กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

โรคกระดูกสันหลัง

รู้จักโรคกระดูกสันหลัง ตั้งแต่อาการปวดหลัง จนไปถึงวิธีสังเกตอาการเบื้องต้นของโรคกระดูกสันหลัง ตัวอย่างของโรคกระดูกสันหลัง วิธีการรักษาและวิธีการป้องกัน
เผยแพร่ครั้งแรก 7 พ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 29 มี.ค. 2021 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
โรคกระดูกสันหลัง

อาการปวดหลังเป็นอาการที่ใครหลายคนชะล่าใจไม่ยอมมาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ กว่าที่จะยอมมาตรวจนั้นมักรอจนปวดจนแทบทนไม่ไหว อาการปวดหลังสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัยไม่เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น ในปัจจุบันพบมากขึ้นในคนวัยทำงาน ซึ่งหากปวดมากอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้

โดยอาการอาจพบอาการปวดหลังเพียงอย่างเดียว หรืออาจปวดหลังและร้าวไปที่แขน ปลายมือ หรือปลายเท้า หรืออาจมีอาการชาตามปลายมือปลายเท้าร่วมด้วย คุณอาจคิดไม่ถึงว่าอาการปวดที่ดูผิวเผินแล้วไม่มีอะไรน่ากลัวนั้นอาจมีต้นเหตุมาจากโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังก็เป็นได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจกระดูกวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 534 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

อาการปวดหลังอันตรายหรือไม่?

ความอันตรายของการปวดหลังขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคและตำแหน่งที่เกิดอาการ สำหรับอวัยวะที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ ยกตัวอย่างเช่น กล้ามเนื้อและเอ็นบริเวณหลัง, กระดูกสันหลังและข้อต่อหลัง, หมอนรองกระดูกสันหลัง, ไขสันหลัง และรากประสาทสันหลัง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดหลังเรื้อรังนานกว่า 4 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญใกล้บ้านคุณ

สาเหตุของอาการปวดหลัง

เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติแต่กำเนิด, การเสื่อมสภาพตามอายุและการใช้งาน, เกิดจาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ, การติดเชื้อ, มะเร็งและเนื้องอก เป็นต้น

ถ้าอยากทราบว่าอาการปวดหลังที่เป็นอยู่นั้นเกิดจากสาเหตุอะไร คนไข้ต้องคอยสังเกตว่ารู้สึกปวดแบบใด เนื่องจากอาการปวดแต่ละอย่างสามารถเป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ หากปวดล้า ๆ เมื่อย ๆ มีจุดที่กดแล้วปวดมาก สาเหตุอาจเกิดจากกล้ามเนื้อ แต่หากมีอาการปวดร้าวเหมือนไฟฟ้าช็อต เช่น ร้าวจากคอไปปลายนิ้วมือ สาเหตุอาจเกิดจากเส้นประสาทที่ถูกกดทับ

นอกจากนี้ ตำแหน่งที่ปวดก็มีส่วนช่วยในการหาสาเหตุได้ เช่น หากปวดตรงแนวกระดูกกลางหลังก็มักเกิดปัญหาจากกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูกสันหลัง หรือเอ็นยึดระหว่างกระดูกสันหลัง หากอาการปวดเยื้องออกมาด้านข้างก็อาจมีสาเหตุจากกล้ามเนื้อหลัง การสังเกตอาการและตำแหน่งปวดอย่างละเอียดจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและรักษาโรคได้แม่นยำมากขึ้น

วิธีสังเกตอาการเบื้องต้นของโรคกระดูกสันหลัง

สำหรับอาการปวดหลังที่อันตรายและควรรีบพบแพทย์โดยด่วน ได้แก่

  1. มีอาการชาหรืออ่อนแรงร่วมกับอาการปวดหลัง
  2. อาการปวดในขณะพัก หรือไม่มีกิจกรรม
  3. อาการปวดร้าวลงขา (อาจมีการกดทับเส้นประสาทของกระดูกสันหลัง)
  4. อาการปวดที่หลังบริเวณทรวงอก
  5. อาการปวดหลังในคนที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี หรือมากกว่า 55 ปี
  6. น้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็ว
  7. มีไข้สูงหรือต่ำผิดปกติร่วมกับอาการปวดหลัง (อาจมีการติดเชื้อบางอย่าง)
  8. ประสบอุบัติเหตุก่อนมีอาการปวดหลัง (อาจมีกระดูกแตก/หัก)
  9. คนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นโรคมะเร็ง (มะเร็งอาจแพร่กระจายลุกลามไปยังกระดูกสันหลัง)
  10. สังเกตพบความคดผิดรูปของหลัง (มักมีปัญหาที่ข้อต่อกระดูกสันหลัง)

อาการต่าง ๆ ข้างต้นเป็นอาการของโรคปวดหลังที่เกิดจากสาเหตุที่รุนแรง เช่น โรคมะเร็ง กระดูกหลังหักหรือเคลื่อน และโรคติดเชื้อ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ควรได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อป้องกันและลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นตามมาในระยะยาว

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
รักษาและตรวจกระดูกสันหลัง วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 534 บาท ลดสูงสุด 72%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ตัวอย่างของโรคกระดูกสันหลัง

  • โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท (Intervertebral disc herniation)
  • โรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal stenosis)
  • โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน (Spondylolisthesis)
  • โรคข้อสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing Spondylitis)
  • โรคข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อมเคลื่อน (Facet dislocation)
  • โรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม (Cervical spondylosis)
  • โรคช่องไขสันหลังตีบ (Spinal stenosis)
  • กระดูกสันหลังคด (Scoliosis) 

วิธีการรักษาอาการปวดหลังและโรคกระดูกสันหลัง

เบื้องต้นผู้ป่วยควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุและให้การรักษาเพื่อแก้ไขสาเหตุของโรค หากอาการเป็นไม่มากส่วนใหญ่จะรักษาได้ด้วยการรับประทานยาบรรเทาปวด ยาแก้อักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือการฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาอาการปวดและลดอักเสบ

การหยุดทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงหนัก การนอนพักและการทำกายภาพบำบัด อาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้ และบางสาเหตุอาจหายขาดได้ถ้าผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและท่าทางในการดำเนินชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่อาการเป็นมากหรือรักษาไม่หายด้วยยาและการกายภาพบำบัด แพทย์อาจต้องพิจารณาด้วยการผ่าตัดเพื่อรักษาที่ต้นเหตุของโรค

วิธีการป้องกันอาการปวดหลังและโรคกระดูกสันหลัง

อาการปวดหลังจากหลายสาเหตุ สามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้

  • ลดน้ำหนัก สาเหตุหนึ่งของอาการปวดหลังอาจมาจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไป ซึ่งส่งผลให้หลังและเอวต้องรับน้ำหนักตัวเป็นจำนวนมาก สามารถตรวจสอบได้ว่ามีน้ำหนักมากเกินไปหรือไม่จากค่าดัชนีมวลร่างกาย (Body Mass Index; BMI)
  • ออกกำลังกาย การบริหารกล้ามเนื้อบริเวณกลางลำตัวเป็นการเสริมสร้างให้กล้ามเนื้อบริเวณท้องและหลังมีความแข็งแรงมากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการปวดหลังได้
  • นั่งและยืนในท่าทางที่ถูกต้อง สามารถช่วยลดอาการปวดหลังและยังช่วยเสริมบุคลิกภาพให้ดีขึ้นได้ โดยยืดหลังให้ตรง ผายไหล่ออก ไม่นั่งไขว่ห้างและเท้าคาง
  • ลดการนั่งหรือยืนในท่าเดิมเป็นเวลานาน ควรเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ ด้วยการลุกยืน เดินไปเดินมา หรือยืดเส้นยืดสาย อย่างน้อยทุก ๆ 20-45 นาที
  • ลดการยกของหนัก หากมีความจำเป็นของที่ยกไม่ควรหนักจนเกินไป และต้องยกในท่าทางที่ถูกต้อง ได้แก่ หลังตรง งอเข่า แยกเท้าและถ่ายเทน้ำหนักของเท้าทั้ง 2 ข้างให้เท่ากัน ไม่บิดเอว ควรให้ตำแหน่งของไหล่และเอวอยู่ตรงกัน หากจำเป็นจะต้องยกของที่หนักมากควรใช้เครื่องทุ่นแรงช่วยในการยก
  • รับประทานแคลเซียมและวิตามินดี เพื่อเสริมสร้างกระดูกและป้องกันโรคกระดูกพรุน สามารถพบแหล่งแคลเซียมและวิตามินดีได้ในอาหารประเภทนม โยเกิร์ต ผักใบเขียว ไข่แดง ตับวัว ชีส และปลาที่มีไขมัน เช่น แซลมอน ทูน่า ซาดีน และแมคเคอเรล เป็นต้น
  • งดสูบบุหรี่ สารนิโคตินในบุหรี่จะเข้าไปลดปริมาณออกซิเจนในร่างกาย ซึ่งส่งผลต่อการไหลเวียนของโลหิตที่จะส่งไปเลี้ยงกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณหลัง

 


59 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Degenerative disc disease: Causes and treatment. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/266630)
Degenerative Disk Disease: Symptoms, Causes, Diagnosis, Treatment. WebMD. (https://www.webmd.com/back-pain/degenerative-disk-disease-overview#1)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป