"กินมันติดเหงือก กินเผือกติดฟัน" แต่ถ้ากิน "มันเทศ" อย่างถูกวิธี รับรองว่าคุณจะได้ทั้งความอร่อยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมายกลับไปด้วยแน่ๆ เชื่อไหมว่า ถึงจะเป็นอาหารประเภทแป้ง มีคาร์โบเดรตสูงชนิดที่คนกลัวอ้วน งดแป้ง ต่างเบือนหน้าหนี แต่ในความเป็นจริงแล้วมันเทศกลับช่วยลดน้ำหนักได้ดีรวมถึงช่วยต้านโรค ชะลอวัย และทำให้เซลล์ในร่างกายแข็งแรงได้ เรามาทำความรู้จักมันเทศอย่างละเอียดดีกว่า
ทำความรู้จักมันเทศ
มันเทศ (sweet potato) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ipomoea batatas (L.) Lam. มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณเขตร้อนของทวีปอเมริกาก่อนจะแพร่ต่อไปยังทวีปอื่นๆ ทั่วโลกรวมทั้งภูมิภาคเอเชียและไทยเรา จัดเป็นพืชที่เป็นเถาเลื้อยราบไปบนพื้นดิน มีระบบรากฝอย รากสะสมอาหารที่ขยายตัวเป็น "หัว" อาจเกิดจากข้อของลำต้นที่ใช้ปลูก หรือเกิดจากลำต้นที่ทอดยาวไปตามพื้นดิน ส่วนหัวและส่วนท้ายมีความเรียว ตรงกลางจะมีลักษณะป่องออก
มันเทศอาจแบ่งได้ 3 สายพันธุ์ ตามอายุการเก็บเกี่ยว ได้แก่ พันธุ์เบา พันธุ์กลาง พันธ์ุหนัก ซึ่งเก็บเกี่ยวได้เร็ว - ช้า ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีสายพันธู์อื่นๆ ตามแต่ละประเทศอีก เช่น พันธ์ุไทจุง ประเทศไต้หวีน พันธุ์ห้วยสีทน 1 ที่ได้จากการคัดเลือกพันธุ์จากไต้หวัน สายพันธุ์ที่แตกต่างกันนี่เองที่ทำให้สีของเนื้อข้างในมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นสีแดง เหลือง ม่วง นวล หรือขาว
คุณค่าทางโภชนาการของมันเทศ
ในส่วนของหัวมันเทศ 100 กรัม ให้คุณค่าทางโภชนาการดังนี้
พลังงาน 86 กิโลแคลอรี, คาร์โบไฮเดรต 20.1 กรัม แป้ง 12.7 กรัม น้ำตาล 4.2 กรัม ใยอาหาร 3 กรัม ไขมัน 0.1 กรัม โปรตีน 1.6 กรัม วิตามินเอ 709 ไมโครกรัม เบตา-แคโรทีน 8,509 ไมโครกรัม ไทอามีน (บี1) 0.078 มิลลิกรัม ไรโบเฟลวิน (บี2) 0.061 มิลลิกรัม ไนอาซิน (บี3) 0.557 มิลลิกรัม กรดแพนโทเทนิก (บี5 ) 0.8 มิลลิกรัม วิตามินบี6 0.209 มิลลิกรัม โฟเลต (บี9) 11 ไมโครกรัม วิตามินซี 2.4 มิลลิกรัม วิตามินอี 0.26 มิลลิกรัม แคลเซียม 30 มิลลิกรัม เหล็ก 0.61 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 25 มิลลิกรัม แมงกานีส 0.258 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 47 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 337 มิลลิกรัม โซเดียม 55 มิลลิกรัม สังกะสี 0.3 มิลลิกรัม
ประโยชน์ของมันเทศ
- เป็นแหล่งรวมของคาร์โบไฮเดรตชั้นดีซึ่งเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานที่ไม่ก่อพิษต่อร่างกายเหมือนอาหารที่ถูกแปรรูปมาจากแป้งและน้ำตาล จึงเหมาะในการนำมาบริโภคแทนข้าวได้ มันเทศ 100 กรัม ประกอบไปด้วย พลังงาน 86 กิโลแคลอรี โปรตีน 1.6 กรัม และแป้ง 12.7 กรัม
- ยอดอ่อนสามารถรับประทานเป็นผักโดยปรุงใส่ในแกงส้ม หรือลวกจิ้มกินกับน้ำพริกก็ได้เช่นกัน ยอดอ่อนมันเทศปริมาณ 100 กรัม ประกอบไปด้วย พลังงาน 48 แคลอรี โปรตีน 3.6 กรัม แป้ง 9.2 กรัม น้ำ 85 กรัม ไขมัน 0.7 กรัม แคโรทีน 6,000 หน่วย วิตามินบี 1 0.12 มิลลิกรัม วิตามินบี2 0.24 มิลลิกรัม วิตามินบี3 0.09 มิลลิกรัม และวิตามินซี 27 มิลลิกรัม
- เนื้อสีเหลือง หรือสีส้ม มีสารเบต้าแคโรทีน เมื่อรับประทานเข้าไปจะย่อยสลายกลายเป็นวิตามินเอมีส่วนสำคัญช่วยบำรุงสายตา ช่วยการมองเห็นตอนกลางคืน และลดความเสื่อมของลูกตาได้
- เนื้อสีม่วง มีสารแอนโทไซยานินสูง จัดเป็นสารอาหารที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์
- มีวิตามินซีมากจึงมีส่วนช่วยในการชะลอวัย ช่วยบำรุงผิวพรรณให้มีสุขภาพดี และช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส
- มีไฟเบอร์ หรือเส้นใยอาหารมาก ดังนั้นเมื่อรับประทานเข้าไปจะทำให้รู้สึกอิ่มเร็วและอิ่มได้นาน จึงถือเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ต้องการควบคุมน้ำหนัก หรือผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก
- การศึกษาในหนูพบว่า มันเทศมีส่วนช่วยในการลดระดับไขมันในเลือดได้ แต่เรื่องนี้ยังคงต้องการการศึกษาเพิ่มเติม
- ด้านอุตสาหกรรมได้มีการนำมาใช้ประโยชน์ในการทำแป้ง เส้นก๋วยเตี๋ยว กาว ขนมขบเคี้ยว อาหารบรรจุกระป๋อง เหล้า แอลกอฮอล์ กาว และส่วนผสมที่ใส่ในอาหารเด็ก เป็นต้น
- ตามข้อมูลของสมาคมเภสัชและอายุรเวชโบราณแห่งประเทศไทยมีการระบุไว้ว่า มันเทศมีส่วนช่วยในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย ช่วยระบายท้อง ป้องกันอาการท้องผูก ลดระดับน้ำตาล ช่วยขับพิษ บำรุงผิว ช่วยในการชะลอวัย และช่วยรักษาโรคตาที่ทำให้มองไม่เห็นในที่มืด
ไอเดียการใช้มันเทศเพื่อสุขภาพ
ส่วนหัว ใบ เถา และยอดอ่อนของมันเทศยังมีประโยชน์ทั้งในแง่สุขภาพและมีสรรพคุณทางยา ดังนี้
- ใบ นำมาใช้รักษาฝีได้ โดยนำใบมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็นฝี หรือจะตำผสมกับเกลือก็ได้เช่นกัน ตามตำรับยาพื้นบ้านล้านนานั้นจะมีการใช้ยอดและใบมาตำพร้อมกับยอดและใบของผักโขมใบแดงเพื่อใช้พอกฝีให้ยุบตัวลง
- เถา สามารถนำเอามาต้มกับน้ำ และนำมาดื่มเพื่อเป็นยาแก้ไขข้ออักเสบ
- หัวมันเทศ ตามตำรับยาไทยได้มีการใช้หัวมาตำให้ละเอียดนำมาพอกรักษาบาดแผลไฟไหม้ อีกทั้งยังนำมาใช้ในการรักษาโรคเริมและงูสวัดได้
ไอเดียการกินมันเทศเพื่อสุขภาพ
1.ซุปมันเทศสีม่วง
เตรียมเนยสดชนิดเค็ม น้ำมันมะกอก หอมใหญ่สับละเอียด กระเทียมกลีบใหญ่สับละเอียด เห็ดฟางหั่นเป็นแว่นบางๆ มันเทศสีม่วงหั่นเต๋า วิปปิ้งครีม เกลือ พริกไทยป่น และขนมปัง เมื่อเตรียมส่วนผสมครบแล้วให้เริ่มตั้งกระทะบนไฟอ่อน จากนั้นใส่น้ำมันมะกอกและเนยอย่างละครึ่ง เมื่อเนยละลายให้ใส่หอมใหญ่และกระเทียมตามลงไป ผัดส่วนผสมให้สุกจนได้กลิ่นหอม เติมเห็ดฟาง ผัดต่อไปจนสุกแล้วปรุงรสด้วยเกลือและพริกไทย คนต่อไปอีกสักพักแล้วจึงตักใส่ถ้วย จากนั้นต้มมันเทศกับน้ำซุปไก่ด้วยไฟกลางให้สุก แล้วจึงค่อยปิดไฟพักไว้ เมื่ออุ่นแล้วให้นำมาปั่นรวมกับเห็ดที่ผัดไว้ก่อนหน้านี้ให้ละเอียด ต่อด้วยการเทใส่หม้อแล้วตั้งไฟอ่อนๆ ใส่เนยที่เหลือแล้วคนให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยเกลือและพริกไทย เติมวิปปิ้งแล้วคนให้ทั่ว ปิดไฟ ตักใส่ถ้วย เสิร์ฟพร้อมขนมปัง
2.มันเทศสีม่วงอบเนย
เตรียมมันเทศสีม่วง มันฝรั่ง ล้างให้สะอาด นำมาต้มนานประมาณ 20 นาที แล้วพักทิ้งไว้ให้ผิวแห้ง เมื่อแห้งแล้วให้ห่อมันเทศและมันฝรั่งด้วยกระดาษฟอยล์ อบสักประมาณ 15-20 นาที จึงนำมาผ่าให้เป็นรูปกากบาท เปิดออกแล้วใส่เนยสดลงไปตรงกลาง เนยจะค่อยๆ ละลาย
3.ขนมแกงบวดมันเทศ
เตรียมมันเทศ กะทิสด น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลทรายแดง และเกลือ เมื่อเตรียมส่วนผสมครบแล้ว ปลอกเปลือกและหั่นให้เป็นชิ้นพอดีคำ จากนั้นเอาไปแช่น้ำไว้ ต่อด้วยนำหม้อตั้งเตา ใส่กะทิสดลงไป รอให้กะทิเริ่มร้อน จากนั้นค่อยเติมมันเทศที่หั่นลงไป ปรุงรสด้วยน้ำตาลและเกลือ เมื่อปรุงรสได้ตามใจชอบแล้วให้ปิดฝาหม้อ ต้มต่อไปอีกสักประมาณ 10 นาทีให้สุกได้ที่ เบาไฟลงแล้วราดด้วยกะทิสดอีกครั้ง พร้อมตักเสิร์ฟ
ข้อควรระวังการบริโภคมันเทศ
มันเทศเป็นพืชที่มีสารออกซาเลต (Oxalate) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการดูดซึมของแคลเซียมและแร่ธาตุสำคัญหลายชนิดในกระแสเลือด สารชนิดนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดนิ่วในไตได้ อีกทั้งประกาศว่าด้วยเรื่องสารพิษตกค้างในอาหารของกระทรวงสาธารณสุขไทย พบว่า มันเทศคือ หนึ่งในอาหารที่มีสารพิษบางชนิดตกค้างอยู่ด้วย จึงควรเพิ่มความระมัดระวัง และทำตามคำแนะนำในการบริโภคดังนี้
- ควรเลือกมันเทศที่หัวแน่น สีเข้ม ผิวเรียบ และไม่มีรอยเหี่ยวช้ำ มีรู หรือมีรากงอกออกมา
- การล้างมันเทศควรเพิ่มการใส่ใจในเรื่องความสะอาด เพราะเป็นหนึ่งในการกำจัดสารพิษตกค้างก่อนที่จะนำไปปรุงอาหาร
- ไม่ควรปอกเปลือกมันเทศในขณะที่ต้องการทำให้สุก เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการทำให้สารอาหารที่อยู่ใกล้กับเปลือกต้องเสียหายไปด้วย
- ไม่ควรนำมันเทศชนิดที่ต่างกันมาประกอบอาหารด้วยกัน เพราะแต่ละชนิดจะสุกด้วยความร้อนและเวลาที่ต่างกันออกไป
- การเก็บรักษามันเทศดิบ ไม่ควรล้างก่อนเก็บเพราะจะทำให้เน่าเสียได้ แต่ควรเก็บไว้ในที่ที่มีความเย็นประมาณ 15 องศาเซลเซียส จะช่วยให้มีความสดใหม่อยู่เสมอ
- ไม่ควรรับประทานยอดอ่อนดิบๆ มากๆ เพราะอาจเกิดการสะสมพิษของไซยาไนด์ได้ ดังนั้นหากจะรับประทานยอดอ่อนจึงควรกินยอดอ่อนมันเทศแบบสุกจะปลอดภัยกว่า
จะเห็นได้ว่า การบริโภคมันเทศคือ การเพิ่มสารอาหารที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกาย ช่วยให้ร่างกายมีพลังงานอย่างเพียงพอ ที่สำคัญคนที่อยู่ในช่วงลดน้ำหนักสามารถรับประทานเพื่อให้พลังงานแทนข้าวได้ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถนำมันเทศมาประกอบเป็นอาหารได้อีกหลากหลายเมนู เพียงแต่ต้องะระมัดระวังการบริโภคด้วยเพราะหากละเลยอาจทำให้ร่างกายได้รับสารพิษตกค้างได้นั่นเอง