มะเร็งกระเพาะปัสสาวะคือ มะเร็งที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุภายในกระเพาะปัสสาวะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนจนเป็นก้อนเนื้องอกและมะเร็งในที่สุด ซึ่งสามารถรักษาได้หลายวิธีขึ้นกับระยะและความรุนแรงของโรคที่เป็น ได้แก่ การผ่าตัดก้อนเนื้องอกออกจากมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ไปจนถึงการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมด และการผ่าตัดทำรูเปิดเพื่อระบายปัสสาวะที่หน้าท้อง และอาจรักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา โดยผู้ป่วยแต่ละรายจะรักษาด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน
บทนำ
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (bladder cancer) คือมะเร็งที่เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ จนเป็นก้อนเนื้องอกและเป็นมะเร็งในที่สุด ในผู้ป่วยบางราย ก้อนเนื้องอกจะแพร่กระจายเข้าสู่กล้ามเนื้อรอบๆ กระเพาะปัสสาวะด้วย
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
อาการของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะที่พบบ่อยที่สุดคือ ปัสสาวะเป็นเลือด โดยทั่วไปมักไม่มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย
หากคุณมีอาการปัสสาวะเป็นเลือด แม้ว่าจะมีอาการเป็นๆ หายๆ คุณควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
ชนิดของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
เมื่อคุณได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ แพทย์จะจัดแบ่งชนิดของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะจากการแพร่กระจายของมะเร็งว่าแพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใด
ถ้าเซลล์มะเร็งยังคงอยู่เฉพาะบริเวณเยื่อบุผนังกระเพาะปัสสาวะ แพทย์จะเรียกว่าเป็นมะเร็งชนิด non-muscle-invasive bladder cancer หรือมะเร็งที่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ โดยพบได้ประมาณ 7 ใน 10 ของผู้ป่วยทั้งหมด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่เสียชีวิตจากมะเร็งกระเพาะปัสสาวะชนิดนี้
หากเซลล์มะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ เราเรียกว่า muscle-invasive bladder cancer ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดที่พบได้น้อยกว่า แต่จะเป็นมะเร็งชนิดที่มีโอกาสสูงที่จะลุกลามแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย และทำให้เสียชีวิตได้
ถ้ามะเร็งกระเพาะปัสสาวะแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เราเรียกว่ามะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะแพร่กระจาย (metastatic bladder cancer)
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะเกิดขึ้นได้อย่างไร
ส่วนใหญ่แล้วมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมีสาเหตุมาจากการสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของเซลล์กระเพาะปัสสาวะซึ่งจะกินระยะเวลาหลายปี
การสูบบุหรี่คือสาเหตุที่พบได้บ่อย และประมาณการว่าประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่
การสัมผัสกับสารเคมีบางชนิดที่เคยมีการใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ก็เป็นสาเหตุของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้เช่นกัน แม้ว่าในปัจจุบันสารเคมีนั้นจะถูกห้ามการใช้แล้วก็ตาม
การรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
ในผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะชนิดยังไม่แพร่กระจายไปยังกล้ามเนื้อ แพทย์มักทำการผ่าตัดโดยตัดเนื้องอกมะเร็งออกจากกระเพาะปัสสาวะ
การผ่าตัดนี้จะทำโดยการผ่าตัดโดยการส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปตัดเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ (transurethral resection of a bladder tumour (TURBT) หลังจากนั้นผู้ป่วยจะได้รับยาเคมีบำบัดโดยใส่เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะโดยตรงเพื่อลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งซ้ำ
ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่มะเร็งจะกลับมาเป็นซ้ำ แพทย์อาจใช้ยาที่ชื่อว่า Bacillus Calmette-Guérin (BCG) ฉีดเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะโดยตรงเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งซ้ำ
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
การรักษาผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะชนิดยังไม่แพร่กระจายสู่ชั้นกล้ามเนื้อที่มีความเสี่ยงสูง หรือมะเร็งกระเพาะปัสสาวะที่แพร่กระจายสู่ชั้นกล้ามเนื้อแล้ว อาจใช้การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออก หรือที่เรียกว่า cystectomy
เมื่อแพทย์ผ่าตัดเอากระเพาะปัสสาวะออกจากร่างกายแล้ว คุณจำเป็นต้องใช้วิธีการอื่นในการกักเก็บปัสสาวะที่ขับถ่ายออกจากร่างกาย ทางเลือกที่เป็นไปได้คือการเปิดรูที่หน้าท้องเพื่อให้ปัสสาวะไหลเข้าสู่ถุงกักเก็บปัสสาวะภายนอกร่างกาย หรือการผ่าตัดนำส่วนของลำไส้มาดัดแปลงเป็นกระเพาะปัสสาวะใหม่ ซึ่งจะทำไปพร้อมๆ กับการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออก
หากมีความเป็นไปได้ที่สามารถหลีกเลี่ยงการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออก หรือการผ่าตัดไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยรายนี้ แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยรังสีรักษา และยาเคมีบำบัด การใช้ยาเคมีบำบัดบางครั้งถูกใช้ก่อนการผ่าตัด หรือใช้ก่อนการใช้ร่วมกับรังสีรักษา
ภายหลังการรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะสิ้นสุดลง คุณจะต้องไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามอาการแสดงของการกลับมาเป็นซ้ำ
ใครบ้างที่เป็นโรคนี้
โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะพบได้ประมาณ 3% ของโรคมะเร็งทั้งหมด พบได้บ่อยในคนอายุมาก โดยพบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไป
โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่มากกว่า และทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่าผู้หญิง
อาการของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะมีเลือดปน คืออาการที่พบได้บ่อยสุดของโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
อาการปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีเลือดปน คำศัพท์ทางการแพทย์ คือ haematuria และโดยทั่วไปจะไม่มีอาการปวด คุณอาจเห็นเลือดในปัสสาวะ หรือเลือดอาจทำให้ปัสสาวะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แต่บางครั้งก็อาจสังเกตไม่เห็นเลือด และอาการจะเป็นๆ หายๆ
อาการอื่นๆ ที่พบได้น้อยกว่า ได้แก่:
- ต้องการปัสสาวะบ่อยครั้งกว่าปกติ
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
- ปัสสาวะแสบขัด
ถ้าโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นรุนแรงขึ้นและมีการลุกลามแพร่กระจาย ผู้ป่วยจะมีอาการ:
- ปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน
- ปวดกระดูก
- น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ
- ขาบวม
เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์
หากคุณมีอาการปัสสาวะเป็นเลือด มีเลือดปนในปัสสาวะ แม้จะมีอาการเป็นๆ หายๆ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
การปัสสาวะเป็นเลือด ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเสมอไป เพราะมีโรคอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยกว่า ได้แก่:
- การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- การติดเชื้อที่ไต
- นิ่วในไต
- ท่อปัสสาวะอักเสบ
- ต่อมลูกหมากโตในผู้ชาย
สาเหตุของโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งมักสัมพันธ์กับการสัมผัสสารเคมีบางชนิด แต่ก็ไม่จำเป็นต้องทราบสาเหตุของโรคเสมอไป
โรคมะเร็งคืออะไร?
โรคมะเร็งเกิดขึ้นจากการกลายพันธุ์ของโครงสร้างดีเอ็นเอ (DNA) ภายในเซลล์ ทำให้ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์นั้น ทำให้เซลล์เจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนอย่างควบคุมไม่ได้ ทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้องอกขึ้นมา
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
มีปัจจัยหลายปัจจัยที่มีค้นพบว่าจะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะอย่างมีนัยสำคัญ
การสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่คือปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และเป็นสาเหตุส่วนของของผู้ป่วย เพราะบุหรี่ประกอบไปด้วยสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง (carcinogenic)
หากคุณสูบบุหรี่เป็นเวลาหลายปี สารเคมีจะเข้าสู่กระแสเลือดและถูกกรองที่ไตไปเป็นปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะสัมผัสกับปัสสาวะที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็งซ้ำๆ เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะทำหน้าที่เก็บกักปัสสาวะก่อนปัสสาวะออกจากร่างกาย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุภายในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งตามมา
ประมาณการว่ามากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมากกว่าผู้ที่ไม่สูบมากถึง 4 เท่า
การสัมผัสกับสารเคมี
การสัมผัสกับสารเคมีในทางอุตสาหกรรมคือปัจจัยเสี่ยงสำคัญอันดับ 2 ข้อมูลจากการศึกษาประมาณการว่าอาจเป็นสาเหตุได้ถึงประมาณ 25% ของผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะทั้งหมด
สารเคมีที่พบว่าเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ได้แก่:
- aniline dyes
- 2-Naphthylamine
- 4-Aminobiphenyl
- xenylamine
- benzidine
- o-toluidine
การทำงานที่สัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มีสาเหตุมาจากงานอุตสาหกรรมบางอย่าง:
- สี
- สิ่งทอ
- ยาง
- สีทาต่างๆ
- พลาสติก
- การฟอกหนังด้วยสี
งานบางอย่างที่ไม่ใช่งานในทางอุตสาหกรรมก็มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเช่นกัน เช่น คนขับรถแท็กซี่ คนขับรถโดยสารประจำทาง เป็นต้น เพราะคนเหล่านี้สัมผัสกับสารเคมีในไอเสียรถยนต์เป็นประจำ
หลังจากเริ่มมีการค้นพบความสัมพันธ์ของสารเคมีบางอย่างกับการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีการควบคุมการใช้สารเคมีต่างๆ เข้มงวดมากขึ้น
อย่างไรก็ตามแม้ว่าการสัมผัสสารเคมีต่างๆ เหล่านี้จะสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะในปัจจุบันได้ เพราะต้องใช้เวลามากถึง 30 ปี หลังสัมผัสสารเคมีนั้นๆ ครั้งแรก ก่อนที่จะเริ่มเป็นโรคมะเร็ง
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่สามารถเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ได้แก่
- รังสีรักษา ที่ใช้สำหรับรักษาโรคมะเร็งในตำแหน่งที่ใกล้กับกระเพาะปัสสาวะมาก่อนหน้านี้ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่
- การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดมาก่อนหน้านี้ เช่น ยา cyclophosphamide และ cisplatin
- การผ่าตัดเพื่อนำต่อมลูกหมากบางส่วนออกจากโรคต่อมลูกหมากโต
- เป็นโรคเบาหวาน- โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมีคามสัมพันธ์กับโรคเบาหวานชนิดที่ 2
- ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเรื้อรัง หรือเป็นบ่อยครั้ง
- มีสายคาในกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลานาน อันเนื่องมาจากคุณมีความเสียหายเกิดขึ้นที่เส้นประสาทและเป็นอัมพาต
- เป็นนิ่วในไตเป็นเวลานาน
- หมดประจำเดือนเร็วกว่าปกติ (ก่อนอายุ 42 ปี)
- ติดเชื้อพยาธิใบไม้เลือด (schistosomiasis) แล้วไม่ได้ทำการรักษา เป็นพยาธิที่มีชีวิตอยู่ในแหล่งน้ำ
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะแพร่กระจายได้อย่างไร?
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะจะเริ่มต้นขึ้นที่เซลล์เยื่อบุในกระเพาะปัสสาวะ ในบางรายจะมีการลุกลามแพร่กระจายเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ เมื่อมะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่กล้ามเนื้อแล้ว ทำให้สามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ โดยทั่วไปจะแพร่กระจายผ่านระบบน้ำเหลือง
ถ้ามะเร็งกระเพาะปัสสาวะแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายแล้ว เช่น อวัยวะอื่นๆ เราเรียกว่ามะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะแพร่กระจาย (metastatic bladder cancer)
การวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
หากคุณมีอาการของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด มีเลือดปนในปัสสาวะ คุณควรเข้าพบแพทย์โดยเร็วเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
แพทย์จะสอบถามอาการที่คุณเป็น, ประวัติครอบครัว รวมถึงประวัติการสัมผัสกับสิ่งใดๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เช่น การสูบบุหรี่
ในบางกรณี แพทย์จะให้คุณเก็บปัสสาวะส่งตรวจ โดยจะนำปัสสาวะไปตรวจหาเลือด แบคทีเรีย หรือเซลล์ที่ผิดปกติที่อาจปนเปื้อนอยู่ในปัสสาวะของคุณ
แพทย์จะทำการตรวจร่างกายให้กับคุณได้แก่บริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายและช่องคลอด เพราะมะเร็งกระเพาะปัสสาวะอาจโตเป็นก้อนไปกดเบียดอวัยวะเหล่านี้อย่างชัดเจน
หากแพทย์สงสัยว่าคุณเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ คุณจะได้รับการส่งต่อไปตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม
ที่โรงพยาบาล
ในบางโรงพยาบาลจะมีคลินิกโรคเฉพาะทางสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะเป็นเลือด (haematuria) ในขณะที่บางโรงพยาบาลจะมีแผนกเฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินปัสสาวะสำหรับผู้ป่วยโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ
การใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy)
เมื่อคุณได้รับการส่งต่อมารับการตรวจยังคลินิกเฉพาะทาง หรือมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแล้ว และแพทย์สงสัยว่าคุณอาจจะมีอาการของโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ สิ่งแรกที่แพทย์จะทำคือ การใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ
วิธีการตรวจด้วยเทคนิคนี้จะทำให้แพทย์สามารถตรวจภายในกระเพาะปัสสาวะได้ โดยการใช้กล้อง (cystoscope) สอดเข้าไปผ่านท่อปัสสาวะ (urethra) กล้องจะมีลักษณะเป็นท่อยาวมีกล้องพร้อมไฟส่องที่ปลายท่อ
ก่อนทำการตรวจด้วยการส่องกล้อง แพทย์จะใช้เจลยาชาเฉพาะที่ทาที่บริเวณท่อปัสสาวะ ทำให้คุณไม่รู้สึกปวดขณะทำการตรวจ และเจลนี้จะช่วยให้กล่องใส่ผ่านท่อปัสสาวะได้ง่ายขึ้น
ขั้นตอนการตรวจด้วยการส่องกล้องมักใช้เวลาประมาณ 5 นาที
การสแกนภาพถ่ายทางการแพทย์
คุณอาจได้รับคำแนะนำให้ตรวจสแกนด้วย ซีที สแกน/การสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือ การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI scan) หากแพทย์รู้สึกว่าจำเป็นต้องได้ภาพกระเพาะปัสสาวะที่มีรายละเอียดมากขึ้น
ในบางกรณีอาจต้องมีการฉีดสีเข้าทางหลอดเลือดดำ (IV urogram) เพื่อให้เห็นภาพทั้งหมดของระบบปัสสาวะก่อนและหลังการรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
ระหว่างกระบวนการนี้ ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดสีเข้าทางหลอดเลือดดำ และทำการเอกซเรย์ดูสีที่ผ่านเข้าไปยังระบบปัสสาวะของคุณ
การส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปตัดเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ (transurethral resection of a bladder tumour (TURBT)
หากพบความผิดปกติภายในกระเพาะปัสสาวะระหว่างการใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) คุณจะได้รับคำแนะนำให้ทำการส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปตัดเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ หรือ transurethral resection of a bladder tumour (TURBT) ซึ่งจะทำให้เนื้อเนื้อผิดปกติสามารถถูกตัดออกมาและนำไปตรวจหาเซลล์มะเร็งได้ (biopsy)
ในการทำการส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปตัดเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ แพทย์จะทำโดยการให้ยาสลบกับคุณก่อน
และในบางครั้งผู้ป่วยจะได้รับการตัดชั้นกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะจำนวนเล็กน้อยไปตรวจหาการแพร่กระจายของมะเร็งด้วย ซึ่งจะเว้นระยะเวลา 6 สัปดาห์นับจากการตัดเชื้อเนื้อตัวอย่างในครั้งแรก
ภายหลังการผ่าตัดก้อนเนื้องอกออกไปแล้ว คุณควรได้รับยาเคมีบำบัด เพราะยาเคมีบำบัดจะช่วยป้องกันไม่ให้มะเร็งกลับมาเป็นซ้ำ ถ้าก้อนเนื้องอกที่ตัดออกไปได้รับการตรวจยืนยันแล้วว่าเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง
ระยะของโรคและระดับของโรคมะเร็ง (staging and grading)
เมื่อแพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยเสร็จแล้ว แพทย์จะแจ้งให้คุณทราบว่าคุณเป็นมะเร็งในระยะใด และเซลล์มะเร็งมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายมากน้อยเพียงใด
ระยะของโรคมะเร็ง (staging) คือการวัดว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใด ยิ่งเป็นมะเร็งระยะแรกๆ ยิ่งหมายถึงมะเร็งมีขนาดเล็กและมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการรักษามากกว่า
ระดับของโรคมะเร็ง (grading) หรือเกรด เป็นการวัดว่าเซลล์มะเร็งมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายมากน้อยเพียงใด โดยเกรดของโรคมะเร็งจะอธิบายด้วยสัญลักษณ์ G1 – G3 ยิ่งเกรดสูงยิ่งหมายถึงมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายได้มากกว่า
โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะจะนิยมใช้ระบบการแบ่งระยะโรคมะเร็งที่เรียกว่า TNM system โดยมีรายละเอียดดังนี้:
- T หมายถึง บ่งบอกขนาดก้อนมะเร็ง และการลุกลามของมะเร็ง
- N หมายถึง มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงหรือไม่
- M หมายถึง มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายหรือไม่ (metastasis) เช่น แพร่กระจายไปที่ปอด
T stages
การแบ่งระยะแบบ T staging system แบ่งได้ดังนี้:
- TIS หรือ CIS (carcinoma in situ) ระยะนี้คือช่วงต้นของมะเร็งเกรดสูงที่ยังคงอยู่ภายในชั้นเยื่อบุด้านในกระเพาะปัสสาวะ
- Ta คือ มะเร็งยังอยู่ภายในชั้นเยื่อบุด้านในกระเพาะปัสสาวะ
- T1 คือ มะเร็งเริ่มมีการเจริญเติบโตเข้าสู่ชั้นใต้เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ (connective tissue)
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงระยะ T1 มักเรียกว่าเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะต้น หรือ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะที่ไม่มีการแพร่กระจายไปยังชั้นกล้ามเนื้อ (non-muscle-invasive bladder cancer)
หากมะเร็งโตมากขึ้นกว่านี้จะเรียกว่า มะเร็งกระเพาะปัสสาวะที่แพร่กระจายเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อ (muscle-invasive bladder cancer) โดยจะแบ่งได้เป็น:
- T2-มะเร็งกระเพาะปัสสาวะที่เจริญเติบโตไปมากกว่าชั้นใต้เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ และเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ
- T3-มะเร็งกระเพาะปัสสาวะเจริญเติบโตไปมากกว่าชั้นกล้ามเนื้อ และเข้าสู่ชั้นไขมันรอบๆ
หากมะเร็งโตมากกว่าระยะ T3 จะพิจารณาว่าเป็นมะเร็งระยะลุกลาม (advanced bladder cancer) โดยจะแบ่งได้เป็น:
- T4-มะเร็งมีการแพร่กระจายไปนอกกระเพาะปัสสาวะ เข้าสู่อวัยวะข้างเคียง
- N0-ไม่มีเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลืองใดๆ
- N1-มีเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลืองเพียง 1 ต่อมที่บริเวณเชิงกราน
- N2-มีเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลือง 2 ต่อมหรือมากกว่านั้นที่บริเวณเชิงกราน
- N3-มีเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลือง 1 ต่อม หรือมากกว่านั้นที่บริเวณขาหนีบส่วนลึก (common iliac nodes)
N stages
การแบ่งระยะแบบ N staging system แบ่งได้ดังนี้:
M stages
การแบ่งระยะแบบ M staging system แบ่งได้ดังนี้:
มีเพียง 2 ระยะในการแบ่งแบบ M system
- M0-เซลล์มะเร็งไม่มีการแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
- M1-เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น กระดูก ปอด หรือตับ
ระบบ TNM system เป็นระบบที่เข้าใจได้ยาก ดังนั้นไม่ต้องกลัวที่จะถามทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลคุณอยู่เกี่ยวกับผลการตรวจและความหมายต่อการรักษา รวมถึงการพยากรณ์โรค
การรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
ทางเลือกในการรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะจะขึ้นกับความรุนแรงและการลุกลามของโรคมะเร็งเป็นส่วนใหญ่
การรักษามักมีความแตกต่างกันในแต่ละระยะของโรคมะเร็ง ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ระยะยังไม่มีการแพร่กระจายเข้ากล้ามเนื้อ ไปจนถึงระยะลุกลามแพร่กระจายเข้าชั้นกล้ามเนื้อ
ทีมสหสาขาวิชาชีพ (Multidisciplinary teams (MDTs))
ในโรงพยาบาลต่างๆ จะมีทีมสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์หลากหลายสาขาที่ร่วมกันทำงานเพื่อดูแลรักษาคุณด้วยวิธีที่ดีที่สุด
สมาชิกของทีมสหสาขาวิชาชีพประกอบด้วย:
- ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ (urologist)-คือศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการรักษาโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ
- แพทย์โรคมะเร็ง (clinical oncologist)-คือแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการใช้ยาเคมีบำบัดและการใช้รังสีรักษา
- พยาธิแพทย์ (pathologist)-แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อเยื่อวิทยา (ที่สัมพันธ์กับโรค)
- รังสีแพทย์ (radiologist)-แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการแปลผลโรคจากภาพถ่ายรังสีวิทยา
คุณควรได้รับเบอร์โทรศัพท์หรือช่องทางการติดต่อพยาบาลคลินิกที่มีความเชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เพราะพยาบาลจะเป็นผู้ติดต่อคุณเป็นลำดับแรกในกรณีที่เกิดปัญหา และเป็นผู้ประสานงานระหว่างทีมสหวิชาชีพคนอื่นๆ โดยพวกเขาจะตอบคำถามและให้การสนับสนุนคุณตลอดระยะเวลาของการรักษา
การตัดสินว่าการรักษาใดที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับคุณถือเป็นเรื่องยาก โดยทีมสหวิชาชีพจะแนะนำวิธีรักษาที่เหมาะสมกับคุณ อย่างไรก็ตามโปรดจำไว้ว่า การตัดสินใจเลือกการรักษาสุดท้ายขึ้นอยู่กับคุณ
ก่อนที่คุณจะปรึกษาเกี่ยวกับทางเลือกในการรักษา คุณควรจดคำถามที่สงสัยเพื่อสอบถามทีมสหวิชาชีพก่อน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกการรักษา
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะชนิดยังไม่แพร่กระจายสู่ชั้นกล้ามเนื้อ Non-muscle-invasive bladder cancer
หากคุณได้รับการวินิจฉัยโรคเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะในระยะที่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปกล้ามเนื้อ (ระยะ CIS, Ta และ T1) คำแนะนำเกี่ยวกับแผนการรักษาของคุณจะขึ้นกับความเสี่ยงของการกลับมาเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง หรือความเสี่ยงในการแพร่กระจายไปมากกว่าชั้นเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ
ความเสี่ยงดังกล่าวจะพิจารณาจากปัจจัยดังนี้:
- จำนวนของก้อนเนื้องอกที่พบในกระเพาะปัสสาวะ
- ก้อนเนื้องอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 3 เซนติเมตร
- เคยเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมาก่อนหรือไม่
- เกรดของเซลล์มะเร็ง
โดยการรักษาต่างๆ มีรายละเอียดดังนี้:
ความเสี่ยงต่ำ (low-risk)
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะชนิดยังไม่แพร่กระจายสู่ชั้นกล้ามเนื้อที่มีความเสี่ยงต่ำ จะรักษาด้วยการผ่าตัดโดยการส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปตัดเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ (TURBT) กระบวนการรักษานี้อาจทำระหว่างใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) เป็นครั้งแรก ซึ่งจะทำให้ได้เนื้อเยื่อนำมาตรวจหาเซลล์มะเร็งด้วย
การทำ TURBT จะทำภายใต้การให้ยาสลบ ศัลยแพทย์จะใช้เครื่องมือที่เป็นกล้อง (cystoscope) ส่องเข้าไปเพื่อให้มองเห็นก้อนเนื้องอกและทำการตัดเนื้องอกนั้นออกจากเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ บาดแผลจะถูกปิดโดยการใช้กระแสไฟฟ้าอ่อนๆ และคุณอาจได้รับการคาสายไว้เพื่อระบายเลือดและเศษซากเนื้อเยื่อออกจากกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลาไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนั้น
ภายหลังการผ่าตัด คุณควรได้รับยาเคมีบำบัด 1 โด๊ส เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะโดยตรง และจะให้ยาเคมีบำบัดค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนระบายยาออก
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลได้ภายในไม่เกิน 48 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด และสามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติภายใน 2 สัปดาห์
คุณควรได้รับคำแนะนำให้กลับมาติดตามอาการกับแพทย์ที่ 3 เดือน และ 9 เดือน เพื่อตรวจเช็คกระเพาะปัสสาวะโดยการใช้กล้องส่อง หากมะเร็งกลับมาเป็นซ้ำภายหลัง 6 เดือนไปแล้ว และมีขนาดเล็ก คุณจะได้รับคำแนะนำให้รักษาด้วยการจี้ทำลายก้อนมะเร็งด้วยกระแสไฟฟ้า (fulguration)
ความเสี่ยงปานกลาง (Intermediate-risk)
ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะชนิดยังไม่แพร่กระจายสู่ชั้นกล้ามเนื้อที่มีความเสี่ยงปานกลาง ควรได้รับการแนะนำให้ใช้ยาเคมีบำบัดทั้งหมด 6 โด๊ส โดยการฉีดยาเคมีบำบัดเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะโดยตรง และจะค้างยาไว้ในนั้นประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนจะระบายยาออก
คุณควรได้รับคำแนะนำให้มาตรวจติดตามอาการที่ 3 เดือน, 9 เดือน, 18 เดือน จากนั้นทุก 1 ปี ในทุกครั้งที่มาติดตามอาการ คุณจะได้รับการตรวจกระเพาะปัสสาวะโดยการส่องกล้อง หากพบมะเร็งกลับมาเป็นซ้ำภายใน 5 ปี คุณจะได้รับคำแนะนำให้กลับไปพบทีมผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินปัสสาวะอีกครั้ง
อาจมียาเคมีบำบัดหลงเหลือในกระเพาะปัสสาวะอยู่บางส่วนภายหลังการรักษา ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนังอย่างรุนแรงได้ สิ่งที่จะช่วยได้คือให้ปัสสาวะขณะนั่งและระวังไม่ให้ปัสสาวะกระเด็นโดนตัวคุณหรือโดนฝารองนั่งของชักโครก หลังการปัสสาวะเสร็จ ให้ล้างผิวหนังรอบๆ อวัยวะเพศด้วยสบู่และน้ำสะอาด
หากคุณยังมีเพศสัมพันธ์อยู่เป็นประจำ สิ่งสำคัญคือต้องใช้การคุมกำเนิด เช่น การใช้ถุงยางอนามัย เพราะยาเคมีบำบัดอาจพบในน้ำอสุจิ หรือน้ำหล่อลื่นช่องคลอด และทำให้เกิดการระคายเคืองได้
ระหว่างการได้รับยาเคมีบำบัดเพื่อรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ คุณไม่ควรพยายามตั้งครรภ์หรือพยายามจะเป็นพ่อคน เพราะยาเคมีบำบัดจะเพิ่มความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ทารกที่ผิดปกติแต่กำเนิด
ความเสี่ยงสูง (High-risk)
ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะชนิดยังไม่แพร่กระจายสู่ชั้นกล้ามเนื้อที่มีความเสี่ยงสูงควรได้รับการทำการผ่าตัดโดยการส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปตัดเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ (TURBT) ครั้งที่ 2 ภายใน 6 สัปดาห์หลังการทำครั้งแรก และอาจต้องมีการทำ ซีที สแกน/การสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) และ การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI scan)
แพทย์จะทำการพูดคุยกับคุณเกี่ยวกับทางเลือกในการรักษา ได้แก่:
- การให้ยา Bacillus Calmette-Guérin (BCG) ซึ่งเป็นวัคซีน BCG ที่ผลิตมาเพื่อรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะโดยเฉพาะ
- การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออก (cystectomy)
วัคซีน BCG จะฉีดเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะผ่านสายสวน และจะให้วัคซีนค้างไว้ในกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ก่อนระบายออก ผู้ป่วยจำนวนมากจำนวนต้องรักษาด้วยวัคซีนนี้ทุกสัปดาห์เป็นเวลานาน 6 สัปดาห์ โดยผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือ:
- ต้องการปัสสาวะบ่อยครั้ง
- ปวดขณะปัสสาวะ
- มีเลือดในปัสสาวะ (haematuria)
- อาการเหมือนไข้หวัดใหญ่ เช่น อ่อนเพลีย มีไข้ และปวดเมื่อย
หากการรักษาด้วย BCG ไม่ประสบความสำเร็จ หรือมีผลข้างเคียงมากจนทนไม่ได้ คุณจะได้รับการส่งต่อกลับมาพบทีมผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง
คุณควรได้รับคำแนะนำให้ติดตามอาการกับแพทย์ทุก 3 เดือนในช่วง 2 ปีแรก จากนั้นทุก 6 เดือนในช่วง 2 ปีถัดไป จากนั้นทุกปี ในการมาพบแพทย์ตามนัด แพทย์จะตรวจกระเพาะปัสสาวะด้วยการส่องกล้อง
หากคุณวางแผนจะผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะ ศัลยแพทย์จำเป็นต้องวางแผนสร้างช่องทางใหม่ในการขับถ่ายปัสสาวะออกจากร่างกาย
ภายหลังการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะ คุณควรได้รับการนัดติดตามจากแพทย์เพื่อตรวจซีทีสแกน ที่ 6 เดือน และ 12 เดือน และตรวจเลือดทุก 1 ปี สำหรับผู้ชายจำเป็นต้องติดตามเพื่อตรวจท่อปัสสาวะทุกปีเป็นเวลา 5 ปี
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะชนิดแพร่กระจายเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อ Muscle-invasive bladder cancer
แผนการรักษาที่แนะนำสำหรับผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะชนิดแพร่กระจายเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อจะขึ้นกับว่ามะเร็งแพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใด สำหรับมะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะ T2 และ T3 การรักษาจะมีเป้าหมายเพื่อรักษาให้หายหากเป็นไปได้ หรืออย่างน้อยคือสามารถควบคุมอาการได้เป็นเวลานาน
ศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ แพทย์ด้านโรคมะเร็ง และพยาบาลเชี่ยวชาญจะหารือร่วมกับคุณเกี่ยวกับทางเลือกในการรักษาที่สามารถเป็นไปได้ ได้แก่:
- การผ่าตัดเอากระเพาะปัสสาวะออก (cystectomy)
- การใช้รังสีรักษาร่วมกับการใช้ยาเพิ่มประสิทธิภาพของรังสีในการทำลายเซลล์มะเร็ง (radiotherapy with a radiosensitiser)
แพทย์ด้านโรคมะเร็งควรพูดคุยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะใช้ยาเคมีบำบัดก่อนการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือการฉายรังสี หากวิธีนี้เหมาะสมสำหรับคุณ หรือที่เรียกว่า การให้เคมีบำบัดเบื้องต้นก่อนการผ่าตัดหรือฉายรังสี (neoadjuvant therapy)
การใช้รังสีรักษาร่วมกับการใช้ยาเพิ่มประสิทธิภาพของรังสีในการทำลายเซลล์มะเร็ง (radiotherapy with a radiosensitiser)
รังสีรักษาจะถูกให้โดยใช้เครื่องฉายรังสีเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะ (การฉายรังสีภายนอกร่างกาย) โดยแพทย์จะฉายรังสีทุกวันเป็นเวลา 5 วันต่อสัปดาห์นาน 4-7 สัปดาห์ โดยในแต่ละวันจะใช้เวลาในการฉายรังสีประมาณ 10-15 นาที
สำหรับยาเพิ่มประสิทธิภาพของรังสีในการทำลายเซลล์มะเร็ง (radiosensitiser) ควรได้รับไปพร้อมกับการให้รังสีรักษาในโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะที่แพร่กระจายเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อแล้ว โดยยานี้จะส่งผลต่อเซลล์ในก้อนเนื้องอก ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการให้รังสีรักษากับผู้ป่วย และจะมีผลน้อยมากกับเนื้อเยื่อปกติในร่างกาย
รังสีรักษานอกจากทำลายเซลล์มะเร็งได้แล้ว มันก็ยังทำลายเซลล์ปกติในร่างกายได้ด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดผลข้างเคียงหลายประการ ได้แก่:
- ท้องเสีย
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (cystitis)
- ช่องคลอดแคบในผู้หญิง ทำให้เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
- หย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย
- ไม่มีขนบริเวณหัวหน่าว
- มีบุตรยาก
- อ่อนเพลีย
- ปัสสาวะลำบาก
ส่วนใหญ่แล้วผลข้างเคียงต่างๆ นี้จะดีขึ้นภายหลังการรักษาสิ้นสุดลงไม่กี่สัปดาห์ อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงบางอย่างสามารถเกิดแบบถาวรก็ได้
การฉายรังสีเข้าไปโดยตรงที่บริเวณอุ้งเชิงกรานจะทำให้คุณเป็นหมัน/มีบุตรยากถาวร อย่างไรก็ตามผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มารักษาโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะก็มีอายุมากเกินกว่าที่จะมีลูกได้แล้ว ดังนั้นโดยทั่วไปจึงไม่จัดเป็นปัญหาสำคัญ
ภายหลังการให้รังสีรักษากับผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะแล้ว คุณควรได้รับการนัดหมายเพื่อติดตามอาการทุกๆ 3 เดือน ในช่วง 2 ปีแรก จากนั้นเป็นทุก 6 เดือนในช่วง 2 ปีถัดมา และจากนั้นเป็นทุกปี และในทุกครั้งที่มาพบแพทย์ แพทย์จะตรวจกระเพาะปัสสาวะโดยการส่องกล้องตรวจ
คุณอาจได้รับคำแนะนำให้ทำซีที สแกน/การสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่บริเวณช่องท้อง อุ้งเชิงกราน และหน้าอก ภายหลังระยะเวลา 6 เดือน, 1 ปี และ 2 ปี และการทำซีทีสแกนอาจได้รับคำแนะนำให้ทำทุกปีเป็นเวลา 5 ปี
การผ่าตัด หรือ รังสีรักษา?
ทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลคุณอาจแนะนำทางเลือกในการรักษาเฉพาะสำหรับคุณ เพราะจะขึ้นกับสถานการณ์ของโรคที่คุณกำลังเป็นอยู่
ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่มีกระเพาะปัสสาวะขนาดเล็ก หรือมีอาการทางระบบทางระบบปัสสาวะหลายอาการจะมีความเหมาะสมที่จะผ่าตัดมากกว่า สำหรับผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะก้อนเดียว โดยกระเพาะปัสสาวะยังทำหน้าที่ได้ตามปกติ กรณีนี้แนะนำให้ทำการรักษาเพื่อรักษากระเพาะปัสสาวะเดิมไว้จะเหมาะสมกว่า
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจร่วมจากคุณคือสิ่งสำคัญที่สุด คุณควรมีการพูดคุยกับทีมแพทย์ถึงทางเลือกในการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
ข้อดีและข้อเสียของการผ่าตัดและรังสีรักษา:
ข้อดีของการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมด (radical cystectomy) ได้แก่:
- การรักษาทำเพียงครั้งเดียว
- คุณไม่จำเป็นต้องส่องกล้องตรวจเป็นประจำภายหลังการรักษา อย่างไรก็ตามยังต้องมีวิธีการตรวจอื่นๆ ที่รุกรานร่างกายน้อยกว่าอยู่
- ต้องใช้เวลามากถึง 3 เดือนกว่าจะฟื้นตัวเต็มที่
- ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนทั่วไปจากการผ่าตัด เช่น อาการปวด ติดเชื้อ และเลือดออก
- ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาสลบ
- ต้องมีการผ่าตัดเปิดทางออกของปัสสาวะช่องทางอื่นแทนช่องทางเดิม ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการใช้ถุงเก็บกักปัสสาวะภายนอกร่างกายด้วย
- มีความเสี่ยงสูงที่จะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย (คาดการณ์ว่าสูงถึง 90%) ซึ่งมีสาเหตุมาจากเส้นประสาทถูกทำลาย
- ภายหลังการผ่าตัด ผู้หญิงบางรายจะรู้สึกไม่สบายตัวขณะมีเพศสัมพันธ์ อันเนื่องมาจากช่องคลอดมีขนาดเล็กลง
- มีความเสี่ยงเล็กน้อยต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เสียชีวิต เช่น หัวใจวาย, โรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรคลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำส่วนลึก (deep vein thrombosis (DVT))
ข้อเสียของการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมด (radical cystectomy) ได้แก่:
ข้อดีของการให้รังสีรักษา ได้แก่:
- เป็นการรักษาที่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ซึ่งเป็นข้อแนะนำที่สำคัญสำหรับผู้ที่มีสภาวะทางสุขภาพไม่ดี
- การทำงานของกระเพาะปัสสาวะจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะว่าไม่ต้องถูกตัดกระเพาะปัสสาวะออก
- โอกาสน้อยที่จะเกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย (ประมาณ 30%)
ข้อเสียของการให้รังสีรักษา ได้แก่:
- คุณจำเป็นต้องมารับการฉายรังสีเป็นประจำนาน 4-7 สัปดาห์
- พบผลข้างเคียงระยะสั้นได้บ่อย เช่น ท้องเสีย อ่อนเพลีย กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (cystitis)
- มีการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อกระเพาะปัสสาวะถาวรในระดับเล็กน้อย ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการปัสสาวะได้
- ผู้หญิงจะรู้สึกช่องคลอดแคบลง ทำให้เวลามีเพศสัมพันธ์รู้สึกเจ็บ ไม่สบายตัว
ยาเคมีบำบัด (chemotherapy)
ในผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะที่มีการแพร่กระจายเข้าชั้นกล้ามเนื้ออาจจำเป็นต้องรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ซึ่งแทนที่จะให้ยาเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะโดยตรง แต่จะเปลี่ยนเป็นการให้ยาเข้าทางหลอดเลือดดำที่แขนแทน เราเรียกการให้ยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดดำ (intravenous chemotherapy) และสามารถใช้ได้ในกรณีดังต่อไปนี้:
- ก่อนการให้รังสีรักษา และการผ่าตัด เพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็ง
- ให้ร่วมกับรังสีรักษาก่อนการผ่าตัด (chemoradiation)
- ให้เพื่อชะลอการแพร่กระจายของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะแพร่กระจายที่ไม่สามารถรักษาหายขาดได้ หรือเรียกว่าการรักษาแบบประคับประคอง (palliative chemotherapy)
ในตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าการให้ยาเคมีบำบัดจะมีประสิทธิภาพเมื่อให้หลังการผ่าตัดเพื่อป้องกันมะเร็งกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งขณะนี้มีที่ใช้เฉพาะในงานวิจัยทางคลินิก
ยาเคมีบำบัดมักถูกให้ต่อเนื่องเป็นเวลาไม่กี่วันในช่วงแรก และคุณจะได้รับการเว้นช่วงให้ยาเป็นเวลาไม่กี่สัปดาห์ต่อมา เพื่อให้ร่างกายได้มีเวลาเพียงพอที่จะฟื้นฟูร่างกายก่อนได้รับยาเคมีบำบัดอีกครั้ง โดยรอบการให้ยานี้จะทำซ้ำเป็นเวลาไม่กี่เดือน
ยาเคมีบำบัดที่ฉีดเข้าหลอดเลือดดำจะทำให้คุณมีผลข้างเคียงจากยามากกว่าการให้ยาโดยตรงเข้าไปที่กระเพาะปัสสาวะ โดยผลข้างเคียงต่างๆ ควรมีอาการดีขึ้นเมื่อการรักษาสิ้นสุดลง
ยาเคมีบำบัดจะไปทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลงได้ ทำให้คุณมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้มากขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีทีคุณมีอาการของการติดเชื้อ เช่น มีไข้ ไอเรื้อรัง หรือผิวหนังแดง และให้หลีกเลี่ยงการพบปะกับคนอื่นที่มีการติดเชื้อในขณะนั้น
อาการข้างเคียงอื่นๆ ของยาเคมีบำบัด ได้แก่:
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- ผมร่วง
- เบื่ออาหาร
- อ่อนเพลีย
มะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะแพร่กระจาย (metastatic bladder cancer)
คำแนะนำในการรักษาโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะแพร่กระจายจะขึ้นกับว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปไกลมากแค่ไหน แพทย์โรคมะเร็งควรหารือกับคุณเกี่ยวกับทางเลือกในการรักษา ซึ่งอาจเป็นดังนี้:
- การให้ยาเคมีบำบัด
- การรักษาเพื่อบรรเทาอาการของมะเร็ง
ยาเคมีบำบัด
หากคุณได้รับยาเคมีบำบัด คุณจะได้รับยาหลายตัวร่วมกันเพื่อลดผลข้างเคียงจากการรักษา การรักษาอาจหยุดลงได้หากพบว่ายาเคมีบำบัดไม่ได้ช่วยให้อาการดีขึ้น และอาจต้องใช้ยาตัวอื่นแทน
การรักษาเพื่อบรรเทาอาการของโรคมะเร็ง
คุณอาจได้รับคำแนะนำให้รักษาเพื่อบรรเทาอาการของโรคมะเร็ง ซึ่งอาจได้แก่:
- การให้รังสีรักษาเพื่อรักษาอาการปวดขณะปัสสาวะ, ปัสสาวะเป็นเลือด, อยากปัสสาวะบ่อบครั้ง หรืออาการปวดที่บริเวณอุ้งเชิงกราน
- การรักษาเพื่อช่วยให้ไตระบายของเสียได้ หากคุณมีการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะและเป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดหลังส่วนล่าง
การดูแลแบบประคับประคองตามอาการ (Palliative care)
หากคุณเป็นมะเร็งระยะแพร่กระจายแล้วซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทีมแพทย์ที่ดูแลคุณจะหารือกับคุณเกี่ยวกับสถานการณ์ปัสสาวะว่ามะเร็งแพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใด และมีการรักษาใดบ้างที่ช่วยบรรเทาอาการได้
คุณอาจได้รับการส่งต่อไปรับการดูแลกับทีมแพทย์ที่เน้นดูแลแบบประคับประคองตามอาการ ซึ่งสามารถให้การสนับสนุนและให้การช่วยเหลือ เช่น การบรรเทาอาการปวดให้กับคุณ
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
การวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และการรักษาโรคนี้สามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตอย่างชัดเจน
ผลกระทบด้านจิตใจ (Emotional impact)
การใช้ชีวิตกับโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะสามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างมาก ผู้ป่วยหลายรายรู้สึกอารมณ์แปรปรวน เช่น คุณอาจรู้สึกแย่เมื่อได้รับฟังการวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และรู้สึกดีขึ้นเมื่อมะเร็งถูกกำจัดออกจากร่างกายแล้ว และจะกลับมารู้สึกแย่อีกครั้งเมื่อคุณเมื่อคุณต้องเจอกับผลที่เกิดขึ้นจากการรักษา
ความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นบางครั้งจะกระตุ้นให้มีภาวะซึมเศร้า อาการแสดงของภาวะซึมเศร้า เช่น:
- มีความรู้สึกเศร้า หรือสิ้นหวังอย่างต่อเนื่อง
- ไม่เพลิดเพลินกับสิ่งที่เคยชอบอีกต่อไป
หากมีอาการของภาวะซึมเศร้าขอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำ เพราะมีการรักษาหลายอย่างที่สามารถช่วยให้อาการซึมเศร้าดีขึ้น เช่น การใช้ยาต้านซึมเศร้า และการบำบัดเช่น การบําบัดทางความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioural therapy (CBT))
การผ่าตัดทำทางเดินปัสสาวะใหม่ (Urinary diversion)
หากกระเพาะปัสสาวะของคุณถูกผ่าตัดออกแล้ว คุณจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อทำทางเดินปัสสาวะใหม่ไปพร้อมกันด้วย
สำหรับการผ่าตัดทำทางเดินปัสสาวะใหม่มีอยู่หลายชนิด ซึ่งมีรายละเอียดด้านล่างนี้ ในบางกรณีคุณอาจเลือกทางเลือกในการทำได้ตามความต้องการของตัวคุณเอง อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทางเลือกในการรักษาทุกทางเลือกจะเหมาะสมสำหรับคุณ
ดังนั้นทีมแพทย์ที่ดูแลคุณจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับคุณ
ลำไส้เปิดทางหน้าท้องสำหรับปัสสาวะ (Urostomy)
การทำทางเปิดทางหน้าท้องสำหรับปัสสาวะจะทำระหว่างการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมด (radical cystectomy) แพทย์จะตัดส่วนเล็กๆ ของลำไส้เล็กออกและทำการเชื่อมต่อกับท่อไตทั้งสองข้างที่เป็นช่องทางเดินของปัสสาวะจากไต
จากนั้นแพทย์จะสร้างเป็นรูเปิดเล็กๆ ไว้ที่ผิวหน้าท้อง เพื่อทำการระบายปัสสาวะ รูเปิดนี้เรียกว่า stoma อ่านว่าสโตมา หรือทวารเทียม
บริเวณสโตมาจะมีถุงกันน้ำต่อไว้เพื่อรองรับปัสสาวะที่จะไหลออกทางรูดังกล่าว ซึ่งพยาบาลจะเป็นผู้ให้คำแนะนำในการดูแลรูเปิดสโตมานี้ และช่วยสอนเกี่ยวกับวิธีในการเปลี่ยนถุง และเมื่อไรที่ต้องเปลี่ยนถุง
Continent urinary diversion
การผ่าตัดทำทางเดินปัสสาวะใหม่วิธีนี้จะคล้ายกับการทำลำไส้เปิดทางหน้าท้องสำหรับปัสสาวะ (urostomy) แต่ไม่จำเป็นต้องมีถุงรองรับปัสสาวะภายนอกร่างกาย แพทย์จะใช้ส่วนของลำไส้เพื่อสร้างเป็นกระเพาะปัสสาวะใหม่ภายในร่างกายเพื่อเก็บกักปัสสาวะ
ท่อไตทั้งสองข้างจะถูกเชื่อมต่อกับกระเพาะปัสสาวะใหม่และจะเชื่อมต่อกับรูเปิดที่ผนังหน้าท้อง แต่รูเปิดที่หน้าท้องนี้จะมีขนาดเล็กและสามารถป้องกันการไหลออกของปัสสาวะได้ ซึ่งผู้ป่วยจะระบายปัสสาวะออกได้ด้วยการใช้สายสวนปัสสาวะออกเป็นครั้งๆ ประมาณ 4-5 ครั้งต่อวัน
การสร้างกระเพาะปัสสาวะใหม่ (Bladder reconstruction)
ในผู้ป่วยบางรายอาจมีความเหมาะสมที่จะทำการสร้างกระเพาะปัสสาวะใหม่ หรือเรียกว่า neobladder โดยจะผ่าตัดส่วนหนึ่งของลำไส้มาสร้างเป็นถุงคล้ายบอลลูน ก่อนเชื่อมต่อถุงนี้กับท่อไตที่ปลายด้านหนึ่ง ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งของถุงจะเชื่อมต่อกับท่อปัสสาวะ อย่างไรก็ตามการผ่าตัดเพื่อสร้างกระเพาะปัสสาวะใหม่ไม่ได้เหมาะสมกับผู้ป่วยทุกราย
คุณจะได้รับการสอนวิธีในการระบายปัสสาวะออกจากกระเพาะปัสสาวะใหม่นี้โดยการคลายกล้ามเนื้อที่บริเวณอุ้งเชิงกราน ในขณะเดียวกันก็ต้องหดเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องไปพร้อมๆ กัน
เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะใหม่ที่สร้างขึ้นไม่ได้ประกอบไปด้วยปลายประสาทเช่นเดียวกับกระเพาะปัสสาวะจริง ดังนั้นคุณจะไม่รู้สึกถึงความรู้สึกอยากปัสสาวะเหมือนแต่ก่อน บางคนอาจรู้สึกเหมือนหน้าท้องแน่นๆ รู้สึกอิ่มๆ ในขณะที่บางคนจะรู้สึกเหมือนต้องการผายลม
เนื่องจากการทำหน้าที่ของเส้นประสาทสูญเสียไป ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะใหม่นี้อาจมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้ในบางครั้ง ซึ่งมักพบในเวลากลางคืนขณะนอนหลับ
คุณอาจพบประโยชน์จากการตั้งเวลาเพื่อการขับถ่ายปัสสาวะไว้ เช่น ก่อนเข้านอน เพื่อป้องกันไม่ให้ปัสสาวะราดตอนกลางคืน
ปัญหาด้านเพศสัมพันธ์
หย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย
ให้แจ้งแพทย์ทราบหากคุณสูญเสียความสามารถในการแข็งตัวหรือคงสภาพการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายได้หลังการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกไปทั้งหมด ซึ่งอาจรักษาได้ด้วยการใช้ยาในกลุ่ม phosphodiesterase type 5 inhibitors (PDE5) โดยยานี้จะออกฤทธิ์เพิ่มเลือดไหลเวียนไปที่อวัยวะเพศชาย
ยานี้อาจให้พร้อมกับการใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่ากระบอกปั้มสุญญากาศ (vacuum pump) ซึ่งเป็นกระบอกที่ต่ออยู่กับปั๊ม โดยจะต้องนำอวัยวะเพศชายใส่เข้าไปในกระบอกและปั๊มอากาศออก ทำให้เกิดสภาวะสุญญากาศและทำให้เลือดไหลเวียนเข้าไปในอวัยวะเพศชาย การใช้ยางรัดที่บริเวณฐานของอวัยวะเพศจะช่วยให้มีการแข็งตัวต่อเนื่องประมาณ 30 นาที
ช่องคลอดแคบ
ทั้งการรักษาด้วยรังสีรักษาและการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกสามารถเป็นสาเหตุให้ช่องคลอดแคบและสั้นลงได้ ทำให้ระหว่างมีเพศสัมพันธ์มีการเจ็บหรือสอดใส่ได้ยากลำบาก
มีการรักษา 2 การรักษาหลักสำหรับรักษาอาการช่องคลอดแบ อันดับแรกคือการใช้ฮอร์โมนครีมทาที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นที่ภายในช่องคลอด
อย่างที่ 2 คือ การใช้อุปกรณ์ขยายช่องคลอด เป็นอุปกรณ์พลาสติกรูปกรวย มีขนาดต่างๆ กัน ซึ่งออกแบบมาเพื่อช่วยยืดช่องคลอดอย่างอ่อนโยน และทำให้ช่องคลอดอ่อนนุ่มมากขึ้น
โดยทั่วไปจะแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ขยายช่องคลอดเป็นเวลา 5-10 นาทีทุกๆ วัน เริ่มแรกจะให้ใช้ขนาดที่พอดีกับช่องคลอดก่อน เพื่อให้ง่ายและค่อยๆ เพิ่มขนาดขึ้นเมื่อช่องคลอดเริ่มขยายในสัปดาห์ต่อๆ มา
ผู้หญิงหลายคนจะรู้สึกอายที่จะหารือกับแพทย์ถึงเรื่องนี้ แต่การใช้อุปกรณ์ขยายช่องคลอดคือการรักษาที่ดีสำหรับช่องคลอดแคบ ซึ่งพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ดังกล่าวได้
คุณจะพบว่าคุณสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้บ่อยขึ้นและมีอาการปวดน้อยลง อย่างไรก็ตามอาจเป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะรู้สึกพร้อมมีเพศสัมพันธ์อีกครั้ง
การป้องกันมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
เราไม่สามารถป้องกันมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้ 100% แต่เราทราบว่ามีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้างที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
การหยุดสูบบุหรี่
ถ้าคุณสูบบุหรี่ การเลิกสูบบุหรี่คือวิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะและป้องกันไม่ให้มะเร็งกลับมาเป็นซ้ำ
หากคุณวางแผนที่จะเลิกสูบบุหรี่ ให้โทรหาสายด่วน 1600 ซึ่งจะมีบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมให้คำแนะนำกับคุณโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายและช่วยส่งเสริมคุณให้เลิกบุหรี่ได้
หากคุณวางแผนจะเลิกบุหรี่แต่ไม่ต้องการไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์ที่รักษาคุณสามารถจ่ายยาเพื่อลดอาการถอนบุหรี่ได้
ทำงานในสถานที่ที่มีความปลอดภัย
ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะจะเพิ่มขึ้นหากคุณทำงานในสถานที่ที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีก่อมะเร็ง ซึ่งจะเป็นงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับ:
- ยาง
- สี
- สิ่งทอ
- พลาสติก
- การฟอกสีหนัง
- ควันดีเซล
ปัจจุบันแต่ละโรงงานจะต้องมีแนวทางการปฏิบัติงานที่เข้มงวดเพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสกับสารเคมีอันตรายเพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน และสารเคมีที่มีข้อมูลชัดเจนว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะก็ถูกสั่งห้ามใช้แล้ว หากคุณไม่แน่ใจเกี่ยวกับแนวทางการทำงานในโรงงานของคุณ ให้พูดคุยกับผู้จัดการ หรือตัวแทนที่ดูแลเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานในโรงงานของคุณ
การรับประทานอาหาร
มีข้อมูลหลักฐานบางอย่างที่ระบุว่าการรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยผักและผลไม้ในปริมาณมาก ไขมันต่ำ จะช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้
แม้ว่าข้อมูลจากหลักฐานดังกล่าวนี้จะมีอย่างจำกัด แต่ก็ถือเป็นแนวคิดที่ดีที่ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว เพราะมันสามารถช่วยป้องกันมะเร็งชนิดอื่นๆ ได้ด้วย เช่น มะเร็งลำไส้ และโรคร้ายแรงทางสุขภาพอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง (hypertension) โรคหลอดหลอดสมอง (stroke) และโรคหัวใจ
อาหารที่แนะนำได้แก่ อาการที่มีไขมันต่ำ มีใยอาหารสูง ได้แก่ ผักและผลไม้ (5 ส่วนต่อวัน) และธัญพืชไม่ขัดสี และให้จำกัดการรับประทานเกลือไม่ให้มากกว่า 6 กรัมต่อวัน (1 ช้อนชา) เพราะเกลือที่มากเกินไปทำให้ความดันโลหิตสูงได้
คุณควรพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เพราะจะเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในเลือดของคุณ
อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ได้แก่:
- พายเนื้อ
- ไส้กรอก
- เนย
- เนยเหลวชนิดหนึ่งที่ใช้ในการปรุงอาหารของอินเดีย (ghee)
- น้ำมันหมู
- ครีม
- ชีสแข็ง
- เค้กและขนมปังกรอบ
- อาหารที่มีน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันปาล์ม
อย่างไรก็ตามการรับประทานควรมีความสมดุลหลากหลาย และประกอบไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัวเล็กน้อย เพราะจะช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้
อาหารที่ประกอบด้วยไขมันไม่อิ่มตัว ได้แก่:
- น้ำมันปลา
- อะโวคาโด
- ถั่วและเมล็ดต่างๆ
- น้ำมันดอกทานตะวัน, น้ำมันเรฟซีด, น้ำมันมะกอก และน้ำมันพืช