กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
พญ.วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
พญ.วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี

คู่มือโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza หรือ Flu) ฉบับสมบูรณ์

ทั้งอาการ การติดต่อ การป้องกัน การวินิจฉัยโรค การรักษา และภาวะแทรกซ้อน
เผยแพร่ครั้งแรก 29 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 25 ก.พ. 2020 เวลาอ่านประมาณ 8 นาที
คู่มือโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza หรือ Flu) ฉบับสมบูรณ์

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา มี 2 สายพันธุ์คือ Influenza A และ B โดยสายพันธุ์ A จะมีความรุนแรงกว่า
  • โรคไข้หวัดใหญ่มีอาการที่รุนแรงและยาวนานกว่าไข้หวัดธรรมดา มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้มากกว่า และอาจทำให้เสียชีวิตได้โดยเฉพาะบุคคลใน 7 กลุ่มเสี่ยง
  • อาการแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่ที่พบบ่อย เช่น โรคไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ หูชั้นกลาง และหูชั้นในอักเสบ รวมทั้งเกิดภาวะปอดอักเสบ
  • บุคคล 7 กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวัง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้มีอายุมากกว่า 65 ปี ผู้พิการทางสมอง ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ป่วยโรคอ้วน  
  • วิธีป้องกันคือ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และการออกกำลังกาย รวมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (ดูแพ็กเกจฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ที่นี่)

โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่พบได้บ่อยตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ แม้จะเป็นโรคที่ไม่อันตรายแต่ก็เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี 

ดังนั้นการรู้จักวิธีรักษาที่ถูกต้องก็จะช่วยรักษาโรคให้หายเร็วขึ้น และหากรู้จักวิธีการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะป่วยได้เช่นกัน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

โรคไข้หวัดใหญ่ คืออะไร?

โรคไข้หวัดใหญ่ หรือ "Influenza (อินฟลูเอนซา)" เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอย่างฉับพลัน 

เชื้อที่เป็นต้นเหตุ คือ ไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) ซึ่งมีอยู่ 2 สายพันธุ์ด้วยกัน คือ Influenza A และ B ส่วน สายพันธุ์ C ไม่นับเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เพราะมีความรุนแรงน้อย และไม่มีความสำคัญในการระบาด

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่จะมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการที่รุนแรง นอกจากจะทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ในคนแล้วยังเกิดในสัตว์ด้วย เช่น หมู นก และม้า  

โดยทั่วไปแล้ว ไวรัสที่อยู่ในสัตว์ชนิดใดก็จะก่อให้เกิดโรคเฉพาะในสัตว์ชนิดนั้น เช่น ไวรัสไข้หวัดนกก็จะเกิดโรคในสัตว์ปีกเป็นหลัก 

แต่สำหรับข่าวที่เคยดังมาหลายปีก่อนเกี่ยวกับโรคไข้หวัดนกนั้น เกิดจากการที่ไวรัสกลายพันธุ์ทำให้มีการติดต่อมายังมนุษย์หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั่นเอง

โรคไข้หวัดใหญ่ติดต่ออย่างไร?

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่กระจายอยู่ตามละอองฝอยในอากาศที่ออกมาจากการไอ หรือจามของผู้ป่วย คนทั่วไปสามารถได้รับเชื้อโดยการหายใจเอาเชื้อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเกิดการแบ่งเซลล์ และทำให้ป่วยได้ภายใน 18-72 ชั่วโมงหลังจากรับเชื้อ

ความแตกต่างระหว่างไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดธรรมดา

ไข้หวัดธรรมดา (Common cold) มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ เช่น โคโรนาไวรัส (Corona virus) และไรโนไวรัส (Rhino virus) อาจมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ได้ 

แต่โดยทั่วไปไข้หวัดธรรมดาจะมีอาการไอจาม น้ำมูกไหล เจ็บคอ คันคอ เป็นอาการเด่น และไม่ค่อยมีไข้และอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 

เหตุผลที่ต้องแยกระหว่างไข้หวัดใหญ่กับไข้หวัดธรรมดา เพราะไข้หวัดใหญ่มีอาการที่รุนแรงและเกิดยาวนานกว่าไข้หวัดธรรมดา 

อีกทั้งไข้หวัดใหญ่ยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงบ่อยกว่าด้วย โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงอาจส่งผลให้ถึงแก่ชีวิตได้ เช่น ติดเชื้อปอดบวม ทำให้ระบบหายใจล้มเหลวได้

อ่านเพิ่มเติม: ความแตกต่างระหว่างไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากไวรัสและแบคทีเรีย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

สายพันธุ์ของโรคไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่เป็นไข้หวัดที่มีระดับความรุนแรงมากกว่าไข้หวัดธรรมดาแต่อาการเริ่มแรกมักไม่แตกต่างกันนัก อาการของแต่ละคนยังแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ผู้ป่วยได้รับเชื้อ 

ไข้หวัดใหญ่แบ่งได้เป็น 2 สายพันธุ์หลักๆ แต่ละสายพันธุ์จะแบ่งตระกูลย่อยได้

  1. ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ได้แก่ A Michigan (H1N1) และ A Switzerland (H3N2) เป็นไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการรุนแรง หากแพร่ระบาดแล้วจะควบคุมได้ยากกว่าชนิดอื่นๆ โดยเชื้อที่ตรวจพบในร่างกายมีความเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ได้สูง และสามารถแพร่กระจายจากสัตว์สู่คนได้ด้วย
  2. ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ได้แก่ B Colorado (Victoria lineage) และ B Phuket (Yamagata lineage) เป็นไวรัสที่พบเชื้อได้ในคนเท่านั้น อาการไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A ส่วนมากจะเกิดการแพร่ระบาดในช่วงฤดูหนาว เพราะสภาพแวดล้อมที่เชื้อไวรัสชนิดนี้ชอบคือ อากาศเย็นและแห้ง โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนม   กราคมที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ 

กลุ่มเสี่ยงที่หากได้รับเชื้อแล้วอาการจะรุนแรง คือ ผู้ป่วยโรคปอด โรคหัวใจ เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ

จากการเฝ้าระวังศึกษาการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เชื้อในไทย พ.ศ. 2562 ข้อมูลถึงวันที่ 30 เมษายน 2562 พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่แยกเป็น A (H1N1) 23.51% A (H3N2) 18.17% และ B 58.32% 

การวิเคราะห์สายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่แยกได้ในประเทศไทยได้ระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม 2562 พบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ดังนี้

  • A (H1N1) พบเป็น A Michigan (H1N1) 100% 
  • A (H3N2) พบเป็น A Switzerland 35.00% และ A Singapore 65.00% 

ส่วนเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B ใน พ.ศ.2562 มีความหลากหลายสายพันธุ์มากกว่าหลายปีที่ผ่านมาคือ พบ B Victoria lineage 99.00% ที่เหลือเป็น B Phuket (Yamagata lineage) 1.00% (ที่มาของข้อมูล: กรมควบคุมโรค)

ความแตกต่างระหว่างไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และ B

หากเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ขึ้นมา อาการของสายพันธุ์ A จะมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ B อยู่มาก เพราะสามารถกลายพันธุ์ แลกเปลี่ยนสายพันธุกรรม ระหว่างไวรัสของมนุษย์กับหมู นก และสัตว์ปีกต่างๆ ได้ 

นั่นทำให้เกิดไวรัสลูกผสมที่มีโอกาสระบาดในวงกว้างและรุนแรงมาก เช่น ไวรัส A H1N1 (2009) เกิดจากการผสมของไวรัสสายพันธุ์ของคน หมู และนก ที่เกิดการระบาดขึ้นทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว แล้วสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ด้วย 

ผู้ป่วยที่ติดไวรัสสายพันธุ์ A จึงต้องระมัดระวังตนเอง ใส่ผ้าปิดจมูก หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีผู้คนแออัด เพราะหากผู้อื่นได้รับเชื้อและรักษาไม่ถูกวิธีก็เสี่ยงที่ไวรัสจะเกิดการกลายพันธุ์ได้ง่าย การรักษาก็จะทำได้ยุ่งยากมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม: ความแตกต่างระหว่างไข้หวัดใหญ่กับไข้หวัดใหญ่ H1N1

อาการของโรคไข้หวัดใหญ่

  • ไข้สูง ตัวร้อน 
  • รู้สึกหนาว 
  • มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย 
  • เบื่ออาหาร 
  • ขมในคอ 
  • มีน้ำมูกใสๆ 
  • ไอแห้ง 
  • คัดจมูก 

อาการต่างๆ จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และอยู่นาน 6-10 วัน อาการจะค่อยๆ ทุเลาลง อาจไม่จำเป็นต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ในบางรายอาจพบการติดเชื้อที่ปอดอย่างรุนแรง หายใจลำบาก หอบเหนื่อย และอาจเสียชีวิตได้

สำหรับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ในเด็กจะคล้ายคลึงกับผู้ใหญ่ เพียงแต่ในเด็กมักจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง และถ่ายเหลวมากกว่า 

ในเด็กเล็กจะสังเกตได้จากอาการร้องไห้งอแง อยู่ไม่นิ่ง บางรายอาจมีอาการคัดแน่นจมูก ส่วนในเด็กทารกมักมีอาการง่วงซึมและไม่ค่อยดื่มนม และอาจมีอาการหายใจลำบากได้

อาการแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่

  • โรคไซนัสอักเสบ 
  • หลอดลมอักเสบ 
  • หูชั้นกลาง และหูชั้นในอักเสบ 
  • ภาวะปอดอักเสบ 

อาการเหล่านี้อาจเกิดรุนแรงได้ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง

อ่านเพิ่มเติม: ภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่?

  • เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี 
  • ผู้สูงอายุ 
  • ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ 
  • ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันและผู้ที่น้ำหนักเกินเกณฑ์

การวินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่

การวินิจฉัยการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่จะใช้การซักประวัติ สอบถามอาการต่างๆ เป็นหลัก โดยเฉพาะหากเกิดในช่วงที่มีไข้หวัดใหญ่ระบาด 

การส่งตรวจวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการเก็บสารคัดหลั่งจากโพรงทางด้านหลังของช่องจมูก หรือจากเสมหะ และหากมีข้อสงสัยว่า เกิดปอดอักเสบ แพทย์จะทำการเอกซเรย์ปอดด้วย 

วิธีการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่

การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ส่วนมากจะรักษาตามอาการ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้ยาต้านไวรัสโดยเฉพาะ หรือผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาเป็นรายๆ ไป 

เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวม จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด 

ทั้งนี้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง หากมีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และมีน้ำมูก ควรรีบมาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ และสำหรับผู้ป่วยทั่วไป หากมีอาการป่วยแล้วไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ควรรีบมาพบแพทย์เช่นกัน 

การปฏิบัติตัวเมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่

  • พบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา
  • ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
  • ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น และหมั่นล้างมือบ่อยๆ
  • เช็ดตัวลดไข้บ่อยๆ หากมีไข้สูง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เพราะไข้อาจกระตุ้นให้ชักได้ ควรใช้น้ำอุ่น หรือน้ำธรรมดา ห้ามใช้น้ำเย็นจัด หรือน้ำแข็งเช็ดตัว
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน 

วิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

วิธีป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สามารถปฏิบัติตามสุขบัญญัติแห่งชาติ โดยเน้นในเรื่องของการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน 

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หากิจกรรมเพื่อผ่อนคลายเครียด และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • หมั่นรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ทุกวัน โดยควรเพิ่มปริมาณของผักและผลไม้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะอาหารต้านหวัดต่างๆ
  • หมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนหยิบอาหารรับประทาน และเมื่อผ่านการสัมผัส หรือจับต้องสิ่งของชนิดต่างๆ 
  • หลีกเลี่ยงการคลุกคลีและสัมผัสกับผู้ป่วย ไม่ควรอยู่ในที่ที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก 
  • หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 
  • ไม่ควรใช้มือขยี้ตาเพราะอาจทำให้เกิดอาการอักเสบ แถมยังเป็นช่องทางในการทำให้เชื้อโรคสัมผัสกับเยื่อบุตาได้ง่าย
  • สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

เนื่องจากไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่มีการแพร่ระบาดมากขึ้นเรื่อยๆ การฉีดวัคซีนก่อนช่วงฤดูระบาดจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ซึ่งจำเป็นต้องฉีดซ้ำทุกปี 

เนื่องจากวัคซีนในแต่ละปีจะสามารถป้องกันการติดเชื้อเชื้อไวรัสที่เหมือน หรือคล้ายกับเชื้อที่ใช้ทำวัคซีนในปีนั้นๆ ซึ่งหากติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ วัคซีนที่ฉีดไปก็ไม่สามารถป้องกันได้

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทำจากเชื้อที่ตายแล้ว ไม่มีผลในการก่อโรค จึงมีความปลอดภัยสูง ที่สำคัญวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกชนิดมีประสิทธิภาพไม่ต่างกัน สามารถช่วยป้องกันโรคได้ 70-80% และลดความรุนแรงของโรคได้ด้วย

ปัจจุบันประเทศไทยเมื่อย่างเข้าสู่หน้าฝน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะเชิญชวนประชาชนใน 7 กลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ฟรี 

วัคซีนที่นำมาฉีดจะเป็นแบบ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ A Michigan (H1N1) A Switzerland (H3N2) และ B Colorado (Victoria lineage) ซึ่งเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่พบบ่อยในไทย มีประสิทธิภาพสามารถป้องกันอาการรุนแรงและลดการเสียชีวิตได้

7 กลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน

  1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์มากกว่า 4 เดือน 
  2. เด็ก อายุ 6 เดือน - 2 ปี 
  3. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  7 กลุ่มโรค คือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เบาหวาน และผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด 
  4. ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี 
  5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 
  6. โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 
  7. โรคอ้วน น้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมี BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ตามกำหนด (แตกต่างกันในแต่ละปี) ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนใกล้บ้านที่ร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามวันและสถานที่ดังกล่าว

หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ใครบ้างที่สามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้

สามารถฉีดได้ทุกเพศทุกวัยซึ่งสามารถฉีดได้ตลอดปี โดยในเด็กสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี ควรต้องฉีดอย่างยิ่ง และกลุ่มเสี่ยงสูงต่างๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้น 

ผลข้างเคียงของวัคซีนไข้หวัดใหญ่

ผลข้างเคียงที่พบมากที่สุด คือ อาการปวด บวมแดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน บางคนอาจมีไข้ต่ำๆ และปวดเมื่อยเนื้อตัว ซึ่งควรหายได้เองภายใน 1-2 วันหลังฉีด 

ส่วนกรณีที่รุนแรงถึงแก่ชีวิต เกิดขึ้นได้น้อยมาก คือ แพ้วัคซีนอย่างรุนแรงที่เรียกว่า อะนาไฟแล็กซิส (Anaphylaxis) อาการจะปรากฏภายใน 2-3 นาที ถึง 2 - 3 ชั่วโมงหลังฉีด 

อาจมีอาการหายใจไม่สะดวก เสียงแหบ หรือหายใจมีเสียงดัง ลมพิษ ซีดขาว อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว หรือเวียนศีรษะ หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

ส่วนผลข้างเคียงจากวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่พบได้น้อยมาก คือ กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre syndrome) เป็นความผิดปกติของเส้นประสาท ซึ่งจะมีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีอาการอ่อนแรงนานเป็นสัปดาห์ หรือเกิดขึ้นถาวรก็ได้

ภูมิต้านทานจะคงอยู่นานเท่าไร?

การศึกษาพบว่าภูมิคุ้มกันจะค่อยๆ ลดลงภายในเวลาไม่กี่เดือนหลังจากได้รับวัคซีน หรือติดเชื้อ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ภูมิคุ้มกันจะคงอยู่แค่ฤดูเดียวหลังจากฉีดวัคซีน หรือได้รับเชื้อ และไม่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ในฤดูต่อไปได้ 

ดังนั้นการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปีจะช่วยลดโอกาสในการเป็นไข้หวัดใหญ่ได้มาก 

ข้อห้ามในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

  • เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน
  • คนที่มีประวัติแพ้ไข่อย่างรุนแรง เพราะ วัคซีนผลิตโดยใช้ไข่จากสัตว์
  • ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วมีอาการแพ้อย่างรุนแรง
  • หากมีไข้ หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน หรือโรคประจำตัว มีอาการกำเริบ ควบคุมไม่ได้ ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน
  • กรณีเป็นหวัดเล็กน้อย ไม่มีไข้ สามารถรับการฉีดวัคซีนได้

โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และ B เป็นโรคที่มีความรุนแรงและมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก โดยเฉพาะผู้อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง ซึ่งหากติดเชื้ออาจอันตรายถึงชีวิตได้ 

วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ นอกจากรักษาสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แล้ว การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย  

ดูแพ็กเกจฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android

รวมบทความที่เกี่ยวข้องกับโรคไข้หวัดใหญ่


11 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ 2021 มีอะไรบ้าง? | HDmall (https://hdmall.co.th/c/influenza-virus-vaccines-2020-update).
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ฉีดกี่เข็ม? ฉีดตอนไหน? อยู่ได้กี่ปี | HDmall (https://hdmall.co.th/c/how-many-flu-shots-do-you-need).
ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ผลข้างเคียง | HDmall (https://hdmall.co.th/c/side-effects-of-influenza-vaccine).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
วิธีหาอุปกรณ์คลุมศีรษะโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายระหว่างการทำเคมีบำบัด
วิธีหาอุปกรณ์คลุมศีรษะโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายระหว่างการทำเคมีบำบัด

วิกผม หมวกมีปีก หมวกไหมพรม และผ้าพันคอที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

อ่านเพิ่ม