มะเร็งตับอ่อน (Pancreatic cancer)

เผยแพร่ครั้งแรก 31 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 18 นาที
มะเร็งตับอ่อน (Pancreatic cancer)

มะเร็งตับอ่อน เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นกับเซลล์ในตับอ่อนซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่สร้างเอนไซม์ย่อยอาหารและฮอร์โมนที่สำคัญ ในช่วงแรกของโรคผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการใดๆ จึงเป็นโรคที่ยากต่อการวินิจฉัย ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเมื่อโรคมีความรุนแรงมากขึ้นแล้ว โดยอาการที่สามารถสังเกตเห็นได้ ได้แก่ ปวดหลังหรือปวดท้อง น้ำหนักลดลงแบบไม่ทราบสาเหตุ ดีซ่าน (jaundice) ซึ่งสังเกตได้จากอาการตัวเหลือง ตาเหลือง สำหรับการรักษาจะทำโดยการผ่าตัด การใช้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี

บทนำมะเร็งตับอ่อน

มะเร็งตับอ่อน มีสาเหตุมาการเจริญเติบโตที่ผิดปกติและควบคุมไม่ได้ของเซลล์ในตับอ่อน จัดเป็นต่อมขนาดใหญ่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบย่อยอาหาร

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยรายใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็งตับอ่อนจะมีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นโรคที่พบได้น้อยในผู้ที่อายุน้อยกว่า 40 ปี

อาการของมะเร็งตับอ่อน

ในระยะแรกของโรค ก้อนมะเร็งในตับอ่อนจะยังไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ ทำให้ในช่วงแรกยากต่อการวินิจฉัย

สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้ก็คืออาการทั้งหลายที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากโรคอื่นๆ ได้หลายโรค โดยทั่วไปจะไม่ได้เกิดจากโรคมะเร็ง แต่คุณควรเข้าพบแพทย์หากคุณมีความกังวลเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น หรืออาการนั้นเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน

อาการที่สังเกตเห็นได้ในระยะแรกของโรคมะเร็งตับอ่อนมักมีอาการดังนี้:

  • ปวดหลังหรือปวดท้อง-ซึ่งอาจเป็นๆ หายๆ ในตอนแรก และอาการมักแย่ลงเมื่อคุณนอนลง หรือหลังจากรับประทานอาหารแล้ว
  • น้ำหนักลดลงแบบไม่ทราบสาเหตุ
  • ดีซ่าน (jaundice)-ซึ่งสังเกตเห็นได้จากผิวหนังมีสีเหลือง ตาขาวมีสีเหลือง และอาจทำให้ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม หรือสีส้ม และอุจจาระมีสีซีดได้

อาการอื่นๆ ที่เป็นไปได้ของโรคมะเร็งตับอ่อน ได้แก่:

คุณอาจเป็นโรคเบาหวานระหว่างการเป็นมะเร็งตับอ่อนได้ เพราะมะเร็งตับอ่อนจะสร้างสารเคมีที่รบกวนการทำงานตามปกติของฮอร์โมนอินซูลิน (insulin)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สาเหตุของมะเร็งตับอ่อน

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของมะเร็งตับอ่อนอย่างแน่ชัด แต่มีปัจจัยหลายปัจจัยที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับอ่อน

ปัจจัยเสี่ยงของการเป็นมะเร็งตับอ่อน ได้แก่

  • อายุ-มะเร็งตับอ่อนพบมากในผู้ที่มีอายุ 50-80 ปี
  • การสูบบุหรี่-ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนมีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ
  • มีประวัติเป็นโรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน, โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง (chronic pancreatitis), แผลในกระเพาะอาหาร (stomach ulcer) และการติดเชื้อ Helicobacter pylori ซึ่งเป็นการติดเชื้อในกระเพาะอาหาร

ประมาณ 1 ใน 10 ของผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อน มีการถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ที่เป็นมะเร็งตับอ่อน เพราะมียีนที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีภาวะตับอ่อนอักเสบ ทำให้คุณมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับอ่อนเพิ่มขึ้นด้วย

การวินิจฉัยมะเร็งตับอ่อน

แพทย์จะทำการสอบถามสภาวะทางสุขภาพโดยรวม และทำการตรวจร่างกายให้กับคุณ แพทย์อาจทำการตรวจช่องท้องเพื่อดูว่ามีก้อนเนื้อผิดปกติ และเพื่อดูว่าตับโตหรือไม่

นอกจากนี้แพทย์ยังตรวจดูผิวหนังและตาของคุณเพื่อดูว่ามีอาการดีซ่านหรือไม่ และอาจให้คุณตรวจปัสสาวะและตรวจเลือดด้วย

หากแพทย์สงสัยว่าคุณจะเป็นมะเร็งตับอ่อน คุณจะได้รับการส่งต่อไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการตรวจเพิ่มเติม ซึ่งอาจเป็นการตรวจดังต่อไปนี้:

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • การตรวจสแกนอัลตราซาวด์
  • การทำซีทีแสกน/การตรวจสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computerized tomography (CT) scan)
  • การตรวจเอ็มอาร์ไอ/การตรวจสแกนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging (MRI) scan)
  • การตรวจ PET scan (positron emission tomography (PET) scan)-ซึ่งจะมีการฉีดสารกัมมันตรังสีปริมาณเล็กน้อยเข้าสู่ร่างกาย เพื่อช่วยให้เห็นภาพถ่ายรังสีที่ชัดเจนมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการตรวจเพิ่มเติมที่อาจทำ ซึ่งขึ้นกับผลการตรวจด้วยการสแกนข้างต้น:

  • การตรวจระบบทางเดินอาหารโดยการส่องกล้องที่ติดอัลตราซาวด์ (endoluminal ultrasonography (EUS) endoscopy)-เป็นชนิดของการส่องกล้องแบบหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เห็นภาพอัลตราซาวด์ของตับอ่อนที่ชัดเจนมากขึ้น
  • การส่องกล้องตรวจรักษาท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (endoscopic retrograde cholangiopancreatography (ERCP)- เป็นชนิดของการส่องกล้องแบบหนึ่ง ที่มีการฉีดสีชนิดพิเศษเข้าสู่ท่อน้ำดีและท่อตับอ่อน สีที่ฉีดเข้าไปจะแสดงให้เห็นผ่านการเอกซเรย์และทำให้มองเห็นก้อนมะเร็งได้
  • การใช้กล้องส่องตรวจช่องท้อง (laparoscopy)-เป็นกระบวนการผ่าตัดชนิดหนึ่งที่ช่วยให้ศัลยแพทย์มองเห็นอวัยวะภายในร่างกายโดยการใช้กล้องขนาดเล็ก ยืดหยุ่นได้

การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ คือการตัดชิ้นเนื้อตัวอย่างเล็กน้อยจากก้อนเนื้อที่สงสัย ซึ่งอาจทำขณะการทำการตรวจเหล่านี้

การรักษามะเร็งตับอ่อน

มะเร็งตับอ่อนเป็นมะเร็งชนิดที่ยากต่อการรักษา เพราะมักไม่ก่อให้เกิดอาการในระยะแรกของโรค ทำให้ไม่สามารถตรวจเจอได้ในช่วงแรกจนกระทั่งมะเร็งเข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว ยิ่งมะเร็งมีขนาดใหญ่ยิ่งรักษายากขึ้น

ถ้าคุณได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็งตับอ่อน การรักษาของคุณจะขึ้นกับชนิดและตำแหน่งที่เป็นมะเร็ง รวมถึงการแพร่กระจายของมะเร็งด้วยว่าแพร่กระจายไปมากเพียงใด นอกจากนั้นยังพิจารณาถึงอายุ ภาวะสุขภาพโดยรวม และความชอบส่วนบุคคลของตัวผู้ป่วยเองด้วย

เป้าหมายแรกในการรักษามะเร็งก็คือการกำจัดก้อนเนื้องอกและเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่ออกทั้งหมด แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ การรักษาจะมุ่งเน้นที่การป้องกันการเจริญเติบโตของก้อนเนื้องอกและป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายเพิ่มเติมกับร่างกายในอนาคต

การรักษามะเร็งตับอ่อน 3 วิธีหลัก คือ:

  • การผ่าตัด
  • การใช้ยาเคมีบำบัด
  • การฉายรังสี (radiotherapy)

มะเร็งตับอ่อนบางชนิดต้องการการรักษาเพียงวิธีเดียวเท่านั้น ในขณะที่บางชนิดอาจต้องการการรักษา 2 วิธี หรือใช้ร่วมกันทั้ง 3 วิธีดังกล่าว

การฟื้นตัวหลังการผ่าตัด

การฟื้นตัวภายหลังการผ่าตัดมะเร็งตับอ่อนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานานและมีกระบวนการที่ยาก

คุณจะมีอาการปวดภายหลังการผ่าตัด โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลจะต้องมั่นใจว่าคุณได้รับการบรรเทาอาการปวดอย่างเพียงพอ

ภายหลังการผ่าตัดใดๆ ก็ตามกับระบบทางย่อยอาหาร ลำไส้ของคุณจะหยุดการทำงานชั่วคราว ซึ่งหมายถึงคุณไม่สามารถรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องได้ทันทีภายหลังการผ่าตัด

คุณจะต้องค่อยๆ จิบน้ำทีละน้อย ก่อนที่จะเริ่มดื่มน้ำและรับประทานอาหารได้มากขึ้น คุณอาจได้รับการส่งต่อไปพบนักกำหนดอาหาร/นักโภชนาการ ที่จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาหารที่ควรรับประทานภายหลังการผ่าตัด

ภายหลังการผ่าตัดเอาเนื้องอกออกแล้ว คุณจะได้รับยาเคมีบำบัดเป็นเวลานาน 6 เดือน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการหายขาดได้ แต่เนื่องจากมะเร็งตับอ่อนเป็นมะเร็งที่ยากต่อการวินิจฉัยและรักษา ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถฟื้นตัวเองกลับได้อย่างสมบูรณ์เหมือนก่อนเป็นมะเร็ง

การรักษามีประสิทธิภาพสูงในการช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ให้กับคุณ และช่วยให้คุณรู้สึกสบายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ยาเคมีบำบัดจะช่วยลดขนาดของก้อนเนื้องอกและช่วยชะลอการเจริญเติบโตของก้อนมะเร็ง

การรักษาโรคมะเร็งตับอ่อน

การรักษาโรคมะเร็งตับอ่อนจะขึ้นกับชนิดของโรคมะเร็ง, ตำแหน่งของโรค และระยะของโรคมะเร็ง (การแพร่กระจายของโรคเป็นอย่างไร)

นอกจากนี้ อายุของคุณ, สภาวะทางสุขภาพโดยรวม และความชอบส่วนบุคคล เป็นประเด็นที่ใช้ในการพิจารณาขณะวางแผนการรักษาด้วย

เป้าหมายแรกในการรักษาโรคมะเร็งตับอ่อนก็คือ การกำจัดก้อนเนื้อออกอย่างสมบูรณ์ รวมถึงเซลล์มะเร็งที่หลงเหลืออยู่ในร่างกาย

หากไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ การรักษาจะมุ่งเน้นที่การป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและสร้างปัญหาให้กับร่างกายเพิ่มเติมอีก

ในบางครั้งก็ไม่สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งออกจากร่างกายได้หมด หรือไม่สามารถชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้มากนัก ในกรณีนี้เช่นการรักษาจะมุ่งเน้นในการบรรเทาอาการให้กับผู้ป่วย และช่วยให้ผู้ป่วยสบายตัวมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

มะเร็งตับอ่อนเป็นมะเร็งที่รักษายากมาก ในระยะแรกของโรคมะเร็ง มักไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ ทำให้ไม่สามารถตรวจเจอได้จนกว่ามะเร็งจะเริ่มลุกลามรุนแรงขึ้น ถ้าก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่หรือมีการแพร่กระจาย การรักษา หรือการคาดหวังให้หายขาดเป็นเรื่องที่ยากมาก

การขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการรักษาของคุณ

การตัดสินใจว่าการรักษาใดคือการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณถือเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งมีหลายวิธีที่สามารถเลือกได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือการพูดคุยกับเพื่อนหรือญาติเกี่ยวกับทางเลือกในการรักษาที่เป็นไปได้ก่อนตัดสินใจ

คุณควรขอรับคำปรึกษากับแพทย์ที่ดูแลคุณโดยละเอียด ซึ่งแพทย์สามารถให้ข้อมูลข้อดีและข้อเสียของแต่ละทางเลือกในการรักษาให้กับคุณได้

ไม่ว่างจะอยู่ในระยะใดของโรค หากคุณไม่เข้าใจเกี่ยวกับทางเลือกในการรักษาต่างๆ คุณสามารถสอบถามแพทย์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มากขึ้น

การรักษาหลัก 3 วิธีสำหรับมะเร็งตับอ่อน มีดังนี้:

  • การผ่าตัด
  • การใช้ยาเคมีบำบัด
  • การฉายรังสี

โรคมะเร็งตับอ่อนบางชนิดต้องการการรักษาเพียง 1 วิธีเท่านั้น ในขณะที่ชนิดอื่นๆ อาจต้องการการรักษา 2 วิธี หรือใช้ร่วมกันทั้ง 3 วิธี

การผ่าตัด

การผ่าตัดคือวิธีเดียวที่จะรักษามะเร็งตับอ่อนให้หายขาดได อย่างไรก็ตามเนื่องจากโรคมะเร็งตับอ่อนมักได้รับการวินิจฉัยเมื่อโรคมีอาการรุนแรงลุกลามแล้ว ทำให้การผ่าตัดมีความเหมาะสมประมาณ 15-20% ของผู้ป่วยทั้งหมดเท่านั้น

อย่างไรก็ตามการผ่าตัดไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสม หากก้อนมะเร็งขึ้นอยู่รอบๆ หลอดเลือดที่สำคัญ และถ้าเซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกจะไม่สามารถทำให้คุณหายขาดจากโรคได้

การผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งตับอ่อนเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่มีสภาวะสุขภาพโดยรวมอยู่ในระดับดีเท่านั้น เพราะการผ่าตัดตับอ่อนใช้เวลานานและมีความซับซ้อน รวมถึงกระบวนการฟื้นตัวหลังการผ่าตัดใช้เวลานาน

บางครั้งการผ่าตัดอาจมีความเสี่ยงมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับก็เป็นไปได้

แพทย์จะให้คำปรึกษาคุณว่าการผ่าตัดนั้นเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับคุณหรือไม่ ซึ่งกระบวนการผ่าตัดนั้นมีอยู่หลายวิธี โดยมีรายละเอียดดังนี้

การผ่าตัดแบบ Whipple procedure

การผ่าตัดแบบ Whipple procedure คือวิธีการผ่าตัดที่ใช้มากที่สุดในการรักษามะเร็งตับอ่อน โดยจะทำการผ่าตัดเอาตับอ่อนส่วนต้นออก

ศัลยแพทย์จะผ่าลำไส้เล็กส่วนต้น, ถุงน้ำดี และส่วนของท่อน้ำดีออกด้วย และบางกรณีอาจต้องผ่าตัดกระเพาะอาหารออกบางส่วนด้วย

ส่วนปลายของท่อน้ำดีและตับอ่อนส่วนที่เหลืออยู่จะถูกเชื่อมต่อกับลำไส้เล็ก เพื่อให้น้ำดี ฮอร์โมน และเอนไซม์ที่ผลิตจากตับอ่อนยังสามารถหลั่งเข้าสู่ระบบของคุณได้อยู่

ภายหลังการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับเอนไซม์เพื่อช่วยย่อยอาหาร

การผ่าตัดแบบ Whipple procedure เป็นการผ่าตัดที่ใช้เวลานานและมีความละเอียดซับซ้อน แต่การผ่าตัดนี้จะฟื้นตัวได้ง่ายกว่าการผ่าตัดแบบ  total pancreatectomy (รายละเอียดด้านล่าง)

การผ่าตัดแบบ distal pancreatectomy

การผ่าตัดแบบ distal pancreatectomy คือการผ่าตัดเอาตับอ่อนส่วนกลางและส่วนท้ายออก

การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ ม้ามมักได้รับการผ่าตัดออกไปพร้อมกับการผ่าตัดตับอ่อน ส่วนของกระเพาะอาหาร, ลำไส้, ต่อมหมวกไตด้านซ้าย, ไตด้านซ้าย และกระบังลมด้านซ้าย (กล้ามเนื้อที่แยกช่องอกออกจากช่องท้อง) อาจถูกตัดออกไปพร้อมกันด้วย

การผ่าตัดวิธีนี้จะเหมือนกับการผ่าตัดแบบ Whipple procedure คือ เป็นการผ่าตัดที่ใช้เวลานานและมีความซับซ้อน ซึ่งจะไม่ทำการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ยกเว้นแพทย์คิดว่ามีความจำเป็น

การผ่าตัดแบบ total pancreatectomy

ระหว่างการผ่าตัดแบบ total pancreatectomy เป็นการผ่าตัดเอาตับอ่อนออกทั้งหมด ซึ่งอาจจำเป็นต้องทำเนื่องจากตำแหน่งของก้อนเนื้องอก

ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดส่วนอื่นๆ ออกด้วย ได้แก่:

  • ท่อน้ำดี
  • ถุงน้ำดี
  • ม้าม
  • บางส่วนของลำไส้เล็ก
  • บางส่วนของกระเพาะอาหาร (ทำในบางกรณี)
  • ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง (ส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน)

ภายหลังการผ่าตัดแบบ total pancreatectomy คุณจำเป็นต้องได้รับเอนไซม์ทดแทนเพื่อช่วยในการย่อยอาหาร และคุณจะป่วยเป็นโรคเบาหวานตลอดชีวิตเพราะตับอ่อนมีหน้าที่ผลิตอินซูอิน (insulin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย

การผ่าตัดม้ามออกจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข็งตัวของเลือด ซึ่งหมายถึงคุณจะต้องรับประทานยา เพนนิซิลิน (penicillin) ไปตลอดชีวิต (หรือยาทางเลือกอื่น หากคุณแพ้ยาเพนนิซิลิน) และยังจำเป็นต้องรับการฉีดวัคซีนเป็นประจำด้วย

ในบางกรณี คุณอาจจำเป็นต้องรับประทานยาเม็ดในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อยับยั้งการเกาะกลุ่มกันของเกร็ดเลือด เกร็ดเลือดคือเซลล์เม็ดเลือดชนิดหนึ่งที่ทำให้เลือดแข็งตัว

การผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาหาร

แม้ว่าการผ่าตัดจะไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับคุณในการผ่าเอาก้อนมะเร็งออก แต่คุณจะได้รับคำแนะนำให้ทำการผ่าตัดเพื่อช่วยบรรเทาอาการให้กับคุณ

การผ่าตัดชนิดนี้ไม่ได้ทำให้โรคมะเร็งหายขาด แต่จะช่วยให้สภาวะโรคของคุณจัดการได้ง่ายขึ้น และช่วยให้คุณรู้สึกสบายมากขึ้น

ในการควบคุมอาการดีซ่าน จะมีการผ่าตัดเพื่อใส่อุปกรณ์ขดลวด (stent) เพื่อขยายท่อน้ำดีระหว่างการส่องกล้องตรวจรักษาท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (endoscopic retrograde cholangiopancreatography (ERCP) ซึ่งจะช่วยให้ท่อน้ำดีเปิดอยู่ และป้องกันไม่ให้สารเคมีสีเหลืองที่อยู่ในน้ำดี คือสารบิลิรูบิน (bilirubin) เกิดการสะสมและทำให้มีอาการดีซ่าน

หากการใส่อุปกรณ์ขดลวดเพื่อขยายท่อน้ำดีไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับคุณ คุณอาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินน้ำดี (bypass) ให้กับท่อน้ำดีทีมีการอุดตันอยู่ โดยศัลยแพทย์จะตัดต่อท่อน้ำดีก่อนถึงจุดที่มีการอุดตันและไปเชื่อมต่อกับลำไส้เล็ก ทำให้สามารถระบายน้ำดีได้

การผ่าตัดชนิดนี้ไม่ยุ่งยากซับซ้อนเท่ากับการผ่าตัดที่ตับอ่อนโดยตรง โดยระยะเวลาในการฟื้นตัวจะเร็วกว่า และทำให้อาการดีซ่านของผู้ป่วยดีขึ้นอย่างชัดเจน

การใช้ยาเคมีบำบัด (chemotherapy)

ยาเคมีบำบัดคือชนิดหนึ่งของการรักษาโรคมะเร็ง โดยการใช้ยาเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่อยู่ในร่างกาย หรือเพื่อยับยั้งการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง

การรักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดมักทำร่วมกับการผ่าตัดและการฉายรังสี เพื่อให้มั่นใจว่าเซลล์มะเร็งจะถูกทำลายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ยาเคมีบำบัดอาจให้ในช่วงเวลาดังนี้:

  • ให้ก่อนการผ่าตัด-เพื่อพยายามลดขนาดของก้อนมะเร็ง ทำให้ศัลยแพทย์มีโอกาสผ่าตัดเอามะเร็งออกทั้งหมดได้มากขึ้น
  • ให้หลังการผ่าตัด-เพื่อลดความเสี่ยงที่มะเร็งจะกลับมาเป็นซ้ำ
  • ให้เมื่อไม่สามารถทำการผ่าตัดได้-เพื่อพยายามลดขนาดของก้อนมะเร็ง, ชะลอการเจริญเติบโตของมะเร็ง และช่วยบรรเทาอาการให้กับผู้ป่วย

ยาเคมีบำบัดบางชนิดจะเป็นแบบชนิดเม็ดรับประทาน แต่บางชนิดจะเป็นแบบชนิดเข้าหลอดเลือดดำ

ยาเคมีบำบัดนอกจากทำลายเซลล์มะเร็งแล้ว ตัวยายังไปทำลายเซลล์ปกติ เซลล์สุขภาพดีอื่นๆ ด้วย จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมยาเคมีบำบัดจึงก่อให้เกิดผลข้างเคียงหลายประการ โดยผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย มีดังนี้:

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นมักเป็นชั่วคราว และควรมีอาการดีขึ้นเมื่อการรักษาสิ้นสุดลง

ยาเคมีบำบัดสามารถใช้ร่วมกันหลายตัวได้ ดังนั้นแพทย์อาจแนะนำให้คุณใช้ยาเคมีบำบัด 1 ชนิด หรือใช้ร่วมกัน 2 หรือ 3 ตัวยาก็ได้

การใช้ยาเคมีบำบัดผสมกันหลายชนิดจะช่วยให้มีโอกาสในการลดขนาดก้อนมะเร็งและช่วยควบคุมโรคมะเร็งได้ดีขึ้น แต่ก็เป็นการเพิ่มผลข้างเคียงเช่นกัน ในบางกรณีการใช้ยาเคมีบำบัดอาจมีความเสี่ยงมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับ

การฉายรังสี/การฉายแสง/รังสีรักษา (radiotherapy)

การฉายรังสี คือหนึ่งในวิธีการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งจะใช้รังสีพลังงานสูงฉายเข้าไปเพื่อลดขนาดก้อนมะเร็งและบรรเทาอาการปวด

ผลข้างเคียงของการฉายรังสี ได้แก่:

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นมักเป็นชั่วคราวเท่านั้น และควรมีอาการดีขึ้นภายหลังการรักษาสิ้นสุดลง

อาการของโรคมะเร็งตับอ่อน

ในระยะแรกของโรค มะเร็งตับอ่อนมักไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ

แท้จริงแล้วตับอ่อนแบ่งเป็น 2 ต่อมอยู่ภายใน และอาการที่เกิดขึ้นขึ้นกับว่าส่วนใดของตับอ่อนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งแบ่งเป็น:

  • ตับอ่อนส่วนต่อมมีท่อ (exocrine pancreas) จะผลิตเอนไซม์ย่อยอาหาร ทำหน้าที่ย่อยอาหารเพื่อให้ร่างกายดูดซึมอาหารได้
  • ตับอ่อนส่วนต่อมไร้ท่อ (endocrine pancreas) จะผลิตฮอร์โมน ได้แก่ อินซูลิน (insulin) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกายให้คงที่

ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนจะเกิดขึ้นที่ตับอ่อนส่วนต่อมมีท่อ ทำให้มีอาการที่พบบ่อย 3 อาการ ได้แก่:

  • ปวดบริเวณกระเพาะอาหารหรือปวดหลัง
  • ดีซ่าน (ตัวเหลือง ตาเหลือง)
  • น้ำหนักลด

สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้ก็คืออาการทั้งหลายข้างต้นสามารถเกิดจากโรคอื่นๆ และมักไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตาม คุณควรเข้าพบแพทย์หากคุณมีความกังวล หรืออาการที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นแบบกะทันหัน

อาการปวดบริเวณกระเพาะอาหาร หรือ ปวดหลัง

มะเร็งตับอ่อนสามารถทำให้มีอาการปวดตื้อๆ ที่ช่องท้องส่วนบน และอาจปวดลามไปที่หลังได้

ในตอนเริ่มต้น อาการปวดอาจเป็นๆ หายๆ แต่เมื่อก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้น อาการปวดอาจเป็นนานขึ้น หรือเป็นเกือบตลอดเวลา

อาการปวดที่เกิดขึ้นมักมีอาการแย่ลงเมื่อนอนลง หรือภายหลังการรับประทานอาหาร คุณอาจมีอาการปวดหรืออาการกดเจ็บที่หน้าท้องได้ ถ้าตับ ตับอ่อน หรือถุงน้ำดีของคุณโตขึ้น

น้ำหนักลด

มะเร็งหลายๆ ชนิดจะทำให้ผู้ป่วยมีน้ำหนักลด เพราะเซลล์มะเร็งในร่างกายจะแย่งเอาสารอาหารที่เซลล์ปกติต้องการใช้ไป

มะเร็งตับอ่อนมีแนวโน้มสูงที่จะทำให้น้ำหนักตัวลดลงมากกว่ามะเร็งชนิดอื่นบางชนิด เพราะตับอ่อนมีหน้าที่ผลิตเอนไซม์ย่อยอาหาร ซึ่งทำหน้าที่ย่อยอาหารเพื่อให้ร่างกายดูดซึมไปใช้ได้

เมื่อก้อนมะเร็งขัดขวางกระบวนการผลิตเอนไซม์เหล่านี้ ทำให้ร่างกายย่อยอาหารได้ยากขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง

ผลสุดท้ายคือ ทำให้ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวลดลงเนื่องจากมีภาวะขาดสารอาหาร (malnourished)

ดีซ่าน (jaundice)

ดีซ่าน คือ สภาวะที่ร่างกายมีการสะสมของสารสีเหลือง-น้ำตาล ชื่อว่า บิลิรูบิน (bilirubin) โดยมีการสะสมในเลือดและในเนื้อเยื่อของร่างกาย

อาการที่สังเกตเห็นได้ชัดของดีซ่านก็คือ ตัวเหลือง ตาเหลือง รวมถึงทำให้ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม หรือสีส้ม และอุจจาระมีสีซีดด้วย

บิลิรูบิน คือ ของเสียชนิดหนึ่งที่ผลิตจากตับและจะขับออกจากร่างกายผ่านท่อน้ำดีและเข้าสู่ลำไส้ต่อไป

ดีซ่าน มักเป็นอาการแสดงของโรคอื่นมากกว่าโรคมะเร็ง เช่น นิ่วในถุงน้ำดี (gallstones) หรือตับอักเสบ (hepatitis)

อย่างไรก็ตาม ก้อนมะเร็งอาจเกิดขึ้นที่ตับอ่อนส่วนต้นและทำให้ท่อน้ำดีอุดตัน ส่งผลให้เกิดการสะสมของสารบิลิรูบินในร่างกาย

เบาหวาน

ตับอ่อนมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (insulin) หากไม่มีฮอร์โมนอินซูลินจะส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลที่อยู่ในเลือดเข้าสู่เซลล์ได้

อาการหลักของโรคเบาหวาน ได้แก่:

  • หิวน้ำมาก
  • ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน
  • อ่อนเพลียมาก
  • น้ำหนักลด และสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ

คุณอาจเป็นโรคเบาหวานได้ถ้าคุณเป็นมะเร็งตับอ่อน เพราะอาจมีการสร้างสารเคมีที่มาขัดขวางการออกฤทธิ์ตามปกติของอินซูลินได้

อาการอื่นๆ

อาการอื่นๆ ของมะเร็งตับอ่อน ได้แก่:

  • คัน (ถ้าคุณมีอาการดีซ่าน)
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • การเปลี่ยนแปลงการทำงานของลำไส้
  • มีไข้ สั่น
  • อาหารไม่ย่อย
  • ลิ่มเลือดอุดตัน

สาเหตุของมะเร็งตับอ่อน

สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งตับอ่อนนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยที่จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง

อายุ

มะเร็งตับอ่อนสามารถพบได้ในคนทุกช่วงอายุ แต่พบมากสุดในคนอายุ 50 – 80 ปี โดยประมาณ 50% ของผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อน ได้รับการวินิจฉัยตอนอายุ 75 ปีขึ้นไป

การสูบบุหรี่

ข้อมูลจากการศึกษาพบว่าประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนมีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ และการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ

การสูบบุหรี่ การใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งตับอ่อน

เพราะบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบมีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย ทำให้อวัยวะและเนื้อเยื่อในร่างกายเกิดการระคายเคืองและอักเสบ

เบาหวาน

ถ้าคุณป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งตับอ่อนจะเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องทราบก็คือ โรคเบาหวานเป็นโรคที่พบได้บ่อย และผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีการพัฒนาเป็นโรคมะเร็งตับอ่อน

เนื่องจากโรคเบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของมะเร็งตับอ่อน ดังนั้นก้อนเนื้อมะเร็งที่โตในตับอ่อนอาจเกิดขึ้นจากโรคเบาหวานได้

ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง และ ตับอ่อนอักเสบจากพันธุกรรม (Chronic pancreatitis and hereditary pancreatitis)

ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง (chronic pancreatitis) จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับอ่อน แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นในคนส่วนใหญ่ โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังมักมีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปเป็นระยะเวลานาน

แม้ว่าโรคตับอ่อนอักเสบจากพันธุกรรมจะพบได้น้อยมาก แต่ถ้าคุณมีภาวะนี้ ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งตับอ่อนจะสูงกว่าคนปกติถึง 50 เท่า

การติดเชื้อ Helicobacter pylori

Helicobacter pylori เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดแผลที่กระเพาะอาหารได้ และเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของมะเร็งกระเพาะอาหาร

ข้อมูลจากการวิจัยพบว่าการติดเชื้อ Helicobacter pylori อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งตับอ่อนได้เล็กน้อย อย่างไรก็ตามความเสี่ยงนี้อยู่ในระดับต่ำ เพราะคนส่วนใหญ่ที่มีการติดเชื้อนี้ก็ไม่ได้เป็นมะเร็งตับอ่อน

ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ

ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งตับอ่อน ได้แก่:

  • ตับอักเสบเรื้อรัง
  • โรคเกี่ยวกับเหงือก หรือฟัน
  • การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • เคยมีประวัติเป็นโรคมะเร็งบางชนิด
  • เคยได้รับการฉายรังสี (radiotherapy)
  • อาหาร, น้ำหนักตัว และระดับของการออกกำลังกาย

การวินิจฉัยมะเร็งตับอ่อน

ในระยะแรกของโรคมะเร็งตับอ่อน ผู้ป่วยมักไม่มีอาการใดๆ ทำให้ยากต่อการวินิจฉัย

ถ้าคุณมาพบแพทย์ด้วยอาการของมะเร็งตับอ่อน คุณจะได้รับการตรวจตาและผิวหนังเพื่อดูว่ามีอาการดีซ่านหรือไม่

นอกจากนี้คุณอาจได้รับการตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจหาน้ำดี หรือตรวจเลือดด้วย เพราะอาการดีซ่านอาจเป็นอาการแสดงหนึ่งของมะเร็งตับอ่อน

แพทย์จะทำการตรวจช่องท้องเพื่อดูว่ามีอาการบวมหรือมีความผิดปกติใดๆ หรือไม่ ตับอ่อนเป็นอวัยวะซ่อนอยู่ภายในร่างกาย เพราะถูกคลุมด้วยส่วนของลำไส้ ทำให้ยากที่จะรู้ว่ามีก้อนมะเร็งอยู่หรือไม่ขณะที่ทำการตรวจร่างกาย

หากแพทย์สงสัยว่าคุณจะเป็นมะเร็งตับอ่อน คุณจะได้รับการส่งต่อไปตรวจเพิ่มเติม ซึ่งคุณอาจได้รับการตรวจต่างๆ ดังต่อไปนี้

การสแกนอัลตราซาวด์

การสแกนอัลตราซาวด์เป็นกระบวนการตรวจที่ไม่เจ็บปวด โดยจะใช้คลื่นเสียงความถี่สูงสร้างเป็นภาพของเนื้อเยื่อที่อยู่ภายในร่างกาย

ถ้าคุณได้รับการสงสัยว่าเป็นมะเร็งตับอ่อน คุณจะได้รับการส่งต่อมาตรวจสแกนอัลตราซาวด์ช่องท้องเพื่อดูความผิดปกติที่เกิดขึ้นที่ตับอ่อน

อย่างไรก็ตาม การตรวจสแกนด้วยวิธีนี้มักตรวจไม่พบมะเร็งตับอ่อน เพราะคลื่นอัลตราซาวด์แพร่ผ่านลงไปในเนื้อเยื่อส่วนลึกของร่างกายได้ไม่ดีเท่าที่ควร

การตรวจซีทีสแกน/การสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerised tomography (CT) scan)

การทำซีทีสแกน คือวิธีหนึ่งที่จะได้ภาพของเนื้อเยื่อภายในร่างกายที่มีรายละเอียดมากขึ้น โดยการใช้รังสีเอกซ์เป็นตัวช่วยสร้างภาพ

แพทย์จะใช้ผลที่ได้จากการทำซีทีสแกนเพื่อตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้น และเพื่อประเมินขนาดของก้อนมะเร็ง

การสแกนเอ็มอาร์ไอ/การสแกนภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic resonance imaging (MRI) scan)

การทำเอ็มอาร์ไอ จะช่วยให้ได้ภาพของเนื้อเยื่อภายในร่างกาย โดยการใช้สนามแม่เหล็กเข้มข้นและคลื่นวิทยุแทนที่จะเป็นรังสีเอกซ์

การทำเอ็มอาร์ไอ ผู้ป่วยจะต้องนอนเข้าไปในอุโมงค์แคบ ซึ่งจะมีเสียงดังระหว่างทำ อาจทำให้รู้สึกอึดอัดระหว่างทำได้ การสแกนด้วยเครื่องนี้จะใช้เวลานานกว่าการใช้เครื่องอื่น

เช่นเดียวกับการทำซีทีสแกน ผลที่ได้จากการทำเอ็มอาร์ไอจะช่วยให้แพทย์ตรวจดูว่ามีมะเร็งที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายอีกหรือไม่

การทำ positron emission tomography (PET) scan

การทำ positron emission tomography (PET) scan จะช่วยบอกตำแหน่งของมะเร็งและช่วยบอกว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายหรือไม่

ก่อนการสแกน คุณจะได้รับการฉีดสารกัมมันตรังสีปริมาณน้อยเข้าสู่ร่างกาย เราเรียกสารกัมมันตรังสีตามรอย (tracer) โดยปริมาณรังสีจะอยู่ในระดับน้อยมากและไม่มากไปกว่าปริมาณรังสีที่ได้รับจากการตรวจเอกซเรย์ตามปกติ

สารกัมมันตรังสีตามรอยที่นิยมใช้คือ radioactive form of glucose เมื่อคุณได้รับการฉีดสารกัมมันตรังสีตามรอยแล้ว คุณจะต้องรอเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้สารนี้เคลื่อนไปที่บริเวณของร่างกายที่มีการใช้น้ำตาลกลูโคส (glucose) เป็นแหล่งพลังงาน

การตรวจสแกนนี้จะใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมงเพื่อสร้างเป็นภาพของสารกัมมันตรังสีตามรอยที่อยู่ในร่างกาย โดยสารกัมมันตรังสีตามรอยจะช่วยแสดงให้เห็นก้อนมะเร็งได้ เพราะเซลล์มะเร็งจะใช้น้ำตาลกลูโคสได้แตกต่างจากเนื้อเยื่อปกติอื่นๆ

การตรวจระบบทางเดินอาหารโดยการส่องกล้องที่ติดอัลตราซาวด์ (endoluminal ultrasonography (EUS) endoscopy)

หากผลการตรวจด้วยการทำซีทีสแกน หรือ เอ็มอาร์ไอ ให้ผลเพียงเงาขนาดเล็ก แต่มองเห็นไม่ชัด จะมีการตรวจอีกอย่างคือ การตรวจระบบทางเดินอาหารโดยการส่องกล้องที่ติดอัลตราซาวด์ (endoluminal ultrasonography (EUS) endoscopy)

ระหว่างการตรวจ EUS แพทย์จะใช้กล้องขนาดเล็กและยืดหยุ่นได้สอดเข้าไปทางปากลงสู่กระเพาะอาหาร

โดยที่ปลายของกล้องตรวจจะมีหัวอัลตราซาวด์อยู่ เพื่อให้เห็นภาพของตับอ่อนได้ชัดเจนมากขึ้น

ก่อนการตรวจนี้ คุณอาจได้รับยาสงบระงับเพื่อให้ผ่อนคลาย ระหว่างการตรวจ EUS สามารถตัดชิ้นเนื้อ (biopsy) ออกมาตรวจเพิ่มเติมได้

การส่องกล้องตรวจรักษาท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (endoscopic retrograde cholangiopancreatography (ERCP)

การส่องกล้องตรวจรักษาท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (endoscopic retrograde cholangiopancreatography (ERCP) คือกระบวนการที่มีการใส่ท่อพลาสติกหรือขดลวดเข้าไปขยายท่อน้ำดีในคนที่มีอาการดีซ่าน

ระหว่างการทำ ERCP จะมีการสอดกล้องเข้าทางปากลงสู่กระเพาะอาหาร โดยกล้องที่สอดลงไปสามารถใช้ในการฉีดสีชนิดพิเศษเข้าสู่ท่อน้ำดีและท่อตับอ่อนได้

ภายหลังได้รับการฉีดสีแล้ว คุณจะได้รับการเอกซเรย์ในลำดับต่อไป โดยสีที่ฉีดเข้าไปจะแสดงให้เห็นบนภาพที่ได้จากการเอกซเรย์ ทำให้เห็นภาพของก้อนมะเร็งว่ามีการอุดตันท่อน้ำดีและท่อตับอ่อนหรือไม่

ระหว่างกระบวนการตรวจนี้ อาจมีการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจด้วย โดยเนื้อเยื่อที่ตัดออกมาจะนำไปตรวจภายใต้กล้องจุลทรรศน์เพื่อดูว่ามีเซลล์มะเร็งหรือไม่

การตรวจ ERCP จะใช้เวลา 30 – 60 นาที เช่นเดียวกับการตรวจ EUS คุณมักได้รับยาสงบระงับเพื่อช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลาย

การใช้กล้องส่องตรวจช่องท้อง (Laparoscopy)

การใช้กล้องส่องตรวจช่องท้อง (Laparoscopy) เป็นกระบวนการผ่าตัดอย่างหนึ่งที่ศัลยแพทย์จะเข้าถึงภายในช่องท้องและอุ้งเชิงกรานของคุณ

ระหว่างกระบวนการนี้ จะมีการกรีดหน้าท้องเป็นแผลขนาดเล็ก และจะใส่กล้องขนาดเล็กยืดหยุ่นได้เข้าไป

แพทย์จะมองเห็นภายในร่างกายของคุณและเพื่อให้มั่นใจว่ามะเร็งไม่มีการแพร่กระจายก่อนแนะนำให้ผ่าตัดออก

กระบวนการตรวจด้วยวิธีนี้จะทำภายใต้การใช้ยาสลบ ทำให้คุณหลับและไม่รู้สึกเจ็บปวดขณะทำ

การตรวจชิ้นเนื้อ (biopsy)

การตรวจชิ้นเนื้อคือการตัดเอาชิ้นเนื้อตัวอย่างออกจากก้อนเนื้องอกที่สงสัยและนำไปตรวจดูว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ หรือเป็นชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง (benign)

การตรวจชิ้นนี้สามารถทำได้ระหว่างกระบวนการ EUS, ERCP หรือ การใช้กล้องส่องตรวจช่องท้อง โดยการใช้เครื่องมือขนาดเล็กที่ติดอยู่กับกล้องตรวจที่สอดเข้าไปในร่างกายเพื่อเก็บตัวอย่างของเนื้อเยื่อออกมา

นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่จะทำการเก็บเนื้อเยื่อตัวอย่างโดยการใช้เข็มขนาดเล็กที่มีความยาวเจาะผ่านช่องท้องเข้าไป  ซึ่งระหว่างการเจาะจะมีการใช้อัลตราซาวด์หรือซีทีสแกนช่วยนำทางเข็มไปยังก้อนเนื้องอกได้อย่างถูกต้อง

การฟื้นตัวหลังการเป็นมะเร็งตับอ่อน

การฟื้นตัวหลังจากการผ่าตัดมะเร็งตับอ่อนเป็นกระบวนการที่ยากและใช้เวลานาน

คุณจะรู้สึกถึงอาการปวดภายหลังการผ่าตัด โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลที่ดูแลคุณจะให้การรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวดให้กับคุณ

ภายหลังการผ่าตัดที่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหาร ลำไส้ของคุณจะหยุดการทำงานชั่วคราว ซึ่งหมายถึงคุณจะไม่สามารถรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มได้ทันที

คุณจะต้องค่อยๆ จิบน้ำในตอนแรก ก่อนค่อยๆ กลับมาดื่มน้ำและรับประทานอาหารได้มากขึ้น  คุณอาจถูกส่งต่อไปพบนักโภชนาการ/นักกำหนดอาหารเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวชนิดของอาหารที่ควรรับประทานภายหลังการผ่าตัด

ภายหลังการผ่าก้อนมะเร็งออกไปแล้ว คุณจะได้รับยาเคมีบำบัดนาน 6 เดือน เพื่อเพิ่มโอกาสในการหายขาดจากโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรคมะเร็งตับอ่อนเป็นมะเร็งที่ยากต่อการวินิจฉัยและรักษา ผู้ป่วยจำนวนมากจึงไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างสมบูรณ์

การรักษาจะมีประสิทธิภาพมากในการบรรเทาอาการให้กับผู้ป่วย และช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตัวที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยยาเคมีบำบัดจะช่วยลดขนาดของก้อนเนื้องอกและชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

การสนับสนุนสำหรับผู้ดูแล

มีผู้คนจำนวนมากในปัจจุบันที่กำลังดูแลผู้ป่วย หรือผู้พิการที่เป็นคู่ชีวิต บุตรหลาน ญาติ หรือเพื่อน

หากคุณกำลังดูแลบุคคลในครอบครัวของคุณ คุณอาจไม่คิดว่าตัวคุณเองผู้ดูแล แต่ผู้ดูแลคือใครก็ตามที่กำลังดูแลบุคคลในครอบครัว, คู่ชีวิต หรือเพื่อน อันเนื่องมาจากความเจ็บป่วย ความพิการ หรือความอ่อนแอของพวกเขา

ในการดูแลใครก็ตามอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิต และแต่ละคนจะมีความต้องการที่แตกต่างกัน คุณอาจถูกบังคับให้ออกจากงาน, เลิกทำงานอดิเรกที่ชื่นชอบ รวมถึงหยุดการพบปะผู้คนในสังคม ซึ่งจะทำให้คุณโดดเดี่ยวได้ คุณจึงอาจมีอาการเครียดได้ง่ายระหว่างที่กำลังดูแลใครก็ตาม

แต่สิ่งสำคัญที่คุณต้องรู้ไว้ก็คือ คุณไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว แต่มีการสนับสนุนจำนวนมากที่ให้การสนับสนุนคุณได้

การดูแลทางสังคมสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

หากคุณได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคมะเร็ง การรักษาและการดูแลทางการแพทย์อาจเป็นสิ่งแรกที่คุณกำลังนึกถึง อย่างไรก็ตามมีมุมมองอื่นๆ ของชีวิตที่คุณต้องคิดถึงด้วย และคุณจะต้องรู้ว่ามีการช่วยเหลือสนับสนุนใดบ้างที่คุณสามารถเข้ารับบริการได้

หากคุณรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะใช้ชีวิตในแต่ละวัน คุณควรพูดคุยเกี่ยวกับความต้องการของคุณกับแพทย์หรือพยาบาล ซึ่งพวกเขาจะส่งต่อคุณไปพบกับคนที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้

https://www.nhsinform.scot/illnesses-and-conditions/cancer/cancer-types-in-adults/pancreatic-cancer


32 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Pancreatic cancer. NHS (National Health Service). (https://www.nhs.uk/conditions/pancreatic-cancer/)
Pancreatic cancer: Symptoms, causes, and treatment. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/323423)
Pancreatic Cancer Center: Symptoms, Diagnosis, Treatments, and More. WebMD. (https://www.webmd.com/cancer/pancreatic-cancer/default.htm)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป