กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ประโยชน์ของกระชาย ไอเดียการกินการใช้เพื่อสุขภาพและข้อควรระวัง

กระชาย พืชสมุนไพรคู่ครัวไทยมาเป็นเวลานาน นอกจากกลิ่นหอมและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว กระชายยังมีสรรพคุณทางยาช่วยรักษาโรคได้มากมายอีกด้วย
เผยแพร่ครั้งแรก 8 เม.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 28 ม.ค. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 21 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
ประโยชน์ของกระชาย ไอเดียการกินการใช้เพื่อสุขภาพและข้อควรระวัง

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • กระชาย เป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และสรรพคุณทางยามากมาย โดยส่วนที่นิยมนำมาประกอบอาหารมากที่สุด คือ รากสะสมอาหาร หรือที่เรียกว่า "นมกระชาย" ซึ่งมีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
  • ประโยชน์ของกระชาย เช่น บำรุงร่างกายและเส้นผม ดับกลิ่นคาวอาหาร กำจัดแมลง รักษาอาการวิงเวียนศีรษะ แน่นหน้าอก แก้ฝ้าขาวในช่องปาก หรือแก้อาการท้องร่วงและท้องเดิน
  • ข้อควรระวังในการรับประทานกระชาย คือ ไม่รับประทานอย่างต่อเนื่อง เพราะกระชายมีฤทธิ์ร้อน อาจทำให้เป็นโรคร้อนใน หรือแผลในปากได้ อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดปัญหาเหงือกร่น และภาวะใจสั่นด้วย
  • ฤทธิ์ของกระชายมีผลต่อการทำงานของตับโดยตรง ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับ จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานกระชาย แต่หากจำเป็นต้องรับประทานจริงๆ ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อน
  • สมุนไพรทุกชนิดไม่ใช่แค่กระชายเท่านั้นล้วนแต่เป็นยารักษาโรคที่ดี และในขณะเดียวกัน หากใช้มากเกินไปก็อาจทำให้เกิดโทษได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนรับประทาน (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่)

กระชาย สมุนไพรที่อยู่คู่ครัวไทยมาเป็นเวลานาน นอกจากจะช่วยเสริมรสชาติอาหารให้อร่อยกลมกล่อมแล้ว ยังมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายนับไม่ถ้วน รวมทั้งยังนำมาใช้เป็นยาในการบรรเทาอาการของโรคต่างๆ ได้อีกด้วย  ถ้าอยากรู้ว่า กระชายมีดีอะไรบ้าง บทความนี้มีคำตอบ

ทำความรู้จักกับกระชาย

กระชาย เป็นพืชที่อยู่ในตระกูลโสม เป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าสั้น โดยส่วนที่นิยมนำมาใช้ประกอบอาหารมากที่สุด คือ "นมกระชาย" หรือที่เรียกว่า รากสะสมอาหาร ซึ่งนมกระชายนี้จะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว สามารถใช้เป็นผักจิ้มได้ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

แต่ข้อแตกต่างระหว่างกระชายกับโสม คือ สารต่างๆ ของกระชายสามารถระบายออกได้เองตามธรรมชาติ ในขณะที่โสมจะไม่มีการระบายออก แต่จะติดค้าง และหมุนเวียนอยู่ในกระแสเลือด นอกจากนี้กระชายยังมีราคาถูก หาซื้อได้ง่าย และยังปลอดภัยต่อร่างกายอีกด้วย

แต่คนส่วนใหญ่มักนำนมกระชายมาใช้เป็นเครื่องแกง เพราะมีคุณสมบัติในการช่วยดับกลิ่นคาวเนื้อปลา หรือหรือเนื้อสัตว์ได้เป็นอย่างดี ในปัจจุบัน คนจีนได้หันมารับประทานกระชายแทนโสมกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีสรรพคุณคล้ายกัน

คุณค่าทางโภชนาการของกระชาบ

กระชาย 100 กรัม ให้คุณค่าทางโภชนาการดังนี้

ประโยชน์ของกระชาย

1เป็นเครื่องดื่มบำรุงร่างกาย

กระชายสามารถนำมาทำเป็นเครื่องดื่มบำรุงได้เป็นอย่างดี เพียงนำกระชายมาปั่นกับน้ำก็สามารถดื่มได้ทันที ช่วยเพิ่มความสดชื่นให้ร่างกาย ทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า

2บำรุงเส้นผมให้แข็งแรง

สำหรับใครที่มีปัญหาในเรื่องผมเสีย หรือผมบาง กระชายมีคุณสมบัติช่วยเปลี่ยนผมขาวให้กลับมาดำเงางามได้ รวมถึงมีส่วนช่วยทำให้เส้นผมกลับมาแข็งแรงได้เหมือนเดิม นอกจากนี้ยังช่วยแก้ปัญหาผมบางให้กลับมาหนาขึ้น และที่สำคัญยังช่วยแก้ปัญหาผมหงอก และผมร่วงได้ด้วย

3ช่วยดับกลิ่นคาวของอาหาร

หากมีปัญหาในระหว่างที่ทำอาหาร เช่น อาหารมีกลิ่นคาวจนเกินไป แนะนำให้เอารากของกระชายมาดับกลิ่น รับรองได้ผลดีอย่างแน่นอน เพราะจะช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อและปลาได้ นอกจากนี้ยังทำให้อาหารมีกลิ่นที่หอมและยังให้รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

4ช่วยกำจัดแมลง

นำรากกระชายมาตำกับตะไคร้ ข่า หอมแดง และใบสะเดาแก่ จากนั้นนำมาผสมเข้ากับน้ำ ฉีดตามบริเวณที่มีแมลงมารบกวน ก็จะช่วยป้องกันแมลงได้

5ช่วยรักษาสารพัดโรค

ไม่ว่าจะเป็น แก้อาการวิงเวียนศีรษะ แน่นหน้าอก บำรุงกระดูก ป้องกันไม่ให้กระดูกเปราะบาง บำรุงสมอง ปรับสมดุลของความดันโลหิต ช่วยแก้โรคในปาก เช่น ปากเปื่อย ปากแห้ง ปากเป็นแผล แก้บิด 

นอกจากนี้ยังช่วยรักษาอาการท้องเดินในเด็ก รักษาโรคกระเพาะ ช่วยบำรุงตับ บำรุงไตให้แข็งแรงและสามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญยังช่วยป้องกันไทรอยด์เป็นพิษได้อีกด้วย

6. ช่วยต้านการอักเสบ

กระชายมีฤทธิ์ช่วยต้านการอักเสบ ซึ่งหากรับประทานเป็นประจำ จะให้ผลคล้ายกับการรับประทานยาแอสไพริน นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันการเกิดโรคที่มีสาเหตุจากการอักเสบเรื้อรังภายในร่างกายได้อีกด้วย

7แก้ฝ้าขาวในช่องปาก

ใครที่มีปัญหาเรื่องฝ้าขาวในช่องปาก สามารถรักษาให้หายได้ด้วยรากกระชาย โดยนำรากกระชายมาล้างให้สะอาด จากนั้นนำมาบดให้ละเอียดโดยไม่ต้องปอกเปลือก ใส่ในขวดปิดฝาให้แน่นแล้วนำไปแช่ตู้เย็น 

วิธีการรับประทาน ให้นำมารับประทานก่อนอาหารครั้งละ 1 ช้อนชา วันละ 3 มื้อ ก่อนอาหารประมาณ 15 นาที รับประทานติดต่อกันเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ฝ้าขาวที่เกิดขึ้นในช่องปากจะหายไป

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

8แก้อาการท้องร่วงและท้องเดิน

เหง้ากระชายมีรสชาติเผ็ดร้อนและขม สามารถใช้บรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อได้ นอกจากนี้ ยังมีสารซิเนโอเล ที่มีฤทธิ์ช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ ทำให้อาการปวดท้องลดลง 

หากมีอาการท้องร่วงและท้องเดิน แนะนำให้ใช้เหง้ากระชายสดประมาณ 1-2 เหง้า โดยนำเหง้าไปปิ้งแล้วนำมาฝนหรือตำให้ละเอียด ผสมเข้ากับน้ำปูนใส รับประทานวันละ 1-2 ช้อนชา จะช่วยให้อาการดังกล่าวหายดีขึ้น

วิธีการทำ ให้ใช้เหง้าและรากประมาณครึ่งกำมือ ถ้าสดให้ใช้ประมาณ 5-10 กรัม แต่ถ้าเป็นแห้งให้ใช้ประมาณ 3-5 กรัม แล้วนำมาต้มเอาน้ำดื่มแก้อาการ หรือจะนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารไว้รับประทานก็ได้เช่นกัน

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่า สารสกัดคลอโรฟอร์มและเมทานอลจากรากของกระชายมีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเชื้อไกอาเดีย (Giardia intestinalis) พยาธิเซลล์เดียวในลำไส้ที่ก่อให้เกิดภาวะท้องเสีย ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างมากสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง

ส่วนข้อมูลจากมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ส่วนเหง้าของกระชายรักษาอาการแน่น จุกเสียด โดยน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ขับลม และสารฟลาโวนอยด์มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ

9รักษาโรคน้ำกัดเท้า

ขั้นตอนการนำกระชายมาใช้รักษาโรคน้ำกัดเท้า อาจมีดังนี้

  • เริ่มจากการนำรากกระชายทั้งเปลือกมาล้างให้สะอาด 
  • นำกระชายที่ล้างสะอาดแล้วไปผึ่งแดดให้แห้ง 
  • ฝานรากให้เป็นแว่นๆ แล้วนำมาบดให้เป็นผงหยาบๆ 
  • จากนั้นนำน้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันมะกอกมาอุ่นในหม้อ เติมผงรากกระชายที่ได้ 

โดยอัตราส่วนควรให้น้ำมันมีปริมาณที่มากกว่าผงรากกระชายประมาณ 3 เท่า หุงด้วยไฟอ่อนประมาณ 15 - 20 นาที แล้วนำมากรองรากกระชายออก เก็บส่วนที่เป็นน้ำมันไว้เพื่อใช้สำหรับทาที่บริเวณที่เกิดแผลน้ำกัดเท้า จะช่วยรักษาแผลดังกล่าวได้

10. ใช้ลดน้ำหนัก

มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการลดน้ำหนัก ที่สถาบัน Clinical Research Information Service ประเทศเกาหลี พบว่า กลุ่มผู้เข้าทดลองที่รับประทานกระชายดำนั้นมีรอบเอวและปริมาณไขมันลดลง แต่ยังไม่มีการวิจัยว่า ต้องรับประทานปริมาณเท่าใดจึงจะเหมาะสม 

ดังนั้น ผู้ที่จะลดน้ำหนักด้วยกระชายนั้นจึงไม่ควรรับประทานมากเกินไป หากจะรับประทานกระชายเพื่อลดน้ำหนัก ควรทำไปพร้อมกับการออกกำลัง และควบคุมอาหารซึ่งจะได้ผลที่ยั่งยืนกว่า

11. ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ

งานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า สาร Pinostrobin, Pinocembrin, Panduratin A และ Alpinetin ของกระชายมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียได้หลายชนิด 

และงานวิจัยในประเทศกานา ยังพบอีกว่า สาร Pinostrobin จากรากและใบ มีฤทธิ์ช่วยต้านเชื้อ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมาลาเรีย

เมนูกระชายเพื่อสุขภาพ

  • ขนมจีนน้ำยา การใส่กระชายลงไปเป็นส่วนผสมของเครื่องแกงน้ำยา จะทำให้น้ำยามีกลิ่นหอมมากขึ้น ในกรณีที่ทำน้ำยาปลา กระชายจะทำหน้าที่ในการดับกลิ่นคาวปลาที่นำมาทำได้เป็นอย่างดี

  • ยำกระชายทอดกรอบ ใครที่ชอบรับประทานเมนูยำผักบุ้งทอดกรอบ ก็ลองเปลี่ยนมาใช้กระชายทอดกรอบดูบ้าง เริ่มจากซอยกระชายเป็นเส้นบางๆ ชุบแป้งพอให้เคลือบพอดี แล้วเอาลงทอดให้กรอบ นำน้ำยาสูตรเด็ดมาราดหรือคลุก โรยด้วยกุ้งต้ม หมูสับ ก็ได้เมนูอร่อย และมีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว

  • น้ำพริกแกงเผ็ด ใช้สำหรับทำผัดฉ่า หรือแกงเผ็ดต่างๆ ส่วนผสมมีพริกไทยเม็ด กระชาย ผิวมะกรูด พริกแห้ง กะปิ ตะไคร้ หอมแดง กระเทียม ข่า เกลือ โขลกส่วนผสมทั้งหมดให้ละเอียดและเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน เอาใส่ถุง หรือกระปุกเก็บไว้ในตู้เย็น เพื่อที่จะนำมาใช้ในครั้งต่อๆ ไปตามที่ต้องการ

การใช้กระชายเพื่อสุขภาพ

นอกจากการทำอาหารแล้ว กระชายสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคแผนโบราณได้อีกหลายประเภท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • รักษาโรคน้ำกัดเท้า นำรากกระชายแบบไม่ต้องปอกเปลือกมาล้างให้สะอาดแล้วตากแดดให้แห้ง จากนั้นให้ฝานเป็นแว่น แล้วบดพอหยาบ แล้วนำส่วนที่บดหยาบแล้วไปผสมกับน้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันมะกอก อุ่นให้ร้อนประมาณ 15 นาที กรองผงกระชายออกให้หมด ก็จะได้ยาทารักษาโรคน้ำกัดเท้าแล้ว

    สูตรนี้ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นแชมพูสระผมเพื่อรักษาปัญหารังแคได้อีกด้วย

  • รักษาโรคริดสีดวงทวาร นำเหง้าสดของกระชาย 1 กำมือ มะขามเปียกในปริมาณเท่ากัน และเกลือแกงจำนวน 3 ช้อนโต๊ะ ตำให้ละเอียดแล้วนำมาต้มกับน้ำปริมาณ 6 แก้ว เคี่ยวไปเรื่อยๆ จนกว่าน้ำจะงวดเหลือประมาณ 2 แก้ว ดื่มวันละครึ่งแก้วทุกครั้งก่อนนอน หากดื่มต่อเนื่องเป็นประจำทุกวันอาการจะดีขึ้น
  • ช่วยบำรุงหัวใจ นำรากและเหง้าของกระชายมาปอกเปลือกออกให้หมดแล้วล้างให้สะอาด อย่าให้เหลือคราบดิน นำมาหั่นเป็นแว่นเล็กๆ แล้วตากแดดให้แห้ง หลังจากนั้นให้นำมาบดเป็นผง นำผงกระชายที่ได้มาชงกับน้ำร้อนวันละ 1 ช้อนชา ดื่มเป็นประจำทุกวัน

  • ยาบำรุงร่างกาย นำกระชายสด 1/2 กิโล มาล้างให้สะอาด ขูดเปลือกออกพร้อมกับตัดหัวและรากออกให้เหลือแต่ลำต้น หั่นเป็นท่อนเล็กๆ แล้วนำไปปั่นพร้อมกับน้ำต้มสุก นำมากรองด้วยผ้าขาวบาง ก็จะได้น้ำกระชายสดที่มีฤทธิ์เผ็ดร้อน

    แต่หากรสชาติเข้มเกินไป ให้ผสมกับน้ำผึ้งและมะนาว เติมน้ำแข็งเล็กน้อย ก็จะได้ยาบำรุงร่างกายที่ช่วยกระตุ้นเลือดลมและสร้างความกระปรี้กระเปร่าให้ร่างกาย

ข้อควรระวังในการรับประทานและการใช้กระชาย

  • การบริโภคกระชายในปริมาณมาก มีผลทำให้เกิดปัญหาเหงือกร่น และเกิดภาวะใจสั่นได้

  • ฤทธิ์ของกระชายมีผลต่อการทำงานของตับ เพราะฉะนั้นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับทุกชนิดไม่ควรบริโภคกระชายเพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น หรือไม่ก็ควรบริโภคให้น้อยที่สุด
  • ไม่ควรรับประทานอย่างต่อเนื่อง หรือติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากกระชายมีฤทธิ์ร้อน จึงอาจส่งผลให้เกิดอาการของโรคร้อนใน หรือแผลในปากตามมา

สมุนไพรทุกชนิด ไม่ใช่แค่กระชายเท่านั้นล้วนแต่เป็นยารักษาโรคที่ดี และในขณะเดียวกัน ถ้าหากใช้มากเกินไป โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ก็อาจจะกลายเป็นยาพิษต่อร่างกาย เพราะฉะนั้นจึงควรบริโภคแต่พอเหมาะสม เพื่อสุขภาพที่ดีของร่างกาย

หากไม่มั่นใจว่าควรรับประทานปริมาณเท่าไร หรือมีข้อควรระวังใดบ้างที่ต้องระมัดระวัง แนะนำให้สอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนรับประทาน เพื่อความปลอดภัย และการได้รับประโยชน์จากกระชายอย่างสูงสุด

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
เว็บไซต์หมอชาวบ้าน (รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ)
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป