โรคเอดส์เป็นโรคติดต่อที่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส HIV ซึ่งเชื่อว่าหลายๆ คนมักจะเข้าใจกันว่าโรคนี้สามารถติดต่อกันได้ง่าย จึงทำให้รู้สึกกังวลหากต้องอยู่ใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วยโรคเอดส์
ดังนั้นเราจึงควรมาทำความเข้าใจที่ถูกต้องกันว่า อันที่แท้จริงแล้วโรคเอดส์สามารถติดต่อทางใดได้บ้าง เพื่อจะได้ปฏิบัติตัว และสามารถอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคเอดส์ได้อย่างถูกต้อง
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
โรคเอดส์ติดต่อได้อย่างไร?
โรคเอดส์เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า HIV หรือ Human Immunodeficiency Virus ซึ่งอาศัยอยู่ในสารคัดหลั่งต่างๆ ของผู้ป่วย ได้แก่ เลือด อสุจิ น้ำหล่อลื่นจากอวัยวะเพศชาย ของเหลว หรือน้ำหล่อลื่นที่อยู่ในช่องคลอดและทวารหนัก รวมถึงน้ำนมที่ให้ทารกดูดกินจากทรวงอก
โดยคนทั่วไปจะติดเชื้อไวรัส HIV ก็ต่อเมื่อสารคัดหลั่งเหล่านี้สัมผัสกับผิวหนังที่มีบาดแผล หรือเยื่อเมือกบุผิวภายในช่องปาก ช่องคลอด ทวารหนัก และอวัยวะเพศชาย
ช่องทางการติดต่อของโรคเอดส์
เชื้อไวรัส HIV สามารถติดต่อได้หลายช่องทาง ดังนี้
- การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดจะมีโอกาสติดเชื้อได้ทั้งฝ่ายรุกและฝ่ายรับไม่แตกต่างกัน
แต่การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักนั้น ฝ่ายรับจะมีความเสี่ยงสูงที่สุด และมีความเสี่ยงมากกว่าฝ่ายรับที่มีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดตามปกติ - การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ เพราะเชื้อ HIV ที่อยู่ในเข็มฉีดยาที่ผ่านการใช้งานแล้ว จะอยู่ได้นานถึง 42 วัน ถ้ามีอุณหภูมิ หรือปัจจัยอื่นๆ ที่เหมาะสม
- การแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูก ไม่ว่าจะเป็นช่วงขณะตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด หรือให้นมบุตรก็ตาม ล้วนแต่มีความเสี่ยงสูงทั้งสิ้น ถ้าหากมารดาไม่ได้รับประทานยาต้านเชื้อ HIV
- การมีเพศสัมพันธ์ทางปาก เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่อาจเกิดขึ้นได้หากฝ่ายชายมีการหลั่งน้ำอสุจิที่มีเชื้อ HIV เข้าภายในปากของคู่นอน ขณะที่มีเพศสัมพันธ์ทางปาก
- การจูบแบบเปิดปาก ถ้าทั้งสองฝ่ายมีแผลในช่องปาก หรือมีเลือดออกตามไรฟัน โดยที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีการติดเชื้อ HIV อาจทำให้อีกฝ่ายติดเชื้อได้ เมื่อมีแผล หรือรอยถลอกภายในช่องปากเช่นกัน แต่เชื้อไวรัส HIV ไม่สามารถติดต่อกันผ่านทางน้ำลายได้
- การปลูกถ่ายอวัยวะ หรือบริจาคเลือด เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่สามารถพบได้เช่นกัน แต่ในปัจจุบันมีการคัดกรองผู้บริจาคเลือด หรือผู้บริจาคอวัยวะอย่างเข้มงวดมากขึ้น ก่อนที่จะนำมาถ่ายให้กับผู้ป่วย โดยมีการตรวจหาเชื้อไวรัส HIV ก่อนนำไปใช้ทุกครั้ง
- การรับประทานอาหารที่ผ่านการเคี้ยวจากผู้ติดเชื้อ กรณีนี้มักจะพบในทารกเท่านั้น ซึ่งเกิดจากการปนเปื้อนเชื้อไวรัส HIV จากเลือดที่ออกในปากขณะเคี้ยวอาหาร
- การถูกกัด หรือเกาโดยผู้ติดเชื้อ จะต้องเป็นการกัด หรือเกาที่มีความรุนแรงมาก จนกระทั่งทำให้เกิดแผลฉีกขาดที่ผิวหนังจนมีเลือดไหลออกมา
- การสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เพราะเชื้อไวรัส HIV ที่อยู่ในสารคัดหลั่งสามารถเข้าทางบริเวณบาดแผลบนผิวหนังหรือเยื่อเมือกบุผิวได้นั่นเอง
- การสักหรือเจาะตามร่างกาย หากมีการใช้อุปกรณ์ไม่สะอาด โดยมีการใช้เข็มสัก หรือเจาะซ้ำร่วมกัน รวมถึงหมึกที่ใช้ในการสักร่วมกับผู้อื่น จะมีความเสี่ยงสูงต่อการรับเชื้อไวรัส HIV
เชื้อไวรัส HIV ไม่ติดทางพฤติกรรมใดบ้าง
ไม่ว่าจะเป็นการกอด จับมือ หรือแม้แต่การจูบแบบปิดปากกับผู้ติดเชื้อ การสัมผัสน้ำตา เหงื่อ และน้ำลายโดยตรงที่ไม่มีเลือดของผู้ติดเชื้อปนเปื้อน
นอกจากนี้การถูกยุงกัด หรือแมลงดูดเลือดจากผู้ติดเชื้อกัดต่อย การหายใจร่วมกัน และการใช้ข้าวของ หรือห้องน้ำร่วมกับผู้ติดเชื้อ ก็ไม่สามารถทำให้เราติดเชื้อไวรัส HIV จากผู้ป่วยได้
วิธีการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคเอดส์
เราไม่ควรตื่นตระหนก หรือกังวลในการอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อไวรัส HIV หากทราบถึงวิธี หรือแนวทางปฏิบัติต่อผู้ป่วยโรคเอดส์ได้อย่างถูกต้อง
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
โดยเริ่มจากศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวกับโรคเอดส์ ทั้งสาเหตุ อาการ การติดต่อ และการรักษาอย่างถูกวิธี เพื่อให้ช่วยดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
แนะนำวิธีอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคเอดส์ หรือผู้ติดเชื้อ HIV อย่างเหมาะสม ดังนี้
- ปฏิบัติต่อผู้ป่วยเหมือนคนปกติ ควรรับฟังปัญหาพร้อมกับให้คำปรึกษาที่ดีและถูกต้องแก่ผู้ป่วย พยายามอย่าทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแปลกแยกจากพฤติกรรมหรือการพูดคุยที่เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม แต่อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจว่า การได้รับการรักษาทันทีจะส่งผลดีต่อสุขภาพมากขึ้น
- ทำที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ควรจัดบริเวณที่อยู่อาศัยให้เหมาะแก่การใช้รถเข็น วางสิ่งของให้หยิบใช้ได้สะดวก และเก็บของมีคมให้มิดชิด
- ดูแลสุขภาพของผู้ป่วย ควรให้ผู้ป่วยหมั่นพลิกตัวและทำกายภาพบำบัด พร้อมกับเลือกใช้วัสดุที่รองนอนมีความนิ่มมากพอ เพื่อป้องกันปัญหาทางสุขภาพที่ตามมาในภายหลัง อย่างเช่นแผลกดทับหรือข้อติดแข็ง
- ดูแลด้านอาหารสำหรับผู้ป่วย อาหารควรมีความสดสะอาดเป็นอันดับแรกๆ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัว และผู้ประกอบอาหาร โดยเน้นอาหารที่ปรุงสุกและมีสารอาหารครบถ้วนในปริมาณที่เหมาะสม อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงประเภทอาหารทะเลดิบและไข่ดิบ
- ให้ผู้ป่วยรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ควรสร้างวินัยให้กับผู้ป่วยในการรับประทานยาครบทุกมื้ออย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันประสิทธิภาพของยาลดลง หรือมีอาการที่เรียกว่า "เชื้อดื้อยา" นั่นเอง ซึ่งทำให้การรักษาเป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ควรระมัดระวังในการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย โดยสวมถุงมือยางทุกครั้ง และล้างมือด้วยสบู่ รวมถึงแยกทิ้งขยะที่มีสารคัดหลั่งปะปนออกจากขยะชนิดอื่นๆ
หากต้องถือเข็มฉีดยา หรือของมีคมต่างๆ ที่มีเลือดของผู้ป่วยติดอยู่จะต้องใส่ถุงมือยาง และระมัดระวังให้มากขึ้น รวมถึงทำความสะอาดห้องน้ำ หรือโถสุขภัณฑ์ก่อนใช้งานต่อทุกครั้งด้วยการสวมถุงมือยางเช่นกัน
ผู้ติดเชื้อไวรัส HIV หากรับประทานยาต้านเชื้อไวรัสอย่างสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันไม่ให้พัฒนาไปเป็นโรคเอดส์ได้ ซึ่งสามารถใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วไป ในด้านบุคคลใกล้ชิดก็ควรให้กำลังใจผู้ติดเชื้อด้วยเช่นกัน
การติดเชื้อ HIV นั้น สามารถป้องกันได้ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ และหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
ดูแพ็กเกจตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android