กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง

เผยแพร่ครั้งแรก 23 ต.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 12 นาที
ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง

โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง (Chronic pancreatitis) เป็นภาวะที่ตับอ่อน (อวัยวะขนาดเล็กที่อยู่ข้างหลังกระเพาะ และใต้กระดูกซี่โครง) เกิดความเสียหายถาวรขึ้นมาจากการอักเสบ

ภาวะนี้แตกต่างจากโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (acute pancreatitis) ที่ซึ่งเป็นภาวะอักเสบเพียงระยะเวลาสั้น ๆ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

อาการทั่วไปของโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังคืออาการปวดท้องหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งอาจมีความรุนแรงอย่างมากก็ได้

อาการอื่น ๆ มักจะเกิดขึ้นเมื่อความเสียหายของตับอ่อนลุกลามมากขึ้น อย่างเช่นมีอุจจาระเหนียวเหนอะกับมีกลิ่นแรง

ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?

ให้ไปพบแพทย์เมื่อคุณมีอาการเจ็บปวดรุนแรง ซึ่งมักเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายกำลังประสบกับความผิดปรกติอยู่

คุณควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการของดีซ่าน เนื่องจากอาการนี้เป็นหนึ่งในอาการของภาวะตับอักเสบเรื้อรังที่ลุกลามไปมากแล้ว แต่กระนั้นดีซ่านก็อาจจะเป็นสัญญาณอื่นของปัญหาที่ระบบย่อยอาหารก็ได้

อีกทั้งควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการอาเจียนเรื้อรัง

เหตุใดจึงเกิดโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังขึ้น?

การบริโภคแอลกอฮอล์มากเกินไปเป็นเวลานานเป็นสาเหตุของโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังมากกว่า 7 ใน 10 กรณี เนื่องจากว่าการดื่มสุราอย่างหนักในช่วงเวลาหลายปีจะไปสร้างความเสียหายซ้ำซากแก่ตัวตับอ่อน โดยสาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้รองลงมามีดังนี้: การสูบบุหรี่ ปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ที่ทำให้ระบบดังกล่าวเข้าโจมตีตับอ่อน การกลายพันธุ์ของพันธุกรรมที่เข้าไปขัดขวางการทำงานของตับอ่อน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ผู้ป่วยภาวะนี้ประมาณ 3 จาก 10 คนจะไม่พบสาเหตุการเกิดโรค ซึ่งจะเรียกผู้ป่วยกลุ่มนี้ว่าป่วยเป็นโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังชนิดหาสาเหตุไม่ได้ ("idiopathic" chronic pancreatitis)

ใครได้รับผลกระทบจากโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังบ้าง?

โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังสามารถเกิดกับผู้ใด ณ ช่วงอายุใดก็ได้ แต่ส่วนมากจะเกิดกับมนุษย์วัยกลางคน หรือระหว่าง 45 – 54 ปีมากที่สุด

สามารถทำการรักษาโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังได้อย่างไร?

โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังส่วนมากจะไม่มีการรักษาใดที่ใช้ลดหรือซ่อมแซมความเสียหายที่ตับอ่อนได้

การรักษาหลักจะเน้นไปยังการปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตกับการใช้ยาบรรเทาความเจ็บปวด ส่วนการผ่าตัดจะมีขึ้นเพื่อรักษาอาการเจ็บปวดรุนแรงเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวดเท่านั้น

อย่างไรก็ตามความเจ็บปวดจากโรคนี้ก็ทำการจัดการได้ยากและจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างมากอยู่ดี

ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่และเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์จะประสบกับความเจ็บปวดน้อยและมีชีวิตยาวนานกว่าผู้ที่ยังคงดื่มและสูบอยู่แม้จะตระหนักดีถึงภาวะสุขภาพของตนเอง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

อาการของโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง

อาการทั่วไปของโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังคืออาการปวดท้องเรื้อรัง จนในที่สุดจะกลายเป็นปัญหาเรื่องระบบย่อยอาหารไปโดยปริยาย

ความเจ็บปวดมักจะเกิดขึ้น ณ ตำแหน่งตรงกลางหรือสีข้างซ้ายของท้อง และอาจแล่นไปยังแผ่นหลังของคุณได้ อาการนี้มักจะมีรูปแบบคล้ายกับแสบร้อนหรือเจ็บรุนแรงที่อาจจะเป็น ๆ หาย ๆ แต่ก็มักจะเกิดขึ้นนานหลายชั่วโมงหรือในบางกรณีก็หลายวันก็ได้

ผู้ป่วยบางคนอาจประสบกับอาการคลื่นไสและอาเจียนระหว่างที่มีความเจ็บปวดร่วมด้วยก็ได้ ซึ่งหากโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังลุกลามมากขึ้น อาการเจ็บดังกล่าวจะเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงมากขึ้น

แม้ว่าความเจ็บปวดมักจะเกิดขึ้นหลังการรับประทานอาหาร แต่ส่วนมากและจะไม่มีสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ

ในที่สุด อาการปวดในท้องชนิดเบาถึงปานกลางจะเกิดขึ้นระหว่างการเกิดอาการเจ็บปวด ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ยังคงดื่มสุราแม้จะเป็นถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง

ผู้ที่เลิกสูบบุหรี่และเลิกดื่มแอลกอฮอล์จะมีอาการเจ็บปวดที่รุนแรงน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังชนิดลุกลาม

หลังจากที่ตับอ่อนสูญเสียความสามารถในการผลิตน้ำย่อย อาการอื่น ๆ จะเริ่มตามมา ตับอ่อนมักจะเสียการทำงานส่วนนี้ไปหลังจากที่เริ่มมีอาการครั้งแรกหลายปี

การลดลงของน้ำย่อยจะทำให้ระบบย่อยอาหารจำพวกไขมันและโปรตีนบางประเภทได้ยากขึ้น ภาวะนี้จะทำให้อุจจาระของคุณมีกลิ่นแรงและเป็นเมือก ๆ และอาจทำให้ก้อนไหลทิ้งชักโครกยากขึ้น

คุณอาจจะประสบกับอาการ: ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด ดีซ่าน (ผิวหนังและตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง) ของโรคเบาหวาน เช่นรู้สึกกระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย และรู้สึกเหน็ดเหนื่อยมาก ๆ  อาเจียนและคลื่นไส้ต่อเนื่อง

สาเหตุของโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง

โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังส่วนมากเกี่ยวพันกับการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ๆ ภายในช่วงเวลาหลายปี

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยภาวะนี้ 3 จาก 10 คนก็ไม่สามารถชี้ชัดสาเหตุของโรคได้ (โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังชนิดหาสาเหตุไม่ได้)

รายละเอียดสาเหตุของโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังมีดังต่อไปนี้

การบริโภคแอลกอฮอล์

การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักเป็นแรมปีจะทำให้เกิดโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันหลายครั้ง โดยภาวะนี้มักจะเป็นภาวะระยะสั้น ๆ แต่ก็สามารถเกิดขึ้นหลายครั้งได้หากคุณยังคงดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง

เมื่อผ่านไปนานวันเข้า การอักเสบซ้ำซากนี้จะไปสร้างความเสียหายถาวรกับตับอ่อนจนทำให้เกิดโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังขึ้นมา

ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำจะมีความเสี่ยงต่อโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะกลายเป็นโรคนี้ในที่สุด

ปัญหาด้านระบบภูมิคุ้มกัน

โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังบางกรณีก็ถูกสืบทอดส่งมาจากพ่อแม่ โดยคาดกันว่าเป็นผลมาจากการกลายพันธุ์ของจำนวนยีน รวมไปถึงยีน PRSS1 กับ SPINK-1 ซึ่งการกลายพันธุ์นี้จะไปขวางการทำงานตามปรกติของตับอ่อนลง

การกลายพันธุ์ของพันธุกรรมอาจเป็นผลมาจากแอลกอฮอล์บนตัวตับอ่อนก็ได้ โดยมีหลักฐานกล่าวว่าการกลายพันธุ์บางประเภทจะทำให้ตับอ่อนมีความอ่อนไหวต่อผลเสียของแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น

อีกทั้งการกลายพันธุ์ของยีน CFTR ก็ส่งผลให้เกิดโรคซิสติค ไฟโบรซิส (cystic fibrosis) ที่คาดกันว่าส่งผลให้เกิดโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังเช่นกัน (พบว่ามีกรณีเช่นนี้น้อยมาก)

สาเหตุอื่น ๆ

สาเหตุการเกิดโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังอื่น ๆ หลายอย่างได้ถูกค้นพบแล้วว่ามีดังต่อไปนี้: การบาดเจ็บที่ตับอ่อน การตีบตันหรือตีบแคบของท่อตับอ่อน การสูบบุหรี่ การบำบัดด้วยรังสีที่ช่องท้อง

การวินิจฉัยโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง

โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังสามารถถูกวินิจฉัยได้ด้วยการสแกนอวัยวะตับอ่อน

แพทย์จะทำการสอบถามอาการต่าง ๆ ของคุณ และอาจดำเนินการตรวจร่างกาย แต่อาจจะส่งคุณไปรับการทดสอบเพิ่มเติมหากพวกเขาคาดการณ์ว่าคุณป่วยเป็นโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังจริง

การทดสอบเพิ่มเติมต่าง ๆ มักจะดำเนินการตามโรงพยาบาล ซึ่งอาจมีดังต่อไปนี้: การเก็บตัวอย่างอุจจาระ การสแกนอัลตราซาวด์ การสแกนคอมพิวเตอร์ หรือ CT การสอดกล้องคลื่นเสียงความถี่สูง (endoscopic ultrasonography) การสแกนคลื่นสะท้อนแม่เหล็กท่อทางเดินน้ำดี (magnetic resonance cholangiopancreatography - MRCP)

การสอดกล้องคลื่นเสียงความถี่สูง

ระหว่างการสอดกล้องคลื่นเสียงความถี่สูง (endoscopic ultrasonography) จะมีการใช้กล้อง (endoscope) ที่เรียวยาว และยืดหยุ่นเข้าไปทางปากลงไปยังกระเพาะ แท่งอัลตราซาวด์ที่ติดอยู่ที่ปลายของกล้องจะเข้าไปใกล้กับตับอ่อนและจับภาพที่มีความแม่นยำสูงออกมา

คุณจะได้รับยาระงับประสาทเพื่อช่วยให้คุณผ่อนคลายไปตลอดกระบวนการ

MRCP

MRCP เป็นการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปจนทำให้ตับอ่อนและอวัยวะโดยรอบอย่างเช่นถุงน้ำดีและตับเด่นชัดขึ้นมาบนภาพสแกนคลื่นสะท้อนแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

เครื่องสแกน MRI คือระบบสร้างภาพร่างกายด้วยการใช้คลื่นแม่เหล็กกับคลื่นวิทยุร่างภาพภายในร่างกายออกมา

โดย MRCP ก็เป็นวิธีการที่ใช้ตรวจสอบว่าถุงน้ำดีของคุณส่งผลทำให้เกิดอาการขึ้นมาหรือไม่เช่นกัน

การเจาะตรวจชิ้นเนื้อ

บางครั้งอาการของโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังก็อาจคล้ายคลึงกับโรคมะเร็งตับอ่อน ดังนั้นหากคุณมีอาการเพิ่มเติมอย่างดีซ่านและน้ำหนักลด แพทย์จะแนะนำให้คุณเข้ารับการทดสอบด้วยวิธีการเจาะตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) ตับอ่อนเพื่อหาร่องรอยของโรคมะเร็ง

การเจาะตรวจชิ้นเนื้อจะเป็นการนำตัวอย่างเซลล์ตับอ่อนออกมาก่อนส่งไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการณ์ ด้วยการใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องหาร่องรอยของเนื้อร้าย

วิธีการนี้จะใช้เข็มยาวเรียวแทงผ่านหน้าท้องเข้าไปยังก้อนเนื้อ โดยมีเทคนิคอัลตราซาวด์หรือ CT นำทางไป อีกวิธีคือการเจาะตรวจชิ้นเนื้อระหว่างการสอดกล้องคลื่นเสียงความถี่สูง

การรักษาโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง

การรักษาโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังมีเป้าหมายเพื่อควบคุมภาวะและลดอาการต่าง ๆ ลง

การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต

หากคุณถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง แพทย์จะแนะนำให้คุณปรับรูปแบบการใช้ชีวิตบางอย่างของคุณ ดังนี้

เลี่ยงแอลกอฮอล์

สิ่งที่สำคัญมาก ๆ คือการเลิกดื่มสุรา แม้ว่ากรณีของคุณ แอลกอฮอล์จะไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังก็ตาม การทำเช่นนี้จะช่วยป้องกันความเสียหายที่ตับอ่อนไม่ให้เพิ่มขึ้น และอาจช่วยลดความรุนแรงของอาการเจ็บปวดลงได้

หากคุณยังคงดื่มแอลกอฮอล์ต่อไป จะมีความเสี่ยงที่อาการเจ็บปวดจะทรุดลง และจะเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังให้มากขึ้นอีกด้วย

ผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังบางรายที่เป็นผลมาจากการบริโภคแอลกอฮอล์จะเสพย์ติดแอลกอฮอล์อย่างหนักจนอาจต้องเข้ารับความช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยคุณสามารถขอรับความช่วยเหลือต่าง ๆ จากแพทย์ได้ เช่น: การปรึกษาตัวต่อตัว การเข้าร่วมกลุ่มช่วยเหลือผู้ติดสุรา การใช้ยา acamprosate ลดความกระหายแอลกอฮอล์

การเลิกบุหรี่

หากคุณเป็นคนสูบบุหรี่ คุณควรเลิกบุหรี่เสียเนื่องจากบุหรี่จะไปเร่งการลุกลามของโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังให้เร็วมากขึ้นจนอาจทำให้ตับอ่อนสูญเสียการทำงานตามปรกติไป

แพทย์แนะนำให้คุณเข้ารับการรักษาเพื่อเลิกบุหรี่ต่าง ๆ เช่นการบำบัดทดแทนพิษนิโคติน (nicotine replacement therapy - NRT) หรือการใช้ยา bupropion เพื่อลดความอยากสูบลง ผู้ที่เข้ารับการรักษาเหล่านี้จะมีโอกาสเลิกบุหรี่อย่างถาวรสูงกว่าผู้ที่เลิกบุหรี่ด้วยตนเองอย่างมาก

การเปลี่ยนแปลงอาหารการกิน

โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังส่งผลต่อความสามารถในการย่อยอาหารบางประเภท คุณจึงต้องทำการปรับเปลี่ยนอาหารการกินของคุณ

แพทย์จะให้คำแนะนำเรื่องโภชนาการ หรืออาจส่งคุณไปพบกับนักโภชนาการโดยเฉพาะเพื่อจัดทำแผนการรับประทานอาหารของคุณ

การทานอาหารไขมันต่ำ โปรตีนสูง แคลอรีสูง พร้อมกับการทานอาหารเสริมวิตามินที่ละลายไขมันได้มักเป็นที่แนะนำกัน แต่คุณไม่ควรปรับอาหารการกินของคุณเองโดยที่ไม่ทำการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเสียก่อน

อาหารเสริมเอนไซม์

คุณอาจได้รับอาหารเสริมเอนไซม์ตับอ่อนมา ซึ่งเป็นยาที่ประกอบด้วยเอนไซม์เทียมที่เหมือนกับเอนไซม์ที่ตับอ่อนผลิตออกมาตามธรรมชาติ อาหารเสริมเหล่านี้จะช่วยระบบย่อยอาหารของคุณได้อย่างมาก

ผลข้างเคียงของอาหารเสริมเอนไซม์ตับอ่อนคือท้องร่วง ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้อง

หากคุณประสบกับผลข้างเคียงจากอาหารเสริมเอนไซม์ตับอ่อนมากเกินไป คุณสามารถปรึกษาและขอให้แพทย์ทำการปรับขนาดยาที่ทานลงได้

ยาสเตียรอยด์

หากคุณเป็นโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังจากปัญหาด้านระบบภูมิคุ้มกัน การรักษาจะค่อนข้างตรงไปตรงมา โดยการอักเสบที่เกิดขึ้นกับตับอ่อนนั้นสามารถบรรเทาได้ด้วยยาสเตียรอยด์ (คอร์ติโคสเตียรอยด์ หรือ corticosteroids)

อย่างไรก็ตามการได้รับคอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ เช่นกระดูกพรุน (osteoporosis) และน้ำหนักเพิ่มขึ้น

ยาแก้ปวด

ยาแก้ปวดเป็นกลุ่มยาที่สำคัญมากในการดูแลผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง อันดับแรก แพทย์จะจัดใช้ยาแก้ปวดชนิดอ่อนให้กับคนไข้ก่อน แต่หากไม่ได้ผลจึงจะจัดยาตัวที่แรงขึ้นแก่คนไข้

ยาแก้ปวดชนิดอ่อน

ส่วนใหญ่แล้ว ยาแก้ปวดชนิดแรกที่ใช้คือยาพาราเซตตามอล (paracetamol) หรือยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drug - NSAID) เช่นอิบูโพรเฟน (ibuprofen)

การทาน NSAID เป็นเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงต่อแผลในกระเพาะอาหาร (stomach ulcers) ดังนั้นคุณอาจต้องได้รับยาที่เรียกว่า  proton pump inhibitor (PPI) เพื่อป้องกันภาวะเกิดแผลเช่นนี้

ยาแก้ปวดชนิดแรง

หาก NSAID หรือพาราเซตตามอลไม่ได้ผล คุณจะได้รับยาแก้ปวดที่มีส่วนประกอบของโอปิแอต (opiate-based painkiller) มาใช้แทน เช่นยาโคเดอีน หรือทรามาโดล (codeine หรือ tramadol) ผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้มีทั้งท้องผูก คลื่นไส้ และง่วงนอน

ผลข้างเคียงอย่างภาวะท้องผูกเป็นภาวะที่น่ารำคาญอย่างมากหากคุณต้องใช้ยากลุ่มโอปิแอตเป็นประจำ คุณอาจจะต้องใช้ยาระบายเพื่อบรรเทาอาการท้องผูกนี้ด้วย

หากคุณรู้สึกง่วงนอนหลังจากทานยากลุ่มนี้ ควรเลี่ยงการขับรถและไม่ใช้งานเครื่องจักรหนักไปก่อน

อาการปวดรุนแรง

หากคุณประสบกับอาการเจ็บปวดรุนแรง คุณอาจต้องใช้ยาแก้ปวดที่มีส่วนประกอบของโอปิแอตที่แรงขึ้น เช่นมอร์ฟีน หรือเพทิไดน์ (morphine หรือ pethidine) ซึ่งต่างก็มีผลข้างเคียงเหมือนกับกลุ่มยาโอปิแอตข้างต้น

การใช้ยากลุ่มโอปิแอตในระยะยาวเป็นเรื่องที่แพทย์ไม่แนะนำเนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการเสพติดยาสูงมาก ดังนั้นหากคุณยังคงประสบกับอาการเจ็บปวดรุนแรง การผ่าตัดจึงจะเป็นทางออกต่อไป

ในบางกรณีอาจมีการใช้ยาเพิ่มเติมที่เรียกว่า amitriptyline ที่ใช้รักษาภาวะซึมเศร้า แต่ยาตัวนี้ก็สามารถบรรเทาอาการปวดได้เช่นกัน

หากการใช้ยาไม่ได้ผล แพทย์อาจทำการระงับความเจ็บปวดชั่วคราวด้วยกระบวนการที่เรียกว่าการระงับประสาท (nerve block) ซึ่งเป็นการฉีดสารเข้าไปขวางสัญญาณความเจ็บปวดจากตับอ่อน

ภาวะรุนแรง

หากการอักเสบที่ตับอ่อนเกิดทรุดลงกะทันหัน คุณอาจต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อรับของเหลวเข้าเส้นเลือด และรับออกซิเจนผ่านท่อสวนจมูก

การผ่าตัด

การผ่าตัดที่ใช้รักษาอาการเจ็บปวดรุนแรงของผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังจะดำเนินการขึ้นอยู่กับสาเหตุของความเจ็บปวด มีเทคนิคผ่าตัดมากมายที่สามารถใช้ได้ ดังนี้

การผ่าตัดสอดกล้อง

ผู้ป่วยที่มีนิ่วอยู่ภายในท่อของตับอ่อนจะสามารถเข้ารับการผ่าตัดด้วยการสอดกล้องและการรักษาที่เรียกว่า lithotripsy ได้

Lithotripsy คือการใช้คลื่นกระแทกนิ่วให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จากนั้นจะมีการสอดกล้อง endoscope (ที่เป็นท่อเรียวยาวที่มีไฟฉายกับกล้องวิดีโอติดอยู่ที่ปลาย) เพื่อนำเครื่องมือผ่าตัดเข้าไปยังท่อตับอ่อนเพื่อนำเศษนิ่วออกมา

การรักษานี้จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้ในระยะหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ถาวร

การผ่าตัดตับอ่อนบางส่วน

ในกรณีที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของตับอ่อนเกิดการอักเสบและทำให้เกิดอาการเจ็บปวดรุนแรงขึ้น ส่วนนั้น ๆ จะถูกผ่าตัดออกมาด้วยหัตถการที่เรียกว่า Pancreas resection หรือการผ่าตัดตับอ่อนบางส่วน

หัตถการนี้จะถูกใช้เมื่อการรักษาด้วยการสอดกล้องไม่ได้ผล

เทคนิคที่ใช้สำหรับการผ่าตัดตับอ่อนบางส่วนนี้จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของอวัยวะที่ต้องนำออก ยกตัวอย่างเช่นอาจต้องมีการนำถุงน้ำดีออกมาพร้อมกับส่วนของตับอ่อน เป็นต้น

ความแตกต่างของเทคนิคผ่าตัดมักจะมีประสิทธิผลในระดับเดียวกันในเรื่องของการบรรเทาความเจ็บปวดและรักษาการทำงานของตับอ่อน กระนั้นเทคนิคบางอย่างก็อาจมีความซับซ้อนมากกว่า และอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อย่างการติดเชื้อและภาวะเลือดออกภายในมากกว่า กระบวนการที่เรียบง่ายจะมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่ำและอาจมีระยะเวลาฟื้นตัวสั้นกว่า

คุณควรศึกษาข้อดีข้อเสียของแต่ละเทคนิคกับทีมผ่าตัดก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษา

การผ่าตัดตับอ่อนทั้งหมด

สำหรับกรณีผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังกลุ่มรุนแรงที่ซึ่งตับอ่อนเสียหายอย่างมาก จะต้องเข้ารับการผ่าตัดตับอ่อนทั้งหมด (Total pancreatectomy)

กระบวนการนี้จะช่วยลดความเจ็บปวดลงได้อย่างมาก แต่จะทำให้ร่างกายของคุณไม่สามารถผลิตอินซูลินออกมาได้ เพื่อแก้ไขข้อเสียนี้ จึงมีเทคนิคใหม่กำเนิดออกมาที่เรียกว่า autologous pancreatic islet cell transplantation (APICT)

ระหว่างหัตถกรรม APICT จะมีการนำกลุ่มเซลล์ islet ออกมาจากตับอ่อนก่อนที่แพทย์จะทำการนำตับอ่อนของคุณออกจากร่างกาย

เซลล์ islet นี้จะผสมเข้ากับสารละลายชนิดพิเศษที่จะถูกฉีดเข้าที่ตับของคุณ หากกระบวนการ APICT ลุล่วงไปได้ด้วยดี เซลล์ isletจะคงอยู่ในตับของคุณและทำหน้าที่ผลิตอินซูลินต่อไป

ในระยะสั้น กระบวนการ APICT จะมีประสิทธิภาพมาก แต่คุณก็ต้องได้รับการรักษาอินซูลินเพิ่มเติมในระยะยาวอยู่ดี

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง

การใช้ชีวิตร่วมกับโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตใจอย่างมาก ดังนั้นคุณควรเข้าปรึกษาแพทย์หากคุณประสบกับภาวะเครียด หรือซึมเศร้าที่เกิดจากโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง

ภาวะเบาหวานเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดซึ่งเกิดกับผู้ป่วยโรคนี้มากกว่าสามในสี่ ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อตับอ่อนเสียหายและไม่สามารถผลิตอินซูลินออกมาได้อีก

ผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังยังมีความเสี่ยงต่อมะเร็งตับอ่อนเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน

ผลกระทบทางจิตวิทยาที่เป็นผลจากโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง

ภาวะสุขภาพเรื้อรังทุกอย่าง โดยเฉพาะภาวะที่สร้างความเจ็บปวดเรื้อรังจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและอารมณ์ของคุณอย่างมาก

การศึกษาหนึ่งที่ดำเนินการกับผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังพบว่าจะมีผู้ป่วยหนึ่งจากสิบเจ็ดคนที่มีปัญหาจิตเวชหรือทางอารมณ์ขึ้นมา เช่นภาวะเครียด ซึมเศร้า หรือวิตกกังวล

คุณควรติดต่อแพทย์ทันทีที่ประสบกับความยากลำบากในการจัดการกับอารมณ์และจิตใจของคุณ เพื่อรับการรักษาที่จะช่วยบรรเทาภาวะตกต่ำเหล่านี้

การเข้าร่วมกลุ่มช่วยเหลือผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังก็สามารถช่วยได้เช่นกัน เพราะการพบปะผู้ที่ประสบปัญหาเดียวกันจะช่วยคลายความโดดเดี่ยวและความเครียดของคุณได้

เบาหวาน

ผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังเกือบสามส่วนจะกลายเป็นโรคเบาหวาน และมักจะเป็นหลังได้รับการวินิจฉัยโรคครั้งแรกหลายปี

ภาวะเบาหวานเกิดขึ้นเมื่อตับอ่อนของคุณไม่สามารถผลิตอินซูลินออกมาได้ (สารเคมีที่ร่างกายใช้ย่อยสลายกลูโคสไปเป็นพลังงาน) อาการทั่วไปของโรคเบาหวานมีดังนี้: กระหายน้ำอย่างมาก ต้องเข้าห้องน้ำบ่อย โดยเฉพาะกลางคืน เหน็ดเหนื่อยรุนแรง น้ำหนักลดและกล้ามเนื้อลีบ

หากคุณประสบกับภาวะเบาหวานเพราะโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง คุณจำต้องได้รับการฉีดอินซูลินเป็นประจำเพื่อชดเชยการหายไปของกระบวนการผลิตอินซูลินตามธรรมชาติ

ถุงน้ำเทียม

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อยอีกอย่างคือภาวะถุงน้ำเทียม (Pseudocysts) ซึ่งเป็นถุงของเหลวที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวของอวัยวะตับอ่อน คาดกันว่าภาวะนี้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังประมาณ 1 ใน 10 คน

หลาย ๆ กรณี โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ และจะตรวจพบได้จากการสแกนคอมพิวเตอร์ (CT) เท่านั้น แต่หากมีอาการขึ้นมาก็มักจะมีดังนี้: ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ปวดท้องทื่อ ๆ

หากถุงน้ำเทียมมีขนาดเล็กและไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ คุณก็ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเพราะถุงน้ำเทียมจะหายไปเอง

แพทย์จะแนะนำการรักษาก็ต่อเมื่อคุณมีอาการหรือถุงน้ำเทียมมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่า 6cm ถุงน้ำเทียมที่ใหญ่มากจะมีความเสี่ยงต่อการระเบิดออก ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกภายในหรือกระตุ้นให้เกิดการติดเชื้อขึ้นได

ถุงน้ำเทียมสามารถรักษาได้ด้วยการดูดของเหลวภายในออก ซึ่งทำได้ด้วยการแทงเข็มผ่านผิวหนังไปยังก้อนซิสต์ หรือใช้กระบวนการสอดกล้องที่เป็นการใช้ท่อขนาดเล็กเรียวเข้าไปทางลำคอก่อนใช้เครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กดูดของเหลวออก

บางครั้งอาจต้องทำการผ่าถุงน้ำออกพร้อมกับส่วนของตับอ่อนด้วยการใช้เทคนิคผ่าตัดแบบรูกุญแจ (laparoscopic หรือ "keyhole" surgery)

มะเร็งตับอ่อน

โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับอ่อนขึ้น อย่างไรก็ตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนี้มีอยู่ค่อนข้างต่ำมาก ยกตัวอย่างเช่น มีผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังเพียง 1 หรือ 2 คนจากผู้ป่วยทั้งหมด 100 คนที่จะกลายเป็นมะเร็งตับอ่อน

อาการแรกเริ่มของโรคมะเร็งตับอ่อนจะคล้ายกับอาการของโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังอย่างมาก ซึ่งก็คือดีซ่าน ปวดท้อง และน้ำหนักลด


18 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Chronic pancreatitis: Treatments, symptoms, and causes. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/160459)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
โรคตับอ่อนอักเสบจากนิ่วในถุงน้ำดี
โรคตับอ่อนอักเสบจากนิ่วในถุงน้ำดี

รู้ครบทุกเรื่อง เกี่ยวกับตับอ่อนและโรคตับอ่อนอักเสบทั้งแบบียบพลันและเรื้อรัง การวินิจฉัย การรักษาโรคด้วยวิธีต่างๆ วีธีเตรียมตัวก่อนพบแพทย์ ภาวะแทรกซ้อน วิธีการดูแลตัวเอง

อ่านเพิ่ม