การตรวจหา Androstenedione จากการเจาะเลือด

เผยแพร่ครั้งแรก 24 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 11 ก.พ. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที

การตรวจหา Androstenedione จากการเจาะเลือด ทำเพื่อวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดจากฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งอาจมีผลมาจากการทำงานที่ผิดปกติของต่อมหมวกไต อัณฑะ หรือรังไข่ ปกติแล้วแพทย์จะตรวจ Androstenedione หลังความผิดปกติของเทสโทสเตอโรน หรือ 17-Hydroxyprogesterone

ชื่ออื่น: AD

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ชื่อทางการ: Androstenedione

จุดประสงค์การตรวจ Androstenedione

การตรวจ Androstenedione จากเลือด มีจุดประสงค์หลักดังต่อไปนี้

  • ประเมินการทำงานของต่อมหมวกไต รังไข่ หรืออัณฑะ
  • ประเมินการผลิตฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอวัยวะเพศชายและลักษณะทางกายภาพ
  • หาสาเหตุของอาการที่เกิดจากการมีแอนโดรเจนมากกว่าปกติในผู้หญิงที่มีระดับเทสโทสเตอโรนเพิ่มขึ้น โดยทำควบคู่กับการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ

นอกจากนี้แล้ว แพทย์อาจตรวจระดับของ Androstenedione เพื่อจุดประสงค์ดังนี้

  • ประเมินการทำงานของต่อมหมวกไต และแยกความแตกต่างระหว่างภาวะที่มีการหลั่งแอนโดรเจนที่เกิดจากต่อมหมวกไต กับแอนโดรเจนที่มีต้นกำเนิดมาจากรังไข่หรืออัณฑะ หากผลตรวจของฮอร์โมน DHEAS และเทสโทสเตอโรนผิดปกติ
  • ช่วยวินิจฉัยเนื้องอกในต่อมหมวกไตชั้นนอก หรือเนื้องอกด้านนอกต่อมหมวกไตที่หลั่ง ACTH รวมถึงแยกภาวะเหล่านี้จากเนื้องอกรังไข่หรือเนื้องอกอัณฑะ และโรคมะเร็ง
  • วินิจฉัย Congenital Adrenal Hyperplasia (CAH) ที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมหมวกไต และติดตามการรักษา CAH นอกจากนี้ยังสามารถตรวจเทสโทสเตอโรน และ 17-Hydroxyprogesterone ได้อีกด้วย
  • ช่วยวินิจฉัยภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) และตัดความเป็นไปได้อื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก
  • ช่วยวินิจฉัยภาวะขาดประจำเดือน และการมีขนขึ้นตามร่างกายและใบหน้ามากกว่าปกติในผู้หญิงที่มีผลตรวจฮอร์โมน DHEAS เทสโทสเตอโรน และฮอร์โมนชนิดอื่นๆ ผิดปกติ เช่น FSH LH โปรแลคติน และเอสโตรเจน
  • วินิจฉัยสาเหตุของการมีลักษณะทางกายแบบผู้ชายในเด็กผู้หญิงที่อายุน้อย และการเป็นหนุ่มเร็วกว่าวัยในเด็กผู้ชายที่อายุน้อย
  • ช่วยหาสาเหตุของการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวช้ากว่าปกติ และตรวจภาวะรังไข่ทำงานได้ไม่สมบูรณ์ (Ovarian failure) หรือภาวะมีบุตรยากในเพศชาย (Testicular failure)

เมื่อไรที่ต้องตรวจ Androstenedione?

แพทย์อาจสั่งให้ตรวจ Androstenedione ควบคู่ หรือหลังจากตรวจฮอร์โมนชนิดอื่นๆ แล้วพบความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมนชนิดนี้ ส่วนภาวะอื่นๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการตรวจแอนโดรสตีนไดโอน มีดังนี้

  • เมื่อต้องการประเมินการทำงานของต่อมหมวกไต รังไข่ หรืออัณฑะ
  • ทารกผู้หญิงมีอวัยวะเพศภายนอกที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นเพศชายหรือเพศหญิง
  • เด็กผู้หญิงที่อายุน้อยมีลักษณะเด่นของเพศชายที่อาจเกิดจาก CAH หรือภาวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมีแอนโดรเจนมากกว่าปกติ
  • เด็กผู้ชายมีสัญญาณของการเป็นหนุ่มไวกว่าปกติ เช่น อวัยวะเพศใหญ่ มีกล้าม มีขนที่อวัยวะเพศ หรือมีเสียงทุ้มก่อนที่จะเข้าสู่วัยหนุ่มสาวตามปกติ
  • เด็กเข้าสู่วัยหนุ่มสาวช้ากว่าปกติ
  • หญิงสาวที่มีบุตรยาก และมีความผิดปกติ เช่น มีเสียงทุ้ม ไม่มีประจำเดือน หรือรอบเดือนผิดปกติ หัวล้านแบบผู้ชาย และมีกล้าม เป็นต้น

รายละเอียดการตรวจ Androstenedione

Androstenedione เป็นแอนโดรเจนที่เป็นหนึ่งในฮอร์โมนเพศชาย มีหน้าที่จำแนกความแตกต่างทางเพศของผู้ชายและผู้หญิง และเกี่ยวข้องกับการมีลักษณะที่บ่งบอกถึงความเป็นเพศชาย เช่น การมีเสียงใหญ่ และการมีหนวดขึ้นที่ใบหน้า

แม้ว่าแอนโดรสตีนไดโอนจะเป็นฮอร์โมนเพศชาย แต่ก็สามารถพบได้ทั้งในเลือดของผู้ชายและผู้หญิง เพราะฮอร์โมนชนิดนี้เป็นสารตั้งต้นที่ร่างกายสามารถแปลงเป็นแอนโดรเจน เช่น เทสโทสเตอโรน หรือเอสโตรเจนในเพศหญิง

ระดับของแอนโดรสตีนไดโอนในเลือดจะผันแปรในระหว่างวันแบบ Diurnal Pattern และจะผันแปรในระหว่างรอบเดือนของผู้หญิง แพทย์จึงสามารถนำแอนโดรสตีนไดโอนมาใช้เป็นตัวชี้วัดการทำงานของต่อมหมวกไต การผลิตแอนโดรเจน หรือการทำงานของรังไข่และอัณฑะได้ โดยปกติแล้วแพทย์จะตรวจ Androstenedione หลังพบความผิดปกติของเทสโทสเตอโรน หรือ 17-Hydroxyprogesterone

การเป็นเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต เนื้องอกที่ผลิต ACTH และภาวะ Adrenal Hyperplasia สามารถทำให้แอนโดรสตีนไดโอนถูกผลิตออกมามากกว่าปกติ นอกจากนี้ผู้หญิงที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovary syndrome (PCOS)) ก็อาจมีระดับของแอนโดรสตีนไดโอนสูงเช่นกัน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ความหมายของผลตรวจ Androstenedione

การมีแอนโดรสตีนไดโอนเพิ่มขึ้น อาจบ่งชี้ถึงเนื้องอกต่อมหมวกไต มะเร็งต่อมหมวกไต และโรค Congenital adrenal hyperplasia (CAH) แต่หากพบแอนโดรสตีนไดโอนต่ำ อาจเกิดจากต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ ต่อมหมวกไตทำงานน้อยกว่าปกติ หรือการที่รังไข่หรืออัณฑะทำงานได้น้อยลง

ผู้ที่เป็นโรค CAH ที่กำลังรักษาด้วย Glucocorticoid Steroids หากมีแอนโดรสตีนไดโอนอยู่ในระดับปกติ ก็มีแนวโน้มว่าการรักษาช่วยยับยั้งการผลิตแอนโดรเจนได้อย่างมีประสิทธิผล แต่ถ้าพบระดับแอนโดรสตีนไดโอนเพิ่มขึ้น อาจบ่งชี้ถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนการรักษา

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการตรวจ Androstenedione

นอกจากการตรวจ Androstenedione เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ตรวจนักกีฬาที่แอบใช้แอนโดรสตีนไดโอนเป็นสารกระตุ้นได้อีกด้วย สาเหตุหนึ่งที่มีการนำฮอร์โมนชนิดนี้ไปฉีดเป็นสารกระตุ้น เพราะร่างกายสามารถเปลี่ยนแอนโดรสตีนไดโอนเป็น Anabolic steroid เพื่อช่วยสร้างกล้ามเนื้อได้ แต่ผลข้างเคียงที่ตามมาคือการขัดขวางการเจริญเติบโตของกระดูก ทำให้ตับเสียหาย และอาจส่งผลเสียต่อหัวใจ

ที่มาของข้อมูล

Lab Test Online, Androstenedione (https://labtestsonline.org/tests/androstenedione), 27 December 2018.


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Androstenedione Is a Banned Steroid. Verywell Fit. (https://www.verywellfit.com/androstenedione-andro-3120519)
Androstenedione - an overview. ScienceDirect. (https://www.sciencedirect.com/topics/neuroscience/androstenedione)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)