หากคุณรู้สึกระคายเคืองที่เหงือก เหงือกแดงและบวม นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคเหงือกอักเสบ (Gingivitis) ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับเหงือกที่พบบ่อยที่สุด แม้อาการของเหงือกอักเสบจะไม่รุนแรงนัก แต่ก็ไม่ควรละเลย เพราะเมื่อนานไปอาจยิ่งมีอาการรุนแรงขึ้น จนทำให้สูญเสียฟันได้
โรคเหงือกอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากละเลยการดูแลรักษาความสะอาดของช่องปาก ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอาจกลายเป็นโรคปริทันต์ ซึ่งเป็นการติดเชื้ออย่างรุนแรงของเหงือก ส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อและกระดูกบริเวณรอบๆ ฟัน ทำให้ฟันโยกและหลุดไปในที่สุด
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
อาการของโรคเหงือกอักเสบ
โดยปกติ เหงือกที่มีสุขภาพดีจะมีสีชมพูอ่อนๆ มีความแข็งแรง และขอบเงือกเรียบติดกับฟัน แต่หากคุณสังเกตถึงอาการผิดปกติของเหงือกและฟันดังต่อไปนี้ ก็เป็นไปได้ว่าคุณกำลังมีอาการเหงือกอักเสบ
- เหงือกบวม
- เหงือกมีแดงออกดำคล้ำ
- เมื่อสัมผัสเหงือกดูรู้สึกเจ็บ
- เหงือกร่น
- มีเลือกออกตามไรฟันบ่อยๆ หลังจากแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน
- มีกลิ่นปาก
- ฟันโยก
- มีอาการเสียวฟัน
สาเหตุของโรคเหงือกอักเสบ
เหงือกอักเสบมักเกิดจากการขาดสุขอนามัยในการดูแลช่องปากและฟัน ทำให้คราบสกปรกและแบคทีเรียก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นคราบหินปูนตามซอกเหงือก ซึ่งหินปูนเหล่านี้เป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียจำนวนมาก และเมื่อนานไปก็สร้างความระคายเคืองให้เนื้อเยื่อเหงือกบริเวณรอบๆ ฟัน ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นในที่สุด นำมาซึ่งอาการเหงือกบวม และมีเลือดออกตามไรฟันหลังจากแปรงหรือใช้ไหมขัดฟัน
นอกจากนี้ ปัจจัยบางอย่างก็อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเหงือกอักเสบได้มากขึ้น เช่น
- การแปรงฟันอย่างไม่ถูกต้อง หรือแปรงไม่บ่อยเท่าที่ควร
- การมีฟันคุด การจัดฟัน หรือการใส่อุปกรณ์ต่างๆ ในช่องปาก อาจเอื้อให้เกิดคราบแบคทีเรียสะสมมากขึ้น
- การมีฟันเกหรือฟันซ้อน
- การใช้ยาบางอย่างที่ทำให้เกิดภาวะน้ำลายแห้ง (Xerostomia) หรือทำให้เหงือกบวมโตขึ้น
- การสูบบุหรี่
- โรคเบาหวานการขาดสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินซี เป็นต้น
- การตั้งครรภ์และการใช้ยาคุมกำเนิด
- ภาวะที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ และการเข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง
- การติดเชื้อไวรัสและการติดเชื้อรา
- ปัจจัยทางพันธุกรรม
การวินิจฉัยโรคเหงือกอักเสบ
หากสังเกตถึงอาการผิดปกติในช่องปากและฟันดังข้างต้น คุณควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา โดยเบื้องต้นทันตแพทย์จะสอบถามถึงอาการและประวัติการรักษาโรคต่างๆ ของผู้ป่วย รวมถึงโรคภายในช่องปาก จากนั้นจะตรวจดูฟัน เหงือก ลิ้น และภายในช่องปากเพื่อดูคราบหินปูนหรือหาลักษณะของโรคเหงือกอักเสบ และตรวจเหงือก ซึ่งจะทำโดยการใช้เครื่องมือวัดความลึกของร่องเหงือก รอบๆ ตัวฟัน ปกติจะมีค่าอยู่ที่ 1 - 3 มิลลิเมตร ถ้ามากกว่า 3 มิลลิเมตร เเสดงว่าเริ่มมีโรคเหงือกอักเสบ นอกจากนี้อาจมีการถ่ายภาพรังสีเพื่อดูกระดูกบริเวณรอบตัวฟันว่าปกติดีหรือไม่ รวมทั้งตรวจหาสาเหตุของอาการเหงือกอักเสบด้วยวิธีอื่นๆ หรือในกรณีที่อาการรุนแรง อาจต้องส่งตัวผู้ป่วยไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านโรคเหงือก
การรักษาโรคเหงือกอักเสบ
การรักษาที่ทันท่วงทีสามารถช่วยให้เหงือกของคุณกลับมามีสุขภาพดีเหมือนเดิม รวมทั้งช่วยป้องกันโรคปริทันต์และการสูญเสียฟัน ทันแพทย์จะให้การรักษาโดยเริ่มจากการทำความสะอาดคราบสกปรกและหินปูนที่สะสมอยู่ออกไป และอาจให้ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการติดเชื้อด้วย รวมทั้งแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลสุขภาพช่องปากอย่างต่อเนื่องที่บ้านเป็นประจำ
ส่วนผู้ที่มีปัญหาเหงือกอักเสบเนื่องจากการใส่สะพานฟัน ฟันปลอม หรือการจัดฟัน ทำให้เกิดการระคายเคืองหรือทำความสะอาดได้ยาก แพทย์อาจแนะนำให้แก้ไขที่ปัญหาเหล่านี้ ทั้งนี้ หลังจากรับการรักษาเรียบร้อยแล้ว คุณควรไปพบทันตแพทย์เพื่อติดตามอาการและตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำ ซึ่งจะช่วยควบคุมปัญหาโรคเหงือกได้อย่างสมบูรณ์
รักษาโรคปริทันต์ วันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,164 บาท ลดสูงสุด 5%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเหงือกอักเสบ
หากคุณละเลยและไม่เข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม โรคเหงือกอักเสบจะยิ่งรุนแรงและกลายเป็นโรคปริทันต์อักเสบ ซึ่งต่างจากเหงือกอักเสบตรงที่ไม่สามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ และมักเป็นสาเหตุของการสูญเสียฟัน
นอกจากนี้ มีแนวโน้มที่โรคเหงือกอักเสบเรื้อรังอาจมีความเกี่ยวข้องกับโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ลมชัก และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์โดยมีงานวิจัยชี้ว่าแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคปริทันต์อักเสบนั้นสามารถเดินทางผ่านเนื้อเยื่อเหงือกเข้าสู่กระแสเลือด และส่งผลกระทบต่อหัวใจ ปอด และส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้
การป้องกันโรคเหงือกอักเสบ
การดูแลสุขอนามัยช่องปากเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยปกป้องคุณจากโรคเหงือกอักเสบ ซึ่งทำได้ง่ายๆ ตามคำแนะนำต่อไปนี้
- แปรงฟันให้สะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หลังจากตื่นนอนและก่อนนอน และใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละครั้ง หรือถ้าจะให้ดีก็ควรแปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน เพื่อป้องกันการขาดสารอาหารต่างๆ
- หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เพราะจะทำให้มีแบคทีเรียสะสมตามช่องปากและฟันจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน
- ไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำทุก 6-12 เดือน หากคุณมีความเสี่ยงเกิดโรคเหงือก ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำคุณเกี่ยวกับการป้องกันได้