พริกไทย ราชาแห่งเครื่องเทศที่มีคุณประโยชน์มากมาย ทั้งเป็นเครื่องปรุงที่เอาไว้ดับคาวอาหารและเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อการรักษา
พริกไทยมีลักษณะเม็ดกลมขนาดเล็ก รสชาติจัดจ้านเผ็ดร้อน ถ้าทำเป็นแบบแห้งก็จะได้ทั้งพริกไทยขาว (ปอกเปลือกแล้ว) พริกไทยดำ (ไม่ปอกเปลือก) หรือถ้านำไปป่นก็จะกลายเป็นพริกไทยป่น เอาไว้โรยหน้าอาหารต่าง ๆ และให้กลิ่นหอมฉุน
ลักษณะของต้นพริกไทย
พริกไทยเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง มีรากฝอยตามข้อเถาวสำหรับไว้ยึดเกาะ ลำต้นมีความยาวประมาณ 5 เมตร มีดอกขนาดเล็ก ใบใหญ่คล้ายใบโพธิ์ เมล็ดพริกไทยจะมีลักษณะกลมเป็นพวงออกตรงข้อของลำต้น
สายพันธ์ุพริกไทยที่นิยมปลูกกันมีด้วยกัน 6 สายพันธุ์ คือ
- พันธุ์ใบหนา
- พันธุ์บ้านแก้ว
- พันธุ์ปรางถี่ธรรมดา
- พันธุ์ปรางถี่หยิก
- พันธุ์ควายขวิด
- สายพันธุ์คุชชิ่ง
พริกไทย แบ่งตามวิธีการเก็บและเตรียมได้ 2 ชนิด คือ
- พริกไทยดำ ได้จากการนำเอาพริกไทยซึ่งแก่เต็มที่แล้วแต่ยังไม่สุก มาตากแดดให้แห้งจนออกเป็นสีดำ และไม่ต้องปลอกเปลือก
- พริกไทยขาว หรือพริกไทยล่อน ได้มาจากการนำเอาพริกไทยที่สุกเต็มที่มาแช่ในน้ำเพื่อลอกเปลือกออกแล้วนำไปตากให้แห้ง
สารอาหารในพริกไทย
มีน้ำมันหอมระเหย 1-2.5 % มีสารอัลคาลอยด์หลัก คือ Pipercanine และ Piperidine ประมาณ 5-9 % ซึ่งเป็นตัวทำให้เผ็ดร้อนและมีกลิ่นฉุน พริกไทยอ่อนจะมีกลิ่นฉุนน้อยกว่าพริกไทยดำ
สำหรับสารอาหารในพริกไทย
- มีโปรตีน 11 %
- คาร์โบไฮเดรต 65 %
- แคลเซียม
- ฟอสฟอรัส
- เหล็ก
- วิตามินเอ
- วิตามินบี 1
- วิตามินบี 2
- ไนอาซิน
- วิตามินซี
ประโยชน์ทางยาของพริกไทย
พริกไทยดำมีประโยชน์ในการรักษาโรคต่างๆ เช่น ลำไส้ แก้ปวด แก้อักเสบ โรคกระเพาะ เป็นต้น
ทางตำราจีนจะใช้พริกไทยดำในการรักษา โรคมาลาเรีย โรคท้องเดินจากอหิวาต์ และแก้ไข้
ส่วนน้ำมันในพริกไทยดำ (สารพิเพอรีน) ก็นำมาเจือจางกับน้ำ เอามาสูดดม หรือทาถูผิวหนัง เพื่อทำให้หายใจโล่งขึ้น ลดอาการไข้ หนาวสั่น ฆ่าเชื้อโรคได้ดี และสามารถนำมาผสมกับน้ำมันแล้วนวดบริเวณที่ปวดกล้ามเนื้อได้
นอกจากนี้กลิ่นของพริกไทยยังเข้าไปกระตุ้นสมองให้รู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ ส่วนในตำราไทยจะนำพริกไทยดำมาทำเป็นสมุนไพรเพื่อแก้อาการจุกเสียด แน่นเฟ้อ จากอาหารไม่ย่อย และแก้อาการอ่อนเพลีย
วิธีนำพริกไทยดำมาใช้รักษา
- นำน้ำมันสกัดจากพริกไทยดำ 2 หยด มาผสมกับน้ำมันมะกอก ประมาณ 4 - 5 หยด แล้วผสมให้เข้ากัน แล้วนำไปทาบริเวณ ที่เคล็ดขัดยอก แล้วนวดวน ๆ สักพัก อาการก็จะดีขึ้น
- ในพริกไทยดำมีสารเคมีชนิดหนึ่งที่สามารถทำให้เยื่อบุจมูกระคายเคืองจนน้ำมูกไหลออกมา จมูกก็จะโล่ง หายใจได้สะดวกมากขึ้น วิธีคือ นำน้ำมันสกัดจากพริกไทยดำ 3 หยด ไปต้มในน้ำ 1 ถ้วยตวงผสมน้ำมันยูคาลิปตัสลงไปเล็กน้อย ต้มจนไอร้อนพุ่งตัวออกมา แล้วจึงนำน้ำต้มนั้นมาสูดดมเพื่อรักษาอาการ
- นำพริกไทยดำ 1 พวงมาแช่ในน้ำร้อนนานประมาณ 15 - 20 นาที กรองเอาแต่น้ำร้อนนำมาผสมกับน้ำผึ้ง 1 - 2 ช้อนชา แล้วค่อยๆ จิบ เมื่ออาการไอแบบมีเสมหะ
- นำพริกไทยดำ มาตำหยาบ ผสมกับน้ำมันมะกอก แล้วนำมาขัดผิว เพราะในพริกไทยดำ มีสารต้านอนุมูลอิสระ และสารต้านเชื้อแบคทีเรียค่อนข้างสูง อีกทั้งคึวามร้อนของพริกไทย ยังช่วยเปิดรูขุมขน ช่วยทำให้กำจัดสิ่งสกปรก ที่ฝังลึกได้อย่างดี และสามารถนำไปผสมกับครีม เพื่อทาตัวได้อีกด้วย
- ยังไม่มีรายงานการนำพริกไทย หรือสารสกัดจากพริกไทย มาใช้ในการรักษาอาการอยากบุหรี่ มีเพียงงานวิจัยในหลอดทดลองที่แสดงถึงสารต้านอนุมูลอิสระ สารประกอบฟีนอล และสารนิโคตินที่อยู่ในพริกไทยและคาดว่า อาจช่วยถอนอาการติดนิโคตินได้
- เมื่อรู้ท้องอืด แน่นท้อง ให้เติมพริกไทยดำ (แบบเม็ด) ลงในมื้ออาหาร หรือโรยบนเนื้อสัตว์ เพราะพริกไทยดำจะไปกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งกรดไฮโครคลอริกซึ่งเป็นกรดในกระเพาะอาหารที่มีหน้าที่ปรับสมดุลการย่อยของอาหารทำให้กระเพาะและลำไส้ทำงานเป็นปกติมากขึ้น
ประโยชน์ในการลดความอ้วน
พริกไทยมีส่วนประกอบของสารไพเพอรีนที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านความอ้วน ซึ่งได้รับการรับรองจากการวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วว่า พริกไทยดำสามารถลดความอ้วนได้จริงและสามารถลดน้ำหนักได้อย่างดีเยี่ยม
พริกไทยยังเข้าไปกระตุ้นการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานที่ได้รับจาการรับประทานอาหารไปใช้ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ทำให้ไม่เกิดการสะสมของไขมัน ซึ่งเป็นสำเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความอ้วน
นอกจากนี้จุดเด่นของพริกไทยในเรื่องความฉุนและรสชาติที่เผ็ดร้อนยังช่วยในการควบคุมการก่อตัวของเซลล์ไขมันใหม่ให้ลดลง ทำลายเซลล์ไขมันเก่าที่สะสมอยู่ภายในร่างกายให้มีจำนวนลดลงด้วยจึงกลับมาอ้วนได้ยากขึ้น
วิธีนำพริกไทยมาลดความอ้วนแบบรับประทาน
อาจนำมาทำเป็นส่วนผสมของยาลด หรืออาหารเสริมลดน้ำหนัก มักนิยมนำพริกไทยมาป่นให้ละเอียดและผสมกับสมุนไพรตัวอื่น แล้วบรรจุลงแคปซูล หรืออัดเป็นเม็ด เพื่อทำให้รับประทานง่ายขึ้น
โดยนำมารับประทานก่อนอาหารประมาณ 10 นาที เพื่อประสิทธิภาพในการเผาผลาญไขมัน แต่ห้ามรับประทานทันทีหลังอาหารเพราะจะทำให้เกิดอาการเรอและท้องอืดได้ทันที
นอกจากนี้ให้รับประทานแต่พอดี ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 1.5 กรัม และไม่ควรรับประทานติดต่อกัน นานเกิน 6 เดือน เพราะจะทำให้เกิดอันตรายได้ เนื่องจากมีรายงานความเป็นพิษต่อร่างกายเมื่อรับประทานเป็นระยะเวลานาน
ไม่ควรรับประทานคู่กับยาลดความดันโลหิต ยารักษาโรคหัวใจ หรือยาที่ถูกทำลายด้วยเอนไซม์ CYP450 เช่น ยา Propranolol Rifampicin หรือ Theophylline เนื่องจากจะทำให้ยาดังกล่าวออกฤทธิ์อยู่ในร่างกายนานขึ้น หรืออาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้
วิธีนำพริกไทยมาลดความอ้วนแบบทา/นวด
นำน้ำมันพริกไทยดำ มาผสมกับครีม หรือนำพริกไทยป่นมาผสมกับ น้ำมันมะกอก แล้วเอามาทา หรือนวดวน ๆ ที่บริเวณต้นแขน ต้นขา จุดที่เป็นเปลือกส้ม ไปเรื่อย ๆ จนรู้สึกว่าจุดนั้นเริ่มร้อน ทาแบบนี้ทุกวัน หลังอาบน้ำเย็น หรือ ก่อนนอน วิธีนี้จะช่วยสลายไขมัน ตรงจุดนั้น ให้ผิวเรียบลื่น ไม่เป็นลูกคลื่น
เนื่องจากในพริกไทยดำก็มีสารสารอัลคาลอยด์ ไพเพอร์ริน เมื่อเข้าสู่ร่างกาย ก็จะถูกทำปฏิกิริยา เปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็งได้ จึงเห็นได้ชัดว่า พริกไทยไม่ได้มีประโยชน์อย่างเดียว แต่ก็มีโทษด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นแนะนำว่าให้ใช้ในปริมาณ ที่พอเหมาะ
อีกทั้งผู้ที่ป่วยเป็นโรคตา และโรคริดสีดวงทวาร ไม่ควรรับประทานพริกไทยดำ เพราะจะทำให้อาการ กำเริบขึ้นได้
พริกไทยกับอาหาร
นอกจากพริกไทยจะเป็นเครื่องเทศ ปรุงอาหาร ที่ขาดไม่ได้ในหลายๆ เมนู เพราะมีรสชาติที่จัดจ้านถึงใจ สามารถนำมาตัดความเลี่ยน ความคาวในอาหารได้ดีแล้ว
พริกไทยยังมีคุณสมบัติในการกำจัดเชื้อจุลินทรีย์หลายชนิดจึงนิยมนำมาถนอมอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก กุนเชียง หมูยอ หรือเพียงแค่โรยหน้าแกงต่างๆ ก็ช่วยเพิ่มรสชาติได้อย่างหน้าอัศจรรย์
คุณค่าทางด้านโภชนาการ
- มีเบต้าแคโรทีนซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ ซึ่งมีส่วนช่วยในการมองเห็น
- พริกไทยมีแคลเซียมปริมาณสูงมากโดยเฉพาะในพริกไทยอ่อน แคลเซียมเป็นส่วนสำคัญในการบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรงอยู่เสมอ รวมทั้งยังสามารถป้องกันการเกิดภาวะกระดูกพรุนได้อีกด้วย
- มีสารที่ชื่อว่า ไพเพอรีน และ ฟินอลิกส์ ซึ่งทั้งคู่เป็นสารต้านอนุูมูลอิสระ มีสรรพคุณในการป้องกันมะเร็งในระยะเริ่มต้น
- พริกไทยมีฟอสฟอรัสและวิตามินซีที่ช่วยในการชะลอการเสื่อมของเซลล์และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
นอกจากผลของพริกไทยจะมีประโยชน์มากมายแล้ว ใบและลำต้นก็ยังสามารถเอามาทำยาสมุนไพรได้เช่นกัน
ทั้งนี้อยู่ที่ว่า ใครจะนำไปทำ หรือผลิตเป็นแบบไหน โดยใช้ได้ทั้ง ดอก ที่รักษาอาการตาแดง และความดันโลหิตสูงได้ ใบ แก้ลมจุกเสียด ปวดมวนท้องได้ เถา แก้เสมหะที่คั่งที่ปอด และลดอาการท้องร่วงขั้นรุนแรงได้ ราก ใช้ขับลมลำไส้ แก้วิงเวียน น้ำมันในพริกไทย ช่วยลดน้ำหนัก และนวดทาบริเวณที่ปวดเมื่อย กล้ามเนื้ออักเสบ
พริกไทยเป็นเครื่องเทศที่ช่วยเพิ่มรสชาติของมื้ออาหารให้หอม น่ารับประทานมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังอุดมไปด้วยสารที่มีประโยชน์ต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะการช่วยเผาผลาญไขมัน จึงควรรับประทานเป็นประจำทุกวันในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android