มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน คือ มะเร็งที่เกิดในระบบน้ำเหลืองชนิดที่พบไม่บ่อย ผู้ป่วยจะมีอาการlymphoma' target='_blank'>ต่อมน้ำเหลืองโตที่บริเวณคอ รักแร้ หรือขาหนีบ ผู้ป่วยจะมีปัญหาเรื่องการติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไป สำหรับการรักษาจะใช้ยาเคมีบำบัดเป็นหลัก หรือยาเคมีบำบัดร่วมกับการใช้รังสีรักษา โดยทั่วไปมะเร็งชนิดนี้ตอบสนองต่อการรักษาดีโดยเฉพาะหากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกๆ
บทนำ
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน (Hodgkin lymphoma) คือมะเร็งที่พบไม่บ่อย ซึ่งเกิดขึ้นกับระบบน้ำเหลือง (ระบบที่ประกอบไปด้วยท่อน้ำเหลืองและต่อมน้ำเหลืองกระจายอยู่ทั่วร่างกาย)
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ระบบน้ำเหลือง (lymphatic system) เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน ของเหลวใสที่เรียกว่า น้ำเหลือง จะไหลเวียนไปตามท่อน้ำเหลืองซึ่งประกอบไปด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ (lymphocytes) ที่มีหน้าที่ในการต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ
ในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน เม็ดเลือดขาวบี-ลิมโฟไซต์ (B-lymphocytes) ซึ่งเป็นชนิดหนึ่งของเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์จะเพิ่มตัวเพิ่มจำนวนผิดปกติ และมีการสะสมที่ส่วนต่างๆ ของระบบน้ำเหลือง เช่น ต่อมน้ำเหลือง เซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ที่ผิดปกตินี้จะสูญเสียความสามารถในการต่อสู้กับเชื้อโรค ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น
อาการที่พบได้บ่อยที่สุดของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน คือ ต่อมน้ำเหลืองโต (ไม่เจ็บ) มักพบที่คอ รักแร้ หรือขาหนีบ
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินเกิดขึ้นกับใครได้บ้าง?
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินสามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงอายุ แต่จะพบได้มากที่สุดในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นช่วง 20 ปีต้นๆ และพบในผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย
ในประเทศสหราชอาณาจักรมีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินประมาณ 1,900 รายต่อปี
สาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินคืออะไร?
สาเหตุที่แน่ชัดของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินยังไม่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้จะเพิ่มขึ้นถ้า:
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- เป็นโรค/สภาวะทางสุขภาพที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- กำลังใช้ยากดภูมิคุ้มกันอยู่
- เคยติดเชื้อไวรัสอีบีวี (Epstein-Barr virus) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรค glandular fever
นอกจากนี้คุณยังมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินถ้าญาติในลำดับชั้นติดกันเป็นโรคนี้ (พ่อแม่, พี่น้อง หรือบุตร)
จะวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินได้อย่างไร?
วิธีเดียวที่จะยืนยันการวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินคือการทำการตัดชิ้นเนื้อมาตรวจ (biopsy)
การตัดชิ้นเนื้อเป็นการผ่าตัดเล็กเพื่อนำเนื้อเยื่อตัวอย่างจากต่อมน้ำเหลืองที่ได้รับผลกระทบจากโรคไปตรวจในห้องปฏิบัติการ
การรักษาและอนาคตของผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินเป็นมะเร็งที่มีความรุนแรง และแพร่กระจายไปทั่วร่างกายอย่างรวดเร็ว แต่มะเร็งชนิดนี้ก็ยังเป็นหนึ่งในมะเร็งชนิดที่รักษาได้ง่ายที่สุด
แผนการรักษาที่แนะนำสำหรับคุณจะขึ้นกับสภาวะทางสุขภาพโดยรวมและอายุของคุณ เพราะการรักษาหลายๆ วิธีจะเพิ่มความเครียดให้กับร่างกาย นอกจากนี้การแพร่กระจายของมะเร็งว่าแพร่กระจายไปมากน้อยแค่ไหนคือปัจจัยสำคัญในการกำหนดวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดด้วย
การรักษาหลักที่จะใช้คือ ยาเคมีบำบัด (chemotherapy) ตามด้วยการให้รังสีรักษา (radiotherapy) หรือ ใช้เพียงยาเคมีบำบัดอย่างเดียว ส่วนการผ่าตัดมักไม่ใช้ในการรักษามะเร็งชนิดนี้
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ภาพรวมพบว่าประมาณ 85% ของผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินจะมีชีวิตได้อีกอย่างน้อย 5 ปี และส่วนใหญ่แล้วจะหายขาดจากโรค อย่างไรก็ตามผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงในระยะยาวหลังการรักษา ได้แก่ ภาวะมีบุตรยาก และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งชนิดอื่นๆ ในอนาคต
อาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน
อาการที่พบได้บ่อยที่สุดของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน คือ มีอาการบวมที่ลำคอ รักแร้ หรือขาหนีบ การบวมที่เกิดขึ้นมักไม่เจ็บ แต่อาจมีผู้ป่วยบางรายที่มีอาการปวดได้
การบวมที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ที่ผิดปกติมีการสะสมที่ต่อมน้ำเหลืองเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการบวมขึ้น ต่อมน้ำเหลืองคือต่อมขนาดเล็กเท่าเมล็ดถั่วกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งภายในต่อมน้ำเหลืองจะมีเซลล์เม็ดเลือดขาวอยู่เพื่อทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค
อย่างไรก็ตาม โอกาสน้อยที่คุณจะเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน แม้ว่าจะมีการบวมของต่อมน้ำเหลืองตามที่ต่างๆ ดังที่กล่าวมา เพราะต่อมน้ำเหลืองมักโตได้จากสาเหตุของการติดเชื้ออยู่แล้ว
อาการอื่นๆ
ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินบางรายยังสามารถมีอาการโดยทั่วไปอื่นๆ ได้ด้วย ได้แก่:
- เหงื่อออกตอนกลางคืน
- น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ
- มีไข้
- ไอเรื้อรัง และรู้สึกหายใจลำบาก
- คันเรื้อรังตามผิวหนังทั่วร่างกาย
อาการอื่นๆ จะขึ้นกับบริเวณของต่อมน้ำเหลืองที่บวมโต ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นต่อมน้ำเหลืองที่ท้องบวมโต คุณอาจมีอาการปวดท้อง หรือ อาหารไม่ย่อย
ผู้ป่วยจำนวนน้อยที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมีเซลล์ผิดปกติที่ตรวจพบได้ในไขกระดูกขณะทำการวินิจฉัย อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการ:
- อ่อนเพลียเรื้อรัง
- มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
- เลือดออกง่าย เช่น เลือดกำเดาไหล, มีประจำเดือนมากกว่าปกติ และเห็นจุดเลือดออกที่ใต้ผิวหนัง
และในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินบางรายจะมีอาการปวดที่บริเวณต่อมน้ำเหลืองเมื่อพวกเขาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เมื่อไรควรไปพบแพทย์
หากคุณมีอาการดังกล่าวข้างต้นให้ไปพบแพทย์ โดยเฉพาะถ้ามีต่อมน้ำเหลืองโตเรื้อรังโดยไม่มีอาการแสดงของการติดเชื้อ
แม้ว่าอาการดังกล่าวมีโอกาสน้อยที่จะเกิดจากมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินก็ตาม แต่ดีที่สุดคือควรเข้ารับการตรวจโดยแพทย์
สาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินมีสาเหตุมาจากการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอ (DNA) ในเซลล์เม็ดเลือดขาวบี-ลิมโฟไซต์ (B-lymphocytes) แต่สาเหตุว่าทำไมจึงเกิดขึ้นยังไม่ทราบแน่ชัด
ดีเอ็นเอ คือสิ่งที่กำหนดหน้าที่การทำงานของเซลล์นั้น เช่น เมื่อไรควรเจริญเติบโตและแบ่งตัวเพิ่มจำนวน เมื่อมีการกลายพันธุ์ในดีเอ็นเอ จึงทำให้กระบวนการทำงานต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เซลล์เจริญเติบโตและแบ่งตัวเพิ่มจำนวนแบบควบคุมไม่ได้
เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ที่ผิดปกติจะเริ่มมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนที่ต่อมน้ำเหลือง 1 ต่อม หรือมากกว่านั้น ที่บริเวณต่างๆ ของร่างกาย เช่น ที่ลำคอ หรือ ขาหนีบ เมื่อเวลาผ่านไปมีความเป็นไปได้ที่เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ที่ผิดปกติจะแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น:
- ไขกระดูก
- ม้าม
- ตับ
- ผิวหนัง
- ปอด
ใครที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน
แม้ว่าสาเหตุที่ทำให้เริ่มมีการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอซึ่งกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยที่จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ ได้แก่:
- มีสภาวะทางสุขภาพซึ่งเป็นสาเหตุให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
- กำลังได้รับการรักษาด้วยยาที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ได้รับยากดภูมิคุ้มกันภายหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ
- เคยติดเชื้ออีบีวี (Epstein-Barr virus (EBV)) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรค glandular fever
- เคยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (non-hodgkin lymphoma) ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดโรคนี้เพราะเคยได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หรือรังสีรักษามาก่อน
- น้ำหนักตัวมาก (อ้วน)-อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินไม่ใช่โรคติดเชื้อ และไม่ใช่โรคที่ติดต่อกันทางพันธุกรรมระหว่างบุคคลในครอบครัว อย่างไรก็ตามพบว่าความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นถ้าญาติลำดับติดกันเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (lymphoma) (พ่อแม่ พี่น้อง หรือบุตร) ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นเพราะมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือเป็นเพราะปัจจัยด้านการใช้ชีวิต (lifestyle factors)
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินสามารถพบได้ทุกช่วงอายุ แต่จะพบมากสุดในผู้ที่อายุอยู่ในช่วง 20 ปี ต้นๆ หรือหลัง 70 ปีไปแล้ว และมักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
การวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน
หากคุณไปพบแพทย์เพราะคุณกังวลเกี่ยวกับอาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน แพทย์จะสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของคุณและจะทำการตรวจร่างกายให้กับคุณ
หากคุณเป็นแพทย์อาจพิจารณาส่งต่อคุณไปรับการตรวจเพิ่มเติม
การตรวจเพิ่มเติมที่จะได้รับการทำคือ การทำการตรวจชิ้นเนื้อ (biopsy) เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะยืนยันการวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน
การตรวจชิ้นเนื้อ (biopsy)
การตรวจชิ้นเนื้อคือการนำตัวอย่างชิ้นเนื้อออกมาจากต่อมน้ำเหลืองบางส่วนหรือเอาออกมาทั้งหมด และนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ
การทำการตรวจชิ้นเนื้อเป็นหัตถการทางการแพทย์ขนาดเล็ก และทำภายใต้การใช้ยาชาเฉพาะที่ ในบางกรณีต่อมน้ำเหลืองอาจอยู่ในบริเวณที่เข้าถึงได้ยาก เอาออกมาได้ยาก แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาสลบเพื่อให้คุณสลบขณะทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ
พยาธิแพทย์ (pathologist) เป็นแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านการตรวจโรคจากเนื้อเยื่อจะทำการตรวจตัวอย่างเนื้อเยื่อที่ตัดออกมาว่ามีเซลล์มะเร็งอยู่หรือไม่ หากแพทย์ตรวจพบเซลล์มะเร็ง แพทย์จะทำการวินิจฉัยต่อไปว่าใช่มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินหรือไม่ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะวางแผนในการรักษาต่อไป
การตรวจเพิ่มเติม
ในการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน การตรวจเพิ่มเติมมีความจำเป็นเพื่อดูว่ามะเร็งต่อมน้ำเหลืองแพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ประเมินได้ว่ามะเร็งต่อมน้ำเหลืองอยู่ในระยะใด
การตรวจเพิ่มเติมอาจได้แก่:
- การตรวจเลือด-การตรวจเลือดจะทำระหว่างการวินิจฉัยและการรักษาเพื่อตรวจสุขภาพโดยรวมของร่างกาย, เพื่อตรวจดูระดับเซลล์เม็ดเลือดขาว เซลล์เม็ดเลือดแดง และเกร็ดเลือด และดูเพื่อดูว่าอวัยวะของคุณยังทำงานปกติหรือไม่ เช่น ตับ ไต
- การเจาะไขกระดูก (bone marrow sample): การตรวจชิ้นเนื้ออื่นๆ คือการเจาะตรวจไขกระดูกเพื่อดูว่ามะเร็งแพร่กระจายเข้าไปในไขกระดูกหรือไม่ ซึ่งจะใช้เข็มเจาะดูดตัวอย่างของไขกระดูกออกจากบริเวณเชิงกรานและทำภายใต้การใช้ยาชาเฉพาะที่
- การเอกซเรย์ปอด-ทำเพื่อดูว่ามะเร็งแพร่กระจายไปที่ปอดหรือไม่
- ซีที สแกน/การสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computerised tomography (CT) scan)-คือการทำเอกซเรย์หลายๆ ชุด เพื่อสร้างเป็นภาพสามมิติของสิ่งที่อยู่ภายในร่างกายเพื่อดูการแพร่กระจายของมะเร็ง
- การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging (MRI) scan)-คือการใช้คลื่นแม่เหล็กเข้มข้นเพื่อสร้างเป็นภาพที่มีรายละเอียดของบริเวณต่างๆ ภายในร่างกาย เพื่อดูการแพร่กระจายของมะเร็ง
- positron emission tomography (PET) scan-คือการสแกนเพื่อดูกิจกรรมภายในเซลล์ที่บริเวณต่างๆ กัน และเพื่อดูการแพร่กระจายของมะเร็ง รวมถึงผลที่เกิดขึ้นจากการรักษา โดยมักทำไปพร้อมกับการทำซีทีสแกนเพื่อให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเนื้อเยื่อในร่างกายที่บริเวณต่างๆ กันมีการทำงานเป็นอย่างไร
ระยะของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน
เมื่อขั้นตอนการตรวจทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว จะสามารถประเมินได้ว่าระยะของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอยู่ที่ระยะใด คำว่าระยะ เป็นการบอกว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใด
ระยะของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินแบ่งเป็นระยะหลักได้ดังนี้:
- ระยะที่ 1- มะเร็งจำกัดอยู่ภายในกลุ่มของต่อมน้ำเหลือง 1 กลุ่ม เช่น บริเวณคอ หรือ ขาหนีบ (บริเวณด้านบนหรือด้านล่างของกะบัง)
- ระยะที่ 2- มีกลุ่มของต่อมน้ำเหลือง 2 กลุ่มหรือมากกว่านั้นที่ได้รับผลกระทบ (บริเวณด้านบนหรือด้านล่างของกะบังลม)
- ระยะที่ 3- มะเร็งแพร่กระจายไปที่กลุ่มของต่อมน้ำเหลืองทั้งด้านบนและด้านล่างของกะบังลม
- ระยะที่ 4- มะเร็งแพร่กระจายไปทั่วระบบน้ำเหลือง และ พบได้ในอวัยวะอื่นๆ หรือไขกระดูก
แพทย์จะทำการใส่ตัวอักษร A หรือ B เข้าไปที่ระยะของคุณด้วย เพื่อบ่งชี้ว่าคุณมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่
A ถ้าใส่ตามหลังระยะของโรค หมายถึง คุณไม่มีอาการอื่นใดนอกเหนือจากต่อมน้ำเหลืองโต
B ถ้าใส่ตามหลังระยะของโรค หมายถึง คุณมีอาการอื่นๆ คือ น้ำหนักลด มีไข้ หรือเหงื่อออกตอนกลางคืน
การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน
มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินโดยทั่วไปรักษาได้ประสบความสำเร็จด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดอย่างเดียว หรือยาเคมีบำบัดตามด้วยการให้รังสีรักษา
แผนการรักษาของคุณ
แผนการรักษาที่จำเพาะกับคุณจะขึ้นกับสุขภาพโดยรวมของคุณและอายุของคุณ เพราะการรักษาหลายวิธีจะเพิ่มความเครียดให้กับร่างกาย นอกจากนี้การแพร่กระจายของมะเร็งว่าแพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใดยังเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดวิธีการรักษาด้วย
ในการวางแผนการรักษามักทำร่วมกับระหว่างแพทย์หลายคนร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญหลายสาขาเพื่อร่วมกันรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง เราเรียกว่าทีมสหสาขาวิชาชีพ (multidisciplinary team (MDT))
ทีมสหสาขาวิชาชีพนี้จะแนะนำทางเลือกในการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ อย่างไรก็ตาม คุณไม่จำเป็นต้องรีบตัดสินใจเกี่ยวกับแผนการรักษาจนเกินไป ก่อนตัดสินใจ คุณควรพูดคุยกับเพื่อน ครอบครัว หรือคู่ของคุณเสียก่อน
ทางเลือกในการรักษา
การรักษาหลักสำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินคือ การใช้ยาเคมีบำบัดอย่างเดียว หรือ การใช้ยาเคมีบำบัดตามด้วยการให้รังสีรักษา ในบางกรณียาเคมีบำบัดอาจให้ร่วมกับยาสเตียรอยด์ (steroid)
การผ่าตัดมักไม่ทำเพื่อรักษามะเร็งชนิดนี้ ยกเว้นการทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจวินิจฉัย
ภาพรวมของการรักษาพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินส่วนใหญ่ตอบสนองต่อการรักษาสูง และส่วนใหญ่จะหายจากการรักษา
สำหรับข้อมูลการรักษาหลักที่ใช้มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ยาเคมีบำบัด (chemotherapy)
ยาเคมีบำบัดคือชนิดของการรักษามะเร็งที่ใช้ยาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง โดยยาเคมีบำบัดจะให้เข้าสู่ร่างกายด้วยวิธีที่แตกต่างกันขึ้นกับระยะของโรค
หากแพทย์คิดว่ามะเร็งที่คุณเป็นสามารถรักษาให้หายขาดได้ คุณจะได้รับยาเคมีบำบัดโดยการให้ทางหลอดเลือดดำ (intravenous chemotherapy) แต่ถ้าโอกาสหายขาดเป็นไปได้ยาก คุณอาจได้รับเฉพาะยาเคมีบำบัดชนิดรับประทานเพื่อบรรเทาอาการ
ยาเคมีบำบัดมักให้ในช่วงเวลาหนึ่งๆ เป็นเวลาไม่กี่เดือน โดยให้เป็นแบบผู้ป่วยนอก หมายถึง คุณไม่จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม อาจมีบางครั้งที่มีอาการข้างเคียงจากการรักษา หรืออาการของโรครบกวนชีวิตคุณมาก ก็อาจจำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาลในช่วงเวลาหนึ่งๆ
ยาเคมีบำบัดเป็นยาที่มีผลข้างเคียงหลายประการ โดยผลข้างเคียงที่ชัดเจนมากสุดคือการสร้างความเสียหายต่อไขกระดูก ทำให้รบกวนการผลิตเซลล์เม็ดเลือดปกติ และทำให้เกิดปัญหาตามมา ดังนี้:
- มีอาการอ่อนเพลีย
- หายใจลำบาก
- เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- เลือดออกง่าย ผิวหนังช้ำง่าย
หากคุณมีอาการดังกล่าวนี้ อาจจำเป็นต้องชะลอการรักษาออกไป เพื่อให้ร่างกายได้มีช่วงเวลาที่จะผลิตเซลล์เม็ดเลือดปกติ และยังมียาที่ชื่อว่า growth factor ซึ่งสามารถช่วยกระตุ้นการผลิตเซลล์เม็ดเลือดได้
ผลข้างเคียงอื่นๆ ของยาเคมีบำบัด ได้แก่:
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องเสีย
- เบื่ออาหาร
- แผลที่ปาก
- อ่อนเพลีย
- ผื่นผิวหนัง
- ผมร่วง
- ภาวะมีบุตรยาก ซึ่งอาจเป็นชั่วคราวหรือถาวรก็ได้
ผลข้างเคียงโดยส่วนใหญ่ควรมีอาการดีขึ้นเมื่อการรักษาสิ้นสุดลง แต่ถ้าผลข้างเคียงยังคงเป็นอยู่และรบกวนคุณ ให้แจ้งแพทย์ทราบ เพราะมีการรักษาที่สามารถช่วยบรรเทาอาการได้
ยาเคมีบำบัดขนาดสูง (high-dose chemotherapy)
หากการใช้ยาเคมีบำบัดขนาดปกติไม่ประสบความสำเร็จ หรือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินกลับมาเป็นซ้ำหลังการรักษา คุณอาจจำเป็นต้องเริ่มคอร์สของการใช้ยาเคมีบำบัดขนาดสูง
อย่างไรก็ตามการให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูงจะทำลายไขกระดูกด้วย ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวข้างต้น คุณอาจจำเป็นต้องปลูกถ่ายสเต็มเซลล์หรือไขกระดูกเพื่อทดแทนไขกระดูกที่ถูกทำลายไป
รังสีรักษา (radiotherapy)
รังสีรักษาคือการรักษาที่มักใช้เพื่อรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินระยะแรก ซึ่งมะเร็งจำกัดอยู่เฉพาะบริเวณหนึ่งของร่างกายเท่านั้น
การรักษาจะรักษาเป็นช่วงสั้นๆ ในวันจันทร์-วันศุกร์ เป็นเวลาต่อเนื่องหลายสัปดาห์ และไม่จำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
รังสีรักษามักไม่มีอาการเจ็บปวด แต่สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงหลายประการ ขึ้นกับบริเวณของร่างกายที่ทำการรักษาตัวอย่างเช่น การรักษาที่ลำคอ ทำให้เจ็บคอได้ ในขณะที่รักษาที่ศีรษะทำให้ผมร่วงได้
ผลข้างเคียงอื่นๆ ได้แก่:
- อ่อนเพลีย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปากแห้ง
- เบื่ออาหาร
ผลข้างเคียงส่วนใหญ่จะเป็นแบบชั่วคราว แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงในระยะยาว เช่น ภาวะมีบุตรยาก และ ผิวหนังเข้มถาวรบริเวณที่รักษาได้
ยาสเตียรอยด์ (steroid medication)
ยาสเตียรอยด์บางครั้งจะใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดเพื่อให้การรักษาเข้มข้นมากขึ้นในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินระยะลุกลาม หรือเมื่อการรักษาในตอนแรกไม่ประสบความสำเร็จ
การใช้ยาสเตียรอยด์จะให้ทางหลอดเลือดดำ มักให้ไปพร้อมกับยาเคมีบำบัด
ผลข้างเคียงทั่วไปที่พบได้ของยาสเตียรอยด์คือ:
- เพิ่มความอยากอาหาร ทำให้น้ำหนักเพิ่ม
- อาหารไม่ย่อย
- ปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ
- รู้สึกกระวนกระวายใจ
ผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์มักดีขึ้นเมื่อการรักษาสิ้นสุดลง
ยาริทูซิแมบ (Rituximab)
หากคุณได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินชนิดที่พบได้น้อย คือ lymphocyte-predominant Hodgkin lymphoma คุณอาจได้รับยาเคมีบำบัดร่วมกับยาริทูซิแมบ (rituximab)
ยา rituximab คือการบำบัดด้วยยาชีววัตถุที่เรียกว่า monoclonal antibody โดยยาจะไปจับกับผิวของเซลล์มะเร็งและกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันเข้าโจมตีและทำลายเซลล์มะเร็ง
ยานี้จะให้ทางหลอดเลือดดำในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมง
ผลข้างเคียงของยา rituximab ได้แก่:
- อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ปวดศีรษะ มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ
- อ่อนเพลีย
- คลื่นไส้
- ท้องเสีย
คุณอาจได้รับยาเพื่อป้องกันหรือลดการเกิดผลข้างเยง ผลข้างเคียงต่างๆ ควรมีอาการดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เพราะร่างกายได้ใช้ยาไปจนหมดแล้ว
การติดตามอาการ
หลังการรักษาสิ้นสุดลง คุณจะได้รับการนัดหมายเพื่อติดตามอาการ ดูการฟื้นตัว และดูว่ามีสัญญาณใดๆ ที่บ่งชี้ว่ามะเร็งกลับมาเป็นซ้ำหรือไม่
การนัดหมายเข้าพบแพทย์จะนัดทุก ๆ 2-3 สัปดาห์ หรือทุกเดือนในช่วงแรก หลังจากนั้นจะค่อยๆ นัดห่างออกไป
ภาวะแทรกซ้อนของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน
ผู้ป่วยบางรายที่รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินจะเกิดปัญหาในระยะยาว แม้ว่ามะเร็งจะรักษาหายขาดแล้วก็ตาม
ภาวะแทรกซ้อนหลักบางประการของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยของผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน และจะมีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างการรักษา
ถ้าระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ นั่นหมายถึงคุณจะมีโอกาสติดเชื้อง่ายกว่าปกติ และมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อด้วย ในบางกรณี แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ) เป็นประจำเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
หากคุณมีอาการใดๆ ที่สงสัยว่าเป็นการติดเชื้อ ต้องรีบแจ้งแพทย์ทราบทันที เพราะจำเป็นต้องรีบรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมา
อาการของการติดเชื้อ ได้แก่:
- มีไข้
- ปวดศีรษะ
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ท้องเสีย
- อ่อนเพลีย
การฉีดวัคซีน
คุณต้องแน่ใจว่าได้รับการฉีดวัคซีนที่เป็นปัจจุบันแล้ว
อย่างไรก็ตามคุณต้องปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนก่อน เพราะวัคซีนบางชนิดไม่ปลอดภัยกับคุณ ซึ่งได้แก่วัคซีนเชื้อเป็น (live vaccines) จนกว่าการรักษาจะสิ้นสุดลงเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว
ตัวอย่างวัคซีนเชื้อเป็น ได้แก่:
- วัคซีนงูสวัด
- บีซีจีวัคซีน (BCG vaccine) เพื่อป้องกันการติดเชื้อวัณโรค
- วัคซีนป้องกันหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR vaccine)
ภาวะมีบุตรยาก
ยาเคมีบำบัดและรังสีรักษาสามารถก่อให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ ซึ่งอาจเป็นชั่วคราวหรือเป็นถาวรก็ได้
แพทย์จะประเมินความเสี่ยงของการเกิดภาวะมีบุตรยากให้กับคุณ และแจ้งให้คุณทราบถึงทางเลือกที่เป็นไปได้
ในบางกรณีสำหรับผู้ชายอาจต้องมีการเก็บอสุจิฝากไว้ในธนาคารก่อน และสำหรับผู้หญิงก็อาจต้องฝากไข่ไว้ก่อนการรักษา ซึ่งคุณยังสามารถมีบุตรได้หลังการรักษาสิ้นสุดลง โดยการใช้ไข่ หรือ อสุจิที่ฝากไว้
มะเร็งชนิดที่ 2
ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินมีโอกาสสูงที่จะเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือมะเร็งชนิดอื่นๆ ได้ในอนาคต เพราะยาเคมีบำบัดและรังสีรักษาที่ได้รับจะเพิ่มความเสี่ยงนี้
มะเร็งชนิดที่ 2 เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มักเกิดขึ้นภายในระยะเวลามากกว่า 10 ปีหลังรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินเสร็จแล้ว ในกรณีที่พบได้น้อย มะเร็งอื่นๆ เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดอื่นๆ จะพบได้หลังจากนี้เพียงไม่กี่ปีเท่านั้น
คุณสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งชนิดที่ 2 โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ด้วยการไม่สูบบุหรี่ รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี รับประทานอาหารหลากหลายครบ 5 หมู่และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และออกกำลังกายเป็นประจำ
คุณควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการใดๆ ที่สงสัยได้ว่าเป็นมะเร็งชนิดอื่นๆ และเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดอื่นๆ เป็นประจำ
ปัญหาทางสุขภาพอื่นๆ
ความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางสุขภาพอื่นๆ ในอนาคต เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคปอด จะสูงขึ้นในผู้ที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน
คุณควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคดังกล่าว เช่น หายลำบากมากขึ้น เป็นต้น