กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ.พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ.พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล

งูสวัด คืออะไร?

สาเหตุที่คุณอาจไม่เคยรู้ และอาการต่างๆ ของงูสวัด อ่านเพื่อป้องกันปัญหาตั้งแต่ยังไม่เกิด
เผยแพร่ครั้งแรก 9 เม.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 2 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
งูสวัด คืออะไร?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โรคงูสวัด คือ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส โดยจะออกทำให้ผู้ป่วยมีผื่นตามแนวปมประสาทที่เชื้อไวรัสซ่อนตัวอยู่ และทำให้อวัยวะบริเวณที่มีผื่นเกิดความเสียหาย
  • โรคงูสวัดจะเกิดในผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส หรือเคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสมาแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ หรือมีโรคประจำตัวที่ทำให้เชื้อไวรัสกลับมาก่อโรคอีก
  • ลำดับอาการของโรคงูสวัดคร่าวๆ คือ มีอาการแสบผิว อ่อนเพลีย มีไข้ จากนั้นจะมีผื่นแดงขึ้นตามบริเวณต่างๆ ของร่างกายก่อนจะกลายเป็นผื่นพุพอง และเมื่อผื่นพุพองแตกออก ก็จะกลายเป็นสะเก็ดแผลแห้ง
  • โรคงูสวัดสามารถมีอาการแทรกซ้อนได้มากมาย เช่น ปอดอักเสบ ตาบอด สูญเสียการได้ยิน ศีรษะล้าน เป็นอัมพาตบนใบหน้า
  • วิธีป้องกันโอกาสเกิดโรคงูสวัด คือ การเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส แต่สำหรับผู้สูงอายุอายุ 50 ปีขึ้นไป แพทย์อาจให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดโดยตรง
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด

นิยามของโรคงูสวัดที่ใครหลายคนเคยได้ยินได้ฟังกันมาก็คือ โรคที่มีผื่นแดงขึ้นรอบตัว และเมื่อไหร่ก็ตามที่ผื่นซึ่งโอบรอบลำตัวสองด้านมาชนกัน ผู้ป่วยก็จะเสียชีวิตลง เรียกว่า เป็นโรคที่น่ากลัวไม่น้อย

จากอาการของโรคด้านบน ถือเป็นความเข้าใจของโรคงูสวัดที่ผิดไปหลายอย่าง วันนี้เรามาดูพร้อมๆ กันว่า โรคงูสวัดคืออะไร มีรายละเอียดการรักษา และป้องกันตนเองอย่างไรบ้าง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฉีดวัคซีนงูสวัดวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 4292 บาท ลดสูงสุดถึง 655 บาท

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

นิยามของโรคงูสวัด

โรคงูสวัด (Shingles) คือ โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus: VZV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส

เชื้อไวรัสตัวนี้จะซ่อนตัวอยู่ในปมประสาทของผู้ป่วยเมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เมื่อผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลง มีโรคประจำตัว ร่างกายเจ็บป่วยง่าย เชื้อไวรัสชนิดนี้ก็จะออกมาก่อโรคงูสวัดขึ้น

ดังนั้นผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 50 ปีจึงเป็นกลุ่มผู้เสี่ยงเป็นโรคงูสวัดได้มากที่สุด รวมไปถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน เช่น ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี เป็นโรคแพ้ภูมิตนเอง หรือโรคมะเร็ง

โดยสรุปคือ โรคงูสวัดจะเกิดขึ้นหลังจากคุณเคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาแล้ว หรือเคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสเรียบร้อยแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันร่างกายเกิดอ่อนแอขึ้นมาอีกครั้ง หรือสุขภาพไม่แข็งแรง จึงทำให้เชื้อที่ทำให้เกิดโรคกลับมาแพร่กระจายจนเกิดเป็นโรคงูสวัดขึ้นมานั่นเอง

ผู้เสี่ยงเป็นโรคงูสวัด

อายุที่มากขึ้น ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงมากที่สุดที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ มักจะเป็นปัญหาสุขภาพ หรือโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น

  • โรคมะเร็ง รวมถึงขั้นตอนการรักษาโรคมะเร็งอย่างการทำเคมีบำบัด และรังสีรักษา ซึ่งทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลง
  • ผู้ป่วยโรคปอด หรือไตเรื้อรัง
  • ผู้ที่เคยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
  • ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเอชไอวี
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน

อ่านเพิ่มเติม: โรคงูสวัดในผู้สูงอายุ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

อาการของโรคงูสวัด

อาการของโรคงูสวัดในผู้ป่วยแต่ละช่วงวัยมักไม่แตกต่างกันมากนัก โดยลำดับอาการจะมีดังต่อไปนี้

อาการระยะที่ 1

ผู้ป่วยจะมีอาการชา ปวดเนื้อตัวบริเวณบริเวณหนึ่ง รู้สึกแสบผิวเหมือนโดนไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก ร่วมกับมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปวดศีรษะ มีไข้

จากนั้นผู้ป่วยจะเริ่มมีผื่นแดงขึ้นตามตัว โดยลักษณะผื่นอาจเป็นจุดเล็กๆ หรืออาจเป็นแถบผื่นกว้าง หรือยาว ร่วมกับมีอาการเจ็บแปลบบริเวณนั้นๆ ซึ่งบริเวณที่ผื่นขึ้นนั้นจะเป็นบริเวณปมประสาทที่มีเชื้อไวรัสซ่อนตัวอยู่

อาการระยะที่ 2

ผื่นแดงตามตัวจะเริ่มเปลี่ยนเป็นตุ่มพุพอง มีหนองอยู่ข้างใน ลักษณะคล้ายตุ่มน้ำของโรคอีสุกอีใส ซึ่งทำให้เกิดความระคายเคืองด้วย

โดยตุ่มพุพองนี้จะลุกลามไปทั่วบริเวณที่มีผื่นแดงขึ้น แต่จะไม่กระจายไปที่ร่างกายอีกซีกซึ่งไม่เคยมีผื่นขึ้น

อาการระยะที่ 3

ตุ่มพุพองจะแตกออก หนองข้างในจะไหลออกมา จากนั้นแผลจะแห้งกลายเป็นแผ่นตกสะเก็ดอยู่ตามตัว จากนั้นจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ แต่อาการแสบระคายเคืองผิวจะยังอยู่กับผู้ป่วยเป็นเดือน หรือเป็นปี

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ฉีดวัคซีนงูสวัดวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 4292 บาท ลดสูงสุดถึง 655 บาท

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

อย่างไรก็ตาม หากอาการของโรคงูสวัดอยู่ในระยะที่ 3 แล้ว ความเสี่ยงที่แผลจะแพร่เชื้อไวรัสไปสู่ผู้อื่นจะน้อยลง

สำหรับบริเวณที่มักเกิดผื่นโรคงูสวัด ได้แก่ ใบหน้า เช่น ดวงตา หู รอบจมูก บริเวณเอว สะโพก ก้อน และแผ่นหลัง

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสที่ซ่อนอยู่ในปมประสาท ดังนั้นหากเกิดผื่นงูสวัดบริเวณใดของร่างกาย บริเวณนั้นก็เสี่ยงที่จะเกิดอาการร้ายแรงเสียหายตามมาได้มากกว่าปกติ เช่น

  • ผื่นงูสวัดขึ้นบริเวณดวงตา เป็นอันตรายต่อจอประสาทตา ผิวเปลือกตา และเสี่ยงตาบอดได้
  • ผื่นงูสวัดขึ้นบริเวณหู เป็นอันตรายต่อระบบประสาทการได้ยิน ทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าใช้งานได้ไม่เหมือนเดิม เสี่ยงสูญเสียการได้ยินไปบางส่วน หรือทั้งหมด
  • ผื่นงูสวัดขึ้นบริเวณปาก หรือในปาก จะทำให้รู้สึกเจ็บแสบอย่างมาก ทำให้รับประทานอาหารได้น้อยลง ประสาทการรับรสเปลี่ยนไป
  • ผื่นงูสวัดขึ้นที่ผม ทำให้หวีผมยากเพราะจะแสบแผลผื่น อาจทำให้หนังศีรษะบริเวณนั้นล้านไม่มีผมขึ้นอีก

ส่วนกรณีแผลงูสวัดขึ้นที่แผ่นหลัง สะโพก ก้น หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วผื่นจะลุกลามไปที่ร่างกายอีกซีกหรือไม่ เช่น จากก้นซ้ายลุกลามไปก้นขวา

คำตอบคือ โดยปกติแล้ว ผื่นงูสวัดจะขึ้นที่ร่างกายซีกใดซีกหนึ่งเท่านั้น และจะไม่ลุกลามไปที่ร่างกายอีกซีก นี่จึงเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า เป็นงูสวัดรอบเอวแล้วจะตายหรือไม่? ซึ่งคำตอบก็คือ ไม่

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับงูสวัดพันรอบเอวแล้วจะตายนั้น อาจมาจากผู้ป่วยที่บังเอิญเป็นโรคงูสวัดที่ทั้ง 2 ซีกของร่างกายจนเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงจนเสียชีวิต แต่นั่นก็เป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก

อ่านเพิ่มเติม: อาการของโรคงูสวัด 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคงูสวัด

ผื่นโรคงูสวัดไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายบริเวณชั้นผิวเท่านั้น แต่ยังเข้าไปสร้างความเสียหายภายในระบบร่างกายด้วย เช่น

  • ติดเชื้อแบคทีเรีย
  • ปอดอักเสบ
  • ตับอักเสบ
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • เกิดอัมพาตบริเวณใบหน้า
  • หลับตาได้ไม่สนิท 

ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคงูสวัดนั้น โดยปกติอาการของโรคจะไม่รุนแรงมากนัก และไม่ส่งผลต่อสุขภาพทารกในครรภ์

แต่ในหญิงตั้งครรภ์รายที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสและไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันมาก่อน หากได้รับเชื้อไวรัสเข้าไปในร่างกาย ก็จะเป็นโรคอีสุกอีใสแทน ซึ่งจะมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงหลายอย่างต่อทั้งแม่เด็ก และทารก เช่น

  • ทารกเป็นโรคอีสุกอีใสแต่กำเนิด ซึ่งส่งผลต่อพัฒนการของร่างกายหลายอย่าง
  • ทารกเป็นโรคอีสุกอีใสชนิดรุนแรงซึ่งเสี่ยงเสียชีวิตได้
  • ทารกต้องคลอดก่อนกำหนด
  • มารดามีอาการแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ มีอาการท็อกซิกซินโดรม

หากกำลังวางแผนมีบุตร หรือเตรียมความพร้อมมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการป้องกันโรคงูสวัดในขณะตั้งครรภ์ไว้ก่อน

หากคุณทราบว่า ตั้งครรภ์อย่างแน่นอนแล้ว สิ่งแรกที่ควรรีบทำคือ ไปฝากครรภ์กับแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านก่อน เพื่อให้ครรภ์อยู่ในความดูแลของแพทย์จนกว่าจะครบกำหนดคลอด  

ระหว่างตั้งครรภ์หากคุณแม่เกิดเป็นโรคงูสวัดขึ้นมาต้องรีบไปพบแพทย์เ พื่อขอคำแนะนำสำหรับการดูแลตนเอง หรือวิธีรักษาอย่างถูกต้อง

อ่านเพิ่มเติม: โรคงูสวัดในเด็กเล็ก เด็กวัยรุ่น

การรักษาโรคงูสวัด

การรักษาโรคงูสวัดหลักๆ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ใช้ยารักษาร่วมกับดูแลตนเองอย่างเหมาะสม

โดยตัวยารักษาโรคงูสวัดมักจะเป็นยารักษาอาการที่เกิดขึ้นในโรคนี้ เช่น

  • ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen)
  • ครีมทาสำหรับลดผื่นคัน แก้อาการระคายเคือง เช่น ครีมแคปไซซีน (Capsaicin Cream)
  • ยาต้านไวรัส เพื่อลดการกระจายตัวของผื่นผุพอง เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir)

วิธีดูแลแผลผื่นจากโรคงูสวัด

วิธีดูแลแผลผื่นจากโรคงูสวัดนั้น มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน และสามารถทำได้ด้วยตนเอง ซึ่งมีดังต่อไปนี้

  • ทำความสะอาดแผลให้แห้ง ไม่ปล่อยให้แผลอับชื้นจนเสี่ยงติดเชื้อโรค
  • ไม่เกาะ หรือแกะแผล เพราะจะยิ่งทำให้เจ็บแผลกว่าเดิม
  • ประคบน้ำเกลือบริเวณแผลเพื่อให้แผลแห้งเร็วขึ้น
  • รับประทานยาและทายาตามที่แพทย์จ่ายให้อย่างเคร่งครัด
  • ประคบเย็นบริเวณแผลผื่นเพื่อบรรเทาอาการปวด และอักเสบ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย และหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานช้าลงกว่าเดิม เพราะในช่วงนี้ทั้งเซลล์เม็ดเลือดข้าว และระบบภูมิคุ้มกันจะต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้ร่างกายขับเชื้อไวรัสออกมา
  • สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ไม่คับแน่นเกินไป รวมถึงทำจากผ้าใยธรรมชาติ เพื่อลดความระคายเคืองผิว

และอีกสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยโรคงูสวัดต้องระมัดระวังคือ ต้องปิดแผลผื่นให้มิดชิดเพื่อป้องกันไม่ให้คนรอบตัวมาสัมผัสแผลจนเสี่ยงได้รับเชื้อไวรัสเข้าร่างกายไปด้วย

การป้องกันโรคงูสวัด

การป้องกันโรคงูสวัดที่ดีที่สุดคือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส เพราะสองโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสแล้วแต่ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคงูสวัดก็ยังมีอยู่ แต่โอกาสเป็นจะลดลงถึงประมาณ 50%

ปัจจุบันมีการคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดออกมาแล้ว แต่วัคซีนนี้มักถูกแนะนำให้ฉีดในผู้สูงอายุที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอมากกว่า อีกทั้งผู้ที่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสแล้ว ก็ยังไม่ควรรับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดด้วย จนกว่าจะได้รับการยินยอมจากแพทย์ก่อน

พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เหมาะสมก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคงูสวัดได้ ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการเกิดภาวะเครียด รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ

หากสังเกตว่า ตนเองมีอาการคล้ายกับโรคงูสวัด ร่วมกับมีผื่นประหลาดขึ้นตามตัวโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อขอรับการวินิจฉัยทันที จะได้รีบหาทางรักษาโรคนี้ได้ทันเวลา ก่อนที่อาการจะลุกลามรุนแรง

ไม่แนะนำให้นำสารต่างๆ เช่น ยาสีฟัน แป้ง มาทาผื่น หรือประคบผื่น

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android

รวมบทความที่เกี่ยวข้องกับโรคงูสวัด


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Seth John Stankus et al., Management of Herpes Zoster (Shingles) and Postherpetic Neuralgia (https://www.aafp.org/afp/2000/0415/p2437.html), 31 August 2020.
Gagliardi AMZ, Andriolo BNG, Torloni M, Soares BGO, de Oliveira Gomes J, Andriolo RB, Canteiro Cruz E. Vaccines for preventing herpes zoster in older adults. Cochrane Database of Systematic Reviews 2019, Issue 11. Art. No.: CD008858. DOI: 10.1002/14651858.CD008858.pub4.
อ.พญ.จรัสศรี ฬยาพรรณ และคณะ, คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, สาระความรู้โรคผิวหนัง โรคงูสวัด (Herpes Zoster, Shingles) (https://www2.si.mahidol.ac.th/km/cop/clinical/derma/7875/), 31 สิงหาคม 2563.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)