กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

มะเร็งตับอ่อน (Pancreatic cancer)

เผยแพร่ครั้งแรก 23 ธ.ค. 2016 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที

มะเร็งตับอ่อนคืออะไร

มะเร็งตับอ่อน (Pancreatic cancer) คือ การแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ในตับอ่อนซึ่งเป็นต่อมของระบบทางเดินอาหาร และต่อมไร้ท่อ โดยตับอ่อนนั้น ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะตับ แต่มีหน้าที่ในระบบทางเดินอาหารเหมือนกัน โดยจะทำหน้าที่ในการช่วยย่อยอาหาร ผ่านการผลิตน้ำย่อยที่ใช้ย่อยสารอาหารต่างๆ เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรตและไขมัน นอกจากนี้ ตับอ่อนยังทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดโดยการหลั่งฮอร์โมนบางชนิดออกมา เช่น ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) และฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon)

อาการของมะเร็งตับอ่อนในระยะแรกมักไม่แสดงอาการออกมาให้เห็น จนกระทั่งเชื้อมะเร็งได้ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น หรือก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่มากขึ้นแล้ว 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ความชุกของการเกิดมะเร็งตับอ่อน

โรคมะเร็งตับอ่อนยังไม่จัดอยู่ในโรคมะเร็งอันดับต้นๆ ที่คนไทยต้องเผชิญ แต่จากข้อมูลของจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 15 ชนิดแรกในเพศชายและหญิง พ.ศ. 2560 จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ มะเร็งตับอ่อนจัดอยู่ในอันดับที่ 14 ของผู้ป่วยชาย และจัดอยู่ในอันดับที่ 13 ของผู้ป่วยหญิง ซึ่งถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ติดอยู่ในโรคมะเร็ง 10 อันดับแรก แต่ก็ถือว่าเป็นอันดับที่ยังสูงอยู่และไม่ควรมองข้าม ยิ่งโรคมะเร็งตับอ่อนเป็นโรคมะเร็งชนิดที่วินิจฉัยได้ยาก มีความรุนแรงสูงและผู้ป่วยมักจะรู้ตัวว่าตนเองเป็นมะเร็งชนิดนี้ก็ต่อเมื่อเชื้อมะเร็งได้ลุกลามไปมากแล้ว เรายิ่งต้องศึกษาลักษณะอาการ วิธีการวินิจฉัยและรักษา รวมทั้งสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งตับอ่อนตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้ไม่เป็นหนึ่งในผู้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งตับอ่อนได้

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งตับอ่อน

โรคมะเร็งตับอ่อน เกิดได้จากการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของสารดีเอ็นเอ (Deoxyribonucleic Acid: DNA) ในเซลล์เช่นเดียวกับโรคมะเร็งชนิดอื่น ซึ่งทำให้เซลล์ในตับอ่อนมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติไปจากที่ควรเป็น โดยมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้คุณมีแนวโน้มจะเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนได้ นอกจากอายุ เชื้อชาติ และเพศ เช่น

  • เป็นโรคเบาหวาน
  • เป็นโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง
  • เป็นโรคตับแข็ง
  • มีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งตับอ่อนมาก่อน
  • มีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางอย่าง

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันบางอย่าง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งตับอ่อนได้ เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งตับอ่อนมากกว่าคนที่ไม่สูบถึง 2 เท่า ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือมีภาวะอ้วน ผู้ที่ชอบบริโภคไขมันสัตว์และไม่รับประทานผักผลไม้ที่มีประโยชน์ หรือผู้ที่มีการสัมผัสยาฆ่าแมลง สีย้อม หรือสารเคมีจากการทำงาน เป็นต้น

ระยะของโรคมะเร็งตับอ่อน

มะเร็งตับอ่อนสามารถแบ่งได้เป็น 5 ระยะ ซึ่งทุกระยะจะเกี่ยวข้องกับความรุนแรงและการลุกลามของเชื้อมะเร็ง ได้แก่

  • ระยะ 0 (Carcinoma in situ) : เป็นระยะที่เซลล์ภายในเยื่อบุตับอ่อนมีความผิดปกติเกิดขึ้น แต่ยังไม่กระจายไปถึงเนื้อเยื่อชั้นลึก
  • ระยะ 1: เซลล์มะเร็งเริ่มก่อตัวเป็นก้อนมะเร็งแต่ยังคงอยู่ภายในตับอ่อน หรืออาจลุกลามไปที่ลำไส้เล็กส่วนที่อยู่ติดกันแล้วก็ได้ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ 
    • ระยะ IA : หากก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กว่า 2 เซนติเมตร
    • ระยะ IB : หากก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 2 เซนติเมตร
  • ระยะ 2:  เป็นระยะที่ก้อนมะเร็งมีการแพร่กระจายออกนอกตับอ่อน และอาจลุกลามไปที่เนื้อเยื่อและอวัยวะใกล้เคียง เช่น ม้าม กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ เป็นต้น โดยแบ่งได้เป็น 2 ระยะ ได้แก่
    • ระยะ IIA : มีการแพร่กระจายของเชื้อมะเร็งสู่เนื้อเยื่อและอวัยวะข้างเคียง แต่ยังไม่ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง
    • ระยะ IIB : เป็นระยะที่เชื้อมะเร็งแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียงแล้ว และอาจรวมไปถึงอวัยวะใกล้เคียงอื่นๆ ด้วย
  • ระยะ 3: เชื้อมะเร็งแพร่กระจายออกนอกตับอ่อนไปสู่หลอดเลือด หรือเส้นประสาทสำคัญที่อยู่ใกล้ๆ  
  • ระยะ 4: เป็นระยะสุดท้ายของโรคมะเร็งตับอ่อนแล้ว โดยเชื้อมะเร็งจะการแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ตับ ปอด 

อาการของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับอ่อน

อาการส่วนมากที่พบในผู้ป่วยโรคมะเร็งตับอ่อนระยะแรกคือ อาการตัวเหลืองและตาเหลือง เป็นผลมาจากที่เชื้อมะเร็งได้ไปอุดตันท่อน้ำดี ซึ่งจะมีการรับสารสีน้ำตาลที่เรียกว่า "บิลิรูบิน" (Bilirubin) จากตับแล้วหลั่งออกมาในน้ำดี จากนั้นสารนี้จะออกจากท่อน้ำดีไปยังลำไส้ และออกจากร่างกายทางอุจจาระ แต่เมื่อเชื้อมะเร็งไปอุดตันท่อน้ำดี ก็จะส่งผลให้สารบิลิรูบินมีการสะสมไม่ได้ระบายออก ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการตัวเหลืองและตาเหลือง

นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่นๆ เกิดร่วมกับอาการตัวเหลืองและตาเหลืองที่คุณจะต้องสังเกตให้ดี ได้แก่ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • ปัสสาวะสีเข้ม
  • คันผิวหนัง
  • ปวดท้องด้านบน หรือตรงกลางและด้านหลัง
  • น้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ
  • เบื่ออาหาร
  • มีความผิดปกติทางระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระสีซีด
  • อ่อนเพลีย 
  • ถุงน้ำดีโต
  • เกิดโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นกรณีที่เชื้อมะเร็งตับอ่อนได้ไปทำลายเซลล์ที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) แต่เป็นกรณีที่พบได้น้อย

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคมะเร็งตับอ่อน

เมื่อเชื้อมะเร็งตับอ่อนเกิดการลุกลามอย่างรุนแรง จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง เช่น

  • เกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดดำ (Deep vein thrombosis)
  • ภาวะอุดตันของทางเดินอาหาร (Gastric Outlet Obstruction) เป็นภาวะที่กระเพาะอาหารไม่สามารถบีบไล่อาหารที่อยู่ภายในออกไปได้ตามปกติ
  • ภาวะตับอ่อนหลั่งเอนไซม์น้อยกว่าปกติ (Pancreatic Exocrine insufficiency: EPI) 
  • ภาวะผอมหนังหุ้มกระดูก (Cachexia Syndrome) เป็นภาวะที่น้ำหนักและมวลกล้ามเนื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง
  • โรคซึมเศร้า

การวินิจฉัยโรคมะเร็งตับอ่อน

การวินิจฉัยโรคตับอ่อนจะเริ่มจาก

  • การซักประวัติผู้ป่วยเกี่ยวกับลักษณะและความรุนแรงของอาการที่เป็น และการตรวจร่างกายทั่วไป
  • แพทย์อาจมีการตรวจเลือดหากสงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งตับอ่อน ซึ่งการตรวจนี้จะเป็นการวัดระดับสารบางชนิด เช่น สารบิลิรูบิน และอาจตรวจหาสารที่แสดงถึงโรคมะเร็งหรือโปรตีนบางชนิด โดยเฉพาะสารบ่งชี้มะเร็งตับอ่อนแคนเซอร์ แอนทิเจน 19-9 (Cancer Antigen 19-9: CA 19-9) และโปรตีนคาร์ซิโนเอ็มบรายโยนิค แอนทิเจน (Carcinoembryonic Antigen: CEA) ซึ่งมักจะเพิ่มขึ้นหากผู้ป่วยมีเชื้อมะเร็งตับอ่อน 

นอกจากนี้ การตรวจวินิจฉัยโรคโดยภาพวินิจฉัยยังเป็นสิ่งจำเป็นในการวินิจฉัยโรคมะเร็งตับอ่อน และยังเป็นตัวแสดงถึงระยะการแพร่กระจายของโรคได้ ซึ่งการตรวจวินิจฉัยโรคโดยภาพวินิจฉัยมักจะประกอบด้วย

  • การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ช่องท้อง หรือ CT Scan (Computerized Tomography Scan) มักทำร่วมกับการถ่ายภาพรังสีระนาบด้วยการปล่อยโพสิตรอน (Positron Emission Tomography: PET Scan)
  • การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI Scan (Magnetic Resonance Imaging)
  • การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ทางหน้าท้อง หรือการส่องกล้องทางหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร
  • การส่องกล้องตรวจทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (Endoscopic Retrograde Cholangio Pancreatography: ERCP) 

นอกจากตรวจวินิจฉัยโรคโดยภาพวินิจฉัยแล้ว แพทย์อาจส่งตรวจชิ้นเนื้อของตับอ่อนเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคมะเร็งอีกทางหนึ่งด้วย

การรักษาโรคมะเร็งตับอ่อน

ทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็งตับอ่อนมี 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่ การผ่าตัด การฉายรังสี และการใช้ยาเคมีบำบัด 

1. การรักษาโดยการผ่าตัด

การผ่าตัดโดยตัดตับอ่อนออกทั้งหมด หรือเพียงบางส่วน ถือเป็นทางเลือกที่ควรเลือก สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งตับอ่อนซึ่งอยู่ในระยะที่เชื้อมะเร็งยังจำกัดอยู่ในตับอ่อน โดยการผ่าตัดจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

1.1 การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งตับอ่อน มี 3 แบบ ได้แก่

  • การผ่าตัดแบบวิปเปิล โอเปอเรชั่น (Whipple operation) หรือแพนครีเอติโคดูโอดีเนคโตมี่ (Pancreaticoduodenectomy) เป็นการผ่าตัดเอาตับอ่อนออกบางส่วน และอาจรวมไปถึงถุงน้ำดี ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง กระเพาะอาหารบางส่วน ลำไส้เล็ก และทางเดินน้ำดี
    การผ่าตัดแบบวิปเปิล โอเปอเรชั่นเป็นการผ่าตัดที่ยากและมักมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น มีสารน้ำรั่วออกจากอวัยวะ ผู้ป่วยมีเลือดออกและมีการติดเชื้อ มีปัญหาในการย่อยอาหาร เช่น ไม่สามารถไล่อาหารออกจากกระเพาะอาหารได้ เป็นโรคเบาหวาน น้ำหนักลด และมีปัญหาด้านการขับถ่าย
  • การผ่าตัดแบบดิสทัล แพนครีเอเทคโตมี่ (Distal pancreatectomy) เป็นการผ่าตัดเอาตับอ่อนบางส่วนและม้ามออก
  • การผ่าตัดแบบโททัล แพนครีเอเทคโตมี่ (Total pancreatectomy) เป็นการผ่าตัดเอาตับอ่อนออกทั้งหมด พร้อมกับการตัดอวัยวะอื่นที่เชื้อมะเร็งลุกลามไปถึงออกด้วย

การเกิดโรคเบาหวานคือ ผลข้างเคียงจากการรักษาโดยการผ่าตัดที่มักเกิดขึ้นเสมอ เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยปรับระดับน้ำตาลในโลหิตให้อยู่เกณฑ์ปกติ ไม่สูงและไม่ต่ำจนเกินไป ผู้ที่ผ่าตัดแบบโททัล แพนครีเอเทคโตมี่ จะต้องฉีดอินซูลินช่วยไปตลอดชีวิต ร่วมกับการรับประทานเอนไซม์ของตับอ่อนเพื่อช่วยในการย่อยอาหาร

1.2 การผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาการโรคมะเร็งตับอ่อน 

การผ่าตัดประเภทนี้ จะเป็นการผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาการและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังเป็นทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็งตับอ่อนที่เชื้อมะเร็งมีการแพร่กระจายไปทั่ว จนไม่สามารถตัดออกได้ทั้งหมด โดยจะแบ่งออกเป็น 2 วิธีคือ

  • การผ่าตัดแบบแกสสตริก บายพาส (Gastric bypass) เป็นการผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อลดขนาดกระเพาะอาหาร
  • การผ่าตัดโดยการส่องกล้อง เพื่อใส่ขดลวดขยายทางเดินน้ำดีไม่ให้ตีบจากแรงกดของก้อนมะเร็ง

2. การรักษาโดยการฉายรังสี

เป็นการรักษาโดยการฉายรังสีที่มีพลังงานสูงเข้าไปทำลายเชื้อมะเร็ง มักเป็นวิธีการรักษาที่ใช้ต่อจากการผ่าตัดเพื่อช่วยกำจัดเชื้อมะเร็งที่ยังหลงเหลืออยู่ หรือใช้รักษาโรคมะเร็งตับอ่อนที่มีการลุกลามออกนอกตับอ่อนแล้ว การรักษาโดยการฉายรังสีอาจรักษาโดยใช้เครื่องฉายจากภายนอกร่างกาย หรือใส่อุปกรณ์เข้าไปในร่างกายเพื่อให้ใกล้ก้อนมะเร็งมากที่สุดก็ได้ แต่ก็จะมีผลข้างเคียงบางอย่างที่เกิดขึ้นหลังจากฉายรังสี ซึ่งได้แก่

3. การรักษาโดยใช้ยาเคมีบำบัด 

การใช้ยาเคมีบำบัดคือ การให้ยากับผู้ป่วยทั้งแบบการรับประทาน หรือแบบการฉีดเข้าเส้นเลือดดำ มักเป็นการรักษาที่ใช้ร่วมกับการผ่าตัด หรือร่วมกับการฉายรังสีด้วย โดยเฉพาะในผู้ที่ป่วยที่มีการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะส่วนอื่น ซึ่งผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยของการใช้ยาเคมีบำบัด ได้แก่ 

  • ผมร่วง 
  • เบื่ออาหาร 
  • เจ็บปาก 
  • มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร

การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งตับอ่อน

การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งตับอ่อนจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคที่ผู้ป่วยกำลังเผชิญ รวมทั้งทางเลือกในการรักษาของผู้ป่วย หรือหากผู้ป่วยได้ทำการตัดชิ้นเนื้อมะเร็งออกไปแล้ว วิธีการดูแลผู้ป่วยก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งในการดูแลผู้ป่วยโรคตับอ่อนที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นการดูแลผู้ป่วยที่ผ่านการรักษามาแล้ว และกำลังอยู่ในระยะพักฟื้น 

  • สังเกตอาการที่บ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารหรือไม่ เช่น มีไข้ ชีพจรต่ำ มีความดันโลหิตสูง
  • ดูแลให้สารน้ำและยาปฏิชีวนะของผู้ป่วยตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  • ประเมินอัตราการหายใจและสัญญาณชีพของผู้ป่วยทุกๆ 15 นาที
  • ผู้ดูแลอาจต้องจัดอุปกรณ์ช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และระมัดระวังอย่าให้ผู้ป่วยหกล้ม 
  • เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ซักถามข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการป่วย หมั่นพูดคุยเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวลต่อโรคจนเกินไป รวมทั้งมีการให้ข้อมูลและความเข้าใจเกี่ยวกับโรคกับญาติผู้ป่วยด้วย เพื่อไม่ให้ทุกคนเกิดความเครียดและกังวลเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วย
  • ดูแลโภชนาการของผู้ป่วยให้เหมาะสม เพราะตับเป็นอวัยวะที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ดูแลจะต้องดูแลรายการอาหารของผู้ป่วยไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำเกินไป รวมทั้งมีการเติมสารอาหารที่จำเป็นอื่นๆ ให้ร่างกายผู้ป่วยได้รับอย่างเพียงพอด้วย เช่น โปรตีน ผักผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ 

การติดตามผลการรักษาโรคมะเร็งตับอ่อน

หลังจากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาครบแล้ว แพทย์จะนัดตรวจเพื่อติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอภายใน 1-2 ปีหลังจากการรักษา โดยจะมีการนัดตรวจทุกๆ 1-2 เดือน จนเมื่อถึงปีที่ 3-5 ก็จะลดความถี่ในการนัดตรวจเป็นทุกๆ 2-3 เดือน และเมื่อถึงปีที่ 5 เป็นต้นไป แพทย์จะเปลี่ยนเป็นนัดตรวจทุกๆ 6-12 เดือน


35 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Kristeen Moore and Kimberly Holland, Everything You Need to Know About Pancreatic Cancer (https://www.healthline.com/health/pancreatic-cancer), April 2, 2019
webmd.com, Pancreatic Cancer Health Center (https://www.webmd.com/cancer/pancreatic-cancer/default.htm)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้
ไวรัสตับ บี มีโอกาศหายมั้ยค่ะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
ผู้ป่วยที่เป็นไขมันเกาะตับ ถ้าปล่อยทิ้งไว้มันสามารถกลายเป็นมะเร็งตับได่ไหมคะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
ผู้ป่วยมะเร็งตับระยะสุดท้ายควรมีการปฎิบัติตัวอย่างไรคะ?
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
ผลตรวจ มะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งลำใส้ มะเร็งตับ ผลมีความเสี่ยงมั้ยครับ ค่า Monocyte ที่ขีด - ถือว่าปกติมั้ยครับ (มีรอยช้ำที่ขาแถวน่าแข็ง 1 ที่ ไม่แน่ใจว่าเกิดจากการออกกำลังกายหรือเปล่า หรือชนอะไรมา และก็มีเลือดออกไรฟัน แต่ไม่บ่อยครับ (ส่วนตัวเ...
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)