กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HonestDocs
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HonestDocs

การผ่าตัดต่อมลูกหมากผ่านท่อปัสสาวะ (TURP)

เมื่อเหล่าคุณผู้ชายมีปัญหาเรื่องการปัสสาวะและต่อมลูกหมาก การผ่าตัดนี้อาจช่วยได้
เผยแพร่ครั้งแรก 13 พ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 31 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 8 นาที
การผ่าตัดต่อมลูกหมากผ่านท่อปัสสาวะ (TURP)

ความหมายของการผ่าตัดต่อมลูกหมากผ่านท่อปัสสาวะ

การผ่าตัดต่อมลูกหมากผ่านท่อปัสสาวะ (Transurethral Resection Of The Prostate: TURP) เป็นหัตถการที่เกี่ยวข้องกับการตัดชิ้นส่วนของต่อมลูกหมากออก โดยต่อมลูกหมาก คือ ต่อมขนาดเล็กที่อยู่ในเชิงกรานและพบได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น ตำแหน่งของต่อมนี้จะอยู่ระหว่างองคชาตกับกระเพาะปัสสาวะ และล้อมรอบด้วยท่อปัสสาวะ ซึ่งเป็นท่อที่จะนำน้ำปัสสาวะจากกระเพาะไปเก็บยังองคชาต

ความผิดปกติเกี่ยวต่อมลูกหมากจะเกิดขึ้น หากต่อมลูกหมากมีการขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ และดันท่อปัสสาวะจนทำให้เกิดปัญหาอุดกั้นการไหลของปัสสาวะในขณะขับถ่าย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

นอกจากนี้ การผ่าตัด TURP ยังสามารถใช้แก้ปัญหาเกี่ยวกับการอุดกั้นการไหลของปัสสาวะอื่นๆ ได้ เช่น นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ผู้ป่วยควบคุมการปัสสาวะไม่ได้ หรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะซ้ำๆ 

อาการแบบใดจะดีขึ้นเมื่อผ่าตัด TURP แล้ว

แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยทำการผ่าตัด TURP หากเกิดภาวะต่อมลูกหมากโต หรือเรียกเป็นชื่อโรคได้ว่า "โรคต่อมลูกหมากโต" จนก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ตามมา และผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อวิธีการใช้ยารักษา 

อาการผิดปกติส่วนมากที่จะดีขึ้นหลังการผ่าตัด TURP มักเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการขับถ่ายปัสสาวะที่เป็นไปอย่างลำบาก เช่น

  • ปัญหาการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ
  • ปัญหาปัสสาวะไหลอ่อน หรือหยุดไหล
  • ปัญหาต้องใช้แรงในการขับปัสสาวะมากกว่าปกติ
  • ตื่นนอนกลางดึกบ่อยครั้งเพื่อปัสสาวะ
  • ภาวะอยากปัสสาวะอย่างกะทันหัน
  • ไม่สามารถขับปัสสาวะได้หมด
  • การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ

การผ่าตัด TURP ดำเนินการอย่างไร

1. การเตรียมความพร้อมผ่าตัด

ก่อนการผ่าตัด ผู้ป่วยจะถูกส่งตัวไปประเมินร่างกายก่อนการผ่าตัดไม่กี่สัปดาห์ เพื่อให้แพทย์และพยาบาลมั่นใจว่ากระบวนการผ่าตัดนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยแล้ว และตัวผู้ป่วยสามารถรับมือกับฤทธิ์ของยาระงับประสาทได้ โดยอาจมีการทดสอบเกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น ตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะต้องแจ้งแพทย์และพยาบาล หากตนเองกำลังใช้ยาต้านเกล็ดเลือดอยู่ เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) เพราะยาเหล่านี้อาจก่อให้เกิดภาวะตกเลือดรุนแรงระหว่างการผ่าตัดได้ ดังนั้น แพทย์อาจจะขอให้ผู้ป่วยงดใช้ยาเหล่านี้ก่อนเข้าผ่าตัด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

และหากผู้ป่วยเป็นผู้ที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว ก็ควรพยายามเลิกหรืองดการสูบก่อนเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากบุหรี่นั้นสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงหลายอย่างตามมาได้ เช่น การติดเชื้อในทรวงอก เกิดลิ่มเลือดอุดตัน 

2. ก่อนกระบวนการผ่าตัด

แพทย์มักจะแจ้งให้ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลก่อนวันผ่าตัด 1 วัน โดยผู้ป่วยจะต้องอดอาหารและน้ำก่อนผ่าตัดประมาณ 6 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับผลของการประเมินร่างกายก่อนหน้านั้น และผู้ป่วยอาจได้รับยาป้องกันลิ่มเลือดไปรับประทานก่อนการผ่าตัดด้วย 

ก่อนเริ่มกระบวนการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับยาระงับประสาทเพื่อกดความรู้สึกเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้นระหว่างผ่าตัด โดยประเภทยาที่ใช้อาจมีดังนี้

  • ยาสลบ: ทำให้ผู้ป่วยหมดสติไปตลอดกระบวนการ
  • ยาระงับประสาทบริเวณไขสันหลัง: ผู้ป่วยจะตื่นอยู่ตลอดกระบวนการผ่าตัด แต่ร่างกายจะไม่มีความรู้สึกในส่วนที่อยู่ต่ำกว่าเอวลงไป

3. ระหว่างการผ่าตัด

การผ่าตัด TURP มักดำเนินการด้วยการใช้เครื่องมือรีเซคโทสโคป (Resectoscope) ซึ่งมีลักษณะเป็นแท่งโลหะบางและยาว มีไฟ กล้อง และขดลวดอยู่ที่ปลาย โดยแพทย์จะสอดรีเซคโทสโคปเข้าไปในท่อปัสสาวะ และเข้าสู่ตำแหน่งที่ต่อมลูกหมากของผู้ป่วยอยู่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

หลังจากที่ปลายท่อสอดถึงตำแหน่งที่ต้องกระทำการรักษา แพทย์จะปล่อยกระแสไฟฟ้าไปทำความร้อนที่ขดลวด เพื่อใช้ตัดชิ้นส่วนต่อมลูกหมากออก และเมื่อการผ่าตัดเสร็จสิ้น แพทย์จะสอดสายสวนเข้าไปฉีดของเหลวเข้ากระเพาะปัสสาวะ และชะล้างชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากออกมา

เมื่อกระบวนการทั้งหมดเสร็จสิ้น คุณจะถูกส่งตัวไปพักฟื้นโดยที่จะยังมีสายสวนสอดท่อปัสสาวะอยู่เช่นนั้นหลายวันจนกว่าคุณจะสามารถขับถ่ายได้เป็นปกติ

การพักฟื้นหลังการผ่าตัดที่โรงพยาบาล

เมื่อกระบวนการผ่าตัดเสร็จสิ้นทั้งหมด ผู้ป่วยจะถูกส่งตัวไปพักฟื้น โดยจะต้องพักอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 1-3 วันหลังจากนั้นก็สามารถกลับบ้านได้ โดยระหว่างที่พักฟื้น ผู้ป่วยจะยังมีสายสวนสอดท่อปัสสาวะอยู่จนกว่าจะสามารถขับถ่ายตามปกติ เนื่องจากช่วงแรกหลังจากผ่าตัด ท่อปัสสาวะของผู้ป่วยอาจยังบวมอยู่ จนไม่สามารถปัสสาวะได้สะดวกในช่วงแรก และผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่สบายตัวเกิดขึ้น ซึ่งเป็นอาการปกติหลังการผ่าตัด

นอกจากนี้ ในระหว่างพักฟื้น ผู้ป่วยจะได้รับน้ำเกลือเข้าเส้นเลือดจนกว่าจะฟื้นตัวจากฤทธิ์ยาระงับประสาท และสามารถรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้ตามปกติด้วย 

การพักฟื้นหลังการผ่าตัดที่บ้าน

ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ทันทีที่แพทย์ดึงสายสวนท่อปัสสาวะออก และสามารถปัสสาวะได้ตามปกติหลังจากนั้น โดยก่อนกลับบ้าน แพทย์จะแนะนำวิธีการฟื้นร่างกายที่บ้านแก่ผู้ป่วย และจะมีการนัดหมายติดตามผลอีกครั้งไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า 

ในช่อง 1-2 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจยังรู้สึกเหนื่อยล้า ไม่สบายตัว ปัสสาวะมีเลือดปนอยู่บ้าง เนื่องจากเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากยังคงตกค้างอยู่ภายในกระเพาะปัสสาวะ และยังต้องดำเนินกิจกรรมและใช้ชีวิตประจำวันอย่างเบาๆ ไปอีกประมาณ 2 เดือน เช่น ไม่ยกของหนัก ไม่ทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายที่หนัก แต่หากผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นแล้ว ก็สามารถออกกำลังกายเบาๆ ได้ เช่น การเดินเร็ว เพื่อให้ระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกายไหลเวียนดีขึ้น และลดความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดที่ขาผู้ป่วยด้วย 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังต้องดื่มน้ำมากๆ ในระหว่างพักฟื้นเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะ และช่วยชะล้างเลือดที่ปนอยู่ในปัสสาวะด้วย อีกทั้งแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยออกกำลังกายบริเวณเชิงกรานที่พื้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการควบคุมกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วย และหากผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวด ก็สามารถรับประทานยาแก้ปวดที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofenพาราเซตามอล (Paracetamol)​​

การกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติหลังการผ่าตัด

หลังจากการผ่าตัด TURP ผ่านไปประมาณ 3-6 สัปดาห์ แพทย์มักจะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับไปดำเนินชีวิตและทำกิจกรรมต่างๆ ตามปกติได้ แต่อาจยังต้องมีข้อระมัดระวังบางอย่าง เพื่อป้องกันการอักเสบและติดเชื้อของแผล เช่น

  • การมีเพศสัมพันธ์: ผู้ป่วยควรงดการมีเพศสัมพันธ์ไปก่อนเป็นเวลา 6-8 สัปดาห์หลังการผ่าตัด หรือควรปรึกษาแพทย์ว่าสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้อีกครั้งเมื่อไร
  • การทำงาน: ขึ้นอยู่กับลักษณะงานของผู้ป่วย ผู้ป่วยที่ทำงานในออฟฟิศ ไม่ได้ออกแรงหนักหรือเคลื่อนที่มากๆ ก็สามารถกลับไปทำงานได้เร็วกว่าผู้ป่วยที่ต้องใช้แรงงาน 
  • การขับรถ: แพทย์จะเป็นผู้แจ้งเองว่าผู้ป่วยสามารถกลับไปขับรถได้เมื่อใด โดยผู้ป่วยบางรายอาจกลับไปขับรถได้หลังจากผ่าตัดได้ 1 สัปดาห์ แต่บางรายก็อาจต้องงดการขับรถไปก่อนเป็นเวลาหลายเดือน

ความเสี่ยงจากการผ่าตัด TURP

การผ่าตัด TURP ถูกนับว่าเป็นกระบวนการผ่าตัดที่ปลอดภัย แต่ก็เช่นเดียวกับกระบวนการผ่าตัดประเภทอื่นที่ยังมีความเสี่ยงบางประการอยู่บ้าง เช่น

1. การหลั่งน้ำอสุจิย้อนทาง

การหลั่งน้ำอสุจิย้อนทางเป็นภาวะแทรกซ้อนระยะยาวหลังการผ่าตัด TURP ที่พบได้บ่อย และอาจเกิดกับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษานี้เกือบ 90% โดยภาวะนี้ เป็นภาวะที่น้ำเชื้อของผู้ป่วยจะไม่ออกมาจากองคชาตระหว่างมีเพศสัมพันธ์ หรือระหว่างสำเร็จความใคร่ แต่จะไหลเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะแทน เนื่องมาจากความเสียหายที่ประสาท หรือกล้ามเนื้อรอบกระเพาะปัสสาวะ

ภาวะแทรกซ้อนนี้ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใดกับตัวผู้ป่วย และระหว่างกิจกรรมทางเพศ อารมณ์ของผู้ป่วยก็จะยังคงถึงจุดสุดยอดได้อยู่ดี แต่ความสามารถในการมีบุตรจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ซึ่งหากผู้ป่วยเป็นกังวลเกี่ยวกับประเด็นนี้ ให้ปรึกษาลองแพทย์ผู้ดูแลเพื่อหาทางแก้ไข

โดยหากผู้ป่วยไม่ต้องการรับความเสี่ยงข้อนี้เลย ก็ยังมีอีกแนวทางการรักษาซึ่งเรียกว่า "การผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยการกรีดเปิด" (Transurethral Incision Of The Prostate: TUIP) ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำอสุจิย้อนทางน้อยกว่า เนื่องมาจากไม่มีชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากถูกทิ้งไว้ในระบบท่อปัสสาวะเลย

2. ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หลังการผ่าตัด ซึ่งอาการนี้จะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับด้วยตนเอง แต่อาจจะยังคงความเรื้อรังไว้เป็นระยะเวลานาน โดยลักษณะอาการคือ ผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมได้ว่าจะปัสสาวะตอนไหน และจะมีอาการอยากปัสสาวะกะทันหันอย่างควบคุมไม่ได้ อีกทั้งไม่สามารถอั้นไว้ได้และต้องทำการปล่อยออกทันที ซึ่งก็ยังมีวิธีการรักษาอื่นๆ อีก เช่น การใช้ยา การผ่าตัด 

3. ภาวะหย่อนสมรรถนะทางเพศ

ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด TURP กว่า 10% จะมีภาวะไม่สามารถคงสภาพการแข็งตัวขององคชาตได้นาน ซึ่งอาจเป็นภาวะชั่วคราวหรือถาวรก็ได้ แพทย์อาจรักษาด้วยการให้ยาเพื่อลดปัญหานี้ตามความเหมาะสม หรือหากผู้ป่วยเป็นกังวลก็ควรปรึกษาเพิ่มเติมกับแพทย์ก่อนการผ่าตัด เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจเช็กประวัติสุขภาพและร่างกายก่อนผ่าตัด และชี้แจงข้อมูลรวมถึงโอกาสความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป

4. ภาวะท่อปัสสาวะตีบแคบ

ประมาณ 4% ของผู้เข้ารับการผ่าตัด TURP จะเกิดภาวะท่อปัสสาวะตีบแคบขึ้นหลังการผ่าตัด โดยภาวะนี้มักจะเกิดขึ้น หากท่อปัสสาวะเสียหายระหว่างการผ่าตัด และอาการจะมีดังต่อไปนี้

  • ขับถ่ายปัสสาวะลำบาก
  • ปัสสาวะออกคล้ายกับเป็นสเปรย์หรือแยกสาย
  • ปัสสาวะยังคงออกกะปริบกะปรอยหลังขับถ่ายเสร็จ
  • มีความเจ็บปวดอ่อนๆ ระหว่างการขับถ่าย

สำหรับวิธีการรักษานั้น หากภาวะการตีบแคบมีอาการไม่รุนแรงมาก ก็อาจจะสามารถรักษาได้ด้วยการสอดแท่งยาวเพื่อขยายท่อปัสสาวะ แต่หากภาวะการตีบแคบรุนแรง ก็อาจต้องมีการผ่าตัดรักษาเกิดขึ้น

5. ความเสี่ยงอื่นๆ

นอกเหนือจากความเสี่ยงทั้ง 4 อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ก็ยังมีความเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นหลังการผ่าตัด TURP อีก เช่น

  • เลือดออก: เกิดขึ้นประมาณ 2% ของผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด โดยผู้ป่วยจะมีอาการเลือดออกอย่างต่อเนื่องระหว่าง หรือหลังการผ่าตัดจนทำให้ต้องมีการถ่ายเลือดเกิดขึ้น
  • การติดเชื้อที่ระบบท่อปัสสาวะ: เกิดขึ้นประมาณ 5% ของผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด โดยมักจะเกิดขึ้นหลังผ่าตัดและรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ
  • ขับปัสสาวะไม่ออก: เกิดขึ้นประมาณ 2% ของผู้ที่เข้ารับการรักษา โดยสาเหตุอาจเกิดจากกล้ามเนื้อที่ใช้ควบคุมกระเพาะปัสสาวะเกิดความเสียหายชั่วคราว จนทำให้เกิดปัญหาในการขับถ่าย ซึ่งในผู้ป่วยหลายราย กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะจะสามารถกลับมาเป็นปกติได้ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังการผ่าตัด
  • ต่อมลูกหมากกลับมาโตอีกครั้ง: จะเกิดขึ้นประมาณ 10% ของผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด โดยมักมีระยะห่างจากการรักษาครั้งแรกภายใน 10 ปี ซึ่งผู้ป่วยจะต้องมาเข้ารับการรักษาอีกครั้ง
  • เสียชีวิต: มักพบได้น้อยมากในผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด และความเสี่ยงจะสูงขึ้นจากภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ และการติดเชื้อหลังการผ่าตัด

เมื่อไรที่ควรเข้าพบแพทย์อีกครั้ง

ระหว่างการพักฟื้น ผู้ป่วยต้องแจ้งแพทย์ทันทีที่ประสบกับอาการดังต่อไปนี้ เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของเลือดออกภายใน หรือการติดเชื้อที่ระบบปัสสาวะ

  • มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส
  • มีความเจ็บปวดรุนแรงขณะขับปัสสาวะ
  • ไม่สามารถปัสสาวะได้
  • มีเลือดปนปัสสาวะรุนแรงขึ้นหรือเรื้อรังเป็นเวลานานกว่า 48 ชั่วโมง

ภาวะน้ำเกินและเกลือแร่ต่ำจากการผ่าตัด (Transurethral Resection of the Prostate Syndrome: TURP Syndrome) คืออะไร

เป็นภาวะหายาก แต่ก็เป็นความเสี่ยงสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด TURP ซึ่งจะเรียกภาวะนี้สั้นๆว่า "TURP Syndrome" เป็นภาวะที่จะเกิดขึ้นเมื่อของเหลวที่ใช้ชะล้างพื้นที่รอบต่อมลูกหมากระหว่างการผ่าตัดมีมากเกินไป จนถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด โดยอาการบ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีภาวะ TURP Syndrome มีดังนี้

ถึงแม้ภาวะนี้จะเกิดขึ้นได้ยาก แต่หากเกิดขึ้นและปล่อยไว้โดยไม่ทำการรักษา ภาวะดังกล่าวก็จะพัฒนากลายเป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิตได้ เช่น การชัก หายใจติดขัด ผิวหนังเขียวคล้ำ และมีอากาโคม่า 

หากผูป่วยประสบกับกลุ่มอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นระหว่างกระบวนการ แพทย์จะหยุดการผ่าตัดและฉีดยาขับปัสสาวะให้ในทันที หากผู้ป่วยประสบกับอาการเหล่านี้หลังจากเข้าห้องพักฟื้นแล้ว ให้รีบแจ้งพยาบาลทันทีเพื่อหาทางรักษาอย่างทันเวลา แต่ภาวะนี้มีโอกาสเกิดได้น้อยกว่า 1% และมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ ตามความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์

การรักษาอื่นๆ นอกจากการผ่าตัด TURP

ยังมีกรรมวิธีรักษาประเภทอื่นนอกจากการผ่าตัด TURP ที่ผู้ป่วยและแพทย์สามารถปรึกษาเพื่อเลือกกระทำการรักษาได้ โดยจะมีข้อดีทั้งผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้น้อยกว่า มีระยะเวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลน้อยกว่าและร่างกายฟื้นตัวได้เร็วกว่า แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของอาการผู้ป่วยด้วย 

อย่างไรก็ตาม แนวทางการรักษาเหล่านี้ยังคงใหม่อยู่ ทำให้ไม่มีรายงานผลการรักษาในระยะยาวที่แน่ชัด โดยแนวทางการรักษาสมัยใหม่ที่กล่าวไปมีตัวอย่างดังนี้

  • การใช้เครื่องมือและน้ำชะล้างท่อปัสสาวะ (Bipolar transurethral resection of the prostate): วิธีการรักษานี้คาดว่าจะทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิด TURP syndrome ลดน้อยลงได้
  • การฉายเลเซอร์โฮลเมียมสลายต่อมลูกหมากโต (Holmium laser enucleation of the prostate: HoLEP): จะกระทำโดยใช้เครื่องมือรีเซคโทสโคปที่มีเลเซอร์ติดอยู่ที่ปลาย เพื่อตัดชิ้นส่วนต่อมลูกหมากที่เกินออกมา
  • การสลายต่อมลูกหมากโตด้วยเลเซอร์ (Transurethral Resection Or Vaporisation Of The Prostate: TUVP): เป็นการรักษาโดยใช้ท่อส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ (Cystoscope) สอดเข้าทางท่อปัสสาวะ โดยท่อดังกล่าวจะปล่อยพลังงานกระตุ้นเพื่อเผาไหม้เนื้อเยื่อต่อมลูกหมากออกมา
  • กระบวนการเกี่ยวออก: จะเป็นการผ่าตัดโดยใช้สลิงขนาดเล็กสอดเข้าท่อปัสสาวะ และดึงเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากที่เกินออกมา

โรคต่อมลูกหมากโตเป็นโรคที่จะส่งผลระยะยาวต่อระบบการขับถ่ายของผู้ป่วย ดังนั้น ทางที่ดี หากคุณสังเกตเห็นว่าตนเองมีความผิดปกติเกี่ยวกับการปัสสาวะ ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและหาทางรักษาต่อไป ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องถึงขั้นผ่าตัด TURP ก็ได้


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Feng Sun, et al., Transurethral procedures in the treatment of benign prostatic hyperplasia: A systematic review and meta-analysis of effectiveness and complications (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6320039/), December 2018
Transurethral resection of the prostate (TURP) (https://www.mayoclinic.org/tes...)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป