กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

ตรวจภายในไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

เผยแพร่ครั้งแรก 19 ก.พ. 2018 อัปเดตล่าสุด 9 ธ.ค. 2022 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ตรวจภายในไม่น่ากลัวอย่างที่คิด


แม้บ้านเราจะมีการรณรงค์ให้ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ไปเข้ารับการตรวจภายในเป็นประจำทุกปี แต่เชื่อว่ามีผู้หญิงจำนวนมากทีเดียวที่ไม่กล้าไปหาหมอตรวจภายในเพราะความกลัว ไม่ว่าจะกลัวอาย หรือกลัวเจ็บก็ตาม ลองมาอ่านข้อมูลที่ถูกต้องกันดู แล้วจะรู้ว่า การตรวจภายในไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราคิด

การตรวจภายในคืออะไร?

การตรวจภายใน หรือ Per Vaginal Examination คือการตรวจเพื่อหาความผิดปกติที่อวัยวะในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ทั้งอวัยวะเพศ ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก รังไข่ ท่อนำรังไข่

การตรวจภายในบ่งบอกอะไรได้บ้าง?

  • ใช้เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (โดยปกติจะดูด้วย Pap smear) ซึ่งพบมากในผู้หญิงวัย 35 ปีขึ้นไป
  • ใช้ตรวจหามะเร็งรังไข่ ซึ่งพบได้ในผู้หญิงทุกช่วงอายุ
  • ใช้ตรวจดูเนื้องอกในอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ เช่น เนื้องอกในมดลูก เนื้องอกในรังไข่
  • ใช้ตรวจหาสาเหตุที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือปวดท้องประจำเดือนหนักมาก เช่น ช็อกโกแลตซีสต์
  • ตรวจติดตามในหญิงตั้งครรภ์
  • ตรวจการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ เช่น เชื้อราและแบคทีเรีย
  • ใช้ตรวจดูร่องรอยและหาหลักฐานในกรณีถูกล่วงละเมิดทางเพศ

การตรวจภายในทำอย่างไรบ้าง?

เมื่อเริ่มตรวจ ผู้รับการตรวจจะต้องเปิดเปลือยท่อนล่างและนอนบนเตียงขาหยั่งซึ่งจะแยกขาออกให้แพทย์ตรวจได้สะดวก แต่ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะการตรวจทุกครั้งจะมีแพทย์และพยาบาลอีกหนึ่งคนร่วมอยู่ในห้องตรวจด้วย และยังมีการคลุมผ้าหรือกั้นฉากร่างกายส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากส่วนนั้นที่ต้องตรวจ ทำให้เราคลายความอับอายและความกลัวไปได้ระดับหนึ่ง ขั้นตอนการตรวจจะแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่

  • การตรวจด้วยตาเปล่า แพทย์จะดูอวัยวะเพศภายนอกว่ามีลักษณะหรือร่องรอยที่ผิดปกติหรือไม่ เช่น มีบาดแผล มีเลือดหรือหนองไหลออกมา
  • การตรวจด้วยเครื่องมือตรวจช่องคลอด Speculum ซึ่งเป็นเครื่องมือคล้ายปากเป็ดแบนๆ ที่สามารถหุบและอ้าได้ แพทย์จะสอดเครื่องมือเข้าไปเพื่อขยายช่องคลอด ทำให้ตรวจดูความผิดปกติภายในได้ และหากมีการตรวจกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย แพทย์จะทำการป้ายเซลล์บริเวณปากมดลูกออกมาตรวจ หรือที่เรียกว่าการทำ Pap smear
  • การตรวจด้วยการคลำหน้าท้องและการสอดนิ้ว ในการตรวจภายในมดลูกซึ่งอาจมองไม่เห็น แพทย์จะใช้การสอดนิ้วผ่านช่องคลอดร่วมกับการคลำบริเวณท้องน้อยเพื่อหาตำแหน่งมดลูก และดูว่าบริเวณที่กดลงไปมีอาการเจ็บปวดหรือไม่ การตรวจนี้ช่วยบอกภาวะมดลูกโต เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ก้อนในมดลูกซึ่งอาจเป็นเนื้องอกหรือซีสต์ได้ ในขั้นตอนนี้แพทย์จะสวมถุงมือที่เคลือบสารหล่อลื่นก่อนตรวจเสมอ

การเตรียมตัวเพื่อตรวจภายใน

หากตกลงปลงใจจะเข้ารับการตรวจภายในแล้ว นอกจากการนัดแพทย์ตรวจ ก็มีแนวทางการเตรียมตัว (เตรียมใจ) ที่ไม่ได้ยุ่งยากอะไร ซึ่งได้แก่

  • ให้มาตรวจในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน ยกเว้นคนที่มีเลือดออกกะปริบกะปรอยตลอดเดือน
  • งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ อย่างน้อย 1 วันก่อนมาตรวจ
  • งดการใช้ยาสอดหรือยาเหน็บอวัยวะเพศต่างๆ ในวันก่อนมาตรวจ
  • ในวันตรวจ ควรสวมเสื้อผ้าที่ช่วงล่างถอดหรือเปิดง่าย เช่น กระโปรงทรงบาน ควรงดการสวมเสื้อผ้าที่ถอดยาก เช่น กางเกงหรือกระโปรงรัดรูป ชุดเอี๊ยม ชุดจัมท์สูทกางเกง
  • ก่อนตรวจให้ทำความสะอาดอวัยวะเพศภายนอก (ห้ามสวนล้างภายใน) และปัสสาวะให้เรียบร้อย
  • เตรียมการตอบคำถามจากแพทย์หรือพยาบาลด้วย เช่น ประวัติการมีบุตร ประวัติการแท้ง การคุมกำเนิด และปัญหาสุขภาพต่างๆ

หลังการตรวจภายในควรทำอย่างไร?

การตรวจภายในไม่มีผลข้างเคียงอะไรมากนัก ยกเว้นอาการเจ็บนิดๆ หน่อยๆ ซึ่งหายได้เองอย่างรวดเร็ว ผู้เข้าตรวจจึงสามารถใช้ชีวิตและทำกิจกรรมได้ตามปกติ

ส่วนผลการตรวจโดยทั่วไปมักทราบผลภายในวันตรวจ ยกเว้นการตรวจ Pap smear ที่อาจต้องใช้เวลาสักหน่อย ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลหรือคลินิกที่ไปตรวจ ซึ่งแพทย์จะนัดมาฟังผลภายหลัง

บทความที่เกี่ยวข้อง

การตรวจภายใน Pelvic Exams
รีวิว ตรวจภายใน คัดกรองมะเร็งปากมดลูก ThinPrep ที่ โรงพยาบาลพญาไท 2 | HDmall
ฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ไม่เจ็บอย่างที่คิด | HDmall
รีวิวตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ตรวจหาเชื้อ HPV และอัลตราซาวด์หาเนื้องอกมดลูกและรังไข่ ที่โรงพยาบาลพญาไท 3 | HDmall


14 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป