น้อยหน่า (Sugar Apple หรือ Sweetsop)
ในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า หมากเขียบ (ตะวันออกเฉียงเหนือ) ลาหนัง
(ปัตตานี) มะนอแน่ มะแน่ (เหนือ) เตียบ (เขมร) หน่อเกล๊ะแซ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) มะออจ้า มะโอจ่า (เงี้ยว-เหนือ) มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Annona squamosa เป็นผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้
ลำต้นไม่สูงมากนัก ใบยาวเรียว ผลมีลักษณะกลมคล้ายรูปหัวใจ
มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-10 เซนติเมตร มีรสหวาน
เนื้อนุ่ม เมล็ดแข็ง
คุณค่าทางอาหารของน้อยหน่า
น้อยหน่า 100 กรัม ให้พลังงาน 94 กิโลแคลอรี มีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
- คาร์โบไฮเดรต 23.64 กรัม
- โปรตีน 2.06 กรัม
- ไขมัน 0.29 กรัม
- ใยอาหาร 4.4 กรัม
- แคลเซียม 24 มิลลิกรัม
- เหล็ก 0.6 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 21 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 32 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 247 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 36.3 มิลลิกรัม
- โฟเลต 14 ไมโครกรัม
สรรพคุณของน้อยหน่า
น้อยหน่า มีสรรพคุณที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
- ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้น วิตามินซีในน้อยหน่า จัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงช่วยลดอาการเจ็บป่วยได้ดี
- ลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งชนิดต่าง น้อยหน่าอุดมไปด้วยสารประกอบต่างๆ เช่น แทนนิน อะซิโตเกนิน และอัลคาลอยด์ และสารต้านอนุมูลอิสระอีกหลายชนิด ที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง
- มีประโยชน์ต่อฟันและเหงือก การรับประทานน้อยหน่าที่มีวิตามินซีสูงเป็นประจำจะช่วยบรรเทาอาการปวดฟันและปวดเหงือก ลดอาการเลือดออกตามไรฟัน รวมถึงทำให้สุขภาพช่องปากดีขึ้น
- บำรุงสายตา นอกจากวิตามินซีแล้ว น้อยหน่ายังมีไรโบฟลาวิน (วิตามินบี2) ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นให้ดียิ่งขึ้น และลดความเสี่ยงอาการผิดปกติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตา
- ควบคุมความดันโลหิตสูง น้อยหน่ามีปริมาณโพแทสเซียมสูง ซึ่งแร่ธาตุชนิดนี้จะไปลดปริมาณโซเดียมที่สะสมอยู่ในเลือด จึงช่วยควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด น้อยหน่ามีใยอาหารจำนวนมากที่จะช่วยชะลออัตราการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด และช่วยดูดซับน้ำตาลที่ได้จากการรับประทานอาหารไว้ส่วนหนึ่ง จึงป้องกันไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้น
- ส่งเสริมให้ระบบทางเดินอาหารทำงานดีขึ้น ใยอาหารในน้อยหน่า ช่วยให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ดีขึ้น ช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคริดสีดวงทวารจากท้องผูกได้อีกด้วย
- เป็นอาหารที่มีคุณค่าแก่ผู้ป่วยหลังฟื้นไข้ เนื่องจากมีรสชาติดี หวานอร่อย อุดมไปด้วยวิตามินซีสูง นอกจากนี้ยังมีคาร์โบไฮเดรตและเกลือแร่ต่างๆไม่ว่าจะเป็นธาตุเหล็ก แคลเซียม และฟอสฟอรัสจึงช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นหลังได้รับประทาน แต่สำหรับผู้ป่วยเบาหวานจะต้องรับประทานอย่างระมัดระวัง
- คาร์โบไฮเดรตสูง ซึ่งอยู่ในรูปของน้ำตาลฟรักโทสและกลูโคส มีประโยชน์ในการช่วยให้ร่างกายสามารถนำไปใช้งานได้ง่าย จึงส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้รับพลังงานเพื่อการทำงานอย่างรวดเร็ว
- อุดมด้วยธาตุแคลเซียมช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ช่วยลดการสูญเสียของมวลกระดูก รวมทั้งมีธาตุแมกนีเซียมที่ยิ่งช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูกด้วย และลดอาการไขข้ออักเสบได้เป็นอย่างดี
- มีแมกนีเซียมช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายระหว่างการตั้งครรภ์ น้อยหน่ามีแมกนีเซียมเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากพบว่าสามารถป้องกันปัญหาการเต้นผิดจังหวะของหัวใจและยังช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายมากขึ้น
- มีกรดโฟลิกเหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ น้อยหน่าเป็นหนึ่งในอาหารที่หญิงตั้งครรภ์สามารถกินได้ เพราะมีโฟเลตหรือกรดโฟลิกที่มีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคที่มากเกินไปและควรปรึกษาแพทย์หากเกิดอาการผิดปกติในระบบการย่อยอาหาร
แนวทางการใช้น้อยหน่าเพื่อสุขภาพ
ส่วนใบและเมล็ดน้อยหน่า สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสุขภาพได้ ดังนี้
- ใบสด นิยมใช้กำจัดเหา โดยนำใบน้อยหน่าสดประมาณ 4 ใบตำให้ละเอียด ผสมกับเหล้าขาว แล้วนำมาทาให้ทั่วศีรษะ เอาผ้ามาคลุมไว้หรือทิ้งให้แห้งประมาณ 10-15 นาที จากนั้นล้างออกด้วยน้ำเปล่า นอกจากนี้ยังนำมาใช้เป็นสมุนไพรแช่ในอ่าง เพื่อบรรเทาอาการโรคข้ออักเสบหรือโรคไขข้อได้
- เมล็ด ตามตำรายาไทย การนำเมล็ดมาตำผสมน้ำมันมะพร้าว ใช้ทาฆ่าพยาธิผิวหนัง ฆ่าเหา ฆ่าหิด ฆ่าพยาธิตัวจี๊ดได้ ส่วนสารสกัดจากเมล็ดนั้นแก้ปวดและบรรเทาอักเสบ ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา รวมถึงยับยั้งการฟักตัวของพยาธิปากขอ
เมนูสุขภาพจากน้อยหน่า
น้อยหน่าสามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน เช่น
- สมูทตี้น้อยหน่า นำผลน้อยหน่าสุกมาแกะเมล็ดออก เติมนม ไอศครีมวานิลลา และน้ำตาลลงไป ใช้เครื่องตีผสมให้เข้ากัน หรือนำไปปั่นให้เข้ากัน เติมน้ำแข็ง เทใส่แก้ว
- เชอร์เบทน้อยหน่า นำน้ำตาลใส่ลงไปในกระทะ เติมน้ำลงไป 300 มิลลิลิตร ต้มและกวนให้น้ำตาลละลายประมาณ 10 นาทีจนได้น้ำเชื่อม จากนั้นตั้งพักไว้ แกะเนื้อน้อยหน่าโดยกดผ่านตะแกรงเพื่อเอาเมล็ดออก นำเนื้อน้อยหน่าและน้ำเชื่อมไปปั่นในเครื่องปั่นให้เข้ากัน เทใส่ถ้วยแล้วนำไปใส่ในช่องแช่แข็งในตู้เย็นประมาณ 2 ชั่วโมง
- ไก่ผัดซอสน้อยหน่า ผสมน้ำคั้นน้อยหน่าสุก โยเกิร์ตไขมันต่ำ และน้ำตาลทราย ให้เข้ากันแล้วพักไว้ ใส่น้ำมันมะกอกในกระทะขนาดใหญ่ที่มีฝาปิดและนำไก่ลงไปทอด พอไก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลให้ตักออกมาพักไว้ นำหัวหอมและกระเทียมที่เตรียมไว้ลงไปทอด เมื่อหัวหอมและกระเทียมสุกนุ่มมีสีเหลือง ให้ใส่ไก่ที่พักไว้และน้ำสต็อกไก่ลงไปผัดจนเดือดแล้วค่อยๆ ลดไฟ เคี่ยวจนไก่นุ่ม ใช้เวลาประมาณ 45 นาที จากนั้นเติมส่วนผสมที่เตรียมไว้ในตอนแรกลงไป คนให้เข้ากันแล้วปรุงรสจนได้รสชาติตามต้องการ
ข้อควรระวังในการบริโภคน้อยหน่า
- น้อยหน่าเป็นผลไม้ที่มีรสชาติหวาน ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรรับประทานน้อยหน่าแต่พอดี เพื่อป้องกันระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
- เมล็ดน้อยหน่ามีสารไซยาไนด์ที่มีความเป็นพิษต่อร่างกาย ที่ทำให้ปวดท้อง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และอาจรุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ จนเสียชีวิต เพราะฉะนั้นจึงห้ามรับประทานโดยเด็ดขาด
- การรับประทานน้อยหน่ามากจนเกินไปอาจจะทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินได้เนื่องจากเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานสูง
- สารสกัดจากเมล็ดทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังมากกว่าจากใบระวังอย่าให้เข้าตา เปลือกตา ริมฝีปาก รูจมูก เพราะจะทำให้ตาอักเสบและเกิดอาการแสบร้อนได้