มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดซีแอลแอล คือ สภาวะที่ร่างกายมีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ผิดปกติออกมาในปริมาณมากเกินไป ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ต่อมน้ำเหลืองโต มีเลือดออกง่าย เลือดออกผิดปกติ อ่อนเพลียเรื้อรัง น้ำหนักลด ซึ่งโรคนี้หากเป็นในระยะแรกอาจไม่ทำการรักษา แต่ให้ติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง และจะเริ่มการรักษาเมื่อโรคเริ่มเป็นมากขึ้นแล้ว โดยการรักษาหลักคือ การให้ยาเคมีบำบัด บางรายอาจมีการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ และอาจมีการรักษาอื่นๆ ร่วมด้วยได้
บทนำ
มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดซีแอลแอล (Chronic lymphocytic leukaemia) คือมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดกับเม็ดเลือดขาว และโรคมีแนวโน้มค่อยๆ ดำเนินไปอย่างช้าๆ เป็นเวลาหลายปี
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
โรคมะเร็งชนิดนี้มักพบในคนอายุมากกว่า 60 ปี และพบได้น้อยในผู้ที่อายุน้อยกว่า 40 และมักไม่พบมะเร็งชนิดนี้ในเด็ก
ในโรคมะเร็งซีแอลแอลนี้ เนื้อเยื่อฟองน้ำที่อยู่ภายในกระดูก หรือเรียกว่าไขกระดูก มีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวชื่อว่า ลิมโฟไซต์ (lymphocytes) ออกมามากเกินไป ซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวที่ยังไม่โตเต็มที่และไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น
เมื่อเวลาผ่านไปจะก่อให้เกิดปัญหากับร่างกายหลายอย่าง เช่น มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น อ่อนเพลียเรื้อรัง ต่อมน้ำเหลืองที่คอ รักแร้ หรือขาหนีบโต และมีเลือดออกผิดปกติ หรือมีรอยช้ำที่ผิวหนัง
มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังซีแอลแอลแตกต่างจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดอื่นๆ ได้แก่ chronic myeloid leukaemia, acute lymphoblastic leukaemia และ acute myeloid leukaemia
อาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังซีแอลแอล
มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังซีแอลแอลมักไม่ก่อให้เกิดอาการในช่วงแรก และอาจถูกตรวจพบได้เมื่อมีการตรวจเลือดด้วยเหตุผลอื่นๆ
เมื่อมีอาการเกิดขึ้น อาการจะได้แก่:
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- ติดเชื้อบ่อยครั้ง
- โลหิตจาง-อ่อนเพลียเรื้อรัง, หายใจหอบเหนื่อย และผิวหนังซีด
- เลือดออก หรือมีรอยฟกช้ำง่ายกว่าปกติ
- มีไข้
- มีเหงื่อออกตอนกลางคืน
- ต่อมน้ำเหลืองที่คอ รักแร้ หรือขาหนีบโต
- หน้าท้องบวมและรู้สึกไม่สบายท้อง
- น้ำหนักลด
คุณควรเข้าพบแพทย์เมื่อมีอาการดังกล่าวแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีความกังวลเกี่ยวกับอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยอาการเหล่านี้สามารถมีสาเหตุมาจากโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่มะเร็งก็ได้ แต่จะถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่สุดที่คุณควรเข้ารับการตรวจโดยแพทย์
การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังซีแอลแอล
เนื่องจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังซีแอลแอลเป็นมะเร็งที่มีการดำเนินของโรคช้า และมักไม่มีอาการในช่วงแรก คุณจึงอาจไม่จำเป็นต้องรักษาอย่างทันทีทันใด
เมื่อคุณได้รับการตรวจพบมะเร็งชนิดนี้ในระยะเริ่มต้น คุณจะได้รับการนัดหมายเพื่อมาตรวจติดตามอาการเป็นประจำในช่วงเดือน หรือเป็นปี เพื่อดูว่าอาการแย่ลงหรือไม่
หากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังซีแอลแอลก่อให้เกิดอาการแล้วหรือไม่ได้รับการวินิจฉัยเจอตั้งแต่ระยะแรกของโรค การรักษาหลักที่จะได้รับคือ:
- การให้ยาเคมีบำบัด-คือการให้ยาในรูปแบบเม็ดหรือให้ทางหลอดเลือดดำเพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็ง
- การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ หรือปลูกถ่ายไขกระดูก-คือการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ (เซลล์ต้นกำเนิด) เข้าไปในร่างกายคุณเพื่อให้ร่างกายสามารถผลิตเม็ดเลือดขาวสุขภาพดีออกมาได้
โดยทั่วไปการรักษาไม่ทำให้โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอลหายขาด แต่จะช่วยชะลอการดำเนินไปของโรค และช่วยให้ผู้ป่วยมีช่วงเวลาที่ไม่มีอาการ หากโรคมะเร็งกลับมาเป็นซ้ำก็จำเป็นต้องรักษาซ้ำใหม่อีกครั้ง
อนาคตของผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังซีแอลแอล
อนาคตของผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังซีแอลแอลจะขึ้นกับความรุนแรงของโรคขณะได้รับการวินิจฉัย, อายุของคุณขณะได้รับการวินิจฉัย และสภาวะสุขภาพโดยรวมของคุณ
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ผู้ป่วยที่อายุน้อย สุขภาพดี และได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังซีแอลแอลในระยะต้นมักมีอนาคตของโรคที่ดี
แม้ว่าโดยทั่วไปการรักษาจะไม่สามารถทำให้หายขาดได้ แต่การรักษาจะช่วยควบคุมโรคได้เป็นเวลาหลายปี
ภาพรวมของผู้ป่วยคือ ประมาณ 3 ใน 4 รายที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังซีแอลแอลจะมีชีวิตได้อีกอย่างน้อย 5 ปีหลังการวินิจฉัย แต่ความจริงแล้วอาจมีชีวิตได้นานถึง 10 ปีหรือมากกว่านี้หากตรวจวินิจฉัยพบโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ไปจนถึงมีชีวิตอยู่ได้น้อยกว่า 1 ปี หากวินิจฉัยพบว่าโรคมีความรุนแรงแล้ว
สาเหตุของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังซีแอลแอล
ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังซีแอลแอลที่แน่ชัด ยังไม่มีข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างรังสีหรือการสัมผัสกับสารเคมี อาหาร หรือการติดเชื้อใดๆ กับการเกิดโรคมะเร็งซีแอลแอล และมะเร็งชนิดนี้ไม่สามารถแพร่ไปยังผู้อื่น หรือติดจากผู้อื่นได้
อย่างไรก็ตามการมียีนบางชนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังซีแอลแอล คุณอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยหากมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคนี้ อย่างไรก็ตามความเสี่ยงก็ไม่ได้อยู่ในระดับสูงมากนัก
การวินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังซีแอลแอล
ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังซีแอลแอลมักถูกตรวจพบระหว่างการตรวจเลือดด้วยเหตุผลอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม คุณควรเข้าพบแพทย์ หากคุณมีความกังวลเกี่ยวกับอาการของโรคมะเร็งซีแอลแอล เช่น อ่อนเพลียเรื้อรัง มีเลือดออกผิดปกติ หรือมีรอยฟกช้ำผิดปกติตามร่างกาย น้ำลดหนักโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีเหงื่อออกตอนกลางคืน
โดยแพทย์อาจกระทำดังต่อไปนี้:
- สอบถามเกี่ยวกับอาการของคุณ ประวัติทางการแพทย์ และประวัติครอบครัวของคุณ
- ตรวจร่างกายเพื่อดูว่ามีปัญหาใดๆ หรือไม่ เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต หรือม้ามโต เป็นต้น
- สั่งตรวจเลือดให้กับคุณ
หากแพทย์พิจารณาแล้ว่าคุณอาจเป็นโรคมะเร็งซีแอลแอล แพทย์จะสงต่อคุณไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเลือด (แพทย์สาขาโลหิตวิทยา) เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติมต่อไป
การทดสอบ/การตรวจที่แพทย์อาจพิจารณาทำมีรายละเอียดดังนี้:
การตรวจเลือด (blood tests)
การตรวจหลักที่ใช้เพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็งซีแอลแอล คือการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (full blood count)
เลือดที่เจาะออกไปแล้วจะถูกตรวจหาจำนวนและรูปร่างลักษณะของเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่างๆ ในห้องปฏิบัติการ
หากผลการตรวจพบปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวผิดปกติมีปริมาณสูง (เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์) อาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งซีแอลแอล ซึ่งการตรวจรายละเอียดของเซลล์เม็ดเลือดขาวจะใช้เพื่อยืนยันการวินิจฉัย
การเอกซเรย์ และ การสแกน (X-rays and scans)
คุณอาจได้รับการตรวจ:
- เอกซเรย์ปอด (chest X-ray)
- อัลตราซาวด์ช่องท้อง
- ซีที สแกน/การสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computerised tomography (CT) scan)
การทดสอบเหล่านี้ใช้ดูว่าคุณมีปัญหาที่เกิดจากโรคมะเร็งซีแอลแอลหรือไม่ เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต หรือม้ามโต และช่วยในการแยกโรคอื่นๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการด้วย
การเจาะไขกระดูก (Bone marrow biopsy)
บางครั้งแพทย์โลหิตวิทยาอาจแนะนำให้เจาะตรวจไขกระดูก (bone marrow biopsy) และนำตัวอย่างไขกระดูกที่เจาะออกมาไปตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์เพื่อดูว่ามีเซลล์มะเร็งอยู่หรือไม่
ตัวอย่างของไขกระดูกจะถูกดูดออกมาด้วยการใช้เข็มเจาะดูดเข้าไปที่กระดูกส่วนสะโพก โดยจะมีการใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อทำให้บริเวณที่เจาะเข็มเข้าไปมีอาการชา อย่างไรก็ตามคุณอาจรู้สึกไม่สบายตัวระหว่างการเจาะไขกระดูก
ในขั้นตอนการเจาะไขกระดูกจะใช้เวลาประมาณ 15 นาที และคุณไม่จำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล คุณอาจมีอาการฟกช้ำที่ผิวหนัง และมีอาการไม่สบายตัวเป็นเวลาไม่กี่วันหลังจากนั้น
การตัดชิ้นเนื้อจากต่อมน้ำเหลืองส่งตรวจ (Lymph node biopsy)
ในผู้ป่วยบางรายจะมีการตัดชิ้นเนื้อจากต่อมน้ำเหลืองที่โตอยู่ออกเพื่อช่วยในการยืนยันการวินิจฉัยโรคมะเร็งซีแอลแอล เราเรียกว่า Lymph node biopsy
การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองออกนี้เป็นการผ่าตัดเล็กซึ่งจะใช้ยาชาเฉพาะที่หรือใช้ยาสลบ และไม่จำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
ภายหลังการผ่าตัดจะมีแผลขนาดเล็กซึ่งแพทย์จะทำการเย็บปิดให้เรียบร้อย
การตรวจทางพันธุกรรม (Genetic tests)
ในการตรวจทางพันธุกรรมจะตรวจโดยใช้ตัวอย่างจากเลือดและไขกระดูกเพื่อดูว่ามียีนผิดปกติในเซลล์มะเร็งหรือไม่
การวิเคราะห์ว่ามียีนผิดปกติในเซลล์มะเร็งเป็นอะไรจะช่วยให้แพทย์ตัดสินใจว่าควรเริ่มการรักษาเมื่อใด และการรักษาใดมีความเหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ
บางการรักษาสำหรับโรคมะเร็งซีแอลแอลจะไม่มีประสิทธิภาพในผู้ป่วยที่มียีนผิดปกติจำเพาะบางอย่าง
การรักษาโรคมะเร็งซีแอลแอล
การรักษาโรคมะเร็งซีแอลแอลส่วนใหญ่แล้วจะขึ้นกับระยะของโรคขณะได้รับการวินิจฉัย
หากคุณเป็นโรคมะเร็งซีแอลแอลในระยะเริ่มต้น คุณอาจเพียงแค่ติดตามอาการในช่วงแรก แต่ถ้าโรคมีความรุนแรงมากขึ้น การรักษาหลักที่ใช้คือการให้ยาเคมีบำบัด
การรักษาที่ผู้ป่วยได้รับจะช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมโรคมะเร็งซีแอลแอลได้เป็นเวลาหลายปี
เมื่อได้รับการรักษาอาการของโรคจะเข้าสู่ระยะสงบในช่วงแรก (remission) แต่มักจะมีอาการกลับมาเป็นอีก (relapse) ในเวลาไม่กี่เดือน หรือไม่กี่ปีต่อจากนั้น ซึ่งจำเป็นต้องทำการรักษาใหม่อีกครั้ง
ระยะของโรคมะเร็งซีแอลแอล
แพทย์จะใช้ระยะของโรคมะเร็งซีแอลแอลเพื่อบ่งบอกว่าโรคมีการดำเนินไปมากน้อยเพียงใด และช่วยในการตัดสินใจว่าควรเริ่มการรักษาเมื่อใด
ระยะของโรคมะเร็งซีแอลแอลมีอยู่ 3 ระยะหลัก:
- ระยะ A-คุณมีต่อมน้ำเหลืองโตน้อยกว่า 3 ตำแหน่ง (เช่น ที่คอ รักแร้ หรือขาหนีบ) และมีระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวสูง
- ระยะ B-คุณมีต่อมน้ำเหลืองโตตั้งแต่ 3 ตำแหน่งขึ้นไป และมีระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวสูง
- ระยะ C-คุณมีต่อมน้ำเหลืองโต หรือ ม้ามโต และมีระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวสูง ร่วมกับเซลล์เม็ดเลือดแดงต่ำ และเกร็ดเลือดต่ำ
หากตรวจพบว่าเป็นโรคในระยะ B และ C มักให้การรักษาทันที ส่วนระยะ A โดยทั่วไปจะรักษาเมื่ออาการแย่ลงอย่างรวดเร็วหรือผู้ป่วยเริ่มมีอาการ
การติดตามอาการในผู้ป่วยมะเร็งซีแอลแอลระยะแรก
ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งซีแอลแอลแต่ไม่มีอาการใดๆ อาจไม่จำเป็นต้องทำการรักษา
สาเหตุเป็นเพราะ:
- โรคมะเร็งซีแอลแอลมีการดำเนินของโรคอย่างช้าๆ และอาจไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ เป็นเวลาหลายปี
- ถึงจะรักษาเร็วก็ไม่ได้มีประโยชน์มากกว่า
- การรักษาจะทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างชัดเจน
ดังนั้นผู้ป่วยมักได้รับการตรวจติดตามอาการและตรวจเลือดเพื่อดูว่าโรคมีการดำเนินไปอย่างไร เพื่อพิจารณาว่าจำเป็นต้องเริ่มรักษาแล้วหรือยัง
การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดมักแนะนำในผู้ที่มีอาการแล้วเท่านั้น หรือผลการตรวจพบว่าโรคมีการดำเนินไปในทิศทางแย่ลง
ยาเคมีบำบัดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งซีแอลแอลระยะรุนแรง
ผู้ป่วยมะเร็งซีแอลแอลแม้ว่าในตอนแรกจะไม่ได้รับการรักษา แต่ในที่สุดก็จะต้องได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ซึ่งจะเป็นการใช้ยาเพื่อควบคุมโรคมะเร็ง
ยาสำหรับรักษามะเร็งซีแอลแอลมีอยู่หลายชนิด แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะใช้ยาหลัก 3 ชนิดในแต่ละรอบการรักษา 28 วัน
ยา 3 ชนิดดังกล่าว คือ:
- ฟลูดาราบีน (Fludarabine)-โดยทั่วไปจะรับประทานเป็นยาเม็ดเป็นเวลา 3-5 วันแรกของแต่ละรอบการรักษา
- ไซโคลฟอสฟาไมด์ (Cyclophosphamide)-โดยทั่วไปจะรับประทานเป็นยาเม็ดเป็นเวลา 3-5 วันแรกของแต่ละรอบการรักษาเช่นเดียวกัน
- ริทูซิแมบ (Rituximab)-ยานี้เป็นยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ โดยจะให้อย่างช้าๆ ทางหลอดเลือดดำ (intravenous infusion) เป็นเวลาไม่กี่ชั่วโมง โดยจะให้ยานี้เมื่อเริ่มต้นรอบการรักษาแต่ละรอบ
ยา fludarabine และยา cyclophosphamide สามารถรับประทานที่บ้านได้ แต่ยา rituximab จะต้องมารับยาที่โรงพยาบาล และอาจจำเป็นต้องพักค้างคืนที่โรงพยาบาล
มียาอีกหลายชนิดที่ใช้สำหรับรักษามะเร็งซีแอลแอลได้ ซึ่งคุณอาจไม่ได้รับยาข้างต้นก็ได้ หรือได้รับยาอื่นเพราะใช้ยาข้างต้นแล้วไม่ได้ผล หรือรักษาไปแล้วแต่มะเร็งกลับมาเป็นซ้ำ
ยาอื่นๆ ที่ใช้สำหรับรักษามะเร็งซีแอลแอลได้คือ bendamustine, chlorambucil, ibrutinib, idelalisib, obinutuzumab, ofatumumab และ prednisolone (ยาสเตียรอยด์)
ผลข้างเคียงของการรักษาด้วยยา
ยาที่ใช้ในการรักษามะเร็งซีแอลแอลสามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับผู้ป่วยได้ ได้แก่:
- อ่อนเพลียเรื้อรัง
- รู้สึกคลื่นไส้
- มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
- เลือดออกง่าย หรือฟกช้ำง่าย
- โลหิตจาง-มีอาการหายใจหอบเหนื่อย อ่อนเพลีย ผิวหนังซีด
- ผมร่วง หรือผมบาง
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ปฏิกิริยาการแพ้
ส่วนใหญ่แล้วผลข้างเคียงจะดีขึ้นเมื่อการรักษาสิ้นสุดลง หากมีผลข้างเคียงใดๆ เกิดขึ้น อย่าลืมแจ้งให้ทีมแพทย์ที่ดูแลคุณทราบ เพราะบางอาการสามารถใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการได้
การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์หรือไขกระดูก (Stem cell or bone marrow transplants)
การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์หรือการปลูกถ่ายไขกระดูกอาจใช้เพื่อรักษาโดยหวังผลให้หายขาด หรือเพื่อควบคุมอาการได้เป็นระยะเวลานาน
สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิด คือเซลล์ที่ผลิตโดยเนื้อเยื่อฟองน้ำที่อยู่ตรงกลางของกระดูก (ไขกระดูก) ซึ่งตัวเซลล์ต้นกำเนิดนี้เองสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่างๆ ได้ รวมถึงเซลล์เม็ดเลือดขาวด้วย
การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จะมีกระบวนการที่เกี่ยวข้องดังนี้:
- ผู้ป่วยจะได้รับยาเคมีบำบัดขนาดสูงร่วมกับรังสีรักษาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย
- นำสเต็มเซลล์มาจากเลือดของผู้บริจาค หรือมาจากไขกระดูกของผู้บริจาค-ซึ่งผู้บริจาคที่เหมาะสมที่สุดคือบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับคุณ เช่น พี่น้อง
- ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผู้บริจาคเข้าสู่ร่างกายโดยตรงผ่านทางหลอดเลือดดำ
การรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์นี้คือการรักษาเดียวที่มีแนวโน้มจะทำให้โรคมะเร็งซีแอลแอลหายขาด แต่ไม่ได้ทำการรักษาด้วยวิธีนี้บ่อยนัก เพราะการรักษานี้เป็นการรักษาเข้มข้น ผู้ป่วยจำนวนมากที่เป็นมะเร็งซีแอลแอลมีอายุมากแล้ว ร่างกายไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะได้รับประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการรักษา
ในการรักษาช่วงเริ่มต้นด้วยยาเคมีบำบัดและรังสีรักษาจะทำให้ร่างกายมีความเครียดเกิดขึ้นและก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รบกวนผู้ป่วยได้
ในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาร้ายแรงหลังการปลูกถ่าย เช่น ภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต่อต้านร่างกาย (Graft versus host disease) คือ เซลล์ที่ทำการปลูกถ่ายโจมตีเซลล์อื่นๆ ในร่างกาย และร่างกายเกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ
การรักษามะเร็งซีแอลแอลวิธีอื่นๆ
มีการรักษาอื่นๆ หลายวิธีที่บางครั้งอาจใช้เพื่อรักษาอาการ/ปัญหาบางอย่างที่เกิดจากโรคมะเร็งซีแอลแอล โดยเฉพาะหากคุณไม่สามารถใช้ยาเคมีบำบัดได้ หรือใช้ยาเคมีบำบัดแล้วแต่ไม่ได้ผล
การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ได้แก่:
- การให้รังสีรักษาเพื่อลดขนาดต่อมน้ำเหลืองที่โต หรือเพื่อลดขนาดม้ามที่โต
- การผ่าตัดม้ามที่โตออก
- การให้ยาปฏิชีวนะ, ยาต้านเชื้อยา, ยาต้านไวรัส เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อต่างๆ ระหว่างการรักษา
- การให้เลือด เพื่อเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดงและเกร็ดเลือดหากคุณมีอาการโลหิตจางอย่างรุนแรง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับเลือดออกและรอยฟกช้ำ
- การบำบัดด้วยการให้สารภูมิคุ้มกันทดแทน (immunoglobulin replacement therapy)-การให้สารภูมิคุ้มกันที่ได้จากเลือดบริจาคจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้
- การให้ยาฉีด granulocyte-colony stimulating factor (G-CSF) เพื่อช่วยเพิ่มจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว
หากคุณมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคมะเร็งซีแอลแอล คุณจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติม
การตัดสินใจไม่รับการรักษา
เนื่องจากการรักษาโรคมะเร็งซีแอลแอลหลายวิธีจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาจกระทบต่อคุณภาพชีวิต ดังนั้นคุณอาจตัดสินใจไม่รับการรักษาบางชนิดได้
แน่นอนว่าการการตัดสินใจไม่รับการรักษาคุณสามารถทำได้ และทีมแพทย์จะเคารพการตัดสินใจของคุณ
คุณไม่จำเป็นต้องรีบตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษา และก่อนการตัดสินใจใดๆ คุณสามารถขอคำปรึกษาหรือพูดคุยกับแพทย์ คู่ของคุณ ครอบครัว และเพื่อนก่อนได้
การรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวดและการดูแลทางการพยาบาลยังคงมีพร้อมเมื่อคุณต้องการ
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคมะเร็งซีแอลแอล
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังซีแอลแอลสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ในอนาคต
ปัญหาหลักๆ บางประการที่ผู้ป่วยมะเร็งซีแอลแอลสามารถพบได้ มีรายละเอียดดังนี้
การติดเชื้อ
ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอลมักมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอกว่าคนปกติ และจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้นเพราะร่างกายขาดเซลล์เม็ดเลือดขาวสุขภาพดีที่มีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค
การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดสามารถทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง
หากคุณเป็นโรคมะเร็งซีแอลแอล การกระทำดังต่อไปนี้ถือเป็นความคิดที่ดี:
- แจ้งให้ทีมแพทย์ทราบทันทีที่คุณมีอาการใดๆ ที่อาจเป็นอาการของการติดเชื้อ เช่น มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ท้องเสีย หรือปวดศีรษะ
- ฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน-คุณสามารถขอรับคำแนะนำในการฉีดวัคซีนเพิ่มเติมได้จากแพทย์หรือทีมแพทย์ที่ดูแลคุณ เพราะวัคซีนบางชนิดอาจไม่ปลอดภัยหากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- ให้หลีกเลี่ยงการพบปะกับคนที่มีการติดเชื้ออยู่ แม้ว่าจะเป็นโรคที่คุณเคยมีภูมิคุ้มกันแล้วก็ตาม เช่น อีสุกอีใส
คุณอาจได้รับการสั่งยาปฏิชีวนะเป็นประจำเพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ
Richter's syndrome
1 ใน 20 คนของผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอลจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นโรคที่มีความคล้ายคลึงกับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินชนิดที่มีความรุนแรง (aggressive form of non-Hodgkin lymphoma) เราเรียกสภาวะนี้ว่า Richter's transformation หรือ Richter's syndrome
อาการของ Richter's syndrome ได้แก่:
- ต่อมน้ำเหลืองโตกะทันหัน
- มีไข้
- เหงื่อออกตอนกลางคืน
- น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ
- ปวดท้อง
Richter's syndrome มักรักษาโดยการใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับยาอื่นที่มีประสิทธิภาพสูง
โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตกซึ่งมีสาเหตุมาจากภูมิคุ้มกันตนเอง (Autoimmune haemolytic anaemia)
ประมาณ 1 ใน 10 ของผู้ป่วยมะเร็งซีแอลแอลจะมีอาการของโรคโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตกซึ่งมีสาเหตุมาจากภูมิคุ้มกันตนเอง (Autoimmune haemolytic anaemia)
สภาวะนี้คือระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้าโจมตีและทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงของตนเองทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตก ทำให้เป็นโลหิตจางรุนแรง มีอาการหายใจหอบเหนื่อย และเหนื่อยง่าย
ภาวะนี้มักรักษาด้วยการใช้ยาสเตียรอยด์ (steroid)
ผลกระทบด้านจิตใจ
เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งซีแอลแอลจะส่งผลให้รู้สึกวิตกกังวล เป็นทุกข์ได้ และยากที่จะยอมรับได้ในช่วงแรก โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่าโรคนี้ไม่สามารถรักษาหายได้ และคุณยังอาจได้รับคำแนะนำให้รอจนกว่าอาการจะแย่ลงจึงจะเริ่มการรักษา
การรอเป็นปีๆ เพื่อดูว่าโรคมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างจะก่อให้เกิดความเครียด ทำให้รู้สึกวิตกกังวลหรือเป็นซึมเศร้าได้ ดังนั้นให้พูดคุยกับแพทย์หรือทีมที่ดูแลคุณหากคุณรู้สึกว่าอาการเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหารบกวนชีวิตคุณและคุณไม่สามารถจัดการกับมันได้
คุณอาจพบประโยชน์จากการพูดคุยกับผู้ป่วยคนอื่นที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเหมือนกัน ซึ่งแพทย์หรือทีมที่ดูแลคุณจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มสนับสนุนที่อยู่ในชุมชนใกล้เคียงกับที่คุณอาศัยอยู่
สาเหตุของโรคมะเร็งซีแอลแอล
ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด อย่างไรก็ตามมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังซีแอลแอล
ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังซีแอลแอล ได้แก่:
- มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้
- เป็นชาวยุโรป, แอฟริกา, ออสเตรเลีย
- ป่วยเป็นโรคบางชนิด
- เป็นเพศชาย
รายละเอียดของปัจจัยเสี่ยงต่างๆ มีดังนี้
ประวัติครอบครัว
ในบางกรณีพบว่าโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังซีแอลแอลเป็นโรคที่พบได้ในคนที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้มาก่อน ซึ่งคาดว่าเกิดจากการถ่ายทอดยีนกลายพันธุ์ ทำให้เพิ่มโอกาสที่จะเกิดโรคนี้ในครอบครัวเดียวกัน หรือกล่าวอีกอย่างก็คืออาจมียีนบางอย่างที่พบในครอบครัวคุณ ซึ่งส่งผลให้มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนอื่นๆ
อย่างไรก็ตามยังจำเป็นต้องทำการวิจัยเพิ่มเติม แต่การมีพ่อแม่ หรือพี่น้อง เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอลจะทำให้คุณมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
เชื้อชาติ
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอลพบได้บ่อยในคนยุโรป แอฟริกา และออสเตรเลีย
โรคนี้พบได้น้อยในคนจีน ญี่ปุ่น และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นโรคที่คนผิวขาวเป็นมากกว่าคนผิวดำ ซึ่งยังไม่ทราบว่าเพราะอะไรจึงพบโรคนี้ได้เฉพาะบางเชื้อชาติในขณะที่บางเชื้อชาติไม่พบ
โรคทางสุขภาพอื่นๆ
ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่าการป่วยเป็นโรคบางชนิดส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอลสูงขึ้นเล็กน้อย
โรคเหล่านั้น ได้แก่:
- โรคปอดอักเสบติดเชื้อ (ปอดบวม)
- ไซนัสอักเสบ
- งูสวัด
- โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตกซึ่งมีสาเหตุมาจากภูมิคุ้มกันตนเอง (Autoimmune haemolytic anaemia)
- โรคเข่าเสื่อมเรื้อรัง
- ต่อมลูกหมากอักเสบ
อย่างไรก็ตามแทนที่จะเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังซีแอลแอล โรคที่กล่าวถึงบางโรคนี้อาจเกิดขึ้นจากการมีระดับภูมิคุ้มกันต่ำระหว่างเป็นโรคมะเร็งซีแอลแอลในระยะแรกได้เช่นกัน
การมีระดับภูมิคุ้มกันต่ำลง เช่น เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือเป็นโรคเอดส์ หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกันเพราะได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวซีแอลแอลได้
การสัมผัสกับรังสี
การสัมผัสกับรังสีมีข้อมูลว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดอื่นๆ แต่ยังไม่มีข้อมูลความสัมพันธ์ว่าจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังซีแอลแอล
เพศและอายุ
ยังไม่ทราบเหตุผลที่แน่ชัด แต่พบว่าผู้ชายมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังซีแอลแอลมากกว่าผู้หญิง 2 เท่า และความเสี่ยงจะมากขึ้นถ้าอายุมากขึ้น