วิธีการรักษาโรคมะเร็ง

เผยแพร่ครั้งแรก 17 ต.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 25 นาที
วิธีการรักษาโรคมะเร็ง

โรคมะเร็งสามารถรักษาได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด ฮอร์โมน ยารักษาตรงเป้า การปลูกถ่ายไขกระดูก/สเต็มเซลล์ การรักษาเพื่อบรรเทา/ประทังอาการ การแพทย์สนับสนุนและการแพทย์ทางเลือก

วิธีการรักษาโรคมะเร็ง

วิธีการรักษาโรคมะเร็งมีหลายวิธี ซึ่งจะกล่าวพอสังเขปเพื่อเป็นความรู้พื้นฐานเท่านั้น โดยแยกเป็นวิธีการต่างๆ ดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • การผ่าตัด
  • รังสีรักษา
  • รังสีร่วมรักษา
  • เคมีบำบัด
  • ฮอร์โมน
  • ยารักษาตรงเป้า
  • การปลูกถ่ายไขกระดูก/สเต็มเซลล์ ในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด
  • การรักษาเพื่อบรรเทา/ประทังอาการ
  • การรักษาแบบประคับประคอง/พยุงอาการ/การรักษาทางอายุรกรรมทั่วไป

วิธีการรักษาอื่นๆ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษา ได้แก่ การรักษาด้วยความร้อน (hyperthermia) ชีวสารรักษา ยาเพิ่มภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (immunotherapy) วัคซีน และการปลูกถ่ายอวัยวะ

  • การแพทย์สนับสนุนและการแพทย์ทางเลือก

การผ่าตัด

การผ่าตัดในโรคมะเร็ง แบ่งเป็น 2 วิธีหลัก คือ การผ่าตัดเพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็งและการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง

การผ่าตัดเพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็ง

มักเป็นการผ่าตัดเล็ก ได้แก่ การตัดชิ้น-เนื้อหรือการเจาะ/ดูดเซลล์จากก้อนเนื้อ/แผลผิดปรกติ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาหรือเซลล์วิทยา เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นเนื้อมะเร็งหรือไม่

ส่วนการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง

แบ่งเป็น 2 วิธีหลักเช่นกัน ได้แก่ การผ่าตัดเพื่อหายขาด และการผ่าตัดเพื่อบรรเทา/ประทังอาการ

การผ่าตัดเพื่อการรักษาหายขาด มักเป็นการผ่าตัดใหญ่และมีการสูญเสียอวัยวะ ในปัจจุบันกำลังมีการศึกษาการผ่าตัดโรคมะเร็งด้วยการส่องกล้อง ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเกิดผลข้างเคียง/แทรกซ้อน และลดระยะเวลาการพักฟื้นในโรงพยาบาล

การผ่าตัดเพื่อบรรเทา/ประทังอาการ เป็นการผ่าตัดเล็ก ไม่มีการสูญเสียอวัยวะ เพียงเพื่อบรรเทา/ประทังอาการทรมานที่เกิดจากโรคมะเร็งของผู้ป่วยเท่านั้น เช่น การผ่าตัดทำทวารเทียมในโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งผู้ป่วยถ่ายอุจจาระไม่ได้ เนื่องจากก้อนเนื้อมะเร็งอุดตันลำไส้ใหญ่ หรือการเจาะคอเพื่อช่วยการหายใจในโรคมะเร็งกล่องเสียงระยะลุกลามรุนแรง ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยหายใจติดขัด/หายใจไม่ออก เนื่องจากก้อนเนื้อมะเร็งอุดกั้นทางเดินหายใจ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

การผ่าตัดมีผลข้างเคียงหรือไม่?


ตอบ
: ด้วยความรู้และเทคนิคทางการผ่าตัดในปัจจุบัน ผลข้างเคียง/แทรกซ้อนจากการผ่าตัดทุกวิธีการจึงพบได้น้อย อาการที่อาจพบได้ เช่น เจ็บแผล แผลผ่าตัดติดเชื้อ มีเลือดออกจากแผลผ่าตัด ระบบทางเดินปัสสาวะและ/หรือระบบทางเดินหายใจติดเชื้อภายหลังการผ่าตัด

เมื่อได้รับการผ่าตัดแล้ว ทำไมยังต้องรับยาเคมีบำบัดหรือฉายแสง?


ตอบ
: จากการศึกษาทางการแพทย์ ทำให้ทราบว่าในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคมะเร็งย้อนกลับเป็นซ้ำ การให้การรักษาโดยใช้หลายวิธีการรักษาร่วมกัน จะช่วยเพิ่มโอกาสควบคุมโรคมะเร็งได้ดีขึ้น ดังนั้น ภายหลังการผ่าตัด เมื่อแพทย์ประเมินการลุกลามของโรคมะเร็งจากการผ่าตัด และการตรวจทางพยาธิวิทยาของก้อนเนื้อที่ได้จากการผ่าตัดแล้ว จะทราบถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ต่อการเกิดโรคมะเร็งย้อนกลับเป็นซ้ำ การลุกลาม หรือการแพร่กระจายของโรค (ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ผลการตรวจทางพยาธิวิทยาของชิ้นเนื้อ จากการผ่าตัดพบว่าผ่าตัดมะเร็งออกได้ไม่หมด โรคมะเร็งลุกลามเช้ากระแสเลือด/น้ำเหลือง เส้นประสาท ต่อมน้ำเหลือง หรือมีการลุกลามหลายจุด/หลายตำแหน่ง) ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ แพทย์จะนำมาพิจารณาการให้การรักษาต่อเนื่อง เพิ่มเติมด้วยวิธีการรักษาอื่นๆ เพื่อเพิ่มผลการควบคุมโรคมะเร็งให้ได้สูงขึ้น เช่น รังสีรักษา(ฉายแสง) หรือเคมีบำบัด(คีโม) ซึ่งการให้รังสีรักษาหรือเคมีบำบัดที่ให้ภายหลังการผ่าตัดนี้ จะเริ่มภายหลังจากผู้ป่วยฟื้นตัวจากการผ่าตัดดีแล้ว โดยทั่วไปจะอยู่ในช่วงประมาณ 2-8 สัปดาห์หลังวันผ่าตัด

รังสีรักษา

รังสีรักษา คือ การรักษาโรคต่างๆ ด้วยการใช้รังสี ซึ่งใช้รักษาได้ทั้งโรคที่ไม่ใช่มะเร็งและโรคมะเร็ง แต่โดยทั่วไปประมาณร้อยละ 90 ใช้รักษาโรคมะเร็ง ซึ่งแพทย์ที่ใช้รังสีรักษาเพื่อการรักษาโรค ปัจจุบันเรียกว่า แพทย์เฉพาะทางด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา

การรักษา/พยาบาลด้านรังสีรักษามีจำกัดอยู่เฉพาะในบางโรงพยาบาลเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะเป็นวิธีการรักษาที่ต้องใช้เครื่องมือราคาแพงมาก และควบคุมโดยแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น จึงให้บริการรักษาได้เฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่มีแพทย์ด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาประจำอยู่ เช่น โรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์และศูนย์รักษาโรคมะเร็ง

ส่วนโรคที่ไม่ใช่มะเร็ง แต่ใช้รังสีรักษาก็มีหลายโรค เช่น โรคเนื้องอกธรรมดาชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง โรคปาน โรคไขข้ออักเสบ โรคเส้นเลือดในสมองโป่งพอง และการป้องกันการเกิดแผลเป็นจากการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม แพทย์จะเลือกใช้รังสีรักษาในโรคที่ไม่ใช่มะเร็ง เฉพาะในกรณีที่รักษาด้วยวิธีการอื่นไม่ได้ผล เช่นการผ่าตัด และหากปล่อยไว้ไม่รักษา โรคเหล่านั้นอาจก่ออันตรายต่อชีวิตผู้ป่วยได้ ทั้งนี้ เพราะผลข้างเคียง/แทรกซ้อนจากรังสีรักษาในโรคที่ไม่ใช่โรคมะเร็ง อาจเป็นปัจจัยให้เกิดโรคมะเร็งขึ้นในตำแหน่งที่ได้รับรังสีรักษา

รังสีที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเป็นรังสีชนิดใด?


ตอบ
: รังสีที่ใช้รักษาโรคชนิดต่างๆ มีหลายประเภท เช่น รังสีความร้อนแสงยูวี รังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า แต่รังสีชนิดที่ใช้รักษาโดยแพทย์ด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา เป็นรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าประเภทไอออนไนซ์ (ionizing radiation) ที่ทำให้เซลล์บาดเจ็บและถูกทำลายโดยการแตกตัวเป็นประจุบวกและประจุลบ ซึ่งเรียกว่าการไอออนไนซ์ (ionization) เช่น รังสีเอ็กซ์ (x-rays) รังสีโฟตอน (photons) รังสีแกมมา (gamma rays) รังสีบีตา (beta-rays) และรังสีโปรตอน (proton)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

วิธีการรักษาทางรังสีวิทยา ได้แก่ การฉายรังสีและการใส่แร่ นอกจากนี้ยังมีการรักษาโรคต่างๆ และโรคมะเร็งด้วยการกลืนหรือฉีดยาน้ำแร่รังสีเข้าเส้นเลือดหรือเข้าโพรงต่างๆ ที่เป็นมะเร็ง ซึ่งจัดเป็นการแพทย์อีกสาขาคือ สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ซึ่งให้การรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เช่นการรักษาโดยการกลืนน้ำแร่รังสีไอโอดีน เพื่อรักษาโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษหรือโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์

รังสีรักษามีผลข้างเคียงหรือไม่?


ตอบ
: การรักษาโดยใช้รังสีรักษามีผลข้างเคียง/แทรกซ้อน ตือ จะก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ได้รับรังสี เป็นผลให้เซลล์บาดเจ็บโดยเป็นการอักเสบที่เกิดจากรังสี ไม่ใช่การอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ และผลข้างเคียง/แทรกซ้อนจากรังสีรักษา จะเกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อ/อวัยวะเฉพาะส่วนที่ได้รับรังสีเท่านั้น ไม่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อ/อวัยวะส่วนอื่น

ผลข้างเคียง/แทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในช่วงที่ได้รับรังสีรักษา เรียกว่า ผลข้างเคียง/แทรกซ้อนระยะเฉียบพลัน เช่นอาการเจ็บในบริเวณที่ได้รับรังสีรักษา ส่วนผลข้างเคียง/แทรกซ้อนที่เกิดขึ้นภายหลังได้รับรังสีรักษาครบแล้ว เรียกว่า ผลข้างเคียง/แทรกซ้อนระยะยาว เช่น การเกิดพังผืดของเนื้อเยื่อ/อวัยวะหรือการตีบ/อุดตันของเส้นเลือดเฉพาะในเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เคยได้รับรังสีรักษา โดยผลข้างเคียง/แทรกซ้อนจากรังสีรักษาที่รุนแรง มีโอกาสเกิดได้ประมาณร้อยละ 5-10 ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง/แทรกซ้อนที่รุนแรง ได้แก่

  • ผู้ป่วยที่มีความไวต่อรังสีเป็นพิเศษ พบได้ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยทั้งหมด
  • ผู้ป่วยสูงอายุ
  • เป็นโรคเบาหวานหรือโรคความดันโลหิตสูง
  • เป็นโรคภูมิแพ้เนื้อเยื่อของตนเองหรือเป็นโรคหลอดเลือดอักเสบ
  • ติดเชื้อในเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ได้รับรังสีรักษา ทั้งในช่วงระยะเฉียบพลันและในช่วงระยะยาว
  • ได้รับรังสีรักษาปริมาณสูง เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งโพรงหลังจมูกหรือโรคมะเร็งในระบบศีรษะ/ลำคอ
  • ได้รับการรักษาโรคมะเร็งหลายวิธีการร่วมกัน เช่น ได้รับรังสีรักษาร่วมกับเคมีบำบัดและการผ่าตัด
  • สูบบุหรี่และดื่มเหล้า

มีวิธีป้องกันผลข้างเคียงจากรังสีรักษาหรือไม่?


ตอบ
: ผู้ป่วยเองก็สามารถช่วยลดโอกาสเกิดผลข้างเคียง/แทรกซ้อนจากรังสีรักษาได้หลายวิธี วิธีที่สำคัญ ได้แก่

  • การควบคุมโรคร่วมต่างๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง/แทรกซ้อนอย่างมีประสิทธิภาพ ดังที่กล่าวแล้ว
  • การเลิกบุหรี่/เหล้า ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดผลข้างเคียง/แทรกซ้อน
  • การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาลอย่างถูกต้อง ครบถ้วน เคร่งครัด และสม่ำเสมอตลอดชีวิตของผู้ป่วย เพราะผลข้างเคียง/แทรกซ้อนระยะยาว อาจเกิดขึ้นในช่วงใดของชีวิตก็ได้ ซึ่งแพทย์ไม่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร

รังสีรักษาใช้รักษาโรคมะเร็งชนิดใดและระยะใด?


ตอบ
: รังสีรักษาใช้รักษาโรคมะเร็งได้ทุกชนิดและทุกระยะของโรค โรคมะเร็งบางชนิด/บางระยะอาจรักษาได้ด้วยรังสีรักษาเพียงวิธีการเดียว แต่บางชนิด/บางระยะโรค อาจต้องใช้หลายวิธีการรักษาร่วมกัน เช่น ใช้รังสีรักษาร่วมกับทั้งผ่าตัดและเคมีบำบัด

ในการเลือกรักษา แพทย์จะพิจารณาจากการศึกษาทางการแพทย์ โดยขึ้นกับหลายปัจจัย ปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่

  • ระยะของโรคมะเร็ง
  • ชนิดของเซลล์มะเร็ง
  • เป็นมะเร็งที่อวัยวะใด
  • สามารถผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งออกได้หมดหรือไม่
  • เป็นมะเร็งชนิดที่ดื้อต่อรังสีรักษาและเคมีบำบัดหรือไม่
  • อายุและสุขภาพของผู้ป่วย

รังสีร่วมรักษา

รังสีร่วมรักษา (interventional radiology) เป็นวิธีการตรวจโรคและวิธีรักษาโรคมะเร็งอีกวิธีการหนึ่ง ที่ให้การตรวจและรักษาโดยแพทย์ด้านรังสีวินิจฉัย โดยขณะตรวจและรักษาจะมีการตรวจทางเอกซเรย์หรืออัลตราซาวนด์ร่วม/พร้อมกันไปด้วย (sonogram) เพื่อให้เห็นตำแหน่งโรคที่จะตรวจ/รักษาได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน และแม่นยำขึ้น

การตรวจด้วยรังสีร่วมรักษาใช้ในกรณีใดได้บ้าง?


ตอบ
: การตรวจโดยรังสีร่วมรักษา เช่น การดูด/เจาะ/ตัดชิ้นเนื้อ เพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยาหรือทางพยาธิวิทยา โดยมักใช้ในกรณีที่ก้อนเนื้ออยู่ลึก มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ดังนั้น การดูด/เจาะ/ตัดก้อนเนื้อภายใต้การดูภาพก้อนเนื้อ/อวัยวะจากอัลตราซาวนด์/เอกซเรย์ จึงเพิ่มความแม่นยำในการตรวจยิ่งขึ้น เช่นการดูด/เจาะ/ตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อในปอดหรือช่องท้อง

นอกจากนี้ก็มีการตรวจหลอดเลือด เพื่อดูความผิดปรกติหรือดูว่าก้อนเนื้อมะเร็งได้รับเลือดหล่อเลี้ยงจากเส้นเลือดเส้นใด เพื่อผลทางการผ่าตัด ซึ่งตรวจโดยการสอดท่อขนาดเล็กผ่านเข้าทางเส้นเลือดที่ขาหนีบหรือข้อพับแขน หลังจากนั้นจึงฉีดยาหรือสารทึบแสงเข้าในเส้นเลือด เพื่อดูลักษณะของเส้นเลือด ซึ่งจะตรวจได้ทั้งหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดง

รังสีร่วมรักษาใช้รักษาโรคมะเร็งชนิดใดบ้าง?


ตอบ
: การรักษาด้วยรังสีร่วมรักษา มักเป็นการรักษาที่ทำลายเซลล์มะเร็ง โดยทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงก้อนมะเร็ง และ/หรือการให้ยาเคมีบำยัดเข้าทำลายเซลล์มะเร็งผ่านทางหลอดเลือดแดง โดยแพทย๋จะสอดท่อขนาดเล็กผ่านเข้าทางหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบหรือข้อพับแขนเพื่อเข้าไปสู่หลอดเลือดแดงที่หล่อเลี้ยงก้อนมะเร็ง จากนั้นจึงฉีดยาและสารอุดตันเข้าหลอดเลือดแดงที่หล่อเลี้ยงก้อนมะเร็งผ่านทางท่อที่สอดไว้ (การให้ยาเคมีบำบัดโดยทั่วไป เป็นการให้ทางน้ำเกลือผ่านหลอดเลือดดำ) การรักษาวิธีการนี้ ปัจจุบันใช้เป็นวิธีรักษาโรคมะเร็งตับอีกวิธีการหนึ่ง ส่วนการรักษาในโรคมะเน็งชนิดอื่นๆ ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา นอกจากนี้ยังมีการรักษาโดยใช้คลื่นความร้อน คลื่นไมโครเวฟ หรือคลื่นอาร์เอฟ (RF : radiofrequency) ผ่านทางเครื่องมือพิเศษที่สอดใส่เข้าไปในก้อนมะเร็ง เพื่อฆ่า/ทำลายเซลล์มะเร็งโดยตรงด้วย ซึ่งมักเป็นการรักษาก้อนเนื้อมะเร็งในตับและปอด

การตรวจ/รักษาด้วยรังสีร่วมรักษามีอันตรายหรือไม่?


ตอบ
: การตรวจ/รักษาด้วยรังสีร่วมรักษา สามารถเกิดอันตราย/ผลข้างเคียง/แทรกซ้อนได้ แต่มักเป็นผลข้างเคียง/แทรกซ้อนที่ไม่รุนแรงและมีโอกาสเกิดได้น้อย เช่น การเจ็บในบริเวณที่ได้รับการรักษา คลื่นไส้ เบื่ออาหาร หรือมีไข้ ซึ่งเกิดจากการตายของเซลล์มะเร็ง เลือดออก หรือการทะลุของอวัยวะที่ทำการรักษา

การตรวจ/รักษาด้วยรังสีร่วมรักษาต้องเตรียมตัวอย่างไร?


ตอบ
: ก่อนการตรวจ/รักษา ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำและเอกสารแนะนำจากแพทย์/เจ้าหน้าที่ผู้ให้การตรวจ/รักษาเสมอ ซึ่งรายละเอียดในการเตรียมตัวขึ้นอยู่กับการตรวจ/รักษาที่แตกต่างกันไปในโรคแต่ละชนิด โดยการเตรียมตัวก่อนการตรวจ/รักษาด้วยรังสีร่วมรักษาที่สำคัญ คือ

  • การงดอาหารและน้ำดื่ม เพราะในการตรวจ/รักษา จำเป็นต้องใช้ยาชาหรือยาสลบอย่างอ่อน เพื่อบรรเทาอาการปวด/เจ็บ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว หรือรู้สึกตัวได้น้อยขณะตรวจ/รักษา จึงอาจสำลักอาหารที่ไหลจากกระเพาะอาหารเข้าสู่หลอดลม จนหลอดลมอุดตัน เป็นเหตุให้เสียชีวิต หรืออาจสำลักอาหารที่ไหลจากกระเพาะอาหารเข้าสู่ปอด ทำให้เกิดภาวะปอดติดเชื้อ
  • นอนหลับและพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง

การตรวจ/รักษาด้วยรังสีร่วมรักษาต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลหรือไม่?


ตอบ
: การตรวจ/รักษาด้วยรังสีร่วมรักษา จัดเป็นการตรวจ/รักษาที่ไม่ยุ่งยาก/ซับซ้อน และมีผลข้างเคียง/แทรกซ้อน/อันตรายน้อย ดังนั้น ในบางโรคอาจให้การตรวจ/รักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล แต่ในบางโรคซึ่งเป็นโรคจากอวัยวะภายในหรืออวัยวะสำคัญ เช่น สมอง ปอด หรือช่องท้อง ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาล ซึ่งมักเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 1-3 วัน เพื่อให้แพทย์/พยาบาลสังเกตอาการว่า ไม่เกิดผลข้างเคียง/แทรกซ้อนจากการตรวจ/รักษา

เคมีบำบัด

เคมีบำบัด เป็นวิธีรักษาโรคมะเร็งที่สำคัญมากวิธีการหนึ่ง โดยการใช้ยาซึ่งเป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติทำลาย/ฆ่าเซลล์มะเร็ง ยาเคมีบำบัดมีหลากหลายชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติในการฆ่าเซลล์มะเร็งชนิดต่างๆ แตกต่างกัน แต่ยาเคมีบำบัดทุกชนิด มีผลข้างเคียง/แทรกซ้อนจากการรักษาคล้ายคลึงกัน ผลข้างเคียง/แทรกซ้อนที่สำคัญคือ การกดไขกระดูก การกดภูมิคุ้มกัน/ต้านทานโรค อาการคลื่นไส้/อาเจียน และผมร่วง

เคมีบำบัดมีวิธีรักษาอย่างไร?


ตอบ
: การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด มักเป็นการให้ยาเข้าหลอดเลือด (ให้ยาทางหลอดเลือดดำ บางชนิดอาจให้ทางหลอดเลือดแดง) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ กิน หรือฉีดเข้าในช่องท้องหรือช่องปอด กรณีมีน้ำมะเร็งในช่องท้อง/ช่องปอดหรือใช้เป็นยาภายนอกใส่แผลมะเร็งโดยตรง

ยาเคมีบำบัดมีกี่ชนิด?


ตอบ
: ยาเคมีบำบัดมีหลากหลายชนิด ซึ่งเซลล์มะเร็งแต่ละชนิดจะตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดชนิดต่างๆ ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ในการรักษาโรคมะเร็งแต่ละชนิด จึงใช้ยาเคมีบำบัดแตกต่างกัน และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์มะเร็งให้ได้มากที่สุด ในการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ จึงมักใช้ยาเคมีบำบัดหลายชนิดร่วมกัน

ทำไมต้องใช้ยาเคมีหลายๆครั้ง?


ตอบ
: เหตุผลที่การรักษาด้วยเคมีบำบัด ต้องให้รักษาหลาย ครั้ง หรือหลายคอร์ส (courses) หรือเรียกอีกอย่างว่า ไซเคิล (cycles) เพราะเซลล์มะเร็งเป็นเซลล์ที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้เมื่อได้รับบาดเจ็บ ดังนั้น การให้ยาเคมีบำบัดเพียงครั้งเดียว มักไม่สามารถควบคุมเซลล์มะเร็งได้ จึงจำเป็นต้องให้ยาซ้ำหลายครั้ง/หลายคอร์ส/หลายไซเคิล

รู้ได้อย่างไรว่าต้องใช้ยาเคมีบำบัดชนิดใดและให้กี่คอร์ส?


ตอบ
: แพทย์ทราบได้ว่า การรักษาโรคมะเร็งชนิดใดต้องใช้ยาเคมีบำบัดชนิดใดและต้องให้ยากี่คอร์ส/ครั้ง/ไซเคิล จากการศึกษาทางการแพทย์ในการรักษาโรคมะเร็งชนิดนั้นๆ ในระยะต่างๆ

ก่อนรับยาเคมีบำบัดต้องเตรียมตัวอย่างไร?


ตอบ
: การเตรียมตัวก่อนได้รับเคมีบำบัด มักขึ้นอยู่กับชนิดของยาและวิธีการให้ยา ซึ่งแพทย์/พยาบาลด้านเคมีบำบัดจะเป็นผู้แนะยำ โดยทั่วไปคือไม่ต้องอดอาหาร/น้ำ แต่ควรบริโภคอาหารอ่อน ที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม เคมีบำบัดมักมีผลต่อการทำงานของไขกระดูก ตับ ไต และเกลือแร่ ดังนั้น ก่อนได้รับเคมีบำบัด แพทย์จึงต้องตรวจเลือด ซึ่งจำเป็นต้องงดอาหาร/น้ำดื่มประมาณ 6-8 ชั่วโมงก่อนการตรวจ เพื่อดูการทำงานของอวัยวะต่างๆ เหล่านี้ และจะตรวจเลือดเป็นระยะๆ โดยทั่วไปประมาณสัปดาห์ละครั้ง ตลอดระยะเวลาที่รับรักษา

การรับยาเคมีบำบัดต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลหรือไม่?


ตอบ
: การรักษาทางเคมีบำบัด มีทั้งการรักษาเป็นผู้ป่วยนอก การรักษาเป็นผู้ป่วยในเพียงระยะสั้นๆ 1-2 วัน หรือการรักษาเป็นผู้ป่วยในแบบระยะยาว อาจเป็นสัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษาโรค ผลข้างเคียง/แทรกซ้อนจากยา และสุขภาพของผู้ป่วย

ยาเคมีบำบัดมีผลข้างเคียงหรือไม่?


ตอบ
: ยาเคมีบำบัดทุกชนิดมีผลข้างเคียง/แทรกซ้อน แต่โดยทั่วไปเป็นผลข้างเคียง/แทรกซ้อนที่ยอมรับได้ ไม่มีอันตรายและไม่มีอาการรุนแรง ซึ่งในการให้ยาเคมีบำบัด แพทย์จะให้ยาป้องกัน/ลดอาการเหล่านี้อยู่แล้ว ได้แก่ อาการคลื่นไส้/อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องเสีย เจ็บในช่องปาก ผมร่วง และการกดไขกระดูก (มีเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือดต่ำ)

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำและการดูแลอย่างสม่ำเสมอ จากแพทย์/พยาบาลด้านเคมีบำบัด ทั้งก่อนรับการรักษา ระหว่างรับการรักษา และภายหลังรับการรักษา ซึ่งถ้าสงสัย/กังวลหรือมีอาการผิดปรกติ ผู้ป่วย/ครอบครัวควรปรึกษาแพทย์/พยาบาล อย่าเก็บความกังวลไว้

ฮอร์โมน

ฮอร์โมน คือ สารทางชีวเคมี (biochemical substances) ซึ่งมีหลายชนิด โดยสร้างขึ้นจากอวัยวะต่างๆในร่างกาย เช่น ต่อมไทรอยด์ รังไข่/อัณฑะ และต่อมใต้สมอง หรือสร้างขึ้นจากการสังเคราะห์ในอุตสาหกรรมยา

ฮอร์โมนมีคุณสมบัติในการกระตุ้นหรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตหรือการทำงานของเซลล์บางชนิด หรือภูมิคุ้มกัน/ต้านทานโรค ดังนั้น ในการรักษาโรคมะเร็งชนิดที่มีธรรมชาติของโรคตอบสนองต่อยาฮอร์โมน การรักษาด้วยฮอร์โมนจึงสามารถหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้

 ยาฮอร์โมนรักษามะเร็งได้อย่างไร?


ตอบ
: ฮอร์โมนเป็นยาที่ใช้รักษาได้เฉพาะโรคมะเร็งที่มีธรรมชาติของโรคตอบสนองต่อฮอร์โมนเท่านั้น เช่น โรคมะเร็งต่อมลูกหมากและโรคมะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่เป็นยาฮอร์โมนเพศ มีทั้งฮอร์โมนเพศชายและฮอร์โมนเพศหญิง โดยยาฮอร์โมนเหล่านี้จะช่วยหยุดยั้ง/ต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยไม่มีการฆ่าเซลล์ปรกติและเซลล์มะเร็ง ผลข้างเคียง/แทรกซ้อนจากการรักษาจึงน้อยกว่าเคมีบำบัดและรังสีรักษามาก

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคมะเร็งที่มีธรรมชาติของโรคตอบสนองต่อยาฮอร์โมน?


ตอบ
: แพทย์ทราบได้ว่าเป็นโรคมะเร็งชนิดมีธรรมชาติตอบสนองต่อฮอร์โมน จากการศึกษาทางการแพทย์เกี่ยวกับธรรมชาติของโรคมะเร็งชนิดต่างๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิดที่มีธรรมชาติของโรคตอบสนองต่อฮอร์โมน อาจไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยฮอร์โมนทุกราย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยจับฮอร์โมนได้หรือไม่ ซึ่งแพทย์ทราบได้จากการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา เพื่อดูการจับฮอร์โมนของเซลล์มะเร็งเหล่านั้น

สรุป โรคมะเร็งที่รักษาได้ผลด้วยฮอร์โมน และแพทย์ใช้ยาฮอร์โมนร่วมรักษาด้วย คือ โรคมะเร็งชนิดที่มีธรรมชาติของโรคตอบสนองต่อฮอร์โมนและมีเซลล์มะเร็งเป็นชนิดจับฮอร์โมนเท่านั้น

ยาฮอร์โมนรักษาโรคมะเร็งอะไรได้บ้าง?


ตอบ
: ปัจจุบันยาฮอร์โมนใช้รักษาโรคมะเร็งได้เพียงบางชนิดเท่านั้น ซึ่งได้แก่ โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะลุกลามรุนแรงหรือระยะแพร่กระจาย และโรคมะเร็งซาร์โคมามดลูกระยะลุกลามหรือระยะแพร่กระจาย

การให้ยาฮอร์โมนมีวิธีการอย่างไรบ้าง?


ตอบ
: การรักษาด้วยยาฮอร์โมนส่วนใหญ่เป็นยากิน แต่บางชนิดใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และบางชนิดใช้พ่นผ่านทางจมูก นอกจากนี้ วิธีการรักษาด้วยฮอร์โมนทีาสำคัญอีกวิธีหนึ่ง คือการผ่าตัดอวัยวะที่สร้างฮอร์โมน ได้แก่ การผ่าตัดรังไข่ในโรคมะเร็งเต้านม และการผ่าตัดอัณฑะในโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

การรักษาด้วยยาฮอร์โมนใช้เวลานานเท่าไร?


ตอบ
: ในโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมาก มีการศึกษาทางการแพทย์ชัดเจนว่า ควรให้ยาฮอร์โมนนานเท่าใด เช่น 5 ปี แต่โรคมะเร็งบางชนิดก็ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจน ดังนั้น ในโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่นอกเหนือจากโรคมะเร็งเต้านมและโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แพทย์จะให้คำแนะนำกับผู้ป่วยเป็นรายไป

 ยาฮอร์โมนมีผลข้างเคียงหรือไม่?


ตอบ
: การใช้ยาฮอร์โมนก็เช่นเดียวกับการใช้ยาทุกชนิด คือ อาจมีผลข้างเคียง/แทรกซ้อนได้ แต่ผลข้างเคียง/แทรกซ้อนจากยาฮอร์โมน มักไม่รุนแรง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของยา ปริมาณยาที่ได้รับในแต่ละครั้ง และปริมาณยาสะสม ผลข้างเคียง/แทรกซ้อนที่อาจพบก็เช่น อยากอาหาร ผิวแห้ง กลับมามีประจำเดือน (หลังหมดประจำเดือนไปแล้ว) กระดูกพรุน และปวดข้อ ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์/พยาบาล ก่อนได้รับการรักษาด้วยยาชนิดนั้นๆ หรือหากผู้ป่วยสงสัยควรสอบถามจากแพทย์/พยาบาล อย่าเก็บไว้หรืออย่าปรึกษากันเอง

ยารักษาตรงเป้า

ยารักษาตรงเป้า (targeted therapy) คือ ยารักษาโรคมะเร็งที่ไม่มีผลฆ่าตัวเซลล์มะเร็งโดยตรง แต่สามารถควบคุมเซลล์มะเร็งได้จากการขัดขวาง/หยุดยั้งขบวนการในเการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง เช่น ต้านการเจริญเติบโตของเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงเซลล์มะเร็ง จึงมีผลให้เซลล์มะเร็งขาดอาหาร ดังนั้น จึงควบคุมโรคมะเร็งได้ ซึ่งต่างจากรังสีรักษาและเคมีบำบัด ซึ่งเป็นการรักษาโดยการทำลาย/ฆ่าตัวเซลล์มะเร็งโดยตรง

ยารักษาตรงเป้ามีวิธีรักษาอย่างไร?


ตอบ
: ยารักษาตรงเป้า มีทั้งชนิดที่รักษาโดยการกิน และการฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของยา

ฃยารักษาตรงเป้ารักษาโรคมะเร็งชนิดใดได้บ้าง และต้องให้ยานานเท่าใด?


ตอบ
: ปัจจุบันกำลังมีการศึกษาในเรื่องของยารักษาตรงเป้าอย่างกว้างขวางในโรคมะเร็งเกือบทุกชนิด แต่การรักษาที่ให้ผลการควบคุมโรคมะเร็งได้ในระยะเวลาหนึ่งก่อนเกิดการดื้อยา (ยังไม่มีตัวยาใดที่สามารถรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดได้) คือ การรักษาโรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต โรคมะเร็งเต้านมชนิดเซลล์ตอบสนองต่อตัวยา โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งเนื้อเยื่อชนิดเซลล์ตอบสนองต่อตัวยา โรคมะเร็งระบบศีรษะ/ลำคอ และโรคมะเร็งระบบโรคหลอดเลือดชนิดเซลล์ตอบสนองต่อตัวยา ซึ่งแพทย์ทราบได้ว่าเป็นโรคมะเร็งตอบสนองต่อยารักษาตรงเป้า โดยตรวจชิ้นเนื้อมะเร็งด้วยวิธีพิเศษทางพยาธิวิทยา

ปัจจุบันการรักษาด้วยยารักษาตรงเป้า ใช้รักษาได้ผลเพียงในโรคมะเร็งบางชนิดและบางระยะเท่านั้น เช่น ในระยะดื้อต่อยาเคมีบำบัด นอกจากนี้ ยารักษาตรงเป้าส่วนใหญ่ยังจัดเป็นยาที่อยู่ในขั้นตอนของการศึกษา จึงยังไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้ป่วยควรได้รับยานานเท่าไร ในกรณีเช่นนี้ แพทย์มักพิจารณาจากการตอบสนองของผู้ป่วยต่อการใช้ยาเป็นรายๆ ไป แต่หากให้การรักษาแล้วไม่มีการตอบสนองต่อยา กล่าวคือ ก้อนมะเร็งไม่ยุบลงหรือกลับลุกลามมากขึ้น แพทย์จะหยุดการให้ยา แต่ถ้ามีการตอบสนอง โดยก้อนมะเร็งยุบลง แพทย์จะให้ยาต่อไปจนกว่าโรคจะเกิดการดื้อยา กล่าวคือ ก้อนมะเร็งกลับมามีขนาดโตขึ้นหรือเกิดการลุกลามแพร่กระจายใหม่

ยารักษาตรงเป้ารักษาโรคมะเร็งหายได้หรือไม่?


ตอบ
: ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคมะเร็งที่ใช้เพียงยารักษาตรงเป้าชนิดเดียวแล้วรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดได้ การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาร่วมกับยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา หรือการผ่าตัด เช่น ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านมชนิดรุนแรง ซึ่งการรักษาจะประกอบด้วยการผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา และยารักษาตรงเป้า หรือการรักษาโรคมะเร็งระบบศีรษะ/ลำคอระยะลุกลาม ด้วยรังสีรักษาร่วมกับยารักษาตรงเป้า นอกจากนี้คือนำมาเป็นการรักษาบรรเทา/ประทังอาการในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดและโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ดื้อต่อยาเคมีบำบัด

ยารักษาตรงเป้ามีค่าใช้จ่ายสูงหรือไม่?


ตอบ
: ปัจจุบันยารักษาตรงเป้ายังเป็นยาที่มีราคาสูงมาก จึงเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงได้ และยังไม่บรรจุอยู่ในยาหลักของการประกันสุขภาพของรัฐบาล แต่รัฐบาลจะพิจารณาผู้ป่วยเป็นรายๆ ไปตามคำแนะนำ/ชี้แจงของแพทย์ เฉพาะในกรณีที่ได้ประโยชน์กับผู้ป่วยอย่างแท้จริง ไม่ใช่รักษาเพื่อลองยา

ยารักษาตรงเป้า มีผลข้างเคียงอย่างไร?


ตอบ
: ยารักษาตรงเป้ามีผลข้างเคียง/แทรกซ้อน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของยา ซึ่งมีหลากหลายชนิด แต่จะเป็นผลข้างเคียง/แทรกซ้อนที่รุนแรงน้อยกว่ายาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา เช่น อาการท้องเดินหรือการเกิดสิวบริเวณใบหน้า แขน ขา และลำตัว แต่ยารักษาตรงเป้าจะไม่ทำให้ผมร่วงและคลื่นไส้อาเจียน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการรักษาด้วยยารักษาตรงเป้าแพทย์/พยาบาลจะเป็นผู้แนะนำผู้ป่วยในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งเมื่อผู้ป่วยมีข้อสงสัย ควรสอบถามจากแพทย์เพิ่มเติม

การปลูกถ่ายไขกระดูก/สเต็มเซลล์ในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด


ไขกระดูก คือ เนื้อเยื่อที่อยู่ภายในโพรงกระดูกทุกชิ้นของร่างกาย มีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ไขกระดูกประกอบด้วยเซลล์ต้นกำเนิด (stem cells) ของเม็ดเลือดชนิดต่างๆ ดังที่กล่าวแล้ว

สเต็มเซลล์ คือ เซลล์ตัวอ่อนที่มีอยู่ในเนื้อเยื่อ/อวัยวะทั่วๆไป เช่น ในไขกระดูก ในเลือด ในเยื่อเมือกบุช่องปาก และในฟันน้ำนม ซึ่งเป็นเซลล์ต้นกำเนิดของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ มีคุณสมบัติในการแบ่งตัว เจริญเติบโต และทำหน้าที่ได้เหมือนกับเซลล์ของเนื้อเยื่อ/อวัยวะนั้นๆ ดังนั้น เมื่อปลูกถ่ายสเต็มเซลล์นั้นๆ เข้าร่างกาย สเต็มเซลล์จึงสามารถเจริญเติบโตไปเป็นเนื้อเยื่อ/อวัยวะนั้นๆ ได้

ปัจจุบัน การปลูกถ่ายไขกระดูกหรือสเต็มเซลล์ เป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพวิธีการหนึ่ง ในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แต่การปลูกถ่ายไขกระดูกหรือสเต็มเซลล์ในการรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา

การปลูกถ่ายไขกระดูก/สเต็มเซลล์ในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองใช้รักษาในกรณีใด?


ตอบ
: การรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก/สเต็มเซลล์ ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่มีความรุนแรงของโรคสูงเท่านั้น คือ โรคในระยะดื้อต่อยาเคมีบำบัด โรคชนิดที่มีโอกาสเกิดการย้อนกลับเป็นซ้ำสูง (เช่นโรคที่เกิดจากเซลล์มะเร็งชนิดที่มีความรุนแรงของโรคสูง) และเมื่อมีโรคย้อนกลับเป็นซ้ำภายหลังครบการรักษาด้วยวิธีการมาตรฐานแล้ว

การปลูกถ่ายไขกระดูก/สเต็มเซลล์มีกระบวนการอย่างไร?


ตอบ
: วิธีการปลูกถ่ายไขกระดูก/สเต็มเซลล์ ได้แก่ การรักษาโดยการกำจัดไขกระดูกที่มีโรคมะเร็งอยู่ให้หมดไปด้วยเคมีบำบัด ซึ่งในบางโรคอาจร่วมกับการฉายรังสีรักษาทั้งตัว และภายหลังการกำจัดไขกระดูกที่มีโรคมะเร็งแล้ว จะมีการปลูกถ่ายเซลล์ไขกระดูก/สเต็มเซลล์ที่ปรกติกลับเข้าไปชดเชย โดยให้เซลล์ปรกติเหล่านี้กับผู้ป่วยผ่านทางหลอดเลือดดำ (ให้เหมือนการให้เลือด) ซึ่งเซลล์เหล่านี้จะไปเจริญเติบโตในโพรงกระดูกทั่วตัว กลายเป็นเซลล์ไขกระดูกปรกติ

การปลูกถ่ายไขกระดูก/สเต็มเซลล์ ได้เซลล์ปรกติมาจากไหน?


ตอบ
: เซลล์ไขกระดูก/สเต็มเซลล์ที่ปรกติ ได้มาจากหลายทาง ได้แก่ จากเซลล์ของตัวผู้ป่วยเอง (แพทย์มีวิธีการในการเลือกเก็บเฉพาะเซลล์ไขกระดูกปรกติจากเลือดของตัวผู้ป่วยเอง เรียกว่า ฟีรีซีส (pheresis) จากเลือดในสายสะดือของผู้ป่วยเองซึ่งเก็บไว้ตั้งแต่แรกเกิด และจากไขกระดูกของคนในครอบครัวหรือผู้อื่น ที่มีเซลล์ต้นกำเนิดที่ร่างกายผู้ป่วยยอมรับ/เข้ากับผู้ป่วยได้ ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้สเต็มเซลล์จากแหล่งใด ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแหล่งสเต็มเซลล์เหล่านั้น เช่น ถ้าไม่มีเลือดจากรก ก็จำเป็นต้องรับสเต็มเซลล์จากผู้อื่น แต่ถ้าสเต็มเซลล์ของผู้อื่นเข้ากับร่างกายผู้ป่วยไม่ได้ ก็จำเป็นต้องใช้สเต็มเซลล์จากเลือดของผู้ป่วยเอง

การปลูกถ่ายไขกระดูก/สเต็มเซลล์มีผลข้างเคียง/แทรกซ้อนหรือไม่?


ตอบ
: การรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก/สเต็มเซลล์ เป็นการรักษาที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และใช้เวลาในการรักษานานเป็นเดือน โดยผู้ป่วยต้องอยู่ในห้องแยกเฉพาะของโรงพยาบาล โดยมีผลข้างเคียง/แทรกซ้อนที่รุนแรงที่อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ในช่วงที่ไขกระดูก/สเต็มเซลล์ปรกติยังเจริญเติบโตได้ไม่ดี คือการติดเชื้ออย่างรุนแรง จากการที่ร่างกายขาดเม็ดเลือดขาว และการมีเลือดออกมากในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ จนแพทย์ควบคุมไม่ได้ และการขาดเกล็ดเลือดของผู้ป่วย

การปลูกถ่ายไขกระดูก/สเต็มเซลล์มีค่าใช้จ่ายสูงหรือไม่?


ตอบ
: การปลูกถ่ายไขกระดูก/สเต็มเซลล์มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมากเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงได้ แต่ในปัจจุบันแพทย์พยายามตั้งมูลนิธิขึ้น เพื่อหาเงินบริจาคสำหรับการรักษา/พยาบาลผู้ป่วยด้วยวิธีการนี้

การรักษาเพื่อบรรเทา/ประทังอาการ

การรักษาเพื้อบรรเทา/ประทังอาการ (palliation/palliative treatment/palliative care) คือ การรักษาตัวโรคมะเร็ง แต่ไม่ใช่การรักษาเพื่อหายขาด ทั้งนี้ เพราะโรคมะเร็งอยู่ในระยะที่ไม่มีวิธีการใดรักษาให้หายได้แล้ว หรือเป็นการรักษาตัวโรคมะเร็งในผู้ป่วยที่สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง/สมบูรณ์ พอที่จะทนหรือฟื้นตัวต่อผลข้างเคียง/แทรกซ้อนจากการรักษาเพื่อหายขาดได้ เช่นในผู้ป่วยสูงอายุ

การรักษาเพื่อบรรเทา/ประทังอาการ ยังคงให้การรักษาด้วยรังสีรักษา เคมีบำบัด การผ่าตัด ยาฮอร์โมน (ในโรคมะเร็งที่ตอบสนองต่อยาฮอร์โมน) และ/หรือยารักษาตรงเป้าได้ (แตาราคายังสูงมาก เกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงได้ และโดยทั่วไปวิธีการนี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา และยังไม่สามารถรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดได้) แต่ทั้งนี้ เพื่อหวังผลเพียงบรรเทา/ประทังอาการทรมานจากโรคมะเร็งเท่านั้น ไม่ใช่การรักษาให้หาย ดังนั้น การรักษาด้วยทุกวิธีการดังที่กล่าวแล้วจึงมีจำกัดมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียง/แทรกซ้อนต่อผู้ป่วย เช่น การลดปริมาณรังสีรักษาให้น้อยลง การเลือกใช้ยาเคมีบำบัดชนิดที่ก่อผลข้างเคียง/แทรกซ้อนต่ำกว่า แทนการใช้ยาชนิดที่ใช้รักษาเพื่อหายขาด หรือการผ่าตัดที่ไม่มีการสูญเสียอวัยวะ เพียงเพื่อบรรเทา/ประทังอาการ เช่นการเจาะคอใส่ท่อช่วยหายใจ เมื่อผู้ป่วยมีก้อนเนื้อมะเร็งอุดตันในลำคอ

นอกจากนี้ การรักษาเพื่อบรรเทา/ประทังอาการ จะให้การรักษาควบคู่ไปกับการรักษาแบบประคับประคอง/พยุงอาการ/การรักษาด้านอายุรกรรมทั่วไปเสมอ เพราะเป้าหมายหลักของการรักษา คือการรักษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ไม่ใช่การรักษาโรคมะเร็งให้หายขาด

รังสีรักษาและเคมีบำบัดที่ใช้เพื่อการรักษาบรรเทา/ประทังอาการ ต่างจากการรักษาเพื่อหายขาดอย่างไร?


ตอบ
: รังสีรักษาและเคมีบำบัดที่ใช้รักษาบรรเทา/ประทังอาการจากโรคมะเร็ง เป็นการรักษาที่ใช้รักษาตัวโรคมะเร็งในผู้ป่วยที่ถึงแม้โรคมะเร็งจะอยู่ในระยะรักษาไม่หาย แต่ผู้ป่วยยังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง หรือการรักษาตัวโรคมะเร็งในผู้ป่วยที่สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง แต่มีโอกาสมีชีวิตอยู่ได้นานเกิน 6 เดือนขึ้นไป

การให้รังสีรักษาและ/หรือเคมีบำบัด เพื่อบรรเทา/ประทังอาการ (บางครั้งอาจเป็นการผ่าตัด เช่นการผ่าตัดสมองในโรคมะเร็งที่มีการแพร่กระจายเข้าสมอง ตับ ปอด หรือไขสันหลัง) จึงให้เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ ชะลอการเจริญเติบโตของก้อนมะเร็ง (ไม่ใช่กำจัดมะเร็งให้หมดไป) เพื่อชะลออาการต่างๆ ที่อาจเกิดจากตัวโรคมะเร็ง ไม่ใช่เกิดขึ้นในช่วงที่ผู้ป่วยยังมีสุขภาพแข็งแรง และเพื่อบรรเทา/ประทังอาการบางอาการซึ่งเกิดจากโรคมะเร็ง เช่น อาการปวดจากการที่มะเร็งแพร่กระจายเข้ากระดูก อาการอัมพฤกษ์/อัมพาตจากโรคมะเร็งแพร่กระจายเข้าสมองหรือไขสันหลัง หรืออาการไอเป็นเลือดในโรคมะเร็งปอด ทั้งนี้ มุ่งเน้นที่คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

การรักษาเพื่อบรรเทา/ประทังอาการนี้ เป็นการรักษาที่มีผลข้างเคียง/แทรกซ้อนน้อยมาก ไม่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยแพทย์จะหยุดการรักษาทันที หากพบว่าการรักษาไม่ได้ผลหรือผู้ป่วยเริ่มมีผลข้างเคียงแทรกซ้อน ดังนั้น ในการใช้รังสีรักษาจะเป็นการฉายรังสีมนปริมาณต่ำ ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 1-3 สัปดาห์ (หากเป็นการรักษาเพื่อหายขาด มักจะฉายรังสีรักษานานประมาณ 5-7 สัปดาห์) ส่วนการใช้เคมีบำบัดแพทย์จะเลือกใช้ตัวยาชนิดที่มีผลข้างเคียง/แทรกซ้อนต่ำกว่าในการรักษาเพื่อการหายขาด และจะหยุดให้การรักษาทันทีเช่นกัน หากผู้ป่วยเริ่มมีผลข้างเคียง/แทรกซ้อนจากกการรักษา

การรักษาเพื่อบรรเทา/ประทังอาการ ต่างจากการรักษาเพื่อประคับประคอง/พยุงอาการอย่างไร?


ตอบ
: การรักษาเพื่อบรรเทา/ประทังอาการ เป็นการรักษาตัวโรคมะเร็ง แต่ไม่ใช่เพื่อการหายขาด ส่วนการรักษาเพื่อประคับประคอง/พยุงอาการเป็นการรักษาประคับประคอง/พยุงอาการตามอาการของผู้ป่วยเท่านั้น ไม่ใช่การรักษาตัวโรคมะเร็ง (อ่านเพิ่มเติมในบท การรักษาเพื่อประคับประคอง/พยุงอาการ/การรักษาทางอายุรกรรมทั่วไป)

การรักษาแบบประคับประคอง/พยุงอาการ/การรักษาทางอายุรกรรมทั่วไป

การรักษา/พยาบาลแบบประคับประคอง/พยุงอาการ หรือประคับประคองตามอาการ (supportive care) ในโรคมะเร็ง หมายถึง การรักษาโรคมะเร็งซึ่งดูแลรักษา/พยาบาลเพื่อการประคับประคอง/พยุงอาการของผู้ป่วย โดยการใช้อาการและสุขภาพของผู้ป่วยเป็นหลัก/เป็นตัวบ่งชี้ในการรักษา ทั้งนี้ ไม่ใช่การรักษาตัวโรคมะเร็ง

การรักษาแบบประคับประคอง/พยุงอาการ เป็นการรักษาเพื่อคงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เป็นวิธีการรักษาที่สำคัญที่สุดวิธีการหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเป็นวิธีการที่ใช้รักษาผู้ป่วยในทุกระยะของโรคมะเร็ง

ในระยะโรครักษาหายได้ การรักษาแบบประคับประคอง/พยุงอาการจะใช้รักษาร่วมกับการผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด และยารักษาโรคมะเร็งทุกชนิด เพื่อรักษา/บรรเทาผลข้างเคียง/แทรกซ้อนจากการรักษาวิธีต่างๆ เหล่านั้น

ส่วนโรคในระยะที่รักษาไม่หาย การรักษาแบบประคับประคอง/พยุงอาการจะใช้รักษาร่วมกับการรักษาเพื่อบรรเทา/ประทังอาการ เพื่อบรรเทาอาการทรมานจากโรคมะเร็งและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

การรักษาแบบประคับประคอง/พยุงอาการ เป็นการรักษาหลักในผู้ป่วยระยะที่โรคมะเร็งดื้อต่อการรักษาทุกวิธีการ และระยะบั้นปลายชีวิต

วิธีการรักษา/พยาบาลในการประคับประคอง/พยุงอาการ เป็นการรักษาทางอายุรกรรมทั่วไป (general medicine) ไม่มีการผ่าตัดใหญ่ รังสีรักษา เคมีบำบัด หรือยารักษาตัวโรคมะเร็งอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม การรักษา/พยาบาลประคับประคอง/พยุงตามอาการในบางครั้ง อาจมีการผ่าตัด แต่เป็นการผ่าตัดเล็ก เพียงเพื่อบรรเทาอาการผู้ป่วยเท่านั้น เช่นการเจาะคอใส่ท่อเพื่อช่วยการหายใจ

การรักษาด้วยการประทัง/พยุงอาการ/การรักษาทางอายุรกรรมทั่วไปมีวิธีการอย่างไร?


ตอบ
: วิธีการรักษา/พยาบาลด้วยการประทัง/พยุงอาการ/การรักษาทางอายุรกรรมทั่วไป เช่น

  • การเจาะน้ำออกจากปอดหรือช่องท้อง ในโรคมะเร็งที่มีน้ำมะเร็งท่วมปอดหรือช่องท้อง
  • การรักษา/พยาบาลโรคร่วมอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งและมีโรคเบาหวานร่วมด้วยและ/หรือมีแผลจากโรคเบาหวาน การรักษา/พยาบาล ได้แก่ การควบคุมโรคเบาหวานด้วยยา อาหาร และการออกกำลังกายและการดูแล/พยาบาลแผลจากโรคเบาหวานด้วยยา การทำแผล หรือการผ่าตัด
  • รักษา/พยาบาลเพื่อประคับประคอง/พยุงอาการ จากผลข้างเคียง/แทรกซ้อนของวิธีการรักษาต่างๆ ที่ใช้รักษาตัวโรคมะเร็ง (การผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด และยารักษามะเร็งชนิดต่างๆ) ทั้งผลข้างเคียง/แทรกซ้อนระยะเฉียบพลันและระยะยาว เช่น การให้น้ำเกลือ/การให้อาการทางน้ำเกลือ เมื่อผู้ป่วยบริโภคอาหารได้น้อย เนื่องจากเจ็บในช่องปาก/ลำคอ การให้เลือดเมื่อผู้ป่วยมีภาวะซีด หรือการจี้แผลเลือดออกทางทวารหนักซึ่งเป็นผลข้างเคียง/แทรกซ้อนระยะยาวจากรังสีรักษาในโรคมะเร็งปากมดลูก
  • รักษา/พยาบาลเพื่อประคับประคอง/พยุงผู้ป่วยตามอาการจากสาเหตุต่างๆ เช่น การให้น้ำเกลือในภาวะขาดน้ำ ขาดเกลือแร่ หรือขาดอาหาร การให้ออกซิเจนเมื่อหายใจเหนื่อย/หอบ การให้เลือดในภาวะซีด การให้ยาบรรเทาปวด การให้ยานอนหลับ การสวนทวารเมื่อมีอาการท้องผูกมาก การทำกายภาพฟื้นฟูที่เตียงผู้ป่วย เพื่อไม่ให้เกิดการยึดติดของข้อ/กล้ามเนื้อ การดูแลเพื่อป้องกันเกิดแผลกดทับ การใช้เครื่องช่วยหายใจ และการดูแลด้านอารมณ์จิตใจ/ด้านจิตเวช

การรักษาเพื่อประคับประคอง/พยุงอาการ/การรักษาทางอายุรกรรมทั่วไป ใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในระยะใด?


ตอบ
: การรักษาเพื่อประคับประคอง/พยุงอาการ/การรักษาทางอายุรกรรมทั่วไป เป็นวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งที่สำคัญที่สุด ซึ่งใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในทุกระยะโรค ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาอาการต่างๆ ที่เกิดจากตัวโรคมะเร็งจากผลข้างเคียง/แทรกซ้อนของวิธีการรักษาโรคมะเร็ง จากโรคร่วมต่างๆ ที่เกิดจากปัญหาสุขภาพของผู้ป่วย และปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจของผู้ป่วย ดังที่กล่าวแล้ว

การรักษาวิธีอื่นๆ ที่อยู่ในระหว่างการศึกษา

การรักษาวิธีอื่นๆ ในโรคมะเร็ง ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษา ยังไม่สามารถนำมาเป็นการรักษาในทางปฏิบัติทั่วไปได้ ได้แก่

  • การรักษาด้วยความร้อน
  • การรักษาด้วยชีวสารรักษา
  • ยาเพิ่มภูมิคุ้มกัน/ต้านทานโรค
  • วัคซีน
  • การปลูกถ่ายอวัยวะ

การรักษาด้วยความร้อน (hyperthermia)

การรักษาโดยการใช้ความร้อน คือ การรักษาที่นำความร้อนสูงมาช่วยให้เซลล์มะเร็งตอบสนองต่อรังสีรักษาหรือเคมีบำบัดได้ดีขึ้น โดยมีเครื่องมือที่ใช้เพิ่มมอุณหภูมิให้ก้อนมะเร็ง ในขณะที่ให้รังสีรักษาและเคมีบำบัด ทั้งนี้ เพราะเซลล์มะเร็งบางชนิดที่ดื้อต่อรังสีรักษาหรือยาเคมีบำบัด จะตอบสนองต่อรังสีรักษาหรือเคมีบำบัดได้ดีขึ้นเมื่ออยู่ในภาวะอุณหภูมิสูง เช่น โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา และในโรคมะเร็งรังไข่ระยะลุกลามจนเกิดน้ำมะเร็งในช่องท้อง

การรักษาด้วยชีวสารรักษา (biotherapy)

ชีวสารรักษา คือยาที่มีคุณสมบัติเหมือนสารต้านทานเซลล์แปลกปลอมซึ่งมีอยู่ในร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์ หรือสารเพิ่มภูมิคุ้มกัน/ต้านทานโรคของมนุษย์หรือสัตว์ เมื่อนำมาใช้เป็นยาจะมีคุณสมบัติหยุดยั้ง/ต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งบางชนิดได้

เป็นยาที่เชื่อว่ามีผลข้างเคียงน้อย และเมื่อใช้ร่วมกับการรักษาหลัก คือ การผ่าตัด รังสีรักษา หรือเคมีบำบัด จะช่วยเพิ่มผลการรักษาโดยไม่เพิ่มผลข้างเคียง/แทรกซ้อน เช่น ยาอินเทอร์ลิวคิน (interleukins) หรืออินเทอร์เฟียรอน (interferons) ในปัจจุบันมักรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกับยารักษาตรงเป้า (targeted therapy)

ยาเพิ่มภูมิคุ้มกัน/ต้านทานโรค (immunotherapy)

ยาเพิ่มภูมิคุ้มกัน/ต้านทานโรค คือ ยา (อาจเป็นตัวยาหรือเป็นวัคซีน) ที่ภายหลังการได้รับแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกัน/ต้านทานต่อเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งหยุดการเจริญเติบโตและหรืออาจทำให้เซลล์ตายได้ เช่นการใช้วัคซีนวัณโรคแช่ในกระเพาะปัสสาวะ เพื่อการรักษาโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะศูนย์

วัคซีน

การให้วัคซีน มีหลักการเช่นเดียวกับการให้ยาเพิ่มภูมิคุ้มกัน/ต้านทานโรคมะเร็ง เป็นการรักษาในกลุ่มเดียวกัน แต่วิธีการรักษาหรือตัวยาเป็นวัคซีน (อาจผลิตจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือจากตัวเซลล์มะเร็งเอง) ปัจจุบันกำลังมีการศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนโรคมะเร็งกันอย่างกว้างขวาง ทั้งเพื่อการป้องกันและเพื่อการรักษา เพราะเป็นการรักษาที่มีผลข้างเคียง/แทรกซ้อนต่ำ การรักษาด้วยวิธีการนี้ที่กำลังศึกษาอยู่ เช่น ในโรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งสมอง โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ โรคมะเร็งตับอ่อน โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งปากมดลูก และโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

การปลูกถ่ายอวัยวะ (organ transplantation)

การปลูกถ่ายอวัยวะ รวมทั้งการปลูกถ่ายไขกระดูก (ในโรคมะเร็งชนิดอื่นที่ไม่ใช่มะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง) หลักการคือ กำจัดเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เป็นโรคมะเร็งให้หมด (อาจโดยการผ่าตัด เคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา) และนำอวัยวะใหม่ที่ไม่มีโรคมะเร็งปลูกถ่ายแทน เช่น การปลูกถ่ายตับในโรคมะเร็งตับ และการปลูกถ่ายไตในโรคมะเร็งไต

การแพทย์สนับสนุนและการแพทย์ทางเลือก

การแพทย์สนับสนุน (complementary medicine) คือการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีการรักษาแบบไม่รุกราน (non invasive) มีผลข้างเคียง/แทรกซ้อนน้อยหรือไม่มีเลย ที่สำคัญคือไม่ปฏิเสธ แต่ยอมรับการรักษาแผนปัจจุบัน (conventional medicine) นอกจากนี้ยังเป็นที่ใช้สนับสนุนการแพทย์แผนปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เช่น การทำสมาธิ การออกกำลังกายและศิลปะบำบัด

การแพทย์ทางเลือก (alternative medicine) คือ การรักษาโรคมะเร็งที่ปฏิเสธการรักษาแผนปัจจุบัน นอกจากนี้ บางวิธีการยังเป็นการรักษาแบบรุกราน (invasive) และอาจมีผลข้างเคียง/แทรกซ้อนจากการรักษามาก เช่น การไม่ให้ผู้ป่วยฉายรังสีรักษา แต่ให้ยาสมุนไพร ใช้ยาพอกก้อนมะเร็ง เคาะ/ตี/แทงก้อนมะเร็ง หรือให้ผู้ป่วยอดอาหารแทน

การแพทย์สนับสนุนและการแพทย์ทางเลือก ภาษาอังกฤษรวมใช้ตัวย่อว่า CAM (complementary and alternative medicine)

การแพทย์องค์รวม (holistic medicine) ได้แก่ การรักษาที่รักษาทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณไปพร้อมกัน วิธีการรักษามักเป็นวิธีการทางการแพทย์สนับสนุนและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งบางวิธีการอาจใช้ร่วมกับการรักษาแผนปัจจุบันได้ดี แต่หลายวิธีการอาจขัดกับการแพทย์แผนปัจจุบัน

การแพทย์ผสมผสาน (integrative medicine) คือ การรักษาที่รวมทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน และการฟื้นฟูร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณไปพร้อมกัน เป็นการรักษาร่วมกันทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์สนับสนุน และการแพทย์ทางเลือก (ซึ่งไม่ขัดต่อการแพทย์แผนปัจจุบัน)

ก่อนตัดสินใจใช้การแพทย์วิธีต่างๆ ที่นอกเหนือจากการแพทย์แผนปัจจุบัน ผู้ป่วย/คนในครอบครัวควรต้องปรึกษาแพทย์/พยาบาลผู้ให้การรักษาโรคมะเร็งแผนปัจจุบันก่อนเสมอ เพื่อไม่ให้การรักษาขัดกัน

ทำไมแพทย์แผนปัจจุบันไม่ยอมรับการรักษาด้วยการแพทย์สนับสนุนและการแพทย์ทางเลือก?


ตอบ
: แพทย์แผนปัจจุบันต่อต้านเฉพาะการบำบัด/รักษาที่ห้ามผู้ป่วยรักษาโรคมะเร็งด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้น ดังนั้น การบำบัดรักษาด้วยวิธีการต่างๆ ที่ไม่ขัด/ไม่เป็นอุปสรรคต่อการแพทย์แผนปัจจุบัน ภายหลังการพูดคุยปรึกษากับแพทย์โรคมะเร็งแผนปัจจุบันแล้ว อาจนำมาใช้รักษาร่วมกันได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ผู้ป่วย/คนในครอบครัว ไม่ควรลังเลที่จะปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบันด้านโรคมะเร็ง ก่อนตัดสินใจใช้การบำบัดด้วยการแพทย์สนับสนุนและการแพทย์ทางเลือก

การแพทย์สนับสนุนและการแพทย์ทางเลือกมีผลข้างเคียงหรือไม่?


ตอบ
: การบำบัดรักษาทุกวิธีการล้วนมีผลข้างเคียง/แทรกซ้อน การแพทย์สนับสนุน การแพทย์ทางเลือกก็เช่นกัน ผลข้างเคียงแทรกซ้อนที่สำคัญที่สุดเมื่อปฏิเสธการรักษาแผนปัจจุบัน คือการลุกลามแพร่กระจายของโรคมะเร็ง เนื่องจากสูญเสียเวลาในการรักษาตั้งแต่ระยะที่โรคยังมีโอกาสรักษาหายได้ไปกับการแพทย์ที่เกิดจากความเชื่อ นอกจากนี้ ในการรักษาด้วยสมุนไพรชนิดต่างๆ ซึ่งมักมีผลกดไขกระดูกอย่างรุนแรง เมื่อโรคมะเร็งลุกลามและผู้ป่วยตัดสินใจกลับมารักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันก็มักสายไปแล้ว เพราะโรคลุกลามและกดไขกระดูกมาก จนยากต่อการให้เคมีบำบัด รังสีรักษา หรือผ่าตัด

ถ้าอยากใช้การแพทย์สนับสนุนหรือการแพทย์ทางเลือกควรทำอย่างไร?


ตอบ
: ถ้าอยากใช้การแพทย์สนับสนุนหรือการแพทย์ทางเลือก ครอบครัวผู้ป่วยควรพิจารณา ดังนี้

  • อย่าตัดสินใจด้วยความกลัวต่อการรักษาแผนปัจจุบัน
  • ตอบตนเองให้ได้ว่า ทำไมอยากรับการรักษาด้วยวิธีนั้นๆ เพื่อจะได้เข้าใจความต้องการของตนเอง และแก้ปัญหาได้ตรงจุด
  • ศึกษาให้ดีว่าการรักษาวิธีนั้นๆ เป็นการรักษาจากผู้ที่เชื่อถือได้หรือไม่ (หมายถึงประกอบวิชาชีพใด)
  • สถานที่ที่ให้การรักษาเป็นอย่างไร เครื่องมือ/เครื่องใช้ที่ใช้ในการรักษาเป็นอย่างไร น่าเชื่อถือหรือไม่
  • รู้ตัวยาที่ใช้ในการรักษาหรือไม่
  • ใช้ระยะเวลานานเท่าไรจึงเห็นผลการรักษา
  • รู้หรือไม่ว่าการรักษาวิธีนั้นๆ มีผลข้างเคียง/แทรกซ้อนอะไร/อย่างไร และถ้าเกิดผลข้างเคียง/แทรกซ้อนจะมีวิธีการรักษาอย่างไร และรักษาโดยใคร
  • สิ่งที่ผู้ป่วย/คนในครอบครัวเชื่อ มีหลักฐานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์/ทางการแพทย์ยืนยันหรือไม่
  • ค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นอย่างไร
  • ควรปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบันที่ให้การรักษาโรคมะเร็งก่อนตัดสินใจ

13 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
How Cancer Is Treated. Verywell Health. (https://www.verywellhealth.com/cancer-treatment-4014177)
Cancer: Overview, causes, treatments, and types. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/323648)
Understanding cancer: diagnosis and treatment. WebMD. (https://www.webmd.com/cancer/understanding-cancer-treatment#1)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
5 หนังสือทำอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง
5 หนังสือทำอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

การทำอาหารง่าย ๆ ที่มีโภชนาการที่เหมาะสมระหว่างการรักษาโรคมะเร็ง

อ่านเพิ่ม
การต่อต้านภัยมะเร็ง มีสีอะไรบ้าง และแต่ละเดือนมีอะไรบ้าง
การต่อต้านภัยมะเร็ง มีสีอะไรบ้าง และแต่ละเดือนมีอะไรบ้าง

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการซื้อสินค้าเพื่อการต่อต้านภัยมะเร็ง

อ่านเพิ่ม
มะเร็งเป็นโรคติดต่อหรือไม่?
มะเร็งเป็นโรคติดต่อหรือไม่?

คำตอบต่อคำถามทางสุขภาพที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง

อ่านเพิ่ม