ถั่วขาวเป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งในสมุนไพรยอดนิยมซึ่งมีสรรพคุณลดน้ำหนัก มักอยู่ในรูปแบบผงชงดื่ม แท้จริงแล้วสารสกัดจากถั่วขาวออกฤทธิ์อย่างไร ทำให้น้ำหนักลดได้จริงหรือไม่ และมีผลข้างเคียงไหม HonestDocs มีคำตอบ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Vigna sinensis Savi ex Hassk.
ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE (FABACEAE ) – PAPILIONOIDEAE
ชื่อพ้อง Phaseolus vulgaris
ชื่อสามัญ black-eyed pea, southern pea, yardlong bean, catjang, crowder pea
ชื่อท้องถิ่น ถั่วขาว ถั่วนา ถั่วฝักยาว (ภาคกลาง) ถั่วดอก ถั่วปี ถั่วหลา (ภาคเหนือ)
ข้อมูลทางโภชนาการของถั่วขาว
ถั่วขาวดิบปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงาน 333 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วยสารอาหารดังนี้
- น้ำ 11.32 กรัม
- โปรตีน 23.36 กรัม
- ไขมัน 0.85 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 60.27 กรัม
- ไฟเบอร์ 15.2 กรัม
- น้ำตาล 2.11 กรัม
- แคลเซียม 240 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 10.44 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 190 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 301 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 1,795 มิลลิกรัม
- โซเดียม 16 มิลลิกรัม
- สังกะสี 3.67 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 1 0.437 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.146 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 0.479 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 6 0.318 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 9 หรือโฟเลท 388 ไมโครกรัม
ถั่วขาวช่วยลดน้ำหนักและลดน้ำตาลในเลือดได้จริงหรือไม่?
จากการศึกษาโดยให้อาสาสมัครผู้มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน รับประทานอาหารเสริมที่ประกอบด้วยสารสกัดจากถั่วขาว ก่อนรับประทานอาหารมื้อหลักที่มีคาร์โบไฮเดรต ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 6 เดือน พบว่าอาสาสมัครมีมวลไขมันในร่างกาย รอบเอว รอบสะโพก และต้นขาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ คาดว่าสาร Phaseolamin ในถั่วขาวออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ที่ช่วยย่อยคาร์โบไฮเดรต ร่างกายจึงไม่สามารถเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตเป็นน้ำตาลได้
นอกจากนี้ยังมีอีกการศึกษาหนึ่งที่ให้ผลสอดคล้องกับงานวิจัยขั้นต้น โดยทดลองให้อาสาสมัครสุขภาพดีรับประทานสารสกัดจากถั่วขาวก่อนมื้ออาหาร ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พบว่าอาสาสมัครกลุ่มที่รับประทานถั่วขาวมีน้ำหนักตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับอีกกลุุ่มที่ไม่ได้รับประทานถั่วขาว
ข้อควรระวังในการบริโภคถั่วขาว
- ไม่ควรบริโภคถั่วขาวดิบ เนื่องจากเมล็ดดิบของถั่วขาวมีสารบางชนิดอยู่บนเปลือก เป็นสาเหตุให้เกิดอาการข้างเคียงเช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องเสีย
- หญิงตั้งครรภ์หรือหญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วขาว เนื่องจากยังมีข้อมูลไม่เพียงพอเกี่ยวกับความปลอดภัยของการรับประทานถั่วขาวในช่วงตั้งครรภ์หรือช่วงให้นมบุตร
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ถั่ว เช่น โรค G6PD ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วขาว เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
- ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระดับไขมันในเลือดสูงควรบริโภคถั่วขาวแต่น้อย เพราะถั่วขาวปริมาณ 100 กรัมให้พลังงานทั้งหมด 333 กิโลแคลอรี่ซึ่งเทียบเท่าข้าวสวย 5 ทัพพี
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานถั่วขาวก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เนื่องจากถั่วขาวอาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด และอาจแทรกแซงการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดระหว่างหรือหลังการผ่าตัดได้