ไข้ออกผื่น (Fever with rash) ในเด็ก ผู้ใหญ่ และหญิงตั้งครรภ์

ไข้ออกผื่นมีหลายชนิด เกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงในหญิงตั้งครรภ์ ดังนั้นควรรู้หลักปฏิบัติเพื่อป้องกันหรือรักษาโรคได้อย่างถูกต้อง
เผยแพร่ครั้งแรก 28 ต.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
ไข้ออกผื่น (Fever with rash) ในเด็ก ผู้ใหญ่ และหญิงตั้งครรภ์

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ไข้ออกผื่นเป็นปัญหาที่พบได้ในทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เป็นอาการที่ต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากไข้ออกผื่นบางชนิดอาจมีอันตรายถึงชีวิต และบางชนิดสามารถติดต่อแพร่กระจายได้
  • ไข้ออกผื่น (Viral Exanthem) มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ทำให้มีไข้ ปวดศีรษะ ร่วมกับเกิดผดผื่น หรือเป็นตุ่มนูนแดง หรือตุ่มน้ำขึ้นตามผิวหนัง ไข้ออกผื่นในเด็กที่พบบ่อย ได้แก่ โรคอีสุกอีใส โรคหัดและหัดเยอรมัน โรคหัดกุหลาบในทารก
  • ไข้ออกผื่นที่พบในผู้ใหญ่มักเกิดมาจากการติดเชื้อไวรัส ที่พบได้บ่อย ได้แก่ งูสวัด รวมทั้งไข้ออกผื่นขณะตั้งครรภ์ที่มีอันตรายต่อทารกในครรภ์เป็นอย่างยิ่งคือ หัดเยอรมัน เพราะอาจทำให้ทารกเกิดความพิการได้ 
  • เมื่อเป็นไข้ออกผื่น หรือมีอาการที่ทำให้สงสัยว่าอาจเป็นไข้ออกผื่น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยว่า เกิดจากเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย จะได้รักษาอย่างถูกต้อง เชื้อไม่ดื้อยา
  • วิธีการป้องกันโรคไข้ออกผื่นที่ดีคือ การดูแลร่างกายให้แข็งแรง และฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามข้อแนะนำ (ดูแพ็กเกจฉีดวัคซีนป้องกันโรคได้ที่นี่)

ไข้ออกผื่น เป็นปัญหาที่พบได้ในทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่มักพบมากในเด็ก ไข้ออกผื่นเป็นอาการที่ต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากไข้ออกผื่นบางชนิดอาจมีอันตรายถึงชีวิต และบางชนิดสามารถติดต่อแพร่กระจายได้ 

ไข้ออกผื่นที่พบในเด็ก มีอะไรบ้าง?

ไข้ออกผื่น (Viral Exanthem) มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ทำให้มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย ร่วมกับเกิดผดผื่น หรือเป็นตุ่มนูนแดง หรือตุ่มน้ำขึ้นตามผิวหนังส่วนต่างๆ ของร่างกาย และอาจมีอาการอื่นๆ เช่น มีน้ำมูก ไอ อาเจียน หรือถ่ายเหลวร่วมด้วยได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 386 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

อย่างไรก็ตาม อาการที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างไปตามอายุของผู้ป่วย ชนิดของเชื้อไวรัส

ไข้ออกผื่นในเด็ก โดยเฉพาะช่วงอายุต่ำกว่า 2 ปี มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ที่พบมากคือ เชื้อไวรัส สามารถแพร่กระจายและติดต่อไปสู่ผู้อื่นได้ ทั้งจากการไอ จาม หรือได้รับละอองเสมหะของผู้ป่วย

ตัวอย่างไข้ออกผื่นในเด็ก ได้แก่ โรคอีสุกอีใส โรคหัดและหัดเยอรมัน โรคหัดกุหลาบในทารก โรคมือเท้าปาก ไข้เลือดออก โรคอีดำอีแดง 

โรคอีสุกอีใส (Chicken pox) 

อาการ: เป็นไข้ออกผื่นที่เกิดจากไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella zoster) ซึ่งมักทำให้มีไข้ต่ำๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เจ็บคอ เบื่ออาหาร และเกิดตุ่มนูนแดงขึ้นตามร่างกายโดยเฉพาะใบหน้าและลำตัว มีอาการคัน 

จากนั้นตุ่มเหล่านี้จะกลายเป็นตุ่มน้ำใสๆ ตุ่มหนอง เมื่อตุ่มเหล่านี้แตกออกและแห้งจะตกสะเก็ด บางส่วนก็กลายเป็นแผลเป็น 

นอกจากนี้เชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ยังเป็นสาเหตุให้เกิดโรคงูสวัดในผู้ใหญ่อีกด้วย

การรักษา:
หากมีไข้ให้ยาลดไข้ (ยกเส้นแอสไพริน) ยาบรรเทาอาการคัน ให้ยาต้านไวรัสกลุ่มอะซีโคลเวียร์ (Acyclovir) หรือยาในกลุ่มเดียวกัน จะช่วยให้ไข้ออกผื่นอีสุกอีใสหายเร็วขึ้น รวมถึงป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมาได้ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 386 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

นอกจากนี้ควรรักษาสุขอนามัยร่วมด้วย หลีกเลี่ยงการแกะเกาตุ่มน้ำ 

โรคหัด (Measles) และหัดเยอรมัน (Rubella) 

อาการ: โรคหัดเป็นไข้ออกผื่นที่เกิดจากไวรัสกลุ่มพารามิกโซไวรัส (Paramyxovirus) ก่อให้เกิดอาการไข้สูง น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง มีจุดสีขาวที่กระพุ้งแก้ม (Coplik spot) 

หลังมีไข้ 2-4 วัน และจะเกิดผื่นผิวหนังเป็นจุดแดงๆ เริ่มจากส่วนศีรษะก่อน เช่น ไรผม หน้าผาก หลังหู ใบหน้า ไล่ลงมายังลำคอ ลำตัว และแขนขา จากนั้นเมื่อไข้เริ่มลดลง ผื่นแดงจะเริ่มมีสีคล้ำขึ้นและกลายเป้นรอยสีน้ำตาลในที่สุด

ส่วนหัดเยอรมันเกิดจากเชื้อรูเบลลาไวรัส (Rubella virus) ทำให้มีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว จะเกิดผื่นหลังมีไข้ 2-3 วัน และอาจพบอาการปวดข้อ หรือต่อมน้ำเหลืองอักเสบร่วมด้วยได้

การรักษา:
ปัจจุบันโรคหัดและโรคหัดเยอรมันไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะ เป็นเพียงการรักษาไปตามอาการ รวมทั้งรักษาภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในบางราย อย่างไรก็ตาม โรคหัดและหัดเยอรมันสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนหัดและหัดเยอรมันให้ครบตามอายุที่กำหนด

โรคหัดกุหลาบในทารก (Roseola infantum) 

อาการ: ไข้ออกผื่นชนิดนี้เกิดจากเชื้อ (Human Herpes Virus 6: HHV-6) ทำให้มีไข้สูงเฉียบพลัน เบื่ออาหาร และหลังจากมีไข้ 3-5 วันจะเกิดผื่นสีชมพูคล้ายสีกุหลาบบริเวณใบหน้า ลำคอ แขน และขา

การรักษา: โรคหัดกุหลาบเป็นโรคที่ไม่รุนแรง สามารถหายได้เอง แต่ในขณะที่มีไข้สูงควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด

โรคมือ เท้า ปาก (Hand foot mouth disease) 

อาการ: ไข้ออกผื่นชนิดนี้เกิดจากการติดเชื้อกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งเป็นเชื้อที่ติดต่อได้ง่ายผ่านสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ มักระบาดในช่วงฤดูฝน 

ทำให้มีอาการไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว เบื่ออาหาร เจ็บคอ เจ็บปาก มีแผลร้อนในบริเวณเพดานปาก เยื่อบุกระพุ้งแก้ม มีผื่นเป็นตุ่มน้ำพอง ใสมีขอบแดง พบมากที่ฝ่ามือ และฝ่าเท้า

การรักษา: โรคมือเท้าปากเป็นโรคที่สามารถหายเองได้ ไม่มียารักษาที่เฉพาะเจาะจง จะใช้วิธีรักษาตามอาการ ได้แก่ การลดไข้ ป้องกันการชัก ลดอาการเจ็บแผล และควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ไข้เลือดออก (Dengue infection) 

อาการ: ไข้ออกผื่นชนิดนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ (Dengue virus) ที่มียุงลายเป็นพาหะ ทำให้มีไข้สูง หน้าแดง ปวดกระบอกตา ปวดท้อง อาเจียน รวมถึงพบผื่นแดง มีจุดขาวตรงกลาง ที่บริเวณแขนและขา 

เมื่ออาการดำเนินมาระยะหนึ่งบอาจมีเลือดออกภายในร่างกายได้ เช่น กำเดาไหล อาเจียน หรือถ่ายเป็นเลือด

การรักษา: โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่ไม่มียารักษาเฉพาะ จะใช้วิธีรักษาตามอาการและเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะช็อก ตับวาย หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

โรคอีดำอีแดง หรือไข้สการ์เลต (Scarlet fever) 

อาการ: เป็นไข้ออกผื่นที่เกิดจากแบคทีเรียสเตรปโตค็อกคัสไพโอจีนัส (Streptococcus pyogenes) อาการเริ่มแรกคือ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ เจ็บคอ อ่นเพลีย และจะเริ่มมีผื่นแดงเป็นตุ่มนูนเล็กๆ จามลำคอ หน้าอก รักแร้ ลำตัว แขนขา เมื่อคลำแล้วจะรู้สึกสาก มีอาการคันร่วมด้วย ส่วนที่ลิ้นจะมีตุ่มสีแดงกระจายคล้ายผลสตรอว์เบอร์รี

การรักษา: หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้ติดเชื้อลุกลามไปสู่อวัยวะต่างๆ เกิดเป็นทอนซิลอักเสบ ฝีหนอง ปอดอักเสบ โรคหัวใจรูห์มาติกเฉียบพลัน หรือไตอักเสบเฉียบพลันได้ ติดเชื้อในกระแสเลือด กระดูก และข้อ รวมทั้ังสมองได้ 

ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะติดต่อกัน 10 วัน เพื่อบรรเทาความรุนแรง และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน

นอกจากนี้อาจพบไข้ออกผื่นจากสาเหตุที่ไม่ได้ติดเชื้อ เช่น ผื่นแพ้ยา โรค SLE โรคคาวาซากิ เป็นต้น

ไข้ออกผื่นที่พบในผู้ใหญ่

ไข้ออกผื่นที่พบในผู้ใหญ่มักเกิดมาจากการติดเชื้อไวรัส ที่พบได้บ่อย ได้แก่ งูสวัด

งูสวัด (Shingles

อาการ: เป็นไข้ออกผื่นที่มีสาเหตุมาจากไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella zoster virus) เกิดในผู้ป่วยที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน และไวรัสไปฝังตัวอยู่ในปมประสาท เมื่อร่างกายอ่อนแอ เชื้อไวรัสก็ทำให้แสดงอาการของโรคออกมาคือ มีผื่นแดง คัน เจ็บ เกิดตามแนวเส้นประสาท

การรักษา: 
สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการใช้ยากลุ่มอะซีโคลเวีย (Acyclovia) พักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้แข็งแรง และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่อากาศร้อน อับชื้น

นอกจากนี้ไข้ออกผื่นในผู้ใหญ่อาจมีสาเหตุมาจากเชื้ออื่นๆ ได้ เช่น ไวรัสเอชไอวี (HIV) ไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis) ไวรัสเอบสไตน์บาร์ (Epstein barr virus) ไวรัสหัดกุหลาบ (Pityriasis rosea)

ส่วนไข้ออกผื่นที่พบในผู้ใหญ่ ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ได้แก่ โรค SLE ผื่นภูมิแพ้ ผื่นแพ้ยา 

ไข้ออกผื่นกับการตั้งครรภ์

อาการ: มีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย หลังจากนั้นจะมีผื่นแดงขึ้นบริเวณใบหน้า ลำคอ ลำตัว แขน ขา แต่บางก็อาจไม่มีผื่นขึ้น สามารถคลำพบต่อมน้ำเหลืองโตเล็กน้อยบริเวณหลังหูข้างท้ายทอย 

แม้หัดเยอรมันจะไม่มีอันตรายต่อตัวหญิงตั้งครรภ์ แต่สามารถทำให้ทารกในครรภ์เกิดความผิดปกติขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ (3 เดือนแรก) 

ความผิดปกติที่พบบ่อยในทารกที่แม่ติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ได้แก่ ต้อกระจก ต้อหิน หูหนวก หัวใจพิการแต่กำเนิด ตับ ม้ามโต ตัวเล็กกว่าปกติ เกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ ไปจนถึงมีความพิการทางสมอง 

ดังนั้นหากมีการติดเชื้อหัดเยอรมันในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ แพทย์มักแนะนำให้ทำแท้ง 

การป้องกัน: แนวทางป้องกันที่ดีที่สุดคือ แนะนำให้หญิงสาวที่ยังไม่เคยเป็นหัดเยอรมันฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือนแรก และในช่วงการครรภ์ไตรมาสแรกควรระมัดระวังการใกล้ชิดกับผู้ป่วยหัดเยอรมัน

การดูแลตัวเองเมื่อเป็นไข้ออกผื่น

เมื่อเป็นไข้ออกผื่น หรือมีอาการที่ทำให้สงสัยว่าอาจเป็นไข้ออกผื่น ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

  1. ไปพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการผิดปกติ เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง สามารถรักษาได้รวดเร็ว และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
  2. หากได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นไข้ออกผื่นที่เกิดจากแบคทีเรีย ควรรับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อดื้อยา
  3. ดูแลรักษาไข้ออกผื่นตามอาการ เช่น รับประทานยาลดไข้ เช็ดตัว หากมีอาการคันควรทายาเพื่อบรรเทาอาการและไม่ควรเกา เพราะอาจเกิดการติดเชื้อบริเวณผิวหนังได้
  4. รักษาความสะอาดของร่างกาย และควรล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร
  5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น อาหารจำพวกโปรตีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
  6. ดื่มน้ำมากๆ
  7. พักผ่อนให้เพียงพอ
  8. เมื่อเป็นไข้ออกผื่นแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีคนมาก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น
  9. เฝ้าสังเกตผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากมีอาการรุนแรง เช่น หอบเหนื่อย ชัก ไม่ได้สติ ท้องเสียมาก หรือมีเลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
  10. หญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในไตรมาสแรก ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ในบริเวณที่มีผู้ป่วยหัดเยอรมัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่หากมีการติดเชื้อหรือมีอาการ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

ไข้ออกผื่นเป็นโรคที่สามารถเกิดได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งระดับความรุนแรงจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดไข้ออกผื่น อายุของผู้ป่วย ความแข็งแรงของร่างกาย 

ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง จะมีโอกาสเกิดโรคที่รุนแรงสูง และมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน อื่นๆ ได้มาก

วิธีการป้องกันโรคไข้ออกผื่นที่ดีคือ การดูแลร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะ อาหารจำพวกโปรตีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 

ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามข้อแนะนำ และเมื่อมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันที

ดูแพ็กเกจฉีดวัคซีนป้องกันโรค เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


7 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
โรงพยาบาลกลาง, ดูแลตนเองเมื่อเป้นไข้ออกผื่น (http://www.klanghospital.go.th/index.php/2010-10-06-07-39-07.html), 23 เมษายน 2563.
บังอร พรรณลาภ, หัดเยอรมันกับการตั้งครรภ์ (https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=184), 23 เมษายน 2563.
สำนักระบาดวิทยา, แนวทางดำเนินงาน ตามโครงการกำจัดหัด (http://pongnamron.thaiddns.com:8001/doc/wichakan/r506/manual/โรคหัด.pdf), 23 เมษายน 2563.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)