กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

มะเร็งกล่องเสียง (Laryngeal (larynx) cancer)

เผยแพร่ครั้งแรก 8 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 17 นาที
มะเร็งกล่องเสียง (Laryngeal (larynx) cancer)

มะเร็งกล่องเสียงเป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อกล่องเสียง สาเหตุสำคัญคือมาจากการสูบบุหรี่ และยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การสัมผัสกับสารเคมีหรือสารบางชนิด การรับประทานอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นต้น ผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงจะมีอาการเสียงแหบ เจ็บขณะกลืน กลืนลำบาก มีก้อนที่คอ ไอเรื้อรัง เจ็บคอเรื้อรัง หากเป็นมากอาจเป็นอาการหายใจลำบากได้ สำหรับการรักษาจะทำโดยรังสีรักษา การผ่าตัด และการใช้ยาเคมีบำบัด

บทนำ

มะเร็งกล่องเสียง (Laryngeal cancer) เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นที่กล่องเสียง (larynx)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

กล่องเสียงเป็นส่วนหนึ่งของคอ พบอยู่ที่บริเวณทางเข้าหลอดลม หน้าที่สำคัญคือช่วยในการหายใจและการพูด

ในประเทศสหราชอาณาจักรพบผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงรายใหม่ 2,400 รายต่อปี

มะเร็งกล่องเสียงเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในคนที่อายุมากกว่า 60 ปี และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 4 เท่า

อาการของมะเร็งกล่องเสียง

อาการหลักของมะเร็งกล่องเสียง ได้แก่:

  • การเปลี่ยนแปลงของเสียงพูด เช่น เสียงแหบ
  • เจ็บขณะกลืน หรือ กลืนลำบาก
  • มีก้อนที่ลำคอ หรือคอบวม
  • ไอเรื้อรัง
  • เจ็บคอเรื้อรัง หรือ ปวดหูเรื้อรัง
  • ในกรณีที่รุนแรง จะมีอาการหายใจลำบาก

ผู้ป่วยบางรายอาจมีกลิ่นปาก, หายใจลำบาก, มีเสียงดังขณะหายใจ, น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ หรืออ่อนเพลียมาก

เมื่อไรต้องไปพบแพทย์

คุณควรไปพบแพทย์ถ้าคุณมีอาการใดๆ ดังกล่าวข้างต้นเป็นเวลานานมากกว่า 3 สัปดาห์

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

อาการดังกล่าวมักมีสาเหตุมาจากโรคที่ไม่ร้ายแรง เช่น กล่องเสียงอักเสบ (laryngitis) แต่การไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจคือคำแนะนำที่เหมาะสมกว่า

หากมีความจำเป็นแพทย์ทั่วไปอาจพิจารณาส่งต่อคุณไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการตรวจยืนยันการวินิจฉัยหรือเพื่อวินิจฉัยแยกโรคมะเร็งออก

อะไรคือสาเหตุของมะเร็งกล่องเสียง

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของมะเร็งกล่องเสียงที่แน่ชัด แต่ความเสี่ยงของการเกิดโรคจะเพิ่มขึ้นจาก:

  • การสูบบุหรี่
  • การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นประจำ
  • มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งศีรษะและลำคอ
  • รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
  • การสัมผัสกับสารเคมีและสารบางชนิด เช่น แร่ใยหิน (asbestos) และ ฝุ่นถ่านหิน (coal dust)

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดี รวมถึงหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งกล่องเสียงได้อย่างชัดเจน

มะเร็งกล่องเสียงรักษาได้อย่างไร

การรักษาหลักที่ใช้รักษามะเร็งกล่องเสียงคือการใช้รังสีรักษา (radiotherapy), การผ่าตัด และการใช้ยาเคมีบำบัด

การใช้รังสีรักษา หรือ การผ่าตัด เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งออกจากกล่องเสียงมักทำให้โรคหายขาดได้ หากได้รับการวินิจฉัยเจอตั้งแต่ระยะแรกของโรค

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

แต่ถ้ามะเร็งเป็นในระยะรุนแรง ลุกลาม จะรักษาโดยใช้หลายวิธีร่วมกันคือ การผ่าตัดเอากล่องเสียงออกบางส่วนหรือทั้งหมด, การให้รังสีรักษา และการให้ยาเคมีบำบัด

หากคุณได้รับการผ่าตัดเอากล่องเสียงออก คุณจะไม่สามารถพูดหรือหายใจได้ตามปกติอย่างที่เคยเป็น ผู้ป่วยจะต้องหายใจผ่านการเจาะคอถาวรแทน และจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อช่วยให้กลับมามีเสียงภายหลังการผ่าตัดแล้ว

ผู้ป่วยอาจใช้อุปกรณ์ช่วยพูดเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยนำมาจ่อติดกับผิวหนังที่บริเวณใต้คาง เพื่อสร้างเป็นเสียงขึ้นมา

อนาคตของผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียง

อนาคตของผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงจะขึ้นกับความรุนแรงของมะเร็งขณะได้รับการวินิจฉัยและการรักษา

โชคดีที่ว่ามะเร็งกล่องเสียงโดยส่วนใหญ่จะได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรกๆ ซึ่งหมายถึงอนาคตของผู้ป่วยหรือการพยากรณ์โรคจะดีกว่ามะเร็งอื่นๆ บางชนิด

ภาพรวมพบว่า ประมาณ 70% ของผู้ป่วยจะมีชีวิตได้อีกอย่างน้อย 5 ปีภายหลังการวินิจฉัย และประมาณ 60% จะมีชีวิตได้อีกอย่างน้อย 10 ปี

หากคุณสูบบุหรี่ แนะนำให้หยุดสูบบุหรี่หลังได้รับการวินิจฉัยมะเร็งกล่องเสียง ซึ่งอาจช่วยทำให้การพยากรณ์โรคเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

สาเหตุของมะเร็งกล่องเสียง

มะเร็งกล่องเสียงเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่กล่องเสียง อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเพราะอะไรจึงเกิดขึ้น

มะเร็งทุกชนิดเริ่มต้นขึ้นจากมีการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอ (DNA) ภายในเซลล์ ดีเอ็นเอจะกำหนดหน้าที่การทำงานของเซลล์ต่างๆ เช่น ควบคุมการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์

การเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอจะเปลี่ยนแปลงการทำงานของเซลล์ในการควบคุมการเจริญเติบโต ซึ่งหมายถึง เซลล์จะเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องแทนที่จะหยุดเมื่อถึงเวลาที่ควรหยุด ทำให้เซลล์เจริญเติบโตแบบควบคุมไม่ได้ และเกิดเป็นก้อนเนื้องอกขึ้นมา

ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่าทำไมดีเอ็นเอภายในเซลล์ของกล่องเสียงจึงมีการเปลี่ยนแปลงไปในโรคมะเร็งกล่องเสียง แต่พบว่าการสัมผัสกับอะไรก็ตามที่ทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อของกล่องเสียงจะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งกล่องเสียงได้

อะไรบ้างที่เพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งกล่องเสียง?

มีหลายสิ่งที่เพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งกล่องเสียง ได้แก่

แอลกอฮอล์และบุหรี่

แอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่คือสองปัจจัยหลักที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งกล่องเสียง ซึ่งคิดว่าเกิดจากสารเคมีจากสองปัจจัยเหล่านี้ไปสร้างความเสียหายให้กับเซลล์กล่องเสียง

ยิ่งดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่มาก ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกล่องเสียงมากเท่านั้น

ในคนที่สูบบุหรี่มากกว่า 25 มวนต่อวัน หรือในคนที่สูบบุหรี่มานานมากกว่า 40 ปี พบว่ามีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งกล่องเสียงมากกว่าคนที่ไม่สูบถึง 40 เท่า

หากเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ พบว่าคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นประจำจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกล่องเสียงมากเป็น 3 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ดื่ม

หากคุณดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ ความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งกล่องเสียงจะเพิ่มขึ้นในอนาคต การหยุดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งกล่องเสียงอย่างชัดเจน

ประวัติครอบครัว

ในผู้ที่มีญาติลำดับติดตัว (พ่อแม่, พี่น้อง หรือบุตร) ได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็งศีรษะหรือลำคอจะมีความเสี่ยงเป็น 2 เท่าต่อการเป็นมะเร็งกล่องเสียงเมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคดังกล่าว

อาหาร

มีข้อมูลหลักฐานสนับสนุนว่าการรับประทานสัตว์เนื้อแดง, อาหารที่ผ่านกรรมวิธีแล้ว, อาหารทอด ในปริมาณมาก อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกล่องเสียง

การรับประทานอาหารที่ประกอบไปด้วยผักและผลไม้จำนวนมากอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งกล่องเสียงได้

เชื้อไวรัสเอชพีวี (Human papilloma virus (HPV))

เชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) คือกลุ่มของเชื้อไวรัสที่ส่งผลต่อผิวหนังและเนื้อบุชื้นตามร่างกาย เช่น บริเวณปากช่องคลอด (cervix), ทวารหนัก, ปาก และลำคอ

เชื้อไวรัสเอชพีวีจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ปากมดลูก ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก (cervical cancer) ซึ่งคาดคิดว่าไวรัสนี้อาจมีผลกับเซลล์ที่ลำคอคล้ายกัน เชื้อเอชพีวีมักติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ทางปากด้วย (oral sex)

การสัมผัสกับสารที่เป็นอันตราย (harmful substances)

การทำงานที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีบางชนิดในปริมาณมากอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกล่องเสียง ได้แก่:

  • แร่ใยหิน (asbestos)
  • ฝุ่นถ่านหิน หรือ ฝุ่นไม้
  • สี หรือ ควันดีเซล
  • นิกเกิล (nickel)
  • ควันของกรดซัลฟูริก (sulphuric acid fumes)
  • ฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde)-เป็นสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น การผลิตสี และเครื่องสำอาง
  • ไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์ (isopropyl alcohol) มักใช้เป็นตัวทำละลายของสารทำความสะอาด

การวินิจฉัยมะเร็งกล่องเสียง

หากคุณมีอาการของมะเร็งกล่องเสียง เช่น เสียงแหบ และเจ็บขณะกลืน แพทย์จะสอบถามถึงอาการอื่นๆ รวมถึงประวัติทางการแพทย์ที่ผ่านมา

แพทย์อาจทำการตรวจภายในลำคอเพื่อตรวจดูความผิดปกติ เช่น มีก้อน และมีการบวมหรือไม่

หากแพทย์สงสัยว่าเป็นมะเร็งกล่องเสียง คุณจะได้รับการส่งต่อไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขา หู จมูก คอ (ear, nose, throat (ENT)) เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติม

องค์กร National Institute for Health and Care Excellence (NICE) ของประเทศสหราชอาณาจักรแนะนำว่าคนที่อายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไปที่มีเสียงแหบเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีก้อนที่คอโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรนัดหมายเข้าพบแพทย์เฉพาะทางภายใน 2 สัปดาห์

การตรวจหลักๆ ที่ใช้ มีรายละเอียดดังนี้

การใช้กล้องส่องตรวจกล่องเสียงที่เรียกว่า Nasendoscopy

Nasendoscopy คือวิธีการตรวจเพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนของกล่องเสียง

ระหว่างกระบวนการตรวจแพทย์จะใช้ท่อยืนหยุ่นขนาดเล็กที่มีแสงและกล้องอยู่ที่ด้านปลายท่อ (endoscope) โดยจะใส่เข้าไปที่รูจมูกข้างหนึ่งและผ่านลงไปยังด้านหลังลำคอ ภาพที่เห็นจากกล้องจะแสดงบนจอภาพ (monitor)

ระหว่างการทำคุณมักตื่นและรู้ตัวตลอด และอาจรู้สึกไม่สบายตัวได้ บางครั้งแพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อให้ชาบริเวณจมูกและคอก่อนการทำ ดังนั้นคุณจะไม่รู้สึกเจ็บปวด

การใช้กล้องส่องตรวจกล่องเสียงที่เรียกว่า Laryngoscopy

หากการตรวจด้วย nasendoscopy แล้วยังไม่ได้ภาพที่ชัดเจนนัก แพทย์อาจพิจารณาตรวจด้วยการใช้กล้องส่องตรวจอีกวิธีที่เรียกว่า laryngoscopy

การตรวจนี้คล้ายกับ nasendoscopy คือจะใช้กล้องขนาดเล็กส่องตรวจกล่องเสียง อย่างไรก็ตามกล้องที่ใช้ในการตรวจด้วยวิธีนี้จะมีความยาวมากกว่า และใส่เข้าทางปาก ทำให้เห็นรายละเอียดของกล่องเสียงมากยิ่งขึ้น

การใช้กล้องส่องตรวจที่เรียกว่า laryngoscopy จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัวอย่างมาก ดังนั้นมักทำภายใต้การให้ยาสลบ และคุณควรสามารถกลับบ้านได้อย่างเร็วที่สุดภายหลังการฟื้นตัวจากฤทธิ์ของยาสลบแล้ว ซึ่งอาจเป็นวันนั้นหรือวันหลังจากนั้น

การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ (biopsy)

ระหว่างการส่องกล้องด้วย nasendoscopy หรือ laryngoscopy แพทย์อาจใช้เครื่องมือขนาดเล็กตัดตัวอย่างเซลล์จากกล่องเสียงเพื่อนำไปตรวจหาสัญญาณของโรคมะเร็ง เราเรียกการตัดชิ้นเนื้อว่า biopsy

แต่ถ้าพบเป็นก้อนที่ลำคอ แพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กเจาะดูดเอาเนื้อเยื่อตัวอย่างออกมาแทน เราเรียกว่า fine needle aspiration

การตรวจเพิ่มเติม

หากผลจากการตรวจชิ้นเนื้อแสดงว่าคุณเป็นมะเร็งและมีความเสี่ยงที่มะเร็งจะแพร่กระจาย คุณจะได้รับการส่งต่อไปตรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินการแพร่กระจายของมะเร็ง ซึ่งอาจได้แก่การตรวจดังนี้:

  • ซีที สแกน/การสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computerised tomography (CT) scan) คือการใช้เอกซเรย์เพื่อสร้างเป็นภาพสามมติของกล่องเสียง และเนื้อเยื่อข้างเคียง
  • การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging (MRI) scan)-เป็นการใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าเข้มข้นร่วมกับคลื่นวิทยุเพื่อสร้างเป็นภาพรายละเอียดของกล่องเสียงและเนื้อเยื่อข้างเคียง
  • PET-CT scan- คือการใช้ซีที สแกน เพื่อถ่ายภาพของสิ่งที่อยู่ภายในร่างกายหลังได้รับการฉีดสารกัมมันตรังสีอย่างอ่อนแล้ว เพื่อช่วยให้เห็นภาพบริเวณที่มีเซลล์มะเร็งชัดเจนมากขึ้น
  • สแกนอัลตราซาวด์ (ultrasound scan)-คือการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อตรวจดูสัญญาณของมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองที่ใกล้กับกล่องเสียง

ระยะของโรคมะเร็งและเกรดของโรคมะเร็ง (Staging and grading)

ภายหลังได้รับการตรวจทุกอย่างแล้ว แพทย์จะแจ้งให้คุณทราบได้ว่าคุณเป็นมะเร็งในระยะใด มะเร็งมีการแพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใด ซึ่งได้แก่ระยะของโรคและเกรดของโรคมะเร็ง

บุคลากรทางการแพทย์จะใช้ระบบที่เรียกว่า TNM system ในการบอกระยะของโรคมะเร็งกล่องเสียง โดย T บอกขนาดของก้อนเนื้อ, N บอกว่ามะเร็งแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ และ M บอกว่ามะเร็งแพร่กระจายไปที่บริเวณอื่นๆ ของร่างกายหรือไม่

  • ระยะ T 1-4: เนื้องอกขนาดเล็กที่จำกัดอยู่เฉพาะส่วนหนึ่งของกล่องเสียงจะเรียกว่า T1 และถ้ามะเร็งโตมากขึ้นจนออกไปที่เนื้อเยื่อนอกกล่องเสียงแล้วจะเรียกว่า T4
  • ระยะ N 0-3: โดย N0 หมายถึง ยังไม่พบการแพร่กระจายของมะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลือง, N2 – N3 หมายถึง มีการแพร่กระจายของมะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลืองหนึ่งต่อม หรือมากกว่าหนึ่งต่อม
  • ระยะ M 0 หรือ M1: โดย M0 หมายถึง มะเร็งยังไม่แพร่กระจายไปที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย และ M1 หมายถึงมะเร็งแพร่กระจายไปที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายแล้ว

และยังมีระบบเกรดที่ใช้อธิบายลักษณะของมะเร็งกล่องเสียงด้วย คือ grades 1-3 โดยเกรดน้อย เช่น เกรด 1 หมายถึงมะเร็งมีแนวโน้มเติบโตช้าและโอกาสน้อยที่จะแพร่กระจาย แต่ถ้าเกรดสูง เช่น เกรด 3 หมายถึง มะเร็งโตเร็วและมีโอกาสสูงที่จะแพร่กระจาย

การรักษามะเร็งกล่องเสียง

การรักษามะเร็งกล่องเสียงจะขึ้นกับขนาดของมะเร็ง โดยการรักษาหลักที่ใช้ได้แก่ การให้รังสีรักษา (radiotherapy), การผ่าตัด และการใช้ยาเคมีบำบัด

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับการดูแลโดยทีมบุคลากรทางการแพทย์สหสาขาวิชาชีพซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการทำงานร่วมกันวางแผนในการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

ทีมบุคลากรทางการแพทย์สหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศัลยแพทย์ แพทย์โรคมะเร็ง (แพทย์ที่เชี่ยวชาญในการรักษามะเร็งด้วยวิธีที่ไม่ใช่การผ่าตัด) และพยาบาลที่เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลคุณ

ทีมแพทย์ที่ดูแลรักษาคุณจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรักษาที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับคุณ แต่ในการตัดสินใจสุดท้ายขึ้นกับตัวคุณ

ก่อนที่คุณจะไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อหารือเกี่ยวกับทางเลือกในการรักษา คุณอาจเตรียมข้อคำถามที่คุณสงสัยไว้ก่อนได้เพื่อสอบถามกับทีมแพทย์ที่ดูแลคุณ ตัวอย่างเช่น คุณอาจต้องการทราบถึงข้อดีและข้อเสียของวิธีการรักษาในแต่ละวิธี

แผนการรักษาของคุณ

แผนการรักษาที่แพทย์แนะนำให้กับคุณจะขึ้นกับระยะของโรคมะเร็งที่คุณกำลังเป็น

ถ้าคุณเป็นมะเร็งกล่องเสียงระยะแรก อาจมีความเป็นไปได้ที่จะผ่าตัดเอามะเร็งออกได้ หรือรักษาโดยให้รังสีรักษาเพียงอย่างเดียว แต่ถ้ามะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นอีกเล็กน้อย อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดร่วมกับการให้รังสีรักษา

ในมะเร็งกล่องเสียงระยะท้ายอาจต้องใช้การผ่าตัดที่กินบริเวณกว้างมากขึ้น และอาจให้รังสีรักษาและยาเคมีบำบัดร่วมด้วย ในบางกรณีผู้ป่วยอาจต้องผ่าตัดเอากล่องเสียงออกทั้งหมด

ยา cetuximab เป็นยาที่อาจถูกใช้ในกรณีที่การให้ยาเคมีบำบัดไม่มีความเหมาะสมในผู้ป่วยรายนั้นๆ

สำหรับรายละเอียดของการรักษาต่างๆ มีดังนี้:

รังสีรักษา (radiotherapy)

รังสีรักษาคือการใช้รังสีพลังงานสูงที่มีการควบคุมเพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็ง การรักษานี้อาจใช้เป็นการรักษาเดี่ยวสำหรับมะเร็งกล่องเสียงระยะแรก หรือสามารถใช้ภายหลังการผ่าตัดเพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งกลับมาเป็นซ้ำ ในบางครั้งจะใช้รังสีรักษาร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด

ในกระบวนการให้รังสีรักษาจะมีการฉายรังสีอย่างแม่นยำโดยมีเป้าหมายที่บริเวณกล่องเสียง เพื่อให้แน่ใจว่ารังสีที่ฉายจะเข้าไปที่บริเวณที่ต้องการอย่างแม่นยำ จะมีการใช้อุปกรณ์ยึดอวัยวะในการฉายรังสี (special plastic mask) ทำการยึดศีรษะให้อยู่ในท่าทางที่ถูกต้อง ซึ่งจะต้องทำอุปกรณ์นี้ตามแบบของใบหน้าคุณให้เสร็จเรียบร้อยก่อนการทำการรักษา

โดยทั่วไปจะให้รังสีรักษาช่วงสั้นๆ ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ และหยุดให้การรักษาในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สำหรับคอร์สในการรักษามักใช้เวลาประมาณ 3 – 7 สัปดาห์

รังสีรักษานอกจากจะทำลายเซลล์มะเร็งแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติในร่างกายด้วย ทำให้เกิดผลข้างเคียงหลายประการ ได้แก่:

ทีมสหสาขาวิชาชีพจะติดตามอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นและทำการรักษาหากเป็นไปได้ ตัวอย่างเช่น ให้ยาทาแผลในปากสำหรับรักษาแผลในปาก และยังมียาที่ใช้อาการปากแห้งอีกด้วย

รังสีรักษาอาจเป็นสาเหตุของเนื้อเยื่อลำคอมีอาการบวมอักเสบ การอักเสบอย่างรุนแรงเป็นสาเหตุของการหายใจลำบากได้ หากคุณมีอาการหายใจลำบากให้รีบไปพบแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินทันที

อาการข้างเคียงโดยส่วนใหญ่จะค่อยๆ ดีขึ้นและหายไปในเวลาไม่กี่สัปดาห์หลังการรักษาสิ้นสุดลง

การผ่าตัด

มีการผ่าตัดอยู่ทั้งหมด 3 ชนิดที่ใช้ในการรักษามะเร็งกล่องเสียง ได้แก่:

  • การผ่าตัดแบบ endoscopic resection
  • การผ่าตัดกล่องเสียงบางส่วน (partial laryngectomy)
  • การผ่าตัดกล่องเสียงทั้งหมด (total laryngectomy)

โดยรายละเอียดของการผ่าตัดแต่ละวิธี มีดังนี้:

Endoscopic resection

การผ่าตัดแบบ Endoscopic resection จะถูกใช้ในการรักษามะเร็งกล่องเสียงระยะแรกๆ

ระหว่างการผ่าตัดชนิดนี้ ศัลยแพทย์จะใช้กล้องชนิดพิเศษเพื่อขยายภาพของกล่องเสียง ทำให้ผ่าตัดมะเร็งออกได้ด้วยการใช้เลเซอร์ หรือเครื่องมือในการผ่าตัดขนาดเล็ก

การผ่าตัดวิธีนี้จะใช้ยาสลบ ซึ่งผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวและไม่รู้สึกเจ็บขณะผ่าตัด

ปากและลำคอของคุณอาจรู้สึกเจ็บได้เป็นเวลาอีก 2-3 สัปดาห์หลังการผ่าตัด และการผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของเสียงอย่างถาวร

การผ่าตัดกล่องเสียงบางส่วน (partial laryngectomy)

การผ่าตัดกล่องเสียงบางส่วนอาจใช้เพื่อรักษามะเร็งกล่องเสียงในผู้ป่วยบางราย ซึ่งเป็นการผ่าตัดเอาส่วนของกล่องเสียงที่ได้รับผลกระทบออก ในการผ่าตัดนี้สายเสียงบางส่วนจะยังคงอยู่ที่เดิม ดังนั้นคุณจึงยังพูดได้ แต่เสียงอาจแหบหรือเสียงเบาลง

ระหว่างที่กล่องเสียงกำลังฟื้นตัวจากการผ่าตัด คุณอาจพบอาการหายใจลำบากได้ ศัลยแพทย์อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเจาะคอชั่วคราวเพื่อต่อกับท่อ เพื่อให้ผู้ป่วยหายใจได้ เราเรียกว่า temporary tracheostomy

เมื่อกล่องเสียงฟื้นตัวเรียบร้อยแล้ว ท่อที่ต่อไว้จะถูกนำออก ทำให้รูเจาะค่อยๆ ฟื้นตัวและทิ้งรอยแผลเป็นขนาดเล็กไว้

อย่างไรก็ตามการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ไม่นิยมใช้ในปัจจุบัน แต่นิยมผ่าตัดแบบ endoscopic resection เป็นลำดับแรก หากสามารถทำได้

การผ่าตัดกล่องเสียงทั้งหมด (total laryngectomy)

การผ่าตัดกล่องเสียงทั้งหมดมักใช้ในการรักษามะเร็งกล่องเสียงระยะรุนแรงแพร่กระจาย โดยในการผ่าตัดจะผ่าเอากล่องเสียงออกทั้งหมด และต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงอาจจำเป็นต้องผ่าตัดออกด้วย หากมะเร็งมีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองนั้นๆ (ต่อมน้ำเหลืองคือต่อมขนาดเล็กซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน)

ในการผ่าตัดจะมีการผ่าสายเสียงออกไปด้วย ทำให้คุณไม่สามารถพูดได้ตามปกติภายหลังการผ่าตัด อย่างไรก็ตามมีวิธีการหลายวิธีที่จะช่วยให้กลับมามีเสียงพูดอีกครั้ง

หากคุณได้รับการผ่าตัดกล่องเสียงออกทั้งหมด แพทย์จะผ่าตัดเจาะคอถาวรเพื่อช่วยในการหายใจภายหลังการผ่าตัด (stoma)

คุณจะได้รับการสอนวิธีในการดูแลความสะอาดของรูที่เจาะไว้ การเจาะคอในช่องแรกอาจรู้สึกน่ากลัว แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะคุ้นชินเมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่เดือน

ยาเคมีบำบัด

ยาเคมีบำบัดคือการให้ยาที่มีความสามารถในการทำลายเซลล์มะเร็งได้สูง โดยยาจะไปทำลายดีเอ็นเอของเซลล์มะเร็งและหยุดการแบ่งตัวเพิ่มจำนวน การใช้ยาเคมีบำบัดอาจใช้เพื่อลดขนาดก้อนมะเร็งก่อนการผ่าตัดหรือฉายรังสี หรือให้ยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษาเพื่อให้การรักษาด้วยรังสีรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

ยาเคมีบำบัดยังสามารถใช้ในการรักษามะเร็งกล่องเสียงในผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงระยะแพร่กระจาย หรือเมื่อมะเร็งกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้ง ในสถานการณ์เช่นนี้ยาจะช่วยบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยและอาจช่วยชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็ง

ยาเคมีบำบัดมักให้กับผู้ป่วยทางหลอดเลือดดำ 1 ครั้งทุก 3-4 สัปดาห์ เป็นเวลานานถึง 6 เดือน คุณอาจจำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 2 -3 วันระหว่างการรักษาในแต่ละครั้ง หรือคุณอาจเพียงแต่เข้ามาพบแพทย์เพื่อรับยาในช่วงเวลาสั้นๆ

ยาเคมีบำบัดยังทำลายเซลล์ปกติสุขภาพดีในร่างกายได้เช่นเดียวกับทำลายเซลล์มะเร็ง ทำให้เกิดผลข้างเคียงหลายประการ โดยผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น:

ยาเคมีบำบัดยังมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง คุณจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการเจ็บป่วยมากขึ้น

ดังนั้นจึงมีความสำคัญที่คุณต้องแจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการของการติดเชื้อ เช่น มีไข้ หนาวสั่น ไอเรื้อรัง คุณควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับคนอื่นที่กำลังมีการติดเชื้ออยู่

ผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดควรดีขึ้นภายหลังการรักษาสิ้นสุดลง

ยา cetuximab

ยา cetuximab เป็นยาชีววัตถุ ยามีเป้าหมายในการขัดการกระบวนการต่างๆ ของเซลล์มะเร็ง ได้แก่ การเจริญเติบโตและการแบ่งตัวเพิ่มจำนวน

ยา cetuximab สามารถใช้ร่วมกับรังสีรักษาเพื่อรักษามะเร็งกล่องเสียงระยะลุกลามในกรณีที่ไม่สามารถใช้ยาเคมีบำบัดได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคไต หรือ โรคหัวใจ หรือผู้ป่วยที่กำลังติดเชื้อในขณะนี้ อาจไม่สามารถใช้ยาเคมีบำบัดได้ เพราะผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บป่วยมากขึ้น

ยา cetuximab จะให้เข้าทางหลอดเลือดดำอย่างช้าๆ เป็นเวลา 1 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น โดยทั่วไปจะให้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 7 สัปดาห์

ผลข้างเคียงของยา cetuximab มักเป็นระดับรุนแรงน้อย ได้แก่:

  • มีผื่น
  • รู้สึกคลื่นไส้
  • ท้องเสีย
  • หายใจลำบาก

ยา cetuximab อาจกระตุ้นปฏิกิริยาการแพ้ได้ในผู้ป่วยบางราย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการบวมที่ลิ้นหรือลำคอ และในบางกรณีปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจะเป็นในระดับรุนแรง หรือ ในระดับถึงแก่ชีวิต

ปฏิกิริยาร้ายแรงโดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายในวันเริ่มการรักษา ดังนั้นคุณจะได้รับการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด หากอาการเป็นปฏิกิริยาแบบรุนแรง เช่น หัวใจเต้นเร็ว หรือมีปัญหาในการหายใจ อาจใช้ยาบรรเทาอาการได้ เช่น สเตียรอยด์ (corticosteroids)

การฟื้นตัวจากโรค

หากคุณได้รับการผ่าตัดเอากล่องเสียงออกบางส่วน หรือเอาออกทั้งหมด คุณอาจจำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลโดยได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 1-2 วันหลังผ่าตัดจนกว่าคุณจะฟื้นตัว

คุณจะยังไม่สามารถรับประทานอาหารได้จนกว่าคอของคุณจะเริ่มหายดี โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 1 หรือ 2 สัปดาห์ในการฟื้นตัว ในขณะที่คอของคุณกำลังฟื้นตัว คุณจำเป็นต้องได้รับอาหารผ่านสายยางโดยใส่เข้าทางจมูกลงสู่กระเพาะอาหาร

ถ้าคุณได้รับการผ่าตัดเอากล่องเสียงออกทั้งหมด (total laryngectomy) คุณจะไม่สามารถพูดได้ตามปกติอย่างที่เคยเป็น เพราะสายเสียง (vocal cords) จะถูกผ่าตัดออกไปด้วย แต่ก็มีเทคนิคหลายเทคนิคที่จะช่วยให้คุณมีเสียงกลับมาได้อีกครั้ง แต่ต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนในการเรียนรู้

ดังนั้นคุณมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทางเลือกอื่นในการสื่อสาร เช่น การใช้ปากกาและกระดาษในช่วงสัปดาห์แรกๆ หรือเดือนแรกๆ หลังการผ่าตัด แน่นอนว่านี่อาจเป็นประสบการณ์ที่แย่ เพราะการสูญเสียสิ่งที่คุณเคยทำได้มาก่อนอาจเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับได้ในช่วงแรก

แนะนำให้เตรียมพร้อมรับมือกับปฏิกิริยาของคนแปลกหน้าคนอื่นที่อาจมีต่อตัวคุณเอง ซึ่งอาจทำให้รู้สึกไม่ดี มีผู้ป่วยบางรายที่ได้รับการผ่าตัดกล่องเสียงออกไปให้ข้อมูลว่า ผู้คนแปลกหน้าคนอื่นอาจทำเหมือนกับว่าเขาเป็นคนหูหนวกหรือมีปัญหาในการเรียนรู้เพียงเพราะเขาพูดไม่ได้

อารมณ์ของคุณ

แน่นอนว่าการผ่าตัดกล่องเสียงจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์อย่างชัดเจน

ตัวอย่างเช่น คุณอาจรู้สึกแย่ขณะที่ได้รับการวินิจฉัยว่าตนเองเป็นมะเร็งกล่องเสียง แต่จะรู้สึกดีขึ้นเมื่อมะเร็งได้ถูกกำจัดออกไปด้วย และจะกลับมารู้สึกแย่อีกครั้งเมื่อคุณต้องพยายามรับมือกับการฝึกใช้ชีวิตเมื่อมีการผ่าตัดกล่องเสียงออกไปแล้ว

การเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์อาจกระตุ้นให้มีภาวะซึมเศร้า คุณอาจรู้สึกซึมเศร้าหากคุณรู้สึกแย่เป็นเวลาหลายเดือนและคุณไม่รู้สึกสนุกกับสิ่งที่เคยชอบอีกต่อไป

แนะนำให้แจ้งแพทย์หรือทีมดูแลทราบเพื่อขอรับคำแนะนำหากคุณคิดว่าตัวเองกำลังมีอาการซึมเศร้า เพราะมีการรักษาหลายวิธีที่สามารถช่วยคุณได้

การดูแลรูเจาะที่คอ

ถ้าคุณได้รับการผ่าตัดเอากล่องเสียงออกทั้งหมด ศัลยแพทย์จะเจาะคอถาวรเพื่อให้คุณหายใจได้ ในช่วงไม่กี่เดือนแรกหลังการผ่าตัด มีโอกาสที่รูเจาะที่คอจะมีของเหลว หรือเมือกๆ ไหลออกมา โดยเฉพาะถ้าคุณได้รับรังสีรักษาด้วย

ของเหลวหรือเมือกที่ผลิตออกมามากเกินนี้จะทำให้หายใจลำบากได้ ดังนั้นอาจมีการต่อท่อเข้ากับรูเจาะนี้เพื่อช่วยให้หายใจได้ง่ายขึ้น แต่เมื่อของเหลวหรือเมือกเริ่มมีปริมาณลดลงแล้ว ท่อที่ต่อเอาไว้จะถูกนำออก

สิ่งสำคัญคือต้องทำความสะอาดรูเจาะอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง มิฉันนั้นอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ โดยพยาบาลผู้เชี่ยวชาญจะให้คำแนะนำในการรักษาความสะอาดให้กับคุณ

คุณจะได้รับแผ่นกรองชนิดพิเศษเอามาปิดไว้บนรูเจาะที่คอเพื่อช่วยให้รูเจาะมีความชุ่มชื้นและปลอดจากเชื้อโรค

สิ่งสำคัญอีกข้อที่ต้องจำไว้ก็คือ คุณจำเป็นต้องเอากระดาษทิชชู่ปิดรูเจาะไว้ขณะที่คุณไอหรือจาม แทนที่จะปิดที่ปากตามปกติ เพราะว่าของเหลว เมือก หรือน้ำลาย จะออกมาทางรูเจาะได้

การพูดสื่อสารภายหลังการผ่าตัด

หากคุณได้รับการผ่าตัดกล่องเสียงออกทั้งหมดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรักษามะเร็งกล่องเสียง คุณจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติมเพื่อให้กลับมามีเสียงในการสื่อสารได้อีกครั้ง

ก่อนการผ่าตัดเอากล่องเสียงออก คุณอาจจำเป็นต้องพบกับผู้ให้การรักษาด้านการพูดและการใช้ภาษาก่อน เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับทางเลือกในการรักษาเพื่อให้กลับมามีเสียงในการสื่อสารได้อีกครั้ง

ซึ่งทางเลือกในการรักษาเพื่อช่วยให้กลับมามีเสียงในการสื่อสารมีหลายวิธี โดยมีรายละเอียดอย่างย่อ ดังต่อไปนี้

กล่องเสียงเทียม

กล่องเสียงเทียมจะถูกใส่ไว้ที่คอของคุณ เมื่อคุณต้องการพูด จะต้องเอามือมาปิดรูที่คอและหายใจใจออกเพื่อให้ลมดันผ่านกล่องเสียงเทียมนี้ทำให้เกิดเป็นเสียงขึ้น

โดยเสียงที่เกิดขึ้นจะเป็นเสียงที่ฟังดูเป็นธรรมชาติ แต่เสียงจะต่ำกว่าเสียงแต่ก่อนของคุณ

หากคุณเลือกวิธีการใช้กล่องเสียงเทียม คุณจะได้รับการผ่าตัดใส่ไปพร้อมกับการผ่าตัดนำกล่องเสียงออก

การพูดโดยเปล่งเสียงจากหลอดอาหาร (Oesophageal speech)

เทคนิคนี้คือเทคนิคในการพูดชนิดหนึ่ง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการพูดและการใช้ภาษาจะสอนคุณให้ฝึกปล่อยอากาศผ่านขึ้นมาทางหลอดอาหาร เมื่ออาหารผ่านขึ้นมาที่หลอดอาหารก่อให้เกิดการสั่นและทำให้เกิดเสียง และคุณสามารถสร้างคำพูดได้โดยการขยับริมฝีปากและปากของคุณ

ผู้ป่วยบางรายพบว่าการฝึกออกเสียงด้วยวิธีนี้เป็นวิธีที่ง่าย ในขณะที่บางคนพบว่าเป็นเรื่องยาก การฝึกฝนเป็นประจำด้วยตนเองร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจะช่วยให้การพูดดีขึ้น

อุปกรณ์ช่วยพูด (Electrolarynx)

อุปกรณ์ช่วยพูดเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็ก มีแบตเตอรี่เพื่อช่วยในการทำงาน โดยอุปกรณ์จะทำให้เกิดการสั่นและสร้างเป็นเสียงได้ เมื่อต้องการพูดให้ถืออุปกรณ์มาติดไว้ที่ใต้คาง และให้ขยับปากและริมฝีปากทำให้การสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นแปลงเป็นเสียงได้ โดยผู้เชี่ยวชาญจะสอนการใช้เครื่องนี้ให้กับคุณ

การป้องกันมะเร็งกล่องเสียง

คาดว่าส่วนใหญ่ของมะเร็งกล่องเสียงสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้มีสุขภาพดี

หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่, ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดโอกาสเป็นโรคมะเร็งกล่องเสียง

หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่/ผลิตภัณฑ์ยาสูบ

การสูบบุหรี่จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้หลายชนิด รวมถึงมะเร็งกล่องเสียง

แน่นอนว่ารวมถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดอื่นๆ ด้วย

  • บุหรี่
  • ยาเส้น
  • ซิการ์
  • บุหรี่มวนเล็ก
  • การเคี้ยวใบยาสูบ
  • การสูดผงยาสูบเข้าทางจมูก

หากคุณสูบบุหรี่หรือใช้ผลิตภัณฑ์จากยาสูบ การหยุดใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพในระยะสั้นและระยะยาว และยังช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งกล่องเสียงได้อีกด้วย

หากคุณวางแผนจะเลิกบุหรี่ คุณสามารถขอรับคำปรึกษาได้จากสายด่วน โทร 1600

หากคุณต้องการหยุดสูบบุหรี่ แต่ไม่ต้องการไปรับการรักษากับศูนย์บริการเฉพาะทางด้านการเลิกบุรี่ แพทย์ทั่วไปสามารถสั่งยาที่จะช่วยเลิกบุหรี่ให้กับคุณได้

ลดการดื่มแอลกอฮอล์

การจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ให้อยู่ในปริมาณที่แนะนำจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกล่องเสียงและมะเร็งตับได้

  • ผู้ชายและผู้หญิงได้รับคำแนะนำไม่ให้ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 14 หน่วยต่อสัปดาห์
  • และให้แบ่งการดื่มแอลกอฮอล์อย่างให้ได้อย่างน้อย 3 วันขึ้นไป ถ้าคุณดื่มมากถึง 14 หน่วยต่อสัปดาห์

1 หน่วยของแอลกอฮอล์เทียบเท่ากับ เบียร์ครึ่งไพน์ หรือ แก้วในผับขนาดเล็ก (25 มิลลิลิตร) หรือ สปีริต

ข้อมูลจากการศึกษาพบว่าความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งกล่องเสียงจะลดลงอย่างชัดเจนภายใน 5-10 ปี ที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ และภายหลัง 20-30 ปี ความเสี่ยงจะเท่ากับคนที่ไม่เคยดื่มแอลกอฮอล์เลย

คุณสามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ได้หากคุณพบว่าการเลิกดื่มหรือการลดปริมาณดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องยากสำหรับคุณ คุณอาจได้รับการรักษาเพิ่มเติม เช่น การให้คำปรึกษา การทำกิจกรรมกลุ่ม หรือการใช้ยา

อาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ

ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่าการรับประทานผัก ผลไม้ ปริมาณมาก โดยเฉพาะ มะเขือเทศ ผลไม้รสเปรี้ยวในตระกูลซีตรัส (citrus fruit) เช่น ส้ม เกรปฟุ้ต และมะนาว น้ำมันมะกอก น้ำมันปลา อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกล่องเสียงได้

การรับประทานผักและผลไม้ปริมาณมากในแต่ละวันจะช่วยลดโอกาสในการเป็นมะเร็งหลายๆ ชนิด รวมถึงมะเร็งกล่องเสียง

https://www.nhsinform.scot/illnesses-and-conditions/cancer/cancer-types-in-adults/laryngeal-larynx-cancer#introduction


18 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Laryngeal cancer: Symptoms, types, and diagnosis. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/171568)
Laryngeal Cancer: Causes, Risk Factors and Symptoms. Healthline. (https://www.healthline.com/health/laryngeal-cancer)
Laryngeal (larynx) cancer - NHS (https://www.nhs.uk/conditions/laryngeal-cancer/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป