ท้องร่วง

เผยแพร่ครั้งแรก 24 ต.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 11 นาที
ท้องร่วง

ท้องร่วง (Diarrhoea) คืออาการที่ทำให้คุณถ่ายบ่อยหรือถ่ายคล่องกว่าปกติ ผู้คนส่วนมากจะประสบกับอาการนี้เป็นครั้งคราวอยู่แล้วจึงไม่ใช่อาการหรือภาวะที่น่ากังวล แต่ก็อาจจะทำให้คุณรู้สึกไม่สบายตัวไปบ้าง ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานสองสามวันถึงหนึ่งสัปดาห์

อะไรเป็นสาเหตุของท้องร่วง?

ท้องร่วงเกิดจากหลายสาเหตุ แต่กรณีผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ส่วนมากจะเกิดมาจากการติดเชื้อที่ลำไส้ (bowel infection (gastroenteritis))

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

โดยการติดเชื้อที่ลำไส้นี้เกิดจาก: 

  • เชื้อไวรัส: เช่นโนโรไวรัส (norovirus) หรือโรตาไวรัส (rotavirus) 
  • เชื้อแบคทีเรีย: เช่น campylobacter กับ Escherichia coli (E. coli) ซึ่งได้รับเชื้อจากอาหารปนเปื้อน 
  • ปรสิต: เช่นปรสิตต้นเหตุของโรค giardiasis ที่อาศัยอยู่ในน้ำ

การติดเชื้อเหล่านี้ยังสามารถเกิดขึ้นระหว่างเดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีสุขอนามัยตามท้องที่ต่ำ ซึ่งจะเรียกภาวะเช่นนี้ว่าโรคท้องเสียจากการเดินทาง (travellers' diarrhoea)

ท้องร่วงยังสามารถเกิดขึ้นมาจากภาวะวิตกกังวล (anxiety) ภาวะแพ้อาหาร (food allergy) การใช้ยา หรือภาวะระยะยาวต่าง ๆ เช่นกลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome - IBS) เป็นต้น

ควรทำเช่นไรเมื่อมีอาการท้องร่วง?

ท้องร่วงส่วนมากจะหายไปเองภายในเวลาไม่กี่วันแม้จะไม่ได้รับการรักษา และคุณอาจไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม อาการท้องร่วงก็สามารถนำไปสู่ภาวะขาดน้ำ (dehydration) ได้ ดังนั้นคุณควรดื่มน้ำระหว่างที่มีอาการให้มาก ๆ หรือจิบทีละนิดแต่บ่อยครั้งจนกว่าคุณจะหายจากท้องร่วง และจะยิ่งสำคัญมากขึ้นหากเป็นเด็กเล็กหรือทารก

เภสัชกรอาจแนะนำผงน้ำตาลเกลือแร่ หรือ oral rehydration solution (ORS) ในกรณีที่คุณหรือลูกของคุณมีความเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำเป็นพิเศษ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

คุณควรกลับไปทานอาหารแข็งเมื่อร่างกายคุณพร้อมแล้ว หากคุณกำลังใช้นมบุตรหรือต้องให้ขวดนมแก่ทารกที่มีอาการท้องร่วง คุณก็สามารถป้อนอาหารพวกเขาตามปรกติ

ควรหยุดอยู่บ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 48 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการท้องร่วงเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น

ยาลดอาการท้องร่วงอย่างเช่น loperamide สามารถหาซื้อได้ทั่วไป กระนั้นยาเหล่านี้อาจไม่จำเป็นเท่าไรนัก และส่วนมากก็ไม่ควรใช้กับผู้ป่วยที่เป็นเด็ก

ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?

ให้ติดต่อสอบถามโรงพยาบาลทันทีที่คุณมีความกังวลเกี่ยวกับอาการของคุณหรือของลูกคุณ

คุณควรเข้าพบแพทย์ทันทีที่ประสบกับอาการท้องร่วงบ่อยครั้งหรือมีความรุนแรงมาก หรือมีอาการอื่น ๆ เช่น:

  • มีเลือดปนอุจจาระของคุณหรือของลูก 
  • มีอาการอาเจียนเรื้อรัง 
  • ปวดท้องรุนแรงหรือต่อเนื่อง 
  • น้ำหนักลด 
  • มีสัญญาณของภาวะขาดน้ำ: เช่นวิงเวียน ปัสสาวะบ่อย และจะหมดสติ อุจจาระมีสีดำหรือคล้ำมาก: อาจเป็นสัญญาณของภาวะเลือดออกภายในกระเพาะ

คุณควรติดต่อแพทย์ทันทีที่อาการท้องร่วงของลูกหรือของคุณเกิดขึ้นเรื้อรัง เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของปัญหาที่ร้ายแรงกว่า ซึ่งโดยปรกติแล้ว อาการท้องร่วงควรจะหายไปเองภายในเวลาหนึ่งสัปดาห์

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

การป้องกันภาวะท้องร่วง

ท้องร่วงมักเกิดมาจากการติดเชื้อ คุณจึงสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการนี้ได้ด้วยการรักษาสุขอนามัยให้ดีอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น คุณควร: ล้างมือให้สะอาดหมดจดด้วยสบู่และน้ำอุ่นหลังทำธุระและก่อนรับประทานหรือจัดเตรียมอาหาร ทำความสะอาดห้องน้ำรวมไปถึงด้ามจับประตูและฝารองนั่งด้วยยาฆ่าเชื้อหลังจากมีอาการท้องร่วงทุกครั้ง เลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขนหนู ถ้วยชาม หรือช้อนส้อมร่วมกับผู้อื่นในบ้าน

อีกทั้งการรักษาความสะอาดระหว่างเดินทางก็เป็นเรื่องที่พึงกระทำเช่นกัน เช่นเลี่ยงการใช้น้ำก๊อกที่ไม่ปลอดภัย และไม่ทานอาหารที่ปรุงไม่สุก

อาการของภาวะท้องร่วง

ท้องร่วงคืออาการที่ทำให้คุณถ่ายบ่อยหรือถ่ายเหลว ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น: ปวดท้อง คลื่นไส้และอาเจียน ปวดศีรษะ ไม่อยากอาหาร

การเสียน้ำปริมาณมากเกินไปผ่านการอุจจาระยังสามารถนำไปสู่ภาวะขาดน้ำได้เช่นกัน ซึ่งนับว่าเป็นภาวะอันตรายหากผู้ป่วยไม่สังเกตอาการตนเองและจัดการรักษาให้ทันท่วงที

สัญญาณของภาวะขาดน้ำ

สัญญาณของภาวะขาดน้ำในเด็กมีดังนี้: ฉุนเฉียวหรือง่วงนอน ปัสสาวะไม่บ่อย ผิวซีด มือและเท้าเย็น ดูไม่สบายเนื้อสบายตัว

สัญญาณของภาวะขาดน้ำในผู้ใหญ่มีดังนี้: เหน็ดเหนื่อย และหมดเรี่ยวแรง ไม่อยากอาหาร คลื่นไส้ รู้สึกเวียนศีรษะ ลิ้นแห้ง ดวงบุ๋มเข้าไป (sunken eyes) ปวดกล้ามเนื้อ หัวใจเต้นถี่

ควรมองหาคำแนะนำทางการแพทย์เมื่อใด?

ควรติดต่อแพทย์เพื่อขอความช่วยเหลือหรือคำแนะนำทันทีที่คุณมีความกังวลเกี่ยวกับอาการของคุณหรือลูกของคุณ

ทารก

ติดต่อแพทย์ทันทีที่ลูกของคุณ: มีอาการท้องร่วงติดกัน 6 ครั้งขึ้นไปภายในช่วง 24 ชั่วโมง ท้องร่วงและอาเจียนพร้อมกัน ถ่ายเหลว มีเลือดปนอุจจาระ มีอาการปวดบิดที่ท้องรุนแรงหรือต่อเนื่อง มีอาการของภาวะขาดน้ำ

คุณควรต้องติดต่อแพทย์ด้วยหากว่าลูกของคุณประสบกับอาการท้องร่วงเรื้อรังเกิน 5 ถึง 7 วัน

ผู้ใหญ่

ติดต่อแพทย์ทันทีที่คุณ: มีเลือดปนอุจจาระ มีการอาเจียนเรื้อรัง น้ำหนักลดลงอย่างมาก คุณถ่ายเหลวปริมาณมาก เกิดอาการขึ้นในช่วงกลางคืนจนรบกวนการนอนหลับ คุณเพิ่งใช้ยาปฏิชีวนะ หรือได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลเมื่อไม่นานมานี้ คุณมีอาการของภาวะขาดน้ำ มีอุจจาระสีดำหรือคล้ำมาก

คุณควรต้องติดต่อแพทย์ด้วยหากว่าคุณประสบกับอาการท้องร่วงเรื้อรังเกิน 2 ถึง 4 วันไปแล้ว

สาเหตุของภาวะท้องร่วง

ท้องร่วงมักจะเกิดขึ้นเมื่อลำไส้ไม่สามารถดูดซับของเหลวจากของเสียได้ หรือเมื่อมีของเหลวเข้าไปในลำไส้มากเกินไปจนทำให้เกิดอุจจาระเหลว

ภาวะท้องร่วงระยะสั้น

ท้องร่วงมักเป็นอาการของภาวะติดเชื้อในลำไส้ (gastroenteritis) ซึ่งเกิดจาก: เชื้อไวรัส: เช่นโนโรไวรัส (norovirus) หรือโรตาไวรัส (rotavirus) เชื้อแบคทีเรีย: เช่น campylobacter Clostridium difficile (C. difficile) salmonella หรอ Escherichia coli (E. coli) ซึ่งทั้งหมดล้วนทำให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษ (food poisoning) ปรสิต: เช่นปรสิตที่ทำให้เกิดโรค giardiasis

สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะท้องร่วงระยะสั้นมีดังนี้: การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ภาวะแพ้อาหาร ไส้ติ่งอักเสบ (appendicitis) ความเสียหายที่ผนังเยื่อบุลำไส้ที่มาจากการบำบัดด้วยรังสี

ยา

ท้องร่วงสามารถเกิดเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้เช่นกัน: ยาปฏิชีวนะ ยาแอนตาซิด (antacid) ที่มีส่วนประกอบของแมกนีเซียม ยาสำหรับเคมีบำบัดบางประเภท ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs - NSAID) selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) สแตติน (statins) หรือยาลดคอเลสเตอรอล ยาระบาย (laxatives) หรือยาที่ใช้ในการขับของเสียออกจากลำไส้

ยาแต่ละประเภทจะมีฉลากยาติดมาที่ระบุว่ามีอาการท้องเสียเป็นผลข้างเคียงหรือไม่

ภาวะท้องร่วงระยะยาว

ภาวะที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วงเรื้อรังมีดังนี้:

กลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome - IBS): ภาวะที่ยังคงไม่เป็นที่ชัดเจนมากนักที่ส่งผลต่อการทำงานตามปรกติของลำไส้

  • โรคลำไส้อักเสบ (inflammatory bowel disease): ภาวะที่ทำให้สำไส้อักเสบ เช่นโรคโครห์น (Crohn's disease) และโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล (ulcerative colitis)
  • โรคแพ้กลูเตน (coeliac disease): ภาวะระบบย่อยอาหารที่เกิดปฏิกิริยากับกลูเตน
  • ภาวะกรดน้ำดีดูดซึมผิดปรกติ (bile acid malabsorption): ภาวะที่น้ำดีที่ผลิตจากตับเข้าไปสะสมภายในระบบย่อยอาหาร
  • โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง (chronic pancreatitis): ภาวะอักเสบของตับอ่อน
  • โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ (diverticular disease): โรคที่ทำให้เกิดถุงขนาดเล็กบนเยื่อบุลำไส้
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่: โรคนี้ยังทำให้เกิดเลือดออกปนอุจจาระและท้องร่วงได้เช่นกัน

อาการท้องร่วงเรื้อรังยังอาจเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดกระเพาะอาหารได้ด้วย เช่นการผ่าตัดกระเพาะอาหาร (gastrectomy) หรือก็คือหัตถกรรมกำจัดส่วนของกระเพาะอาหารออกเพื่อรักษาโรคร้าย

การรักษาภาวะท้องร่วง

ภาวะท้องร่วงส่วนมากจะดีขึ้นเองภายในหนึ่งสัปดาห์ และคุณไม่จำเป็นต้องเข้าพบแพทย์ ซึ่งข้อมูลต่อไปนี้จะอธิบายสิ่งที่แพทย์สามารถช่วยคุณได้ในกรณีที่คุณไปพบแพทย์

การระบุหาสาเหตุของภาวะท้องร่วง

ในการหาสาเหตุของอาการท้องร่วง แพทย์จะสอบถามประเด็นต่าง ๆ กับคุณเช่น: อุจจาระของคุณมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร?: ยกตัวอย่างเช่น มีการถ่ายเหลว คุณมีเลือดปนออกมาหรือไม่ เป็นต้น คุณต้องเข้าห้องน้ำบ่อยแค่ไหน? คุณมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่? เช่นมีไข้สูง เป็นต้น คุณสัมผัสกับผู้ที่มีอาการท้องร่วงมาก่อน หรือเพิ่งกลับมาจากต่างประเทศหรือไม่? คุณทานอาหารนอกบ้านเมื่อไม่นานมานี้หรือไม่? คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่หรือไม่ และประสบกับความเปลี่ยนแปลงใด ๆ จากยาหรือไม่? คุณมีภาวะเครียดหรือวิตกกังวลเมื่อไม่นานมานี้หรือไม่?

การตรวจตัวอย่างอุจจาระ

แพทย์อาจขอเก็บตัวอย่างอุจจาระของคุณเพื่อนำไปวิเคราะห์หาสัญญาณของภาวะติดเชื้อต่าง ๆ ในกรณีที่คุณ: มีอาการท้องร่วงยาวนานกว่าสองสัปดาห์ มีเลือดหรือหนองในอุจจาระ มีอาการที่ส่งผลต่อทั้งร่างกาย เช่นไข้ หรือภาวะขาดน้ำ มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ: เช่นจาก HIV เพิ่งกลับมาจากต่างประเทศ เพิ่งเข้าโรงพยาบาลหรือกำลังใช้ยาปฏิชีวนะอยู่

การตรวจเลือด

แพทย์อาจทำการตรวจเลือดในกรณีที่คาดว่าอาการท้องร่วงของคุณเกิดจากภาวะสุขภาพอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น การใช้เลือดของคุณทดสอบหาสัญญาณภาวะอักเสบของโรคลำไส้อักเสบ เป็นต้น

การตรวจทวารหนัก

แพทย์อาจแนะนำให้คุณเข้ารับการตรวจ digital rectal examination (DRE) หากว่าคุณมีอาการท้องร่วงที่หาสาเหตุไม่ได้ โดยเฉพาะหากคุณมีอายุ 50 ปีขึ้นไป

ระหว่างกระบวนการ DRE แพทย์จะสอดนิ้วที่สวมถุงมือเข้าไปในทวารหนักของคุณเพื่อสัมผัสหาความผิดปรกติต่าง ๆ

การตรวจสอบเพิ่มเติม

หากคุณมีอาการท้องร่วงเรื้อรัง และแพทย์ไม่สามารถหาสาเหตุได้ แพทย์อาจส่งคุณไปโรงพยาบาลเพื่อรับการทดสอบเพิ่มเติมต่าง ๆ ดังนี้:

การตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและทวารหนัก (sigmoidoscopy): เป็นการใช้เครื่องมือ sigmoidoscope (ท่อเรียวยาวและยืดหยุ่นที่มีไฟฉายและกล้องติดอยู่ที่ปลาย) สอดเข้าทวารหนักและดูภายในลำไส้ใหญ่ของคุณ

การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (colonoscopy): เป็นกระบวนการที่คล้ายกับข้างต้นแต่จะใช้ท่อที่มีขนาดใหญ่กว่าที่เรียกว่า colonoscope ในการตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมด

การรักษาภาวะท้องร่วง

ท้องร่วงมักจะหายไปเองภายในไม่กี่วันโดยไม่ต้องทำการรักษาใด ๆ ซึ่งมักจะเป็นเช่นนี้หากสาเหตุของอาการเกิดจากการติดเชื้อ

สำหรับเด็ก ภาวะท้องร่วงมักจะใช้เวลา 5 ถึง 7 วันก่อนจะหายไป และมักจะไม่อยู่นานกว่า 2 สัปดาห์

สำหรับผู้ใหญ่ ภาวะท้องร่วงมักจะดีขึ้นภายใน 2 ถึง 4 วัน แต่การติดเชื้ออาจใช้เวลานานประมาณหนึ่งสัปดาห์ขึ้นไปกว่าจะหายไป

ในขณะที่คุณกำลังรอให้ร่างกายฟื้นตัวจากการท้องร่วง คุณสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยหลักปฏิบัติต่อไปนี้

การดื่มน้ำ

สิ่งที่พึงกระทำคือการดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ โดยเฉพาะหากคุณมีการอาเจียนร่วมด้วย คุณสามารถใช้วิธีจิบน้ำทีละน้อยแต่บ่อยครั้งก็ได้

โดยปรกติแล้ว ผู้ใหญ่ควรดื่มของเหลวที่มีน้ำทั้งน้ำ เกลือ และน้ำตาล ยกตัวอย่างเช่นน้ำที่ผสมกับน้ำผลไม้ และน้ำซุปกระดูกสัตว์ หากคุณดื่มน้ำมากเพียงพอ ปัสสาวะของคุณจะมีสีเหลืองอ่อนหรือแทบจะใส

สำหรับเด็กทารกและเด็กเล็ก การดื่มน้ำเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำเป็นเรื่องสำคัญมาก ควรให้น้ำเด็กจิบทีละนิดแม้พวกเขาจะมีอาการอาเจียนก็ตาม

ควรเลี่ยงน้ำผลไม้หรือน้ำอัดลมเพราะจะทำให้อาการท้องร่วงในเด็กแย่ลง

หากคุณต้องให้นมบุตรทั้งน้ำนมธรรมชาติและนมชง คุณสามารถทำการป้อนทารกตามปรกติ

ติดต่อแพทย์ทันทีที่คุณหรือลูกของคุณมีอาการของภาวะขาดน้ำ

ผงน้ำตาลเกลือแร่

แพทย์และเภสัชกรสามารถแนะนำเกลือแร่ละลายน้ำ หรือ oral rehydration solution (ORS) ที่สามารถป้องกันภาวะขาดน้ำกับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำได้ เช่นผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอหรือผู้สูงอายุ เป็นต้น อีกทั้ง ORS ยังสามารถใช้รักษาภาวะขาดน้ำที่เป็นอยู่ได้

เกลือแร่ละลายน้ำมักจะหาซื้อได้จากร้านขายยาทั่วไปโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ และเป็นตัวยาที่ต้องละลายในน้ำเพื่อชดเชยเกลือ กลูโคส และแร่ธาตุสำคัญต่าง ๆ ที่คุณสูญเสียไประหว่างประสบกับอาการของภาวะขาดน้ำ

เด็ก

แพทย์และเภสัชกรต่างก็แนะนำให้เด็กที่ประสบกับหรือมีความเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำดื่มน้ำผงเกลือแร่

ปริมาณ ORS ที่แนะนำสำหรับเด็กจะขึ้นอยู่กับขนาดร่างกายและน้ำหนักของเด็ก และควรให้พวกเขาดื่ม ORS ทุกครั้งที่มีอาการท้องร่วง

เภสัชกรจะสามารถให้คำแนะนำการใช้ยาเหล่านี้แก่คุณได้ หรือคุณสามารถศึกษาได้จากฉลากผลิตภัณฑ์ที่ระบุไว้ก็ได้

แม้ว่าคุณจะสามารถให้เด็กที่ประสบกับภาวะขาดน้ำดื่ม ORS ได้ทันที แต่ก็แนะนำว่าคุณควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเสียก่อน

การรับประทานอาหาร

มีความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่คุณควรทานและควรเลี่ยงระหว่างที่มีอาการท้องร่วงมากมาย แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนมากต่างก็เห็นด้วยที่คุณควรจะกลับไปทานอาหารแข็งอีกครั้งเมื่อคุณรู้สึกพร้อมเท่านั้น และระหว่างที่มีอาการ ควรทานอาหารมื้อเล็ก เบา ๆ และเลี่ยงอาหารไขมันสูงกับอาหารรสเผ็ดไปก่อน

ตัวอย่างอาหารที่เป็นมิตรต่อผู้ที่มีอาการท้องร่วงคือมันฝรั่ง กล้วย ซุป และผักต้ม อีกทั้งอาหารรสเค็มก็สามารถช่วยคุณได้มาก

คุณไม่จำเป็นต้องรับประทานหากมีอาการไม่อยากอาหาร แต่ควรดื่มน้ำให้มากที่สุด และเริ่มทานอาหารทันทีที่เริ่มมีความอยาก

เด็ก

หากลูกของคุณประสบกับภาวะขาดน้ำ ห้ามให้อาหารแข็งพวกเขาเด็ดขาดจนกว่าพวกเขาจะได้รับน้ำเพียงพอแล้ว เมื่อพวกเขาไม่มีสัญญาณของภาวะขาดน้ำ พวกเขาจะสามารถทานอาหารได้ตามปรกติ

หากลูกของคุณไม่มีอาการของภาวะขาดน้ำ พยายามให้อาหารพวกเขาตามปรกติ แต่หากพวกเขาไม่ยอมทาน คุณต้องคอยให้น้ำพวกเขาดื่มให้มาก ๆ และรอจนกว่าพวกเขาจะรู้สึกหิว

การใช้ยารักษาท้องร่วง

ยาแก้ท้องร่วง

  • ยาแก้ท้องร่วง (Antidiarrhoeal) คือยาที่ช่วยลดภาวะท้องร่วงและย่นระยะเวลาของอาการลง แต่ก็ไม่ใช่ยาที่จำเป็นต้องใช้ทุกครั้ง
  • Loperamide เป็นกลุ่มยาแก้ท้องร่วงที่นิยมใช้กันมากที่สุด เพราะมีประสิทธิภาพดีและมีผลข้างเคียงน้อย
  • ยา Loperamide จะไปชะลอการเคลื่อนตัวของกล้ามเนื้อภายในลำไส้ลงเพื่อให้ลำไส้ดูดซับน้ำออกจากอุจจาระให้มากที่สุด นี่จะทำให้อุจจาระเกาะตัวกันมากขึ้นและทำให้มีความอยากเข้าห้องน้ำน้อยลง
  • ยา racecadotril ก็เป็นยากลุ่มแก้ท้องร่วงอีกหนึ่งประเภทที่ออกฤทธิ์ด้วยการลดประมาณการผลิตน้ำของลำไส้เล็กลง มีหลักฐานว่ายาตัวนี้มีประสิทธิภาพในการรักษาท้องร่วงดีเท่ากับ Loperamide

ยาแก้ท้องร่วงบางตัวสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยา คุณควรศึกษาข้อมูลการใช้ยาที่ฉลากทุกครั้งเพื่อหาขนาดยาที่เหมาะสมกับคุณ หากคุณมีคำถามหรือไม่มั่นใจควรปรึกษากับเภสัชกรก่อนเลือกซื้อทุกครั้ง

ห้ามใช้ยาแก้ท้องร่วงกับอาการถ่ายอุจจาระปนเลือดปนเมือก หรือเมื่อคุณมีไข้สูง แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำจะดีที่สุด

คุณไม่ควรใช้ยาแก้ท้องร่วงกับเด็ก แต่ยา racecadotril สามารถใช้กับเด็กที่อายุมากกว่า 3 เดือนได้หากใช้ร่วมกับผงเกลือแร่ (ORS) และต้องปฏิบัติตามคำแนะนำสำหรับเด็กข้างต้น กระนั้นแพทย์ก็ไม่แนะนำให้คุณใช้ยาตัวนี้กับเด็กอยู่ดี

ยาแก้ปวด

ยาแก้ปวด (Painkillers) จะไม่รักษาภาวะท้องร่วง แต่ยาพาราเซตตามอล (paracetamol) หรืออิบูโพรเฟน (ibuprofen) ก็สามารถใช้เพื่อบรรเทาไข้และอาการปวดศีรษะได้ หากจำเป็น คุณสามารถให้ยาเหล่านี้ในรูปแบบของยาน้ำกับเด็กได้

คุณควรศึกษาข้อมูลการใช้ยาที่ฉลากทุกครั้งเพื่อหาขนาดยาที่เหมาะสมกับลูกของคุณคุณ แต่คุณไม่ควรใช้ยาแอสไพริน (aspirin) กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี

ยาปฏิชีวนะ

การรักษาท้องร่วงด้วยยาปฏิชีวนะ (antibiotics) ไม่เป็นที่แนะนำหากว่าแพทย์ไม่ทราบสาเหตุของภาวะนี้ เนื่องจากว่ายากลุ่มนี้นั้น: ไม่ออกฤทธิ์กับอาการท้องร่วงจากเชื้อไวรัส มีผลข้างเคียงเยอะ จะมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อใช้กับภาวะที่ร้ายแรงกว่าหากใช้ต่อเนื่องกับภาวะที่ไม่รุนแรง

ยาปฏิชีวนะจะใช้ในกรณีที่เป็นอาการท้องร่วงรุนแรง และมีสาเหตุมาจากแบคทีเรียบางประเภท และยังสามารถใช้กับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่นมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เป็นต้น

การรักษาตามโรงพยาบาล

ในบางกรณี คุณหรือลูกของคุณอาจต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลหากประสบกับภาวะขาดน้ำรุนแรง การรักษาหลักจะเป็นการหยดของเหลวและสารอาหารเข้าเส้นเลือดโดยตรง

การรักษาสาเหตุของอาการ

หากคุณถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะสุขภาพที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วง การรักษาภาวะนั้น ๆ จะช่วยบรรเทาอาการท้องร่วงที่คุณประสบได้ ยกตัวอย่างเช่น:

  • กลุ่มอาการลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome - IBS): รักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนอาหารการกินและการใช้ยา
  • โรคลำไส้อักเสบ (inflammatory bowel disease) สามารถรักษาได้ด้วยยาลดการอักเสบภายในลำไส้
  • โรคแพ้กลูเตน (coeliac disease): รักษาได้ด้วยการเลี่ยงทานอาหารที่มีกลูเตน
  • ภาวะกรดน้ำดีดูดซึมผิดปรกติ (bile acid malabsorption): สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาหยุดการผลิตน้ำดีเข้าระบบย่อยอาหาร

การป้องกันภาวะท้องร่วง

เพื่อหยุดการแพร่เชื้อที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วง คุณควรรักษาสุขอนามัยให้ดีที่สุด โดยการ:

  • ล้างมือให้สะอาดหมดจดด้วยสบู่และน้ำอุ่นหลังทำธุระและก่อนรับประทานหรือจัดเตรียมอาหาร
  • ทำความสะอาดห้องน้ำรวมไปถึงด้ามจับประตูและฝารองนั่งด้วยยาฆ่าเชื้อหลังจากมีอาการท้องร่วงทุกครั้ง
  • เลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขนหนู ถ้วยชาม หรือช้อนส้อมร่วมกับผู้อื่น
  • ซักเสื้อผ้าและผ้าปูที่นอนที่เลอะอุจจาระแยกจากผ้าอื่นด้วยอุณหภูมิที่สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยกตัวอย่างเช่น 60oC สำหรับผ้าไหม
  • หยุดงานหรือลาเรียนจนกว่าจะผ่านไป 48 ชั่วโมงหลังจากมีอาการท้องร่วงครั้งสุดท้าย
  • คุณหรือลูกของคุณควรเลี่ยงลงสระว่ายน้ำเป็นเวลา 2 สัปดาห์หลังมีอาการท้องเสียครั้งสุดท้าย

ความสะอาดของอาหาร

ฝึกระวังเรื่องความสะอาดของอาหารจะช่วยเลี่ยงโอกาสติดเชื้อที่ทำให้ท้องร่วงจากภาวะอาหารเป็นพิษได้ โดยคุณสามารถทำได้ด้วยการ: ล้างมือ พื้นที่ทำอาหาร และเครื่องไม้เครื่องมือรับประทานอาหารให้สะอาดด้วยน้ำร้อนและสบู่ (น้ำยาล้างจาน) ไม่เก็บอาหารดิบร่วมกับอาหารปรุงสุกแล้ว เก็บอาหารในตู้เย็นให้มิดชิด ทำอาหารให้สุกอย่างทั่วถึง ไม่รับประทานอาหารที่เลยวันหมดอายุแล้ว

การฉีดวัคซีนป้องกันโรตาไวรัส

โรตาไวรัส (Rotavirus) คือเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วงในเด็กมากที่สุด การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสชนิดนี้จะช่วยให้ร่างกายเด็กต่อสู้กับโรตาไวรัสได้

วัคซีนนี้ควรจะถูกหยดทางปากของทารกในขนาด 2 โดส โดยมีครั้งแรกช่วง 2 เดือน และครั้งสุดท้ายคือช่วง 3 เดือน

โรคท้องร่วงระหว่างเดินทาง

ยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันคุณจากสาเหตุที่ทำให้เกิดท้องร่วงระหว่างเดินทาง (Travellers' diarrhoea) ได้ทั้งหมด

หากคุณต้องเดินทางไปต่างประเทศที่ซึ่งมีมาตรฐานสุขอนามัยต่ำ คุณควรเลี่ยง: น้ำก๊อก: หากไม่มั่นใจ ควรต้มน้ำให้เดือดเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งนาที น้ำแข็งก้อน อาหารดิบหรืออาหารจำพวกไข่ที่ปรุงไม่สุกดี เช่นมายองเนส นมที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอร์ไรส์ และผลิตภัณฑ์จากนมวัวต่าง ๆ เช่นชีส ผลไม้และผักที่มีผิวนอกเสียหาย สลัดผัก

คุณสามารถทานหรือดื่มอาหารต่อไปนี้อย่างปลอดภัย: อาหารที่ผ่านการปรุงสุกและนำมาเสิร์ฟขณะที่ยังร้อนอยู่ ขวดหรือกระป๋องน้ำที่ผนึกอย่างแน่นหนา ผลไม้และผักที่คุณปอกเอง ชา หรือกาแฟ

หากคุณกำลังวางแผนไปต่างประเทศ ควรตรวจหาคำแนะนำด้านสุขภาพก่อนเดินทางไปยังประเทศนั้น ๆ ทุกครั้ง

บทความที่เกี่ยวข้อง
วัคซีนโรตาไวรัส (Rotavirus vaccine)


11 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Diarrhea: Causes, treatment, and symptoms. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/158634)
Diarrhea - MedlinePlus (https://medlineplus.gov/diarrhea.html)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)