วิธีใช้ถุงยางอนามัยที่ถูกต้อง ทำอย่างไร ถุงยางแบบไหนดีที่สุด

ใช้ถุงยางถูกวิธีอย่างถูกวิธี พร้อมตอบคำถามถุงยางใช้ออรัลเซ็กได้หรือไม่?
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 4 เม.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
วิธีใช้ถุงยางอนามัยที่ถูกต้อง ทำอย่างไร ถุงยางแบบไหนดีที่สุด

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ถุงยางอนามัย เป็นหนึ่งในวิธีคุมกำเนิด และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่มีประสิทธิภาพ จึงควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์
  • ถุงยางอนามัยมี 2 ประเภทคือ ผลิตจากยางธรรมชาติ (Male Latex Condom) และผลิตจากสารสังเคราะห์ (Polyurethane Condom)
  • วิธีใช้ถุงยางอนามัยที่ถูกต้องคือ ใช้ขนาดที่พอดีกับอวัยวะเพศ ใส่ในขณะที่แข็งตัว และควรถอนอวัยวะเพศชายในขณะแข็งตัวเพื่อป้องกันถุงยางอนามัยหลุดในช่องคลอด ควรใช้ทิชชู่จับเพื่อไม่ให้สัมผัสสารคัดหลั่งโดยตรง
  • ไม่ควรใช้สารหล่อหลื่นที่ไม่ละลายน้ำ เช่น เบบี้ออยล์ น้ำมันปีโตรเลียม หรือโลชั่น เพราะจะทำให้ถุงยางอนามัยเสื่อมสภาพ ขาด หรือชำรุดได้
  • ถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันโรคเริม หูด หงอนไก่ หรือซิฟิลิส ที่สามารถติดต่อได้หลายช่องทาง จึงไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ (ดูแพ็กเกจตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ที่นี่)

บทความนี้สนับสนุนโดย Durex

ถุงยางอนามัย หากใช้อย่างถูกต้องสามารถช่วยคุมกำเนิดได้ดีกว่าวิธีอื่นๆ รวมทั้งสามารถป้องกันโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

หลายคนเข้าใจว่า การใช้ถุงยางอนามัยจะทำให้ความพึงพอใจในการมีเพศสัมพันธ์ลดน้อยลง ทั้งที่ในความเป้นจริงนั้น ถุงยางอนามัยสามารถช่วยเพิ่มความพึงพอใจในการร่วมเพศให้มากขึ้นได้ 

ทั้งในเรื่องของขนาด รูปร่าง สีสัน พื้นผิวซึ่งมีทั้งแบบเรียบ และแบบที่มีกระเปาะ (ถุงเก็บน้ำอสุจิที่ส่วนปลาย ) 

มีกลิ่น และรสของผลไม้ หรือมีกลิ่นน้ำหอม 

สามารถเรืองแสงได้ในที่มืดทั้งแบบทึบแสง และแบบบางใส 

ถุงยางอนามัยบางชนิดช่วยให้การร่วมเพศนานขึ้นได้ด้วยการเคลือบสาร หรือยาบางชนิด ขึ้นอยู่กับว่า คุณจะเลือกใช้ถุงยางอนามัยแบบไหน

นอกจากถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชายแล้วยังมีถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิงด้วยเช่นกัน เพียงแต่อาจไม่เป็นที่นิยมมากนักเพราะค่อนข้างไม่สะดวกในการสวมใส่  

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการทำออรัลเซ็กส์ หรือมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักก็มี แผ่นอนามัย  หรือ แผ่นแดม (Dental dam) ให้เลือกใช้เพื่อความปลอดภัยของสุขอนามัยเช่นกัน  

อย่างไรก็ดี ในบทความนี้เราจะกล่าวถึงถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชายเท่านั้น

ประเภทของถุงยางอนามัย

ในปัจจุบันถุงยางอนามัยผลิตจากยางธรรมชาติ (Latex) หรือที่เรียกว่า “Male Latex Condom” นอกจากถุงยางประเภทนี้จะมีราคาถูกแล้ว ยังได้รับการรับรองในเรื่องของคุณภาพ ความทนทาน และยังสามารถใช้ร่วมกับสารหล่อลื่นที่มีส่วนผสมของน้ำได้ เช่น เควาย เจล (K-Y jelly)

แต่ถ้าเป็นสารหล่อลื่นที่มีน้ำมันเป็นส่วนผสมก็อาจทำให้ถุงยางอนามัยประเภทนี้เกิดการเสื่อมสภาพ และชำรุดฉีกขาดได้

หากใครแพ้ยางธรรมชาติก็อาจใช้ถุงยางที่ผลิตมาจากสารสังเคราะห์แทนได้ เช่น Polyurethane (Polyurethane Condom)

ตามกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ได้กำหนดประเภทของถุงยางอนามัยที่ทำมาจากน้ำยางตามธรรมชาติไว้ 13 ประเภท โดยใช้ "ขนาดความกว้างของอวัยวะเพศชาย" เป็นเกณฑ์ ตั้งแต่ขนาด 44 – 56 มิลลิเมตร โดยความยาวจากปลายเปิดถึงปลายปิดไม่รวมติ่งจะต้องไม่น้อยกว่า 160 มิลลิเมตร

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ STD วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 97 บาท ลดสูงสุด 76%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ในประเทศไทยมีวางจำหน่ายอยู่ 3 ขนาดเท่านั้น ได้แก่ 49, 52 และ 56 มิลลิเมตร

ความแตกต่างของถุงยางแต่ละชนิดมีได้ ดังนี้

  1. ชนิด ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ ชนิดที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติ (Latex Condom) และชนิดที่ทำจากสารสังเคราะห์ (Polyurethane Condom)
  2. ขนาด มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 13 ขนาด คือ ตั้งแต่ 44 มิลลิเมตร จนถึง 56 มิลลิเมตร
  3. ความบาง โดยทั่วไปถุงยางอนามัยจะมีความหนาตามมาตรฐานคือ 0.05 - 0.07 มม. แต่ปัจุบันมีการผลิตถุงยางที่มีความบางเป็นพิเศษ เพียง 0.02 - 0.01 มม. ออกมาอีกด้วย  ทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกถึงสัมผัสที่แนบสนิทเหมือนไม่ได้ใส่
  4. รูปทรง มีทั้งแบบที่เป็นทรงกระบอกตรง (straight) และแบบลูกคลื่น (rippled)
  5. ลักษณะก้นถุง มีทั้งแบบเรียบ หรือมน (plain) และแบบที่เป็นกระเปาะ (reservoir-ended or teat) สำหรับเก็บน้ำอสุจิ
  6. ผิวถุงยาง มีหลายแบบให้เลือก ทั้งแบบที่เป็นผิวเรียบ (smooth) และแบบผิวไม่เรียบ (textured) หรือผิวขรุขระ
  7. สีสัน มีหลากหลายสีให้เลือก ทั้งแบบสีธรรมชาติ สีประกายรุ้ง และแบบเรืองแสงในที่มืด
  8. กลิ่นและรส มีหลายกลิ่นหลายรสให้เลือกตามความชอบ
  9. คุณสมบัติพิเศษ มีสารหล่อลื่น สารชะลอการหลั่ง สารฆ่าเชื้ออสุจิและป้องกันโรคติดต่อ เป็นต้น

วิธีวัดขนาดถุงยางอนามัย

การวัดขนาดถุงยางอนามัย สามารถวัดอย่างคร่าวๆ ได้จากส่วนสูงของผู้สวมใส่ วิธีนี้ไม่แม่นยำมากนัก หากส่วนสูงไม่เกิน 160 ซม. ควรใช้ถุงยางอนามัยขนาด 49 มิลลิเมตร แต่ถ้ามีส่วนสูงเกิน 160 ซม. ก็ใช้ขนาด 52 มิลลิเมตร

แต่เพื่อความแม่นยำควรวัดที่อวัยวะเพศขณะแข็งตัวจะดีกว่า ก่อนวัดขนาดอวัยวะเพศชายควรกระตุ้นให้แข็งตัวเต็มที่ แล้วจึงวัดขนาดของเส้นรอบวงที่กึ่งกลางอวัยวะเพศ (ไม่ใช่ความยาวของอวัยวะเพศ) เมื่อได้ค่าแล้วนำไปหารสองก็จะได้ขนาดถุงยางอนามัยที่แม่นยำ หน่วยที่ใช้ในการวัดคือ มิลลิเมตร

วิธีการเลือกใช้ถุงยางอนามัยไม่ให้หลุด หรือแตกระหว่างใช้

  • ต้องดูวันเดือนปีที่หมดอายุ โดยบรรจุภัณฑ์ของถุงยางอนามัยจะต้องอยู่ในสภาพที่ดี ไม่ฉีกขาด หากถุงยางหมดอายุ หรือเสื่อมสภาพ แล้วยังนำมาใช้งานจะมีโอกาสเกิดการฉีกขาดได้ง่ายขณะใช้งาน
  • ต้องซื้อให้พอดีกับขนาดอวัยวะเพศของตัวเองเพราะถ้าใช้ขนาดหลวม หรือคับจนเกินไป อาจทำให้ถุงยางแตก หรือหลุด ขณะปฏิบัติภารกิจได้
  • ควรฉีกซองถุงยางอนามัยให้ตรงตามรอยที่กำหนดให้  ห้ามใช้ฟันกัดเพื่อฉีกซอง และระวังเล็บมือไปเกี่ยว หรือขีดข่วนถุงยางอนามัยจนขาด
  • ต้องสวมใส่ถุงยางขณะที่อวัยวะเพศยังแข็งตัวเต็มที่เพื่อป้องกันการหลุดขณะใช้ และควรถอนอวัยวะเพศชายออกเมื่อยังแข็งตัวอยู่  เพื่อป้องกันถุงยางอนามัยหลุดออกตอนถอนตัวในขณะที่อวัยวะเพศอ่อนตัวลงแล้วนั่นเอง
  • ขณะเอาถุงยางอนามัยออกจากอวัยวะเพศให้ใช้ทิชชูจับทุกครั้ง ไม่ให้มือสัมผัสกับสารคัดหลั่งโดยตรง

วิธีใส่ถุงยางอนามัยให้ถูกต้อง

เมื่ออวัยวะเพศชายแข็งตัวมักจะมีน้ำอสุจิจำนวนเล็กน้อยออกมาจากอวัยวะเพศ  ด้วยเหตุนี้จึงควรจะสวมใส่ถุงยางอนามัยก่อนจะมีการสัมผัสใดๆ ระหว่างอวัยวะเพศชายกับบริเวณช่องคลอดของฝ่ายหญิง  

ที่สำคัญเมื่อจะใส่ถุงยางอนามัยควรระวังไม่ให้น้ำอสุจิที่ออกมาก่อนเริ่มมีเพศสัมพันธ์เปรอะเปื้อนด้านนอกของถุงยาง และควรแน่ใจว่า สวมถุงยางอนามัยคลุมมิดอวัยวะเพศชายที่ยาวเต็มที่แล้ว

หากถุงยางอนามัยฉีกขาดระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ควรหยุดทันที และใส่ถุงยางอนามัยชิ้นใหม่แทน

เมื่อฝ่ายชายถึงจุดสุดยอดแล้ว ควรเอาอวัยวะเพศชายออกจากช่องคลอดของฝ่ายหญิงก่อนที่อวัยวะเพศจะอ่อนตัวลง ขณะเดียวกันฝ่ายชายควรจับถุงยางอนามัยไว้ด้วยเพื่อให้แน่ใจว่า ถุงยางอนามัยไม่ตกค้างอยู่ภายในช่องคลอดของฝ่ายหญิง หากเป็นเช่นนั้นอาจจะทำให้น้ำอสุจิหกใส่ช่องคลอดของฝ่ายหญิงได้

สารหล่อลื่นที่ไม่ควรใช้กับถุงยางอนามัย

ห้ามใช้สารหล่อลื่นประเภทไม่ละลายน้ำ กล่าวคือ สารหล่อลื่นที่มีส่วนผสมของน้ำมันแร่ หรือน้ำมันพืชมาทาที่ถุงยางอนามัย เช่น เบบี้ออยล์ น้ำมันปิโตรเลียม หรือบอดี้โลชั่น เนื่องจากสารเหล่านี้จะทำให้ถุงยางอนามัยที่ทำจากยางธรรมชาติเสื่อม หรือขาด ชำรุด และมีฤทธิ์กัดกร่อนไปทำลายพันธะเคมีในถุงยาง 

โดยน้ำมันพืชจะทำให้ถุงยางอนามัยเสื่อมสภาพได้เร็วที่สุด รองลงมาคือ เบบี้ออยล์ ปิโตรเลียมเจลลี่ และบอดี้โลชั่น อีกทั้งการใช้ยาสอดช่องคลอดก็สามารถทำให้ถุงยางอนามัยเสื่อมสภาพได้เช่นกัน

ถุงยางอนามัยจะให้ผลในการคุมกำเนิด หรือป้องกันการแพร่เชื้อโรคได้อย่างสูงสุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรู้ที่ถูกต้องของผู้ใช้อีกด้วย 

เราควรทำความเข้าใจ หรือฝึกทดลองใช้ก่อนการลงสนามจริง เพื่อพิจารณาขนาดที่พอเหมาะ หรือดูว่าจะเกิดอาการแพ้หรือไม่ เพื่อช่วยให้การมีเพศสัมพันธ์เป็นความสุขที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความปลอดภัยด้วยนั่นเอง

ประสิทธิภาพของถุงยางอนามัย

1. ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์

หากใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี (Perfect use) โอกาสที่การคุมกำเนิดจะล้มเหลวมีอยู่เพียง 2% เท่านั้น หรือหากเทียบเป็นจำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (First year of use) แล้ว พบว่า คนที่ใช้ถุงยางเพื่อคุมกำเนิดจำนวน 100 คน จะมีโอกาสตั้งครรภ์เพียงแค่ 2 เท่านั้น 

แต่จากการใช้งานจริง พบว่า มีความล้มเหลวในการคุมกำเนิดเพิ่มขึ้นเป็น 18% หรือคิดเป็น 1 ใน 5 คน จากผู้ที่ใช้วิธีนี้ในการคุมกำเนิด ซึ่งมีสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถุงยางไม่ถูกวิธี ใช้ไม่สม่ำเสมอ ใช้สลับกับการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น หรือถุงยางอนามัยชำรุด ฉีกขาด หรือรั่วซึม

2. ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศ

ถุงยางอนามัยช่วยป้องกันคุณจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted disease; STD) เช่น ติดเชื้อ HIV  เอดส์  หนองในเทียม โกโนเรีย  คลามายเดีย ตลอดจนโรคไวรัสตับอักเสบมากกว่าการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น

ถุงยางทําหน้าที่เป็นปราการกั้นเลือด อสุจิ และสารคัดหลั่งจากช่องคลอดไม่ให้ส่งต่อไปยังคู่นอนในระหว่างมีเพศสัมพันธ์เพราะเลือด และสารคัดหลั่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีโอกาสเป็นแหล่งเชื้อโรคได้ทั้งสิ้น  

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าการใช้ถุงยางอนามัยจะปลอดภัยเต็มร้อยเพราะถึงจะใช้อย่างถูกต้อง แต่ถุงยางไม่สามารถป้องกัน เริม  หูดหงอนไก่  ซิฟิลิส  และเชื้อกามโรคอีกหลายชนิดที่สามารถติดต่อได้จากหลายช่องทางได้  

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีคู่นอนหลายคน แม้จะใช้ถุงยางอนามัยเสมอแต่ยังคงต้องตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจําอยู่ดี

ถุงยางอนามัยช่วยปกป้องคุณจากโรคไม่พึงประสงค์ได้ดีที่สุด แม้จะป้องกันได้ไม่หมดทุกโรคก็ตาม ซึ่งมีปัจจัยที่ต้องคํานึงถึง ดังต่อไปนี้

  • เชื้อโรคสามารถแทรกซึมผ่านถุงยางอนามัยได้หรือไม่
  • การแพร่เชื้อมักจะมากับสารคัดหลังจากช่องคลอด หรือ อวัยวะเพศชายใช่หรือไม่
  • ใช้ถุงยางอนามัยถูกต้องหรือไม่ ถุงยางปริ แตก รั่ว หรือเลื่อนหลุดหรือไม่

ถุงยางอนามัยจะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้ตราบเท่าที่ของเหลว หรือบริเวณที่ปนเปื้อนเชื้อถูกคั่นแบ่งด้วยถุงยาง ไม่เช่นนั้นถุงยางอนามัยก็คงไร้ความหมาย ดังเช่น กรณีออรัลเซ็กส์ เพราะเยื่อบุช่องปากที่สัมผัสบริเวณอวัยวะเพศ หรือสารคัดหลั่งที่มีเชื้อโรคโดยตรงก็อาจทำให้ติดโรคนั้นๆ มาได้

คําแนะนําในการใช้ถุงยางอนามัยให้ได้ผลมากที่สุด

  • ถุงยางอนามัยที่ทําจากลาเท็กซ์ หรือโพลียูริเทน มีคุณสมบัติปกป้องได้เหนือกว่าถุงยางจากธรรมชาติที่ทําจากหนังแกะซึ่งจะมีรูขนาดใหญ่กว่า เชื้อโรคบางชนิดสามารถผ่านได้
  • ต้องสวมถุงยางคลุมอวัยวะเพศชายทั้งลํา และสวมตั้งแต่ก่อนมีเพศสัมพันธ์ไปจนสิ้นสุดกระบวนการ 
  • สวมถุงยางอนามัยชิ้นใหม่ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์  หลังจากเสร็จกิจแล้ว ถอดถุงยางอนามัยออกอย่างระมัดระวัง  อย่าให้รั่ว หรือแตก หากใช้ถุงยางอนามัยเป็นประจํา โอกาสผิดพลาดจะน้อย
  • ห้ามใช้น้ำมัน หรือวาสลีน เพราะจะทําให้ถุงยางอนามัยอ่อนตัวลงและแตกง่าย ควรใช้เป็นสารหล่อลื่นแบบน้ำแทน
  • เก็บรักษาถุงยางอนามัยใหม่ในที่เย็นและแห้ง นั่นหมายความว่า ถุงยางอนามัยเก่าเก็บที่พกในกระเป๋าสตางค์ของคุณนานเป็นปีๆ นั้นอาจเสื่อมสภาพไปแล้ว

คำถามเกี่ยวกับถุงยางอนามัยที่คนอยากรู้มากที่สุด

1. ถุงยางอนามัยประเภทไหนดีที่สุด

คำตอบ: ปัจจุบันถุงยางอนามัยบางชนิด มียาทำลายสเปิร์ม (spermicide) จำพวกโนน็อกซินอล (Nonoxynol) เคลือบอยู่ ซึ่งช่วยในการคุมกำเนิดได้ดี แต่ไม่มีหลักฐานที่สนับสนุนว่า ช่วยลดการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือไวรัสเอดส์ได้ดีกว่าถุงยางที่ไม่มีสารเคลือบทำลายสเปิร์ม

นอกจากนี้ยังอาจทำให้มีการระคายเคืองอวัยวะเพศได้ซึ่งอาจทำให้เพิ่มโอกาสการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และไวรัสเอดส์เพิ่มขึ้นด้วย

2. ออรัลเซ็กส์ต้องใช้ถุงยางหรือไม่

คำตอบ: ทุกช่องทางในการมีเพศสัมพันธ์อาจทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ทั้งสิ้น  ฉะนั้นควรใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทางปาก หรือทางทวารหนัก เพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าจะมีการติดเชื้อตามมาหรือไม่

3. สามารถนำถุงยางอนามัยมาใช้ซ้ำได้หรือไม่

คำตอบ: ถุงยางอนามัยของทั้งชายและหญิงไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ นั่นหมายความว่า ถุงยางแต่ละชิ้นจะใช้ได้แค่ครั้งเดียว (ผู้หญิงหลายคนเชื่อว่า ถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิงสามารถล้างและนำกลับมาใช้ซ้ำได้ซึ่งไม่เป็นความจริง และไม่แนะนำให้ทำอย่างเด็ดขาด)

หลังจากใช้ถุงยางอนามัยแล้ว คุณควรห่อด้วยกระดาษชำระ (เนื่องจากสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ) และทิ้งลงถังขยะ  

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ควรทิ้งถุงยางอนาัยลงในโถชักโครกเพราะอาจทำให้ท่อตันได้ เมื่อยางแช่อยู่ในน้ำ (เช่น ในโถชักโครก) มันจะไม่ได้ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และหากหลุดรอดไปที่กระบวนการบำบัดน้ำเสีย ถุงยางใช้แล้วก็อาจปนเปื้อนในแหล่งน้ำใช้ของเราทุกคนได้  

ส่วนใหญ่ถุงยางอนามัยที่ผลิตจากยาง และผิวหนังของแกะจะสามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ หากถุงยางอนามัยเคลือบด้วยสารหล่อลื่น หรือยาฆ่าอสุจิ กระบวนการย่อยสลายอาจซับซ้อน และใช้เวลากว่านั้น

4. ใครควรใช้ถุงยางอนามัย

คำตอบ: ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิด และผู้ที่ต้องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ควรใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีทุกครั้ง

ถุงยางอนามัย หากใช้อย่างถูกวิธีจะสามารถคุมกำเนิด และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ทุกชนิด ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนเป็นประจำจึงควรตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกปี

ดูแพ็กเกจตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
วิธีใส่ถุงยางอนามัยที่ถูกต้อง (multimedia.anamai.moph.go.th/help-knowledgs/how-to-put-on-a-condom/)
Nonoxynol-9 (https://www.sciencedirect.com/...) Condom and sexually transmitted disease. (https://www.fda.gov/forpatient...)
How effectiveness is contraception at preventing pregnancy? (https://www.nhs.uk/conditions/...)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป