โรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล (Ulcerative colitis) เป็นภาวะสุขภาพระยะยาวที่ซึ่งลำไส้ใหญ่ (colon หรือ large intestine (bowel)) และไส้ตรง (rectum) เกิดการอักเสบขึ้น ไส้ตรงคือส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่ที่เป็นจุดเก็บสะสมอุจจาระ แผลขนาดเล็กสามารถเกิดกับผนังเยื่อบุลำไส้ และทำให้เกิดหนองและเลือดออกได้
อาการของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล
โรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลมีอาการดังต่อไปนี้:
คุณอาจประสบกับอาการเหน็ดเหนื่อยรุนแรง ไม่อยากอาหาร และน้ำหนักลดร่วมด้วยได้
ความรุนแรงของอาการจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าส่วนของไส้ตรงกับลำไส้ใหญ่มีการอักเสบรุนแรงขนาดไหน ในบางคน ภาวะนี้อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างมาก
อาการกำเริบจากโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล
ผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลอาจมีทั้งช่วงที่ไม่มีอาการใด ๆ หรือมีน้อยมากเป็นเวลานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน (ช่วงระยะสงบชองโรค หรือ remission) ตามมาด้วยช่วงที่เกิดอาการรุนแรงเป็นพิเศษ (ช่วงระยะกำเริบ หรือ flare-ups/relapses)
ระหว่างช่วงกำเริบ ผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลบางคนอาจประสบกับอาการตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น:
- ปวดและข้อต่อบวม (ข้ออักเสบ – arthritis)
- แผลในปาก (mouth ulcers)
- ผิวหนังบางจุดแดง บวม และเจ็บปวด
- ระคายเคืองดวงตา และตาแดง
กรณีที่เป็นรุนแรงอาจเกิดความอยากถ่ายหนักมากกว่า 6 ครั้งต่อวันขึ้นไป และอาจมีอาการอื่น ๆ ดังนี้:
- หายใจติดขัด
- หัวใจเต้นเร็วผิดปรกติ
- มีไข้สูง
- เลือดปนอุจจาระอย่างเห็นได้ชัดเจน
ผู้ป่วยส่วนมากจะไม่สามารถหาสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบได้ กระนั้นการติดเชื้อที่ลำไส้มักจะเป็นสาเหตุโดยทั่วไป อีกทั้งยังเชื่อกันว่าความเครียดก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลอย่างมาก
ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?
คุณควรไปพบแพทย์ทันทีที่มีอาการจากโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล และยังไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้มาก่อน
แพทย์จะจัดการตรวจเลือดหรือตรวจตัวอย่างอุจจาระเพื่อทดสอบว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการของคุณ หากจำเป็นก็อาจต้องส่งคุณไปยังโรงพยาบาลเพื่อรับการทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติม
หากคุณเคยถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล และคาดว่าคุณอาจมีอาการกำเริบรุนแรง ให้ติดต่อแพทย์ผู้ดูแลเพื่อขอรับคำแนะนำ โดยคุณอาจต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตามความเหมาะสม
อะไรเป็นสาเหตุของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล?
คาดกันว่าโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลเป็นภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (autoimmune condition) ซึ่งหมายความว่าระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานผิดปรกติจนเข้าไปโจมตีเนื้อเยื่อสุขภาพดีแทน
ทฤษฎีที่เป็นที่ยอมรับที่สุดกล่าวว่าระบบภูมิคุ้มกันเข้าใจว่าแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ใหญ่เป็นภัยคุกคามร่างกายจึงเข้าโจมตีเนื้อเยื่อสุขภาพดีของลำไส้จนทำให้เกิดอาการอักเสบขึ้นมา
สาเหตุที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานเช่นนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนมากเชื่อว่าเกิดมาจากการผสานกันของปัจจัยทางสภาพแวดล้อมและพันธุกรรม
ใครสามารถเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลได้บ้าง?
โรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลสามารถเกิดกับใครก็ได้ แต่ส่วนมากจะพบกับผู้ที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 25 ปี
ภาวะนี้มักพบกับผู้ที่มีเชื้อสายมาจากชาวยุโรปผิวขาวและคนผิวดำ แต่จะหายากกับคนที่มีต้นกำเนิดมาจากเอเชีย (สาเหตุยังไม่เป็นที่แน่ชัด) และทั้งผู้ชายกับผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลเท่า ๆ กัน
สามารถทำการรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลได้อย่างไร?
การรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาอาการระหว่างช่วงกำเริบ และป้องกันไม่ให้อาการกลับมา (การคงสภาพอาการสงบ)
ผู้ป่วยส่วนมากจะได้รับการรักษาขั้นต้นด้วยยาต่าง ๆ เช่น:
- aminosalicylates (ASA)
- คอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids)
- ยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressants)
ช่วงที่มีอาการกำเริบที่ไม่รุนแรงถึงปานกลางจะสามารถรักษาได้เองที่บ้าน แต่สำหรับอาการกำเริบรุนแรงนั้นต้องรักษาที่โรงพยาบาลเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงต่าง ๆ เช่นการยืดออกของลำไส้ หรือการขยายใหญ่ขึ้นของแผล โดยทั้งสองภาวะสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดรูบนลำไส้ใหญ่ได้ หากยาไม่สามารถควบคุมอาการได้ หรือคุณภาพชีวิตของคุณได้รับผลกระทบจากภาวะนี้ค่อนข้างมาก อาจต้องนำการผ่าตัดเข้าไปเป็นตัวเลือกการรักษาต่อไป
ระหว่างการผ่าตัด ลำไส้เล็กของคุณจะถูกผ่าแยกออกจากช่องเปิดที่หน้าท้องของคุณ (เรียกว่ากระบวนการ ileostomy) หรือใช้ถุงติดร่างกายที่เชื่อมเข้ากับทวารหนักของคุณ (ถุง ileo-anal)
สาเหตุการเกิดโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล
สาเหตุที่แท้จริงของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ก็คาดกันว่าเป็นผลมาจากปัญหาของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย
1.ภาวะระบบภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง
ระบบภูมิคุ้มกันคือกระบวนการป้องกันการติดเชื้อของร่างกาย ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเชื่อว่าโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลเป็นภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตนเองชนิดหนึ่ง
ระบบภูมิคุ้มกันจะทำหน้าที่ต่อสู้กำจัดการติดเชื้อด้วยการปล่อยเซลล์เม็ดเลือดขาวปนกับเลือดเพื่อทำลายสาเหตุของภาวะติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบขึ้นตามเนื้อเยื่อร่างกายที่ติดเชื้อ (อาการบวมแดง)
สำหรับกรณีของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล ทฤษฎีที่น่าเชื่อถือที่สุดคือการที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปรกติและเข้าไปโจมตีแบคทีเรียดีที่อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่และช่วยในกระบวนการย่อยอาหาร จนทำให้ลำไส้ใหญ่และไส้ตรงอักเสบขึ้นมา
อีกทฤษฎีหนึ่งคือมีการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียบางประเภทที่เข้าไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงาน แต่ระบบกลับไม่ยอมปิดตัวลงแม้การติดเชื้อจะหายไปแล้ว ซึ่งทำให้เกิดอาการอักเสบขึ้นเรื่อย ๆ
และยังมีทฤษฎีอื่น ๆ ที่กล่าวว่าไม่มีการติดเชื้อใดมาเกี่ยวข้องแต่แรก แต่เป็นการที่ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานผิดปรกติด้วยตัวเอง หรือแม้แต่ว่าเกิดความไม่สมดุลของแบคทีเรียดีและไม่ดีในลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
2.พันธุกรรม
มีการศึกษาหนึ่งที่อ้างว่าพันธุกรรมที่ตกทอดมาเป็นปัจจัยในการเกิดโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลขึ้น โดยพบว่าผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลมากกว่า 1 ใน 4 มีประวัติครอบครัวใกล้ชิดกับโรคนี้
มีข้อมูลว่าเชื้อชาติก็ส่งผลต่อระดับผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลเช่นกัน ซึ่งยิ่งสนับสนุนว่าพันธุกรรมเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดโรคนี้ขึ้นจริง
นักวิจัยได้ชี้ไปยังยีนหลากหลายตัวที่อาจส่งผลให้เกิดโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลขึ้น แต่ก็เชื่อกันว่าพันธุกรรมที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันอาจมีอยู่หลายตัวด้วยกัน
3.ปัจจัยทางสภาพแวดล้อม
คาดว่าสถานที่ที่คุณอาศัยอยู่และวิธีการใช้ชีวิตของคุณก็ส่งผลต่อโอกาสการเกิดโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลเช่นกัน ทำให้กล่าวได้ว่าปัจจัยทางสภาพแวดล้อมเองก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องจับตามองอย่างมาก
ยกตัวอย่างเช่น ภาวะนี้พบได้มากตามพื้นที่เมืองของประเทศทางตอนเหนือของยุโรปกับอเมริกา
ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมที่อาจเชื่อมโยงกับโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลได้ถูกศึกษามากมายเช่นมลภาวะในอากาศ การใช้ยา และอาหารบางประเภท แต่ยังไม่สามารถยืนยันปัจจัยใดได้เลย อีกทั้งยังสังเกตได้ว่าโรคนี้มักพบในประเทศที่ประชากรส่วนมากมีสุขอนามัยที่ดี ทำให้เชื่อว่าการสัมผัสกับแบคทีเรียอาจเป็นปัจจัยสำคัญของโรคนี้ก็เป็นได้
การวินิจฉัยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล
ในการวินิจฉัยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลนั้น แพทย์จะทำการสอบถามอาการต่าง ๆ ของคุณ ตรวจสอบประวัติสุขภาพ และตรวจร่างกายของคุณก่อนแพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อหาสัญญาณต่าง ๆ เช่นความซีดของผิวหนัง (จากภาวะโลหิตจาง) ความกดเจ็บในช่องท้อง (ที่อาจมาจากการอักเสบ)
การตรวจตัวอย่างอุจจาระจะสามารถหาสัญญาณของการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ เช่นโรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ (gastroenteritis) ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายกับโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล
การตรวจเลือดจะดำเนินการเพื่อตรวจหาภาวะโลหิตจาง และเพื่อมองหาการอักเสบที่มีอยู่ภายในร่างกายของคุณ
การทดสอบเพิ่มเติม
หากแพทย์คาดว่าคุณประสบกับโรคลำไส้อักเสบ ( inflammatory bowel disease) (คำที่ใช้เรียกโรค 2 ประเภทคือ: โรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล กับโรคโครห์น) คุณจำต้องเข้ารับการทดสอบเพิ่มเติมที่โรงพยาบาล โดยอาจจะมีทั้งการเอกซเรย์ (X-ray) การถ่ายภาพคอมพิวเตอร์ (computerized tomography - CT) และการตรวจไส้ตรงและลำไส้ใหญ่อย่างละเอียด
การตรวจร่างกายมีอยู่สองประเภท ดังนี้:
1.การส่องกล้องลำไส้ใหญ่
การวินิจฉัยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลสามารถยืนยันโรคได้ด้วยการตรวจสอบหาการอักเสบและระดับการอักเสบภายในลำไส้ ซึ่งมักดำเนินการด้วยกระบวนการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Sigmoidoscopy) ที่ใช้ sigmoidoscope ที่เป็นท่อเรียวยาวและยืดหยุ่นสอดที่มีกล้องสอดเข้าทวารหนักของคุณ
กระบวนการส่องกล้องลำไส้ใหญ่สามารถดำเนินการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อขนาดเล็กจากลำไส้ได้ด้วย ซึ่งตัวอย่างจะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการณ์ต่อไป (เรียกว่าการเจาะตรวจชิ้นเนื้อ หรือ biopsy)
กระบวนการนี้อาจสร้างความไม่สบายตัวบ้าง โดยแพทย์จะให้ยาระงับประสาทเพื่อช่วยให้คุณผ่อนคลาย โดยยาระงับประสาทจะใช้เวลาออกฤทธิ์ประมาณ 15 นาที และภายหลังการตรวจ คุณจะสามารถกลับบ้านได้ทันที
กระบวนการนี้สามารถตรวจได้เฉพาะส่วนลำไส้ตรงและส่วนล่างของลำไส้ใหญ่ หากคาดว่าแผลเกิดขึ้นในส่วนอื่น ๆ ที่ลึกลงไป แพทย์อาจต้องส่งคุณไปรับการตรวจอีกประเภทแทน (Colonoscopy)
2.การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทั้งหมด
การตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (Colonoscopy) จะมีการใช้ท่อยาวที่มีกล้องติดอยู่ที่ปลายที่เรียกว่า colonoscope สอดเข้าไปในลำไส้ใหญ่ ซึ่งสามารถทำการเก็บภาพในลำไส้ได้ทั้งหมด และยังสามารถดำเนินการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อออกมาได้อีกด้วย
ก่อนเข้ารับการตรวจส่องกล้องประเภทนี้ ลำไส้ของคุณจะถูกทำความสะอาดทั้งหมดด้วยการใช้ยาระบายชนิดแรง และเนื่องจากว่ากระบวนการนี้จะสร้างความไม่สบายตัวแก่คุณ แพทย์จะจัดจ่ายยาระงับประสาทและยาแก้ปวดเพื่อช่วยให้คุณผ่อนคลายและเจ็บปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ กระบวนการนี้ใช้เวลาประมารครึ่งชั่วโมง และคุณสามารถกลับบ้านได้ภายหลังกระบวนการตรวจเสร็จสิ้น
การรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล
วิธีรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะ และความถี่ที่คุณประสบกับช่วงกำเริบ โดยเป้าหมายมีเพื่อ:
- ลดช่วงการเกิดอาการ
- คงสภาพช่วงโรคสงบ (remission)
การรักษามักมีการใช้ยามากมายหลายประเภท และยังมีตัวเลือกการผ่าตัดรักษาอีกด้วย
ทีมที่ดูแลการรักษาจะประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพมากมายหลายท่าน เช่น:
- แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ: เช่นผู้เชี่ยวชาญหรือศัลยแพทย์ด้านระบบทางเดินอาหาร
- แพทย์ผู้ดูแล
- พยาบาลผู้เชี่ยวชาญ
รายละเอียดการรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลมีดังนี้
- Aminosalicylates
- Aminosalicylates (5-ASA) เช่นยา sulphasalazine หรือ mesalazine คือยาที่ช่วยลดการอักเสบที่มักเป็นการรักษาขั้นตอนแรกสำหรับผู้ที่มีอาการจากโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลแบบไม่รุนแรงถึงปานกลาง
5-ASA สามารถใช้ได้ทั้ง:
- ยาทาน (ยาเม็ดชนิดกลืน หรือแคปซูล)
- ยาเหน็บ (ยาแคปซูลสำหรับสอดเข้าทวารหนัก)
- ยาสวนทวาร (ยาเหลวที่ฉีดเข้าไปในลำไส้ใหญ่)
ชนิดของ 5-ASA ที่ใช้จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและการลุกลามของภาวะ โดยยาเหล่านี้อาจมักไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง แต่ก็มีผู้ใช้บางรายอาจประสบกับอาการต่อไปนี้:
คอร์ติโคสเตียรอยด์
ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) อย่าง prednisolone เป็นยาที่แรงกว่ากลุ่มแรกที่ช่วยลดการอักเสบลง ยากลุ่มนี้สามารถใช้แทนหรือใช้ร่วมกับ 5-ASA ในการรักษาอาการกำเริบได้ในกรณีที่ 5-ASA เพียงตัวเดียวไม่ได้ผล
เช่นเดียวกับ 5-ASA สเตียรอยด์เองก็เป็นได้ทั้งยาทาน ยาเหน็บ หรือยาสวนทวาร
อย่างไรก็ตามยาชนิดนี้ก็มีข้อแตกต่างจาก 5-ASA คือไม่ควรใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นการรักษาระยะยาว (หรือเพื่อคงสภาพช่วงอาการสงบ) เนื่องจากยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงร้ายแรงมากมาย เช่นทำให้กระดูกพรุน (osteoporosis) และต้อหิน (cataracts)
ผลข้างเคียงจากการใช้สเตียรอยด์ในระยะสั้นมีดังนี้:
- สิวขึ้น
- น้ำหนักเพิ่ม
- ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น
- อารมณ์เปลี่ยนแปลง (เช่น รู้สึกฉุนเฉียวบ่อยขึ้น)
- นอนไม่หลับ
ยากดภูมิคุ้มกัน
ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressants) อย่าง tacrolimus และ azathioprine เป็นยาที่ใช้ลดกิจกรรมของระบบภูมิคุ้มกันลง ยากลุ่มนี้เป็นได้ทั้งยาเม็ดสำหรับรักษาช่วงกำเริบที่มีความรุนแรงต่ำถึงปานกลาง หรือใช้คงสภาพอาการสงบหากอาการของคุณไม่ตอบสนองต่อยาตัวอื่น
ยากดภูมิที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลมีประสิทธิภาพอย่างมาก แต่ต้องใช้เวลาค่อนข้างนานกว่ายาจะแสดงผลออกมา (มักเริ่มเห็นผลในช่วงสองถึงสามเดือน)
ยากลุ่มนี้ทำให้คุณอ่อนไหวต่อการติดเชื้อมากขึ้น ดังนั้นควรรีบแจ้งแพทย์ทันทีที่เห็นสัญญาณของการติดเชื้อต่าง ๆ เช่นมีไข้สูง เป็นต้น
ยากดภูมิคุ้มกันยังสามารถลดกระบวนการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงลงอีกด้วย ซึ่งจะทำให้คุณเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจาง ดังนั้นคุณจึงต้องเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อเฝ้าระวังระดับเซลล์เลือดของคุณและปัญหาต่าง ๆ บ่อยขึ้น
การรักษาระยะกำเริบรุนแรง
ในขณะที่อาการกำเริบชนิดไม่รุนแรงหรือปานกลางจากโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลสามารถรักษาได้เองที่บ้าน แต่หากเป็นอาการกำเริบที่รุนแรงจำต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพื่อควบคุมความเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ (dehydration) และภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่ร้ายแรงมากกว่า เช่นลำไส้ฉีกขาด เป็นต้น
เมื่ออยู่ในโรงพยาบาล คุณจะได้รับยาและของเหลวเข้าเส้นเลือด (fluids intravenously) ยาที่คุณได้รับมักจะเป็นยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกันที่ชื่อว่า infliximab หรือ ciclosporin
Ciclosporin
ยา Ciclosporin ออกฤทธิ์เหมือนกับยากดภูมิคุ้มกันคือการลดกิจกรรมของระบบภูมิคุ้มกันลง อย่างไรก็ตาม ยาตัวนี้นับว่าแรงกว่ายาที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการจากโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลชนิดไม่รุนแรงมาก และเริ่มออกฤทธิ์เร็วกว่า (มักจะภายในไม่กี่วัน)
Ciclosporin จะให้ด้วยการค่อย ๆ หยดเข้าไปในแขนของคุณ และการรักษาจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณเจ็ดวัน
ผลข้างเคียงจากการหยดยา Ciclosporin มีดังนี้:
- ตัวสั่น
- ผมและขนงอก
- เหน็ดเหนื่อยรุนแรง
- เหงือกบวม
- คลื่นไส้
- ท้องร่วง
ยา Ciclosporin ยังทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงได้เช่นความดันโลหิตสูง และลดการทำงานของตับและไตลง ซึ่งแพทย์จะคอยสอดส่องอาการของคุณตลอดการใช้ยานี้เพื่อเฝ้าระวังสัญญาณอันตรายที่กล่าวไป
การใช้ยาทางชีวภาพ
Infliximab, adalimumab, golimumab และ vedolizumab คือยาที่ใช้ลดการอักเสบของลำไส้ด้วยการจัดการกับโปรตีนที่ระบบภูมิคุ้มกันใช้เพื่อกระตุ้นการอักเสบ ยาเหล่านี้จะเข้าไปยับยั้งตัวรับสัญญาณและลดการอักเสบลง
ยาข้างต้นอาจใช้กับผู้ใหญ่ที่มีอาการจากโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลแบบปานกลางถึงรุนแรงในกรณีที่ตัวเลือกรักษาอื่น ๆ ใช้ไม่ได้ผลหรือไม่เหมาะสม โดยยา Infliximab อาจจะใช้กับเด็กหรือผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลที่มีอายุน้อย (ประมาณ 6-17 ปี) ก็ได้
การรักษาจะดำเนินการไปเป็นเวลา 12 เดือนนอกจากว่ายาจะออกฤทธิ์ได้ไม่ตรงตามความคาดหวัง
Infliximab
Infliximab เป็นยาที่ให้ผ่านเส้นเลือดเป็นเวลาหนึ่งถึงสองชั่วโมง คุณอาจจะได้รับการหยดยาอีกครั้งหลังจากนั้นสองสัปดาห์ และอีกครั้งหลังจากผ่านไปหกสัปดาห์ หากคุณยังคงต้องได้รับการรักษาอยู่ ยานี้จะสามารถใช้ได้ต่อไปอีกทุก ๆ แปดสัปดาห์
ผลข้างเคียงจาก Infliximab มีดังนี้:
- ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น: ควรแจ้งแพทย์ผู้ดูแลหากคุณมีอาการที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อต่าง ๆ เช่นไอ มีไข้สูง หรือเจ็บคอ
- เวียนศีรษะบ้านหมุน (vertigo)
- ภูมิแพ้: มีอาการหายใจลำบาก ปวดศีรษะ และลมพิษ (urticaria)
กรณีส่วนมาก ปฏิกิริยาต่อยาตัวนี้จะเกิดขึ้นในช่วงสองชั่วโมงแรกหลังสิ้นสุดการหยดยา อย่างไรก็ตามผู้ที่ได้รับยาบางรายอาจประสบกับปฏิกิริยาข้างต้นล่าช้าออกไปสองถึงสามวัน หรือแม้แต่หลายสัปดาห์ก็ได้ หากคุณเริ่มประสบกับอาการข้างต้นหลังได้รับยา Infliximab ให้ไปพบแพทย์เพื่อขอความช่วยเหลือในทันที
คุณจะถูกเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิดหลังการหยดยาครั้งแรก และหากจำเป็นอาจมีการใช้ยาต้านภูมิแพ้ชนิดแรงอย่าง epinephrine กับคุณเสียก่อน
ยา Infliximab เป็นยาที่ไม่เหมาะกับผู้ที่เคยเป็นวัณโรค (tuberculosis - TB) หรือโรคตับอักเสบ B (hepatitis B) และจำต้องใช้กับผู้ป่วย HIV หรือโรคตับอักเสบ C (hepatitis C) อย่างระมัดระวัง เนื่องจากว่ามีหลายกรณีที่พบว่ายา Infliximab เข้าไปกระตุ้นให้การติดเชื้อที่จำศีลอยู่กลับออกมา อีกทั้งยา Infliximab ยังไม่เหมาะกับผู้ที่มีประวัติโรคหัวใจ หรือโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis)
การผ่าตัด
หากคุณอาการกำเริบจากโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลบ่อยครั้งและคุณภาพชีวิตของคุณเริ่มได้รับผลกระทบมากขึ้น หรือหากคุณมีอาการกำเริบรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา แพทย์อาจนำการผ่าตัดเข้ามาพิจารณาเป็นทางเลือกรักษา
การผ่าตัดรักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลจะเป็นการผ่าตัดลำไส้ใหญ่ออก (colectomy) ระหว่างกระบวนการนี้ ลำไส้เล็กของคุณจะถูกใช้ขับของเสียออกจากร่างกายแทนที่จะเป็นลำไส้ใหญ่ ซึ่งการทำเช่นนี้จะต้องดำเนินการ:
ไอลีออสโตมี (ileostomy) : ที่ซึ่งลำไส้เล็กจะถูกแบ่งออกมาทางรูบนหน้าท้อง และจะมีถุงชนิดพิเศษไว้กักเก็บของเสียที่ออกมา
ถุง ileo-anal (หรืออีกชื่อคือ J-pouch): ที่ซึ่งส่วนของลำไส้เล็กถูกใช้สร้างถุงภายในร่างกายที่เชื่อมไปยังทวารหนัก ทำให้คุณสามารถถ่ายหนักได้ตามปรกติ
ถุง ileo-anal ถูกดำเนินการกันมากขึ้เพราะว่าเป็นกระบวนการที่ไม่ต้องใช้ถุงเก็บของเสียภายนอก
เมื่อลำไส้ถูกนำออกไปแล้ว โรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลจะไม่เกิดขึ้นอีก อย่างไรก็ตามคุณต้องพิจารณาความเสี่ยงจากการผ่าตัดและผลกระทบที่จะเกิดกับคุณไปตลอดชีวิตหลังกระบวนการไอลีออสโตมี หรือถุง ileo-anal
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล
หากคุณเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล คุณอาจจะประสบกับปัญหาต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ดังนี้
1.ภาวะกระดูกพรุน
ผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลจะมีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ซึ่งเป็นภาวะที่กระดูกอ่อนแอลงและเปราะหักง่ายขึ้น
ภาวะนี้ไม่ได้เกิดจากโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลโดยตรง แต่จะเกิดเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นเวลานาน อีกทั้งยังอาจเกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนอาหารการกินของผู้ป่วย เช่นจากการเลี่ยงทานอาหารจำพวกนมที่กระตุ้นให้เกิดอาการ
หากคุณคาดว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน จะต้องมีการสอดส่องสุขภาพกระดูกของคุณเป็นประจำ โดยคุณอาจจะถูกแนะนำให้ใช้ยาหรืออาหารเสริมวิตามิน D กับแคลเซียมเพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงแก่กระดูกของคุณ
การเจริญเติบโตและพัฒนาการไม่ดี
โรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล และการรักษาโรคนี้บางวิธีส่งผลต่อการเจริญเติบโตและทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์ช้า
เด็กและผู้ที่อายุน้อยที่ป่วยเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลควรจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพวัดความสูงและน้ำหนักเป็นประจำ เพื่อตรวจสอบการเติบโตว่าเป็นไปตามมาตรฐานอายุหรือไม่
การตรวจสอบนี้ควรดำเนินการทุก ๆ 3-12 เดือน ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย การรักษาที่พวกเขาได้รับ และความรุนแรงของอาการ
หากมีปัญหาเกี่ยวกับการเติบโตหรือพัฒนาการของลูกคุณ พวกเขาอาจถูกส่งตัวไปพบกับกุมารแพทย์ต่อไป
2.ภาวะท่อน้ำดีอักเสบแข็งปฐมภูมิ
ภาวะท่อน้ำดีอักเสบแข็งปฐมภูมิ (Primary sclerosing cholangitis - PSC) คือภาวะที่ท่อน้ำดี (bile ducts) เกิดการอักเสบและเสียหายแบบลุกลามเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา ภาวะนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนหายากของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล โดยท่อน้ำดีก็คือกลุ่มท่อขนาดเล็กที่ใช้ลำเลียงน้ำดีออกจากตับไปสู่ระบบย่อยอาหาร
PSC มักจะไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ จนกว่าจะเข้าสู่ระยะลุกลามของโรค ซึ่งจะเริ่มแสดงอาการดังนี้:
- เหน็ดเหนื่อยรุนแรง
- ท้องร่วง
- คันผิวหนัง
- น้ำหนักลด
- หนาวสั่น
- มีไข้สูง
- ผิวหนังและตาขาวออกสีเหลือง (ดีซ่าน)
ขณะนี้ยังไม่มีวิธีรักษา PSC มีเพียงการใช้ยาบรรเทาอาการบางอย่างลงเท่านั้น เช่นอาการคันผิวหนัง เป็นต้น ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาจต้องมีการผ่าตัดปลูกถ่ายตับช่วยเหลือเกิดขึ้น
3.ภาวะลำไส้โป่งพอง
ภาวะลำไส้โป่งพอง (Toxic megacolon) เป็นภาวะแทรกซ้อนหายากและร้ายแรงที่เกิดจากโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลแบบรุนแรง ที่ซึ่งการอักเสบของลำไส้ใหญ่ทำให้เกิดแก๊สกักขังอยู่ภายในจนทำให้ลำไส้ขยายใหญ่ขึ้น
ภาวะนี้เป็นภาวะอันตรายที่อาจทำให้ลำไส้ใหญ่ฉีกขาด และทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในเลือดขึ้น (septicaemia)
อาการของภาวะลำไส้โป่งพองมีดังนี้:
- ปวดท้อง
- มีไข้สูง
- หัวใจเต้นถี่
ภาวะลำไส้โป่งพองสามารถรักษาได้ด้วยการหยดของเหลว ยาปฏิชีวนะ และยาสเตียรอยด์เข้าเส้นเลือด แต่หากยาไม่ทำให้ภาวะนี้ดีขึ้น อาจต้องดำเนินการผ่าตัดกำจัดลำไส้ใหญ่แทน
การรักษาอาการจากโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลก่อนที่จะเป็นรุนแรงสามารถป้องกันการเกิดภาวะลำไส้โป่งพองได้
4.มะเร็งลำไส้ใหญ่
ผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลจะมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงต่อโรคนี้จะเพิ่มสูงขึ้นหากคุณมีอาการรุนแรงหรือเกิดกับส่วนมากของลำไส้ ยิ่งคุณเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลนานเท่าใด ความเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น
ผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลจะไม่สังเกตว่าตนเองมีมะเร็งลำไส้เพราะอาการจากระยะเริ่มต้นของโรคนี้จะคล้ายกันอย่างมาก ดังนี้:
- มีเลือดปนอุจจาระ
- ท้องร่วง
- ปวดท้อง
ดังนั้นคุณต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองหาสัญญาณของมะเร็งภายหลังเริ่มมีอาการครั้งแรก 10 ปี
การตรวจสอบมักจะดำเนินการด้วยการสอดกล้องลำไส้ใหญ่ที่เป็นการใช้ท่อยาวที่มีกล้องอยู่ที่ปลาย (colonoscope) สอดเข้าทวารหนัก ความถี่ในการดำเนินการ colonoscopy จะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่คุณป่วยเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล และอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ อย่างความรุนแรงและประวัติโรคมะเร็งลำไส้ในครอบครัวคุณอีกด้วย ซึ่งอาจทำให้เวลาที่ต้องเข้ารับการตรวจผันแปรออกไประหว่างทุก ๆ 1 ถึง 5 ปี
การลดความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นสามารถทำได้ด้วย:
- การทานอาหารสมดุลและดีต่อสุขภาพที่ประกอบด้วยผักและผลไม้สด
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- คงสภาพน้ำหนักที่ดี
- เลี่ยงการดื่มสุราและสูบบุหรี่
- การใช้ยา aminosalicylates จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นกัน
การใช้ชีวิตร่วมกับโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล
มีหลายสิ่งที่คุณสามารถปฏิบัติเพื่อควบคุมอาการของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลและลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้
คำแนะนำด้านอาหารการกิน
แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจะไม่คาดว่าอาหารมีบทบาทต่อการก่อโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล แต่การปรับเปลี่ยนอาหารการกินก็สามารถควบคุมภาวะนี้ได้จริง ยกตัวอย่างเช่น:
- การทานอาหารมื้อเล็ก: การทานอาหารมื้อเล็ก 5 หรือ 6 มื้อต่อวันแทน 3 มื้อใหญ่ต่อวัน
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ : เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้เสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำจากอาหารท้องร่วง พยายามเลี่ยงแอลกอฮอล์และคาเฟอีนเพราะจะทำให้อาการท้องร่วงทรุดลง ส่วนน้ำอัดลมจะทำให้ท้องอืด
- ทานอาหารเสริม: ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารเสียก่อน
- การจดบันทึกการรับประทานอาหาร การจดบันทึกการรับประทานอาหารจะช่วยให้คุณทราบว่าตนเองสามารถรับอาหารประเภทใดได้ และอาหารใดที่ทำให้อาการของคุณทรุดลงบ้าง ซึ่งจะทำให้คุณสามารถตัดอาหารที่ก่อให้เกิดอาการออกได้อย่างง่ายดาย
อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรเลี่ยงอาหารทั้งหมู่ไปโดยปริยายโดยไม่ปรึกษาทีมรักษาของคุณเสียก่อน เพราะอาจทำให้คุณไม่ได้รับสารอาหารอย่างวิตามินและเกลือแร่ที่สำคัญต่อร่างกายบางประเภท
หากคุณต้องการลองอาหารใหม่ ๆ พยายามลองหนึ่งประเภทต่อวันเพื่อให้สามารถสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่ร่างกายของคุณแสดงออกมาได้ง่ายขึ้น
อาหารกากใยต่ำ
การทานอาหารกากใยอาหารต่ำชั่วคราวจะช่วยให้อาการกำเริบจากโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลดีขึ้น โดยอาหารเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อลดปริมาณและความถี่ของอุจจาระลง
ยกตัวอย่างอาหารกากใยต่ำดังนี้:
- ขนมปังเนื้อขาว
- ธัญญาหารที่ไม่ใช้ธัญพืชรวม เช่นที่ทำจากข้าวโพด
- ข้าวขาว
- ผักสุกที่ปอกเปลือก ใย และไม่ใช่เมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ
- ไข่
- เนื้อปลา
หากคุณจะลองทานอาหารกากใยอาหารต่ำ ควรปรึกษากับทีมรักษาของคุณเสียก่อน
การบรรเทาความเครียด
แม้ว่าความเครียดจะไม่ได้ก่อให้เกิดโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลดีขึ้น แต่การจัดการกับความเครียดก็สามารถช่วยลดความถี่การเกิดอาการจากโรคนี้ได้ โดยคุณสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำลดความเครียดต่อไปนี้ได้:
- การออกกำลังกาย: นอกจากจะช่วยลดความเครียดแล้วยังทำให้คุณอารมณ์ดีขึ้นอีกด้วย โดยทีมรักษาจะสามารถแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับคุณได้
- เทคนิคผ่อนคลาย: เช่นบริหารการหายใจ การทำสมาธิ และโยคะ
- การสื่อสาร: การใช้ชีวิตร่วมกับโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลเป็นเรื่องน่าหดหู่สำหรับบางคน ดังนั้นการปลดปล่อยด้วยการสื่อสารความรู้สึกกับผู้อื่นสามารถช่วยได้จริง
ผลกระทบทางอารมณ์
การอาศัยร่วมกับโรคระยะยาวที่คาดเดาไม่ได้นั้นเป็นเรื่องที่ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกอย่างมาก ในบางกรณี ผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด
สัญญาณของโรคซึมเศร้าคือรู้สึกตกต่ำ หมดหวัง และไม่มีความพอใจในกิจกรรมที่เคยชื่นชอบ หากคุณรู้สึกว่าตนเองเข้าสู่ความซึมเศร้าดังที่กล่าวไป ควรไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาทันที
คุณสามารถพบปะกับผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลท่านอื่นทั้งแบบตัวต่อตัวหรือทางออนไลน์เพื่อสื่อสารและระบายความอัดอั้นได้
การมีบุตร
โรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลไม่ใช่โรคที่ส่งผลต่อความสามารถในการมีบุตร อย่างไรก็ตามความเสี่ยงต่อการมีบุตรยากนั้นนับว่าเป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดต่อถุง ileo-anal
ความเสี่ยงนี้จะลดน้อยลงหากคุณเข้ารับการผ่าตัดแบ่งลำไส้เล็กออกมาทางหน้าท้อง (ไอลีออสโตมี)
การตั้งครรภ์
ผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลส่วนมากจะสามารถตั้งครรภ์ได้ และบุตรที่เกิดมาจะมีสุขภาพที่ดีสมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม หากคุณวางแผนหรือกำลังตั้งครรภ์ ควรทำการปรึกษากับทีมรักษาเสียก่อน เพราะหากคุณประสบกับช่วงอาการกำเริบระหว่างการตั้งครรภ์ คุณจะมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด หรือทำให้บุตรคลอดด้วยน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ได้
ด้วยเหตุนี้ แพทย์จึงแนะนำให้คุณควบคุมโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลของคุณให้ดีก่อนตั้งครรภ์
ยาที่ใช้กับโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผลส่วนมากสามารถใช้ระหว่างที่ตั้งครรภ์ได้ รวมไปถึงคอร์ติโคสเตียรอยด์ 5-ASA และยากดภูมิส่วนมาก
อย่างไรก็ตามก็มียาบางชนิด (เช่นยากดภูมิบางตัว) ที่อาจต้องเลี่ยงไปก่อนเนื่องจากทำให้ทารกมีความเสี่ยงต่อความผิดปรกติหลังคลอด
ในบางกรณีแพทย์อาจนำยาที่ไม่แนะนำให้ใช้ระหว่างตั้งครรภ์กับคุณเนื่องจากว่าพวกเขาคาดว่าความเสี่ยงต่อการเกิดอาการกำเริบนั้นมีมากกว่าความเสี่ยงที่ครรภ์จะได้รับผลกระทบจากยา ซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของแพทย์และตัวคุณเอง