โรคเอดส์ โรคร้ายแรงที่หลายคนไม่ได้ป้องกัน ปัจจุบันมีการระบาดของโรคเอดส์จำนวนมาก เนื่องจากหลายคนไม่รู้การป้องกันโรคเอดส์รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นซึ่งอาจอันตรายถึงชีวิต ฉะนั้นควรทำความรู้จักกับโรคเอดส์ ทั้งสาเหตุและการป้องกันโรคเอดส์อย่างเหมาะสม
โรคเอดส์คืออะไร?
โรคเอดส์ (Acquired immunodeficiency syndrome: AIDS) คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ เอชไอวี (Human immunodeficiency virus: HIV) ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำลงมาก ทำให้ติดโรคอื่นๆ ได้ง่าย และอาจอันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิต
ตรวจ STD วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 97 บาท ลดสูงสุด 76%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
โรคเอดส์มี 4 ระยะซึ่งจะแสดงอาการแตกต่างกันออกไป ดังนี้
- ระยะติดเชื้อ เมื่อติดเชื้อมาใหม่ๆ ในบางรายอาจมีอาการคล้ายไข้หวัด เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว อาการจะปรากฏประมาณ 3-4 สัปดาห์ จากนั้นจะหายเป็นปกติ แต่บางคนก็อาจไม่แสดงอาการใดๆ
- ระยะไม่ปรากฏอาการ ในระยะนี้ผู้ที่ได้รับเชื้อ HIV จะไม่แสดงอาการใดๆ ให้เห็นเลย จึงไม่ทราบว่าตนเองมีเชื้อ และมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อสู่คนอื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ
- ระยะมีอาการ หลังจากรับเชื้อมาระยะหนึ่ง ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการผิดปกติต่างๆ ปรากฏให้เห็น เช่น มีตุ่มคันตามแขนขา มีไข้นานกว่า 2 สัปดาห์ มีฝ้าขาวในปาก และน้ำหนักตัวลด
- ระยะเอดส์ ในระยะนี้ถือว่าเป็นโรคเอดส์อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากภูมิคุ้มกันถูกทำลายไปเยอะมากจนมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น วัณโรค เชื้อราในปอด เชื้อราในสมอง
โรคเอดส์ติดต่อทางไหน?
ผู้ที่เป็นโรคเอดส์จะมีเชื้อ HIV อยู่ในเลือด น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด และน้ำนม ฉะนั้นหากไม่มีการป้องกันโรคเอดส์ด้วยวิธีที่เหมาะสม ก็อาจติดเชื้อได้จากหลายปัจจัย ดังนี้
- การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ HIV เกิดได้ทั้งคู่นอนชายกับหญิงและชายกับชาย เนื่องจากมีการสัมผัสสารคัดหลั่งที่มีเชื้อ HIV ของคู่นอน เช่น น้ำในช่องคลอด น้ำอสุจิ
- การมีเพศสัมพันธ์ด้วยปาก หากหลั่งอสุจิภายในช่องปากขณะที่ช่องปากมีแผลอักเสบ หรือมีรอยบาดหลังแปรงฟัน ก็อาจทำให้ติดเชื้อ HIV ได้เช่นเดียวกัน
- การใช้อุปกรณ์ทางเพศร่วมกับผู้ติดเชื้อ HIV เนื่องจากมีโอกาสที่สารคัดหลั่งในช่องคลอดหรือน้ำอสุจิจะปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้
- การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ไม่ว่าจะเกิดจากการใช้สารเสพติดหรือสถานบริการสุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานและนำเข็มเก่ากลับมาใช้ใหม่ ก็อาจทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายได้
- รับเลือดจากผู้ที่ติดเชื้อ HIV กรณีนี้เกิดขึ้นได้ยากมาก เนื่องจากก่อนจะบริจาคเลือด สภากาชาติจะตรวจร่างกายของผู้บริจาคเลือดก่อนแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีการตรวจร่วมกันหลายวิธี แต่อาจมีบางรายที่เพิ่งได้รับเชื้อมาไม่นาน ทำให้ตรวจไม่พบเชื้อ HIV
- การถ่ายทอดเชื้อจากมารดาสู่ทารก กรณีนี้เกิดกับมารดาที่ติดเชื้อ HIV และส่งต่อให้บุตรในระหว่างตั้งครรภ์หรือจากน้ำนมหลังคลอดก็ได้ เนื่องจากเชื้อ HIV มีอยู่ทั้งในเลือดและในน้ำนมของมารดา
การป้องกันโรคเอดส์ทำอย่างไร?
แม้โรคเอดส์จะรุนแรงและอันตรายมาก แต่การป้องกันโรคเอดส์ก็ทำได้ง่ายเช่นกัน มีวิธีดังต่อไปนี้
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ควรเลือกขนาดและวิธีใช้ให้เหมาะสมกับตนเอง ไม่ควรสวมถุงยางซ้อนกัน 2 ชั้น หรือเลือกถุงยางหลวมเกินไป เนื่องจากมีโอกาสที่ถุงยางจะเสียดสีกันจนขาด หรือหลุดขณะมีเพศสัมพันธ์ได้
- หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ทางเพศ (Sex toy) ใช้ร่วมกับผู้อื่น เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV
- หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย เพื่อลดโอกาสที่จะได้รับเชื้อ HIV จากผู้ที่ไม่ทราบว่าตนเองมีเชื้อ
- ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่มีพฤติกรรมเสพยาเสพติด รวมถึงเลือกสถานบริการด้านสุขภาพที่ได้มาตรฐาน
- สตรีมีครรภ์มีเชื้อไวรัส HIV หรือสงสัยว่ามีเชื้อและต้องการป้องกันโรคเอดส์ในทารก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัส ซีโดวูดีน (Zidovudine: AZT) ซึ่งมีส่วนในการทำให้เชื้อหยุดชะงักลงได้
หากรับยาต้านไวรัสตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ (28 สัปดาห์) และได้รับ เนวิราพีน (Nevirapine: NVP) ตอนคลอด 1 ครั้งรวมถึงให้ยากับทารกด้วย จะสามารถลดโอกาสที่ทารกจะติดเชื้อได้มากถึง 97%
ทั้งนี้หากรู้ตัวว่าติดเชื้อ HIV หลังจากที่ตั้งครรภ์แล้ว ก็สามารถรับยาต้านเชื้อไวรัสได้เช่นกัน แต่ผลของการต้านอาจลดลง
จะรู้ได้อย่างไรว่าติดโรคเอดส์?
เนื่องจากโรคเอดส์มักไม่แสดงอาการชัดเจนในระยะแรกที่รับเชื้อ จึงทำให้ยากต่อการสังเกต วิธีที่จะรู้ได้ว่าตนเองติดเชื้อ HIV หรือไม่ ในปัจจุบันมีด้วยกัน 2 วิธี ดังนี้
- ตรวจเลือด ในระยะที่เชื้อยังไม่ฟักตัวหรือรับเชื้อมาใหม่ๆ อาจตรวจไม่พบเชื้อในช่วงแรก ฉะนั้นหากสงสัยว่าตนเองติดเชื้อ HIV จากพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ให้รอประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนไปตรวจเลือด
โดยการวินิจฉัยผลเลือดจะประกอบไปด้วยการตรวจหาส่วนประกอบของเชื้อไวรัส รวมถึงระดับภูมิต้านทานต่อไวรัสของร่างกาย
ถ้าหากผลเลือดเป็นลบ ก็อาจไม่ติดเชื้อ HIV แต่ทั้งนี้เพื่อความไม่ประมาท ควรไปตรวจซ้ำอีกครั้งหลังครบ 3 เดือนจะได้ผลที่แม่นยำมากขึ้น - ตรวจโดยขูดเซลล์ในช่องปาก ปัจจุบันมีวิธีการตรวจโดยขูดเซลล์และเก็บน้ำลายในช่องปากได้ด้วย แต่ทั้งนี้หากมีอาการอื่นๆ เช่น ไข้หวัด ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ ควรแจ้งแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเพื่อประกอบการวินิจฉัยด้วย
โรคเอดส์รักษาได้ไหม?
การป้องกันโรคเอดส์ตั้งแต่ต้นเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันโรคเอดส์ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถชะลออาการและบำรุงร่างกายให้แข็งแรงจนผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ โดยการให้ยาต้านไวรัสร่วมกันหลายสูตรเพื่อป้องกันการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ผู้รักษา
การกินยาตามที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัดเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากโรคเอดส์เป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่ต้องกินยาตลอดชีวิต หากงดยาเองโดยที่แพทย์ไม่ได้สั่ง อาจทำให้อาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้สุขภาพใจและสุขภาพกายเป็นสิ่งสำคัญ ควรหมั่นกินอาหารที่มีประโยชน์สม่ำเสมอ ออกกำลังเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้ออื่นๆ เพิ่ม