กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

สาเหตุ 25 ประการของผิวหนังบวมนูนและวิธีการรักษา

ผิวหนังบวมนูนเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ การรักษาจึงแตกต่างกันออกไป
เผยแพร่ครั้งแรก 15 ก.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
สาเหตุ 25 ประการของผิวหนังบวมนูนและวิธีการรักษา

อาการผิวหนังบวมนูน (Raised skin bump) นั้นพบได้ค่อนข้างบ่อย สาเหตุมีได้ตั้งแต่การติดเชื้อ การแพ้สารต่างๆ เป็นโรคทางผิวหนัง ไปจนถึงมะเร็งผิวหนัง แต่ส่วนใหญ่แล้วมักไม่เป็นอันตรายใดๆ ไม่จำเป็นต้องรับการรักษา

ลักษณะของผิวหนังที่บวมนูนอาจแตกต่างกัน เช่น ผิวหนังที่บวมขึ้นอาจมีสีเหมือนหรือต่างจากผิวหนังปกติ บางครั้งอาจมีอาการคัน บริเวณที่บวมอาจใหญ่หรือเล็ก และรอยโรคดังกล่าวอาจแข็งหรืออ่อนนุ่มก็ได้ อย่างไรก็ตาม หากผิวหนังบริเวณดังกล่าวเกิดความระคายเคืองก็ควรไปพบแพทย์ รวมถึงในกรณีที่ผิวหนังที่บวมนูนหรือผิวหนังส่วนอื่นๆ มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าวิตกกังวลด้วย

25 ปัจจัยที่ที่ทำให้เกิดอาการผิวหนังบวมนูน

ตัวอย่างสาเหตุของผิวบวมนูน มีดังนี้

  1. สิว (Acne) มักพบที่ใบหน้า ลำคอ ไหล่ หน้าอก และหลังส่วนบน โดยชนิดสิวที่พบมักได้แก่ สิวเสี้ยน สิวหัวขาว สิวอักเสบแบบตุ่มหนอง หรือสิวฝัง และสิวหัวช้าง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เมื่อสิวหายแล้ว อาจทิ้งรอยแผลหรือรอยดำไว้ได้ สิว เป็นภาวะทางผิวหนังที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งทำให้เกิดผิวหนังบวมนูนได้ตั้งแต่ขนาดเล็กและไม่เจ็บปวด ไปจนถึงขนาดใหญ่และเจ็บปวด ผิวหนังที่บวมนูนขึ้นมักมีลักษณะบวมแดงร่วมด้วย
  2. เริม (Cold sore) เริ่มมีลักษณะเป็นตุ่มพุพองที่บวมแดง เจ็บปวด มีของเหลวอยู่ภายใน เกิดจากไวรัสพบบ่อยชนิดหนึ่ง คือ Herpes simplex พบบริเวณใกล้ปากและริมฝีปาก บริเวณที่มีอาการมักบวมและเริ่มมีอาการแสบร้อนก่อนตุ่มเริมจะปรากฏ โดยเมื่อตุ่มปรากฏจะมาพร้อมกับอาการอื่นๆ ด้วย เช่น มีไข้ต่ำคล้ายเป็นไข้หวัด ปวดเมื่อยตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต ตุ่มดังกล่าวอาจแตกออกได้
  3. ตาปลา (Corns หรือ Calluses) เป็นผิวหนังที่หนาตัวขึ้น ขอบเขตค่อนข้างกลม ขนาดเล็ก มักรู้สึกเจ็บปวดตรงกลางเป็นเนื้อเยื่อแข็งงอกขึ้นมา พบบ่อยบริเวณด้านบนหรือด้านข้างของนิ้วเท้าและฝ่าเท้า เกิดจากแรงกดและการเสียดสีเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังเกิดที่มือได้ด้วย
  4. ติ่งเนื้อ (Skin tags) เป็นส่วนผิวหนังที่นูนขึ้น ซึ่งอาจนูนขึ้นมาได้ถึงครึ่งนิ้ว สีเหมือนกับผิวปกติ หรืออาจเข้มกว่าเล็กน้อย ส่วนมากเกิดจากผิวหนังถูกเสียดสี พบได้บ่อยบริเวณใกล้ลำคอ รักแร้ หน้าอก ขาหนีบ หน้าท้อง หรือเปลือกตา
  5. ก้อนหรือถุงน้ำนูน (Nodule) เป็นก้อนบวมนูนขนาดเล็กถึงปานกลาง ภายในอาจมีของเหลว เนื้อเยื่อ หรือสารอื่นๆ อยู่ มีขนาดใหญ่กว่าสิวหรือหนอง ผิวหนังส่วนที่นูนขึ้นมักเรียบเนียน มีขอบเขตชัด พบบ่อยบริเวณรักแร้ ขาหนีบ ศีรษะ และลำคอ มักไม่เป็นอันตราย แต่อาจรู้สึกเจ็บหรือระคายเคืองได้หากไปกดทับเนื้อเยื่อส่วนอื่น นอกจากเกิดที่ผิวหนังภายนอกแล้ว ก้อนหรือถุงน้ำนูนนี้อาจเกิดขึ้นภายในร่างกาย ซึ่งไม่สามารถสังเกตเห็นหรือรู้สึกได้
  6. แผลพุพอง (Impetigo) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยในเด็กหรือทารก รอยโรคมักเกิดบริเวณรอบปาก คาง และจมูก ลักษณะเป็นปื้นแดงคันระคายเคือง และตุ่มน้ำที่แตกออกได้ง่าย จนกลายเป็นสะเก็ดสีออกเหลือง สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้
  7. หูดข้าวสุก (Molluscum contagiosum) เป็นตุ่มนูนที่อาจเกิดขึ้นรวมกันเป็นปื้น ลักษณะตุ่มมีขนาดเล็ก เรียบ ดูวาวสะท้อนแสง มีสีเนื้อ ชมพู หรือขาว มีขอบเขตชัดเจน รูปทรงคล้ายโดม และมีรอยบุ๋มตรงกลาง สามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้จากการสัมผัสผิวหนัง
  8. เนื้องอกไขมัน (Lipoma) มีลักษณะอ่อนนุ่ม เมื่อกดด้วยนิ้วจะสามารถเคลื่อนที่ได้ โดยทั่วไปมีขนาดเล็ก และอยู่ใต้ผิวหนัง ก้อนเนื้องอกมีสีซีดหรือไม่มีสี พบได้บ่อยบริเวณลำคอ หลัง หรือไหล่ ตามปกติมักไม่มีอาการเจ็บปวด แต่อาจรู้สึกเจ็บปวดได้หากก้อนดังกล่าวโตขึ้นจนสัมผัสถูกเส้นประสาท เกิดจากเนื้อเยื่อไขมันใต้ผิวหนังมารวมตัวกัน
  9. ซีสต์ (Cyst) เป็นตุ่มนูนที่ค่อยๆ โตขึ้นจากใต้ผิวหนัง มีพื้นผิวเรียบเนียน อาจมีขนาดใหญ่หรือเล็กก็ได้ และส่วนมากมักไม่เจ็บปวด ไม่เป็นอันตราย ยกเว้นหากมีการติดเชื้อ มีขนาดใหญ่มาก หรือโตขึ้นบริเวณที่บอบบาง ซีสต์อาจโตขึ้นภายในร่างกายโดยที่เราไม่สังเกตเห็นก็ได้
  10. หูด (Wart) เกิดจากไวรัสในกลุ่ม Human Papillomavirus (HPV) อาจพบได้บนผิวหนังหรือเนื้อเยื่อบุผิว และเกิดขึ้นเดี่ยวๆ หรือขึ้นเป็นกลุ่มก็ได้ พบบ่อยบริเวณมือและเท้า โดยอาจมีสีเหมือนผิวปกติ สีชมพู หรือน้ำตาลอ่อนก็ได้ สามารถแพร่กระจายและติดต่อไปสู่ผู้อื่น
  11. ผื่นแอกทินิกเคอราโทซิส (Actinic keratosis) เป็นภาวะของมะเร็งผิวหนังระยะเริ่มแรก โดยทั่วไปจะมีขนาดเล็ก ไม่เกิน 2 เซนติเมตร หรือขนาดเท่ายางลบดินสอ ลักษณะเป็นปื้นผิวหนังที่หนาตัว ลอก หรือเป็นสะเก็ด พบในบริเวณผิวหนังที่สัมผัสแสงแดดมากๆ (เช่น มือ แขน ใบหน้า หนังศีรษะ ลำคอ) ส่วนใหญ่จะมีสีชมพู แต่บางครั้งอาจมีสีน้ำตาล แทน หรือสีออกเทาได้เช่นกัน เป็น
  12. มะเร็งผิวหนังชนิดเบซาลเซลล์คาร์ซิโนมา (Basal Cell Carcinoma) รอยโรคมีลักษณะนูน พื้นผิวเรียบ ซีด คล้ายกับแผลเป็น มีรูปทรงคล้ายโดม สีชมพูหรือแดง ผิวดูวาวสะท้อนแสง และตรงกลางอาจยุบลงคล้ายปล่องภูเขาไฟ มองเห็นเส้นเลือดในบริเวณดังกล่าว มีเลือดออกหรือมีของเหลวไหลซึม รักษาไม่หาย  หรือหายแล้วกลับมาเป็นใหม่เรื่อยๆ
  13. มะเร็งผิวหนังชนิดสความัสเซลล์คาร์ซิโนมา (Squamous cell carcinoma) มักเกิดในบริเวณความัสเซลล์ หรือเซลล์ในผิวหนังชั้นนอกที่สัมผัสรังสียูวี เช่น ใบหน้า หู และหลังมือ ลักษณะเป็นปื้นแดง ตกสะเก็ด บวมนูน และโตขึ้นเรื่อยๆ มักมีเลือดออกและรักษาไม่หาย หรือหายแล้วกลับมาเป็นซ้ำ
  14. มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Melanoma) เป็นมะเร็งผิวหนังที่พบได้น้อยแต่มีความรุนแรงที่สุด และมักพบในคนผิวขาวมากกว่าคนผิวดำ มีลักษณะคล้ายไฝที่รูปร่างผิดปกติ ไม่สมมาตร หรือสีไม่สม่ำเสมอ พบบริเวณใดของร่างกายก็ได้ รอยโรคที่คล้ายไฝอาจมีสีเปลี่ยนไป หรือมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป มักมีขนาดใหญ่กว่ายางลบดินสอ
  15. ฝี (Boils) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือรา ที่รากขนหรือต่อมไขมัน เกิดบริเวณใดของร่างกายก็ได้ แต่มักพบที่ใบหน้า ลำคอ รักแร้ และก้น บางครั้งอาจแตกออกและมีของเหลวไหลออกมา จากนั้นอาการบวมจึงจะหายไปได้
  16. ตุ่มน้ำพอง (Bullae) เป็นตุ่มน้ำที่ขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร มีของเหลวใสอยู่ภายใน อาจเกิดจากการเสียดสี การสัมผัสสารระคายเคือง หรือโรคผิวหนังอื่นๆ หากของเหลวภายในขุ่นขึ้น ให้สงสัยว่าเกิดการติดเชื้อ
  17. ผื่นแพ้จากการสัมผัส (Contact dermatitis) มักเกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมง หรือไม่กี่วัน หลังสัมผัสกับสารกระตุ้นอาการแพ้ ผื่นมีลักษณะเป็นปื้น มีขอบเขตชัดเจน และเกิดในบริเวณผิวที่สัมผัสกับสารระคายเคือง มีอาการคัน แสบ และผิวหนังแดง ลอก อาจเกิดตุ่มน้ำ มีของเหลวไหลซึม และกลายเป็นสะเก็ดได้
  18. ไฝแดง (Cherry angiomas) เป็นจุดนูนบนผิวหนังที่พบได้ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะตามลำตัว แขน ขา และไหล่ เกิดจากกลุ่มหลอดเลือดฝอยเกาะกลุ่มกันอยู่ใต้ผิวหนัง พบได้บ่อยในคนที่อายุ 30 ปีขึ้นไป ลักษณะเป็นตุ่มนูนหรือเรียบ สีแดง ขนาดเล็ก กลมหรือรีและหากบีบหรือเกามักมีเลือดออก โดยทั่วไปไม่เป็นอันตราย แต่หากเกิดบริเวณที่เป็นปัญหาก็อาจจำเป็นต้องเอาออก
  19. แผลเป็นนูนคีลอยด์ (Keloids) เกิดขึ้นในบริเวณที่เคยเป็นบาดแผลมาก่อน มีลักษณะนูนเป็นก้อน ขอบชัด อาจรู้สึกเจ็บหรือคันร่วมด้วย มีสีเนื้อ ชมพู หรือแดง มักพบบริเวณหน้าอก ไหล่ และแก้ม
  20. ตุ่มขนคุด (Keratosis pilaris) เป็นลักษณะที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะผิวหนังบริเวณแขนและขา หรือบางครั้งอาจพบที่ใบหน้า ก้น และลำตัวได้เช่นกัน เกิดจากผิวหนังสร้างโปรตีนเคราติน (Keratin) มากเกินไป ทำให้เกิดตุ่มบวมขนาดเล็กรอบๆ รากขนตามร่างกาย มักหายไปเองเมื่ออายุถึง 30 ปี ลักษณะเป็นตุ่มนูน ค่อนข้างแดง เป็นปื้น และขรุขระ อาการอาจแย่ลงได้เมื่ออาการแห้ง
  21. กระเนื้อ (Seborrheic keratosis) พบได้บ่อย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ และมักไม่เป็นอันตราย เกิดได้ทั่วร่างกาย เช่น หน้าอก ไหล่ หลัง แต่จะไม่ขึ้นบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า มีลักษณะนูน ขรุขระ รูปร่างกลมหรือรี มีสีเข้ม คล้ายมีอะไรติดบนผิวหนัง เมื่อสัมผัสจะให้ความรู้สึกเหนียวคล้ายขี้ผึ้ง
  22. อีสุกอีใส (Chickenpox) ลักษณะเป็นตุ่มน้ำ แดง คัน มีของเหลวภายใน และขึ้นเป็นกลุ่ม กระจายทั่วร่างกาย ตุ่มคันมักมาพร้อมกับอาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ และเบื่ออาหาร สามารถแพร่เชื้อและติดต่อสู่ผู้อื่นได้ จนกว่าตุ่มทั้งหมดจะยุบและตกสะเก็ด อีสุกอีใสเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่พบบ่อยในเด็ก
  23. การติดเชื้อแบคทีเรีย MRSA (Staph) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสตาฟิโลคอกคัส (Staphylococcus) ซึ่งเป็นเชื้อที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิด การติดเชื้อจะเกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผลเปิดบนผิวหนัง รอยโรคมีลักษณะคล้ายรอยแมลงกัด มักบวม แดง เป็นหนอง มีของเหลวไหลออกมา และรู้สึกเจ็บ ต้องรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์รุนแรง และอาจนำไปสู่ภาวะที่เป็นอันตราย เช่น เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ หรือติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะดังกล่าวถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ที่จำเป็นต้องรับการรักษาโดยเร็วที่สุด
  24. หิด (Scabies) อาการอาจเกิดขึ้นภายหลังสัมผัสปรสิตขนาดเล็ก Sarcoptes scabiei หรือที่เรียกกันว่า “ตัวหิด” 4-6 สัปดาห์ ลักษณะเป็นผื่นแดง เป็นปื้น มีตุ่มน้ำขนาดเล็กขึ้นจำนวนมาก หรืออาจแห้งลอก มีอาการคันมาก รอยโรคจะบวมนูนขึ้น มีสีขาวหรือสีเนื้อ
  25. ปานสตรอว์เบอร์รี (Strawberry nevus) เป็นปานนูนสีแดงหรือม่วง มักพบบริเวณใบหน้า หนังศีรษะ หลัง หรือหน้าอก มักเป็นแต่กำเนิด หรือเกิดตั้งแต่ยังอายุน้อย เมื่อโตขึ้นปานจะมีขนาดเล็กลง หรือค่อยๆ หายไปเองจนมองไม่เห็นเมื่ออายุประมาณ 10 ปี

หากเกิดอาการผิวหนังบวมนูน เมื่อไหร่จึงควรไปพบแพทย์?

อาการผิวหนังบวมนูนโดยส่วนมากมักไม่เป็นอันตรายใดๆ แต่อย่างไรก็ตาม คุณควรรีบไปพบแพทย์หากพบว่ามีอาการต่อไปนี้

  • ลักษณะของผิวหนังที่บวมนูนมีการเปลี่ยนแปลงหรือดูแย่ลง หรือเป็นนานแล้วไม่หาย
  • รู้สึกเจ็บปวดหรือระคายเคืองร่วมด้วย
  • ผิวหนังบวมนูนเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีข้อสงสัยว่าอาจเกิดการติดเชื้อ หรือเป็นมะเร็งผิวหนัง

แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและตรวจดูลักษณะของผิวหนังที่บวมนูน รวมถึงซักประวัติทางการแพทย์ ประวัติอาการ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เกี่ยวข้องด้วย

นอกจากนี้ แพทย์อาจส่งชิ้นเนื้อผิวหนังบริเวณดังกล่าวไปตรวจ เพื่อดูว่าเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ โดยการขูดหรือตัดเนื้อเยื่อส่วนที่เป็นรอยโรคออกไปเล็กน้อย หลังจากทราบผล แพทย์อาจส่งผู้ป่วยไปรักษากับแพทย์ผิวหนัง หรือแพทย์เฉพาะทางอื่นๆ ขึ้นอยู่กับผลการตรวจ

การรักษาอาการผิวหนังบวมนูน

การรักษานั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ที่ไม่เป็นอันตรายนั้นอาจไม่จำเป็นต้องรักษา อย่างไรก็ตาม หากอาการผิวหนังบวมนูนนั้นรบกวนชีวิตประจำวัน หรือทำให้ไม่สวยงาม ก็อาจกำจัดออกได้ เช่น แพทย์ผิวหนังอาจกำจัดติ่งเนื้อหรือหูดโดยใช้ความเย็น (Freezing) หรือแพทย์อาจทำการผ่าตัดซีสต์ และเนื้องอกไขมันออก ส่วนภาวะอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการคันหรือระคายเคือง อาจรักษาโดยใช้ยาและครีมทาเฉพาะจุด

ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้การรักษาเพิ่มเติมอื่นๆ แพทย์จะให้ยาเพื่อกำจัดรอยโรคและรักษาภาวะที่เป็นสาเหตุ เช่น หากเกิดแผลติดเชื้อแบคทีเรีย MRSA ผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะ หรือหากมีการติดเชื้อไวรัส อย่างอีสุกอีใส แพทย์จะแนะนำให้กินยาสามัญที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา ร่วมกับดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม ส่วนการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เริม ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจให้ยาเพื่อบรรเทาอาการร่วมด้วย

หากแพทย์วินิจฉัยว่าอาการผิวหนังบวมนูนนั้นเกิดจากมะเร็งผิวหนัง แพทย์มักทำการกำจัดรอยโรคทั้งหมดออก และจำเป็นต้องนัดผู้ป่วยเพื่อตรวจติดตามผลเป็นระยะ เพื่อให้แน่ใจว่าเซลล์มะเร็งจะไม่กลับมาอีก

เป้าหมายการรักษาอาการผิวหนังบวมนูนในระยะยาว

สำหรับอาการผิวหนังบวมนูนโดยส่วนมาก การรักษาค่อนข้างให้ผลที่น่าพอใจในระยะยาว เนื่องจากอาการส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่อันตราย และเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น แต่หากรอยโรคนั้นเกิดจากการติดเชื้อหรือภาวะที่เรื้อรัง ก็จำเป็นต้องมีการรักษาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่องเพื่อกำจัดรอยโรคหรือเพื่อบรรเทาอาการให้ดีขึ้น สำหรับมะเร็งผิวหนัง การรักษามักให้ผลดีหากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก อย่างไรก็ตาม การตรวจติดตามอย่างต่อเนื่องก็มีความสำคัญเช่นกัน เพื่อให้มั่นใจว่ามะเร็งจะไม่กลับมาเกิดซ้ำ ส่วนในมะเร็งผิวหนังชนิดที่รุนแรง ผลการรักษาอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับภาวะของผู้ป่วยแต่ละคน


1 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Mary Ellen Ellis, Raised Skin Bump: 25 Causes, Photos, & Treatments (https://www.healthline.com/health/raised-skin-bump#treatment), April 2016

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
เชื้อราที่ผิวหนังเกิดจากอะไร
เชื้อราที่ผิวหนังเกิดจากอะไร

รู้จักจุลินทรีย์ที่นำพาโรคต่างๆ มากมายมาสู่ตัวเรา และวิธีป้องกันให้ห่างไกลจากเชื้อรา

อ่านเพิ่ม
ผิวระหว่างนิ้วเท้าลอก เกิดจากอะไร?
ผิวระหว่างนิ้วเท้าลอก เกิดจากอะไร?

ผิวระหว่างนิ้วเท้าลอกเกิดจากอะไร มีวิธีรักษาและป้องกันอย่างไรบ้าง

อ่านเพิ่ม