กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
พญ.วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
พญ.วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี

ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ ทั้งความหมาย ประเภท อาการและวิธีรักษา

สาเหตุของภูมิแพ้แต่ละประเภท วิธีป้องกันภูมิแพ้กำเริบ อ่านรายละเอียดเพื่อดูแลตัวเองให้ดียิ่งขึ้น
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 1 ก.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 9 นาที
ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ ทั้งความหมาย ประเภท อาการและวิธีรักษา

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่เกิดจากร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้บางอย่างเข้าไป และร่างกายได้เกิดปฏิกิริยาไวต่อสารนั้น จนระบบภูมิคุ้มกันต้องผลิตสารภูมิต้านทานออกมา และทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ขึ้น
  • โรคภูมิแพ้สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย จำแนกเป็นหลักๆ ออกได้ตามประเภทของระบบของร่างกายที่ทำงานผิดปกติ ได้แก่ ภูมิแพ้ตา ภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ผิวหนัง ภูมิแพ้อากาศภูมิแพ้ระบบทางเดินอาหาร
  • อาการภูมิแพ้สามารถลุกลามรุนแรงได้ถึงขั้นเป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งเราสามารถเรียกอาการนี้ได้ว่า “อาการภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง”
  • วิธีรักษาภูมิแพ้จะแบ่งเป็น 2 อย่างหลักๆ คือ รับประทานยา หรือฉีดวัคซีน และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง ซึ่งมีหัวใจหลักคือ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้สารก่อภูมิแพ้ ลดการหลั่งของสารฮิสตามีน และปรับสภาพแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วยให้สะอาด มีปริมาณสารก่อภูมิแพ้น้อยลง
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้ (Allergy) หมายถึง โรคที่เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้ (Allergen) จนทำให้ระบบการทำงานภายในเกิดความผิดปกติขึ้น

สารก่อภูมิแพ้ หมายถึง สารที่ร่างกายของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้มีปฏิกิริยาและเกิดอาการแพ้ขึ้น โดยคุณสามารถพบสารก่อภูมิแพ้ได้ทุกที่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อากาศ อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป สารเคมี ฝุ่น ควัน ขนสัตว์ แมลง ละอองเกสรดอกไม้ หรือพืชบางชนิด 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้แต่ละรายจะมีปฏิกิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้ที่แตกต่างกันไป แต่โรคภูมิแพ้จะเกิดขึ้นได้กับกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย แต่วัยที่จะสังเกตเห็นอาการได้ชัดที่สุด จะเป็นเด็กช่วงอายุ 5-15 ปี

สาเหตุของโรคภูมิแพ้

  1. สาเหตุจากเดิม เกิดจากเงื่อนไขสุขภาพและร่างกายของผู้ป่วยและยังรวมไปถึงกรรมพันธุ์ของผู้ป่วยด้วย เพราะโรคภูมิแพ้สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม หากคุณมีคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้มาก่อน ความเสี่ยงที่คุณจะเป็นโรคภูมิแพ้ด้วยก็จะมีสูงกว่าคนปกติ
  2. สาเหตุโดยตรง มาจากสภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัย และการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ขนาดไหน เช่น ความเครียด อยู่ในชุมชนแออัด ฝุ่นควันบนท้องถนนทุกวัน การคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงบ่อยๆ
  3. สาเหตุเสริม อาจเกิดมาจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือผู้ป่วยบังเอิญได้รับสารก่อภูมิแพ้มาโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ อากาศเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ได้รับสารเคมีบางชนิด ป่วยเป็นโรคที่ติดเชื้อบางชนิด เช่น ไข้หวัด ทอนซิลอักเสบ

กลไกการเกิดโรคภูมิแพ้

คุณอาจสงสัยว่า เมื่อร่างกายเกิดปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้แล้ว กลไกของร่างกายได้ทำอะไรกับสารเหล่านั้นถึงได้กลายเป็นโรคภูมิแพ้ในภายหลังได้

กลไกของร่างกายที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้นั้น เกิดจากเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ โดยหลั่งสารก่อการอักเสบต่างๆ ขึ้นมา เพื่อกระตุ้นให้เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันผลิตสารภูมิต้านทาน หรือแอนติบอดี (Antibody) ที่มีชื่อว่า “อิมมูโนโกลบูลิน อี (Immunoglobulin E: IgE)" เพื่อต่อต้านสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ

หลังจากนั้น เมื่อร่างกายได้ผลิตสารภูมิต้านทานอิมมูโนโกลบูลิน อี ขึ้นมา การตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้นั้นจึงเร็วและเพิ่มมากขึ้น

จนครั้งต่อไปเมื่อคุณเผลอรับเอาสารก่อภูมิแพ้ตัวเดิมเข้ามาในร่างกายอีก ระบบภูมิคุ้มกันและสารภูมิต้านทานก็จะตอบสนอง และกระตุ้นเซลล์ชื่อว่า “แมสต์เซลล์ (Mast Cell)” ให้หลั่งสารชื่อว่า “ฮิสตามีน (Histamine)” ซึ่งสารตัวสำคัญที่ทำให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ออกมา

อาการของโรคภูมิแพ้

โดยทั่วไปอาการของโรคภูมิแพ้ที่หลายคนมักเจอได้แก่ ไอ จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก หายใจไม่ออก มีผื่นขึ้น นอกเหนือจากอาการเหล่านี้ อาการอื่นๆ ของโรคภูมิแพ้ยังสามารถจำแนกได้ตามประเภทของอวัยวะ หรือระบบการทำงานที่ผิดปกติจากสารก่อภูมิแพ้ด้วย ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

1. โรคภูมิแพ้ตา

เป็นอาการของโรคภูมิแพ้ซึ่งมักเกิดจากไรฝุ่น ฝุ่นควันตามท้องถนน เกสรดอกไม้ หรือสิ่งระคายเคืองอื่นๆ ที่มากระทบกับดวงตาของผู้ป่วย และยังรวมไปถึงคอนแทคเลนส์ที่ผู้ป่วยใช้ด้วย

อาการของโรคภูมิแพ้ตาสามารถจำแนกได้เป็น 2 ขั้นดังนี้

  • อาการแพ้ไม่รุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการเยื่อบุตาอักเสบแต่ยังไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อกระจกตา เพียงแต่จะรู้สึกคันตา น้ำตาไหล ตาขาวเป็นสีแดงเท่านั้น
  • อาการแพ้รุนแรง กระจกตาของผู้ป่วยจะมีอาการอักเสบร่วมด้วย และผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บเคืองตา มองเห็นไม่เหมือนเดิม หรือมองไม่ชัด

นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ในโรคภูมิแพ้ตาอีก ซึ่งหากอาการร้ายแรงมาก ก็อาจส่งผลให้ตาบอดได้ เช่น ตาไวต่อแสงกว่าปกติ เยื่อบุตาขาวอักเสบกระจกตาดำเป็นแผล กระจกตาเป็นแผลเรื้อรัง

2. โรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ

เป็นโรคภูมิแพ้ที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะจมูกและหลอดลมเป็นส่วนมาก เพราะจมูกเป็นอวัยวะที่ช่วยคัดกรองฝุ่น และสิ่งแปลกปลอมที่จะผ่านเข้ามาในร่างกาย รวมถึงช่วยปรับอุณหภูมิของร่างกายก่อนที่สิ่งต่างๆ จะผ่านเข้าหลอดลมมา

ภายในจมูกของทุกคนจะมีโพรงจมูกและเยื่อบุจมูก ซึ่งเมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้เป็นเวลานาน ก็จะเกิดการอักเสบขึ้น จึงทำให้ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจมีการตอบสนองต่อกลิ่น หรืออากาศที่หายใจเข้าไปค่อนข้างไวกว่าคนปกติ โดยเฉพาะเกสรดอกไม้ ฝุ่น หรือขนสัตว์

อาการของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อย เช่น ไอเรื้อรัง จามบ่อย แน่นหน้าอก มีเสมหะในคอ กลืนน้ำลายและอาหารลำบาก หายใจไม่สะดวกหรือหายใจเร็ว อาการมักจะหนักขึ้นในช่วงกลางคืน หรือช่วงที่ออกกำลังกาย คันตา และอาจมีน้ำตาไหล

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

3. โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง

เรียกได้หลายชื่อ เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคภูมิแพ้อักเสบ โรคผิวหนังอักเสบไวเกิน มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยเด็กเป็นส่วนมาก และมักจะมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม

อย่างไรก็ตาม ถึงคุณไม่มีคนในครอบครัวที่เป็นโรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง แต่คุณก็สามารถเป็นโรคนี้ได้หากได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้ทางผิวหนังมาก มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง เช่น อาศัยในสถานที่ที่มีฝุ่น หรือสารเคมีปริมาณมาก รับประทานอาหารที่เสี่ยงทำให้เกิดอาการแพ้ 

อาการแสดงของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง มักจะมีดังต่อไปนี้ และโดยทั่วไปอาการจะแสดงออกมาภายใน 1-7 วัน เช่น ผื่นแดง ผดขึ้น รู้สึกคันตามผิวหนัง ผิวหนังมีตุ่มแดง หรือมีตุ่มน้ำเหลืองแห้งกรังขึ้น ผิวแห้ง และทำให้รู้สึกคันกว่าปกติ

4. โรคภูมิแพ้อากาศ

เป็นประเภทของโรคภูมิแพ้ที่มักพบได้บ่อยที่สุด เรียกอีกชื่อว่า  "โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้" โดยคุณอาจสังเกตได้จากเมื่อคนใกล้ตัวมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเมื่ออยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ หรืออากาศชื้น นั่นคือ อาการเบื้องต้นของผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้อากาศ

โรคภูมิแพ้อากาศจะมีสาเหตุใกล้เคียงกับโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ นั่นคือ มีความเกี่ยวข้องกับอากาศ ฝุ่นละออง และเชื้อโรคที่คุณมองไม่เห็นในอากาศรอบตัว แต่โรคภูมิแพ้ทางอากาศจะรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ และจะเกี่ยวข้องกับอาการหายใจเข้าทางจมูกมากกว่าหลอดลม

สำหรับอาการของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อากาศที่พบบ่อย เช่น จามบ่อย หายใจไม่สะดวก มีน้ำมูกมาก คันจมูก คัดจมูกบ่อย แสบตาและอาจมีน้ำตาไหลมาก หูอื้อ

อาการของโรคภูมิแพ้อากาศอาจดูเหมือนไม่ร้ายแรง และพบเห็นได้ทั่วไป แต่หากไม่รีบรักษา โรคนี้ก็สามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงตามมาได้ เช่น โรคไซนัส โรคหลอดลมอักเสบ ผนังคออักเสบ โรคหอบหืด ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

5. โรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินอาหาร

สาเหตุหลักๆ ของโรคภูมิแพ้ชนิดนี้เกิดจากความไวต่ออาหารที่รับประทานเข้าไป จนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ อาหารที่มักจะทำให้เกิดอาการแพ้จะได้แก่ นม ถั่ว ไข่ อาหารทะเล ผงชูรส สารปรุงแต่งอื่นๆ ในอาหาร

ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคภูมิแพ้ชนิดนี้สามารถมีอาการแสดงได้ทันทีหลังรับประทานอาหาร หรือภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหารแล้ว ถึงแม้ว่าจะรับประทานอาหารเข้าไปเพียงเล็กน้อยก็ตาม 

อาการของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปากบวม คอบวม หรือรู้สึกว่า มีก้อนบางอย่างอยู่ข้างใน ท้องอืดหอบหืด หายใจไม่ออก เป็นผื่นคัน

โรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินอาหารมักจะมีอาการที่ค่อนข้างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ และสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลันโดยที่คุณอาจไม่คาดคิด ดังนั้นหากคุณรู้สึกว่าตนมีอาการแพ้อาหาร หรือมีคนใกล้ชิดเกิดอาการแพ้อาหารขึ้นมา ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยทันที

นอกจากอาการของโรคภูมิแพ้ทั้ง 5 ชนิดที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีอีกอาการภูมิแพ้ซึ่งค่อนข้างร้ายแรง และไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย นั่นก็คือ “อาการภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง (Anaphylaxis)”

ทำความรู้จักอาการภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง

อาการภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง สามารถเรียกได้อีกชื่อสั้นๆ ว่า “อาการแพ้รุนแรง” ซึ่งมีสาเหตุเหมือนกับโรคภูมิแพ้ทั่วไปทุกอย่าง เพียงแต่ปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้นั้นจะมีมากกว่า 1 ระบบ และอาการจะรุนแรงกว่าหลายเท่า

ระยะเวลาที่เกิดอาการแพ้รุนแรงนั้นจะไม่เกิน 2 ชั่วโมงหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไป ทำให้ผู้ป่วยและผู้ที่อยู่ใกล้ชิดมักไม่ทันได้ตั้งตัวรับมือกับอาการที่เกิดขึ้น เช่น มีผื่นขึ้นตามตัว ใบหน้า ริมฝีปาก และดวงตาบวม วิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติ อาเจียนอย่างหนัก ความดันโลหิตต่ำ

สำหรับตัวยาสำคัญซึ่งใช้สำหรับปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่มีอาการแพ้รุนแรงนั้นคือ ยาอะดรีนาลีน หรืออีพิเนฟริน (Adrenaline หรือ Epinephrine) ซึ่งเป็นยาที่ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อผู้ป่วยก่อนที่จะนำตัวส่งโรงพยาบาล

ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่อาการแพ้รุนแรงส่วนมากจะต้องพกยาดังกล่าวติดตัว ส่วนคนใกล้ชิดต้องเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในกรณีที่เกิดอาการแพ้ฉุกเฉินกะทันหันขึ้น เพราะอาการแพ้รุนแรงนั้นสามารถส่งผลกระทบให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้หากปฐมพยาบาลไม่ทัน

อ่านเพิ่มเติม: อาการภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง เมื่อโรคภูมิแพ้ออกฤทธิ์ถึงขั้นเป็นอันตรายถึงชีวิต

การตรวจวินิจฉัยโรคภูมิแพ้

เบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติสุขภาพและสอบถามว่า มีผู้ใกล้ชิดทางสายเลือดที่เป็นโรคภูมิแพ้ด้วยหรือไม่ จากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้นและทดสอบอาการของโรคภูมิแพ้ที่เกิดขึ้น เพื่อให้วินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

วิธีการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้สามารถทำได้ 2 วิธี คือ

  1. การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Allergy Skin Test) แพทย์จะนำน้ำยาที่มีส่วนประกอบของสารก่อภูมิแพ้ทางอากาศหรือที่เป็นอาหารมาทดสอบกับผิวหนังของผู้ป่วย โดยผ่านการสะกิดผิวหนัง (Skin prick test) หรือฉีด จากนั้นจะให้ผู้ป่วยรอดูอาการประมาณ 20 นาที หากผู้ป่วยมีอาการแพ้ บริเวณที่ฉีดหรือสะกิดผิวหนังของผู้ป่วยจะเกิดเป็นตุ่มนูนแดงขึ้นมา
  2. การตรวจเลือด (Blood Test Allergy) เป็นวิธีตรวจวินิจฉัยภูมิแพ้ซึ่งมีจุดมุ่งหมายคือ เพื่อหาสารภูมิต้านทานอิมมูโนโกลบูลิน อีในเลือดของผู้ป่วยว่า จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้ใดบ้าง

การรักษาโรคภูมิแพ้

สิ่งที่ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทุกคนต้องทราบคือ โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ผู้ป่วยจะมีอาการเป็นๆ หายๆ ขึ้นอยู่กับว่า ตนเองได้ไปเข้าใกล้สารก่อภูมิแพ้ใดหรือไม่ 

การรักษาโรคภูมิแพ้โดยหลักๆ จะแบ่งเป็น 3 วิธีคือ 

1. การรักษาโรคภูมิแพ้โดยรับประทานยาแก้แพ้

  1. ยาแก้แพ้กลุ่มแรก หรือกลุ่มดั้งเดิม (First Generation Antihistamine) เป็นยาแก้แพ้กลุ่มแรกซึ่งช่วยลดการหลั่งของสารฮิสตามีน และอาการภูมิแพ้อื่นๆ ได้ดี แต่มีข้อเสีย คือ ทำให้ผู้ป่วยง่วงซึม เช่น คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ไฮดรอไซซีน (hydroxyzine)
  2. ยาแก้แพ้กลุ่มที่ 2 หรือยาต้านฮิสตามีนกลุ่มไม่ทำให้ง่วงซึม (Second Generation Antihistamine) เป็นยาแก้แพ้กลุ่มแรกที่ถูกพัฒนาโมเลกุลยาให้ใหญ่ขึ้น เพื่อไม่ให้เคมีของยาผ่านเข้าสู่สมอง และไปรบกวนระบบประสาทส่วนกลางจนทำให้ผู้ป่วยง่วงซึม เช่น เฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) เซทิริซีน (Cetirizine)

คุณสมบัติหลักๆ ของยาแก้แพ้ คือ ลดน้ำมูก อาการไอ และจามเรื้อรัง ผื่นลมพิษ อาการคันตามร่างกาย โดยรูปแบบของยาจะแบ่งเป็น 4 แบบคือ แบบน้ำ (Liquids) แบบเม็ด (Pills) แบบพ่นจมูก (Nasal spray) แบบหยอดยา (Eyes drops) 

ถึงแม้การรับประทานยาจะเป็นวิธีรักษาหลักที่ผู้ป่วยทุกโรคมักใช้เพื่อรักษาอาการ แต่ยาบางชนิดก็อาจส่งผลข้างเคียงให้เกิดอาการแพ้ยา (Drug Allergy) ได้ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต จึงต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา

2. การรักษาโรคภูมิแพ้โดยการฉีดวัคซีน

การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ เป็นการฉีดเอาสารก่อภูมิแพ้เข้าในร่างกาย เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำปฏิกิริยาต่อสารที่คุณแพ้ และไม่ทำให้เกิดอาการแพ้อีก 

ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ได้ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ โดยช่วง 5-6 เดือนแรก แพทย์จะฉีดวัคซีนที่แขนให้สัปดาห์ละ 1 ครั้งสลับข้างกัน 

จากนั้นแพทย์จะจะค่อยๆ เพิ่มปริมาณวัคซีนมากขึ้นจนถึงระดับสูงสุดที่ผู้ป่วยจะรับไหว รวมถึงความถี่ของการมารับวัคซีนที่จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย 

ระยะเวลาที่ผู้ป่วยเข้ารับการฉีดวัคซีนภูมิแพ้จะอยู่ที่ประมาณ 3-5 ปี ซึ่งแพทย์จะให้ผู้ป่วยหยุดรับวัคซีนได้ก็ต่อเมื่อไม่มีอาการแพ้เกิดขึ้นแล้ว 

แต่หากผู้ป่วยยังมีอาการแพ้อยู่ หรือผลจากการรับวัคซีนยังไม่ดีพอ แพทย์ก็อาจยืดระยะเวลาการรับวัคซีนอย่างต่อเนื่องไปอีก 1 ปีหรือมากกว่านั้น

3. การรักษาโดยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง

นอกเหนือจากการรับประทานยาแก้แพ้ และฉีดวัคซีน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ยังเป็นวิธีการรักษาโรคภูมิแพ้ที่คุณสามารถทำได้ด้วยตนเอง ซึ่งคุณสามารถทำได้ตามคำแนะนำต่อไปนี้ 

  • หลีกเลี่ยงไปสถานที่ที่จะได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้ามาในร่างกาย
  • หมั่นทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ 
  • ตัดหญ้า และวัชพืชต่างๆ ที่คุณมีอาการแพ้หรือมีความเสี่ยงว่าจะแพ้
  • กำจัดแมลง เช่น มด แมลงสาบ ตัวต่อ แตนที่เสี่ยงจะกัดต่อย และทำให้คุณเกิดแผลหรืออาการแพ้ได้
  • รักษาอุณหภูมิของร่างกายตนเองให้อบอุ่นเสมอ และสวมเสื้อผ้าที่สะอาดทุกครั้ง
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเป็นอาหารที่สะอาด ไม่เสี่ยงทำให้เกิดอาการแพ้ โดยอาหารที่มักทำให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่ นมวัว ไข่ ถั่ว อาหารทะเลที่มีเปลือก ปลา ธัญพืช เครื่องเทศ
  • หากิจกรรมทำเพื่อคลายเครียดเสมอ อย่าหักโหมทำงานหนักจนพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ตากผ้า ปลอกหมอนหนุน ผ้าปูที่นอน พรมหรือผ้าปูรองต่างๆ ไว้ในที่แดดจัดเสมอเพื่อฆ่าเชื้อโรค
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือมีสารเคมีที่เสี่ยงทำให้เกิดอาการแพ้ นอกจากนี้ คุณยังควรพกหน้ากากอนามัยติดตัวทุกครั้งด้วย
  • หากแพ้ขนสัตว์ ควรหลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์ หรือหากเลี้ยงสัตว์ไว้ในบ้าน ให้คุณพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดยาป้องกันขนร่วง หรือบำรุงขนให้ไม่กลายเป็นฝุ่นละอองในบ้าน

คำแนะนำที่กล่าวไปข้างต้นนั้นไม่ใช่แค่วิธีการรักษาภูมิแพ้เท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีป้องกันโรคภูมิแพ้ได้อีกด้วย ซึ่งหากคุณลองปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเองดู โรคภูมิแพ้ก็ยากที่จะเกิดขึ้นกับตัวคุณ และคนที่คุณรัก

อ่านเพิ่มเติม: สาเหตุ อาการ และการป้องกันโรคภูมิแพ้อย่างกระชับ 

โรคภูมิแพ้จะไม่สามารถทำอันตรายคุณได้ หากคุณมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เหมาะสม ระมัดระวังตนเอง รักษาความสะอาด และหมั่นไปตรวจสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ

ดูแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้และภาวะแพ้ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android

รวมบทความที่เกี่ยวข้องกับโรคภูมิแพ้

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้ จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


11 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ตรวจภูมิแพ้ ด้วยการเจาะเลือด เป็นยังไง?, (https://hdmall.co.th/c/allergy-blood-test).
Johns Hopkins Medicine, Allergies and the Immune System (https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/allergies-and-the-immune-system) 23 August 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป