อาการปวดท้องประจำเดือน (Menstrual Cramps) เป็นความทุกข์ทรมานของผู้หญิงหลายคนในช่วงมีประจำเดือน บางคนถึงขั้นตอนลาป่วยเพราะปวดท้องประจำเดือนจนนอนตัวงอเป็นกุ้ง ไม่สามารถลุกขึ้นมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้
และเพราะอาการปวดท้องประจำเดือนนั้นเป็นอาการที่ผู้หญิงส่วนมากมักเคยชิน และคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ต้องเจอทุกเดือนอยู่แล้ว จึงทำให้หลายคนละเลยที่จะสังเกตอาการปวดท้องประจำเดือน และรับประทานยาให้อาการหายไปซะ
แต่ความจริงแล้ว อาการปวดท้องประจำเดือนในบางกรณี ก็ไม่ใช่เรื่องปกติและอาจเป็นสัญญาณของความเสี่ยงต่อโรคร้ายบางอย่างได้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ความหมายของอาการปวดท้องประจำเดือน
อาการปวดท้องประจำเดือน มีชื่อทางการแพทย์ว่า “ดิสเมนนอร์เรีย (Dysmenorrhea)” เป็นกลุ่มอาการปวดเกร็ง หรือปวดบีบบริเวณท้องน้อย
ความรุนแรงของอาการปวดท้องประจำเดือนในผู้หญิงบางรายนั้น อาจปวดร้าวไปถึงบริเวณหลัง ก้น หรือต้นขา รวมไปถึงอาจมีความรู้สึกไม่สบายตัว อารมณ์อ่อนไหวง่ายกว่าปกติ บางรายอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยอีก เช่น หน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
อาการปวดท้องประจำเดือนแบบที่อันตราย
อาการปวดท้องประจำเดือนแบบรุนแรงจะพบได้บ่อยในเด็กวัยรุ่น โดยอาการมักจะพบได้บ่อยที่สุดในช่วงอายุ 1-2 ปีตั้งแต่มีประจำเดือนครั้งแรก จากนั้นเมื่ออายุมากขึ้น ผู้หญิงส่วนมากอาการประจำเดือนก็จะทุเลาลง
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้หญิงหลายคนที่ไม่มีอาการปวดท้องประจำเดือนเลย หรือปวดน้อยมากในขณะเป็นวัยรุ่น แต่จะมีอาการรุนแรงขึ้นเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นแทน
นอกจากนี้ ผู้หญิงที่เคยมีลูกมาแล้ว จะมีโอกาสปวดท้องประจำเดือนน้อยกว่าคนปกติ เพราะการคลอดลูกจะช่วยให้มดลูกเกิดการขยายตัวขึ้น
อาการปวดท้องประจำเดือนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับด้วยกัน โดยแบ่งตามสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เกิดอาการ ได้แก่
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
1. ปวดท้องประจำเดือนจากการหดตัวของมดลูก
- ปวดบริเวณท้องน้อย แต่อาการปวดจะไม่รุนแรงมาก และอาจปวดร้าวไปบริเวณหลังร่วมด้วย
- อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า โดยเฉพาะในผู้ที่ประจำเดือนมามาก
- คลื่นไส้อาเจียน
2. ปวดท้องประจำเดือนจากภาวะแอบแฝง
- ปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง บางคนปวดถึงขั้นลุกขึ้นเดินไม่ไหว
- มีไข้ หรือมีภาวะไข้ทับระดู
- ปวดหัวอย่างรุนแรง
- คลื่นไส้อาเจียน
- คันบริเวณปากช่องคลอด ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
- สีเลือดประจำเดือนเป็นสีแดงสด
สาเหตุของอาการปวดท้องประจำเดือน
อาการปวดท้องประจำเดือนจะเกิดขึ้น เมื่อกล้ามเนื้อมดลูกเกิดการหดรัด หรือบีบเกร็งบริเวณรอบๆ โพรงเยื่อบุมดลูก จนทำให้เกิดการหลั่งสารคล้ายฮอร์โมนชื่อว่า “โพรสตาแกลนดิน (Prostraglandin)” ซึ่งทำให้เกิดอาการปวด หรืออาการอักเสบตามมา
ดังนั้น อาการปวดท้องประจำเดือนจะรุนแรงมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับการหลั่งของสารดังกล่าว
นอกจากนี้ อาการปวดท้องประจำเดือนยังเกิดขึ้นอย่างรุนแรงได้ หากขนาดของปากมดลูกแคบเกินไป จนผนังของเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออกมานั้นผ่านออกมาได้ยาก
ประเภทของอาการปวดท้องประจำเดือน
ประเภทของอาการปวดท้องประจำเดือนจะแบ่งตามสาเหตุของการเกิด โดยแบ่งออกได้ 2 ประเภทคือ
- อาการปวดท้องประจำเดือนขั้นปฐมภูมิ (Primary Dysmenorrhea) เป็นอาการปวดท้องน้อยที่จะตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ บริเวณอวัยวะในอุ้งเชิงกราน
- อาการปวดท้องประจำเดือนขั้นทุติยภูมิ (Secondary Dysmenorrhea) เป็นอาการปวดท้องประจำเดือนซึ่งเกิดจากปัญหาสุขภาพ หรือโรคอื่นๆ เช่น
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- เนื้องอกในมดลูก ซึ่งไม่เป็นเนื้อร้ายและไม่ก่อให้เกิดเซลล์มะเร็งในมดลูก
- ภาวะถุงน้ำรังไข่
- ความผิดปกติแต่กำเนิดของช่องคลอด หรือปากมดลูก
- ผู้ที่ใช้ห่วงคุมกำเนิดชนิดทองแดงในบางราย
- การติดเชื้อ หรือการอักเสบในอุ้งเชิงกราน
- ช็อกโกแลตซีสต์
- มะเร็งรังไข่
- การติดเชื้อในช่องคลอด
ภาวะความผิดปกติเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรงมาก และอาจทำให้มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ตกขาวมีกลิ่นเหม็น เลือดประจำเดือนมีสีแปลกไปจากปกติ คันบริเวณช่องคลอด หากคุณพบว่าในขณะมีประจำเดือน ตนเองมีอาการผิดปกติต่อไปนี้ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ และเพื่อให้รักษาได้ทันเวลา
การวินิจฉัยอาการปวดท้องประจำเดือน
เมื่อพบความผิดปกติในระหว่างมีประจำเดือน ในเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามอาการ เช่น
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- ลักษณะอาการ
- ตำแหน่งที่ปวด
- ความรุนแรง
- ระยะเวลาของอาการปวด
- ปริมาณเลือดประจำเดือนว่ามามาก มาน้อย หรือถี่ขนาดไหน หรือมีลิ่มเลือดหรือไม่
- ประจำเดือนมีกลิ่น
- มีไข้ในขณะปวดท้อง
- มีประจำเดือนในวัยทอง
- ประวัติสุขภาพด้านอื่นๆ
และหลังจากสอบถามอาการแล้ว แพทย์อาจให้คุณเข้ารับการตรวจด้วยวิธีอื่นๆ อีก เช่น
- ตรวจภายในและตรวจแปบสเมียร์ (Pap Smear)
- การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรืออัลตราซาวด์ (Ultrasound)
- ตรวจโดยถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI Scan (Magnetic Resonance Imaging)
- ส่องกล้องดูอวัยวะอุ้งเชิงกราน (Laparoscopy) หรือส่องกล้องโพรงมดลูก (Hysteroscopy) โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องประจำเดือนขั้นทุติยภูมิ
- ตรวจเลือดเพื่อดูจำนวนเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC)
- ตรวจฮีมาโตคริต (Hematocrit: Hct) ตรวจอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือด (Erythrocyte Sedimentation Rate: ESR) ตรวจหาโปรตีนที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการอักเสบ (C-Reactive Protein: CRP) และตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker) สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบด้วย
- ตรวจปัสสาวะและอุจจาระ
- ตรวจการตั้งครรภ์
วิธีรักษาอาการปวดท้องประจำเดือน
การบรรเทาอาการปวดท้องประจำสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
1. ใช้ยาที่หาซื้อมาได้จากร้านขายยา ซึ่งจะเป็นยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) เพราะว่ายาเหล่านี้สามารถยับยั้งการสร้างสารโพรสตาแกลนดินได้ เช่น
- ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
- นาพร็อกเซน (Naproxen)
- พอนสแตน (Ponstan)
2. ใช้ยาที่จ่ายตามใบสั่งแพทย์ หากยากลุ่ม NSAIDs ที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปนั้นไม่สามารถทำให้หายปวดได้ โดยแพทย์จะจ่ายยาบรรเทาอาการปวดที่มีฤทธิ์แรงขึ้นกว่าเดิม ได้แก่ ยาพาราเซตามอล (Acetaminophen) ผสมกับไฮโดรโคโดน (Hydrocodone)
3. ใช้ยาคุมกำเนิด หรือฮอร์โมนคุมกำเนิด เช่น ยาคุมกำเนิด แผ่นแปะ และวงแหวนสอดช่องคลอด ก็สามารถบรรเทาอาการปวดประจำเดือนที่รุนแรงได้ โดยยาเหล่านี้มีคุณสมบัติใช้เพื่อหยุดการตกไข่ เพราะหากคุณไม่ตกไข่และปริมาณการสร้างสารโพรสตาแกลนดินลดลง โอกาสที่จะมีอาการปวดประจำเดือนก็จะลดน้อยลงได้
นอกจากนี้ ฮอร์โมนคุมกำเนิดยังช่วย หรือชะลอการเกิดเนื้องอกในมดลูก และสภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ได้ด้วย
4. การผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาในกรณีที่คุณมีเนื้องอกในมดลูก และมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติ แพทย์อาจแนะนำให้คุณเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งมีอยู่หลายวิธี เช่น
- การผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช (Gynecologic Laparoscopic Surgery)
- การใช้รังสีร่วมรักษา (Interventional Radiology)
- การฉีดสารเข้าไปในเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงเนื้องอก ทำให้ก้อนเนื้องอกขาดเลือด ก้อนจึงเหี่ยวและยุบลง จากนั้นจึงตัดเนื้องอกที่ไม่จำเป็นออก
- การตัดมดลูก โดยแพทย์จะตัดมดลูกออกทั้งหมด วิธีนี้เป็นวิธีรักษาแนวทางสุดท้ายสำหรับอาการปวด และสำหรับผู้หญิงที่ไม่ต้องการมีลูก
วิธีบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนอย่างได้ผล
หากคุณไม่สะดวกรับประทานยา ยังมีวิธีบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนอื่นๆ อีก ที่คุณสามารถทำได้ เช่น
1. ประคบน้ำอุ่นที่ท้องน้อย
นำกระเป๋าใส่น้ำร้อนประคบที่หน้าท้องเมื่อเกิดอาการปวด เพราะความร้อนจะช่วยให้กล้ามเนื้อที่ตึงผ่อนคลายลงได้ และส่งผลให้อาการปวดลดลง
2. ออกกำลังกายเบาๆ ช่วงมีประจำเดือน
หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าไม่ควรออกกำลังกายขณะมีประจำเดือน แต่ความจริงแล้ว คุณสามารถออกกำลังกายได้ แต่ให้เลือกเป็นการออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดินเร็ว เล่นโยคะ ปั่นจักรยาน แทนการออกกำลังกายหนักๆ เพราะในช่วงที่เป็นประจำเดือน ผู้หญิงจะมีร่างกายอ่อนเพลีย และเสี่ยงเป็นลมได้
3. ดื่มน้ำอุ่นมากๆ
วิธีนี้เป็นอีกวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนได้อย่างดีเยี่ยม และยังเป็นวิธีพื้นฐานที่สุดด้วย เพราะเมื่อร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอแล้ว ตับจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถควบคุมฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ให้อยู่ในระดับปกติได้ จึงทำให้อาการปวดท้องประจำเดือนลดลง
สำหรับน้ำที่ดีที่สุดสำหรับบรรเทาอาการปวดก็คือ น้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้องปกติ เพราะหากดื่มน้ำเย็น อาจส่งผลให้เลือดจับตัวกันเป็นลิ่มก้อนและขับออกมาได้ยาก อีกทั้งยังทำให้อาการปวดประจำเดือนรุนแรงหนักขึ้นด้วย
4. อาบหรือแช่น้ำอุ่น
น้ำอุ่นจะช่วยคลายกล้ามเนื้อและทำให้อาการปวดท้องประจำเดือนลดลง หรือคุณอาจเปลี่ยนจากอาบน้ำอุ่นเป็นลองแช่น้ำอุ่นซักประมาณ 30 นาที
5. นอนตะแคง
การนอนตะแคงสามารถบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้ ส่วนจะตะแคงไปข้างไหนนั้น ขึ้นอยู่กับระดับมดลูกของแต่ละคน หากไม่รู้ ให้คุณลองนอนตะแคงทั้ง 2 ด้านดู เพื่อทดสอบว่านอนตะแคงด้านไหน
อาหารช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน
นอกจากวิธีการรักษาข้างต้น การรับประทานอาหารบางชนิดยังสามารถบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้เช่นกัน เช่น อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ เพราะสารอาหารเหล่านี้มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งอาการปวด ช่วยผ่อนคลายความตึงของกล้ามเนื้อ และทำให้อาการปวดประจำเดือนลดลงได้ เช่น
1. ใบตำลึง
เพราะตำลึงประกอบไปด้วยแร่ธาตุแมกนีเซียม ซึ่งช่วยลดอาการปวดเกร็งในช่องท้องได้เป็นอย่างดี โดยสามารถรับประทานแบบสดๆ หรือแบบลวกก็ได้
2. ตังกุย
ตังกุยมีคุณสมบัติช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้ลดการบีบตัวของหลอดเลือดได้ดี และกล้ามเนื้อมดลูกจะหดเกร็งน้อยลงด้วย โดยคุณควรรับประทานตังกุยก่อนมีประจำเดือนประมาณ 1-2 สัปดาห์
นอกจากนี้ คุณยังต้องระมัดระวังปริมาณการรับประทานตังกุยให้ดี เพราะอาจส่งผลให้คุณผิวบางขึ้นจนมีความไวต่อแสงแดดได้
3. น้ำเต้าหู้
ในน้ำเต้าหู้นั้นมีส่วนประกอบคล้ายกับฮอร์โมนเพศหญิงอยู่ โดยสารตัวนี้จะออกฤทธิ์เป็นตัวต้านฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้เป็นอย่างดี
สำหรับช่วงเวลาที่ควรรับประทาน คุณควรรับประทานน้ำเต้าหู้ก่อนประจำเดือนมาประมาณ 1 สัปดาห์ จะได้ผลดีที่สุด หรือหากไม่ชอบดื่มน้ำเต้าหู้ คุณสามารถเลือกผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลืองอื่นๆ แทนได้
4. ปลาทะเลน้ำลึก
เพราะปลาน้ำลึกนั้นประกอบไปด้วยไขมันอีพีเอ (Eicosapentaenoic: EPA) และกรดไขมันดีเอชเอ (Docosahexaenoic Acid: DHA) ซึ่งช่วยลดอาการปวดเกร็งในช่องท้องได้ และยังมีสารอาหารอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอีก เช่น
- ปลาทูน่า
- ปลาแมคเคอเรล
- ปลาแซลมอน
5. ผักผลไม้
ผักผลไม้ที่มีกากใยสูงมีคุณสมบัติในการดักจับฮอร์โมนเอสโตรเจนส่วนเกินและกำจัดทิ้งไป จึงไม่ทำให้มดลูกหดตัวมากเกินไปจนปวดประจำเดือน นอกจากนี้ คุณยังควรรับประทานผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เพราะจะช่วยบรรเทาอาการปวดเกร็งท้องได้
อาหารที่ห้ามรับประทานเมื่อปวดท้องประจำเดือน
ถึงแม้อาหารหลายชนิดจะมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีอาหารบางชนิดที่คุณควรต้องหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้อาการปวดประจำเดือนรุนแรงไปมากกว่าเดิม ได้แก่
1. เนื้อสัตว์ติดมัน
เพราะไขมันเป็นส่วนประกอบของอาหารที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรงได้ ทางที่ดีคุณควรเลือกรับประทานเนื้อปลา หรือหมูเนื้อแดงเป็นหลักในช่วงที่มีประจำเดือนแทน
2. อาหารแปรรูป
เพราะอาหารเหล่านี้มีส่วนประกอบของโซเดียมสูง จึงอาจก่อให้เกิดอาการท้องอืดและปวดประจำเดือนมากกว่าเดิมได้
3. คาเฟอีน
นอกจากจะทำให้อาการปวดท้องประจำเดือนรุนแรงขึ้นแล้ว คาเฟอีนยังทำให้เกิดอาการซึมเศร้ามากกว่าเดิมด้วย ซึ่งภาวะซึมเศร้าถือเป็นหนึ่งในอาหารที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงหลายๆ คนในช่วงเป็นประจำเดือน
4. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำให้ความเข้มข้นของเลือดต่ำลง และทำให้เลือดสูบฉีดเร็วขึ้นกว่าปกติ จึงทำให้อาการปวดท้องประจำเดือนรุนแรงขึ้นได้ และยังทำให้คุณรู้สึกไม่สบายตัว รวมถึงอ่อนเพลียง่ายกว่าเดิมด้วย
5. ของหวาน
ผู้หญิงหลายๆ คนมักจะมีอาการอยากอาหารมากกว่าปกติในช่วงมีประจำเดือน อาหารประเภทของหวานก็เช่นกัน แต่ความจริงแล้ว น้ำตาลในของหวานนั้นมีส่วนทำให้อาการปวดท้องประจำเดือนแย่ลงกว่าเดิมได้
แต่หากคุณอยากรับประทานของหวานในช่วงมีประจำเดือนจริงๆ แนะนำให้เลือกรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานจะดีกว่าการรับประทานขนม หรืออาหารปรุงรสหวาน เพื่อลดโอกาสปวดท้องประจำเดือน และยังมีประโยชน์ต่อร่างกายด้วย
6. ไอศกรีม
เพราะในไอศกรีมนั้นมีส่วนประกอบเป็นไขมันจากนม เมื่อรับประทานในปริมาณมากก็จะส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องประจำเดือนได้ไม่ต่างจากเนื้อสัตว์ติดมัน
ธรรมชาติบำบัดสำหรับอาการปวดประจำเดือน
นอกจากการรับประทานยา สมุนไพร หรือสารอาหารที่จำเป็นต้องเลือกรับประทานอย่างระมัดระวังแล้ว ยังมีวิธีการบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนอีกแบบ ซึ่งเป็นการอาศัยกลไกทางธรรมชาติของร่างกายคุณเอง ในการรักษาอาการปวดประจำเดือนที่เกิดขึ้น เช่น
1. บำบัดด้วยกลิ่น
หรือเรียกอีกชื่อว่า “สุคนธบำบัด” เป็นการบำบัดโดยใช้กลิ่นของดอกกุหลาบ ลาเวนเดอร์ หรือน้ำมันหอมระเหยทาลงบนผิวของท้องน้อย เพื่อบรรเทาอาการปวดประจำเดือน
2. การฝังเข็มระงับปวด (Acupuncture or Acupressure)
ในปัจจุบันมีหลายคลินิกหรือโรงพยาบาลที่ใช้วิธีบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนด้วยวิธีนี้ โดยจากการศึกษาพบว่า การฝังเข็ม 15 ครั้งในระยะเวลา 3 เดือนให้กับผู้ที่มีอาการปวดประจำเดือนรุนแรง สามารถบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้ และยังทำให้อาการเกิดขึ้นน้อยลงด้วย
อาการปวดท้องประจำเดือนเป็นอาการปวดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับผู้หญิงทุกคน อีกทั้งยังเกิดจากหลายสาเหตุ และมีความรุนแรงมากน้อยไปตามเงื่อนไขร่างกายของแต่ละคน
หากคุณพบว่าตนเองมีอาการปวดท้องประจำเดือนรุนแรงมาก หรือมีอาการปวดผิดปกติไปจากเดิม ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะบางที อาการปวดอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้น อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติทางมดลูกก็ได้
ดูแพ็กเกจตรวจภายใน มะเร็งปากมดลูก และรังไข่ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android