อัณฑะ (Testicle) เป็นต่อมไร้ท่อของเพศชายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบการสืบพันธุ์ ผู้ชายจะมีอัณฑะ 2 ลูก ที่อาจมีความแตกต่างกันในเรื่องของขนาดได้ อัณฑะมีหน้าที่สร้างอสุจิ (Sperm) และฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญของเพศชาย
ข้อมูลทางกายวิภาคของอัณฑะ
ลูกอัณฑะ จะอยู่ภายในถุงอัณฑะ ซึ่งเป็นถุงที่อยู่ระหว่างองคชาตกับขา ลูกอัณฑะแต่ละลูกถูกยึดให้อยู่กับที่ด้วยสเปอร์มาติก คอร์ด (Spermatic cord) ซึ่งเป็นโครงสร้างของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันและกล้ามเนื้อรอบๆ หลอดตัวนำอสุจิ (Vas deferens)
อัณฑะจะมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เรียกว่าทูนิกา (Tunica) ปกคลุม ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชั้น คือ
- ชั้นใน (Tunica albuginea)
- ชั้นนอก (Tunica vaginalis)
เนื้อเยื่อทูนิกาชั้นใน จะแบ่งลูกอัณฑะออกเป็นส่วนย่อยๆ ที่เรียกว่า Lobules ซึ่งโดยรวมแล้ว Lobules ภายในอัณฑะทั้งหมดจะมีท่อเซมินิเฟอรัส (Seminiferous tubules) ซึ่งเป็นท่อรูปตัว U ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อกับท่อรวมของหลอดสร้างตัวอสุจิ (Rete testis) ทั้งหมดประมาณ 800 ท่อ และท่อรวมของหลอดสร้างตัวอสุจินั้นก็จะเชื่อมระหว่างแต่ละท่อเข้ากับหลอดน้ำอสุจิ (Epididymis) ซึ่งเป็นท่อที่มีการขดตัวอยู่ด้วยกัน และสามารถแบ่งออกเป็นส่วนหัว ตัว และหางซึ่งจะเชื่อมเข้ากับหลอดตัวนำอสุจิ
การทำงานของลูกอัณฑะ
มีเซลล์ภายในลูกอัณฑะอยู่ทั้งหมด 2 ชนิด ที่ทำให้สร้างอสุจิและฮอร์โมนได้ คือเซลล์สืบพันธุ์ (Germ cells) และ supportive stromal cells โดยเซลล์สืบพันธุ์จะอยู่ภายในท่อเซมินิเฟอรัส เพื่อทำหน้าที่สร้างอสุจิ
นอกจากนั้นภายใน Tubules ยังมีเซลล์ในกลุ่ม stromal cell ที่ชื่อเซลล์เซอร์ทอร์ไล (Sertoli cells) ซึ่งช่วยให้เซลล์สืบพันธุ์สามารถสร้างและขนส่งอสุจิได้ โดยอสุจิจะเดินทางผ่านท่อเซมินิเฟอรัส และท่อรวมของหลอดสร้างตัวอสุจิ เข้าสู่หลอดน้ำอสุจิ ซึ่งเป็นบริเวณที่อสุจิจะมีการเติบโตเต็มที่ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์
เมื่ออสุจิโตเต็มที่แล้วก็จะเดินทางออกไปสู่หลอดตัวนำอสุจิ ซึ่งจะเกิดการรวมตัวเข้ากับสารน้ำจากต่อมลูกหมากและต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ (Seminal vesicle) ทำให้เกิดน้ำอสุจิ ก่อนที่น้ำอสุจิจะถูกหลั่งออกนอกร่างกายผ่านทางท่อปัสสาวะ นอกจากเซลล์เซอร์ทอร์ไลแล้ว ยังมีเซลล์อีกหลายประเภทที่จัดอยู่ในกลุ่มของ Stromal cells ซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกันไป โดยเซลล์เลย์ดิก (Leydig cells ) เป็น Stromal cells รูปแบบเฉพาะชนิดหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ระหว่างเนื้อเยื่อเกี่ยวพันระหว่างท่อเซมินิเฟอรัส ใต้ทูนิกาชั้นในและแผ่นเนื้อเยื่อที่แบ่งอัณฑะออกเป็น 2 ส่วน
เซลล์ประเภทนี้เป็นเซลล์ที่เป็นแหล่งของฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน ที่ช่วยให้เซลล์สืบพันธุ์สามารถสร้างอสุจิ และจำเป็นต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์เพศชาย รวมถึงช่วยเพิ่มความต้องการทางเพศให้กับผู้ชายอีกด้วย
โรคและภาวะที่เกี่ยวข้องกับลูกอัณฑะ
มีโรคและภาวะทางการแพทย์หลายชนิดที่อาจส่งผลต่ออัณฑะ เช่น
- ทองแดง เป็นภาวะที่ลูกอัณฑะข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างไม่ได้เคลื่อนตัวลงมาอยู่ในถุงอัณฑะก่อนคลอด
- ภาวะอัณฑะบิดขั้ว (Testicular torsion) เป็นภาวะที่สเปอร์มาติก คอร์ดเกิดการบิดตัว ทำให้ไม่มีเลือดมาเลี้ยงที่อัณฑะ
- การอักเสบของท่ออสุจิ (Epididymitis) เป็นการอักเสบของหลอดน้ำอสุจิ การอักเสบของลูกอัณฑะ (Orchitis) มักเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้และหนองในเทียม
- ภาวะฮอร์โมนเพศชายต่ำ (Primary hypogonadism) เป็นภาวะที่ลูกอัณฑะไม่สามารถสร้างฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนออกมาได้มากเพียงพอ