บุคลิกภาพที่ดูดี นอกจากหน้าตา ผิวพรรณ และรูปร่างแล้ว รอยยิ้มที่สดใสก็เป็นส่วนประกอบสำคัญ และช่วยเสริมสร้างความมั่นใจ หนึ่งในวิธีการเพิ่มความมั่นใจให้กับรอยยิ้มคือการมีฟันที่สีขาวสว่าง ดูสะอาด อย่างไรก็ตาม หลายคนกลับพบปัญหาสีฟันเหลือง หรือสีเทา บางคนเข้าใจว่าสาเหตุมาจากเนื้อฟันของมนุษย์ที่มีสีเหลืองอยู่แล้ว ซึ่งถึงแม้จะเป็นความจริง หากแต่มีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดฟันเหลืองได้ ไม่ใช่ฟันเหลืองจากเนื้อแท้เพียงอย่างเดียว เรารวบรวมสาเหตุของฟันเหลืองมาไว้ให้ 8 ข้อดังต่อไปนี้
8 สาเหตุของฟันเหลือง ฟันเปลี่ยนสี
1. พฤติกรรมการบริโภคอาหารสีเข้ม
ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำตาลดำ เช่น ชา กาแฟ เฉาก๊วย ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก หรือสีแดงส้ม เช่น ไวน์แดง แกงต่างๆ การกินอาหารเหล่านี้ย่อมทำให้เกิดสีสะสมที่ฟันจนฟันเหลือง หรือสีเดียวกับอาหารที่บริโภค นอกจากนี้หากมีการอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน สีของอาหารสีเข้มและเขม่าควันบุหรี่จะเข้าสะสมที่วัสดุอุดได้ด้วยเช่นกัน และจะเห็นชัดเจนที่ขอบรอยต่อระหว่างวัสดุอุดกับฟัน
ตรวจสุขภาพฟันวันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 0 บาท ลดสูงสุด 100%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
2. การสูบบุหรี่
สารเคมีที่เกิดการเผาไหม้ของบุหรี่ โดยเฉพาะพวกที่มีส่วนประกอบของกำมะถันจะสะสมอยู่บนผิวฟัน และแทรกซึมเข้าไปในชั้นเนื้อฟัน ซึ่งสะสมได้เร็วมากและขูดออกได้ยากมาก นอกจากนี้ คราบบุหรี่จะสะสมรวมกับคราบจุลินทรีย์และแร่ธาตุในน้ำลาย เกิดเป็นคราบหินปูนตามขอบฟันและเหงือก จนเป็นสีเทาดำอีกด้วย
3. พฤติกรรมที่ทำลายชั้นเคลือบฟัน
ชั้นเคลือบฟัน หรือ ผิวฟัน เป็นส่วนของฟันชั้นนอกสุด มีสีขาว ลักษณะโปร่งแสง ชั้นเคลือบฟันนี้จะช่วยปกปิดชั้นเนื้อฟันที่มีสีเหลือง ดังนั้น หากชั้นเคลือบฟันถูกทำลายหรือชั้นเคลือบฟันบางลง จะทำให้สีของชั้นเนื้อฟันปรากฏลอดผ่านออกมา เห็นเป็นฟันเหลือง โดยพฤติกรรมที่ทำลายชั้นเคลือบฟัน ได้แก่ การบริโภคอาหารรสเปรี้ยว น้ำอัดลม ซึ่งเป็นกรดจะกัดกร่อนเคลือบฟัน การแปรงฟันแรงเกินไป แปรงฟันผิดวิธี หรือใช้แปรงสีฟันขนแข็งทำให้ครูดทำลายชั้นเคลือบฟันโดยตรง นอกจากนี้การใช้ยาสีฟันที่มีฤทธิ์กัดผิวฟันหรือมีผงขัดหยาบ ก็จะทำลายชั้นเคลือบฟัน เป็นเหตุให้ฟันเหลืองด้วยเช่นกัน
4. อายุ
เมื่ออายุมากขึ้น ฟันก็จะสึกจากการถูกใช้งานจนเกิดฟันเหลือง เช่น ถูกการกัดกร่อนจากอาหาร และถูกแปรง จนชั้นเคลือบฟันบางลงเองตามธรรมชาติ นอกจากนี้ ในผู้สูงอายุยังพบว่าโพรงประสาทและเส้นเลือดฝอยที่มาหล่อเลี้ยงฟันมักจะตีบ และมีการสร้างชั้นเนื้อฟันหนาขึ้น(ส่วนที่ฟันเหลือง) ทำให้ฟันมีลักษณะแห้งเปราะ และฟันเหลืองเข้มขึ้น
5. ธรรมชาติของฟันแต่ละซี่
ในฟันเขี้ยวจะมีลักษณะสีเหลืองกว่าฟันซี่ข้างเคียง เนื่องจากมีชั้นเคลือบฟันบาง แต่ชั้นเนื้อฟันหนากว่าซี่ข้างเคียง
6. ฟันผุและฟันผุลึกจนถึงโพรงประสาทฟัน
ออกจะดูร้ายแรงกว่าฟันเหลืองสักหน่อย เพราะฟันผุจะมีสีน้ำตาลจนถึงดำ ในขณะที่ฟันที่ผุลึกจนถึงโพรงประสาทฟันในระยะที่กำลังมีการอักเสบของโพรงประสาทฟัน ทำให้เนื้อเยื่อประสาทฟันที่มีสีชมพูแดงขยายขนาดใหญ่ขึ้น เกิดเป็นสีชมพูที่ตัวฟัน หากฟันผุลึกจนทำลายโพรงประสาทฟันและรากฟันจนเนื้อเยื่อและเส้นเลือดที่มาหล่อเลี้ยงประสาทฟันสูญเสียความมีชีวิต เม็ดเลือดฝอยที่อยู่ในเส้นเลือดจะแตกสลาย ปล่อยสารสีดำมาติดสะสมที่เนื้อฟัน
7. สีแทรกซึมจากวัสดุอะมัลกัม
ในฟันที่อุดด้วยวัสดุอะมัลกัมซึ่งมีสีเทาดำ สีของวัสดุอุดสามารถแทรกซึมไปตามเนื้อฟันรวมถึงเหงือกที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้ฟันและเหงือกเป็นสีเทาดำได้
ตรวจสุขภาพฟันวันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 0 บาท ลดสูงสุด 100%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
8. ยาและความผิดปกติตั้งแต่ระยะการสร้างฟัน
ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเตตระไซคลิน (Tetracycline) ซึ่งมารดารับประทานขณะตั้งครรภ์ จะส่งผลต่อการสร้างฟันของทารกในครรภ์ นอกจากนี้ ในเด็กตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ 8 ปี หากรับประทานยานี้ก็จะทำให้ฟันเปลี่ยนสีเช่นเดียวกัน โดยยาจะสะสมในฟันและกระดูก ทำให้เด็กสีฟันเหลือง สีน้ำตาล หรือเทาดำ ไปตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม การสร้างชั้นเคลือบฟันหรือชั้นเนื้อฟันที่บกพร่องหรือไม่สมบูรณ์ยังเกิดได้จากอีกหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะทุพโภชนาการของมารดาขณะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร หรือในวัยเด็ก เช่น การขาดโปรตีนหรือแคลเซียม หรือการได้รับความกระทบเทือนอื่นๆ ขณะตั้งครรภ์ของมารดา
ฟันเหลืองอันตรายหรือเปล่า?
ถึงแม้อาการฟันเหลืองจะพบได้บ่อยครั้งจากหลากหลายคน แต่ก็ไม่ควรละเลยไม่ไปพบทันตแพทย์ เพราะอาการฟันเหลืองอาจเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนของโรคปริทันต์ นอกจากฟันเหลือง ยังมีอาการอื่นๆอีกที่ไม่ควรละเลย อาทิ ปวดฟัน ฟันโยก เสียวฟันจากน้ำเย็นและน้ำร้อน ฟันหลุด เป็นต้น
7 วิธีแก้ไขฟันเหลือง ฟันเปลี่ยนสี
การแก้ไขฟันเหลือง ฟันเปลี่ยนสี จะแตกต่างกันไปตามสาเหตุและความรุนแรงในแต่ละราย ซึ่งทันตแพทย์จะเป็นผู้ตรวจ โดยการซักประวัติ ถ่ายภาพรังสี วินิจฉัย แล้วให้การรักษาที่เหมาะสม วิธีแก้ไขฟันเหลืองหรือเปลี่ยนสีแต่ละวิธีจะมีข้อดีข้อเสีย รวมถึงค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน ควรปรึกษาทันตแพทย์และทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจเลือกวิธีที่เหมาะสมร่วมกับทันตแพทย์ต่อไป ส่วนวิธีที่ทำได้ด้วยตนเอง มีดังนี้
1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค
โดยเฉพาะอาหารสีเข้มและอาหารที่ทำลายชั้นเคลือบฟัน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลังรับประทานอาหารสีเข้ม ควรรีบบ้วนปากหรือแปรงฟัน แต่ในขณะเดียวกัน หากเป็นอาหารที่มีรสเปรี้ยว หรืออาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด ควรเว้นระยะหลังการรับประทานอย่างน้อย 30 นาที จึงค่อยแปรงฟัน เนื่องจากใน 30 นาทีแรก เคลือบฟันที่ถูกกรดกัดจะอ่อนแอ หากแปรงจะยิ่งทำลายชั้นเคลือบฟัน ทำให้ฟันเหลือง
2. แปรงฟันอย่างถูกต้องเหมาะสม
โดยวิธีการแปรงที่ถูกต้องคือ แปรงแบบขยับขนแปรงสั้นๆ แล้วปัดไปทางด้านปลายฟัน ใช้แปรงชนิดขนแปรงปลายมน อ่อนนุ่ม แปรงให้ถึงทุกด้านของทุกซี่ฟัน นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ฟันสะอาด คือการใช้ไหมขัดฟันขัดทุกซอกฟัน จะช่วยขจัดคราบจุลินทรีย์ที่มีสีขาวเหลือง ซึ่งเป็นสาเหตุฟันเหลืองได้ด้วยเช่นกัน
3. เลิกสูบบุหรี่ ขูดหินปูน และขัดฟัน
การขูดหินปูนและขัดคราบบุหรี่บนตัวฟันออกจะช่วยขจัดคราบเขม่าบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุฟันเหลืองและฟันเปลี่ยนสีที่สำคัญ ส่วนยาสีฟันที่โฆษณาสรรพคุณว่าช่วยขจัดคราบบุหรี่ได้นั้น ผงขัดในยาสีฟันจะต้องมีความหยาบกว่ายาสีฟันธรรมดา อาจไม่สามารถขจัดคราบหินปูนที่ฝังแน่นออกได้ และการใช้ยาสีฟันขจัดคราบบุหรี่เป็นเวลานานๆ หรือการขัดฟันบ่อยเกินไปก็มีผลเสีย ทำให้เคลือบฟันบางลง สีของชั้นเนื้อฟันที่สีเหลืองก็จะสะท้อนออกมา กลายเป็นปัญหาฟันเหลืองต่อไป
ตรวจสุขภาพฟันวันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 0 บาท ลดสูงสุด 100%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
4. จัดการรักษาฟันผุ
หากฟันยังผุไม่ถึงโพรงประสาทฟัน สามารถทำการกรอตัดเนื้อฟันส่วนที่ผุออก แล้วอุดด้วยวัสดุทดแทนเนื้อฟันและเคลือบฟันได้ สำหรับฟันที่ผุถึงโพรงประสาทฟัน หรือฟันที่ผุจนถึงรากฟันแล้ว การรักษามี 2 ทางเลือก คือ รักษารากฟันให้เสร็จแล้วทำครอบฟัน หรือถอนฟันซี่ดังกล่าวออก
5. เปลี่ยนวัสดุอุดฟัน
หากวัสดุอุดฟันเดิมเป็นอะมัลกัม ซึ่งมีสีเทาดำ หรือแม้แต่วัสดุอุดสีเหมือนฟันที่อุดไว้นานหลายปี จนวัสดุมีการเปลี่ยนสีหรือมีการติดสีเข้มบริเวณขอบ อาจต้องพิจารณารื้ออุดใหม่ อย่างไรก็ตาม ในกรณีวัสดุอุดเดิมที่เป็นอะมัลกัมขนาดใหญ่ในฟันซี่ที่ต้องการความแข็งแรง เช่น ด้านบดเคี้ยวของฟันกราม อาจไม่สมควรรื้ออุดใหม่ด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน ซึ่งความแข็งแรงไม่เพียงพอต่อการรับแรงบดเคี้ยว เป็นต้น
6. ปฏิบัติตัวหลังฟอกสีฟันให้ถูกต้อง
หลังการฟอกสีฟันแก้ฟันเหลือง ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีสีดำคล้ำ หรือมีสีเข้มจัด เพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้ฟันเหลืองอีกเช่นเคย ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการงดสูบบุหรี่เป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ แนะนำให้ใช้หลอดในการดื่มเครื่องดื่มที่มีสีดำหรือสีจัดแทน ผลข้างเคียงที่เกิดได้จากการฟอกสีฟันแก้ฟันเหลือง คืออาการเสียวฟัน แต่จะหายไปในระยะเวลา 1-2 วัน และสามารถใช้ยาสีฟันสูตรสำหรับลดอาการเสียวฟันบรรเทาอาการได้ การฟอกสีฟันเพื่อแก้ฟันเหลือง ไม่ควรหาอุปกรณ์มาทำเองโดยเด็ดขาด เพราะไม่ใช่ทุกคนจะสามารถฟอกสีฟัน เพื่อแก้ไขปัญหาฟันเหลืองได้ เพราะมีข้อจำกัดบางประการ อาทิ ฟันตกกระ ภาวะเหงือกร่น หรือฟันเหลืองที่เกิดจากอายุการใช้งาน อีกทั้งยังมีการใช้สารประกอบที่ต้องอาศัยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาทิ การใช้สารกลุ่มสารประกอบเพอร์ออกไซด์ (Peroxide) ซึ่งจะจับและสลายสีที่ติดในเคลือบฟันและเนื้อฟัน
7. ทำครอบฟันหรือทำเคลือบผิวฟัน (วีเนียร์)
เป็นการกรอผิวฟันออกเฉพาะด้านหน้าหรือโดยรอบซี่ฟัน แล้วปิดทับใหม่ด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน เช่น เซรามิก วิธีนี้สามารถทำในฟันที่เปลี่ยนสีได้ในหลายกรณี เช่น กรณีที่ฟันเปลี่ยนสีที่ได้รับการรักษารากฟันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ฟันเปลี่ยนสีจากยาเตตร้าไซคลิน ฟันเหลืองเข้ม ฟันมีสีไม่สม่ำเสมอ ฟันแตกหัก ซ้อนเกระดับเล็กน้อย เป็นต้น ข้อเสียของการทำครอบฟันหรือทำวีเนียร์คือ ผิวฟันธรรมชาติจะถูกกรอตัด และต้องการการดูแลรักษาพิเศษมากกว่าฟันธรรมชาติ
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจฟอกสีฟัน จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android