลดีๆจากหนังสือ "คู่มือโรค" โดยปราณี ทู้ไพเราะ จากจากโรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

6 สิ่งที่ผู้หญิงมักทำผิดพลาดเป็นประจำในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

สิ่งที่คุณต้องทำก่อน ระหว่าง และหลังจากตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแล้ว

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (pap smear) เป็นการตรวจหาเซลล์ที่กำลังจะกลายเป็นมะเร็ง หรือเซลล์มะเร็งที่ปากมดลูก (ปากทางเข้าของมดลูก) ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดสำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก อย่างไรก็ตาม ผลของการตรวจขึ้นอยู่กับความเที่ยงตรงเป็นอย่างมาก ดังนั้นมาดูกันว่าคุณสามารถช่วยอะไรได้บ้างเพื่อให้ผลการตรวจของคุณถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น ต่อไปนี้เป็นข้อผิดพลาดของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่ผู้หญิงมักทำเป็นประจำ และอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของการตรวจได้

1. ไม่ได้รับการตรวจคัดกรองสม่ำเสมอ

การรับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากสำหรับการป้องกันมะเร็งปากมดลูก การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสามารถตรวจพบความผิดปกติของปากมดลูกได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง หากคุณมีอายุระหว่าง 21 และ 65 ปี คุณควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกสามปี

2. การมีเพศสัมพันธ์ การสวนล้าง หรือการใช้ยาเหน็บช่องคลอดในช่วงเวลา 24-48 ชั่วโมงก่อนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

หลักการง่าย ๆ คือไม่ควรมีอะไรก็ตามในช่องคลอดของคุณภายในเวลา 24-48 ชั่วโมงก่อนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เนื่องจากอาจบดบังเซลล์ผิดปกติ ทำให้ผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกไม่แม่นยำ

หากคุณมีเพศสัมพันธ์ สวนล้าง หรือใช้ยาเหน็บช่องคลอดก่อนจะมาตรวจ ให้พยายามเลื่อนนัด แต่หากทำไม่ได้ ให้แจ้งแพทย์ก่อนการตรวจ

3. การนัดตรวจในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมของรอบเดือน

ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดของการตรวจคัดกรองคือ 10-20 วันหลังจากวันแรกของการมีประจำเดือน ในทางทฤษฎีแล้ว คุณไม่ควรนัดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในขณะที่กำลังมีประจำเดือน เลือดประจำเดือนและน้ำจะทำให้ตรวจพบเซลล์ผิดปกติได้ยากขึ้น มีโอกาสทำให้ได้ผลการตรวจที่ไม่แม่นยำ คุณอาจรับการตรวจหากมีเลือดประจำเดือนออกน้อยแล้ว ปรึกษาแพทย์ทุกครั้งหากได้รับนัดหมายการตรวจคัดกรองตรงกับขณะกำลังมีประจำเดือน เนื่องจากแพทย์อาจให้นัดใหม่

4. ไม่รู้ว่าจะได้รับผลตรวจอย่างไร

ถามแพทย์หรือผู้ช่วยเสมอว่าคุณจะได้รับผลการตรวจอย่างไร คลินิกหลายแห่งจะส่งผลการตรวจที่ปกติผ่านทางจดหมาย แต่สำหรับผลตรวจผิดปกติจะแจ้งทางโทรศัพท์ แพทย์บางคนอาจไม่ได้ติดต่อไปเลยหากผลตรวจเป็นปกติ

5. เพิกเฉย ไม่บอกแพทย์ว่าเคยมีผลตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่ผิดปกติก่อนหน้านี้

แพทย์ต้องการทราบว่าคุณเคยมีผลการตรวจที่ผิดปกติมาก่อนหรือไม่ ซึ่งควรแจ้งผลการตรวจอย่างละเอียดและการตรวจเพิ่มเติมต่อมาด้วย ควรแจ้งแพทย์โดยเฉพาะหากได้รับการส่องกล้องตรวจด้วยคอลโปสโคป (colposcopy) ตัดชิ้นเนื้อ หรือการรักษาใด ๆ ที่สืบเนื่องมาจากผลการตรวจที่ผิดปกติ หากคุณมีสำเนาผลการตรวจคัดกรอง ผลการส่องกล้อง ผลชิ้นเนื้อ หรือการรักษาใด ๆ ก่อนหน้า ควรนำมาพบแพทย์ด้วย

6. ไม่ทำตามคำแนะนำของแพทย์หลังจากทราบว่าผลการตรวจผิดปกติ

เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์หากผลการตรวจผิดปกติ ซึ่งอาจต้องตรวจซ้ำหรือหรือตรวจส่องกล้อง การตรวจติดตามมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับผลการตรวจ คลินิกจะนัดหมายการตรวจให้ใหม่หากคุณต้องตรวจคัดกรองซ้ำหรือต้องตรวจส่องกล้อง (หากแพทย์ของคุณใช้วิธีตรวจส่องกล้องด้วย) หรืออาจส่งตัวคุณไปรับการรักษาต่อกับแพทย์สูตินรีเวชที่ตรวจส่องกล้อง

บทความที่เกี่ยวข้อง
รู้ก่อนตรวจมะเร็งปากมดลูก


9 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Cervical Cancer | HPV | Human Papillomavirus. MedlinePlus. (https://medlineplus.gov/cervicalcancer.html)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
มะเร็งปากมดลูก: สาเหตุ อาการ การวินิจฉัย การรักษา และ วัคซีนป้องกัน
มะเร็งปากมดลูก: สาเหตุ อาการ การวินิจฉัย การรักษา และ วัคซีนป้องกัน

รู้จักสาเหตุของมะเร็งปาดมดลูก วิธีรักษา และข้อควรรู้อื่นๆ เพื่อป้องกันโรคดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ

อ่านเพิ่ม
มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer)
มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer)

รู้จักมะเร็งปากมดลูกในทุกแง่มุม ทั้งสาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง วิธีการรักษา ทำความเข้าใจและป้องกันก่อนจะสายเกินไป

อ่านเพิ่ม
ThinPrep Pap Test นวัตกรรมตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
ThinPrep Pap Test นวัตกรรมตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี ThinPrep Pap Test ซึ่งให้ผลแม่นยำกว่าการตรวจแปปสเมียร์ดั้งเดิม

อ่านเพิ่ม