รวมเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับถุงยางอนามัย
ประโยชน์ของถุงยางที่นอกเหนือจากการคุมกำเนิด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ถุงยางช่วยป้องกันได้ และสิ่งที่อาจทำให้ประสิทธิภาพของถุงยางต่ำลง
บทความนี้สนับสนุนโดย Durex
ตรวจ STD วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 97 บาท ลดสูงสุด 76%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
“ถุงยางอนามัย” เป็นอุปกรณ์คุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ มีทั้งถุงยางสำหรับผู้ชายและผู้หญิง แต่ในประเทศไทยไม่ค่อยมีถุงยางของผู้หญิงวางจำหน่าย ดังนั้นในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชายเท่านั้น สิ่งที่เหนือกว่าอุปกรณ์คุมกำเนิดอื่นๆ คือ ถุงยางสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หลายชนิด ซึ่งสามารถติดต่อได้ทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีเพศสัมพันธ์ผ่านช่องคลอด ทวารหนัก (anal sex) หรือปาก (oral sex) นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีการออกแบบถุงยางให้ตอบสนองความต้องการทางเพศแบบต่างๆ สิ่งที่สำคัญคือผู้ใช้ควรเก็บถุงยางให้ถูกวิธี ศึกษาวิธีใช้และทำตามอย่างถูกต้อง เพื่อให้ถุงยางคงประสิทธิภาพสูงสุดไว้
ประโยชน์ของถุงยางอนามัย
ถุงยางอนามัยมีประโยชน์หลักๆ ได้แก่
- ช่วยคุมกำเนิด เรียกได้ว่าเป็นสิ่งแรกที่หลายคนจะนึกถึง ซึ่งหากใช้อย่างถูกวิธี ถุงยางจะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดถึง 98 % ข้อดีคือ ถุงยางเป็นเพียงอุปกรณ์ที่สวมใส่เป็นคราวๆ ไป ไม่ต้องจดจำเหมือนการใช้ยาคุมกำเนิดซึ่งอาจหลงลืมและเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย อีกทั้งยังไม่สร้างผลเสียต่อการเจริญพันธุ์เมื่อเลิกใช้
- ช่วยเปลี่ยนหรือเพิ่มรสชาติในการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากชนิดผิวเรียบแบบเบสิก ถุงยางอนามัยในปัจจุบันยังมีการออกแบบเพื่อเพิ่มความรู้สึกขณะมีเพศสัมพันธ์ ของในประเทศไทยที่มีวางจำหน่ายหลายช่องทาง หาซื้อง่าย และมีหลายแบบให้เลือก ได้แก่ ถุงยางอนามัยยี่ห้อ Durex มีชนิดแบบบางเพื่อให้รู้สึกใกล้ชิดแนบแน่น ถุงยางชนิดผิวไม่เรียบ ซึ่งมีทั้งชนิดผิวมีปุ่ม มีขีด และ Durex ยังมีถุงยางอนามัยชนิดมีกลิ่นหรือรส อีกทั้งยังมีถุงยางอนามัยซึ่งมีสารชะลอการหลั่งน้ำอสุจิ ทำให้ยืดเวลามีเพศสัมพันธ์ออกไปได้นานขึ้น
- ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นประโยชน์ข้อสำคัญที่สุด เนื่องจากถุงยางอนามัยจะทำหน้าที่เป็นกำแพงขวางกั้นของเหลวต่างๆ จากระหว่าง 2 คนที่มีเพศสัมพันธ์ไม่ให้ถ่ายทอดสู่กันและกัน ซึ่งในของเหลวนั้นเองเป็นตัวนำเชื้อหรือโรคภัยต่างๆ ได้หลายชนิด
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ป้องกันได้ด้วยถุงยาง
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นภัยเงียบที่หลายคนอาจไม่ตระหนักถึง เนื่องจากช่วงติดเชื้อระยะแรกมักไม่มีอาการอะไรแสดงออกมา อย่างไรก็ตาม หลายๆ เชื้ออาจส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายขาด ดังนั้นจึงควรป้องกันตัวไว้ดีกว่าแก้ โดยสวมถุงยางทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
คำถามที่คนส่วนใหญ่มักสงสัยคือ หากมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก (anal sex) หรือปาก (oral sex) จำเป็นต้องสวมใส่ถุงยางหรือไม่? คำตอบคือ “จำเป็น” เนื่องจากเชื้อโรคหลายชนิดติดต่อกันได้ทางสารคัดหลั่ง ซึ่งไม่ใช่แค่น้ำในช่องคลอดหรือน้ำอสุจิ แต่รวมถึงน้ำลายหรือเลือดได้ด้วย
ตัวอย่างเชื้อและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ถุงยางอนามัยสามารถป้องกันได้
- HIV เป็นเชื้อไวรัสที่จะเข้าทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ อาการที่บ่งบอกว่าติดเชื้อ HIV ได้แก่ รู้สึกเหนื่อย น้ำหนักลด เกิดผื่นแดง มีเหงื่อออกผิดปกติ โดยเฉพาะตอนกลางคืน แต่ในบางรายอาจไม่แสดงออกมาเลยในระยะหลายเดือนหรือถึงขั้นเป็นปี หากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและกินยาต้านเชื้อไวรัส จะพัฒนาจนเข้าสู่ขั้นเป็นโรคเอดส์ได้ และเชื้อไวรัสจะเข้าทำลายภูมิคุ้มกันรวมถึงอวัยวะต่างๆ จนเป็นอันตรายถึงชีวิต
- คลาไมเดีย (Chlamydia) เป็นเชื้อแบคทีเรียซึ่งพบได้ทั้งในน้ำอสุจิและของเหลวจากช่องคลอดของผู้หญิง อาการของผู้ที่ติดเชื้อคลาไมเดียในผู้ชายคือ ปวดถุงอัณฑะและท้องน้อย มีน้ำสีขุ่นไหลออกจากท่อปัสสาวะ ส่วนผู้หญิงจะมีเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน มีน้ำสีขุ่นไหลออกมา ปัสสาวะแสบขัด และหลังจากมีเพศสัมพันธ์อาจเกิดอาการปวดท้องน้อยและมีตกขาวผิดปกติ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีบุตรยาก ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ตั้งครรภ์นอกโพรงมดลูก ถ้าติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้แท้งหรือคลอดก่อนกำหนด
- โรคหนองใน (Gonorrhea) โรคหนองในสามารถทำให้เกิดการก่อตัวของเนื้อเยื่อไปอุดตันท่อนำไข่ การตั้งครรภ์นอกมดลูก เป็นหมัน หรือปวดท้องน้อยเรื้อรัง ในบางกรณีโรคหนองในอาจลุกลามไปสู่กระแสเลือดหรือข้อต่อได้ ซึ่งจะเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่พบได้ไม่บ่อยนัก ผู้ชายที่เป็นหนองในจะมีอาการแสบร้อนเวลาปัสสาวะ มีของเหลวสีขาว เหลือง หรือเขียว ออกมาจากองคชาต ผู้หญิงก็เป็นหนองในได้เช่นกัน โดยจะมีอาการแสบร้อนเวลาปัสสาวะ มีของเหลวออกมาจากช่องคลอดมากกว่าปกติ มีเลือดออกจากช่องคลอดในช่วงไม่ได้เป็นประจำเดือน หากติดเชื้อในทวารหนัก อาจเกิดอาการคันที่รูทวาร เลือดออก รู้สึกเจ็บปวดเวลาเบ่งอุจจาระ อย่างไรก็ตาม โรคหนองในสามารถรักษาให้หายได้ แต่เนื้อเยื่อที่เสียหายหรือผิดปกติก่อนรับการรักษาจะไม่ได้กลับคืนสู่สภาพเดิม
- โรคตับอักเสบชนิดบี (Hepatitis B) เป็นโรคติดต่อทางเชื้อไวรัสที่ส่งผลต่อตับ มีทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะตับแข็งหรือเป็นมะเร็งตับได้ สัญญาณที่บ่งบอกว่าติดเชื้อ ได้แก่ ผิวพรรณหรือตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ปัสสาวะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือส้ม อุจจาระมีสีอ่อนลง มีไข้ อ่อนเพลียติดต่อกันหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน รู้สึกเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง โรคตับอักเสบชนิดบีไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่มียาคุมเชื้อไวรัส และลดความเสียหายของตับและความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งตับได้
- โรคเริมที่อวัยวะเพศ (Genital herpes)* เกิดจากเชื้อไวรัส HSV-1 และ HSV-2 ระยะแรกๆ มักไม่แสดงอาการ จนถึงขั้นลุกลามจึงจะมีตุ่มพองบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือปาก จากนั้นตุ่มพองจะแตกออก กลายเป็นแผลเจ็บปวด โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาด เนื่องจากเชื้อจะฝังตัวที่ปมประสาทอย่างถาวร และถูกกระตุ้นให้เกิดซ้ำบริเวณเดิมได้เป็นครั้งคราว แต่มียาที่ช่วยป้องกันหรือย่นระยะเวลาของภาวะลุกลามได้
- โรคหูดหงอนไก่ (Genital Warts)* เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส HPV ซึ่งทำให้ผิวหนังบริเวณอวัยวะสืบพันธ์และทวารหนักเจริญผิดปกติ อาการคือเกิดตุ่มหรือแผ่นนูนยื่นออกมา อาจมีอาการปวดหรือคันร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ สีผิวของเนื้อที่ยืนออกมานั้นจะเหมือนผิวหนังส่วนอื่น ถ้ามีสีเข้มอาจมีภาวะผิดปกติอย่างอื่นได้ เช่น มะเร็ง การรักษาได้แก่ ใช้ยาทาและคอยติดตามผล การจี้เย็น หรือผ่าตัดออก
- โรคซิฟิลิส (Syphilis)* เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อทรีโพนีมาพาลลิดัม (Treponema Pallidum) โรคนี้แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะแรกจะมีแผลที่บริเวณอวัยวะเพศซึ่งหายไปได้เองในเวลา 1-2 สัปดาห์ มีอาการต่อมน้ำเหลืองโต กดไม่เจ็บ ระยะที่ 2 อาการจะรุนแรงขึ้น มีแผลนูนขึ้นที่อวัยวะเพศอีก แต่อาจเพิ่มเป็นหลายแผล เกิดผื่นตามตัว มีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อย ผมร่วง หลังจากนั้นอาการจะหายไปแม้ไม่รักษา แต่เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือด เมื่อเข้าสู่ระยะที่ 3 จะเรียกว่าระยะแฝง ซึ่งไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เลย หากยังไม่รับการรักษาอีก เชื้อจะแพร่เข้าสู่อวัยวะต่างๆ และทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงขึ้นได้ เช่น หลอดเลือดหัวใจอักเสบ ตาบอด หูหนวก ฯลฯ กระทั่งเสียชีวิต หากติดเชื้อซิฟิลิสขณะตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดการแท้ง คลอดก่อนกำหนด หรือเด็กที่เกิดมาพิการ ซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการให้ยาเพนนิซิลิน ดังนั้นหากไม่แน่ใจว่าจะเป็นโรคนี้หรือไม่ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเพื่อจะได้รักษาอย่างทันท่วงที
*โรคเริมที่อวัยวะเพศ หูดหงอนไก่ และซิฟิลิส สามารถติดต่อทั้งทางสารคัดหลั่งและการเสียดสีของผิวหนัง ดังนั้นการสวมถุงยางอนามัยจึงเพียงป้องกันในส่วนของสารคัดหลังเท่านั้น โอกาสที่จะติดเชื้อจากผิวหนังยังมีเหลืออยู่
อย่างไรก็ตาม แม้จะใช้ถุงยางอนามัยถูกวิธี แต่ก็ไม่มีโรคใดที่ถุงยางอนามัยสามารถป้องกันได้ 100 % สิ่งที่ควรทำควบคู่กันคือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนไม่รู้จัก และตรวจคัดกรองเป็นระยะ หากพบว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นอกจากจะรักษาตัวเองแล้ว ต้องให้คู่ของตัวเองเข้ารับการรักษาพร้อมกันด้วย เพื่อไม่ให้ติดต่อกันจนเป็นซ้ำอีก
ข้อควรระวังในการใช้ถุงยาง
สิ่งที่ควรให้ความสำคัญ เพื่อให้การใช้ถุงยางอนามัยมีประสิทธิภาพสูงสุด มีดังนี้
- เลือกถุงยางอนามัยให้ถูกขนาด หากใช้ขนาดเล็กเกินไป ถุงยางอาจแตกหรือขาดได้ หากใช้ขนาดใหญ่เกินไป ถุงยางอาจจะหลุดออกขณะมีเพศสัมพันธ์
- ตรวจดูวันที่ผลิตและวันหมดอายุบนบรรจุภัณฑ์ถุงยางอนามัยทุกครั้ง
- ควรเก็บถุงยางอนามัยไว้ในที่ที่เย็นและแห้ง ไม่ควรเก็บในที่ร้อน ถูกแสงแดดหรือแสงฟลูออเรสเซนต์ส่องโดยตรง หรือมีความชื้นสูงเกินไป เนื่องจากสภาวะดังกล่าวสามารถทำให้เนื้อยางเสื่อมสภาพได้
- ไม่ควรเก็บถุงยางอนามัยไว้ในกระเป๋าสตางค์หรือกระเป๋ากางเกงด้านหลัง เพราะอาจทำให้มีการกดทับ ส่งผลให้ถุงยางอนามัยฉีกขาดง่าย
- ฉีกซองถุงยางด้วยมือ ไม่ควรใช้กรรไกรตัดหรือใช้ฟันกัด เนื่องจากอาจทำให้ถุงยางฉีกขาด ก่อนใช้อย่าลืมตรวจดูให้แน่ใจว่าถุงยางอยู่ในสภาพดี
- ใส่และถอดถุงยางอย่างถูกวิธี หลักๆ คือ สวมใส่ถุงยางเมื่ออวัยวะเพศแข็งตัวเต็มที่แล้ว ไม่ลืมบีบปลายกระเปาะของถุงยางเพื่อไล่อากาศออกให้หมดก่อนสวมใส่ แล้วรูดถุงยางจนสุด เมื่อเกิดการหลั่งแล้ว ให้ค่อยๆ ถอดถุงยางออกก่อนอวัยวะเพศจะอ่อนตัว มิฉะนั้นถุงยางจะหลวมและอาจมีของเหลวเลอะเทอะออกมา ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์หรือติดเชื้อโรคได้
- หากจะมีเพศสัมพันธ์ครั้งต่อไป แม้จะเป็นในคืนเดียวกัน ก็ต้องเปลี่ยนใช้ถุงยางอันใหม่เสมอ เพราะถุงยางเป็นอุปกรณ์ใช้ครั้งเดียวแล้วเสื่อมสภาพ ใช้ซ้ำไม่ได้
- ห้ามใช้สารหล่อลื่นสูตรน้ำมัน (oil-based lubricants) รวมถึงพวกสารอย่างอื่นที่ไม่ใช่สารหล่อลื่นโดยเฉพาะ เช่น ครีมทาผิว วาสลีน น้ำมันพืช ร่วมกับถุงยางเด็ดขาด เพราะจะทำให้ถุงยางแตกได้ง่าย หากรู้สึกว่ามีน้ำหล่อลื่นไม่เพียงพอควรเลือกใช้สารหล่อลื่นสูตรน้ำ (water-based lubricants) หรือสูตรซิลิโคนแทน อาจใช้วิธีสังเกตที่บรรจุภัณฑ์ของสารหล่อลื่น เลือกที่เขียนบอกไว้ว่า “สามารถใช้ร่วมกับถุงยางอนามัย” ที่มีวางจำหน่ายในประเทศไทยและหาซื้อได้ง่าย ได้แก่ เจลหล่อลื่นดูเร็กซ์ เพลย์ มีชนิดไร้กลิ่น มีกลิ่นสตรอว์เบอร์รี และให้ความรู้สึกอุ่นขณะใช้ นอกจากนี้การใช้สารหล่อลื่นโดยเฉพาะในผู้มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ซึ่งไม่มีน้ำหล่อลื่นตามธรรมชาติ ยังช่วยให้ถุงยางอนามัยคงทน ไม่แตกหรือขาดง่ายอีกด้วย