กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทพญ.สิริพัชร ชำนาญเวช
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทพญ.สิริพัชร ชำนาญเวช

เมื่อเหงือกบวมเป็นปัญหา ควรรักษาอย่างไร?

เหงือกบวม ปัญหาช่องปากที่สร้างความลำบากให้กับคุณ อ่านวิธีรักษาและสาเหตุของอาการเหงือบวม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น
เผยแพร่ครั้งแรก 21 มิ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 25 ม.ค. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 1 ธ.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
เมื่อเหงือกบวมเป็นปัญหา ควรรักษาอย่างไร?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • เมื่อเกิดการระคายเคืองต่อเหงือก หรือเหงือกอักเสบ จะส่งผลให้เหงือกบวม มีเลือดออกตามไรฟัน ฟันผุ และหากปล่อยทิ้งไว้ อาจลุกลามจนกลายเป็นโรคเหงือกและฟันร้ายแรง เช่น เหงือกร่น ฟันโยก ฟันหลุด
  • สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากไม่รักษาความสะอาดช่องปากจนเกิดการสะสมของคราบสกปรก และแบคทีเรีย เมื่อเวลาผ่านไปก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมาในที่สุด
  • หากคุณมีอาการเหงือกบวมผิดปกติ เหงือกบวมมากจนปิดคลุมฟัน หรือมีเลือดออกขณะแปรงฟันควรไปพบทันตแพทย์
  • วิธีป้องกันคือ ตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำทุกๆ 6 เดือน ขูดหินปูน แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟัน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ และน้ำอัดลม
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพฟัน

เหงือกบวมแดง อักเสบ เป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่ทรมานไม่น้อย เพราะเหงือกเป็นส่วนที่อยู่ติดกับรากฟัน เมื่อเคี้ยวอาหารจึงทำให้รู้สึกปวดและเสียวฟันไปด้วย บางคนมีเลือดออกตามไรฟัน หากเป็นหนัก อาจเป็นหนอง หรือเหงือกอาจบวมโตจนคลุมฟันบริเวณนั้นไปเลยก็ได้

ปัญหาเหงือกบวมไม่เพียงทำให้รับประทานอาหารก็ไม่อร่อยเท่านั้น แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา ยังทำให้เกิดโรคปริทันต์ (Periodontitis) ที่อาจรุนแรงถึงขึ้นต้องสูญเสียฟันไป 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจสุขภาพฟันวันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 0 บาท ลดสูงสุด 100%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

หากคุณเริ่มสังเกตว่าตัวเองมีอาการเหงือกบวมจึงไม่ควรนิ่งนอนใจและเริ่มหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปากของตัวเองได้แล้ว

สาเหตุของเหงือกบวม

เหงือกบวมส่วนใหญ่เกิดจากการไม่รักษาความสะอาดของช่องปากและฟัน จนทำให้เกิดการสะสมของคราบสกปรกและแบคทีเรีย (คราบพลัค) คราบเหล่านี้จะก่อตัวอย่างรวดเร็วและจับตัวจนกลายเป็นหินปูน หรือทางวงการทันตกรรมเรียกอีกอย่างว่า "หินน้ำลาย" 

เมื่อเกิดหินปูนจะทำให้ความสะอาดได้ยากกว่าเดิม ต้องไปให้ทันตแพทย์ขูดให้เท่านั้น

อีกทั้งเมื่อนานไปจะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเหงือกและเหงือกอักเสบ ส่งผลให้เหงือกบวม มีเลือดออกตามไรฟัน และอาจมีฟันผุด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การอักเสบอาจลุกลามจนกลายเป็นโรคเหงือกและฟันที่รุนแรง ทำให้เหงือกร่น ฟันโยก และฟันหลุดได้ในที่สุด

อาการเหงือกบวมยังอาจเกิดได้จากอีกหลายสาเหตุ เช่น

  • การติดเชื้อราและไวรัส หากมีเชื้อราเจริญเติบโตมากเกินไปในช่องปาก หรือมีการติดเชื้อไวรัส เช่น เริม ก็อาจเป็นสาเหตุให้เหงือกบวมได้
  • การตั้งครรภ์ ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งครรภ์จะส่งผลให้มีเลือดไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงบริเวณเหงือกและฟันมากขึ้น นอกจากนี้ภูมิต้านทานร่างกายที่ลดลงในช่วงนี้ก็อาจเพิ่มโอกาสให้เกิดการติดเชื้อที่เหงือก เป็นสาเหตุให้เหงือกบวมอักเสบได้
  • ขาดวิตามินซี การขาดวิตามินซีเป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในเด็ก ภาวะนี้สามารถทำให้เกิดโรคลักปิดลักเปิด และมีเลือดออกตามไรฟัน นานเข้าอาจทำให้เหงือกบวมและเป็นโรคเหงือกตามมาได้
  • แปรงฟันแรงเกินไป หลายๆ คนมักแปรงฟันอย่างรุนแรงจนเหงือกบาดเจ็บ ซึ่งทำให้มีอาการเหงือกบวมได้เช่นกัน
  • โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว จะทำให้เหงือกไวต่อการอักเสบเมื่อเจอคราบพลัค แม้ว่าจะมีคราบพลัคสะสมเพียงเล็กน้อยก็ตาม
  • ยาบางชนิด เช่น ยารักษาภาวะความดันโลหิตสูงกลุ่ม Calcium channel blocker ยากันชัก ยากดภูมิคุ้มกัน บางชนิด จะทำให้เหงือกบวมโตมากยิ่งขึ้น หากพบว่า เหงือกบวมโต ควรปรึกษาแพทย์และทันตแพทย์เพื่อทำการปรับยาให้เหมาะสม
  • สาเหตุอื่นๆ เช่น เกิดความระคายเคืองจากยาสีฟัน หรือน้ำยาบ้วนปากที่ใช้ มีเศษอาหารติดอยู่ในซอกระหว่างเหงือกและฟัน สวมใส่ฟันปลอม หรืออุปกรณ์จัดฟัน หรือได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางอย่าง 
  • การสูบบุหรี่ ก่อให้เกิดการระคายเคืองของเหงือก ส่งผลให้เหงือกอักเสบและเป็นโรคปริทันต์อย่างมาก

นอกจากนี้หากมีเหงือกบวมอักเสบ เป็นก้อน สีผิดปกติ กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นมีขนาดโตขึ้น ผิดปกติ อาจเกิดจากโรคอื่นๆ เช่น ถุงน้ำ เนื้องอก หรือมะเร็ง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบทันตแพทย์

เหงือกบวมเป็นอาการที่พบได้บ่อยๆ และมักไม่รุนแรง แต่คุณอาจจำเป็นต้องไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง หากมีอาการต่อไปนี้

  • เหงือกบวมเรื้อรังนานกว่า 2 สัปดาห์
  • มีอาการเจ็บปวดจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เคี้ยวอาหารไม่ได้ รู้สึกปวดร้าวที่ฟันมาถึงศีรษะ หรือปวดตลอดเวลาจนนอนไม่ได้
  • เหงือกบวมมาก และขยายตัวจนปิดคลุมฟันบริเวณนั้น 
  • มีเลือดออกมากจากการแปรงฟัน

การรักษาเหงือกบวม

เมื่อมีอาการเหงือกบวม หรือเจ็บเหงือก ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและทำการรักษา เบื้องต้นควรบรรเทาอาการด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูแลช่องปากและฟัน ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • แปรงฟันให้สะอาดและใช้ไหมขัดฟันเพื่อทำความสะอาดซอกฟันด้วย
  • ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เพื่อเพิ่มการผลิตน้ำลาย ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งแบคทีเรียในช่องปากได้
  • หากเหงือกบวมอักเสบและปวดมาก อาจรับประทานยาแก้ปวด แล้วรีบไปพบทันตแพทย์

หากเหงือกบวมเกิดจากคราบหินปูนเกาะตัวหนา คุณต้องเข้ารับการขูดหินปูนและเกลารากฟันเพื่อไม่ให้เกิดเหงือกอักเสบขึ้นอีก ส่วนในกรณีที่เหงือกบวมอย่างรุนแรงและมีเหงือกร่น แพทย์อาจต้องผ่าตัดเหงือกบริเวณนั้น และปลูกถ่ายเนื้อเยื่อเหงือกใหม่ให้

การป้องกันเหงือกบวม

เพื่อป้องกันอาการเหงือกบวมเกิดขึ้นซ้ำ คุณควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจทำให้เหงือกบวม ระคายเคือง หรืออักเสบ โดยทำได้ดังนี้

  • ดูแลสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ แปรงฟันให้สะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดตามซอกฟัน เพื่อไม่ให้มีเศษอาหารและคราบแบคทีเรียตกค้าง
  • หลีกเลี่ยงการใช้แปรงสีฟันที่แข็ง หรือน้ำยาบ้วนปาก ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อช่องปาก
  • หมั่นไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันทุกๆ 6 เดือน
  • เลี่ยงการรับประทานอาหารที่เหนียวหรือติดฟัน
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบถ้วนตามหลักโภชนาการ โดยเฉพาะผักผลไม้ เพื่อป้องกันการขาดวิตามินซี และเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย ป้องกันการติดเชื้อในช่องปาก
  • งดการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และน้ำอัดลม หรืออาหารที่มีน้ำตาลสูง

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพฟัน จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Zhang J, et al., Newly Diagnosed Primary Gum Lymphoma on FDG PET/CT (https://europepmc.org/article/med/29688953), 1 December 2020.
Yixin Zhang, et al., Effect of tobacco on periodontal disease and oral cancer (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6662776/), 1 December 2020.
Micheal G Newman, et al., Clinical Periodontology (11ed), Saunder : Missouri, 2012.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
5 อาหารที่น่าตกใจสำหรับการมีสุขภาพฟันที่ดี
5 อาหารที่น่าตกใจสำหรับการมีสุขภาพฟันที่ดี

อาหารที่สามารส่งเสริมสุขภาพของช่องปากได้อย่างน่ามหัศจรรย์

อ่านเพิ่ม
โรคเหงือกอักเสบ (Gingivitis) คืออะไร ?
โรคเหงือกอักเสบ (Gingivitis) คืออะไร ?

เรียนรู้ว่าโรคเหงือกอักเสบคืออะไร และจะรักษาหรือป้องกันได้อย่างไร

อ่านเพิ่ม