อาการแพ้อาหารเป็นปฏิกิริยาที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่ออาหารบางชนิดแบบผิดปกติ ทำให้มีอาการแพ้เกิดขึ้นเมื่อได้รับอาหารชนิดนั้นๆ โดยสามารถเกิดได้กับอาหารเกือบทุกชนิด
เราไม่อาจคาดเดาระดับความรุนแรงของอาการแพ้ได้เลย การเรียนรู้วิธีสังเกตอาการแพ้ วิธีหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ และการรักษาอาการแพ้อาหาร จะช่วยให้คุณรับมือกับโรคภูมิแพ้ชนิดนี้ได้อย่างถูกต้อง
ตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 4,643 บาท ลดสูงสุด 72%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
รู้จักกับอาการแพ้อาหาร
อาการแพ้อาหารมีตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง บางคนมีอาการแพ้อาหารเพียงเล็กน้อยในครั้งแรก แต่อาจพัฒนาเป็นอาการแพ้อาหารรุนแรงในครั้งถัดๆ ไปได้
อาการแพ้อาหารที่เกิดขึ้นอาจแสดงอาการทางระบบผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร ระบบหัวใจหลอดเลือด หรือระบบทางเดินหายใจ โดยมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างพร้อมกันก็ได้
ตัวอย่างอาการแพ้อาหาร
- ชา หรือคันที่ปาก ใบหู หรือในลำคอ
- มีผื่นคันเหมือนเป็นลมพิษ ในบางรายอาจมีผิวหนังแดง และรู้สึกคัน แต่ไม่มีผดผื่น
- บวมบริเวณใบหน้า รอบดวงตา ริมฝีปาก ลิ้น เพดานปาก และในลำคอ
- กลืนอาหารลำบาก
- หายใจลำบาก หายใจติดขัด
- วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม
- รู้สึกไม่สบาย อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
- ปวดบริเวณท้องน้อย หรือท้องเสีย
- มีอาการคล้ายเป็นไข้ละอองฟาง เช่น จาม หรือคันบริเวณดวงตา และเยื่อบุตา
ระยะเวลาในการแสดงอาการแพ้อาหาร
ส่วนใหญ่แล้วอาการแพ้อาหารจะเกิดขึ้นภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารนั้นๆ และบ่อยครั้งอาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาที
มีบางกรณีที่พบได้น้อยมากคือ อาจใช้เวลาถึง 4-6 ชั่วโมง หรือนานกว่านั้นกว่าจะมีอาการ ซึ่งการตอบสนองต่อการแพ้ที่ช้านี้มักพบได้ในเด็กที่มีอาการผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) จากอาการแพ้อาหาร
นอกจากนี้บางคนอาจมีปฏิกิริยาการแพ้อาหารที่ตอบสนองช้าแบบอื่น เช่น การแพ้โปรตีนในอาหารจนทำให้เกิดลำไส้อักเสบ (Food protein-induced enterocolitis syndrome)
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
โดยจะมีอาการทางระบบทางเดินอาหารที่รุนแรง เกิดขึ้นภายใน 2-6 ชั่วโมงหลังจากรับประทานนม ถั่วเหลือง ธัญพืช และเนื้อสัตว์บางชนิด พบได้บ่อยในเด็กทารกที่รับประทานอาหารเหล่านี้เป็นครั้งแรก หรือเด็กที่กำลังหย่านม
เด็กที่มีอาการแพ้อาหารแบบนี้อาจมีอาการอาเจียนซ้ำ หรือมีอาการท้องเสียปนเลือดด้วย ซึ่งจะทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ จึงถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
คันที่ปาก และลำคอ หลังกินผัก หรือผลไม้ดิบอาจไม่ใช้อาการแพ้อาหาร
บางคนที่มีอาการคันปาก และลำคอ หลังจากรับประทานผัก หรือผลไม้ดิบที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุก อาจไม่ใช่อาการแพ้ภายในช่องปากที่เกิดจากอาหาร แต่เป็นการแพ้เกสรของพืช ซึ่งสามารถถูกทำลายโดยความร้อน
ดังนั้นหากนำไปทำให้สุกโดยการผ่านความร้อนเสียก่อน ก็อาจรับประทานอาหารนั้นๆ ได้โดยไม่เกิดอาการแพ้ขึ้น
ปฎิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง
บางครั้งอาการแพ้อาหารก็อาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและรุนแรง หรือที่เรียกว่า “ภาวะแอนาฟิแล็กซิส (Anaphylaxis)" โดยเป็นอาการแพ้ที่ส่งผลต่อหลายๆ ระบบในร่างกายในร่างกายพร้อมๆ กัน
เริ่มแรกผู้ป่วยมักจะมีอาการคล้ายกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่อาจนำไปสู่อาการอื่นๆ ที่รุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ดังนี้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- หายใจลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ หายใจเสียงดังฟืดฟาด รวมทั้งมีอาการไอร่วมด้วย
- คอบวม หรือรู้สึกเหมือนมีก้อนบวมอยู่ในลำคอ ทำให้หายใจลำบาก
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- ความดันโลหิตลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดอาการมึนงง สับสน และวิงเวียนศีรษะ
- อยู่ๆ ก็รู้สึกวิตกกังวล และหวาดกลัวอย่างมาก
ปฏิกิริยานี้อาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาทีหลังสัมผัสกับอาหารที่แพ้ และทำให้เสียชีวิตได้ จึงถือเป็นภาวะฉุกเฉิน การไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้
หากคุณพบผู้ป่วยที่มีอาการของภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง เช่น หายใจไม่ออก วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด มีอาการเหมือนจะเป็นลม หรือหมดสติ
คุณจำเป็นต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล โทรเรียกรถพยาบาล หรือโทรไปที่เบอร์สำหรับเจ็บป่วยฉุกเฉิน 1669 โดยเร็วที่สุด
ประเภทของภูมิแพ้อาหาร
ภูมิแพ้อาหารแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ขึ้นอยู่กับอาการและช่วงเวลาที่เกิดอาการ ดังนี้
1. IgE-mediated food allergy
- เป็นอาการแพ้อาหารที่พบได้บ่อยที่สุด
- ถูกกระตุ้นโดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีการผลิตสารภูมิต้านทานที่เรียกว่า “Immunoglobulin E” หรือ IgE ออกมา
- อาการแพ้จะเกิดขึ้นภายในไม่กี่วินาทีหลังจากรับประทานอาหารนั้นๆ เข้าไป
- ผู้ที่มีอาการแพ้อาหารลักษณะนี้มีโอกาสเสี่ยงเกิดอาการแพ้เฉียบพลันรุนแรงได้
2. Non-IgE-mediated food allergy
- เป็นอาการแพ้อาหารที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจาก IgE แต่เกิดจากเซลล์ชนิดอื่นๆ ในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- วินิจฉัยลำบากเพราะไม่เกิดอาการแพ้ขึ้นทันที แต่จะค่อยๆ แสดงอาการหลังจากรับประทานอาหารเข้าไปแล้วหลายชั่วโมง
3. Mixed IgE และ Non-IgE-mediated food allergies
ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแพ้อาหารทั้งสองลักษณะ คือ
- แบบ IgE-mediated food allergy ที่มีอาการบวมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
- แบบ Non-IgE-mediated food allergy ที่มักทำให้เกิดอาการท้องผูก ซึ่งอาการภูมิแพ้ผสมเช่นนี้มักเกิดขึ้นกับผู้ที่แพ้นม
กลไกการเกิดอาการแพ้อาหาร
อาการแพ้อาหารเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันเข้าใจผิดว่า อาหาร หรือสารบางอย่างในอาหารที่รับประทานเข้าไปเป็นพิษต่อร่างกาย
ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันกระตุ้นให้มีการปล่อยสารแอนติบอดี้ (Antibody) หรือสารภูมิต้านทานออกมาเพื่อกำจัดสารก่อภูมิแพ้
ในครั้งแรกที่ได้รับอาหารนั้นๆ ร่างกายจะยังไม่แสดงอาการแพ้ แต่จะจดจำว่า เป็นสารที่อันตราย เมื่อร่างกายได้รับสารชนิดเดิมในครั้งต่อไป แอนติบอดี้จะจดจำได้และส่งสัญญาณให้ระบบภูมิคุ้มกันปล่อยสารที่ชื่อว่า "ฮิสตามีน" และสารอื่นๆ ออกมาในกระแสเลือด ซึ่งสารเหล่านี้เองที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ต่างๆ ตามมา
ภูมิแพ้อาหารเกิดขึ้นกับใครได้บ้าง?
- โรคภูมิแพ้อาหารสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และมีโอกาสแพ้อาหารได้เกือบทุกชนิด
- ผู้ที่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้มีโอกาสเสี่ยงเป็นภูมิแพ้อาหารสูงกว่าคนทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องมีอาการแพ้ชนิดเดียวกัน
- อาการแพ้อาหารมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เนื่องจากกระเพาะอาหารยังไม่แข็งแรง แต่ส่วนมากมักจะอาการดีขึ้นเมื่อเด็กเริ่มโต
- เด็กที่มีอาการแพ้พืชตระกูลถั่ว ส่วนมากมักมีอาการแพ้ไปตลอดชีวิต
- ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารชนิดเดิมซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
สาเหตุของอาการแพ้อาหาร
อาหารเกือบทุกประเภทสามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้ แต่ก็มีอาหารบางชนิดมักก่อให้เกิดอาการแพ้มากกว่าอาหารอื่นๆ
สำหรับเด็กเล็กมักพบว่า อาการแพ้มีสาเหตุมาจากอาหารเหล่านี้
- ไข่
- นม เด็กที่มีอาการแพ้นมวัวจะมีโอกาสเสี่ยงแพ้นมทุกชนิด
- ข้าวสาลี หรือแป้งข้าวสาลี
- ถั่วเหลือง
- ถั่วลิสง
- ถั่วตระกูลยืนต้น เช่น อัลมอนด์ วอลนัท มะม่วงพิมพานต์ แมคคาเดเมีย พิตาชิโอ้
สำหรับผู้ใหญ่มักพบว่า อาการแพ้มีสาเหตุมาจากอาหารเหล่านี้
- ถั่วลิสง
- ถั่วตระกูลยืนต้น เช่น อัลมอนด์ วอลนัท มะม่วงพิมพานต์ แมคคาเดเมีย พิตาชิโอ้
- ปลา
- อาหารทะเลเปลือกแข็ง เช่น ปู ล็อบสเตอร์ กุ้ง
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทใดก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยจากการศึกษาวิจัยพบว่า ปฏิกิริยาภูมิแพ้อาหารเกิดจากอาหารจำพวกต่อไปนี้ได้เช่นกัน
- ผักชีฝรั่ง หรือผักขึ้นฉ่าย
- กลูเตน (Gluten) โปรตีนชนิดหนึ่งที่พบในข้าว และธัญพืชต่างๆ
- มัสตาร์ด
- งา
- ผักและผลไม้ โดยจะส่งผลทำให้เกิดอาการแพ้บริเวณปาก ริมฝีปาก และในลำคอ
- เมล็ดสน
- เนื้อสัตว์บางชนิด บางคนอาจมีอาการแพ้ต่อเนื้อสัตว์ชนิดเดียว บางคนมีอาการแพ้ต่อเนื้อสัตว์หลายชนิด
เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะแพ้วัตถุเจือปนอาหาร?
อาการแพ้วัตถุเจือปนในอาหารนั้นพบได้น้อยมาก อย่างไรก็ตาม สารปรุงแต่งอาหารบางตัวอาจทำให้ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกิดอาการแพ้อาหารขึ้นอย่างกะทันหันได้ เช่น
ซัลไฟต์ หรือสารกันเสียซัลไฟต์
สารกันเสียซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (E220)* และสารกันเสียซัลไฟต์อื่นๆ (E221, E222, E223, E224, E226, E227 และ E228) ถูกนำมาใช้เพื่อถนอมอาหารประเภทต่างๆ เช่น เครื่องดื่ม ไส้กรอก เบอร์เกอร์ ผัก ผลไม้แห้ง
ซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากการผลิตไวน์และเบียร์ พบว่า ถูกนำมาใช้เติมลงในไวน์ด้วยเช่นกัน ผู้ที่เป็นโรคหอบหืด หรือเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้อาจมีปฏิกิริยาจากการสูดดมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้
แต่มีผู้ป่วยโรคหอบหืดเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่จะเกิดอาการแพ้แบบเฉียบพลันรุนแรง จากการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของซัลไฟต์
โซเดียมเบนโซเอต
กรดโซเดียมเบนโซเอต (E210) และกรดเบนโซเอตอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มของวัตถุเจือปนอาหารซัลไฟต์ (E211, E212, E213, E214, E215, E218 และ E219) เป็นสารเจือปนที่นำมาใช้ถนอมอาหาร และป้องกันการเกิดเชื้อรา
มักนำมาใช้กับน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มต่างๆ โดยกรดเบนโซเอตนี้เกิดขึ้นจากผลไม้ หรือน้ำผึ้งโดยธรรมชาติได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม กรดนี้เป็นสาเหตุของภูมิแพ้ต่างๆ ได้ เช่น หอบหืด และโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
การวินิจฉัยอาการแพ้อาหาร
หากคุณคิดว่า ตนเอง หรือบุตรหลานมีอาการแพ้อาหาร แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้จะถามคำถามเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ ประวัติสุขภาพของคนในครอบครัว และอาการที่คุณเป็น
คุณควรเตรียมตัวสำหรับการตอบคำถามดังต่อไปนี้
- คุณรับประทานอะไรเข้าไปบ้างก่อนเกิดอาการแพ้อาหาร และรับประทานปริมาณมาก-น้อย แค่ไหน
- นานแค่ไหนกว่าอาการแพ้จะเริ่มขึ้นหลังจากรับประทานอาหารเข้าไป
- อาการแพ้อาหารเกิดขึ้นนานแค่ไหน
- อาการแพ้รุนแรงมากน้อยเพียงใด
- อาการแพ้เกิดขึ้นครั้งแรก หรือไม่ หากไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกแล้วอาการแพ้เกิดขึ้นกี่ครั้งแล้ว
- คุณมีอาการแพ้อื่นๆ นอกจากอาการแพ้อาหารหรือไม่
- มีใครในครอบครัวเป็นภูมิแพ้หรือไม่
หากบุตรหลานของคุณมีอาการแพ้อาหาร แพทย์จะสอบถามว่า เด็กถูกเลี้ยงมาด้วยนมแม่ หรือนมผง
หลังจากนั้นแพทย์จะวินิจฉัยโดยประเมินน้ำหนัก และส่วนสูงของเด็กร่วมด้วย เพื่อให้แน่ใจว่า เด็กมีการเจริญเติบโตอย่างเหมาะสมตามเกณฑ์
หลังจากรวบรวมข้อมูลทั้งหมดแล้ว แพทย์อาจให้คุณเข้ารับการทดสอบภูมิแพ้ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง หรือหลายวิธีร่วมกัน
หากมีความกังวลใจเรื่องอาการแพ้ที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่มีเวลาไปพบแพทย์ด้วยตนเอง ปัจจุบันมีบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์แล้ว สามารถเลือกได้ทั้งการโทรศัพท์พูดคุย หรือการวิดีโอคอล
แพทย์อาจให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาการที่เป็น วิธีการตรวจทดสอบ การเตรียมตัว หรือตอบข้อสงสัยอื่นๆ ให้คุณได้
การทดสอบภูมิแพ้
1. การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Prick Test: SPT)
เป็นการหยดของเหลวที่มีส่วนผสมของสารก่อภูมิแพ้ปริมาณเล็กน้อยลงบนท้องแขน หรือบนแผ่นหลัง หลังจากนั้นจะใช้หัวเข็มขนาดเล็กที่ปราศจากเชื้อสะกิดที่ผิวหนังเพื่อให้ของเหลวนั้นซึมเข้าไปใต้ผิวหนัง
การทดสอบนี้จะทราบผลภายในเวลาประมาณ 20 นาที และไม่ทำให้เจ็บ แต่อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวได้
หากผลการทดสอบเป็นบวก หมายถึงเกิดรอยบวมนูนขึ้นที่ผิวหนัง (คล้ายกับการโดนยุงกัด) ณ ตำแหน่งที่หยดสารก่อภูมิแพ้ใด แสดงว่า คุณแพ้สารก่อภูมิแพ้นั้นๆ
โดยในการทดสอบจะมีการควบคุมผลทดสอบด้วยการหยดของเหลวที่ปราศจากสารก่อภูมิแพ้ และทำการสะกิดผิวหนังไว้ด้วย ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดรอยบวมนูนที่บริเวณนี้ ทำให้สามารถเปรียบเทียบผลกับบริเวณที่มีสารก่อภูมิแพ้ได้อย่างชัดเจน
อ่านเพิ่มเติม: รู้จักกับการทดสอบภูมิแพ้ผิวหนังด้วยวิธีสะกิดอย่างละเอียด และเปรียบเทียบราคาตรวจจากโรงพยาบาลต่างๆ
2. การแปะสารภูมิแพ้ที่ผิวหนัง (Patch Test)
เป็นการแปะสารภูมิแพ้หลายๆชนิดที่บริเวณผิวหนังเป็นเวลาอย่างน้อย 48 ชั่วโมง หลังจากนั้นแพทย์จะทำการนัดผู้ป่วยเพื่อมาดูผลการทดสอบอีกครั้งหนึ่ง
3. การตรวจเลือด
การตรวจวิธีนี้มีความแม่นยำน้อยกว่าการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังเล็กน้อย โดยจะเป็นการตรวจหาสาร IgE antibody หรือสารภูมิต้านทานการแพ้ต่ออาหาร
การตรวจวิธีนี้จะให้ผลเป็นตัวเลข ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์จึงจะทราบผลตรวจ
อ่านเพิ่มเติม: ตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงคืออะไร ต้องทดสอบอะไรบ้าง และรีวิวประสบการณ์ตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง 222 ชนิดที่ N Health
4. การลองรับประทานอาหารที่แพ้
ในบางกรณีแพทย์อาจให้คุณทดสอบอาการแพ้อาหารที่สงสัยโดยการให้ลองรับประทาน (Oral food challenge test) ซึ่งเป็นวิธีวินิจฉัยภูมิแพ้อาหารที่แม่นยำ
การทดสอบนี้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากเสี่ยงทำให้เกิดอาการแพ้อาหารรุนแรงได้
เริ่มแรกจะให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่สงสัยว่า ทำให้เกิดอาการแพ้ในปริมาณเล็กน้อย และค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป และติดตามดูอาการไปสักระยะหนึ่ง (ไม่กี่ชั่วโมง) เพื่อดูว่า มีปฏิกิริยาการแพ้เกิดขึ้นหรือไม่
การทดสอบนี้มีประโยชน์ในกรณีที่ประวัติของผู้ป่วยไม่ชัดเจน หรือไม่สามารถสรุปผลจากการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง หรือการตรวจเลือดได้ และยังเป็นวิธีที่ใช้ประเมินว่า อาการแพ้อาหารนั้นเป็นมากขึ้นหรือไม่ด้วย
5. การเลี่ยงอาหารที่สงสัยว่า อาจเป็นสาเหตุของอาการแพ้
เป็นการทดสอบโดยงดรับประทานอาหารที่สงสัยว่าอาจเป็นสาเหตุของภูมิแพ้เป็นเวลา 2 – 6 สัปดาห์ แล้วจึงกลับมารับประทานอีกครั้ง
หากอาการแพ้หายไปเมื่อหยุดรับประทานอาหารนั้น และกลับมาเป็นอีกครั้งเมื่อกลับมารับประทานอาหารดังกล่าวอีก นั่นหมายความว่า คุณมีอาการแพ้อาหารจริง
ก่อนที่จะเริ่มทดสอบวิธีการนี้ คุณจำเป็นต้องขอคำแนะนำจากนักโภชนาการเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้
- อาหาร และเครื่องดื่มที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องหลีกเลี่ยง
- วิธีการอ่านฉลากโภชนาการเพื่อให้สามารถเลือกซื้ออาหารอื่นๆ ทดแทนสารอาหารที่ถูกงดไปได้
- ระยะเวลาที่เหมาะสมในการงดรับประทานอาหารที่เสี่ยงต่อการแพ้
ทั้งนี้ คุณจะต้องไม่ทดสอบด้วยวิธีการเลี่ยงอาหารที่สงสัยว่า อาจเป็นสาเหตุของภูมิแพ้ด้วยตนเองเป็นอันขาด และควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนการทดสอบเสมอ
อาการแพ้อาหารจะทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ทุกครั้งที่รับประทานอาหารที่เป็นตัวกระตุ้น โดยอาการที่เกิดขึ้นจะแตกต่างตามแต่ละบุคคล
คุณเองก็อาจมีอาการไม่เหมือนกันในแต่ละครั้งที่แพ้ เนื่องจากปฏิกิริยาการแพ้อาหารจะส่งผลต่อผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และระบบหัวใจและหลอดเลือด
จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะคาดการณ์ว่า อาการแพ้ในครั้งต่อไปจะรุนแรงเพียงใด
ผู้ป่วยทุกรายที่มีอาการแพ้อาหารควรได้รับคำปรึกษาเกี่ยวกับความเสี่ยงของการเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต และต้องได้รับการรักษาด้วยยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) อย่างทันท่วงที
นอกจากการแพ้อาหารชนิดนั้นๆ โดยตรงแล้ว บางคนยังอาจมีภาวะภูมิแพ้อาหารแฝงร่วมด้วย ส่งผลให้หลังรับประทานอาหารที่แพ้แฝงเข้าไป ร่างกายจะเกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย
ดังนั้นคุณจึงอาจเข้ารับการตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงเพิ่มเติม เพื่อเป็นข้อมูลในการรับประทานอาหารอย่างปลอดภัยและไม่เกิดการแพ้ตามมา
การรักษาอาการแพ้อาหาร
คนหลายคนที่เป็นโรคภูมิแพ้สงสัยว่า โรคนี้จะเป็นไปตลอดหรือไม่ ซึ่งยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในประเด็นนี้
การแพ้นม ไข่ ข้าวสาลี และถั่วเหลือง อาจหายไปได้เมื่อเวลาผ่านไป ในขณะที่การแพ้ถั่วลิสง ถั่วชนิดอื่นๆ ปลา และสัตว์น้ำที่มีเปลือกนั้น มีแนวโน้มที่จะแพ้ไปตลอดชีวิต
สิ่งแรกที่ควรทำเมื่อมีอาการแพ้อาหารคือ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารนั้นๆ โดยสามารถทำตามคำแนะนำต่อไปนี้
- อ่านส่วนผสมที่ฉลากของผลิตภัณฑ์อาหารอย่างรอบคอบ และศึกษาว่า อาหารที่คุณแพ้นั้นมีชื่อเรียกอื่นๆ อีกหรือไม่ จะได้ระมัดระวังได้ถูก
- สังเกตคำเตือนบนฉลาก โดยหลายๆ ผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยมีการระบุส่วนประกอบของอาหารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ได้บ่อยๆ 8 ชนิดบนฉลาก คือ นม ไข่ ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วต่างๆ ปลา และสัตว์น้ำจำพวกมีเปลือก
- ผลิตภัณฑ์อาหารบางชนิด อาจเขียนด้วยคำที่แตกต่างกัน เช่น “อาจประกอบด้วย” “ผลิตจากเครื่องมือเดียวกัน” “ผลิตในโรงงานเดียวกัน” หรือข้อความอื่นๆ ที่สื่อได้ว่า อาจมีการเจือปนของอาหารที่มีโอกาสแพ้ หากไม่มั่นใจให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- ปรึกษานักโภชนาการเพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจทำให้มีอาการแพ้ โดยยังคงได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างครบถ้วน
- เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อต้องรับประทานอาหารนอกบ้าน เพราะบางครั้งแค่เดินเข้าไปในร้านอาหาร หรือห้องครัวซึ่งมีอาหารที่แพ้ก็อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้ขึ้นได้
- อาหารที่แพ้อาจปนเปื้อนอยู่บนจาน ชาม ช้อน ส้อมได้เช่นกัน จึงต้องมั่นใจว่า มีการทำความสะอาดภาชนะเหล่านี้อย่างเหมาะสมก่อนใส่อาหารมาให้คุณ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่บรรจุหีบห่อ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีฉลากโภชนาการ เช่น ขนมเบเกอรี่ ร้านขายอาหารทั่วไป หรือร้านขายอาหารปรุงสำเร็จ ร้านสลัด ร้านขายแซนวิชปรุงสำเร็จ ร้านอาหารแบบซื้อกลับบ้าน ร้านอาหารทั่วไป เพราะคุณไม่อาจรู้ได้เลยว่า อาหารนั้นๆ มีส่วนประกอบของอะไรบ้าง
- เตรียมความพร้อมอยู่เสมอสำหรับสถานการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเกิดอาการแพ้อาหาร โดยพกพายาแก้แพ้ หรือยาฉีดอิพิเนฟรินติดตัวไปด้วยหากออกไปรับประทานข้าวนอกบ้าน
คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นภูมิแพ้
- แจ้งให้ทางโรงเรียนทราบเกี่ยวกับอาการแพ้อาหารของบุตรหลานว่า มีความรุนแรงเพียงใด ควรบอกวิธีจัดการแบบฉุกเฉินหากเด็กมีอาการแพ้ขึ้นมา
- ควรฝากยาแก้แพ้ หรือยาฉีดอะดรีนารีนไว้กับทางพยาบาลประจำโรงเรียน หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
- ใส่สายยางรัดข้อมือที่ระบุถึงอาหารที่เด็กมีอาการแพ้ และวิธีการรักษาเมื่อเกิดอาการแพ้อาหารขึ้นมา
- แจ้งให้ผู้ปกครองท่านอื่นทราบ เนื่องจากเด็กเล็กๆ อาจลืมได้ว่า ตนเองมีอาการแพ้อาหารชนิดใดบ้างและเผลอรับประทานอาหารชนิดนั้นไปเมื่อไปเที่ยวเล่นบ้านเพื่อน
- เมื่อบุตรหลานเริ่มโตพอที่จะเข้าใจ และรู้ว่า ตนมีอาการแพ้อาหาร ผู้ปกครองจำเป็นต้องสอนให้เด็กหลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงต่ออาการภูมิแพ้กำเริบ และสอนวิธีการจัดการกับตนเองหากมีอาการแพ้
- ปรึกษาแพทย์ก่อนมีการเปลี่ยนแปลง หรืองดรับประทานอาหารใดๆ ของลูกคุณทุกครั้ง อย่างไรก็ตาม การงดรับประทานอาหารบางอย่าง เช่น ไข่ ถั่วลิสง ไม่ได้ส่งผลต่อโภชนาการมากนัก
- เด็กที่แพ้นมอาจได้รับผลกระทบมากกว่าเด็กทั่วไป เพราะนมถือเป็นแหล่งแคลเซียมที่ดี อย่างไรก็ตามคุณสามารถให้ลูกรับประทานอาหารชนิดอื่นๆ เพื่อทดแทนแคลเซียมจากนมได้ เช่น ผักใบเขียว อาจปรึกษาแพทย์ หรือนักโภชนาการ หากคุณกังวลใจ หรือสงสัยเกี่ยวกับการรับประทานอาหารที่อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของบุตรหลาน
ยารักษาอาการแพ้อาหาร
อาการแพ้อาหารอาจมีได้ตั้งแต่อาการเล็กน้อยจนถึงอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งความรุนแรงของการเกิดอาการในแต่ละครั้งจะไม่สามารถคาดการณ์ได้
แม้คุณจะเคยมีอาการแพ้อาหารเพียงเล็กน้อยในครั้งก่อน แต่คุณก็อาจเกิดการแพ้อย่างรุนแรงในครั้งนี้ได้ ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ มีความดันโลหิตต่ำลงอย่างมาก
คุณจึงควรพกยาแก้แพ้ หรือยาฉีดฉุกเฉินอิพิเนฟริน (Epinephrine) ไว้ด้วย
ยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮิสตามีน
หากมีอาการแพ้อาหารไม่รุนแรงหรือมีอาการปานกลาง คุณสามารถใช้ยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) ที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป
ยาชนิดนี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งการปล่อยสารฮิสตามีน ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายปล่อยออกมาเมื่อเกิดปฏิกิริยาแพ้ และเป็นสาเหตุของอาการแพ้อาหาร
ยาต้านแก้แพ้บางชนิด เช่น อะลิเมมาซีน (Alimemazine) หรือโปรเมทาซีน (Promethazine) ไม่เหมาะสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี หากที่บ้านคุณมีเด็กเล็กเป็นภูมิแพ้อาหาร ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับชนิดของยาที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ผู้ใช้ยาแก้แพ้จะต้องหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากตัวยาอาจทำให้รู้สึกง่วงซึม และส่งผลต่อความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะได้
ยาฉีดอิพิเนฟรินสำคัญกับผู้ป่วยแพ้รุนแรงอย่างไร?
ยาฉีดอิพิเนฟริน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อะดรีนาลีน (Adrenaline) เป็นยาสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการแพ้แบบเฉียบพลันรุนแรง (Anaphylaxis)
มีฤทธิ์ช่วยคลายกล้ามเนื้อในระบบทางเดินหายใจ เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้น รวมทั้งช่วยให้หลอดเลือดหดตัวเพื่อป้องกันผลกระทบจากระดับความดันที่ลดต่ำเกินไป
หากคุณได้รับการวินิจฉัยว่า มีอาการแพ้อาหาร แพทย์อาจพิจารณาจ่ายยาฉีดอิพิเนฟรินแบบพกพา (Epinephrine auto-injector) เผื่อสำหรับในกรณีฉุกเฉินที่เกิดอาการแพ้เฉียบพลันรุนแรงขึ้นมา และจะสอนวิธีใช้ยานี้ให้คุณ
คุณควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด และอย่าลืมหมั่นตรวจสอบวันหมดอายุของยานี้เสมอ
โดยเมื่อใกล้หมดอายุให้สอบถามที่โรงพยาบาลเกี่ยวกับบริการเปลี่ยนยาตัวใหม่ ส่วนผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็นภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงควรฝึกให้เด็กๆ ใช้เครื่องฉีดยาด้วยตนเองเมื่อเด็กโตพอแล้ว
เมื่อไรที่ต้องฉีดยาอิพิเนฟริน?
คุณควรยาฉีดอิพิเนฟรินทันทีเมื่อมีอาการรุนแรงเกิดขึ้น เช่น หายใจหอบเหนื่อย หายใจสั้น และถี่ ไอซ้ำๆ ชีพจรเต้นอ่อน มีลมพิษ คอแข็ง หายใจลำบาก กลืนลำบาก
หรือมีอาการหลายอาการจากบริเวณที่แตกต่างกันของร่างกาย เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน หรือบวมที่ผิวหนัง ร่วมกับอาเจียน ท้องเสีย หรือปวดท้อง
และอาจจำเป็นต้องฉีดยาซ้ำเป็นเข็มที่สองหากอาการไม่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันคุณ หรือคนใกล้ตัวควรโทรเรียกรถพยาบาล และแจ้งให้โรงพยาบาลทราบว่า คุณได้ฉีดยาอิพิเนฟรินแล้ว และอาจจำเป็นต้องฉีดซ้ำ
ผลข้างเคียงของยาฉีดอิพิเนฟริน
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการใช้ยาฉีดอิพิเนฟริน เช่น
- วิตกกังวล
- กระสับกระส่าย
- เวียนศีรษะ
- มึนงง
ผลข้างเคียงที่พบได้น้อย เช่น
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- หัวใจวาย
- ความดันโลหิตสูง
- อาจมีของเหลวในปอด
หากคุณมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน คุณอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากยาอิพิเนฟริน
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีอาการแพ้อาหารรุนแรง คุณควรใช้ยาฉีดนี้ทันที เพราะยานี้เป็นยาเดียวสำหรับการรักษาปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงที่อันตรายถึงชีวิต และประโยชน์ที่จะได้รับจากยานี้มีมากกว่าอันตรายที่จะเกิดขึ้นหากไม่ได้รับยา
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้ และภาวะแพ้ จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android