การปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) คืออาการปวดเกร็งบริเวณท้องน้อย หรืออุ้งเชิงกรานที่สัมพันธ์กับการมีประจำเดือน อาการอาจเกิดขึ้นก่อนหรือขณะมีประจำเดือน อาการปวดจะหายได้เองใน 1-2 วัน ซึ่งอาการปวดประจำเดือนเป็นภาวะปกติที่พบบ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธ์ทั่วไป และอาจมีอาการอื่นๆ ร่วม เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดหลัง ปวดสะโพก ปวดขา หงุดหงิดง่าย เป็นต้น จากสถิติพบว่าผู้หญิงประมาณ 50 % มีอาการปวดประจำเดือน และ 15 % มีอาการปวดรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต จนต้องพักงานหรือหยุดเรียนในช่วงที่มีประจำเดือน ซึ่งอาการปวดประจำเดือนนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบทางด้านร่างกายแล้วยังส่งผลต่ออารมณ์จิตใจและสังคมอีกด้วย
สาเหตุหลักของการปวดประจำเดือน
อาการปวดประจำเดือนเกิดได้จาก 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- ปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ เป็นการปวดที่ไม่รุนแรง ไม่มีพยาธิสภาพที่มดลูกหรืออุ้งเชิงกราน เกิดจากสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) เป็นสารเคมีที่หลั่งออกมาจากเยื่อบุโพรงมดลูกระหว่างการมีประจำเดือน ทำให้เกิดการบีบรัดตัวของมดลูก ทำให้มีอาการปวดเกร็งบริเวณท้องน้อย มักเริ่มมีอาการตั้งแต่การมีประจำเดือนใหม่ๆ
- ปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ จะมีอาการปวดรุนแรงและรุนแรงมากขึ้นในทุกๆ รอบเดือน ร่วมกับมีการตรวจพบพยาธิสภาพที่มดลูกหรืออุ้งเชิงกราน โดยที่ผู้ป่วยอาจไม่เคยมีอาการปวด หรือปวดเล็กน้อยก่อนหน้านี้ ความผิดปกติที่เป็นสาเหตุของอาการปวดชนิดนี้เป็นได้ตั้งแต่โรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ เลือดออกในอุ้งเชิงกราน เนื้องอกมดลูก เนื้องอกรังไข่ ติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ปีกมดลูกอักเสบ
วิธีธรรมชาติที่ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้ด้วยตนเอง
มีวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการเบื้องต้นได้ ดังต่อไปนี้
- ดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำสมุนไพร เช่น น้ำขิง น้ำตะไคร้อัญชัน น้ำผึ้งมะนาว เนื่องจากน้ำอุ่นและน้ำสมุนไพรที่ให้ความอบอุ่นกับร่างกาย ช่วยให้เลือดไหลเวียนในร่างกายได้ดี ไม่ทำให้ประจำเดือนเป็นลิ่มก้อน ช่วยลดการบีบเกร็งตัวของมดลูกเพื่อขับประจำเดือน จึงลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้ และนอกจากนี้ยังช่วยคลายความเครียด จึงสามารถบรรเทาอาการอื่นๆ ที่เป็นผลมาจากประจำเดือนได้
- รับประทานอาหารที่มีแมกนีเซียมและโพแทสเซียมสูง เช่น ผักใบเขียว อาหารจำพวกปลา ธัญพืชไม่ขัดสี กล้วย ถั่วขาว ถั่วลิสงค์ อัลมอนด์ เป็นต้น ซึ่งแร่ธาตุเหล่านี้สามารถช่วยลดการหลั่งพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) จึงช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน
- หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ โคล่า น้ำอัดลม หรือช็อกโกแลต โดยเฉพาะในช่วงก่อนและระหว่างที่ประจำเดือนมา เนื่องจากคาเฟอีนจะไปกระตุ้นการทำงานของประสาท หัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดการตื่นตัว หัวใจเต้นเร็ว กระตุ้นสภาวะตึงเครียด กล้ามเนื้อหดตัว มดลูกบีบรัดตัวมาก ทำให้เกิดอาการอาจทำให้มีอาการปวดมากขึ้นได้
- รับประทานยาสมุนไพร เช่น ยาประสะไพล ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ทำให้ลดการอักเสบและลดอาการปวดได้
- ออกกำลังกาย เช่น โยคะ การเดิน วิ่งเหยาะๆ ปั่นจักรยาน และว่ายน้ำ จะทำให้สมองหลั่งสารเคมีที่ชื่อเอนดอร์ฟิน (Endorphins) สารนี้ช่วยให้อาการปวดประจำเดือนลดลงได้
- ใช้ความร้อนช่วย เช่น อาบน้ำอุ่นหรือประคบท้องน้อยด้วยขวดน้ำร้อนหรือกระเป๋าน้ำร้อน ซึ่งความร้อนจะไปช่วยคลายกล้ามเนื้อ คลายการบีบรัดตัวของมดลูก จะช่วยให้อาการปวดประจำเดือนลดลงได้ ซึ่งวิธีนี้เป็นที่นิยมสำหรับสาวๆ ที่มีอาการปวดประจำเดือน
- นวดเบาๆ บริเวณท้องน้อย หลัง ขา หรือบริเวณที่ปวด เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อ ช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นจึงช่วยบรรเทาอาการปวดได้
ปวดประจำเดือนแบบไหนต้องไปหาหมอ?
เนื่องจากอาการปวดประจำเดือนอาจสัมพันธ์กับภาวะโรคที่มีความรุนแรง คุณผู้หญิงทุกคนจึงควรสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการดังต่อไปนี้ควรพบแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว
- มีอาการปวดรุนแรง และรุนแรงมากขึ้นทุกเดือนจนทนไม่ไหว ต้องรับประทานยาแก้ปวดมากกว่าวันละ 1 ครั้ง หรือเคยปวดมากจนฉีดยาแก้ปวด
- อาการปวดเริ่มในช่วงอายุ 20-30 ปี โดยไม่มีอาการปวดประจำเดือนมาก่อน หรือเคยปวดแต่น้อยกว่า
- ปวดท้องน้อยและมีอาการเจ็บเมื่อถูกกด ปวดร้าวลงช่องคลอด หรือปวดร้าวไปที่ขา
- ปวดประจำเดือนมากร่วมกับมีเลือดออกกะปริบกะปรอย หรือประจำเดือนมามากกว่าปกติ มาถี่ มาไม่สม่ำเสมอ
- มีตกขาวผิดปกติ
- มีอาการปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
อาการปวดท้องประจำเดือนรุนแรงเป็นสัญญานของความผิดปกติที่สามารถบ่งบอกถึงภาวะสุขภาพของผู้หญิง การดูแลสุขภาพตนเองอย่างสม่ำเสมอนั้น จะเป็นการป้องกันและบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้ แต่หากปวดรุนแรงและมีอาการร่วมดังที่กล่าวไปข้างต้น ไม่ควรนิ่งนอนใจเด็ดขาด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติ เพื่อรับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจจะเกิดตามมาได้