กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

คู่มือฉบับสมบูรณ์: การติดเชื้อ HIV หรือโรคเอดส์

แค่ป้องกันเอชไอวีอย่างถูกวิธี ก็สามารถป้องกันโรคเอดส์ได้
เผยแพร่ครั้งแรก 17 ม.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 29 ส.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 12 นาที
คู่มือฉบับสมบูรณ์: การติดเชื้อ HIV หรือโรคเอดส์

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • เชื้อไวรัส HIV และโรคเอดส์จัดเป็นโรคติดเชื้อที่น่ากลัวอันดับต้นๆ ของโลก และยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้
  • หลายคนยังคงสับสนว่า การติดเชื้อ HIV แตกต่างจากโรคเอดส์อย่างไร ซึ่งอธิบายง่ายๆ ก็คือ โรคเอดส์เป็นระยะร้ายแรงของการติดเชื้อ HIV จนทำให้เสียชีวิตได้นั่นเอง
  • การติดเชื้อ HIV แบ่งออกได้ 3 ทาง คือ ผ่านการร่วมเพศกับผู้มีเชื้อโดยไม่ป้องกัน ผ่านการรับเชื้อทางเลือดโดยใช้กระบอกฉีดยาร่วมกับผู้มีเชื้อ หรือจากการให้เลือดระหว่างผ่าตัด และทางสุดท้ายคือ ผ่านแม่สู่ลูก
  • หากเป็นผู้ป่วยโรค HIV วิธีดูแลตนเองที่ดีที่สุด คือ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง งดมีเพศสัมพันธ์ หรือป้องกันตนเองทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และไปรับยาต้านไวรัสทุกครั้งตามที่แพทย์นัด
  • หากคิดว่า ตนเองเสี่ยงติดเชื้อ HIV ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อโดยด่วน จะได้ป้องกันไม่ให้เชื้อที่อาจมีในร่างกายลุกลามกลายเป็นโรคเอดส์ในภายหลังได้ (ดูแพ็กเกจตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ที่นี่)

หลายสิบปีมาแล้วที่ "การติดเชื้อไวรัส HIV หรือ เอชไอวี" และ "โรคเอดส์" จัดเป็นโรคติดเชื้อที่น่ากลัวอันดับต้นๆ ของโลก แม้ปัจจุบันก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่  เนื่องจากยังไม่มีวิธีรักษาการติดเชื้อ HIV และโรคเอดส์ให้หายขาดได้ 

ทำได้แค่ประคับประคองอาการ และป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนอันจะนำมาซึ่งการเสียชีวิตได้เท่านั้น 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ STD วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 97 บาท ลดสูงสุด 76%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

สำหรับสถานการณ์โรคเอดส์ในประเทศไทย ปัจจุบันนับว่าดีขึ้นมาก โดยพบจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์น้อยลงซึ่งเป็นผลจากประสิทธิภาพของยาต้านไวรัสที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์ทั่วโลกยังคงน่าเป็นห่วง องค์การอนามัยโลกเผยข้อมูลว่า ค.ศ, 2015 มีประชากรทั่วโลกติดเชื้อ HIV หรือเอดส์ จำนวนมากถึง 36.7 ล้านคนทั่วโลก  

เมื่อเป็นโรคที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่ทุกคนสามารถทำได้คือ "การป้องกันอย่างถูกวิธีเพื่อไม่ให้ติดเชื้อ HIV " 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น วัยรุ่นบางกลุ่มที่มีค่านิยมทางเพศบางอย่าง เช่น การเปลี่ยนคู่นอนไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้ป้องกันอย่างถูกวิธี และนอกจากคนกลุ่มนี้จะมีแนวโน้มติดเชื้อ HIV เอดส์ แล้ว ยังรวมถึงมีโอกาสติดโรคทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ด้วย เช่น หนองใน ซิฟิลิส สูงขึ้นเรื่อยๆ  

บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักการติดเชื้อ HIV ว่า คืออะไร แตกต่างกับโรคเอดส์อย่างไร  โรคเอดส์คืออะไร  มีการดำเนินโรคอย่างไร และป้องได้อย่างไร  อย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ 

ความแตกต่างระหว่างเอชไอวี (HIV) และเอดส์ (AIDS) 

ก่อนอื่นต้องรู้ว่า HIV และโรคเอดส์ไม่ใช่โรคเดียวกัน รวมทั้งผู้ติดเชื้อ HIV ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคเอดส์เสมอไป คราวนี้มาดูความหมายของทั้ง 2 คำนี้กันแบบชัดๆ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ความหมายของเชื้อ HIV

HIV คือ เชื้อไวรัส ซึ่งย่อมาจาก  Human Immunodeficiency Virus เชื้อไวรัสนี้สามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ โดยจะกระจายผ่านเม็ดเลือดขาวไปตามอวัยวะต่างๆ เกือบทั่วร่างกาย 

เชื้อไวรัสนี้จะไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4  หรือ T cells  ซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรค และป้องกันร่างกายจากการติดเชื้อต่างๆ เมื่อเชื้อไวรัส HIV ทำลายเม็ดเลือดขาว CD4 และระบบภูมิคุ้มกันแล้วจะทำให้ร่างกายอ่อนแอลงจนทำให้ติดเชื้อ และเจ็บป่วยได้ง่าย 

ผู้ติดเชื้อ HIV ในระยะแรกๆ ส่วนมากจะยังไม่แสดงอาการทำให้ไม่รู้ตัวว่า กำลังติดเชื้ออยู่ โดยทั่วไปผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV จะมีระยะฟักตัว (ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มรับเชื้อเข้ามาในร่างกายจนกระทั่งเริ่มปรากฏอาการ) ประมาณ 3-5 ปี หรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย อายุของแต่ละคน 

บางคนอาจติดเชื้อ HIV นานหลายปีโดยไม่มีอาการแสดงก็ได้ แต่ก็มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่เชื้อ HIV อาจมีระยะฟักแค่เป็นหลักเดือนเช่นกัน ทั้งนี้หากมีการติดเชื้อ HIV แล้ว เชื้อนี้จะอยู่ในร่างกายตลอดไป

ความหมายของโรคเอดส์

“เอดส์” มาจากคำว่า AIDS ซึ่งเป็นย่อมาจาก Acquired Immune Deficiency Syndrome โรคเอดส์ คือ กลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HIV จะเกิดขึ้นเมื่อเชื้อไวรัสนี้ทำลายภูมิคุ้มกันในร่างกายจนทำให้ปริมาณเม็ดเลือดขาว CD4 ลดต่ำลงมาก 

ร่างกายจึงอ่อนแอ และมีโอกาสติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่ายกว่าคนปกติหากติดเชื้อ HIV และไม่ได้รับการรักษา โดยทั่วไปมักจะใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการพัฒนาเป็นโรคเอดส์  หรือพูดง่ายๆ คือ "โรคเอดส์เป็นระยะร้ายแรงของการติดเชื้อ HIV ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด"

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ STD วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 97 บาท ลดสูงสุด 76%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

โรคเอดส์เป็นโรคที่เพิ่งพบใหม่ มีรายงานครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาในราวเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2524 โดยศูนย์ควบคุมโรคติดต่อแห่งสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control) พบว่า มีกลุ่มชายรักชายร่วมเพศ จำนวน 5 คน ป่วยเป็นปอดบวมจากเชื้อนิวโมซิสติสคารินิโอ (Pneumocystis Carinii)  

จากนั้นอีก 1 เดือนต่อมา มีรายงานว่า มีหนุ่มรักร่วมเพศอีก 26 รายป่วยเป็นมะเร็งหลอดเลือด (Kaposi’s sarcoma) ทั้งที่ตามปกติแล้วโรคนี้มักเป็นในคนสูงอายุ  

นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยอีกหลายรายที่เป็นโรคปอดบวม และติดเชื้อประเภทฉวยโอกาส (Opportunistic infection) ผู้ป่วยทุกรายต่างไม่เคยมีโรคประจำตัวที่ร้ายแรงมาก่อน และไม่เคยได้รับยาประเภทกดระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมาก่อน 

เมื่อได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่า เซลล์ที่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานโรคไม่ได้ทำหน้าที่ตามปกติ  แม้ว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับการรักษาอย่างดีที่สุดแต่ก็ไม่มีใครรอดชีวิตแม้แต่รายเดียว 

ทั้งนี้เป็นเพราะระบบภูมิคุ้มกันโรคเสื่อม หรือบกพร่อง จึงมีผู้เสนอให้เรียกโรคนี้ว่า Acquired Immune Deficiency Syndrome หรือ AIDS 

จากการศึกษาย้อนหลังพบว่า โรคนี้เกิดในประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 แต่เพิ่งจะมาตื่นตัวกันในปี พ.ศ. 2524 เมื่อมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ   ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมาก็มีความเชื่อกันว่า โรคนี้จะต้องเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศที่ผิดปกติจำพวกรักร่วมเพศ 

และพฤติกรรมเกี่ยวกับการเสพยาเสพติดอย่างแน่นอน ต่อมามีการพบอีกว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการถ่ายเลือดก็สามารถเป็นโรคเอดส์ได้ จึงทำให้เห็นแนวทางการศึกษาที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และเริ่มมีการเผยแพร่ถึงวิธีการป้องกันการแพร่เชื้อ และการติดต่อโรคอย่างละเอียด

การติดต่อของเชื้อ HIV และโรคเอดส์

เชื้อ HIV และโรคเอดส์ไม่สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสทางผิวหนัง เช่น การกอด การอาศัยอยู่ร่วมกัน การใช้ห้องน้ำร่วมกัน การรับประทานอาหารด้วยกัน การใช้เสื้อผ้าร่วมกัน การว่ายน้ำในสระเดียวกัน 

นอกจากนี้เชื้อ HIV และโรคเอดส์ยังไม่สามารถติดต่อผ่านลมหายใจ หรือผ่านอากาศ เช่น ไข้หวัด และไม่ได้ติดต่อผ่านพาหะนำโรค เช่น ยุง  

เชื้อ HIV สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสเลือด และสารคัดหลั่งต่างๆ ของผู้ป่วย เช่น น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่นในช่องคลอด น้ำลาย เสมหะ  หรือแม้แต่น้ำนมแม่ 

ดังนั้นเมื่อมีบาดแผลจึงต้องระมัดระวังการสัมผัสกับสารคัดหลั่งเหล่านี้ให้มาก  

โดยทั่วไป เชื้อ HIV เมื่อออกมานอกร่างกายของผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานเพราะไม่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมเช่น ความแห้ง แสงแดด ความร้อน ภาวะกรด-ด่าง อีกทั้งเชื้อ HIV นี้ยังไม่สามารถอาศัยอยู่ในร่างกายของสัตว์อื่น ๆ ได้ 

ยิ่งถ้าถูกสารเคมี หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น Sodium hypochlorite   70% alcohol   Formaldehyde   Glutaraldehyde    Betadine Solution  เชื้อHIV ก็จะยิ่งมีอายุสั้นลงไปอีก หรือแม้แต่ผงซักฟอกที่ใช้ตามบ้านเรือนก็สามารถทำให้เชื้อ HIV อายุสั้นลงได้เช่นเดียวกัน

ส่วนใหญ่แล้วสาเหตุหลักของการติดต่อเชื้อ HIV เกิดได้ 3 ทาง

1. การร่วมเพศกับผู้ที่มีเชื้อ HIV โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัย

ไม่ว่าจะเป็นชายกับหญิงที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยช่องทางธรรมชาติ หรือไม่ธรรมชาติก็ตาม รวมทั้งการร่วมเพศระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการติดต่อโรคเอดส์ได้ 

ทั้งนี้จากข้อมูลของทางกองระบาดวิทยา ระบุว่า 83% ของผู้ติดเชื้อเอดส์นั้นได้รับเชื้อมาจากการมีเพศสัมพันธ์ทั้งสิ้น  ส่วนการจูบนั้นถึงจะติดต่อยาก แต่ถ้าคุณ หรือคู่นอนเป็นแผลที่ริมฝีปาก หรือในปากความเสี่ยงการติดเชื้ออาจจะเพิ่มขึ้น

2. การรับเชื้อทางเลือด

การติดเชื้อ HIV พบได้ใน 2 กรณี คือ

  1. ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือแม้แต่การใช้กระบอกฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ HIV ซึ่งพบบ่อยในกลุ่มของผู้ที่เสพสารเสพติดด้วยการฉีดยาเข้าเส้น รวมทั้งการใช้เข็มในการเจาะหู และส่วนต่างๆ ของร่างกาย  การสักลงบนผิวหนัง  

  2. รับเลือดมาจากการผ่าตัด หรือเพื่อรักษาโรคเลือดบางชนิด แม้ว่าเราจะไม่มีทางรู้เลยว่า เลือดที่รับบริจาคมาจากแหล่งไหน แต่ปัจจุบันได้มีการตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยโดยจะนำเลือดที่รับบริจาคมาไปตรวจหาเชื้อ HIV ก่อนเสมอ ดังนั้นเลือดที่ผ่านการบริจาคจึงมีความปลอดภัย 100%

นอกจากนี้เชื้อ HIV ยังสามารถติดต่อผ่านทางน้ำเหลืองได้ด้วย แต่โอกาสที่จะติดเชื้อได้นั้นต้องเป็นแผลเปิด และมีเลือด หรือน้ำเหลืองที่มีเชื้อเข้าไปเป็นจำนวนมากเท่านั้น

3. การติดต่อผ่านแม่สู่ลูก

เกิดจากแม่ที่มีเชื้อ HIV อยู่แล้ว และเกิดการตั้งครรภ์ทำให้มีการถ่ายทอดเชื้อไปสู่ลูก  ปัจจุบันได้ค้นพบวิธีการป้องกันการแพร่เชื้อ HIV จากแม่ไปสู่ลูกได้สำเร็จแล้ว 

ด้วยการรับประทานยาต้านไวรัสในช่วงตั้งครรภ์เพราะจะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อเอดส์ของทารกลดลงได้เหลือเพียงร้อยละ 8 เท่านั้น 

แต่ก็ถือว่ายังมีความเสี่ยงอยู่ไม่ได้ปลอดภัย 100% นัก ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ การตรวจเลือดก่อนแต่งงาน

ปัจจัยที่ทำให้ติดเชื้อ HIV

ปัจจัยที่ทำให้ติดเชื้อ HIV มีหลายประการ ได้แก่

  1. ปริมาณเชื้อที่ได้รับ หากได้รับเชื้อในปริมาณมากก็จะทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงตามไปด้วย  เชื้อ HIV จะพบมากที่สุดในเลือด รองลงมาคือในน้ำอสุจิ และน้ำหล่อลื่นในช่องคลอด
  2. การมีบาดแผล หากมีบาดแผลบริเวณผิวหนังย่อมทำให้มีโอกาสติดเชื้อ HIV สูง เพราะเชื้อ HIV สามารถเข้าสู่บาดแผลได้ง่าย
  3. ความถี่ในการสัมผัสเชื้อ หากมีการสัมผัสเชื้อไวรัสบ่อย โอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อก็มีสูงขึ้น เช่น นักวิจัยที่ต้องทำการทดลองเกี่ยวกับเชื้อไวรัส HIV 
  4. การติดเชื้อแบบอื่นๆ เช่น แผลเริม ซึ่งแผลชนิดนี้จะมีเม็ดเลือดขาวอยู่ที่บริเวณแผลเป็นจำนวนมาก ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV ได้ง่าย และเชื้อ HIV ก็ยังเข้าสู่บาดแผลได้ง่ายขึ้นด้วย
  5. สุขภาพของผู้รับเชื้อ หากคุณเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรงอยู่แล้ว โอกาสที่จะติดเชื้อก็เป็นไปได้ยาก แต่หากสุขภาพอ่อนแอก็มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายเช่นกัน

ผู้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV

จากข้อมูลทางระบาดวิทยา เมื่อพิจารณาจากผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์ทั้งที่พบในต่างประเทศ และในประเทศไทย รวมทั้งลักษณะการติดโรค และพฤติกรรมของผู้ที่เป็นโรค พอจะระบุได้ว่า กลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV ได้แก่

  1. กลุ่มที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย เช่น ผู้นิยมใช้บริการหญิง หรือชายที่ขายบริการทางเพศ  นักเที่ยวกลางคืน  การติดเชื้อ HIV ไม่ได้เป็นแต่เฉพาะผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง แต่เป็นได้กับทั้งการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันทั้งชายกับชาย และหญิงกับหญิง 
  2. กลุ่มติดยาเสพติด ที่ใช้เข็ม หรือกระบอกฉีดยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำร่วมกัน
  3. ผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยวิธีถ่ายเลือด และผู้รับบริจาคอวัยวะจากบุคคลอื่น (ปัจจุบันประเทศไทยมีการตรวจเลือดให้ผู้รับบริจาคเลือดทุกรายก่อนอยู่แล้ว กลุ่มนี้จึงไม่ต้องวิตกกังวลอีกต่อไป)
  4. ทารกในครรภ์ และบุตรที่มารดาติดเชื้อโรคเอดส์ หรือมีเลือดบวก
  5. กลุ่มนักโทษ  ที่มีการร่วมเพศกันเอง การใช้เข็มฉีดยา หรือกระบอกฉีดยาเสพติดร่วมกัน
  6. ภรรยา หรือคู่นอน ของผู้เป็นโรคเอดส์ หรือมีเลือดบวกจากเชื้อเอดส์

อาการของผู้ที่ได้รับเชื้อ HIV

โดยปกติหลังติดเชื้อ HIV ได้  2 – 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางส่วนจะมีอาการซึ่งดูเผินๆ อาจจะเหมือนกับอาการไม่สบายธรรมดาๆ อาการไข้หวัดใหญ่ หรือติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อการติดเชื้อ HIV 

ในช่วงเวลานี้ร่างกายจะมีปริมาณเชื้อไวรัสสูงมาก ซึ่งสามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้ง่าย อาการดังกล่าวนี้จะมีอยู่เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่จะหายไปเอง และไม่มีอาการอีกเลยเป็นปีๆ 

ในกรณีที่หากเป็นโรคเอดส์ อาการเหล่านี้มักจะเป็นอยู่นานกว่าธรรมดามาก หรือแม้จะหายแล้วก็กลับมาเป็นใหม่ได้บ่อยๆ ในส่วนนี้จะกล่าวถึงสัญญาณเตือนว่า คุณอาจมีโอกาสติดเชื้อ HIV ยิ่งถ้ามีอาการหลายข้อ และทวีความรุนแรงมากขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุด

สัญญาณที่ 1 มีไข้ หนาวสั่น 

เป็นอาการหนึ่งที่พบได้มากที่สุดของการติดเชื้อไวรัส HIV  สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเพศชาย และเพศหญิง โดยมักจะปรากฏในเวลาไม่นานหลังจากที่ร่างกายได้รับเชื้อภายใน 2-4 สัปดาห์ แล้วอาการไข้จะค่อยๆ หายไปเอง

สัญญาณที่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ  

อาการปวดศีรษะอาจจะดูเหมือนอาการปวดแบบปกติทั่วไปที่คุ้นเคย แต่ผู้ชายจำนวนไม่น้อยที่ติดเชื้อไวรัส HIV นี้มักจะเป็นไข้จากโรคหลอดเลือดในสมอง ทำให้มีอาการปวดศีรษะเล็กน้อยถึงปานกลาง จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ผู้ป่วยบางละเลยมองว่าเป็นเรื่องปกติ แล้วไม่รักษา

สัญญาณที่ 3 ต่อมน้ำเหลืองบวม  

ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัส HIV จะมีอาการบวม หรืออักเสบของต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ลำคอ รักแร้ และขาหนีบ จะค่อยๆ บวมขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดแต่ไม่สร้างความเจ็บปวดจนทำให้เข้าใจว่า เป็นอาการจากโรคอื่น

สัญญาณที่ 4 ปวดเมื่อยตามตัว 

โดยเฉพาะในผู้ชายที่ได้รับเชื้อไวรัส HIV จะรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างมาก เช่น มีอาการเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้าได้ง่ายกว่าปกติทั่วไป 

สัญญาณที่ 5 ผิวหนังเป็นผื่น มีรอยฟกช้ำ อักเสบ 

อาการในระยะแรกๆ ที่เกิดขึ้น จะปรากฏเป็นผื่นที่ขึ้นเป็นหย่อมๆ หรือมีรอยฟกช้ำเป็นมีจุดบนผิวหนังเป็นสีชมพูไปจนถึงสีม่วง บนผิวหนังที่มีสีซีดจาง ผิวหนังอักเสบ เป็นจ้ำเลือด จากนั้นจะขยายบริเวณไปยังรอบข้าง 

โดยผื่นที่เกิดขึ้นนั้นจะจางหายไปเองภายใน 1 สัปดาห์หลังจากที่เชื้อไวรัส HIV ในร่างกายเจริญเติบโตมากขึ้น

สัญญาณที่ 6 คลื่นไส้อาเจียน 

มีอาการวิงเวียนศีรษะจนคลื่นไส้อาเจียนออกมา เมื่อรักษาตามอาการด้วยวิธีปกติแล้วกลับไม่หาย หรือไม่มีอาการดีขึ้นแม้แต่น้อย

สัญญาณที่ 7 น้ำหนักลด ท้องเสีย 

น้ำหนักตัวลดลงมาก ในระยะเวลาเพียงสั้นๆ เช่น มากกว่า 5 กิโลกรัมใน 1 เดือน โดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งที่รับประทานอาหารในปริมาณตามปกติแล้วก็ตาม อาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย

สัญญาณที่ 8 ไอเรื้อรัง 

มีลักษณะอาการแบบไอแห้งๆ เรื้อรังติดต่อกันเป็นระยะเวลานานผิดปกติ อาจเป็นร่วมกับการหายใจไม่สะดวก หอบ เหนื่อย

สัญญาณที่ 9 สมาธิสั้น 

รู้สึกกระวนกระวาย กังวล หรือหงุดหงิดง่าย ความจำสั้น สมาธิสั้น และมีปัญหาเกี่ยวกับการจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

สัญญาณที่ 10 เหงื่อออกมาก 

โดยเฉพาะตอนกลางคืน ถึงแม้ว่าสภาพอากาศจะเย็นสบายก็ตาม แต่กลับมีเหงื่อออกมากผิดปกติ

สัญญาณที่ 11 เล็บผิดปกติ 

เล็บมีรูปร่างและสีที่เปลี่ยนแปลงไป อาจจะมีลักษณะบิดเบี้ยว แยกชั้น คดโค้งงอ และดูไม่เงางาม

สัญญาณที่ 12 ชาตามนิ้วมือนิ้วเท้า 

รู้สึกไม่มีเรี่ยวแรง ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อได้ ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามต้องการ และกล้ามเนื้ออ่อนแรง เนื่องจากเส้นประสาทได้รับความเสียหายนั่นเอง

อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่า ปกติตามธรรมชาติของการติดเชื้อไวรัส HIV นั้น ช่วงแรกจะยังไม่มีอาการ แต่เชื้อไวรัสนี้จะแฝงตัวอยู่ในร่างกาย บางรายอาจจะใช้ระยะเวลาเป็นปีๆ หรือถึง 10 ปี 

ดังนั้นหากพบว่าตนเองมีอาการต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นปรากฏขึ้นควรรีบเข้ารับการทดสอบหาเชื้อไวรัส HIV ทันที เพื่อให้ทราบผลเลือดที่แน่นอน 

หากเคราะห์ร้ายติดเชื้อ HIV ขึ้นมาจะนำไปสู่วิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง และเหมาะสมเพื่อการป้องกันการแพร่เชื้อจากตัวเองสู่ผู้อื่น รวมทั้งนำไปสู่การรักษาอย่างถูกต้อง และทันท่วงที

อาการของผู้ป่วยโรคเอดส์

โรคเอดส์คือ กลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HIV  เมื่อเชื้อไวรัสนี้ทำลายภูมิคุ้มกันในร่างกายลงอย่างมาก ร่างกายจะอ่อนแอ และมีโอกาสติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่ายกว่าคนปกติ

หากติดเชื้อ HIV และไม่ได้รับการรักษา โดยทั่วไปมักจะใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการพัฒนาเป็นโรคเอดส์ได้ในที่สุด

การติดเชื้อโรคเอดส์แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังต่อไปนี้

ระยะที่ 1 ระยะที่ไม่ปรากฏอาการ 

หรือเรียกว่า ระยะติดเชื้อเอดส์โดยไม่มีอาการ (Asymptomatic HIV infection) คนไข้จะสุขภาพแข็งแรงเป็นปกติดีโดยไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด 

แม้ว่าในระยะ 2-3 สัปดาห์หลังติดเชื้อ บางรายอาจมีอาการคล้าย ๆ ไข้หวัด มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะอยู่ไม่กี่วัน 

หลังจากนั้นไข้ก็หายไปเอง หรือคนไข้อาจไม่สังเกตว่า มีอาการผิดปกติอะไรเลยก็ได้ ระยะนี้จะทราบว่าติดเชื้อมาแล้วได้ด้วยการตรวจเลือด และพบเลือดบวกต่อเชื้อเอดส์ ซึ่งเป็นระยะที่สามารถติดต่อสู่ผู้อื่นได้ บุคคลเหล่านี้จำนวนหนึ่งเท่านั้นที่จะมีอาการในระยะที่ 2 และ 3 ต่อไป

ระยะที่ 2 ระยะที่ปรากฏอาการเริ่มแรก

หรือเรียกว่า ระยะที่อาการสัมพันธ์กับเอดส์ (ARC = AIDS Related Complex) คนไข้จะเริ่มปรากฏอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน ซึ่งเป็นเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น

  • เจ็บคอ
  • ต่อมน้ำเหลืองโตหลายแห่งติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 3 เดือน
  • น้ำหนักตัวลดลงเร็วมากโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • อุจจาระร่วงเรื้อรังเป็นเวลานานเกิน 1 เดือน โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีฝ้าขาวในช่องปากที่ลิ้น และในลำคอ
  • มีเลือดออกจากปาก จมูก ทวารหนัก หรือช่องคลอด
  • เป็นโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบเรื้อรัง
  • ติดเชื้อรายีสต์
  • มีไข้เรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีอาการโรคเริม (herpes simplex) ลุกลาม และเรื้อรัง ผู้ป่วยในระยะที่ 2 นี้สามารถแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่นได้ และผู้ป่วยบางส่วนจะมีอาการต่อในระยะที่ 3

ระยะที่ 3 เป็นระยะท้าย

หรือเรียกว่า โรคเอดส์เต็มขั้น (full-blow AIDS) ระยะนี้เชื้อ HIV จะทำลายเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันลงอย่างมากทำให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติมาก 

บางรายอาจมีอาการเหมือนระยะที่ 2 แต่มักมีการติดเชื้อฉวยโอกาส (Opportunistic infection) เกิดขึ้นร่วมด้วย เนื่องจากภูมิต้านทานของร่างกายถูกทำลายไปมากขึ้นทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น การติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท ระบบหายใจ 

โดยโรคติดเชื้อที่ผู้ป่วยเอดส์เป็นกันมากที่สุด ได้แก่ โรคประเภทปอดบวม และโรคมะเร็งผิวหนัง  นอกจากนี้บางรายยังอาจมีอาการสมองเสื่อม หรืออาจเกิดมะเร็งแทรกซ้อนเข้ามาอีก เช่น มะเร็งหลอดเลือด (Kaposi’s sarcoma) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) เป็นต้น 

การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อ HIV

ผู้ที่ติดเชื้อ HIV นั้นสามารถรักษาได้โดยการรับยาต้านไวรัส  ถึงแม้วิธีนี้จะรักษาไม่หายขาด แต่หากผู้ป่วยติดเชื้อรับประทานยาตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ตนเองรับเชื้อเพิ่มขึ้น และไม่แพร่เชื้อ HIV ไปสู่ผู้อื่น  

นอกจากนี้ยังมีข้อปฏิบัติอื่นๆ ร่วมด้วยดังนี้ 

  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน
  2. รักษาสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  3. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ หรือหากต้องมีเพศสัมพันธ์ ให้ป้องกันด้วยการใช้ถุงยางอนามัยเสมอเพราะช่วยป้องกันการรับเชื้อ และการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
  4. ทำจิตใจให้สงบผ่อนคลาย ฝึกสมาธิ ไม่เครียด

ผู้ที่ติดเชื้อสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติแต่ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ไม่ควรวิตกกังวลมากไป ซึ่งหากไม่พบโรคแทรกซ้อนจะสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อีกหลายปี 

การตรวจเชื้อ HIV

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาการติดเชื้อ HIV ให้หายขาด และผู้ติดเชื้อ HIV ที่ไม่ได้รับการรักษาจะเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ หรือโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ในที่สุด 

ฉะนั้นผู้มีความเสี่ยงควรตรวจหาเชื้อ HIV เป็นประจำ การตรวจเลือดเป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะบอกได้แน่นอนว่า คุณเป็นโรคเอดส์หรือไม่  

การตรวจที่แม่นยำที่สุดควรตรวจเลือด 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 3 เดือน เนื่องจากเราไม่สามารถตรวจหาเชื้อ HIV เจอได้ทันทีในการตรวจครั้งแรกนั่นเอง

การตรวจ HIV มี 3 วิธีหลักๆ แยกได้ดังนี้

  1. การตรวจแบบ Anti HIV ใช้สำหรับผู้ที่ติดเชื้อ HIV มาเกิน 1 เดือน คนไทยทุกคนสามารถตรวจได้ฟรีที่โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศปีละ 2 ครั้ง
  2. การตรวจแบบ NAT หรือ Nucleic Acid Technology ใช้สำหรับผู้ที่ติดเชื้อ HIV มาใน 3-7 วัน คลีนิคนิรนามให้บริการตรวจด้วยการตรวจแบบ NAT แก่ผู้ที่มารับการตรวจทุกรายฟรี ปีละ 2 ครั้ง
  3. การตรวจแบบ Rapid HIV Test  หรือการตรวจ HIV ชนิดเร็ว การตรวจวิธีนี้ใช้เวลารอผลเพียง 20 นาทีเท่านั้น แต่ก็เป็นเพียงการตรวจเพื่อคัดกรองในเบื้องต้นเท่านั้น ปัจจุบันการตรวจแบบนี้สามารถตรวจได้เองที่บ้านผ่านโครงการ Adam’s Love HIV Self Testing แค่อาจไม่แม่นยำเท่าการตรวจแบบ Anti HIV และแบบ NAT

ควรตรวจหาเชื้อ HIV เมื่อไร

  • ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือแม้แต่ผู้ที่ต้องการทราบว่าตัวเองติดเชื้อ HIV หรือไม่
  • ผู้ที่ตัดสินใจจะมีคู่ หรือแต่งงาน
  • ผู้ที่สงสัยว่า คู่นอนของตนมีพฤติกรรมเสี่ยง
  • ผู้ที่คิดจะตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของแม่ และทารก
  • ผู้ที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ เพราะต้องการข้อมูลที่สนับสนุนเรื่องความปลอดภัย และสุขภาพร่างกาย

การป้องกันการติดต่อเชื้อ HIV 

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรติดเชื้อ HIV และโรคเอดส์ รวมทั้งยารักษาโรคเอดส์ให้หายขาด ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ การป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ HIV  ซึ่งเป็นประตูสู่โรคเอดส์สามารถป้องกันได้ดังนี้

  1. ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยทั้งชาย และหญิง
  2. ไม่ร่วมเพศกับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเอดส์ หรือถ้าจำเป็นก็เลือกใช้แต่ถุงยางอนามัยที่มีคุณภาพดีทุกครั้ง โดยเฉพาะชนิดที่เคลือบสารโนน็อกซินอล (N-11) ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าไวรัส HIV  เริม ซิฟิลิสจะทำให้มั่นใจยิ่งขึ้น
  3. หลีกเลี่ยงการใช้ยาเสพติด โดยเฉพาะการใช้เข็มฉีดยา หรือกระบอกฉีดยาร่วมกัน
  4. รับบริจาคเลือด หรืออวัยวะจากบุคคล จากสถานที่ที่สามารถตรวจหรือส่งตรวจหาเชื้อ HIV ได้เท่านั้น
  5. งดเว้นการใช้ของมีคม หรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ใบมีดโกน เข็มเจาะหู เข็มสักผิวหนัง แปรงสีฟัน
  6. หญิงอาชีพพิเศษควรระมัดระวัง หรือหลีกเลี่ยงการรับแขกชาวต่างประเทศ
  7. หญิงที่มีเลือดเป็นบวกควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ เพราะเด็กที่เกิดจากแม่ที่มีเลือดบวกจะมีโอกาสติดเชื้อโรค HIV ได้มากถึงร้อยละ 50

หากสงสัยว่า ได้รับเชื้อ HIV ควรรีบทานยาต้านเชื้อ HIV แบบฉุกเฉิน หรือยา PEP ภายใน 72 ชั่วโมง หรือหากมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อสามารถทานยา PrEP ซึ่งเป็นยาที่ทานก่อนที่จะได้รับเชื้อหรือป้องกันเชื้อ HIV ได้  

ดูแพ็กเกจตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ตรวจ HIV หลังเสี่ยงกี่วัน ตรวจยังไง? อ่านสรุปที่นี่, (https://hdmall.co.th/c/human-immunodeficiency-virus).
German Advisory Committee Blood (Arbeitskreis Blut), Subgroup ‘Assessment of Pathogens Transmissible by Blood’ (2016). Human Immunodeficiency Virus (HIV). Transfusion medicine and hemotherapy : offizielles Organ der Deutschen Gesellschaft fur Transfusionsmedizin und Immunhamatologie, 43(3), 203–222. doi:10.1159/000445852
Simon, V., Ho, D. D., & Abdool Karim, Q. (2006). "HIV/AIDS epidemiology, pathogenesis, prevention, and treatment​". Lancet (London, England), 368(9534)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
รายชื่อโรคติดต่อ
รายชื่อโรคติดต่อ

ค้นหารายชื่อโรคติดต่อได้ง่ายๆ ในลิ้งค์เดียว ไม่ต้องนั่งหาทีละโรค พร้อมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคติดต่อ รวมมาตอบไว้แล้วที่นี่

อ่านเพิ่ม
โรคเอดส์ การติดต่อ และการป้องกันที่ทุกคนควรรู้
โรคเอดส์ การติดต่อ และการป้องกันที่ทุกคนควรรู้

ตอบชัดเจน คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคเอดส์ เชื้อ HIV ติดได้อย่างไร ทำแบบไหนติดบ้าง และจะป้องกันอย่างไร?

อ่านเพิ่ม