โรคไมเกรน

รวมสาเหตุ อาการแทรกซ้อน การรักษา วิธีป้องกันจากโรคไมเกรน ทำได้อย่างไรบ้าง?
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 29 ต.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 13 นาที
โรคไมเกรน

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โรคไมเกรน เป็นอาการปวดศีรษะฝั่งใดฝั่งหนึ่งลักษณะปวดตุ้บๆ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเส้นประสาทไตรเจอมินอล ทำให้ผู้เป็นไมเกรนอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ไวต่อเสียงและแสงรบกวนได้ง่าย 
  • โรคไมเกรนยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคไมเกรนได้หลายอย่าง เช่น ความเครียด ฮอร์โมน การกินอาหารไม่เพียงพอ พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือผลจากยาบางชนิด
  • วิธีป้องกันเบื้องต้น คือการกินอาหารให้ครบถ้วน ดื่มน้ำเยอะๆ หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการ เช่น พื้นที่เสียงดัง แสงจ้า หากมีอาการปวดไม่ควรละเลย ให้นอนพักในห้องเงียบๆ มืดๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น
  • เมื่อมีอาการปวดไมเกรน สามารถปรึกษาเภสัชกรเพื่อกินยาประเภทไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน หรือพาราเซตามอล แต่หากอาการปวดไม่ดีขึ้นหรือมีอาการมาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการต่อไป
  • ดูแพ็กเกจปรึกษาปัญหาความเครียดได้ที่นี่

โรคไมเกรนคืออะไร

โรคไมเกรน (Migraine Headache) เป็นอาการปวดซึ่งพบได้บ่อยโดยเฉลี่ยประมาณ 1 ใน 5 ของผู้หญิง และ 1 ใน 15 ของผู้ชาย 

ซึ่งอาการในเบื้องต้นของผู้ป่วยที่เป็นโรคไมเกรนคือ รู้สึกปวดศีรษะอย่างรุนแรง โดยมีอาการปวดแบบตุ้บๆ ที่ด้านหน้าหรือด้านข้างของศีรษะ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอื่นๆ ตามมาอีก เช่น คลื่นไส้อาเจียน รวมถึงยังมีความรู้สึกไวต่อแสงและเสียงเพิ่มขึ้น 

สาเหตุของโรคไมเกรน

สาเหตุของโรคไมเกรนยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้ว่าเกิดจากอะไร แต่โดยทั่วไป อาการมักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงในสมองโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทไตรเจอมินอล (Trigeminal nerve) 

นอกจากนี้ ยังพบว่าโรคไมเกรนยังสัมพันธ์กับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม และสามารถเกิดได้จากปัจจัยกระตุ้น ที่มาจากทั้งภายในและภายนอกร่างกาย เช่น อากาศร้อน การเห็นแสงจ้า ความเครียด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในผู้หญิง

สำหรับปัจจัยที่มักจะกระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดไมเกรนขึ้น จะมีดังต่อไปนี้

  • ช่วงก่อนมีประจำเดือน เกิดขึ้นจากจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง โดยจะเกิดขึ้นประมาณ 2 วันก่อนมีประจำเดือน และ 3 วันหลังมีประจำเดือน

  • สภาวะด้านอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล อาการซึมเศร้า ความตื่นเต้น ภาวะช็อก

  • ความเหนื่อยล้าของร่างกาย เช่น อ่อนเพลีย นอนหลับไม่เพียงพอ ปวดเมื่อยหรือตึงบริเวณคอกับหัวไหล่ อ่อนเพลียจากการเดินทางด้วยเครื่องบิน (Jet lag) การออกกำลังกายอย่างหนักตั้งแต่เริ่มแรก ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycaemia)

  • ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วย เช่น แสงจ้า อากาศที่ร้อน อบอ้าว ชื้น หรือหนาวจัด หน้าจอที่มีการเคลื่อนไหวไปมา เช่น หน้าจอโทรทัศน์หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ การสูบบุหรี่หรืออยู่ในบริเวณที่มีควันบุหรี่มาก กลิ่นน้ำหอมที่ฉุนจัด บริเวณที่เสียงดัง

  • การรับประทานอาหารบางประเภทและพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้อง เช่น การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา การข้ามมื้ออาหาร ดื่มน้ำไม่เพียงพอ ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ อาหารรสหวานบางชนิด เช่น ช็อกโกแลต ชีส รับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของสารไทรามีน (Tyramine)

  • การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับบางชนิด ยาคุมกำเนิดรับประทานชนิดฮอร์โมนรวม (Combined Contraceptive Pill) การรับประทานฮอร์โมนทดแทนสำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

อาการเตือนก่อนเป็นไมเกรน 

ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไมเกรนจะมี "อาการเตือนก่อนเป็นไมเกรน (Symptoms Of Aura)" ชั่วคราว ก่อนที่จะมีอาการปวดไมเกรนจริง โดยอาการจะมีระยะเวลาประมาณ 5 นาที - 1 ชั่วโมง ซึ่งเราเรียกอาการเตือนได้ว่า "ออร่า (Aura)" ซึ่งอาการเตือนที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะดังนี้ 

  • มีปัญหาด้านการมองเห็น เช่น มองเห็นแสงไฟกระพริบ เส้นซิกแซกไปมา มีจุดบอดในขณะมองเห็น
  • มีอาการชาหรือเจ็บเหมือนถูกเข็มตำ โดยมักจะเริ่มมีอาการที่มือข้างหนึ่งและเคลื่อนที่ไปยังแขน ก่อนที่จะลามไปยังใบหน้า ริมฝีปาก และลิ้น
  • รู้สึกเวียนศีรษะ หรือทรงตัวไม่อยู่
  • พูดลำบากกว่าปกติ
  • หมดสติ แต่จะพบในผู้ป่วยเพียงบางรายเท่านั้น

อาการปวดศีรษะของโรคไมเกรน

อาการของผู้ป่วยโรคไมเกรนแต่ละรายมักจะมีอาการที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนมากแล้ว เราสามารถแบ่งช่วงของอาการปวดไมเกรนได้ 4 ช่วง ดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  1. ระยะก่อนปวดศีรษะ (Prodrome): ในช่วงนี้ผู้ป่วยจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อารมณ์ รวมถึงพฤติกรรมและความอยากอาหาร โดยอาการก่อนปวดศีรษะสามารถเกิดขึ้นได้หลายชั่วโมงหรือหลายวันก่อนที่ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปวดศีรษะ

  2. ระยะเห็นแสงวูบวาบ (Aura): ผู้ป่วยบางรายอาจเผชิญกับความผิดปกติของการมองเห็น เช่น เห็นแสงกะพริบ มีจุดบอดในขณะมองภาพ ซึ่งความผิดปกตินี้สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 5 นาทีจนถึง 1 ชั่วโมง

  3. ระยะปวดศีรษะ (Headache): ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะด้านใดด้านหนึ่ง โดยมีลักษณะอาการปวดแบบตุ้บๆ ตามจังหวะหัวใจเต้น และมักจะมาพร้อมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน

    นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกไวต่อแสงหรือเสียงที่ดังด้วย ซึ่งอาการปวดศีรษะอาจยาวนานถึง 4-72 ชั่วโมงเลยทีเดียว

  4. ระยะหายปวด (Resolution): ในระยะนี้ อาการปวดศีรษะและอาการอื่นๆ จะค่อยๆ ลดลง ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจจะมีความรู้สึกเหนื่อยล้าและอ่อนเพลียเกิดขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีอาการข้างเคียงอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยปวดไมเกรนด้วย แต่อาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเท่านั้นและจะไม่เกิดขึ้นในผู้ป่วยทุกราย ได้แก่

ชนิดของโรคไมเกรน

  • ไมเกรนที่มีอาการนำ (Migraine with aura หรือ Classical migraine)
  • ไมเกรนที่ไม่มีอาการนำ (Migraine without aura หรือ common migraine)
  • ไมเกรนที่มีอาการร่วมกับปัญหาการมองเห็น (Retinal migraine)
  • ไมเกรนชนิดเรื้อรัง (Chronic migraine)
  • ไมเกรนที่เกิดร่วมกับภาวะแทรกซ้อน (Complication migraine)
  • อาการปวดศีรษะที่คล้ายกับไมเกรน แต่ยังไม่ครบเกณฑ์การวินิจฉัย
  • โรคไมเกรนในเด็ก (Childhood periodic syndrome)  เป็นกลุ่มอาการที่อาจพัฒนามาเป็นไมเกรนในเด็ก

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคไมเกรน

นอกเหนือจากการปวดศีรษะอย่างรุนแรงแล้ว โรคไมเกรนยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้อีก เช่น

  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke): โดยเฉพาะ "โรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด (Lschaemic Strokes)" ซึ่งเป็นโรคที่ผู้ป่วยโรคไมเกรนเสี่ยงที่จะเป็นมากกว่าถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับคนปกติ

    อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงนี้ยังถือว่าอยู่ในระดับที่เกิดขึ้นได้น้อย แต่อาจเพิ่มขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ทำให้ส่วนมาก แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหญิงโรคไมเกรนชนิดมีอาการเตือนล่วงหน้าไม่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม


    ส่วนผู้ป่วยหญิงที่ไม่ได้เป็นไมเกรนชนิดมีอาการเตือนล่วงหน้า ก็สามารถใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมได้ เว้นแต่ว่าผู้ป่วยรายนั้นจะมีโรคแทรกซ้อนเกี่ยวกับหลอดเลือดสมองอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด

  • ปัญหาสุขภาพจิต (Mental health problems): ผู้ป่วยโรคไมเกรนมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางสุขภาพตามมาได้ เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder) โรควิตกกังวล โรคแพนิค (Panic disorder)

  • ภาวะปวดศีรษะอย่างรุนแรง (Status migrainosus): ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะนานกว่า 72 ชั่วโมง และจะปวดอย่างรุนแรงโดยไม่มีช่วงหายปวดเลย ภาวะนี้มักเกิดขึ้นในผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดเกินความจำเป็น

  • ภาวะอาการเตือนก่อนเป็นไมเกรนนานกว่าปกติ (Persistent aura without infarction): ผู้ป่วยที่เกิดภาวะนี้จะมีอาการเตือนก่อนเป็นไมเกรนนานมากกว่าหรือเท่ากับ 1 สัปดาห์ ซึ่งภาวะนี้จะคล้ายกับอาการสมองขาดเลือด แต่เมื่อเอกซเรย์สมองแล้ว แพทย์จะไม่พบภาวะสมองขาดเลือดแต่อย่างใด ภาวะนี้มักเกิดขึ้นทั้ง 2 ซีกของร่างกาย เช่น ชาทั่วตัวหรืออ่อนแรงทั่วตัว 

  • ภาวะอาการเตือนก่อนเป็นไมเกรนนานกว่าปกติร่วมกับภาวะสมองขาดเลือด (Migrainosus infarction): ผู้ป่วยจะมีอาการเตือนก่อนเป็นไมเกรนนานกว่า 1 ชั่วโมงร่วมกับมีภาวะสมองขาดเลือดจากภาพเอกซเรย์ด้วย ซึ่งพบได้บ่อย

    ในกรณีหลอดเลือดที่เลี้ยงก้านสมองและตัวสมองส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะดังกล่าวไม่เพียงพอ ผู้ป่วยหญิงที่อายุน้อยจะมีความเสี่ยงต่อภาวะนี้มากที่สุด

  • ภาวะเป็นลมชักขณะเกิดอาการเตือนก่อนเป็นไมเกรน (Migraine aura triggered seizure): ผู้ป่วยที่เป็นภาวะนี้จะเกิดอาการลมชักขึ้นในระหว่าง หรือหลังมีอาการเตือนก่อนเป็นในเกรน ระยะเวลาของการเกิดภาวะนี้จะอยู่ที่ประมาณ 1 ชั่วโมง

ความไวต่อแสงและเสียงกับโรคไมเกรนสัมพันธ์กันอย่างไร

สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยโรคไมเกรนมีอาการไวต่อแสงและเสียง

เมื่อเริ่มเป็นโรคไมเกรน เส้นประสาทในสมองผู้ป่วยโรคไมเกรนจะทำงานมากกว่าปกติ ทำให้เส้นเลือดในสมองมีการขยายตัวและปล่อยสารเคมีที่ทำให้เส้นเลือดอักเสบ ส่งผลให้เกิดอาการปวดไมเกรนขึ้น 

ทั้งนี้ แสงสว่างจากแหล่งต่างๆ รอบตัว เช่น แสงจากหน้าจอโทรทัศน์ แสงสะท้อนจากหน้าต่าง หรือเสียงที่ดังมากๆ ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาดังกล่าวได้ 

และเมื่อผู้ป่วยเกิดอาการปวดไมเกรน อาการไวต่อแสงและเสียงมากกว่าปกติก็จะเกิดขึ้น เนื่องมาจากสมองส่วนที่ประมวลผลเกี่ยวกับแสงและเสียงได้ทำงานหนักขึ้นกว่าคนทั่วไป และทำให้การตอบสนองต่อแสงและเสียงของผู้ป่วยรุนแรงขึ้นนั่นเอง

ผู้ป่วยโรคไมเกรนกว่า 80% จะมีอาการไวต่อแสง หรือที่เรียกอีกชื่อว่า "ตาไม่สู้แสง (Photophobia)" โดยภาวะนี้จะเริ่มจากที่ประสาทตา ซึ่งจะส่งสัญญาณจากดวงตาไปยังสมอง 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อแสงจากแหล่งต่างๆ รอบตัวได้ ซึ่งการตอบสนองอาจรุนแรงมากถึงขั้นที่ผู้ป่วยอาจต้องใส่แว่นตาดำ หรือต้องนอนอยู่ในห้องมืดเพื่อให้รู้สึกดีขึ้น นอกจากนี้ ร่างกายของผู้ป่วยอาจมีความไวต่อเสียงเช่นกัน

วิธีรับมือกับอาการไวต่อแสง

  • ใช้มู่ลี่หรือผ้าม่านกันแสงปิดหน้าต่างเพื่อป้องกันแสงแดดเข้ามาในห้อง

  • ใช้แสงไฟที่มีความนุ่มนวล

  • ไม่ใช้หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent tube) หรือที่เรียกทั่วไปว่า "หลอดนีออน (Neon lamp)" เพราะแสงกระพริบจากหลอดไฟจะทำให้เกิดอาการปวดไมเกรนได้ในผู้ป่วยบางราย

  • ติดตั้งไฟให้ห่างจากบริเวณที่ทำให้เกิดแสงสะท้อนและทำให้เกิดแสงจ้า เช่น ใกล้กระจก โทรทัศน์ กำแพง หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์

  • ปรับความสว่างและมุมของหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อลดแสงจ้าและการสะท้อน

  • ผู้ป่วยโรคไมเกรนส่วนมากจะมีความไวต่อแสงสีแดงและแสงสีน้ำเงินเป็นพิเศษ ทั้งนี้การใส่แว่นกันแดดชนิดพิเศษจะสามารถกรองแสงเหล่านี้ได้

วิธีรับมือกับอาการไวต่อเสียง

  • หลีกเลี่ยงการไปคอนเสิร์ต ชมภาพยนตร์ งานเลี้ยงสังสรรค์ หรือสถานที่ที่มีเสียงดังมากๆ

  • ใส่หูฟังหรือที่อุดหูที่สามารถป้องกันเสียงดังได้

  • ใช้ผ้าม่านปิดหน้าต่าง และใช้พรมหนาๆ เพื่อดูดเสียงภายในบ้าน

  • เปิดเสียงรบกวนที่ทำให้สบายใจ (White noise) ที่สามารถช่วยกลบเสียงดังได้

เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์เมื่อเป็นโรคไมเกรน

ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการของไมเกรนอยู่บ่อยครั้ง หรือมีอาการปวดไมเกรนที่รุนแรงจนไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol

และหากผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองกินยาแก้ปวดดังกล่าวแล้วไม่หาย ก็ไม่ควรรับประทานในปริมาณมากขึ้นเอง แต่ควรเปลี่ยนยาโดยการปรึกษาเภสัชกร หรือไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับอาการ และการใช้ยา

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ผู้ดูแลหรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดควรรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคที่ร้ายแรงกว่าอาการปวดไมเกรนได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (meningitis

  • รู้สึกชาหรืออ่อนแรงที่แขนหรือใบข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง 
  • พูดไม่ชัด
  • อาการปวดศีรษะรุนแรงฉับพลันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
  • ปวดศีรษะร่วมกับมีไข้ คอแข็ง มึนงงสับสน ชัก มองเห็นภาพซ้อน และมีผื่นขึ้น

6 ข้อควรระวังเมื่อเป็นโรคไมเกรน

มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดไมเกรนกำเริบขึ้นได้ ซึ่งส่วนมาก มักเป็นพฤติกรรมในชีวิตประจำวันบางอย่างที่ผู้ป่วยอาจละเลย หรือปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง เช่น

  1. ดื่มน้ำให้พียงพอมากขึ้น: เพราะน้ำเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพโดยรวมของทุกคน และยังสามารถลดอาการปวดไมเกรนลงได้อีกด้วย โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคไมเกรน ควรดื่มน้ำเพิ่มจากปริมาณปกติที่ต้องดื่มต่อวันอีกประมาณ 6 แก้วหรือ 1.5 ลิตร ซึ่งอาจทำให้อาการปวดศีรษะจากโรคไมเกรนทุเลาลงได้

  2. อดอาหาร ผู้ป่วยหลายรายที่รับประทานอาหารน้อย หรือรับประทานอาหารไม่เพียงพอจะทำให้อาการโรคไมเกรนกำเริบได้ เนื่องมาจากระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดที่ต่ำเกินไปจนผลต่อสมองและทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้น

  3. รับประทานยาแก้ปวดมากเกินไป: การรับประทานยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน (Aspirinไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ติดต่อกันมากกว่า 3-4 วัน อาจนำไปสู่ "อาการปวดศีรษะเนื่องมาจากการใช้ยาเกินเหตุ"

    ซึ่งเป็นอาการปวดศีรษะประเภทนี้จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยไม่รับประทานยาแก้ปวดบ่อยเกินไปเหมือนที่เคยทำ ซึ่งหลังจากนั้นร่างกายก็จะเริ่มเรียกร้องหายาและนำไปสู่อาการปวดไมเกรนได้หากไม่รีบรับประทานยาอีกครั้ง

  4. พักผ่อนมากหรือน้อยเกินไป: อาการปวดไมเกรนจะเกิดขึ้นหากผู้ป่วยไม่มีการจัดตารางการนอนให้เหมาะสม ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากอาจเข้าใจว่าโรคไมเกรนเกิดจากการนอนหลับไม่เพียงพอ

    แต่ความจริงแล้ว การนอนหลับมากเกิน 7-8 ชั่วโมงก็เป็นปัจจัยทำให้เกิดโรคไมเกรนได้ และหากผู้ป่วยนอนมากกว่า 7-8 ชั่วโมงแล้วยังรู้สึกเหนื่อย อย่าลังเลที่จะรีบไปพบแพทย์ เพราะอาการดังกล่าวอาจเกิดจากโรคหยุดหายใจขณะนอนหลับ หรือโรคนอนไม่หลับได้

  5. เพิกเฉยต่อความเจ็บปวด: หากเกิดอาการปวดไมเกรนขึ้น ผู้ป่วยไม่ควรอดทนละเลยกับอาการเหล่านั้น ทางที่ดีให้รีบหาที่นั่งพัก หรือหาที่นอนราบไปกับพื้น ซึ่งควรเป็นห้องมืดและเงียบจนกว่าอาการจะดีขึ้น หรือให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นวางประคบบนหน้าผาก นอกจากนี้ การนวดศีรษะก็อาจทำให้บรรเทาอาการปวดไมเกรนได้เช่นกัน

  6. ลืมจดอาหารที่รับประทานไปแล้ว: อาหารบางชนิดที่รับประทานอยู่ทุกวัน อาจเป็นตัวการทำให้ผู้ป่วยปวดไมเกรนได้โดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งอาหารที่ขึ้นชื่อว่าเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดโรคไมเกรนจะได้แก่ อาหารจำพวกชีส ถั่ว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สารไรเตรตในอาหาร (Nitrate) ซึ่งมักพบได้ในไส้กรอก เบคอน และอาหารแปรรูปชนิดอื่นๆ

ยาสำหรับรักษาโรคไมเกรน 

โรคไมเกรนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถลดความถี่หรือป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ สำหรับการรักษาด้วยการใช้ยา มียาหลากหลายชนิดที่มีข้อบ่งใช้สำหรับโรคไมเกรน สามารถแบ่งยาออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่มยาบรรเทาอาการปวดศีรษะ 

ใช้รักษาอาการปวดแบบเฉียบพลัน จะใช้เฉพาะเมื่อในช่วงอาการปวดไมเกรนเท่านั้น ซึ่งวิธีการรับประทานคือ ควรรับประทานทันทีที่เกิดอาการปวดไมเกรน หรือมีอาการเตือนก่อนเป็นไมเกรน และไม่ควรปล่อยให้เกินนานครึ่งชั่วโมงหลังเกิดอาการ เพราะจะทำให้ยาออกฤทธิ์ได้น้อยลง เช่น 

1.1 ยากลุ่มพาราเซตามอล 

โดยยากลุ่มนี้จะไปยับยั้งเอนไซม์ที่เกี่ยวกับการสังเคราะห์พรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ซึ่งเป็นสารที่มีบทบาทต่อการอักเสบของโรคไมเกรน โดยปริมาณที่รับประทานจะสูงกว่าการรับประทานเพื่อแก้อาการปวดศีรษะทั่วไป คือ ให้รับประทาน 600-1,000 มิลลิกรัม จากนั้นให้รับประทานซ้ำๆ ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ห้ามรับประทานเกินวันละ 4,000 มิลลิกรัม เนื่องจากอาจเป็นพิษต่อตับได้

1.2 ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ 

ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) จะมีกลไกเข้าไปยับยั้งเอนไซม์ไซโคลออกซิจิเนส (Cyclooxygenase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนกรดอะราคิโดนิค (arachidonic acid) เป็นสารพรอสตาแกลนดินซึ่งเป็นสารสื่อกลางสำหรับตอบสนองการอักเสบและความรู้สึกเจ็บปวด แต่ผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้คือ อาจทำให้เกิดความระคายเคืองในกระเพาะอาหารได้ ผู้ป่วยจึงควรรับประทานยาตัวนี้พร้อมหรือหลังอาหาร 

ตัวอย่างยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ที่นิยมใช้

1. ไอบูโพรเฟน

ให้รับประทานในปริมาณ 400-600 มิลลิกรัมในการรับประทานครั้งแรก และให้รับประทานซ้ำอีกครั้งในอีก 1-2 ชั่วโมงต่อมา 

2. นาพรอกเซน (Naproxen)

ให้รับประทานยาอยู่ที่ปริมาณ 500-750 มิลลิกรัมในการรับประทานครั้งแรก และหากอาการยังไม่ดีขึ้น ให้รับประทานซ้ำอีก 250 มิลลิกรัม ขนาดยาสูงสุดที่สามารถรับประทานได้ต่อวันคือ 1,375 มิลลิกรัมต่อวัน

3. ไดโคลฟิแนก (Diclofenac)

ให้รับประทานยาในปริมาณ 50-100 มิลลิกรัมในการรับประทานครั้งแรก และรับประทานซ้ำอีก 50 มิลลิกรัมในอีก 8 ชั่วโมงถัดมา

4. ยากลุ่มทริปแทน (Triptan)

ยากลุ่มนี้จะมีกลไกไปกระตุ้นตัวรับเซโรโทนิน (Serotonin) ทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดในสมอง ลดการทำงานของระบบประสาทและการหลั่งของสารเปปไทด์ (Peptide) รวมถึงช่วยลดการส่งสัญญาณสื่อประสาทความเจ็บปวดให้น้อยลง

สำหรับยาที่นิยมใช้ในกลุ่มยานี้คือ ยาซูมาทริปแทน (Sumatriptan) ซึ่งปริมาณการรับประทานยาจะอยู่ที่ 50-100 มิลลิกรัม แต่หากรับประทานแล้ว อาการปวดไมเกรนกลับมากำเริบอีกครั้ง ให้รับประทานซ้ำในอีก 2 ชั่วโมง แต่ไม่ควรรับประทานยาเกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน

สำหรับผลข้างเคียงของยากลุ่มทริปแทนคือ อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการมึนงง การรับความรู้สึกผิดเพี้ยน (Paresthesia) เช่น รู้สึกชา เหน็บ คัน เหมือนมีของแหลมตำ หรือรู้สึกแสบร้อน ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตแบบควบคุมไม่ได้ รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดสมอง ไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้

5. ยากลุ่มเออร์กอต (Ergot) 

ได้แก่ คาร์เฟอกอท (Cafergot ) ซึ่งเป็นยาที่ผสมระหว่างยาเออโกทามีน ทาร์เทรท (Ergotamine tartrate) 1 มิลลิกรัม และคาเฟอีน (Caffeine) 100 มิลลิกรัม สำหรับปริมาณที่ให้ประทานคือ รับประทาน 2 เม็ดในครั้งแรก และรับประทานอีก 1.5 เม็ดหากอาการยังไม่ดีขึ้น แต่ไม่ควรรับประทานเกิน 6 เม็ดต่อวันและ 10 เม็ดต่อสัปดาห์

ผลข้างเคียงของการใช้ยากลุ่มเออร์กอตคือ ผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน และผลข้างเคียงที่รุนแรงไปกว่านั้นซึ่งอาจส่งผลอันตรายได้คือ เกิดอาการชาที่ปลายมือและปลายเท้า เนื่องจากตัวยาทำให้หลอดเลือดส่วนปลายหดตัว จนอาจนำไปสู่การเกิดเนื้อตายได้จากภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลาย (Ergotism) และห้ามใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ เป็นโรคหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ รวมถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดส่วนปลายด้วย

จากกลุ่มยาที่กล่าวไปข้างต้น หลังจากผู้ป่วยรับประทานยาแล้ว ให้หาที่พักผ่อนในห้องเงียบๆ แสงน้อยๆ และมีอากาศปลอดโปร่งโล่งสบาย และควรหยุดทำกิจกรรมทุกอย่างไว้ชั่วคราวจนอาการทุเลาลงใน 30-60 นาที

2. กลุ่มยาสำหรับใช้ป้องกัน 

การรับประทานยาประเภทนี้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวัน เพื่อช่วยลดความรุนแรง และความถี่ของอาการปวดศีรษะไมเกรน โดยยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาโพรพราโนลอล (Propranolol) ซึ่งข้อควรระวังของการใช้ยาตัวนี้คือ ไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease: COPD) และโรคหัวใจบางชนิด และควรใช้อย่างระมัดระวังในผู้ป่วยโรคเบาหวานด้วย

สำหรับผลข้างเคียงจากการใช้ยาโพรพราโนลอล ได้แก่

  • มือเท้าเย็น
  • รู้สึกเหมือนถูกเข็มตำ
  • ปัญหาด้านการนอนหลับ
  • เหนื่อย อ่อนเพลีย

การรักษานอกเหนือจากการใช้ยา

นอกเหนือจากการใช้ยารักษาอาการปวดไมเกรน ยังมีเทคนิคการรักษาอื่นๆ อีกที่จะช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้นได้ เช่น 

  • การรักษาด้วยฮอร์โมน (Hormonal treatments) เป็นทางเลือกสำหรับรักษาโรคไมเกรนได้ แต่สำหรับผู้หญิงที่มีอาการเตือนก่อนเป็นไมเกรนร่วมกับมีประจำเดือนด้วย การใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดสำหรับบรรเทาอาการปวดไมเกรนจะไม่สามารถป้องกันได้ เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ โดยการรักษาโรคด้วยฮอร์โมนจะได้แก่

    • ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เช่น ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมแบบเม็ด แผ่นแปะ หรือแบบห่วงคุมกำเนิด

    • ยาคุมกำเนิดชนิดมีแต่ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone-only contraceptives) เช่น ยาคุมกำเนิดชนิดมีแต่ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนชนิดเม็ด ชนิดฝัง  หรือชนิดฉีด

    • ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) แบบแผ่นแปะหรือแบบเจล ซึ่งสามารถใช้ได้ตั้งแต่ 3 วันก่อนมีประจำเดือนและใช้ต่อเนื่องเป็นเวลา 7 วัน
  • การฝังเข็ม (Acupuncture) หากอาการปวดไมเกรนไม่ดีขึ้นจากการรักษาด้วยยา หรือจากการรักษาด้วยฮอร์โมน ผู้ป่วยอาจลองพิจารณาการรักษาด้วยการฝังเข็ม ซึ่งการฝังเข็ม 10 เข็มเป็นระยะเวลาประมาณ 5-8 สัปดาห์ อาจเป็นประโยชน์ในการรักษาโรคไมเกรนได้

  • การกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็กผ่านกะโหลกศีรษะ (Transcranial Magnetic Stimulation: TMS) เป็นการรักษาด้วยการกระตุ้นสมองจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าผ่านกะโหลกศีรษะ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะวางขดลวดขนาดเล็กไว้ที่ศีรษะผู้ป่วย เพื่อนำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าผ่านเข้าไปทางผิวหนัง การรักษาแบบนี้สามารถรักษาประกอบกับการรับประทานยาร่วมด้วยได้

    แต่อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นสมองด้วยสนามแม่เหล็กผ่านกะโหลกไม่ใช่วิธีที่จะรักษาไมเกรนให้หายขาดได้ และไม่ได้เหมาะสมกับผู้ป่วยทุกราย อีกทั้งผลลัพธ์และประสิทธิภาพจากการรักษาก็ยังมีให้เห็นไม่มากนัก นอกจากนี้ การรักษาด้วยวิธีนี้ยังส่งผลข้างเคียงในระดับเล็กน้อยและชั่วคราวขึ้น ได้แก่

    • เวียนศีรษะเล็กน้อย
    • ง่วงนอนและอ่อนเพลีย
    • กล้ามเนื้อสั่น ซึ่งอาจทำให้ยืนได้ยาก
    • รู้สึกหงุดหงิด

การรักษาผู้สูงอายุที่เป็นโรคไมเกรน

การรักษาผู้สูงอายุที่เป็นโรคไมเกรนมักจะมีข้อจำกัดหลายประการ เนื่องมาจากความเสื่อมสภาพของร่างกายและอายุที่มากขึ้น โดยข้อควรระวังในการรักษาจะมีดังต่อไปนี้

  • ร่างกายของผู้สูงอายุอาจตอบรับการฤทธิ์ของยาได้ไม่ดีพอ รวมถึงร่างกายอาจมีผลข้างเคียงต่างๆ เกิดขึ้นหลังรับยามากกว่าผู้ป่วยวัยหนุ่มสาว

  • ผู้สูงอายุอาจมีโรคร่วมที่ทำให้ไม่สามารถใช้ยาบางชนิดได้เหมือนผู้ป่วยวัยหนุ่มสาว เช่น การใช้ยาแก้ปวดบางชนิด ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการอ่อนเพลีย สับสน อาการต้อหินกำเริบ หรือปัสสาวะไม่ออก นอกจากนี้ การใช้ยาแก้ปวดหรือยาแก้อักเสบยังอาจทำให้เกิดปัญหาต่อตับ ไต และเกิดเลือดออกในทางเดินอาหารได้ง่ายด้วย

  • ผู้สูงอายุส่วนมากมักได้รับยารักษาโรคต่างๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้วหลายชนิด ทำให้เมื่อต้องรับประทานยารักษาโรคไมเกรนเพิ่ม ก็อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่รับประทานอยู่แล้วได้

  • โรคบางอย่างที่เกิดในผู้สูงอายุอาจเป็นข้อจำกัดในการใช้ยารักษาโรคไมเกรน เช่น ภาวะหัวใจวาย ต่อมลูกหมากโต โรคต้อหิน และนำไปสู่ปัญหาเรื่องการใช้ยาป้องกันไมเกรนบางชนิดได้ 

  • ยาที่ใช้รักษาโรคต่างๆ ในผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หรือให้อาการปวดศีรษะของโรคไมเกรนหนักขึ้น เช่น ยาลดความดันโลหิตที่ขยายหลอดเลือด เช่น ไนเฟดิปีน (Nifedipine) หรือ เมทิลโดปา (Methyldopa) หรือยารักษาโรคหัวใจชนิดไอโซซอร์ไบด์ ไดไนเตรต (Isosorbide dinitrate) 

วิธีป้องกันโรคไมเกรน

คุณสามารถป้องกันการเกิดอาการปวดไมเกรนได้โดยให้หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้ 

  • การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด 
  • การรับประทานอาหารบางชนิดที่เป็นตัวกระตุ้น เช่น น้ำตาลเทียม ผงชูรส ชา กาแฟ ชีส ไวน์แดง
  • การกระตุ้นทางประสาทสัมผัส เช่น กลิ่นควันบุหรี่ กลิ่นควันรถยนต์ กลิ่นน้ำหอมที่ฉุนจัด บริเวณที่เสียงดังมากๆ การอยู่ท่ามกลางแสงแดด หรือแสงสีที่จ้ามากๆ นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือนอนมากจนเกินไป
  • อยู่ในบริเวณที่มีสิ่งแวดล้อมไม่ดี เช่น มีฝุ่นควัน อากาศร้อนอบอ้าวหรือหนาวจัดเกินไป มีสารเคมี 
  • ความกดดันและความเครียดภายในจิตใจ ซึ่งหากผู้ป่วยรู้สึกเครียดจัดและวิตกกังวลอย่างควบคุมไม่ไหว ให้ลองไปพบจิตแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งอื่นๆ ที่จะช่วยป้องกันไมเกรนได้ นั่นคือ การหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและไม่หักโหมหนักเกินไป การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน และจำกัดปริมาณการรับประทานคาเฟอีนและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 

แต่หากคุณได้พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว แต่อาการโรคไมเกรนก็ยังรุนแรงอย่างต่อเนื่องและไม่ทุเลาลง การไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคโดยตรง และมีการสั่งจ่ายยาที่เหมาะสมจะเป็นการชี้นำวิธีรักษาโรคไมเกรนที่ดีที่สุดสำหรับคุณได้ 

ดูแพ็กเกจปรึกษาปัญหาความเครียด เปรียบเทียบราคา โปรโมชันล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Aminoff, Roger P. Simon, David A. Greenberg, Michael J. (2009). Clinical neurology (7 ed.). New York, N.Y: Lange Medical Books/McGraw-Hill. pp. 85–88. ISBN 9780071664332.
"Headache disorders Fact sheet N°277". October 2012. Archived from the original on 16 February 2016. Retrieved 15 February 2016.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)