“เลือด” หรือ “โลหิต” (BLOOD) คือ ของเหลวสีแดงที่ไหลเวียนในร่างกาย มีหน้าที่ลำเลียงและขนส่งสารอาหาร อากาศบริสุทธิ์ และออกซิเจนเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย และขนส่งอากาศเสีย หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเซลล์เนื้อเยื่อกลับมาที่ปอดเพื่อฟอกอากาศใหม่ และทำการชำระล้างของเสียที่ไตผ่านการกรอง โดยอาศัยการสูบฉีดจากหัวใจในการส่งไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย
การเปลี่ยนเลือด หรือ “การถ่ายเลือด” นั้น บางคนอาจเข้าใจว่าเหมือนการเปลี่ยนถ่ายของเหลวออกจากภาชนะแล้วเติมของเหลวใหม่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การถ่ายเลือด หรือ การเปลี่ยนเลือดไม่สามารถทำได้แบบนั้น เพราะเลือดอยู่ในทุกเซลล์และในทุกอวัยวะของเรา แทรกซึมในหลอดเลือดตั้งแต่ท่อเล็กๆ ระดับเซลล์ เนื้อเยื่อไปจนถึงอวัยวะ สังเกตจากที่เวลาเรามีแผลถลอก หรือมีดบาดมือ จะมีเลือดซึมออกมาจากบาดแผลเสมอ และจะปิดสนิทหายได้เองถ้าแผลมีขนาดไม่กว้างและลึกมากนัก
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ดังนั้น การเปลี่ยนเลือด หรือ การเปลี่ยนถ่ายเลือดตามที่เราเข้าใจ สามารถทำได้ดังนี้
การเปลี่ยนเลือดคืออะไร
การเปลี่ยนถ่ายเลือด คือ การเปลี่ยนถ่ายส่วนประกอบของเลือดไปยังผู้รับ โดยปกติแล้วเลือดมีส่วนประกอบสำคัญๆ ดังนี้
1. เม็ดเลือดแดง (Red Blood Cell)
มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กกลาง 7 - 8 ไมโครเมตร รูปร่างคล้ายจานบุ๋มตรงกลางทั้ง 2 ข้าง เป็นส่วนประกอบสำคัญในเลือดที่มีประมาณ 40 - 50 % ของปริมาณเลือดทั่วร่างกาย เม็ดเลือดแดงมีการผลิตจากไขกระดูกทุกวันและมีอายุอยู่ได้ประมาณ 120 วัน เป็นสารประกอบจากโปรตีนและไขมัน
เม็ดเลือดแดงที่จับกับธาตุเหล็กเราเรียกว่า “ฮีโมโกลบิน” (Hemoglobin) ในผู้ชายจะมีฮีโมโกลบินประมาณ 14 - 18 กรัมในเลือด 100 มิลลิลิตร ส่วนผู้หญิงจะมี 12 - 14 กรัมในเลือด 100 มิลลิลิตร ซึ่งเม็ดเลือดแดงมีหน้าที่หลักในการนำออกซิเจนและอาหารที่ย่อยแล้ว ส่งไปยังเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย และรับของเสีย รวมทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาจากเซลล์
2. เม็ดเลือดขาว (White Blood Cell)
มีหลายชนิด เช่น นิวโตรฟิล(Neutrophil) ลิมโฟไซต์ (Lymphocyte) เบโซฟิลด์หรือ มาสท์เซลล์ (Basophil หรือ Mast Cell )เป็นต้น เม็ดเลือดขาวมีประมาณ 5,000 - 100,000 เซลล์ในเลือด 100 มิลลิลิตร
ในร่างกายมีเม็ดเลือดขาวปริมาณน้อยกว่าเม็ดเลือดแดง ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันร่างกายจากสิ่งแปลกปลอม เป็นส่วนสำคัญในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในหลายระบบ ช่วยป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อโรคในร่างกาย ช่วยกำจัดสารพิษและของเสียบางชนิด รวมทั้งช่วยกำจัดเศษเซลล์ต่างๆ ที่ถูกทำลายโดยธรรมชาติ หรือเซลล์ที่ผิดปกติบางชนิด
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
3. เกล็ดเลือด (Platelet)
มีขนาด 35-160 ไมโครเมตร มีขนาดใหญ่กว่าเม็ดเลือด ความจำเป็นต่อการแข็งตัวของเลือดในเวลาที่มีบาดแผล เกล็ดเลือดมีอายุ 9-12 วัน หมุนเวียนในกระแสเลือด หลังจากนั้นจะถูกเซลล์ที่ทำหน้าที่กลืนกินทำลายในม้าม ในเลือดของคนมีเกล็ดเลือดมีประมาณ 150,000-500,000 เกล็ดเลือดต่อไมโครลิตร ค่าเฉลี่ย 350,000 เกล็ดเลือดต่อไมโครลิตร โดยปกติประมาณหนึ่งในสามของเกล็ดเลือดจะอยู่ในม้ามและอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการไหลเวียน และจะถูกขับออกสู่ระบบไหลเวียนในสภาวะที่ระบบไหลเวียนผิดปกติ เช่น มีบาดแผลหรือมีการสูญเสียเลือด
4. พลาสมา (Plasma)
น้ำเลือด หรือพลาสมา เป็นของเหลวที่ มีมากถึง 55% ของเลือดโดยปริมาตร ประกอบด้วยน้ำประมาณ 91% นอกนั้นเป็นสารอื่นๆ ได้แก่ สารอาหารต่างๆ เอนไซม์ และแก๊ส น้ำเลือดจะทำหน้าที่ ลำเลียงอาหารไปยังเซลล์ และนำของเสียรวมทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเซลล์ ไปยังอวัยวะขับถ่าย เพื่อกำจัดออกนอกร่างกาย
เมื่อไหร่ต้องเปลี่ยนเลือด
โดยปกติการตรวจสุขภาพ หรือการตรวจเลือด เราจะตรวจเพื่อวิเคราะห์ความสมบูรณ์ของเลือด ตั้งแต่เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และ เกร็ดเลือด แต่สำหรับการเปลี่ยนเลือดนั้น ไม่สามารถทำได้ทุกชนิด
เลือดที่สามารถให้และถ่ายจากคนไปสู่คนหนึ่งได้นั้น คือ ส่วนประกอบของเลือดที่สำคัญ เช่น เม็ดเลือดแดง เกร็ดเลือด และ พลาสมา เท่านั้น ซึ่งการเปลี่ยนถ่าย ผู้ให้และผู้รับจะต้องหมู่เลือดเดียวกัน หรือเลือดนั้นจะต้องเข้ากันได้กับผู้รับ เช่น หมู่เลือดกรุ๊ปโอ (Blood group O) จะต้องรับ หมู่เลือดกรุ๊ปโอ เท่านั้น ส่วนกรุ๊ปเอ (Blood group A) ต้องรับกับกรุ๊ปเอด้วยกัน (Blood group A) หรือ สามารถรับกับกรุ๊ปโอ (Blood group O) ได้ เป็นต้น และหมู่เลือด Rh- ต้องรับจากหมู่เลือด Rh- เท่านั้น แต่หมู่เลือด Rh+ สามารถรับได้ทั้งหมู่เลือด Rh+ และ Rh-
ดังนั้น การเปลี่ยนถ่ายเลือด (Blood Transfer) คือ การนำเลือดที่ได้รับจากการบริจาคถ่ายเข้าสู่ร่างกายของผู้ที่มีส่วนประกอบของเลือดบางชนิดอยู่ในระดับต่ำให้สูงขึ้น เช่น ผ่าตัด เสียเลือดจากอุบัติเหตุ ป่วยด้วยโรคมะเร็ง หรือมีการติดเชื้อ มีความผิดปกติของเลือด ตับมีปัญหา หรือมีโรคอื่นๆ เป็นต้น
การถ่ายเลือด หรือ การเปลี่ยนเลือดตามที่เราเข้าใจกันนั้น อาจให้เลือดทั้งหมดหรือให้เฉพาะส่วนประกอบของเลือดบางอย่างที่ผู้ป่วยรายนั้นต้องการก็ได้ บางครั้งการถ่ายเลือดก่อนผ่าตัดนั้นใช้เลือดที่นำมาจากตัวผู้รับเลือดเองที่บริจาคเก็บไว้ก่อนหน้านั้นก็สามารถทำได้ (Autologous blood transfusion)