มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดเอแอลแอล (Acute lymphoblastic leukaemia)

เผยแพร่ครั้งแรก 10 ก.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 15 นาที
มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดเอแอลแอล (Acute lymphoblastic leukaemia)

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดเอแอลแอล หรือ โรคมะเร็งเอแอลแอล เป็นโรคมะเร็งที่ร่างกายมีเม็ดเลือดขาวไม่สมบูรณ์ผิดปกติมากเกินไป ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อง่ายกว่าคนปกติ มีอาการของโลหิตจาง อ่อนเพลีย ผิวหนังซีด หายใจลำบาก รวมถึงมีภาวะเลือดออกง่าย ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งเอแอลแอลจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยการรักษาร่วมกันระหว่างยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา และในผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องปลูกถ่ายไขกระดูก (bone marrow transplant) เพื่อให้หายขาด

บทนำโรคมะเร็งเอแอลแอล

คำว่า leukaemia ในภาษาอังกฤษมีความหมายว่า โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน (acute leukaemia) เป็นโรคมะเร็งที่มีการดำเนินไปของโรคอย่างรวดเร็ว ลุกลามเร็ว มีความรุนแรง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน ยังสามารถแบ่งออกตามชนิดของเม็ดเลือดขาวที่ได้รับผลกระทบจากโรคมะเร็ง ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิดหลัก ได้แก่:

  • เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ (lymphocytes): ส่วนใหญ่เม็ดเลือดขาวชนิดนี้จะทำหน้าที่ต่อสู้กับการติดเชื้อไวรัส
  • เม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิล (neutrophils): เม็ดเลือดขาวชนิดนี้มีหลายหน้าที่ เช่น ต่อสู้กับการติดเชื้อแบคทีเรีย, พยาธิ

นอกจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดเอแอลแอล ซึ่งเป็นมะเร็งของเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์แล้ว ยังมีมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดอื่นๆ อีก:

  • Chronic lymphocytic leukaemia
  • Chronic myeloid leukaemia
  • Acute myeloid leukaemia

สัญญาณเตือนของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน

อาการของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดเอแอลแอลมักจะค่อยๆ เริ่มต้นอย่างช้าๆ ก่อนที่จะเริ่มมีอาการรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อร่างกายมีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ไม่สมบูรณ์ (immature white blood cells) ในเลือดเพิ่มมากขึ้น โดยผู้ป่วยจะมีอาการได้แก่:

  • ผิวสีซีด (pale skin)
  • อ่อนเพลีย
  • หายใจลำบาก
  • มีการติดเชื้อซ้ำๆ ในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน
  • มีเลือดออกผิดปกติและบ่อยครั้ง

เกิดอะไรขึ้นในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน

เม็ดเลือดขาวทุกเซลล์ในร่างกายสร้างมาจากไขกระดูก (bone marrow) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อฟองน้ำที่พบภายในกระดูก

ไขกระดูกจะทำหน้าที่สร้างเซลล์พิเศษที่เรียกว่า สเต็มเซลล์ (stem cells) หรือเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งมีความสามารถในการพัฒนาไปเป็นเซลล์เม็ดเลือด 3 ชนิดที่สำคัญ ได้แก่:

  • เซลล์เม็ดเลือดแดง (red blood cells): ทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปทั่วร่างกาย
  • เซลล์เม็ดเลือดขาว (white blood cells): ทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค ป้องกันการติดเชื้อของร่างกาย
  • เกร็ดเลือด (platelets): ช่วยให้เลือดหยุดไหล

โดยปกติไขกระดูกจะทำหน้าที่สร้างสเต็มเซลล์จากนั้นสเต็มเซลล์จะพัฒนาตัวเองอย่างเต็มที่เป็นเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่างๆ ก่อนที่จะถูกปลดปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด แต่ในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน ไขกระดูกจะปลดปล่อยเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ยังไม่สมบูรณ์ เจริญไม่เต็มที่ เข้าสู่กระแสเลือดจำนวนมาก เราเรียกเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ยังไม่สมบูรณ์ว่า เซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อน หรือ บลาสต์เซลล์ (blast cells)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

เมื่อร่างกายมีเซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อนเพิ่มจำนวนขึ้นจะทำให้ปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดงและเกร็ดเลือดลดปริมาณลง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการของโลหิตจาง เช่น อ่อนเพลีย และมีความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกมากขึ้น

นอกจากนี้เซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อนเป็นเซลล์ที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าเซลล์เม็ดเลือดขาวโตเต็มที่ในการต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส ดังนั้นผู้ป่วยจะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดเอแอลแอล เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในเด็ก ปริมาณการว่าจะพบโรคนี้ได้ในเด็ก 1 รายต่อเด็ก 2,000 ราย ประมาณ 85% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดเอแอลแอลพบในเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี โดยพบบ่อยสุดในช่วงอายุระหว่าง 2- 5 ปี

สาเหตุของมะเร็งเลือดขาวเฉียบพลันยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เรารู้ว่าปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคได้แก่:

  • การสัมผัสกับรังสีปริมาณมากๆ
  • การสัมผัสกับสารเบนซิน (benzene) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรม และยังพบในบุหรี่ด้วย

อนาคตของผู้ป่วยโรคมะเร็งเอแอลแอล

ภาพอนาคตของโรคมะเร็งเอแอลแอลในผู้ป่วยเด็กโดยทั่วไปอยู่ในระดับดี ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยเด็กจะเข้าสู่การสงบของโรคได้ (remission) ซึงเป็นช่วงเวลาที่ไม่มีอาการใดๆ และ 85% ของผู้ป่วยเด็กจะหายขาด

แต่ในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคมะเร็งเอแอลแอลจะมีความหวังน้อยกว่า เพราะจะมีเพียง 40% ของผู้ป่วยเท่านั้นที่หายขาด

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

การรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดเอแอลแอลมักใช้การรักษาร่วมกันระหว่างยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา และในผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องปลูกถ่ายไขกระดูก (bone marrow transplant) เพื่อให้หายขาด

หากการรักษาโรคไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดได้ นั่นหมายความว่าผู้ป่วยจะขาดเซลล์เม็ดเลือดที่สมบูรณ์ ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้ออันตรายร้ายแรงถึงชีวิต (เพราะเซลล์เม็ดเลือดขาวที่สมบูรณ์) หรือ มีอาการเลือดออกรุนแรงและควบคุมไม่ได้ (เพราะขาดเกร็ดเลือด)

อาการของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดเอแอลแอล

อาการของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดเอแอลแอลมักจะค่อยๆ เริ่มต้นอย่างช้าๆ ก่อนที่จะเริ่มมีอาการรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อร่างกายมีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ไม่สมบูรณ์ (immature white blood cells) ในเลือดเพิ่มมากขึ้น

อาการส่วนใหญ่เกิดจากการขาดเซลล์เม็ดเลือดที่สมบูรณ์ในกระแสเลือด

อาการของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันเอแอลแอล ได้แก่:

  • ผิวหนังซีด
  • รู้สึกอ่อนเพลีย หายใจลำบาก
  • มีการติดเชื้อซ้ำๆ ในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน
  • มีเลือดออกผิดปกติและบ่อยครั้ง เช่น เลือดออกที่เหงือกหรือเลือดกำเดาออก
  • มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • มีเหงื่อออกตอนกลางคืน
  • ปวดกระดูกและข้อ
  • มีรอยฟกช้ำได้ง่าย
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • ปวดท้อง-สาเหตุมาจากตับโตหรือม้ามโต
  • น้ำหนักลดแบบไม่ทราบสาเหตุ
  • ผื่นผิวหนังสีม่วง (purpura)

ในผู้ป่วยโรคมะเร็งเอแอลแอลบางราย เซลล์ที่ได้รับผลกระทบจากโรคนี้จะแพร่กระจายจากเลือดเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย (สัมพันธ์กันสมองและระบบประสาท) ได้แก่:

เมื่อไรควรไปพบแพทย์

ถ้าคุณ หรือบุตรหลานของคุณมีอาการบางอย่าง หรือแม้จะมีอาการทั้งหมดดังที่กล่าวข้างต้น ก็ยังมีแนวโน้มที่ไม่ได้เกิดจากโรคมะเร็งเอแอลแอล

อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำให้ไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะไม่ว่าอาการที่เกิดขึ้นจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม แต่ก็จำเป็นต้องได้รับการตรวจและรักษาอย่างทันท่วงที 

สาเหตุของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดเอแอลแอล

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดเอแอลแอลมีสาเหตุมาจากการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอ (DNA mutation) ในสเต็มเซลล์ ทำให้เกิดการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวออกมาจำนวนมาก

เม็ดเลือดขาวที่สร้างแล้วจะถูกปล่อยออกมาจากไขกระดูกก่อนที่จะพัฒนาเป็นเม็ดเลือดขาวที่สมบูรณ์เต็มที่และมีความสามารถในการต่อสู้กับเชื้อโรค

เมื่อมีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อนที่ยังโตไม่เต็มที่ปริมาณเพิ่มขึ้น จะทำให้ปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดงและเกร็ดเลือดที่สมบูรณ์มีปริมาณลดลง และการลดลงนี้เองก็เป็นสาเหตุของอาการหลายอาการในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอที่เกิดขึ้น แต่มีปัจจัยบางอย่างที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดเอแอลแอล

ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งเอแอลแอล

โรคทางพันธุกรรม (genetic disorders)

ผู้ป่วยเด็กที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันเอแอลแอลนั้นคาดคิดว่ามีสาเหตุที่สัมพันธ์กับโรคทางพันธุกรรม ตัวอย่างเช่น อัตราการเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมีแนวโน้มสูงขึ้นในเด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome)

การสัมผัสกับรังสี (radiation exposure)

การสัมผัสถูกรังสีในปริมาณสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นก่อนกำเนิดหรือหลังจากนั้น ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามปริมาณรังสีต้องมีปริมาณมากพอจึงจะถือเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค เช่น ปริมาณรังสีที่รั่วไหลจากอุบัติเหตุโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl)

เนื่องจากความเสี่ยงของการสัมผัสรังสีที่มีต่อเด็กทารกที่ยังไม่เกิด เทคนิคทางการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีการใช้รังสี เช่น เอกซ์เรย์ จะไม่ค่อยใช้ในหญิงตั้งครรภ์

ส่วนใหญ่ของเด็กที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในวัยเด็ก ไม่พบประวัติของโรคทางพันธุกรรมและประวัติการสัมผัสกับรังสี

ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่อาจเป็นไปได้

ผู้เชี่ยวชาญอยู่ระหว่างการวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อพิจารณาว่าปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมต่อไปนี้อาจเป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้หรือไม่

  • การอาศัยอยู่ใกล้กับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์
  • การอาศัยอยู่ใกล้กับสายไฟฟ้าแรงสูง
  • การอาศัยอยู่ใกล้กับอาคารหรืออุปกรณ์ที่ปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมา เช่น เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ

ณ ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมดังกล่าวข้างต้นเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

เบนซิน (benzene)

การสัมผัสกับสารเคมีเบนซินคือปัจจัยเสี่ยงสำหรับผู้ใหญ่ที่จะเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน สารเบนซินพบได้ในน้ำมันเบนซินและยังถูกใช้ในอุตสาหกรรมยาง อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีการควบคุมการใช้สารนี้อย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนสัมผัสกับสารนี้เป็นเวลานาน

สารเบนซินยังพบได้ในบุหรี่ จึงเป็นสาเหตุที่อธิบายได้ว่าทำไมผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ถึง 3 เท่า

นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัดหรือการใช้รังสีรักษาในการรักษาโรคมะเร็งอื่นๆ ก่อนหน้านี้ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันได้

ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ

มีข้อมูลหลักฐานเล็กน้อยที่บอกว่าผู้ป่วยที่มีภาวะต่อไปนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันเอแอลแอล:

  • อ้วน
  • มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ: จากโรคติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ หรือกำลังได้รับยากดภูมิคุ้มกันหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ

การวินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันเอแอลแอล

ขั้นตอนแรกในการวินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันเอแอลแอล คือ แพทย์จะสังเกตอาการแสดงของโรคที่เห็นได้ เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต และจะนำเลือดของคุณไปตรวจ

หากผลการตรวจเลือดพบปริมาณเม็ดเลือดขาวผิดปกติในปริมาณสูงอาจบ่งชี้ว่าคุณเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน ซึ่งคุณจะถูกส่งต่อไปพบแพทย์โลหิตวิทยาต่อไป (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคเลือด)

การเจาะตรวจไขกระดูก (bone marrow biopsy)

เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน แพทย์โลหิตวิทยาจะทำการเจาะไขกระดูกเพื่อเก็บตัวอย่างจำนวนเล็กน้อยไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์

แพทย์โลหิตวิทยาจะใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อให้ผิวหนังบริเวณกระดูกมีอาการชา โดยทั่วไปจะเป็นบริเวณกระดูกสะโพก จากนั้นจะใช้เข็มเพื่อเจาะดูดเอาตัวอย่างของไขกระดูกออกมาเล็กน้อย คุณอาจรู้สึกปวดเล็กน้อยเมื่อยาชาหมดฤทธิ์และมีรอยช้ำ และไม่สบายตัวอีกสักสองสามวันหลังจากนั้น ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 15 นาที และไม่จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

ไขกระดูกที่ถูกเจาะออกมานั้นจะนำไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง หากพบเซลล์มะเร็งจะทำการตรวจชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันไปพร้อมกัน

การตรวจเพิ่มเติม

มีการตรวจเพิ่มเติมอีกหลายอย่างที่จะถูกใช้เพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินไปและความรุนแรงของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ควรได้รับ การตรวจเพิ่มเติมมีรายละเอียดดังนี้

Cytogenetic testing

การตรวจเซลล์พันธุศาสตร์ หรือ Cytogenetic testing คือการตรวจทางพันธุศาสตร์ของเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะพบการแปรปรวนทางพันธุกรรมที่จำเพาะกับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เพื่อจะรู้ว่าการแปรปรวนที่พบนั้นมีความสำคัญต่อการรักษาโรคอย่างไร

Immunophenotyping

Immunophenotyping คือการทดสอบที่จะช่วยระบุชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันเอแอลแอลที่แน่นอน ซึ่งจะทดสอบจากเลือด ไขกระดูก และของเหลวในร่างกายอื่นๆ

การทดสอบนี้มีความสำคัญเนื่องจากการรักษาที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยอาจมีความแตกต่างกันเล็กน้อยตามชนิดของโรคมะเร็ง

ปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส (Polymerase chain reaction หรือ พีซีอาร์ (PCR))

การตรวจ PCR เป็นการตรวจที่ต้องนำเลือดของผู้ป่วยไปตรวจ เป็นการตรวจที่สำคัญสำหรับการวินิจฉัยและการติดตามการตอบสนองต่อการรักษา

โดยจะทำการเจาะเลือดผู้ป่วยไปตรวจทุกๆ 3 เดือน เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี หลังเริ่มการรักษา และตรวจด้วยความถี่ที่ลดลงเมื่อโรคสงบแล้ว

การตัดชิ้นเนื้อจากต่อมน้ำเหลืองไปตรวจ (Lymph node biopsy)

เมื่อคุณได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน อาจมีการตัดชิ้นเนื้อจากต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณต่อมน้ำเหลืองที่โต ซึ่งจะช่วยบอกได้ว่ามะเร็งเม็ดเลือดขาวนั้นแพร่กระจายไปมากเพียงใด

ซีทีสแกน (CT scans)

เมื่อคุณเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน คุณอาจได้รับการตรวจซีที สแกน/การสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อตรวจสอบอวัยวะต่างๆ ในร่างกายว่ายังทำงานได้ดี เช่น หัวใจและปอด

การเอกซ์เรย์ปอด (chest X-ray)

อาจมีการตรวจเอกซ์เรย์ปอดเพื่อดูการบวมของต่อมน้ำเหลือง

การเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง (Lumbar puncture)

หากรู้สึกว่ามีความเสี่ยงที่มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันจะแพร่กระจายเข้าสู่ระบบประสาท คุณอาจได้รับการเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง

การเจาะกรวดน้ำไขสันหลังนั้นจะทำโดยการใช้เข็มร่วมกับการใช้ยาชาเฉพาะที่ เพื่อดูดเอาตัวอย่างน้ำหล่อเสียงสมองและไขสันหลัง (cerebrospinal fluid) ออกมาจากหลังของคุณ การตรวจนี้เพื่อดูว่ามะเร็งเม็ดเลือดขาวนั้นแพร่กระจายเข้าสู่ระบบประสาทแล้วหรือยัง 

การรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดเอแอลแอล

การรักษาโรคมะเร็งเอแอลแอลนั้นมักจะเริ่มในเวลาไม่กี่วันหลังวินิจฉัยโรคแล้ว เพราะโรคนี้เป็นโรคที่มีความรุนแรงและลุกลามอย่างรวดเร็ว

ระยะของการรักษา

การรักษาโรคมะเร็งเอแอลแอล จะแบ่งออกเป็นระยะต่างๆ ดังนี้:

  • ระยะชักนำในโรคสงบ (induction)-เป้าหมายของการรักษาในระยะเริ่มแรกนี้คือการทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวภายในไขกระดูก ฟื้นฟูสมดุลของเซลล์ในเลือด และรักษาอาการหลายๆ อาการที่คุณเป็น
  • ระยะการรักษาเข้มข้น (consolidation)-เป้าหมายของการรักษาในระยะนี้คือการทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่หลงเหลืออยู่ในระบบประสาทส่วนกลาง
  • ระยะรักษาต่อเนื่องเพื่อให้โรคสงบตลอดไป (maintenance)-เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการรักษาซึ่งจะใช้ยาเคมีบำบัดชนิดเม็ดในขนาดยาคงที่อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันไม่ให้โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวกลับมาเป็นซ้ำ

การรักษาในระยะต่อเนื่อง (maintenance) ดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพเฉพาะสำหรับการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดเอแอลแอล และมักไม่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด acute myeloid leukaemia 

การรักษาระยะชักนำ (Induction)

การรักษาระยะชักนำจะทำการรักษาในโรงพยาบาลหรือในศูนย์รักษาโรคเฉพาะทาง เพราะคุณมักจำเป็นต้องได้รับการให้เลือด เพราะเลือดของคุณไม่มีเซลล์เม็ดเลือดที่สมบูรณ์มากเพียงพอ

ระยะนี้คุณมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้นสิ่งสำคัญคือคุณควรอยู่ในสถานที่ปลอดเชื้อ และสุขภาพของคุณต้องได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิด และหากพบการติดเชื้อใดๆ ก็ตาม ต้องรีบทำการรักษาทันที คุณอาจได้รับการจ่ายยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ) เพื่อป้องกันการติดเชื้อในอนาคต

ยาเคมีบำบัด (chemotherapy)

คุณจะได้รับยาเคมีบำบัดเพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวในไขกระดูก แม้ว่ายาบางชนิดสามารถให้โดยการรับประทานได้ แต่คุณจะได้รับยามากกว่าหนึ่งชนิดด้วยการฉีด เพื่อให้การรักษาง่ายขึ้นและเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำๆ คุณจะได้รับยาผ่านทางสายสวนหลอดเลือดดำใหญ่ที่หน้าอก (central line)

ยาเคมีบำบัดบางชนิดอาจให้โดยตรงเข้าสู่น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่อาจแพร่กระจายเข้าสู่ระบบประสาท การให้ยานี้จะให้ผ่านทางเข็มที่เจาะเข้าไปยังกระดูกสันหลัง คล้ายกับวิธีการเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง (lumbar puncture)

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการได้รับยาเคมีบำบัดเป็นสิ่งที่พบได้บ่อย ซึ่งได้แก่:

ผลข้างเคียงต่างๆ ควรดีขึ้นเมื่อการรักษาสิ้นสุดลง ผมที่ร่วงไปแล้วมักใช้เวลาระหว่าง 3-6 เดือนในการกลับมางอกใหม่อีกครั้ง

การรักษาด้วยสเตียรอยด์ (steroid therapy)

คุณอาจได้รับการรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์ หรือ ยาสเตียรอยด์ชนิดเม็ด เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพยาเคมีบำบัด

ยาอิมาทินิบ (Imatinib)

ถ้าคุณได้รับการตรวจแล้วพบว่าเป็นโรคมะเร็งเอแอลแอลชนิด Philadelphia chromosome ให้ผลบวก คุณจะได้รับยาที่ชื่อว่า imatinib โดยยา imatinib จะออกฤทธิ์ยับยั้งการส่งสัญญาณภายในเซลล์มะเร็งที่ทำให้ตัวเซลล์เติบโตและเพิ่มจำนวน ผลสุดท้ายคือทำให้เซลล์มะเร็งถูกทำลาย

ยา imatinib เป็นยาเม็ดให้โดยการรับประทาน ผลข้างเคียงของยา imatinib มักอยู่ในระดับรุนแรงน้อยและควรค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ได้แก่:

  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • บวมที่หน้าและขาส่วนล่าง
  • ตะคริวที่กล้ามเนื้อ
  • ผื่น
  • ท้องเสีย

โดยการรักษาในระยะชักนำนี้จะใช้เวลาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการรักษาของคุณว่าเป็นอย่างไร ในบางกรณีคุณหรือบุตรหลานของคุณอาจได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลและรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ถ้าอาการดีขึ้นแล้ว

การรักษาระยะเข้มข้น (Consolidation)

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ถ้ายังมีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ในร่างกาย ดังนั้นเป้าหมายของการรักษาในระยะเข้มข้นคือเพื่อให้มั่นใจว่าเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ยังหลงเหลือถูกทำลาย

ในการรักษาผู้ป่วยจะได้รับยาเคมีบำบัดชนิดฉีดอย่างต่อเนื่อง มักจะทำการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ซึ่งหมายถึงคุณไม่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามคุณอาจจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลในช่วงเวลาสั้นๆ หากคุณมีอาการแย่ลงกะทันหัน หรือมีการติดเชื้อเกิดขึ้น

การรักษาระยะเข้มข้นนี้จะใช้เวลาหลายเดือน 

การรักษาระยะต่อเนื่อง (Maintenance)

การรักษาในระยะต่อเนื่องมีเป้าหมายเพื่อให้มั่นใจว่าในอนาคตโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะไม่กลับมาเป็นซ้ำ ผู้ป่วยจะได้รับยาเคมีบำบัดชนิดเม็ดอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการตรวจร่างกายเป็นประจำเพื่อติดตามประสิทธิภาพของการรักษา

การรักษาในระยะต่อเนื่องมักใช้เวลาถึง 2 ปี

การรักษาอื่นๆ

นอกจากการใช้ยาเคมีบำบัดและยา imatinib แล้ว ยังมีการรักษาอื่นๆ ที่อาจถูกใช้ได้ในบางสถานการณ์ รายละเอียดดังนี้

ยา ดาซาทินิบ (Dasatinib)

ยา dasatinib เป็นยาใหม่สำหรับรักษาโรคมะเร็งเอแอลแอลชนิด Philadelphia chromosome ให้ผลบวก แต่จะให้ยานี้เมื่อการรักษาอื่นไม่ประสบผลสำเร็จ

ยา dasatinib จะยับยั้งโปรตีนที่ชื่อว่า tyrosine kinase ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นการเติบโตของเซลล์มะเร็ง

ยา dasatinib ไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันให้หายขาดได้ แต่สามารถชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ ช่วยบรรเทาอาการและช่วยให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้น

การใช้รังสีรักษา (radiotherapy)

การใช้รังสีรักษาเป็นการใช้รังสีปริมาณสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง มีเหตุผลหลัก 2 ประการว่าทำไมจึงมักใช้รังสีรักษาในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน:

  • เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่โรคมะเร็งเอแอลแอลแพร่กระจายไปยังระบบประสาทหรือสมองแล้ว
  • เพื่อเตรียมร่างกายสำหรับการปลูกถ่ายไขกระดูก

ผลข้างเคียงของการรักษาด้วยรังสีรักษาทั้ง 2 ชนิด ได้แก่:

  • ผมร่วง
  • คลื่นไส้
  • อ่อนเพลีย

ผลข้างเคียงที่กล่าวข้างต้นควรจะดีขึ้นเมื่อเสร็จสิ้นการรักษาด้วยรังสีรักษาแล้ว อย่างไรก็ตามผิวหนังของคุณอาจมีความไวต่อแสงมากกว่าปกติเป็นเวลาอีกหลายเดือนหลังการรักษาเสร็จสิ้น ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการอาบแดด หรือสัมผัสกับแสงเทียมที่คล้ายการอาบแดดเป็นเวลาหลายเดือน

เด็กหลายๆ คนที่รักษาด้วยรังสีรักษาจะถูกจำกัดการเจริญเติบโตทางกายภาพระหว่างช่วงเป็นวัยรุ่น

มีผู้ป่วยจำนวนเล็กน้อยเป็นต้อกระจกหลังรักษาด้วยรังสีรักษาผ่านไปหลายปี ต้อกระจกคือโรคที่เลนส์แก้วตามีความขุ่นมัว ทำให้มองภาพไม่ชัด ตาพร่ามัว โรคต้อกระจกมักรักษาหายได้ด้วยการผ่าตัด

การปลูกถ่ายไขกระดูกและการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์

หากคุณหรือบุตรหลานของคุณไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ทางเลือกในการรักษาอื่นที่เป็นไปได้คือ การปลูกถ่ายไขกระดูก หรือ การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์

การปลูกถ่ายไขกระดูกจะมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงถ้าผู้บริจาคมีลักษณะเนื้อเยื่อคล้ายกับคุณ ซึ่งผู้บริจาคที่ดีที่สุดมักเป็นพี่ชายน้องชาย หรือพี่สาวน้องสาว

ก่อนการปลูกถ่าย ผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายจำเป็นต้องได้รับยาเคมีบำบัดและรังสีรักษาที่ขนาดสูง เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย

การรักษานี้ทำให้ร่างกายมีความเครียดสูง ซึ่งการปลูกถ่ายนี้จะได้ผลสำเร็จดีเมื่อรักษาในผู้ป่วยเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ที่สุขภาพแข็งแรงและมีผู้บริจาคที่เหมาะสม เช่น พี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคมะเร็งเอแอลแอล

ภูมิคุ้มกันอ่อนแอคือภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวบางราย

สาเหตุของการมีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอมาจาก 2 สาเหตุ ได้แก่:

  • การขาดเซลล์เม็ดเลือดขาวที่สมบูรณ์ ซึ่งหมายถึงระบบภูมิคุ้มกันจะมีความสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้น้อย
  • ยาหลายชนิดที่ใช้รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันจะไปทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง

เมื่อระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ คุณจะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และการติดเชื้อใดๆ ที่คุณเป็น จะเพิ่มโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง

คุณอาจได้รับคำแนะนำให้รับประทานยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ) เป็นประจำเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หากมีอาการของการติดเชื้อเกิดขึ้น คุณต้องรีบแจ้งแพทย์ทราบทันที เพราะอาจต้องรักษาทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง

อาการของการติดเชื้อ ได้แก่:

  • มีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ท้องเสีย
  • อ่อนเพลีย

ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยติดเชื้อ แม้ว่าจะเป็นการติดเชื้อที่คุณเคยมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้นแล้ว เช่น อีสุกอีใส หรือ โรคหัด เพราะภูมิคุ้มกันที่คุณเคยมีในอดีตจะมีระดับต่ำลงในขณะนี้

อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือคุณยังคงต้องออกนอกบ้านเป็นปกติ เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวออกกำลังกายและเพื่อสุขภาพจิตที่ดี แต่ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีคนอยู่มากๆ และหลีกเลี่ยงการใช้รถโดยสารสาธารณะในชั่วโมงเร่งด่วน

นอกจากนี้ต้องแน่ใจว่าคุณได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วน ซึ่งแพทย์หรือทีมที่ดูแลคุณสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนได้ คุณจะไม่สามารถฉีดวัคซีนชนิดเชื้อเป็นได้ ซึ่งได้แก่

  • วัคซีน หัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR vaccine)
  • วัคซีนโปลิโอ
  • วัคซีนไทฟอยด์ชนิดให้ทางปาก
  • วัคซีนบีซีจี (เพื่อป้องกันการติดเชื้อวัคโรค)
  • วัคซีนไข้เหลือง (yellow fever vaccine)

ภาวะเลือดออก

หากคุณป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน คุณจะมีเลือดออกและมีรอกฟกช้ำได้ง่ายกว่าปกติ เพราะร่างกายของคุณมีปริมาณเกร็ดเลือดต่ำกว่าปกติ (เกร็ดเลือดคือเซลล์ที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด ช่วยให้เลือดหยุดไหล) ซึ่งภาวะเลือดออกที่เกิดขึ้นอาจออกในปริมาณมากได้

ภาวะเลือดออกสามารถเกิดขึ้นได้ที่:

  • ภายในกะโหลกศีรษะ (intracranial haemorrhage)
  • ภายในปอด (pulmonary haemorrhage)
  • ภายในกระเพาะอาหาร (gastrointestinal haemorrhage)

อาการของภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ ได้แก่:

  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • คอแข็ง
  • อาเจียน
  • มีการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกตัว เช่น รู้สึกมึนงง สับสน

อาการที่พบบ่อยของภาวะเลือดออกในปอด ได้แก่:

  • ไอเป็นเลือดออกจากจมูกและปาก
  • หายใจลำบาก
  • ผิวหนังสีเขียว (cyanosis)

อาการหลัก 2 อาการที่พบบ่อยของภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร (ทางเดินอาหาร) ได้แก่:

  • อาเจียนเป็นเลือด
  • อุจจาระมีสีเข้มมาก หรือคล้ายน้ำมันดิน

ภาวะเลือดออกทั้ง 3 ชนิดที่กล่าวข้างต้นคือภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที สามารถโทรเรียกรถพยาบาลได้ที่ 1669 หากสงสัยว่าตัวคุณเอง หรือบุตรหลานของคุณมีภาวะเลือดออก

ภาวะมีบุตรยาก (Infertility)

การรักษาหลายๆ วิธีทีใช้เพื่อรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันสามารถทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากเกิดขึ้นได้ ซึ่งมักเป็นเพียงผลชั่วคราว แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจเป็นอย่างถาวร

ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงอย่างมากต่อการเกิดภาวะมีบุตรยากคือผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัดและรังสีรักษาในปริมาณสูง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือสเต็มเซลล์

ในการป้องกันความเสี่ยงของการมีบุตรยากที่อาจเกิดขึ้นได้ คุณสามารถทำได้ก่อนเริ่มต้นรักษา ตัวอย่างเช่น ในผู้ชาย สามารถเก็บตัวอย่างอสุจิไว้ในธนาคารอสุจิล่วงหน้าก่อนรักษาโรคมะเร็ง สำหรับผู้หญิง ก็สามารถเก็บไข่ไว้ได้เช่นกัน ซึ่งสามารถนำมาใช้อีกครั้งภายหลังสิ้นสุดการรักษาแล้ว

ผลกระทบด้านจิตใจที่เกิดจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

การได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ในช่วงแรกจึงอาจเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยาก

สถานการณ์อาจเลวร้ายลงได้หากคุณกำลังคิดว่าโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวไม่น่าจะทำให้เกิดอาการอะไรได้ในขณะนี้ แต่ความจริงแล้วโรคนี้สามารถทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงกับร้ายกายได้ในอนาคต จะต้องรอเวลานานหลายปีกว่าที่จะรู้ว่าโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมีการพัฒนาไปอย่างไรบ้าง ซึ่งจะทำให้รู้สึกเครียดอย่างมาก วิตกกังวล และมีภาวะซึมเศร้าได้

เมื่อคุณได้รับการวินิจฉัยโรคเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ขอแนะนำให้รับคำปรึกษาจากผู้ให้คำปรึกษา หรือ จิตแพทย์ ซึ่งอาจช่วยให้คุณรับมือกับความรู้สึกซึมเศร้า และวิตกกังวลได้

ยาต้านซึมเศร้า หรือยาที่จะช่วยลดความรู้สึกวิตกกังวลอาจช่วยให้คุณรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวนี้ได้ดีขึ้น

คุณอาจพบประโยชน์จากการพูดคุยกับผู้อื่นที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเช่นเดียวกับคุณ แพทย์และทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลคุณสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มผู้ป่วยหรือกลุ่มสนับสนุนผู้ป่วยที่อยู่ใกล้ตัวคุณได้

https://www.nhsinform.scot/illnesses-and-conditions/cancer/cancer-types-in-adults/acute-lymphoblastic-leukaemia#introduction


11 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Acute Lymphoblastic Leukemia (ALL): Practice Essentials, Pathophysiology, Etiology. Medscape. (https://emedicine.medscape.com/article/207631-overview)
Acute Lymphoblastic Leukemia (ALL): Symptoms, Diagnosis, Treatment, Prognosis, and Survival Rate. WebMD. (https://www.webmd.com/cancer/lymphoma/acute-lymphoblastic-leukemia#1)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป