กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นายแพทย์เสฏฐวุฒิ งามเมธิชัยวงศ์ แพทย์ด้านเวชศสาสตร์ชะลอวัย แพทย์ประจำด็อกเตอร์เวลเนสคลินิกเวชกรรม (Dr.Wellness Clinic) เจ้าของเพจ หมอหล่อคอเล่า
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นายแพทย์เสฏฐวุฒิ งามเมธิชัยวงศ์ แพทย์ด้านเวชศสาสตร์ชะลอวัย แพทย์ประจำด็อกเตอร์เวลเนสคลินิกเวชกรรม (Dr.Wellness Clinic) เจ้าของเพจ หมอหล่อคอเล่า

Anti-aging เวชศาสตร์ชะลอวัย ฉบับเข้าใจง่าย

Anti-Aging คืออะไร? ทำความรู้จักกับเวชศาสตร์ชะลอวัย ศาสตร์การแพทย์แขนงใหม่ที่กำลังมาแรง
เผยแพร่ครั้งแรก 23 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 22 ก.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 9 นาที
Anti-aging เวชศาสตร์ชะลอวัย ฉบับเข้าใจง่าย

เมื่อพูดถึงเรื่องของ Anti-aging สิ่งแรกที่คนมักจะนึกถึง คือ เรื่องของความสวยความงาม ความอ่อนเยาว์ การฉีดโบท๊อกซ์ ทำเลเซอร์ผิว การบำรุงผิวราคาแพง การรับประทานวิตามิน อาหารเสริมต่าง ๆ หรือแม้แต่การให้วิตามิน สารอาหารผ่านทางเส้นเลือด ฯลฯ  แต่ในความเป็นจริงแล้ว Anti-aging คือ ศาสตร์การดูแลสุขภาพในแบบองค์รวมหลายด้าน วันนี้ HonestDocs จะพาคุณไปทำความรู้จักกับทุกๆ แง่มุมของ Anti-aging ในแบบฉบับเข้าใจง่ายกัน  

Anti-Aging คืออะไร?

Anti-aging มาจากศาสตร์การแพทย์แขนงใหม่ คือ  Anti-aging and Regenerative medicine มีจุดเริ่มต้นมาจากฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกา เป็นแนวทางการรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Medicine) คือ การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง เป็นต้น สำหรับภาษาไทยจะคุ้นหูกันดีในชื่อ “เวชศาสตร์ชะลอวัย”  

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

Anti-aging เป็นแนวทางการใช้ชีวิตเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงสมวัย แต่ละวัยจะมีแนวทาง Anti-aging ที่ไม่เหมือน กัน เช่น วัยเด็กจะเน้นด้านโภชนาการอาหาร พัฒนาการเจริญเติบโต ในขณะที่วัยผู้ใหญ่ หรือวัยผู้สูงอายุ จะเฝ้าระวังในเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บและโรคเรื้อรังมากกว่า  

จุดมุ่งหมายหลักของ Anti-Aging

  1. การชะลอความเสื่อมที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนวัยอันควร ได้แก่ จากความผิดปกติของฮอร์โมน การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ความเครียดสะสมจากการทำงาน และการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น
  2. การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ ยกตัวอย่างเช่น แพทย์จะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในด้านต่าง ๆ เช่น โภชนาการที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล การเสริมวิตามินเฉพาะบุคคลเพื่อเสริมสารอาหารที่ร่างกายขาดไป หรือการรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับร่างกาย เป็นต้น  

เมื่อไหร่ที่เราควรไปพบแพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัย

จริงๆ แล้วทุกคนสามารถทำ Anti-aging ได้ด้วยตัวเอง เช่น หลีกเลี่ยงพฤติกรรมสุขภาพต่างๆ ที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ (Free Radical) ซึ่งเป็นโมเลกุลขนาดเล็กที่ไม่เสถียร เมื่อมีจำนวนมากเกินไปจะสร้างความเสียหายต่อส่วนประกอบของเซลล์ เช่น ดีเอ็นเอ โปรตีน รวมถึงเยื่อหุ้มเซลล์ จึงเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น 

การลดอนุมูลอิสระที่กล่าวมาทำได้โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่การไปพบแพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัยจะช่วยทำให้เราเข้าใจร่างกายของตัวเองในเชิงลึกมากขึ้น การตรวจเช็กสุขภาพภายใน และได้รับคำแนะนำเกี่ยวแนวทางการฟื้นฟูสุขภาพที่เหมาะสมกับตนเอง 

กลุ่มคนที่ควรไปพบแพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัย ได้แก่ 

  1. บุคคลที่มีความเสี่ยงว่าจะเป็นโรคจากกรรมพันธุ์ ได้แก่ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคความดันโลหิตสูง แต่หากคุณอยู่ในกลุ่มนี้อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะกรรมพันธุ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเท่านั้น ถ้าคิดเป็นสัดส่วนก็เพียงแค่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อีก 80 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งบางคนอาจมีความใกล้เคียงกับคนในครอบครัวที่เป็นโรคดังกล่าว จึงทำให้มีโอกาสเป็นโรคตามกันไป
  2. บุคคลที่มีโรคประจำตัว ยกตัวอย่างเช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นอักเสบ โรคไขมันในเลือดสูง โรคมะเร็ง เป็นต้น
  3. บุคคลที่อยากเริ่มรักษาสุขภาพร่างกายอย่างถูกวิธี  

แต่หากยังไม่แน่ใจว่า ตนเองจำเป็นต้องไปพบแพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัยหรือไม่ ลองเช็กลิสต์สุขภาพข้างล่างนี้ดูว่า มีสัญญาณผิดปกติแบบนี้หรือเปล่า หากมีอาการแนะนำให้ไปพบแพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัย เพื่อตรวจหาสาเหตุ วินิจฉัย และรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป

  • มีอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลียติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • น้ำหนักขึ้นง่าย แต่ลดยาก
  • อ้วนลงพุง
  • นอนไม่หลับ หรือหลับแต่ไม่ค่อยสนิท
  • ตื่นมาในแต่ละวันแล้วรู้สึกไม่สดชื่น
  • ไม่มีเรี่ยวแรงในการทำกิจวัตรต่างๆ ในแต่ละวัน 
  • หน้าตาผิวพรรณดูหมองคล้ำ
  • ดูแก่กว่าวัย
  • มีอาการเจ็บป่วยต่างๆ เช่น มีโรคประจำตัว โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

เวชศาสตร์ชะลอวัยเหมาะกับใครบ้าง?

เวชศาสตร์ชะลอวัยเหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ จนกระทั่งถึงวัยผู้สูงอายุ โดยในแต่ละช่วงวัยจะให้ความสำคัญในการตรวจไม่เหมือนกัน แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมวัย 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • วัยเด็ก ตรวจทางด้านโภชนาการ ภูมิแพ้อาหาร และพัฒนาการเจริญเติบโตตามวัย 
  • วัยรุ่น ตรวจความผิดปกติของฮอร์โมน เช่น ในเพศหญิงจะนิยมตรวจในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • วัยผู้ใหญ่ เป็นวัยที่ให้ความสนใจในด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยมากที่สุด ผู้หญิงจะนิยมตรวจเรื่อง อาการ PMS (Premenstrual Syndrome) ก่อนประจำเดือน การควบคุมน้ำหนัก การดูแลผิวพรรณ ในขณะที่ผู้ชายจะไม่ค่อยนิยมเข้าพบแพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัยมากนัก แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบในกลุ่มเพศชาย คือ สุขภาพทางเพศ แต่อาการที่คนวัยนี้เป็นกันมาก คือ อาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic fatigue Syndrome/Burnout syndrome) นั่นเอง
  • วัยผู้สูงอายุ ตรวจระดับฮอร์โมน สารอาหารที่จำเป็น ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง และโรคเรื้อรังต่างๆ 

แนวทางการรักษาเวชศาสตร์ชะลอวัยเบื้องต้น

  1. แพทย์จะพูดคุยสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่เข้ามาปรึกษา เกี่ยวกับลักษณะการใช้ชีวิตในด้านต่างๆ อาหารที่รับประทาน การนอนหลับ การออกกำลังกาย ความเครียด ฯลฯ เพื่อสังเกตว่า มีพฤติกรรมที่นำไปสู่ปัจจัยเสี่ยงหรือไม่ หลังจากนั้นจะพิจารณาตรวจสุขภาพรายการสำคัญ เช่น ตรวจค่าการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย ตรวจระดับฮอร์โมน ตรวจระดับวิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น
  2. แพทย์จะแนะนำแนวทางในการปรับการใช้ชีวิตให้กลับสู่สมดุลอีกครั้ง โดยแนะนำแนวทางการใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เช่น โภชนาการอาหารที่ควรได้รับในแต่ละวัน ควรพักผ่อนอย่างน้อยกี่ชั่วโมงต่อวัน หรือวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับบุคคล เป็นต้น 
  3. ในกรณีที่ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็น แพทย์จะจัดวิตามิน แร่ธาตุ อาหารเสริมในแบบเฉพาะบุคคลที่ได้จากการปรุงโดยเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญเพื่อเติมเต็มในส่วนที่ขาด และช่วยฟื้นฟูร่างกายอย่างรวดเร็ว หากมีอาการผิดปกติ เช่น ภาวะฮอร์โมนตกก่อนวัยอันควร แพทย์จะพิจารณาใช้ฮอร์โมนทดแทนตามข้อบ่งชี้และความเหมาะสมในแต่ละบุคคล

แพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัยสามารถตรวจอะไรได้บ้าง?

ศัตรูสำคัญที่ทำให้ร่างกายเกิดความเสื่อม

  • การอักเสบ (Inflammation) เป็นกระบวนการของร่างกาย ที่เกี่ยวข้องกับเม็ดเลือดขาวและสารอื่น ๆ ในร่างกาย จะเข้ามาทำการฟื้นฟูและซ่อมแซมส่วนที่บาดเจ็บ หรือสึกหรอ หากเป็นแบบเฉียบพลัน เราเรียกกระบวนการนี้ว่า Acute Inflammation แต่เมื่อร่างกายเกิดกระบวนการดังกล่าวบ่อยครั้งและเป็นเรื้อรังเข้าจะนำไปสู่การะบวนการที่เรียกว่า การอักเสบเรื้อรัง (Chronic Inflammation) ซึ่งเป็นสาเหตุของความเสื่อมของร่างกายนั่นเอง
  • AGE : Advanced Glycation End products เป็นหนึ่งในสารอักเสบที่รู้จักกันดี พบในอาหารจำพวกปิ้งย่าง โปรตีนจากเนื้อแดง อาหารที่มีคอลเลสเตอรอลสูง หรือของหวานที่มีน้ำตาลสูง เป็นต้น เมื่อรับประทานเข้าไปเป็นประจำ สารดังกล่าวจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารอักเสบออกมาเป็นจำนวนมากจนกลายเป็นการอักเสบเรื้อรัง (Chronic Inflammation)
  • การรับประทานอาหารที่มากเกินไปจนทำให้ร่างกายต้องใช้พลังงานในการเผาผลาญมาก ก็นับเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสื่อมของร่างกายเช่นกัน 
  • ภาวะฮอร์โมนตกก่อนวัยอันควร เช่น ภาวะต่อมหมวกไตล้า ทำให้การสร้างฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หรือที่เรียกว่า ฮอร์โมนความเครียดผิดปกติ ซึ่งฮอร์โมนคอร์ติซอลเป็นตัวการต่อสู้กับความเครียด เมื่อไม่มีตัวการจัดการจึงทำให้เกิดความเครียดสะสม ส่งผลให้นอนไม่ค่อยหลับ รับประทานอาหารได้น้อยลง ระบบเผาผลาญแย่ลง มีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง หรือภูมิคุ้มกันตกลงจนป่วยได้ง่าย ซึ่งเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า ร่างกายกำลังมีปัญหา

วิธีการชะลอวัยด้วยตนเอง

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น อาหารประเภท Real Foods เป็นอาหารที่ยังไม่ผ่านการปรุงแต่ง หรือปรุงแต่งน้อยเพื่อจะได้รับสารอาหารเต็มที่ ผักออร์แกนิก ไขมันดีจากถั่วเปลือกแข็งต่างๆ เช่น อัลมอนด์ วอลนัท ถั่วลิสง ผลอะโวคาโด น้ำมันมะกอก ปลาแซลมอน ส่วนโปรตีนดี ได้จากเนื้อ นม  ไข่ ไก่ เต้าหู้ ปลา เนยถั่ว เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงสารที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระซึ่งมาจากมลภาวะทางอากาศ ฝุ่น ควัน แสงแดด รังสี UV การรับประทานอาหารปิ้งย่าง โปรตีนจำพวกเนื้อแดง และการนอนหลับไม่เพียงพอ เป็นต้น
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ นอกจากจะทำให้ร่างกายที่แข็งแรงแล้ว ยังช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอนโดฟิน (Endophins) หรือที่เรียกกันว่า “สารความสุข” ทำให้ลดความเครียดลง ร่างกายกระฉับกระเฉงยิ่งขึ้น และทำให้นอนหลับง่ายอีกด้วย
  • ฝึกจัดการกับความเครียดให้เหมาะสม เพราะความเครียดสามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของสารเคมีในสมองได้ หากร่างกายมีความเครียดสะสมมากเกินไปจนทำให้เกิดภาวะผิดปกติในร่างกาย เช่น ส่งผลต่อระบบการทำงานของกระเพาะอาการ หรือมีอาการปวดหัว จำเป็นต้องเข้าไปพบแพทย์เฉพาะทาง เพราะอาจนำไปสู่การเกิดภาวะซึมเศร้าได้

บทสรุป

Anti-aging เป็นลักษณะการใช้ชีวิตเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงสมวัย ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ส่วนการเข้าไปพบแพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัยนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อตรวจร่างกายเชิงลึกในกรณีที่ร่างกายมีปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง เพื่อป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต และปรึกษาแนวทางการใช้ชีวิตที่เหมาะสมกับตนเอง เมื่อเรามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมวัย ย่อมส่งผลให้รูปลักษณ์ภายนอกสวยงาม ดูดี ขึ้นตามมานั่นเอง 

Q&A ถาม-ตอบเรื่อง Anti aging

Q: วิตามินที่คนขาดมากที่สุด คืออะไร

A: วิตามินดีเป็นวิตามินที่คนไทยและคนทั่วโลกขาดมากที่สุดโดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ในเมือง จากการตรวจสอบพบว่า มีจำนวนถึงหนึ่งในสามที่ขาดวิตามินดี สาเหตุมาจากการหลีกเลี่ยงแสงแดดมากจนเกินไป การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารกันแดด ซึ่งวิตามินดีมีความสำคัญมากในการชะลอวัย เพราะเกี่ยวข้องกับกระดูก กล้ามเนื้อ ระบบภูมิคุ้มกัน การนอนหลับ และฮอร์โมนอินซูลิน เป็นต้น 

Q: วิตามินดีมีส่วนช่วยในการชะลอวัยอย่างไร

A: วิตามินดีเป็นวิตามินที่คนส่วนใหญ่ละเลยทั้ งๆ ที่วิตามินดีเป็นหนึ่งในวิตามินสำคัญที่มีส่วนช่วยในกระบวนการทำงานต่างๆ ในร่างกาย เช่น การดูดซึมแคลเซียม (Calcium) เป็นสื่อกลางระหว่างสมองกับร่างกายในการเคลื่อนไหวของเส้นประสาท กล้ามเนื้อ หรือช่วยในการต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียและไวรัส นอกจากนี้ภาวะการขาดวิตามินดียังมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคมะเร็ง โรคกระกระดูกผิดปกติ โรคความดันโลหิตสูง 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ดังนั้นวิตามินดีจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการชะลอวัยเพราะเป็นส่วนช่วยให้เรามีสุขภาพร่างกายแข็งแรงนั่นเอง วิตามินดีสามารถหาได้จากแสงแดด อาหารประเภท ไข่แดง ปลาทะเล ตับ นม น้ำมันตับปลา โยเกิร์ต เนย หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

Q: วิตามินเฉพาะบุคคล (Customized dietary supplements) คืออะไร

A: วิตามินเฉพาะบุคคล (Customized dietary supplements) หมายถึง วิตามิน แร่ธาตุ กรดอะมิโน หรือสารสกัดต่างๆ จากธรรมชาติที่ปรุงขึ้น โดยใช้ข้อมูลจากคนไข้ทั้งอาการความเจ็บป่วย ผลการตรวจร่างกาย และผลแล็ป เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะบุคคล โดยแต่ละคนจะได้รับวิตามินที่ไม่เหมือนกัน ระยะเวลาในการให้วิตามินจะอยู่ที่ 3-4 เดือน และแพทย์จะพิจารณาตรวจแล็ปที่จำเป็นซ้ำอีกครั้งในประมาณเดือนที่ 6 เป็นต้น

Q: วิธีการรับประทานเพื่อลดน้ำหนัก หรือเพื่อสุขภาพ เช่น Ketogenic Diet และ การทำ Intermittent Fasting เกี่ยวข้องกับการชะลอวัยหรือไม่

A: วิธีการกินเพื่อลดน้ำหนัก หรือกินเพื่อสุขภาพในปัจจุบันมีส่วนเกี่ยวข้องกับการชะลอวัย เพราะมีการควบคุมสารอาหารให้เหมาะสมกับร่างกาย เช่น คนที่รับประทานอาหารแบบ Ketogenic Diet หรือที่เรียกสั้นๆ กันว่า คีโต จะรับประทานไขมันดีในสัดส่วนที่สูงเพื่อเป็นแหล่งพลังงานทดแทนคาร์โบไฮเดรต ทำให้ร่างกายไม่มีน้ำตาลกลูโคส ส่งผลให้ค่าอินซูลินต่ำ ร่างกายจึงดึงไขมันสะสมมาเผาผลาญเป็นพลังงานแทน 

การทำ Intermittent Fasting (IF) หมายถึง การอดกินเป็นช่วงเวลา เพื่อให้ระดับอินซูลินลดต่ำลง ร่างกายจะดึงเอาสารอาหารสะสมในร่างกายออกมาใช้ได้ทั้งไกลโคเจนและไขมันในร่างกาย อย่างไรก็ตาม การเลือกแนวทางรับประทานเพื่อสุขภาพประเภทต่างๆ ต้องดูความเหมาะสมของร่างกายด้วยเพราะบางคนก็อาจไม่เหมาะกับวิธีการดังกล่าว เช่น กรณีบางคนที่ร่างกายไม่สามารถใช้ไขมันได้ดีก็อาจจะไม่เหมาะกับการรับประทานแบบ Ketogenic Diet เป็นต้น

Q: การตรวจฮอร์โมนเป็นเรื่องของการชะลอวัยหรือไม่

A: การทำงานของฮอร์โมนที่ผิดปกติ เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้ร่างกายเสื่อม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าในเพศชายมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ต่ำกว่าเกณฑ์ จะส่งผลให้มีบุตรยาก มีโอกาสเป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานและโรคอ้วนได้ง่าย 

ในขณะที่เพศหญิง หากฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน (Progesterone) ที่ผิดปกติ จะส่งผลต่อประจำเดือน และปัญหาสุขภาพอื่นๆ มากมาย เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าการลดลงของโกร๊ทฮอร์โมน (Growth hormone) ในวัยผู้ใหญ่ หรือวัยสูงอายุก็ทำให้ร่างกายเสื่อมลงเช่นเดียวกัน 

สำหรับวัยที่แนะนำเข้ามาพบแพทย์เพื่อพิจารณาตรวจวัดระดับฮอร์โมนต่างๆ คือ ช่วงวัยผู้ใหญ่ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป จนถึงวัยผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นช่วงที่ผ่านช่วงของการเจริญเติบโตเต็มที่มาแล้วและร่างกายในระบบต่างๆ ก็กำลังเข้าสู่ช่วงขาลง ฮอร์โมนจึงมีโอกาสทำงานผิดปกติได้บ่อย 

Q: คนเป็นโรคอ้วนทำให้แก่เร็วหรือเปล่า

A: โรคอ้วน หมายถึง คนที่มีปริมาณมวลไขมันสะสมในร่างกายเยอะเกินกว่าเกณฑ์ ตั้งแต่ไขมันในช่องท้อง ไขมันเซลลูไลท์ ไขมันที่อยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เมื่อร่างกายมีเซลล์ไขมันในสัดส่วนที่มากเกินไปจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ (Inflammation) ทำให้ร่างกายมีสภาวะเสื่อม น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง ยกตัวอย่างกระบวนการที่ทำให้เกิดความเสื่อมของร่างกาย เช่น เมื่อรับประทานอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูงมากๆ น้ำตาลที่เข้าไปในกระแสเลือดจะไปจับโปรตีนกลุ่มเส้นใยคอลลาเจน (Collagen) อีลาสติน (Elastin) หรือเอนไซม์ต่างๆ (Enzymes) อาจส่งผลทำให้ผนังหลอดเลือดที่มีสารอักเสบมากๆ ดังกล่าวเกิดการเสื่อมนั่นเอง

สังเกตได้ว่า คนอ้วนลักษณะภายนอกจะดูมีอายุมากกว่าคนวัยเดียวกัน เพราะร่างกายมีการอักเสบที่สูงมาก อีกทั้งยังมีโอกาสเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เพิ่มมากขึ้นอีกด้วยนั่นเอง


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Rapamycin has anti-aging effect on human skin. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/327150)
Anti-aging and longevity. National Institute on Aging. (https://www.nia.nih.gov/health/topics/anti-aging-and-longevity)
Skin Care Ingredients With Anti-Aging Effects. WebMD. (https://www.webmd.com/beauty/ss/slideshow-anti-aging-ingredients)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป