กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

Ulcerative Colitis (ลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล)

เผยแพร่ครั้งแรก 11 ม.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 8 นาที

โรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล (Ulcerative Colitis) เป็นโรคที่มีการอักเสบชองเยื่อบุผนังลำไส้ใหญ่เรื้อรัง ทำให้เกิดแผลขึ้นในลำไส้ใหญ่ซึ่งนำไปสู่การสร้างเลือด หนอง และมูก โดยลำไส้เล็กมักไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะนี้ ซึ่งการที่มีทั้งการอักเสบและการเกิดแผลทำให้เกิดอาการไม่สบายท้อง ลำไส้เคลื่อนที่บ่อย และถ่ายอุจจาระเป็นเลือดได้

ชนิดของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล (Ulcerative Colitis)

โรคนี้สามารถแบ่งได้เป็นหลายชนิดขึ้นกับตำแหน่งของลำไส้ใหญ่ที่เป็นโรค

  • Ulcerative proctitis: มีลำไส้ตรงเพียงส่วนเดียวที่เป็นโรค
  • Proctosigmoiditis: ลำไส้ตรงและส่วนล่างสุดของลำไส้ใหญ่ที่เรียกว่า sigmoid colon เป็นโรค
  • Left-sided colitis: เกิดที่ลำไส้ตรง ลำไส้ใหญ่ส่วน sigmoid ลำไส้ใหญ่ส่วน descending จนถึงแนวโค้งของลำไส้บริเวณใกล้ ๆ ม้าม
  • Pan-ulcerative หรือ total colitis เกิดกับลำไส้ใหญ่ทุกส่วน

โรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล (Ulcerative Colitis) เป็นโรคลำไส้อักเสบ (Inflammatory bowel disease) ประเภทหนึ่ง แต่ไม่เหมือนกับโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome – IBS) โดยถึงแม้ว่าโรคนี้สามารถมีอาการที่คล้ายคลึงกับโรคลำไส้แปรปรวนเช่นปวดท้องและท้องเสียได้ แต่ในโรคลำไส้แปรปรวนจะไม่พบการอักเสบหรือแผลภายในลำไส้

ความชุกของการเกิดโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล (Ulcerative Colitis)

โรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล (Ulcerative Colitis) พบได้ในชาวอเมริกันประมาณ 700,000 คน อ้างอิงจาก Crohn’s & Colitis Foundation of America

ผู้ทีมีเชื้อสายคอเคเซียนมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ได้มากกว่ากลุ่มแอฟริกัน – อเมริกันหรือกลุ่มฮิสแปนิก พบการเกิดโรคนี้ได้มากที่สุดในซีกโลกเหนือและตะวันตก และพบได้น้อยที่สุดในเอเชีย ผู้ที่มีเชื้อสาย Ashkenazi Jewish เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมากเป็นพิเศษ โดยโรคนี้มักพบว่ามีประวัติครอบครัวที่เป็นโรค และเกิดได้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิงเท่า ๆ กัน

สาเหตุของการเกิดโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล (Ulcerative Colitis)

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าโรคนี้เป็นผลจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ระบบภูมิคุมกันที่ทำงานไม่ได้ และความเสี่ยงทางพันธุกรรมร่วมกัน แม้ว่าจะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดแต่พบว่าการรับประทานอาหารและความเครียดอาจทำให้อาการของโรคเป็นมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น มีงานวิจัยที่แสดงว่าการรับประทานอาหารที่มีไขมันชนิด trans ซึ่งพบในอาการที่ผ่านการแปรรูป จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรค ในขณะที่การรับประทานอาหารที่มีไขมัน Omega-3 จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรค ซึ่งไขมันชนิดนี้สามารถพบได้มากในปลาที่มีไขมันที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำเย็น เช่น กลุ่ม Mackerel, ปลาทูน่า, ปลาแซลมอน, ปลาซาร์ดีน และปลาแฮร์ริ่ง เป็นต้น

อาการของโรคลำไส้อักเสบชนิดเป็นแผล (Ulcerative Colitis)

อาการที่สามารถพบได้บ่อยที่สุดของโรคลำไส้อักเสบชนิดเป็นแผล (Ulcerative Colitis) คือการที่มีอาการปวดท้องหรือท้องเสียซึ่งมักมีเลือดออกหรือหนองปน โดยโรคและอาการต่างๆเหล่านี้มักจะค่อย ๆ เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ     

เมื่อโรคมีความรุนแรงมากขึ้น อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น

  • ปวดหรือมีเลือดออกทางทวารหนัก
  • เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลด
  • ปวดถ่ายอุจจาระ
  • ไม่สามารถถ่ายอุจจาระได้แม้จะปวดถ่าย
  • อ่อนเพลียมาก
  • มีไข้
  • มีแผลที่ผิวหนัง
  • ปวดข้อ
  • เด็กไม่เจริญเติบโต

อาการต่าง ของโรคเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นและหายไปเป็นช่วง ๆ ตามการกำเริบของโรค ซึ่งโรคเหล่านี้สามารถหายได้นานหลายหรือหลายปี จึงทำให้เป็นอุปสรรค์ต่อการระบุว่าควรจะรักษาอย่างไรเพื่อจะช่วยควบคุมโรคเหล่านี้ได้

การตรวจทางห้องปฏิบัติการและการวินิจฉัย

คุณควรไปพบแพทย์หากมีอาการต่าง ๆ ต่อไปนี้

  • มีการเปลี่ยนแปลงของการขับถ่าย (ท้องเสียติดต่อกันหลายสัปดาห์)
  • ถ่ายบ่อย
  • ปวดท้อง
  • ถ่ายมีมูกเลือดปน
  • ตื่นนอนตอนกลางคืนเพราะมีอาการท้องเสีย
  • มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุนานกว่า 1-2 วัน

ซึ่งการทดสอบทางห้องปฏิบัติการอาจจะทำให้งานวินิจฉัยของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดที่เป็นแผล (Ulcerative Colitis) และสามารถตัดโรคต่างที่อาจจะเป็นไปได้ออกไป โดยการทดสอบนี้ประกอบด้วย

  • การตรวจเลือดเพื่อดูภาวะซีดและการติดเชื้อ
  • การตรวจอุจจาระเพื่อประเมินภาวะอื่นที่อาจทำให้มีอาการคล้ายกับโรคนี้ เช่นการติดเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อปรสิต และการได้รับสารพิษบางชนิด
  • การส่องกล้องทางทวารหนัก เพื่อตรวจภายในลำไส้ใหญ่และตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อส่งตรวจเพิ่มเติม
  • Flexible sigmoidoscopy เพื่อเข้าไปดูภายในลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย
  • เอกซเรย์ เพื่อดูภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
  • การทำ Barium Enema คือการกลืนแป้งทึบรังสีก่อนถ่ายภาพเอกซเรย์
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกรานเพื่อประเมินว่าลำไส้ใหญ่มีการอักเสบถึงระดับไหน และมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเกิดขึ้นหรือไม่

ในการวินิจฉัยที่แน่ชัดนั้นมักจะมาจากการส่องกล้องไม่ว่าจะเป็นการนำกล้องส่องไปทางทวารหนักแบบ colonoscopy หรือแบบ sigmoidoscopy โดยแพทย์จะใส่ endoscope ซึ่งเป็นท่อที่สามารถบิดงอได้ที่มีกล้องและไฟอยู่ภายในเข้าไปทางทวารหนักและผ่านเข้าไปยังลำไส้ใหญ่ และวิธีนี้ยังทำให้แพทย์สามารถมองเห็นเยื่อบุผนังลำไส้ใหญ่หรือสามารถนำชิ้นเนื้อออกมาตรวจได้

อาการแสดงของภาวะฉุกเฉิน

การอักเสบของลำไส้ใหญ่อย่างเฉียบพลันแบบรุนแรงหรือเรียกว่า toxic หรือ fulminant colitis และยังเป็นภาวะแทรกซ้อนฉุกเฉินที่สามารถก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดย Toxic colitis จะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ หรืออาจจะเกิดจากใช้ยาบางกลุ่ม อาทิเช่น ยาลดอาการท้องเสียหรือยาแก้ปวดบางชนิดในปริมาณที่มากเกินไป

อาการแสดงของภาวะนี้ประกอบด้วย

  • ท้องเสียอย่างฉับพลัน รุนแรง
  • ไข้สูง
  • ปวดท้อง
  • เจ็บขณะที่แพทย์ทำการปล่อยมือหลังการกดท้อง (Rebound tenderness)
  • ชีพจรเต้นเร็ว
  • สับสน

Rebound tenderness ถือเป็นอาการของการอักเสบบริเวณเยื่อบุช่องท้อง และหากคุณมีการอักเสบของลำไส้ใหญ่อย่างเฉียบพลันรุนแรง แพทย์อาจให้คุณนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งในบางกรณีแพทย์จะสั่งยาในกลุ่ม corticosteroid ที่มีปริมาณสูงทางเส้นเลือดดำเพื่อควบคุมอาการดังกล่าว ถ้าหากใช้วิธีนี้แล้วไม่ได้ผล แพทย์อาจจะต้องเปลี่ยนแผนการรักษาโดยการใช้ยาชนิดอื่น ในบางครั้งอาจจะทำการรักษาโดยการผ่าตัดส่วนของลำไส้ที่เป็นโรคออกไป

การรักษาโดยการใช้ยาเป็นการรักษาเบื้องต้นของโรคนี้ แต่ในบางครั้งอาจจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

เป้าหมายของการรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล (Ulcerative Colitis) คือ

  • รักษาอาการขณะที่โรคกำเริบ
  • ทำให้โรคเข้าสู่ช่วงสงบ
  • ทำให้โรคสงบนานขึ้น

ซึ่งในช่วงแรกแพทย์จะสั่งจ่ายยาเพื่อรักษาอาการอักเสบของลำไล้ใหญ่ ถ้าหากใช้ยาแล้วไม่ได้ผลหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนฉุกเฉินขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ทำการผ่าตัดเพื่อตัดลำไส้บางส่วนหรือทั้งหมดออก และในบางครั้งก็อาจจะต้องตัดส่วนของลำไส้ตรงด้วยเช่นกัน

การรักษาโดยใช้ยา

ในการใช้ยาจะช่วยลดอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่ ทำให้เนื้อเยื่อสามารถฟื้นตัวได้และยังสามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย เช่น อาการท้องเสียหรืออาการปวดท้อง

โดยทั่วไปแพทย์จะสั่งยาดังต่อไปนี้

  • ยาลดการอักเสบกลุ่ม aminosalicylates ใช้รักษาเมื่อมีอาการกำเริบหรือป้องกันการเกิดเป็นซ้ำระหว่างการรักษาระยะยาว
  • Corticosteroids ใช้รักษาโรคเมื่อกำเริบ
  • ยายับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันใช้รักษาเมื่อโรคกำเริบและป้องกันการเกิดเป็นซ้ำระหว่างการรักษาระยะยาว

ยาอื่น ๆ ที่แพทย์อาจใช้รักษาประกอบด้วย

  • ยาปฏิชีวนะ เมื่อมีไข้
  • ยาลดอาการท้องเสีย
  • ยาแก้ปวดเช่นพาราเซตามอล (ที่ไม่ใช่กลุ่ม ibuprofen,naproxen หรือ diclofenac ซึ่งจะทำให้อาการแย่ลง)
  • การรับประทานเหล็กเสริมหากมีการเสียเลือดเรื้อรัง

การผ่าตัด

การผ่าตัดอาจเป็นสิ่งที่จำเป็นหากมีภาวะดังต่อไปนี้

  • มีอาการของภาวะ toxic หรือ fulminant colitis อย่างรุนแรงฉับพลันซึ่งไม่ดีขึ้นจากการใช้ยาและการรักษาแบบประคับประคองในโรงพยาบาล
  • Toxic megacolon คือภาวะที่มีลำไส้โป่งขยายจนเป็นอันตราย
  • อาการไม่ดีขึ้นหลังจากให้การรักษาด้วยยาหลายประเภท
  • มีเซลล์ผิดปกติภายในลำไส้ซึ่งแสดงว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้มาก
  • มีอาการของโรคเกิดขึ้นที่อวัยวะอื่นนอกจากลำไส้

การทำการผ่าตัดจะทำการตัดลำไส้ออกมาบางส่วนหรือทั้งหมด หรืออาจจะรวมไปถึงลำไส้ตรงเลยก็ว่าได้ และหากมีการตัดลำไส้ตรงออก ทางแพทย์จะทำการสร้างทางออกของของเสียใหม่ให้กับร่างกาย อาทิเช่นการทำ proctocolectomy ซึ่งหมายถึงการตัดลำไส้ใหญ่และไส้ตรงออกทั้งหมด จะมีการเปิดถึงหน้าท้องที่เรียกว่า ileostomy โดยแพทย์จะทำการเปิดผนังบริเวณหน้าท้องเป็นรูเล็กๆ ก่อนที่จะนำลำไส้ส่วนปลายมาต่อกับรูเปิด ซึ่งจะทำให้ร่างกายสามารถขับของเสียมายังทางนี้ได้เลย โดยที่แพทย์อาจจะทำการต่อลำไส้เล็กเข้ากับลำไส้ตรงด้วยการผ่าตัดที่เรียกว่า ileorectal anastomosis ซึ่งคุณจะสามารถขับถ่ายเกือบเหมือนปกติ

แต่อย่างไรก็ตามอาจมีการรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล (Ulcerative Colitis) ด้วยการใช้ยาต่อหลังการทำการผ่าตัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในการผ่าตัดชนิด ileoanal anastomosis คือการที่แพทย์นำลำไส้เล็กส่วนปลายมาต่อกับกล้ามเนื้อชั้นนอกของทวารหนัก ทำให้เกิดกระเปาะเพื่อเก็บของเสียก่อนการขับถ่าย และการผ่าตัดดังกล่าวอาจจะทำให้สามารถขับถ่ายอุจจาระผ่านทางทวารหนักได้เกือบเป็นปกติอีกด้วย

การรักษาที่บ้าน

การปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตมีอยู่หลากหลายวิธีที่สามารถช่วยควบคุมอาการของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบและยังช่วยลดความเครียดจากการอยู่กับโรคนี้ได้อีกด้วย

โดยควรปรึกษาแพทย์ก่อนทดลองรักษาโรคด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อแทนการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ 3 มื้อทุกวันจะช่วยลดอาการไม่สบายท้องที่เกิดขึ้นหลังรับประทานอาหาร
  • การรับประทาน probiotics หรือจุลชีพ ที่ช่วยส่งเสริมแบคทีเรียชนิดดีที่อาศัยอยู่ภายในลำไส้ ซึ่งอาจจะช่วยทำให้โรคสงบได้นานขึ้น อาหารที่มักมีจุลชีพเหล่านี้เช่นโยเกิร์ต และอาหารสดที่นำไปหมักเช่น sauerkraut และ miso
  • Curcumin เป็นสารที่อยู่ในเครื่องแกง มีฤทธิ์ลดการอักเสบและอาจช่วยอาจรับประทานคู่กับยาที่ใช้รักษาโรค อย่างไรก็ตามยังต้องการหลักฐานสนับสนุนจากงานวิจัยเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพของสารนี้ต่อการรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล (Ulcerative Colitis)
  • เมล็ด Psyllium เป็นเส้นใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำรูปแบบหนึ่งซึ่งมักใช้เป็นยาถ่าย จะสามารถช่วยให้โรคสงบได้นานขึ้นในบางคน แต่อาจก่อให้เกิดการระคายในผู้ป่วยบางคน
  • อาหารที่มีเส้นใยอาหารปริมาณมาก เช่น flaxseed และรำข้าวโอ๊ตอาจช่วยในผู้ป่วยบางราย แต่อาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้
  • การฝึกร่างกายและจิตใจเช่นการทำ Tai chi และโยคะอาจช่วยลดความเครียดจากการเป็นโรคเรื้อรัง

การรักษาทางเลือก

ถึงแม้ว่าในยุคปัจจุบันโรคลำไส้ใหญ่อักเสบจะยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้และยังมีความยากลำบากในการอยู่ร่วมกับโรค แต่นักวิจัยก็ยังคงทำการศึกษาและค้นหาวิธีการรักษาที่ดีขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างเช่น

  • มีงานวิจัยในคนอย่างน้อย 1ชิ้นที่ระบุว่าการกลืนไข่ของพยาธิ Trichiuris suis ซึ่งไม่มีผิดจะช่วยทำให้โรคสงบในผู้ป่วยบางราย การรักษาวิธีนี้ยังอยู่ในระหว่างการวิจัยขั้นต่อไป
  • การใช้แผ่นแปะนิโคตินอาจช่วยลดอาการระยะสั้นของโรคได้ แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ผลระยะยาวได้ ผลข้างเคียงจากการใช้วิธีนี้ประกอบด้วยมึนหัว ปวดหัว มีปัญหาด้านการนอนหลับ และอาการคัน
  • มีการศึกษาบางชิ้นที่ระบุว่าการฝังเข็มอาจช่วยบรรเทาอาการ

ภาวะแทรกซ้อน

โรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล (Ulcerative Colitis) มักเริ่มมีอาการเมื่ออายุระหว่าง 15-40 ปี หรือระหว่าง 50-80 ปี โดยมักจะมีอาการไม่สบายท้องและท้องเสียเป็นช่วง ๆ ขณะที่โรคมีการกำเริบสลับกับการไม่มีอาการในช่วงที่โรคสงบ

โดยทั่วไปแล้วยิ่งมีลำไส้ใหญ่ที่เป็นโรคมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะทำให้โรครุนแรงมากขึ้น และอาการแย่ลงมากเท่านั้น โรคสามารถมีความรุนแรงได้มากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป โดยจะส่งผลกระทบต่อลำไส้ใหญ่ในบริเวณที่กว้างขึ้น

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากโรคนี้ประกอบด้วย

  • เลือดออกและภาวะซีด
  • การขาดน้ำ
  • การอักเสบของผิวหนัง ข้อและตา
  • ลำไส้ทะลุ

ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ของโรคนี้คือภาวะ Toxic หรือ Fulminant colitis ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีส่วนของลำไส้ใหญ่ขยายขึ้นและเคลื่อนที่ไม่ได้ ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกปริมาณมาก ผนังลำไส้ใหญ่ทะลุ หรือเยื่อหุ้มช่องท้องอักเสบได้มากขึ้น

การที่มีลำไส้ใหญ่บางส่วนมีการขยายตัวขึ้นนี้อาจเรียกว่า ลำไส้ใหญ่อักเสบแบบเฉียบพลันรุนแรง หรือ Toxic megacolon โดยอาการที่มักพบได้ในภาวะนี้คือปวดท้อง ท้องอืด มีไข้ และชีพจรเต้นเร็ว ในผู้ป่วยที่มีภาวะนี้หลายรายจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อตัดลำไส้ใหญ่และไส้ตรงบางส่วนหรือทั้งหมดออก

โรคนี้ยังอาจเกิดร่วมกับ

  • การมีเลือดแข็งตัว
  • แผลร้อนในในปาก
  • เด็กเจริญเติบโตช้าหรือมีพัฒนาการช้ากว่าปกติ
  • นิ่วในไต
  • โรคตับและถุงน้ำดี

ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมากกว่าคนทั่วไป และผู้ที่มีอาการรุนแรงจะมีความเสี่ยงสูงที่สุด

อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่าการรับประทานยาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดการกำเริบของโรคอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้


33 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Ulcerative Colitis | UC. MedlinePlus. (https://medlineplus.gov/ulcerativecolitis.html)
Ulcerative Colitis: Practice Essentials, Background, Anatomy. Medscape. (https://emedicine.medscape.com/article/183084-overview)
Ulcerative Colitis Symptoms, Diet, Treatment & Medication. MedicineNet. (https://www.medicinenet.com/ulcerative_colitis/article.htm)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้
เป็นคนท้องผูกบ่อยมาก ผลไม้ก็กินเป็นประจำ มีวิธีใหนช่วยลดอาการท้องผูกถาวรได้บ้างคะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
ปวดบิดท้องข้างซ้าย เวลาไม่ขับถ่าย เป็นอาการของโรคไรคะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
มีอาการเจ็บท้องก่อนถ่ายบางครั้งปวดจนหน้ามืด ไม่รู้เป็นอะไรแต่ก็เป็นบ่อยเดือนนึงก็ครั้งสองครั้ง พยายามกินผักผลไม้ให้ถ่ายง่ายก็ยังถ่ายยากอยู่ไม่ทราบว่าเป็นอะไรคะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
คนเราจะเป็นมะเร็งได้ทุกช่วงของอายุไหม
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
ท้องผูกบ่อยๆอาจเป็นโรคอะไรได้บ้างค่ะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
ท้องผูกบ่อยๆจะเป็นอันตรายไม๊ค่ะ แล้วมีวิธีแก้ไขยังไงบ้างค่ะให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)