กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะมีเลือดปน

อาการปัสสาวะเป็นเลือด เป็นอย่างไร จะรู้ได้อย่างไรว่ามีเลือดออกมาพร้อมปัสสาวะหรือไม่ ถ้าหากเป็นแล้วควรปฏิบัติตัวอย่างไร
เผยแพร่ครั้งแรก 6 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 3 ธ.ค. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 11 ก.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะมีเลือดปน

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ปัสสาวะมีเลือดปนมีด้วยกัน 2 แบบหลักๆ คือ แบบมองเห็นเลือดได้ด้วยตาเปล่า และแบบไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ตรวจจึงจะพบเลือด ถือเป็นสัญญาณปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง
  • สาเหตุเกิดจาก การติดเชื้อ นิ่วในไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต โรคไต มะเร็ง และการใช้ยาบางชนิด รวมถึงสาเหตุย่อยๆ ที่พบได้ไม่บ่อยอย่างโรคเลือด การออกกำลังกายหนัก และการกระแทกที่ไต
  • การวินิจฉัยทำได้โดยซักประวัติ ตรวจร่างกาย และให้ผู้เข้ารับการตรวจเก็บปัสสาวะส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการว่าพบแบคทีเรียหรือไม่
  • การรักษาทำได้โดยการรักษาตามสาเหตุของโรค เช่น ใช้ยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคต่อมลูกหมากโต หรือทำลายนิ่วในไตหรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะด้วยคลื่นกระแทก เป็นต้น
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพ

มีสภาวะและโรคหลายชนิดที่เป็นสาเหตุของอาการปัสสาวะมีเลือดปน เช่น การติดเชื้อ เป็นโรคไต เป็นโรคมะเร็ง หรือโรคเลือดบางชนิด ซึ่งเลือดที่ปนมาในปัสสาวะอาจมีปริมาณมากจนเห็นได้ชัดเจน หรือมีปริมาณเล็กน้อยซึ่งไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า สามารถอธิบายได้ดังนี้

  • ปัสสาวะมีเลือดปนที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (Gross Hematuria) : ถ้ามีเลือดปนในปัสสาวะปริมาณมากเพียงพอ จะสังเกตเห็นสีปัสสาวะเป็นสีชมพู หรือสีแดง หรือมองเห็นเป็นจุดเลือด
  • ปัสสาวะมีเลือดปนที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (Microscopic Hematuria) : ถ้าปริมาณเลือดที่ปนมาในปัสสาวะมีปริมาณน้อย ทำให้ไม่สามารถสังเกตเห็นสีเลือดในปัสสาวะได้ ต้องนำปัสสาวะไปตรวจในห้องปฏิบัติการ หรือส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์จึงจะตรวจพบ

การพบเลือดในปัสสาวะเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาทางสุขภาพที่ร้ายแรง แม้ว่าจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว หากพบว่าปัสสาวะมีเลือดปน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้อาการของโรคร้ายแรงนั้นแย่ลงได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สาเหตุของอาการปัสสาวะมีเลือดปน

บางครั้งอาจพบว่าเลือดที่ปนมากับปัสสาวะ มาจากเลือดในช่องคลอดของเพศหญิง การหลั่งน้ำอสุจิในเพศชาย หรือมาจากการเคลื่อนไหวของลำไส้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย แต่ถ้าตรวจสอบแล้วว่าไม่ได้เกิดจากสาเหตุเหล่านี้ ก็อาจเกิดได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • การติดเชื้อ : เป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการปัสสาวะมีเลือดปนที่พบได้บ่อย อาจเกิดขึ้นที่บริเวณใดๆ ของทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ หรือไต ผู้ป่วยจะมีอาการปวด และต้องการปัสสาวะบ่อยครั้ง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะปัสสาวะมีเลือดปนได้ทั้งที่มองเห็นได้ หรือมองเห็นไม่ได้ด้วยตาเปล่า
  • นิ่ว (Stones) : นิ่วคือผลึกของแข็งที่ก่อตัวขึ้นจากแร่ธาตุในน้ำปัสสาวะ เกิดขึ้นที่ไตหรือในกระเพาะปัสสาวะก็ได้ ถ้านิ่วมีขนาดใหญ่จะทำให้เกิดการอุดตันของระบบปัสสาวะ และเป็นสาเหตุของอาการปัสสาวะปนเลือด ซึ่งอาจทำให้มีอาการปวดมาก
  • ต่อมลูกหมากโต (Enlarged Prostate) : มักพบได้บ่อยในผู้ชายวัยกลางคนจนถึงวัยสูงอายุ ต่อมลูกหมากเป็นต่อมที่อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะและอยู่ใกล้กับท่อปัสสาวะ เมื่อต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่ขึ้น จะทำให้เกิดการกดเบียดท่อปัสสาวะ ทำให้มีอาการปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะออกไม่หมด จนทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • โรคไต (Kidney disease) : การป่วยเป็นโรคไตหรือมีการอักเสบที่ไตทำให้เกิดอาการปัสสาวะมีเลือดปนได้ ในเด็กอายุ 6-10 ปี โรคไตอักเสบจากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส (Post-Streptococcal Glomerulonephritis) อาจเป็นสาเหตุของอาการปัสสาวะมีเลือดปน
  • มะเร็ง (Cancer) : มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งที่ไต มะเร็งต่อมลูกหมาก อาจทำให้เกิดอาการปัสสาวะปนเลือด แต่จะพบได้เมื่อโรคมะเร็งมีการลุกลามแล้ว (Advanced Cancer)
  • การใช้ยาบางชนิด : ยาบางชนิดสามารถทำให้เกิดอาการปัสสาวะมีเลือดปนได้ ได้แก่
    • Penicillin
    • Aspirin
    • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Heparin และ Warfarin
    • Cyclophosphamide ซึ่งเป็นยาสำหรับรักษาโรคมะเร็งบางชนิด
  • สาเหตุอื่นๆ : ยังมีสาเหตุอื่นๆ ของอาการปัสสาวะมีเลือดปน แต่พบได้น้อย ได้แก่
    • โรคเลือด เช่น โรคโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Anemia), กลุ่มอาการอัลพอร์ต (Alport Syndrome) โรคความผิดปกติที่มีความเสียหายที่หลอดเลือดฝอยในไต และภาวะฮีโมฟีเลีย (Hemophilia)
    • การออกกำลังกายอย่างหักโหม
    • การกระแทกที่ไต

การวินิจฉัยอาการปัสสาวะมีเลือดปน

แพทย์จะทำการสอบถามอาการเบื้องต้น ได้แก่ ปริมาณเลือดที่มองเห็นในปัสสาวะ เริ่มมีอาการครั้งแรกเมื่อไร จำนวนครั้งของการปัสสาวะต่อวัน มีอาการปวดร่วมด้วยหรือไม่ มีลิ่มเลือดอุดตันเกิดขึ้นหรือไม่ และใช้ยาอะไรอยู่ในขณะนี้

จากนั้น แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและให้ผู้เข้ารับการตรวจเก็บปัสสาวะส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันว่าพบเลือดในปัสสาวะ และพบแบคทีเรียในกรณีที่มีการติดเชื้อหรือไม่ ในบางกรณีแพทย์อาจให้ตรวจซีทีสแกน (CT scan) หรือใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) เพื่อวินิจฉัยสาเหตุที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ อาจมีการตรวจชิ้นเนื้อไต (Kidney Biopsy) ซึ่งเป็นการเจาะตรวจชิ้นเนื้อเยื่อในไตโดยห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยการวินิจฉัยปัสสาวะเป็นเลือดที่มีสาเหตุมาจากโรคไต

การรักษาปัสสาวะเป็นเลือด

เนื่องจากไม่มีวิธีการรักษาเฉพาะเจาะจงสำหรับอาการปัสสาวะเป็นเลือด แพทย์จึงมุ่งเน้นการรักษาตามสาเหตุของโรคตัวอย่างเช่น ให้ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ให้ยารักษาโรคต่อมลูกหมากโต หรือทำลายนิ่วในไตหรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะด้วยคลื่นกระแทก (Shock Wave Therapy) ผ่าตัดหรือฉายแสงในกรณีที่เป็นจากมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น

การป้องกันอาการปัสสาวะมีเลือดปน

การป้องกันอาการปัสสาวะเป็นเลือด ทำได้โดยการดูแลตัวเองด้วยวิธีการ ดังนี้

  • เมื่อมีเพศสัมพันธ์เสร็จให้ไปทำความสะอาดและปัสสาวะทันที รวมถึงควรรักษาสุขอนามัยให้ดีเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอตลอดทั้งวัน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีเกลือมากเกินไป รวมถึงอาหารบางชนิด เช่น ผักโขม และผักรูบาร์บ (Rhubarb) เพื่อป้องกันการเกิดนิ่ว
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ จำกัดการสัมผัสกับสารเคมีต่างๆ เพื่อป้องกันมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพ จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


7 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
DerSarkissian, C. WebMD (2016). Blood in Urine (Hematuria). (https://www.webmd.com/digestive-disorders/blood-in-urine-causes)
Mayo Clinic (2017). Diseases Conditions. Blood in urine (hematuria). (https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/blood-in-urine/symptoms-causes/syc-20353432)
National Kidney Foundation (2016). Hematuria in Adults (https://www.kidney.org/atoz/content/hematuria-adults)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป