- ภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โครงสร้างหัวใจผิดปกติ หัวใจทำงานผิดปกติ โรคเกี่ยวกับหัวใจ การติดเชื้อ การได้รับยาบางชนิด
- ภาวะหัวใจล้มเหลวแบ่งได้เป็นภาวะเฉียบพลันและภาวะเรื้อรัง ทั้งสองภาวะจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีเพื่อลดโอกาสการเสียชีวิต
- การรักษาภาวะนี้ได้แก่ การรักษาโรคร่วม (ถ้ามี) การใช้ยาเพื่อช่วยการทำงานของหัวใจและปรับสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย การผ่าตัด และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
- การงดของมัน ของทอด อาหารแปรรูป อาหารรสจัด การออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอ การเลิกบุหรี่และสารเสพติด เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตง่ายๆ ที่คุณทำได้
- ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นภัยเงียบที่อาจมาเยือนโดยคุณไม่รู้ตัว การดูแลสุขภาพและตรวจสุขภาพเป็นประจำจึงเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพและหัวใจได้ที่นี่)
ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure) เป็นภาวะที่หัวใจทำงานผิดปกติ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ หรือการทำงานของหัวใจ โรคเกี่ยวกับหัวใจ โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด การติดเชื้อ การได้รับยาที่มีฤทธิ์เป็นพิษต่อหัวใจ หรือยาที่กดการทำงานของหัวใจ
สาเหตุเหล่านี้ส่งผลให้หัวใจไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ตามปกติ การรับเลือดจากส่วนต่างๆ ของร่างกายแล้วนำกลับไปฟอกที่ปอด
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ชนิดของหัวใจล้มเหลวเมื่อแบ่งจากระยะเวลาการเกิดโรค
- ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Acute heart failure) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นใหม่อย่างรวดเร็ว หรือ มีภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังที่รักษาไม่ต่อเนื่อง อาการจึงแย่ลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมักพบในผู้ที่เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันเป็นภาวะฉุกเฉินต้องให้การรักษาทันทีเพื่อช่วยการไหลเวียนโลหิตและการหายใจ
- ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง (Chronic heart failure) มีภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างคงที่เป็นเวลานาน ภาวะนี้พบได้บ่อย เฉลี่ย 1% ของประชากร และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ไม่เพียงเท่านั้นยังเป็นภาวะที่มีอัตราเสียชีวิตสูง เฉลี่ย 10% ต่อปี
เป้าหมายของการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
เป้าหมายคือ ความพยายามในการรักษาชีวิตไว้ให้ได้ด้วยการแก้ไขภาวะฉุกเฉิน ทำให้เพิ่มการไหลเวียนเลือดและช่วยการหายใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ความดันโลหิตสูงรุนแรง ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด
อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามระยะเวลาที่ป่วย หากรักษาต่อเนื่องได้ไม่ดีพอ หรือไม่เหมาะสม เช่น ขณะนอนโรงพยาบาลมีอัตราเสียชีวิต 4% หลังป่วยได้ 30 วัน มีอัตราเสียชีวิต 10% และหลังป่วยได้ 1 ปี จะมีอัตราเสียชีวิตสูงถึง 30%
ดังนั้นการรอดชีวิตจากการรักษาแบบฉุกเฉินในครั้งแรกนั้นจึงไม่อาจยืนยันว่า ผู้ป่วยจะสามารถมีชีวิตได้ปกติและยืนยาวต่อไป แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม
เป้าหมายของการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง
เป้าหมายคือ การหาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ควบคุมโรคให้ดีขึ้น และชะลอการดำเนินของโรค ชะลอความเสื่อมของกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น
อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังภายใน 1 ปีแรก แม้จะมีเพียง 24% ซึ่งถือว่าน้อยกว่าผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน แต่ภายใน 5 ปี อัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 50% นั่นหมายความว่า ภายใน 5 ปี โอกาสที่ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวจะเสียชีวิต หรือมีชีวิตอยู่ต่อไปมีค่าเท่ากัน
ด้วยเหตุนี้การรักษาอย่างต่อเนื่องและเหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ในที่นี้จะเน้นไปที่การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง
ตรวจหัวใจและหลอดเลือดวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 294 บาท ลดสูงสุด80%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
แนวทางการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว
การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่
- การตรวจวินิจฉัย ได้แก่ การซักประวัติ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด ตรวจทดสอบ BNP หรือ NT pro BNP (Brain Natriuretic Peptide) ซึ่งเป็นโปรตีนที่บ่งชี้สภาพการทำงานของหัวใจ รวมทั้งการตรวจคลื่นสะท้อนความถี่สูงหัวใจ (Echo) เพื่อดูการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ รวมทั้งการทำงานของหัวใจห้องล่างซ้าย
- การรักษาตามชนิดของภาวะหัวใจล้มเหลว การรักษาที่นิยมได้แก่ การใช้ยา การผ่าตัด และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
- การรักษาโรคร่วม ได้แก่ การรักษาโรคร่วมอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
การใช้ยารักษาภาวะหัวใจล้มเหลว
หลังจากได้รับการวินิจฉัยว่า มีภาวะหัวใจล้มเหลวชนิดใดแล้ว แพทย์อาจจ่ายยาตามความเหมาะสมเพื่อเน้นการควบคุมปริมาณน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย เพิ่มความสามารถในการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ลดภาระการทำงานของหัวใจไม่ให้หนักจนเกินไป รวมทั้งรักษาโรคร่วมที่ผู้ป่วยมีด้วย ทั้งนี้ทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ตามปกติ
กลุ่มยาสำคัญที่เลือกใช้ได้แก่
ยากลุ่มเอซ อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitors)
ออกฤทธิ์โดยการคลายและขยายหลอดเลือดเพื่อช่วยให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้มากขึ้น หัวใจห้องล่างซ้ายสามารถสูบฉีดเลือดได้ดีขึ้น และยังช่วยลดภาระที่หัวใจต้องแบกรับลง อย่างไรก็ตาม
มีข้อควรระวังในการใช้ยานี้ เช่น ภาวะความดันโลหิตต่ำ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง ภาวะไตวาย อาการไอแห้ง
ตรวจหัวใจและหลอดเลือดวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 294 บาท ลดสูงสุด80%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้: แคพโทพิล (Captopril) อินาลาพิล (Enalapril) ลิซิโนพิล (Lisinopril) รามิพิล (Ramipril)
ยากลุ่มแองจิโอเทนซิน รีเซปเตอร์ บล็อกเกอร์ (Angiotensin receptor blockers: ARBs)
ออกฤทธิ์คล้ายกับยากลุ่ม ACE inhibitors แต่ยากลุ่ม ARBS ไม่ทำให้เกิดอาการไอ จึงจัดเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง หากผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยากลุ่มACE inhibitorsได้ หรือไม่สามารถทนผลข้างเคียงจากยากลุ่มนี้ได้
ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้: แคนเดอซาทาน (Candesartan) วัลซาทาน (Valsartan)
ยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta - blocker)
ออกฤทธิ์โดยลดการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติจึงทำให้ลดอัตราการเต้นของหัวใจลงจึงช่วยลดการบาดเจ็บของหัวใจที่เกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวซิสโตลิค (Systolic heart failure) ได้
มีข้อควรระวังในการใช้ยานี้ เช่น ภาวะความดันโลหิตต่ำ โรคหอบหืด ภาวะหัวใจเต้นช้า
ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น ไบโซโพรลอล (Bisoprolol) คาร์เวดิลอล (Carvedilol) เมโทโพรลอล (Metoprolol)
ยากลุ่มอัลโดสเตอโรน บล็อกเกอร์ (Aldosterone blockers)
ออกฤทธิ์โดยการขัดขวางการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนอัลโดสเตอโรน (Aldosterone) ซึ่งทำหน้าที่ดูดน้ำและโซเดียมไว้ในเส้นเลือด หากมีน้ำและโซเดียมมากเกินไปจะมีส่วนทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
ยาขับปัสสาวะ (Diuretics)
ออกฤทธิ์เพิ่มปริมาณของน้ำและเกลือที่ร่างกายขับออกผ่านทางปัสสาวะ เพื่อให้มีน้ำอยู่ในเลือดน้อยลง ดังนั้นน้ำที่อยู่ในปอดและขาจะถูกดึงกลับไปในเลือด ซึ่งช่วยบรรเทาอาการหายใจติดขัดและบวมน้ำลงได้
ยาในกลุ่มนี้มีสองชนิดคือ บูเมทาไนด์ (Bumetanide) และ ฟูโรเซไมด์ (Furosemide) มีข้อควรระวังในการใช้ยานี้ เช่น ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ภาวะไตวาย
นอกจากนี้อาจมีการใช้ยาบางชนิดโดยแพทย์เฉพาะทาง ได้แก่
- แองจิโอเทนซิน (Angiotensin)/ Neprilysin inhibitors เป็นยาที่ใช้รักษาภาวะหัวใจล้มเหลวที่ถูกคิดขึ้นมาใหม่ โดยเป็นการรวมกันของ Valsartan กับ ซาคูบิทริล (Sacubitril) อาจนำมาใช้กับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวที่มีความรุนแรง หรือผู้ที่มีอาการต่อเนื่องแม้จะรับการรักษาด้วยยาข้างต้นไปแล้ว
- อิวาบราดีน (Ivabradine) เป็นยาที่ใช้เพื่อลดจำนวนครั้งของการเต้นหัวใจ/นาทีลง จะจำเป็นก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วเกินแม้จะได้รับการรักษาด้วยยากลุ่ม Beta Blocker หรือ ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยากลุ่ม Beta Blocker ได้
- ไดโกซิน (Digoxin) สามารถนำมาใช้เพื่อลดอัตราการเต้นของหัวใจ และบรรเทาอาการจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยที่มีโพแทสเซียมในเลือดสูงควรเพิ่มความระมัดระวังเพราะมีโอกาสเป็นพิษจากยาสูง
การผ่าตัดรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว
เป็นวิธีที่ไม่นิยมใช้ในการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว เว้นแต่ภาวะหัวใจล้มเหลวของผู้ป่วยไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยา หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ หรือเมื่อแพทย์คิดว่า สาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลวสามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัด เช่น พบปัญหาที่เกิดจากลิ้นหัวใจผิดปกติ หรือเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจอุดตัน
1. การขยายหลอดเลือดหัวใจ (Angioplasty)
การขยายหลอดเลือดหัวใจเป็นการเปิดเส้นเลือดที่อุดตันอยู่ โดยการใส่ขดลวด (Stent) ที่มีอุปกรณ์ขนาดเล็กคล้ายบอลลูนแทงผ่านเส้นเลือดดำแล้วกางออกเมื่อถึงเส้นเลือดแดงที่อุดตัน การผ่าตัดนี้จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เส้นเลือดแดงเสียหายได้เล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่จะทำให้อาการดีขึ้น
2. การผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ (Coronary artery bypass)
การผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจเป็นการทำเส้นเลือดแดงใหม่ข้ามจุดที่อุดตัน โดยศัลยแพทย์จะนำเอาเส้นเลือดแดงที่มีสภาพดีจากส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ขา หรือผนังทรวงอก ต่อเข้ากับเส้นเลือดหัวใจข้ามจุดที่อุดตัน ทำให้เลือดไหลผ่านจุดที่อุดตันได้
3. การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ (Heart transplantation)
เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวรุนแรงที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยา หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจอาจเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่
ศัลยแพทย์จะเชื่อมต่อร่างกายของผู้ป่วยเข้ากับเครื่องปอด-หัวใจเทียม (Heart-lung machine) ซึ่งจะทำหน้าที่แทนปอดและหัวใจในขณะที่ศัลยแพทย์ผ่าตัดเอาหัวใจที่เป็นโรคนี้ออก และนำหัวใจจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้วมาเปลี่ยนแทน หลังจากนั้นจะเชื่อมต่อเส้นเลือดใหญ่เข้ากับหัวใจใหม่เพื่อให้หัวใจทำงานได้ด้วยตัวเอง
4. การผ่าตัดปรับขนาดหัวใจห้องล่างซ้าย (Left ventricular restoration)
การผ่าตัดปรับขนาดหัวใจห้องล่างซ้ายเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนรูปร่างของหัวใจห้องล่างซ้ายที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ เพื่อทำให้หัวใจบีบตัวได้ดีขึ้น
5. การผ่าตัดใส่อุปกรณ์ไฟฟ้าหัวใจ
มีอุปกรณ์ไฟฟ้าหัวใจหลายชนิดที่สามารถช่วยให้หัวใจของผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวทำงานได้ดีขึ้น เช่น ช่วยแก้ไขการบีบตัวของหัวใจที่ไม่เหมาะสม แก้ไขภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง
- เครื่องไบเวนทริคูลาร์เพซซิง (Biventricular pacing) หรือคาร์ดิเอครีซินโครไนเซชัน (Cardiac resynchronization) เป็นเครื่องกระตุกหัวใจที่สร้างจังหวะการเต้นของหัวใจ โดยทำให้หัวใจห้องล่างซ้าย (Left ventricle) ทั้งสองด้านบีบตัวพร้อมกัน
- เครื่องอิมแพลนเทเบิล คาร์ดิโอเวิร์ตเตอร์ ดีฟิบบริลเลเตอร์ (Implantble Cardioverter Defibrillator: ICD) ทำหน้าที่คล้ายกับเครื่องสร้างจังหวะการเต้นของหัวใจ แต่เครื่องจะเริ่มทำงานเมื่อตรวจจับได้ว่า หัวใจเต้นเร็วเกินไป โดยการส่งกระแสไฟฟ้าเพื่อให้จังหวะการเต้นของหัวใจช้าลง
- เครื่องเวนทริคูลาร์แอซซิส (Ventricular Assist Device: VAD) ทำหน้าที่บีบตัวแทนหัวใจห้องล่าง อาจทำหน้าที่แทนหัวใจเพียงห้องเดียว หรือแทนหัวใจทั้งสองห้องก็ได้
การปรับพฤติกรรมเพื่อรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ สามารถบรรเทาอาการจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้
- เลิกสูบบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้มาก หรือน้อยเกินไป
- ออกกำลังกายที่ไม่หนักมากและเหมาะสมกับสภาพร่างกาย
- รับประทานอาหารที่ดีต่อหัวใจและสุขภาพ คือ มีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานซ์ (Trans fat) และคอเลสเตอรอลน้อย
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หากป่วยเป็นโรคเบาหวาน
- ควบคุมความดันโลหิตไม่ให้สูงเกินไป
- จำกัดปริมาณเกลือในอาหาร
- จำกัดปริมาณน้ำ
- สังเกตขา ข้อเท้า และเท้าทุกวันว่า มีอาการบวมหรือไม่
- รับวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ให้ครบตามกำหนด
- ลดความเครียด
- พักผ่อนให้เพียงพอ
นอกจากกระบวนการรักษาเหล่านี้แล้ว สิ่งที่ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวควรทำคือ การเฝ้าระวังอาการด้วยตนเอง เช่น ติดตามการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว (เพิ่มขึ้น หรือลดลงอย่างรวดเร็ว) ลักษณะการหายใจ (หายใจหอบ เหนื่อย) การนอนหลับ (ตื่นขึ้นกลางดึกพร้อมอาการหอบ เหนื่อย) การนอน (นอนราบไม่ได้เพราะมีอาการหอบเหนื่อย) อาการบวมน้ำกดแล้วบุ๋มลงไป ไอแห้ง
อาการเหล่านี้อาจบ่งบอกถึงความรุนแรงของภาวะหัวใจล้มเหลวก็เป็นได้ ผลการตอบสนองต่อการรักษา หรือภาวะแทรกซ้อนก็เป็นได้ ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพหัวใจและสมรรถภาพหัวใจ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android