​ผลตรวจสุขภาพ ตัวย่อภาษาอังกฤษ แต่ละตัวหมายความว่าอะไร

ตัวย่อภาษาอังกฤษที่ปรากฏใน ผลตรวจสุขภาพ หมายถึงอะไร เราจะไขข้อข้องใจให้ทราบกัน
เผยแพร่ครั้งแรก 8 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 5 ส.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 9 นาที
​ผลตรวจสุขภาพ ตัวย่อภาษาอังกฤษ แต่ละตัวหมายความว่าอะไร

เวลาที่ดูรายการแพ็คเกจ ตรวจสุขภาพประจำปี หรือดูรายงาน ผลตรวจสุขภาพ อาจสงสัยว่า ตัวย่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น CBC FBS หรือ SGOT นั้น หมายความว่าอะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับสุขภาพของเรา มีวิธีการตรวจอย่างไร เราจะอธิบายโดยละเอียด

ตรวจร่างกายโดยแพทย์หมายถึงอะไร?

    รายการพื้นฐานที่แทบทุกโปรแกรมการตรวจสุขภาพต้องมี โดยการตรวจร่างกายนั้น แพทย์จะสอบถามประวัติการเจ็บป่วยในเบื้องต้น ของทั้งตัวคุณเองและสมาชิกในครอบครัว ประวัติอาการต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติการใช้ยา รวมถึงพฤติกรรมต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ ร่วมกับการตรวจเบื้องต้น เช่น การตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจหาดัชนีมวลกาย เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถแยกโรคได้ในระดับหนึ่ง

    แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
    ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

    แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

    Chest x-ray หมายถึงอะไร?

      คือ การตรวจทางรังสีวิทยา โดยถ่ายภาพทรวงอกด้วยลงบนแผ่นฟิล์ม ซึ่งแพทย์จะใช้ในการตรวจวินิจฉัยภาวะต่าง ๆ เกี่ยวกับทรวงอก โดยผลการเอกซ์เรย์นี้สามารถบอกข้อมูลเกี่ยวกับทรวงอกว่า มีความรอยผิดปกติหรือไม่ เช่น มีน้ำในเยื้อหุ้มปอดหรือน้ำท่วมปอดหรือไม่ หัวใจมีขนาดหรือรูปร่างปกติ หลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำในช่องอกปกติหรือไม่ กระดูกซี่โครง กระดูกสันหลัง กระดูกไหปลาร้า กระบังลมปกติหรือไม่ เป็นต้น

      แต่จากข้อมูลโดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ไม่แนะนำให้คนทั่วไปที่มีสุขภาพดีเอกซเรย์เป็นประจำ เพราะไม่มีความจำเป็น เว้นแต่ว่าตรวจร่างกายเบื้องต้นจะพบว่ามีปัจจัยเสี่ยง เช่น ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด หายใจติดขัด เป็นต้น จึงแนะนำให้เอกซ์เรย์เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม

      CBC (Complete Blood Count) หมายถึงอะไร?

        CBC คือ การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด โดยการเจาะเลือดตรวจเพื่อหาความผิดปกติของส่วนประกอบของเลือด ได้แก่ จำนวนเม็ดเลือดแดง/เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด รูปร่างของเลือด ประเมินความเข้มข้นของเลือด ฯลฯ ซึ่งอาจบอกถึงสภาวะผิดปกติเช่น ภาวะโลหิตจาง ภาวะที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย จำนวนเกล็ดเลือด รวมถึงโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

        FBS (Fasting Blood Sugar) หมายถึงอะไร?

          FBS เรียกอีกชื่อว่า FPG หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันว่าเป็นค่าเบาหวาน คือ การเจาะเลือดเพื่อตรวจหาค่าระดับน้ำตาลในเลือด หลังการงดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดมาแล้วอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อใช้เป็นข้อมูลว่าปริมาณของกลูโคสในกระแสเลือด ณ ขณะนั้นอยู่ในระดับปกติหรือไม่ โดยค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลในเลือดของคนทั่วไปจะแตกต่างกันตามเกณฑ์ของแต่ละโรงพยาบาล แต่ทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 70 -99 mg/dl

          EKG (Elektrokardiogram หรือ Electrocardiography) หมายถึงอะไร?

          EKG หรือเรียกอีกชื่อว่า ECG คือ การตรวจทดสอบสัญญาณไฟฟ้าของหัวใจในแต่ละจังหวะการเต้น หรือเรียกง่ายๆ ว่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยจะช่วยในการประเมินและวินิจฉัยเกี่ยวกับสุขภาพหัวใจในเบื้องต้น ซึ่งข้อมูลที่ได้อาจช่วยบ่งชี้โรคหรืออาการสำคัญได้ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด สภาวะเกี่ยวกับปัญหาจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ

          SGOT / SGPT (Serum glutamic oxaloacetic transaminase / Serum Glutamic Pyruvate Transaminase) หมายถึงอะไร?

            SGOT หรือ AST (Aspartate transaminase) เป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน คือ เอนไซม์ที่ตรวจพบได้ในกระแสเลือด ซึ่งจะสร้างขึ้นตับ เม็ดเลือดแดง หัวใจ กล้ามเนื้อ ตับอ่อน หรือไต เกิดความเสียหาย โดยส่วนใหญ่ค่านี้จะใช้ตรวจวัดว่าตับมีความเสียหายมากน้อยเพียงใด แต่จะเห็นได้ว่าค่า SGOT ไม่ได้บ่งบอกแค่ความเสียหายของตับเท่านั้น แต่เป็นค่าที่สะท้อนความเสียหายจากอวัยวะอื่นๆ ด้วย แต่ตับเป็นอวัยวะที่ไวต่อโรคหรือปัจจัยที่มากระทบ เช่น สารเคมี สารพิษ จึงมักเป็นสาเหตุแรก ๆ ที่ทำให้ SGOT สูงขึ้นกว่าปกติ แต่ผลก็ยังไม่แม่นยำเท่าที่ควร ดังนั้นหากต้องการตรวจวัดความเสียหายของตับจึงต้องดูควบคู่ไปกับค่าอื่นๆ นั่นคือ

            แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
            ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

            แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

            SGPT หรือ ALT หรือชื่อ Alanine Transaminase ซึ่งเป็นการตรวจสอบความเสียหายของตับเช่นกัน ซึ่งจะให้ผลได้แม่นยำมากกว่าค่าอื่นๆ เช่น SGOT

            ตามปกติค่า SGOT / SGPT จะอยู่ที่ไม่เกิน 40 U/L (ค่าปกติอาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับชนิดน้ำยาตรวจของแต่ละโรงพยาบาล ดังนั้นแม้ว่าในรายงานผลตรวจสุขภาพ จะระบุว่าค่า SGOT / SGPT เกินกว่า 40 U/L ก็อย่าเพิ่งกังวล ควรตรวจดูค่าปกติของโรงพยาบาลนั้นๆ ควบคู่กันด้วย)

            *เพิ่มเติม บางโรงพยาบาลอาจมีการตรวจค่าอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น

              • ALP (Alkaline Phosphatase) หรือเอนไซม์ที่บ่งบอกว่ามีการอุดกั้นของทางเดินน้ำดีว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โดยคนทั่วไปจะอยู่ในเกณฑ์ ไม่เกิน 120 U/L
              • GGT (Gamma-Glutamyl Transferase) หากค่านี้สูงขึ้นอาจบ่งบอกว่าตับมีการบาดเจ็บ

            แต่โดยทั่วไปแล้ว หากคุณไม่ได้มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักเป็นประจำ สูบบุหรี่ มีภาวะอ้วนลงพุง หรือมีอาการที่แสดงให้เห็นว่าอาจมีความผิดปกติเกี่ยวกับตับ เช่น ดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องมาน หรือผลตรวจสุขภาพอื่นๆ ไม่มีสิ่งใดผิดปกติ ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจวัดค่าตับใดๆ เลยก็ได้

            Cholesterol / Triglyceride หมายถึงอะไร?

              Cholesterol คือสารคล้ายไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยมีหน้าที่หลายประการ เช่น เป็นองค์ประกอบของเนื้อเยื่อผนังห่อหุ้มเซลล์ทุกเซลล์ เป็นวัตถุดิบให้ร่างกายผลิตน้ำดี เป็นฉนวนปกป้องห่อหุ้มเส้นใยประสาทเพื่อให้การสื่อประสาทเป็นไปอย่างฉับไว ถูกต้อง เป็นต้น แต่ปริมาณคอเลสเตอรอลที่มากเกินไป อาจทำให้หลอดเลือดอุดตัน หรือทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้ โดยปัจจัยที่ทำให้คอเลสเตอรอลมาเกินจำเป็นนั้น มักมากจากการรับประทานอาหารจำพวกน้ำตาล cholesterol-and-diet' target='_blank'>ไขมันอิ่มตัว มาก โดยค่าคอเลสเตอรอลในเลือด ไม่ควรเกิน 200 mg/dl

              Triglyceride คือไขมันที่ร่างกายได้รับจากอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล ไขมัน แอลกอฮอล์ และสามารถสังเคราะห์ได้เองจากตับและเนื้อเยื่อไขมัน โดยเมื่อร่างกายได้รับสารอาหารดังที่กล่าวไป จะสะสมไว้ในรูปไตรกลีเซอไรด์ โดยปริมาณไตกลีเซอไรด์ที่สูงเกินไปอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะคอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง

              แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
              ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

              แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

              HDL / LDL หมายถึงอะไร?

                HDL (High-density lipoprotein cholesterol) เป็นไขมันดีที่มีหน้าที่จับสารคอเลสเตอรอลตามผนังหลอดเลือด นำไปทำลายที่ตับ โดยผู้ที่มีระดับ HDL สูง จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้ โดยระดับ HDL ในหลอดเลือดไม่ควรต่ำกว่า 40 mg/dl

                LDL (Low-density lipoprotein cholesterol) เป็นไขมันที่ไม่ดี มีบทบาทช่วยกันขนส่งคอเลสเตอรอลจากตับออกไปทั่วร่างกาย หากมีปริมาณมากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด โดยระดับ LDL ในหลอดเลือดไม่ควรสูงกว่า 130 mg/dl

                Urine Examination หมายถึงอะไร?

                  Urine Examination หรือ Urinalysis (UA) คือ การตรวจวิเคราะห์น้ำปัสสาวะเพื่อตรวจดูความผิดปกติ เช่น สี ภาวะกรดด่าง โปรตีน น้ำตาล เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว ฯลฯ การตรวจปัสสาวะจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของไตและระบบปัสสาวะ รวมทั้งอาจทำให้ทราบถึงความเจ็บป่วยบางอย่าง โดยดูจากปริมาณสารเคมีต่าง ๆ ที่ขับออกมากับปัสสาวะได้ด้วย

                  BUN / Creatinine หมายถึงอะไร?

                    BUN (Blood Urea Nitrogen) คือ การตรวจเลือดเพื่อหาปริมาณสารยูเรียไนโตรเจน เพื่อตรวจดูการทำงานของไต โดยค่า BUN ที่สูงอาจหมายถึงไตเริ่มทำหน้าที่บกพร่อง โดยทั่วไปค่า BUN จะอยู่ระหว่าง 10-20 mg/dl แต่ก็ไม่สามารถให้ผลชี้ชัดได้ ต้องอาศัยค่าอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ค่า Creatinine

                    Creatinine คือ ของเสียที่ไตขับทิ้งออกทางปัสสาวะ โดยอาจเหลือค้างในกระแสเลือดเล็กน้อย แต่ถ้าการทำหน้าที่ของไตเริ่มบกพร่อง ไตจะขับ Creatinine ออกทิ้งไม่ทัน ทำให้ค่านี้สูงขึ้น ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคไต โดยค่าปกติทั่วไปของ Creatinine ในผู้ชาย คือ 0.6 - 1.2 mg/dL ในผู้หญิง คือ 0.5 - 1.1 mg/dL

                    * เพิ่มเติม ผลตรวจสุขภาพของบางคนอาจแสดงค่า 

                    eGFR (Estimated glomerular filtration rate) คือ การตรวจหาอัตราการไหลของเลือด ผ่านตัวกรองไตในหนึ่งนาที ปัจจุบันนี้วงการแพทย์ เริ่มใช้ค่า GFR เพื่อบอกสถานะของโรคไตแทนค่า Creatinine เพราะค่านี้มีประโยชน์ในแง่ที่ช่วยแบ่งระดับความรุนแรงของผู้ที่มีระดับ Creatinine ผิดปกติว่ามีความรุนแรงของโรคไตเรื้อรังอยู่ในระยะใด โดยในคนปกตินั้นจะมีค่า GFR อยู่ที่ประมาณ 125 มล./นาที แต่ถ้าตรวจพบว่ามีค่าต่ำกว่า 90 จะถือว่าไตเริ่มเสื่อมแล้ว

                    Uric Acid หมายถึงอะไร?

                      Uric Acid คือ การตรวจวัดปริมาณกรดยูริกในเลือด เพื่อช่วยวินิจฉัยและติดตามอาการโรคเกาต์ รวมทั้งผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี และยังเป็นการตรวจที่อาจใช้เป็นสัญญาณบ่งชี้สุขภาพของไตอย่างหนึ่งได้ด้วย หากปริมาณกรดยูริกในเลือดเพิ่มสูงขึ้นติดต่อกันเป็นเวลานาน จะตกผลึกจับตัวกันเป็นของแข็ง แทรกอยู่ในช่องว่างระหว่างข้อต่อและกระดูก ส่งผลทำให้เกิดอาการปวดร้าวตามข้อกระดูกต่าง ๆ หรือที่รู้จักกันในชื่อ โรคเกาต์

                      ตรวจอุจจาระ (Stool Exam) หมายถึงอะไร?

                        คือการตรวจหาพยาธิ หรือไข่ของพยาธิ รวมทั้งการตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ (Stool Occult Blood) เพื่อตรวจว่ามีแผลในระบบทางเดินอาหารหรือไม่ เช่น แผลในลำไส้ใหญ่ ริดสีดวงทวาร เป็นต้น โดยหากมีเลือดปะปนมากับอุจจาระ อาจบ่งชี้ถึงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้ด้วย

                        HBs Ag / Anti-HBs หมายถึงอะไร?

                          HBs Ag คือการตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเป็นไวรัสสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคตับอักเสบและอาจลุกลามไปเป็นมะเร็งตับได้ หากพบว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ต้องรีบปรึกษาแพทย์ทันที

                          Anti-HBs คือการตรวจหาภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งผู้ที่จะมีภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบีได้นั้น ต้องเคยได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมาก่อน หรือเคยได้รับวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี

                          ตรวจมวลกระดูก หมายถึงอะไร?

                            การตรวจมวลกระดูก หรือการตรวจความหนาแน่นกระดูก เพื่อตรวจสอบว่ามีแนวโน้มของโรคกระดูกพรุนหรือไม่ โดยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระดูกเปราะและแตกหักง่าย โดยเฉพาะในผู้หญิงอายุมากกว่า 45 ปี

                            ตรวจภายใน / PAP SMAER หมายถึงอะไร?

                              ตรวจภายใน สำหรับผู้หญิงที่อายุ 35 ปีขึ้นไป หรือมีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจดูความผิดปกติหรือแผลในช่องคลอดและปากมดลูก

                              PAP SMAER เป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดผ่านช่องคลอด จากนั้นจะป้ายเซลล์จากมดลูกส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติหรือเซลล์ที่มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งอาจทำให้เกิดมะเร็งได้ 

                              *เพิ่มเติม HPV Self-Collection Test เป็นอีกหนึ่งวิธีในการตรวจหาเชื้อ HPV ด้วยตัวเอง โดยมีการพัฒนาอุปกรณ์เก็บตัวอย่างที่เรียกว่า แปรงอีวาลีน เพื่อให้ผู้หญิงสามารถเก็บสิ่งส่งตรวจในช่องคลอดด้วยตัวเอง แล้วส่งสิ่งตรวจที่ได้ไปที่โรงพยาบาลหรือศูนย์ตรวจทางการแพทย์ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกโดยตรง

                              Digital Mammogram and Ultrasound หมายถึงอะไร?

                                คือการตรวจเต้านมเพื่อทดสอบว่ามีโอกาสเปิดก้อนเนื้อหรือมะเร็งเต้านมหรือไม่ โดยมีการตรวจ 2 ลักษณะคือ

                                  • การตรวจแมมโมแกรม เป็นการตรวจทางรังสี คล้ายกับการเอกซเรย์ แต่เครื่องตรวจแมมโมแกรม จะใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป แต่มีความสามารถในการตรวจที่ละเอียดกว่ามาก โดยทั่วไปจะฉายรูปเต้านมด้านละ 2 รูป โดยการบีบเนื้อเข้าหากัน และถ่ายรูปจากด้านบน และด้านข้างอย่างละหนึ่งรูป รวมการตรวจแมมโมแกรมในระบบมาตรฐาน 4 รูป
                                  • การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจโดยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูง เข้าไปในเนื้อเต้านม เมื่อคลื่นเสียงกระทบกับเนื้อเยื่อต่างๆ จะสะท้อนกลับขึ้นมาที่เครื่องตรวจ ซึ่งจะตรวจจับความแตกต่างของเนื้อเยื่อได้ ทำให้สามารถแยกเนื้อเยื่อเต้านมปกติ กับก้อนในเต้านมได้ นอกจากนี้ ยังสามารถบอกได้ว่าก้อนที่พบในเนื้อเต้านมนั้น มีองค์ประกอบเป็นน้ำ หรือ เป็นก้อนเนื้อ

                                การตรวจด้วยแมมโมแกรม และ อัลตราซาวด์ มีข้อดีต่างกัน บางครั้งการตรวจอย่างใดอย่างหนึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่า แต่บางครั้ง การตรวจทั้ง 2 อย่างก็จะช่วยเสริมให้การวินิจฉัยโรคได้ดีขึ้น

                                สารบ่งชี้มะเร็งหมายถึงอะไร?

                                  ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าทำให้ทุกวันนี้สามารถตรวจเลือดเพื่อหาสารที่บ่งชี้ความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งในอวัยวะต่างๆ ได้ด้วย โดยค่าที่ผลตรวจสุขภาพมักแสดงเพื่อชี้วัดมะเร็งมีดังนี้

                                    • PSA (Prostate-specific antigen) สารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก
                                    • AFP (Alpha-Fetoprotien) สารที่บ่งชี้สภาวะของโรคมะเร็งตับ
                                    • CA125 (Cancer antigen 125) สารบ่งชี้มะเร็งรังไข่
                                    • CA15-3 (Cancer antigen 15-3) สารบ่งชี้มะเร็งเต้านม
                                    • CA19-9 (Cancer antigen 19-9) สารบ่งชี้มะเร็งตับอ่อนและท่อน้ำดี
                                    • CEA (Carcinoembryonic Antigen) สารบ่งชี้มะเร็งลำไส้ใหญ่

                                  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้ผลตรวจสุขภาพ อาจมีค่าเหล่านี้ผิดปกติ ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเป็นมะเร็งอย่างแน่นอน เพราะค่าต่างๆ เหล่านี้อาจคลาดเคลื่อนได้จากหลายปัจจัย จึงต้องมีการวินิจฉัยเพิ่มเติมอีกหลายขั้นตอนเพื่อยืนยันผลการตรวจ

                                  TSH (Thyroid stimulating hormone) หมายถึงอะไร?

                                    TSH เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมอง ทำหน้าที่กระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมน T3 (triiodothyronine) และ T4 (thyroxine) ค่า TSH จะขึ้นกับระดับไทรอยด์ฮอร์โมน หากต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนได้ตามปกติ ค่า TSH จะต่ำ หากต่อมไทรอยด์ไม่สามารถสังเคราะห์ไทรอยด์ฮอร์โมน หรือสังเคราะห์ได้น้อยเกินไป จะ ทำให้ค่า TSH สูง โดยค่าปกติอยู่ที่ 0.5-5.0 mU/L หมายถึงต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่อง

                                    CRP (C-reactive protein) หมายถึงอะไร?

                                    CRP เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อการอักเสบ ดังนั้นการตรวจหาระดับ CRP จึงเป็นการตรวจหาว่ามีการอักเสบในร่างกายหรือไม่ แต่การตรวจนี้บอกเพียงว่ามีการอักเสบ แต่ไม่ได้บอกสาเหตุหรืออวัยวะที่อักเสบ และไม่สามารถบอกว่าภาวะนั้นเกิดแบบเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง

                                    Homocysteine หมายถึงอะไร?

                                      เป็นสารที่เกิดจากการย่อยสลายของอาหารประเภทโปรตีน ถ้าร่างกายมีสารชนิดนี้สูง เกินกว่าระดับที่ควรจะเป็น สารเข้าไปทำลายหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดขนาดเล็ก เช่น หลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดที่อยู่ในสมอง โดยทำให้หลอดเลือดมีโอกาสตีบและอุดตันได้ง่ายขึ้น

                                      EST (Exercise Stress Test) หรือ ETT (Exercise Tolerance Test) หมายถึงอะไร?

                                        EST เป็นการตรวจสมรรถภาพของหัวใจ โดยให้ผู้ป่วยออกกำลังกายด้วยวิธีต่างๆ เช่น เดินบนสายพานเลื่อนหรือปั่นจักรยาน เพื่อทดสอบว่า เมื่อหัวใจมีความต้องการในการใช้ออกซิเจนจากเลือดเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ออกกำลังกายแล้วจะเกิดภาวะการขาดเลือดขึ้นหรือไม่

                                        Echo (Echocardiogram หรือ Echocardiography) หมายถึงอะไร?

                                          Echo หรือการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง คือการตรวจโรคหัวใจที่ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและติดตามอาการโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ โรคลิ้นหัวใจพิการ โรคของเยื่อหุ้มหัวใจ

                                          ตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องหมายถึงอะไร?

                                            การอัลตราซาวนด์ช่องท้อง เพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะสำคัญภายในช่องท้องเช่น ตับ ไต ตับอ่อน ม้าม เส้นเลือดใหญ่ภายในช่องท้อง รวมถึงมดลูกและรังไข่ในผู้หญิงและต่อมลูกหมากในผู้ชาย

                                            ตรวจระดับฮอร์โมนหมายถึงอะไร?

                                              ฮอร์โมนคือสาระสำคัญในร่างกายที่ช่วยให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายดำเนินไปตามปกติ แต่เมื่อระดับฮอร์โมนไม่สมดุลอาจก่อให้เกิดภาวะหรืออาการผิดปกติต่างๆ ภายในร่างกายได้ เช่น การเผาผลาญพลังงานที่เกิดขึ้นภายในร่างกายลดลง มวลกล้ามเนื้อลดลง ปริมาณไขมันสะสมในร่างกายเพิ่มขึ้นทำให้เกิดภาวะโรคอ้วน บางโรงพยาบาลจึงมีการตรวจระดับฮอร์โมน เพื่อค้นหาสัญญาณความผิดปกติของร่างกาย เช่น Estradiol / Progesterone /Testosterone เป็นต้น

                                              ทั้งนี้แม้ว่าการตรวจสุขภาพประจำมีจะมีรายการมากมาย แต่จริงๆ แล้ว ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดีทุกประการ หรือไม่มีความเสี่ยงของโรคต่างๆ ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจให้ครบทุกรายการ เพียงเลือกตรวจเฉพาะรายการหลักๆ ที่จำเป็น ตามช่วงอายุ เพราะการตรวจที่มากเกินไป นอกจากจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายมากแล้ว ยังไม่เกิดประโยชน์ใดๆ อีกด้วย


                                              3 แหล่งข้อมูล
                                              กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
                                              รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ไชยยงค์ นวลยง, มะเร็งต่อมลูกหมาก, http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=571, 18 October 2010
                                              Bumrungrad International, ตรวจสุขภาพประจำปี! ควรตรวจอะไรและดีกับคุณอย่างไร, https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/March-2018/health-check-up-list-benefits, 28 March 2018
                                              Medthai, การตรวจสุขภาพ (Medical Checkup), https://medthai.com, 2018

                                              บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

                                              ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

                                              ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
                                              (1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)