กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องคลอดคืออะไร ป้องกันโรคอะไรได้บ้าง ราคา วิธีการเตรียมตัว และวิธีการดูแลตัวเองหลังการตรวจ

เผยแพร่ครั้งแรก 25 ก.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 29 มี.ค. 2021 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องคลอดคืออะไร ป้องกันโรคอะไรได้บ้าง ราคา วิธีการเตรียมตัว และวิธีการดูแลตัวเองหลังการตรวจ

การตรวจอัลตร้าซาวด์นั้นมีหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการตรวจผ่านหน้าท้องเพื่อดูอวัยวะภายในช่องท้อง การตรวจอัลตร้าซาวด์แบบส่องกล่องสำหรับใช้ตรวจดูหลอดอาหาร หรือแม้แต่การตรวจดูอวัยวะภายในด้วยการสอดเข้าทางช่องคลอดหรือทวารหนักเพื่อดูรังไข่และต่อมลูกหมาก ส่วนการอัลตร้าซาวด์ช่องคลอดจะมีรายละเอียดที่ควรทราบและปฏิบัติดังนี้

การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องคลอดคืออะไร

เป็นการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านเครื่องอัลตร้าซาวด์ที่เป็นแบบหัวตรวจ ซึ่งนิยมใช้ในงานของแผนกสูตินรีเวช โดยคลื่นเสียงที่ปล่อยออกไปจะกระทบกับอวัยวะหรือเนื้อเยื่อต่างๆ มักจะมีการสะท้อนกลับออกมาไม่เท่ากัน หัวตรวจของเครื่องอัลตร้าซาวด์จะทำหน้าที่รับสัญญาณที่สะท้อนกลับออกมานี้ แล้วประมวลผลด้วยภาพผ่านทางหน้าจอมอนิเตอร์ของเครื่อง ทำให้แพทย์สามารถบอกผลของการตรวจต่อผู้ป่วยได้ทันที

การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องคลอดป้องกันโรคอะไรได้บ้าง

การอัลตร้าซาวด์ช่องคลอดมักนิยมใช้ในการตรวจหาความผิดปกติของมดลูกและรังไข่ เช่น เนื้องอกที่มดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติหรือไม่ รังไข่ปกติหรือผิดปกติ หากตรวจในหญิงตั้งครรภ์จะใช้ดูว่ามีการท้องนอกมดลูกหรือไม่ ทารกในครรภ์มีอายุกี่สัปดาห์ โดยพิจารณาจากขนาดของถุงน้ำคร่ำและขนาดของทารก หรือดูว่าทารกมีความผิดปกติอื่นใดและการเจริญเติบโตเป็นปกติหรือไม่

นอกจากนี้ยังใช้ตรวจดูรกและน้ำคร่ำและความผิดปกติของโครโมโซม อย่างเช่นทารกมีความหนาของผิวหนังต้นคอหรือดูน้ำในโพรงสมองของทารก เป็นการตรวจที่ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นอวัยวะได้ใกล้และชัดเจนยิ่งขึ้น ให้ผลลัพธ์ที่แน่นอนกว่าการอัลตร้าซาวด์ทางช่องท้องที่ใช้หัวตรวจเคลื่อนผ่านบนผิวหนัง

การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องคลอดอันตรายหรือไม่

การตรวจวิธีนี้จะให้ผู้ป่วยนอนหงาย นอนตะแคง หรือนอนบนเตียงขาหยั่ง จากนั้นแพทย์จะทำการนำหัวตรวจของเครื่องอัลตร้าซาวด์ที่ฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้วสอดเข้าทางช่องคลอด และการแปรผลลัพธ์สามารถดูได้จากภาพบนจอมอนิเตอร์

การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องคลอดเป็นการตรวจภายในที่ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ อาจจะมีเพียงแค่อาการตึงๆ หรือไม่สบายตัวบ้างเล็กน้อยขณะตรวจ โดยจะใช้เวลาในการตรวจไม่นาน อีกทั้งยังเป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงที่ไม่พบว่ามีอันตรายหรือผลข้างเคียงแต่ประการใด

ราคาของการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องคลอด

โรงพยาบาลเอกชนราคาจะอยู่ที่ประมาณ 1,500 – 3,000 บาทต่อครั้ง โรงพยาบาลรัฐบาลจะอยู่ที่ประมาณ 600 – 1000 บาทต่อครั้ง ส่วนคลินิกจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 – 2,000 บาทต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับวัน เวลา สถานที่ที่ให้บริการ และการจัดโปรโมชั่นของสถานพยาบาลนั้นๆ

วิธีการเตรียมตัวก่อนการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องคลอด

    1. ไม่ควรดื่มน้ำปริมาณมากๆ และควรปัสสาวะออกให้หมดก่อนการตรวจ ซึ่งจะเป็นการปฏิบัติตรงกันข้ามกับการตรวจเคลื่อนผ่านหน้าท้อง เพราะจะทำให้เครื่องอัลตร้าซาวด์ได้ใกล้ชิดกับอวัยวะที่ตรวจมากที่สุด
    2. ผลัดเปลี่ยนใส่เสื้อผ้าตามที่สถานพยาบาลกำหนด โดยปกติจะเป็นเสื้อผ้าหลวมๆ ใส่สบายและเอื้อต่อการตรวจ
    3. ขณะที่มีประจำเดือนไม่ควรตรวจ เนื่องจากไม่สะอาดและไม่สะดวกต่อการตรวจ
    4. หากพบว่ามีอาการแพ้น้ำยางที่ใช้เคลือบหัวตรวจก่อนสอดเข้าไปตรวจ ควรแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาชนิดนี้

    วิธีการดูแลตัวเองหลังการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องคลอด

    ไม่ต้องมีวิธีดูแลหลังการตรวจแต่ประการใด อีกทั้งการตรวจก็ใช้เวลาไม่นาน ไม่มีการใช้ยาระงับความเจ็บปวด และสามารถกลับบ้านเพื่อปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

    การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องคลอดให้ผลการตรวจที่ชัดเจนและแม่นยำ เหมาะสำหรับการดูเนื้อเยื่อหรือสิ่งเล็กๆ โดยแพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าควรตรวจด้วยวิธีใด หากการตรวจด้วยวิธีเคลื่อนหัวตรวจผ่านผิวหนังหน้าท้องแล้วเห็นผลชัดเจน ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจด้วยวิธีสอดทางช่องคลอดก็ได้ แต่ถ้าเป็นการตรวจดูว่าท้องนอกมดลูกหรือไม่ ก็จะต้องใช้การตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องคลอดอย่างแน่นอน


    9 แหล่งข้อมูล
    กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
    Transvaginal Ultrasound: Purpose, Procedure, and Results. Healthline. (https://www.healthline.com/health/transvaginal-ultrasound)
    Pelvic Ultrasound. American Academy of Family Physicians. (https://familydoctor.org/pelvic-ultrasound/)
    Transvaginal ultrasound. MedlinePlus. (https://medlineplus.gov/ency/article/003779.htm)

    บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

    ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

    ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
    (1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

    บทความต่อไป
    การตรวจภายใน (Pelvic Exams)
    การตรวจภายใน (Pelvic Exams)

    การตรวจภายในไม่น่ากลัวอย่างที่คิด และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้หญิงทุกคน

    อ่านเพิ่ม
    เชื้อราในช่องคลอด
    เชื้อราในช่องคลอด

    เชื้อราในช่องคลอด จุดเร้นลับที่ไม่ลับแต่ผู้หญิงทุกคนควรต้องรู้ เพื่อดูแลตนเองให้ดี ก่อนต้องมารักษาทีหลัง

    อ่านเพิ่ม