ผักกาดหอม (Lettuce) เป็นพืชในวงศ์ทานตะวัน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบทวีปยุโรปและเอเชีย ลักษณะของต้นจะอวบและตั้งตรงสูง ภายในมีใบอัดกันคล้ายกะหล่ำปลี ใบมีทั้งสีเขียวอ่อนเกือบขาว สีเขียวแก่ และสีแดงอมม่วง แล้วแต่สายพันธุ์ หลายคนนิยมนำมาทำเป็นผักสลัดหรือผักเคียงสำหรับรับประทานร่วมกับอาหารเมนูต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนรักสุขภาพ เนื่องจากผักกาดหอมมีแคลอรีต่ำและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง
คุณค่าทางโภชนาการของผักกาดหอม
ผักกาดหอม 100 กรัม ให้พลังงาน 15 กิโลแคลอรี มีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
- คาร์โบไฮเดรต 2.87 กรัม
- โปรตีน 1.36 กรัม
- ไขมัน 0.15 กรัม
- ใยอาหาร 1.3 กรัม
- น้ำ 94.98 กรัม
- แคลเซียม 36 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 29 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 194 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 13 มิลลิกรัม
- โซเดียม 28 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 9.2 มิลลิกรัม
- วิตามินเอ 7405 IU
- วิตามินอี 0.22 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 0.375 มิลลิกรัม
- วิตามินเค 126 ไมโครกรัม
สรรพคุณของผักกาดหอม
ผักกาดหอมมีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้
- กระตุ้นระบบขับถ่าย ไฟเบอร์ที่มีมากช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงบรรเทาอาการท้องผูกและลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคริดสีดวง
- ป้องกันมะเร็ง ในผักกาดหอมมีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด ช่วยปกป้องเซลล์จากสารพิษ ทำให้เซลล์แข็งแรง และช่วยกำจัดเซลล์ผิดปกติที่มีแนวโน้มจะกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็งได้อีกด้วย
- ช่วยให้หลับดีขึ้น สารแลกทูคาเรียมมีคุณสมบัติช่วยให้สมองผ่อนคลาย จิตใจสงบลง และช่วยให้รู้สึกง่วง หากรับประทานเป็นประจำจะช่วยลดอาการนอนไม่หลับ มีงานวิจัยในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการนอนไม่หลับ พบว่าการรับประทานยาแคปซูลจากเมล็ดผักกาดช่วยลดอาการนอนไม่หลับระหว่างตั้งครรภ์ และสำหรับโรคนอนไม่หลับที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ ผักกาดหอมก็ช่วยได้เช่นกัน
- บำรุงสายตา ผักกาดหอมมีวิตามินเอสูงมาก จึงช่วยบำรุงสายตาให้มีสุขภาพดี เพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นในที่มืด และยังลดความเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจก
- ลดน้ำหนัก ผักชนิดนี้เป็นหนึ่งในบรรดาผักสลัดซึ่งให้พลังงานเพียง 5 กิโลแคลอรี มีไฟเบอร์ที่ช่วยให้อิ่มเร็ว ไม่หิวบ่อย และยังช่วยลดคอเลสเตอรอลได้อีกด้วย จึงเหมาะสำหรับนำมารับประทานในช่วงลดน้ำหนัก
- บรรเทาอาการเบาหวาน เนื่องจากมีน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญและไม่มีน้ำตาล ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงสามารถทานผักชนิดนี้ได้อย่างเต็มที่
- ลดการอักเสบจากหลายโรค เช่น โรคภูมิแพ้ การติดเชื้อ และบรรเทาอาการปวดจากข้ออักเสบ
เมนูสุขภาพจากผักกาดหอม
ผักกาดหอมสามารถนำมาประกอบอาหารได้มากมาย ตัวอย่างเช่น
- ผักกาดหอมยัดไส้ โขลกกระเทียม รากผักชี พริกป่นให้เข้ากัน สับกุ้งกับหมูแล้วนำมาผสมกับส่วนผสมที่โขลกไว้ ใส่น้ำตาลทราย ซีอิ๊วขาว จากนั้นปั้นเป็นก้อนกลม นำผักกาดหอมไปลวก แล้วนำมาห่อ จากนั้นมัดด้วยต้นขึ้นฉ่าย นำน้ำขึ้นตั้งไฟ ต้มให้เดือด ใส่แครอท นำผักกาดหอมยัดไส้ใส่ลงไป เติมน้ำปลาเล็กน้อย เคี่ยวต่อไปเรื่อยๆ ด้วยไฟอ่อน เมื่อสุกแล้วตักใส่ชาม โรยหน้าด้วยกระเทียมเจียว
- ยำผักกาดหอมกรอบ ล้างผักให้สะอาด ลวกกุ้งเตรียมไว้ ผสมน้ำกับแป้งทอดกรอบด้วยน้ำเย็นให้เข้ากัน นำผักกาดหอมลงไปคลุกกับแป้งแล้วทอดให้เหลืองกรอบ ตักขึ้นมาสะเด็ดน้ำมัน โขลกพริกขี้หนูกับกระเทียม ใส่น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ กุ้งแห้ง น้ำมะนาว กุ้งลวก จากนั้นนำผักที่ทอดไว้ลงไปคลุกเคล้า ตักใส่จาน
- ข้าวผัดผักกาดหอม นำกระทะขึ้นตั้งไฟ ใส่มายองเนสลงไปจนละลาย ใส่ข้าวสวยลงไปผัดให้เข้ากัน ตอกไข่ใส่ลงไป ผัดต่อไปสักพัก นำต้นหอมสับกับผักกาดหอมใส่ลงไป ใส่พริกไทย เกลือ น้ำตาล ผัดให้เข้ากัน ปิดไฟ ตักใส่จานพร้อมรับประทาน
- ผัดผักกาดหอม ล้างผักให้สะอาด และปอกเปลือกแครอทแล้วขูดฝอยเตรียมไว้ ตั้งกระทะให้ร้อนแล้วใส่น้ำมันงาลงไป นำหมูลงไปผัดให้สุก ปรุงรสด้วยเกลือ พริกไทย ซอสหอยนางรม ใส่แครอทฝอยลงไป ตามด้วยผักกาดหอม ผัดจนผักสุก ปิดไฟ ตักใส่จาน
- สลัดผัก เป็นเมนูที่ทั้งทำง่ายและมีประโยชน์ ถ้าท่านใดกำลังตั้งใจจะลดน้ำหนัก เมนูนี้ถือเป็นตัวเลือกที่ดีเพราะมีทั้งวิตามินและไฟเบอร์ แต่อย่าลืมเลือกน้ำสลัดที่มีไขมันต่ำ
ข้อควรระวังในการรับประทานผักกาดหอม
ผักกาดหอมจัดเป็นผักที่มีฤทธิ์เย็น จึงไม่ควรรับประทานมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องผูก มือเท้าเย็น และผมหงอกเร็ว ปัจจุบันยังไม่มีการวิจัยที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเกิดพิษกับร่างกายเมื่อรับประทาน แต่สิ่งที่จะก่อให้เกิดอันตรายได้คือสารที่ปนเปื้อน ดังนั้นก่อนบริโภคต้องล้างให้สะอาดทุกครั้ง หรือหากเป็นผู้เลือกซื้อมารับประทานเอง ควรเลือกร้านที่สะอาดและปลอดภัย
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพ จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android